พระพุทธรูปหินทรายคู่พระพุทธบาทไม้
พุทธพุทธรูปสลักขึ้นจากหินทรายสีเทาชิ้นเดียวทั้งองค์ พุทธศิลป์จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐) หรือที่นิยมเรียกกันว่าศิลปะอู่ทองรุ่นที่ ๓ มีพุทธลักษณะสืบต่อมาจากพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นที่ ๒ โดยได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่อย่างชัดเจน คือเป็นพระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีรูปเปลวไฟมีกลีบบัวประดับ เม็ดพระศกค่อนข้างเล็ก พระพักตร์วงรูปไข่ พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระขนงโก่งโค้ง มีเส้นไรพระศก กึ่งกลางไรพระศกหยักแหลมลงล้อกับพระขนง พระกรรณค่อนข้างสั้นมีเส้นตัดแนวเฉียง องค์พระชะลูด ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภี ปลายสังฆาฏิตัดตรง
พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่คู่กับพระพุทธบาทไม้มาช้านาน ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่าของวัดพระรูป เชื่อว่าคือพระพุทธรูปองค์ที่กล่าวถึงในจารึกบนแผ่นไม้คราวสร้างมณฑปริมน้ำใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ความว่า “ได้รับข่าวเล่ากันต่อๆ มาว่า ฝ่าพระพุทธบาทนี้ลอยน้ำมาแต่เหนือกับพระพุทธรูปหนึ่งองค์นี้ก่อนกรุงเก่า”