วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรบุรี หรือที่คนในจังหวัดสุพรรณบุรี เรียกว่า “วัดพระธาตุ” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองและเป็นวัดที่มีความสำคัญในฐานะศาสนสถานประจำเมืองที่ผูกพันกับคติความเชื่อทางสังคม มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 ได้รับการบูรณะให้เป็นวัดที่ประดิษฐานพระธาตุประจำเมืองในราว พ.ศ. 1850 มีการจัดวางผังก่อสร้างศาสนสถานตามแบบคตินิยมของสุพรรณภูมิ คือ มีพระปรางค์เป็นประธานของวัดอันเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสัญลักษณ์รวมศูนย์ศรัทธาของผู้ปกครองและราษฎรที่มีต่อพุทธศาสนาร่วมกัน นอกจากนี้ยังประกอบด้วยวิหาร ภายในประดิษฐานพระนอนอยู่สองข้าง ด้านหน้าเป็นเจดีย์ทรงสูงแบบมหายานไม่มีบัลลังก์ แต่มีลูกแก้วกลีบมะเฟือง นอกจากนี้ยังมีใบเสมาของพระอุโบสถทำด้วยหินทรายตามคตินิยมสุพรรณภูมิ[1]
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ยุคที่รัฐสุพรรณภูมิรุ่งเรืองนั้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีทางศาสนาและประเพณีของรัฐภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้ปกครอง นัยหนึ่งเป็นการประกาศถึงความเป็นธรรมิกราชหรือจักรพรรดิราชของผู้สร้างวัด การสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุให้มีขนาดใหญ่นั้น แสดงถึงความสามารถของผู้สร้าง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ขุนหลวงพะงั่ว จักรพรรดิราชแห่งอยุธยา เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ผู้ที่สามารถทำบุญอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ ย่อมแสดงถึงความเป็นผู้มีบารมีทางอำนาจ รวมถึงกษัตริย์ผู้ซ่อมวัด สมเด็จพระนครินทราธิราช ผู้เป็นโอรสและเป็นราชาที่เหนือกว่าราชาธิราช อื่น ๆ ที่ได้สืบทอดความคงอยู่ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ[2]
ช่วงสงครามเมื่อครั้งเสียกรุง เมืองสุพรรณบุรีนั้นรกร้างผู้คนเนื่องจากเป็นเมืองผ่านของกองทัพพม่าผู้คนจึงถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย จนถึงสมัยกรุงธนบุรีเมืองสุพรรณบุรีเองก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูรุ่งเรืองได้ตามเดิม จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ยังคงรกร้างผู้คน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเองก็ได้กลายเป็นวัดร้างกลางป่า จนใน พ.ศ. 2456 มีคนได้ปีนขึ้นไปบนองค์พระปรางค์และเคลื่อนย้ายองค์พระประธานที่อยู่บนองค์พระปรางค์ออกจึงพบว่าภายในบรรจุสิ่งของมีค่าอยู่เป็นอันมาก ผู้คนต่างได้เข้าไปภายในกรุ และนำของมีค่ารวมถึงพระบูชาออกมากันเป็นจำนวนมาก เมื่อทางการได้ทราบเรื่องก็ได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อขุดกรุโบราณ ในการขุดครั้งนี้ได้พบลานทองบรรจุอยู่ในก้นกรุ และมีการส่งมอบให้กรมศิลปากรจำนวน 3 แผ่นด้วยกัน
[1] วารุณี โอสถารมย์, เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 8 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 25, 111-115.