ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ เมื่อราวพ.ศ. 2475 บริเวณโดยรอบศาลเจ้าพ่อหลักเมืองยังคงมีต้นไม้ขึ้นรกรุงรัง และทางเปลี่ยวมาก เดินลำบากไม่มีถนนดังเช่นปัจจุบัน บริเวณโดยรอบเป็นทุ่งนา ระดับแม่น้ำ กับทุ่งนาอยู่ในระดับที่เสมอกัน หากผู้คนจะไปนมัสการก็ต้องนั่งเรือจ้างจากทางหน้าวัดประตูสาร ลัดเลาะไปตามเพนียดคล้องช้างสมัยโบราณ เพื่อเข้าไปถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เมื่อ พ.ศ. 2505 ถนนมาลัยแมนได้ตัดมาจาก จ.นครปฐม ผ่าน จ.สุพรรณบุรี จึงทำให้ถนนกินอาณาบริเวณของเพนียดคล้องช้างเดิมไปด้วย บวกกับบ้านเรือนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้สภาพเดิมของเพนียดคล้องช้างค่อย ๆ หายไป การมาถึงของถนนมาลัยแมนนั้นยังทำให้ทางน้ำที่เป็นที่ทางเข้าศาลเจ้าพ่อแต่เดิมหายไปด้วย[1]

          พื้นฐานความเชื่อทางสังคมของชาวสุพรรณบุรีเป็นความเชื่อแบบถือผี ที่ผูกพันกับธรรมชาติเช่นเดียวกับเมืองชนบทเกษตรกรรมอื่น ๆ แต่ลักษณะการนับถือผีของชาวเมืองสุพรรณจากข้อสังเกตของสมเด็จฯ กรมพระยาราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณเมื่อ พ.ศ. 2435 ว่า “ชาวเมืองนี้มีความเกรงกลัวและนับถือผียิ่งกว่าที่อื่น เนื่องจากทรงเห็นศาลเจ้าจำนวนมาก เป็นศาลขนาดย่อมทำด้วยไม้แก่น มุงกระเบื้องก็มี ทำด้วยไม้ไผ่มุงจากก็มี ทั้งหมดมีผ้าสีแดง หรือชมพูห้อยไว้เป็นเครื่องหมาย แม้กระทั่งจวนเจ้าเมืองก็มีถึง 4 ศาล”[2] ในครั้งแรกที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเดินทางมาตรวจราชการที่เมืองสุพรรณ ก็ได้เห็นศาลหลักเมืองทรงสรุปว่า ศาลหลักเมืองเป็นศาลเทพารักษ์ เป็นศาลไม้เก่ามีเทวรูปวิษณุจำหลักศิลา 2 องค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19 – 20 ครั้งนั้นจึงทรงชักชวนชาวเมืองโดยเฉพาะกลุ่มคนจีนมาช่วยกันสร้างศาลใหม่ เป็นตึกก่ออิฐถือปูน ต่อเชื่อมถมดินเป็นชานรอบศาล ศาลหลักเมืองนี้ได้ถูกหลอมรวมเช้ากับความเชื่อของคนจีน โดยจัดให้มีประเพณีบวงสรวงศาลหลักเมืองหรือ ปูนเถ่ากง ขึ้นเป็นประจำทุกปีในทุกวันที่ 18 เดือน 7 หลังวันสารทจีน เรียกว่างานทิ้งกระจาด เดิมงานนี้จัดกันที่หน้าโรงบ่อนบริเวณโรงเหล้าเก่าใกล้วัดพระรูป[3]


[1] มนัส โอภากุล, ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2547), 281-282.

[2] วารุณี โอสถารมย์, เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 8 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 25, 276.

[3] วารุณี โอสถารมย์, เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 8 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 25, 277-278.