วัดประตูสาร

วัดประตูสาร
วัดประตูสาร ตั้งอยู่ใน ต. รั้วใหญ่ อ. เมือง จ.สุพรรณบุรี ตามหลักฐานของกรมศาสนาพบว่าสร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2223 และผูกพันธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2280 เป็นวัดที่โบราณสถานมีลักษณะที่เชื่อได้ว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยา คือ อุโบสถสูง ที่กลางตกท้องช้าง หรือที่เรียกว่าเรือสำเภา แต่เมื่อชำรุดทรุดโทรมทางวัดจึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่จนรูปทรงเปลี่ยนไป แต่ก็ยังคงสามารถมองเห็นร่องรอยลักษณะเดิมอยู่บ้างเล็กน้อยคำว่า “สาร” น่าจะหมายความถึง ช้าง เนื่องจากในอดีตใกล้กับวัดประตูสารมีคอกช้าง และคาดว่าวัดประตูสารน่าจะเป็นทางขึ้นลงแม่น้ำ เพราะหน้าประตูวัดมีลักษณะเป็นที่ลาดต่ำลงสู่แม่น้ำ คาดว่าใช้เป็นทางสำหรับนำช้างไปอาบน้ำในแม่น้ำ

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ นายดำ ชาวเวียงจันทน์ผู้ซึ่งอพยพมาเมื่อครั้งเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์ ได้มาเป็นช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังและติดตามหาญาติจนมาพบที่สุพรรณบุรี ประกอบกับวัดหน่อพุทธางกูรจะทำการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง นายคำ จึงรับอาสาเขียนอุโบสถให้จนแล้วเสร็จ คาดว่าใช้เวลาประมาณสองปี จากนั้นจึงมาเขียนอุโบสถให้กับวัดประตูสาร สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนในรัชกาลที่ 3 เรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนสำคัญ ทศชาติชาดก โดยแทรกเรื่องราวของผู้คนในสมัยนั้นไว้ซึ่งปรากฎว่ามีทั้งชาวกะเหรี่ยง ชาวจีน และชาวลาว เป็นต้น

ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษ 2490 มีการละเล่นเพลงเรือแถวบริเวณหน้าวัดประตูสาร บริเวณลานต้นโพธิ์หน้าวัด เนื่องจากคลองข้างวัดประตูสารที่จะไปทะลุออกวัดป่าเลไลยก์ตื้นเขินจากปกติที่จะเล่นเพลงเรือและล่องกันไปจนถึงวัดป่าเลไลยก์ ก็ต้องหยุดที่หน้าวัดประตูสารและเดินเท้ากันต่อจนถึงวัดป่าเลไลยก์เพื่อทำการนมัสการพระพุทธรูปประจำปี[1]


[1] วารุณี โอสถารมย์, เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ 8 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 25, 281.