เส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้รอบวัดพระรูป

เส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้รอบวัดพระรูป เป็นเส้นทางแหล่งเรียนรู้ระยะใกล้ที่สามารถเดินทางได้ด้วยการเดินเท้า ตั้งแต่วัดพระรูปไปถึงตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ในการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้รอบวัดพระรูป พบว่า จุดแข็ง (Strength) ของเส้นทางนี้คือ องค์ประกอบพื้นฐานวัดพระรูปที่มีความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และยังคงสามารถรักษาลักษณะทางกายภาพเดิมให้คงอยู่ไว้ได้ มีการซ่อมแซมและบูรณะไม่ให้เสื่อมโทรม อีกทั้งมีความพร้อมทั้งในแง่ของบุคลากรที่มีความตั้งใจร่วมกันในการผลักดันให้วัดพระรูปพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ มีความพร้อมในเรื่องของทุนทรัพย์ สถานที่ และวัตถุที่จะสามารถจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ ที่นอกเหนือจากการให้ข้อมูลของวัดพระรูปแล้วยังเป็นการให้ข้อมูลองค์ความรู้ของประวัติเมืองสุพรรณภูมิที่เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณบุรีอีกด้วย มีความเชื่อมโยงกับชุมชนเนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่กับเมืองสุพรรณมาเป็นเวลานาน ภายในบริเวณวัดมีการจัดการด้านความปลอดภัยด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดและมีผู้คอยเฝ้าสังเกตการณ์ ในส่วนของจุดแวะพักนั้นทางวัดกำลังได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับการทำเป็นร้านกาแฟและเครื่องดื่มไว้ให้สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมได้นั่งพักผ่อน บริเวณวัดมีการทำความสะอาดที่อย่างสม่ำเสมอ มีการจัดระเบียบร้านค้าอย่างเป็นระเบียบ ในส่วนของที่จอดรถนั้นมีสถานที่ให้จอดรถอย่างกว้างขวางและไม่มีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถ อีกทั้งยังเดินทางเข้าถึงได้โดยสะดวกเนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณตัวเมือง

สำหรับในส่วนของตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เองก็เช่นกันมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในส่วนของอาคารที่เป็นรูปแบบของอาคารทรัพย์สินฯ มีความพร้อมในแง่ของสถานที่ตั้งที่อยู่ใจกลางเมือง ใกล้กับหอคอยบรรหาร – แจ่มใส และวัดพระรูป ตลาดมีความสะอาด มีการจัดระเบียบร้านค้า และได้รับการบำรุงซ่อมแซมให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ อีกทั้งเทศบาลก็เข้ามาดูแลในเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สินด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิด วัดพระรูป และตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นั้นห่างกันเพียงแค่ 550 เมตร หากใช้เวลาเดินจะสามารถเดินถึงกันได้ภายในเวลา 7 – 10 นาที

เส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้รอบวัดพระรูปนี้ มีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจคือ

 

วัดพระรูป

ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยอยุธยาเป็นราชธานีเนื่องจากปรากฏพบเจดีย์แปดเหลี่ยมยอดระฆังกลมเป็นเจดีย์ที่เป็นศิลปกรรมเฉพาะของสุพรรณภูมิ หรืออู่ทอง ภายในบริเวณวัดพระรูปมีสถานที่สำคัญ 9 แห่ง ที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป พระพุทธบาทไม้ โบราณสถานเจดีย์วัดพระรูป (เจดีย์แปดเหลี่ยม) พระพุทธรูปปางไสยาสน์ เก๋งจีน อุโบสถ เจดีย์เก่า โบราณสถานโบสถ์มอญ มณฑปหลวงพ่อดีและอดีตเจ้าอาวาส มณฑปพระพุทธบาทไม้

 

พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

พิพิธภัณฑ์วัดพระรูปเกิดขึ้นจากดำริของพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือหลวงพ่อดี และชาวบ้านชุมชนย่อยวัดพระรูป ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2533 พื้นที่ชั้นบนใช้เป็นที่จัดแสดงพระพุทธบาทไม้และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในพ.ศ. 2561 ได้เริ่มฟื้นฟูการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปขึ้นจากความประสงค์ของกลุ่มประชาคมวัดพระรูป ภายใต้การนำของพระครูสังฆรักษ์ วุฒิพันธุ์ สิริธโร เจ้าอาวาสวัดพระรูป คณะกรรมการมูลนิธิวัดพระรูป ตลอดจนเครือข่ายชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ ที่ต้องการจะฟื้นฟูและสืบสานงานพิพิธภัณฑ์ที่เคยริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี)

พระพุทธบาทไม้

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ ได้ทรงเขียนข้อความไว้ใต้ภาพพระพุทธบาทไม้ในตำนานพุทธเจดีย์ว่า “ทำตามคติชั้นก่อนมีพระพุทธรูป” ตามความหมายนี้ไม่ได้แปลว่าเป็นการสร้างในยุคก่อนที่จะมีพระพุทธรูป แต่น่าจะหมายถึงการสร้างในยุคที่มีพระพุทธรูปแล้วแต่สร้างตามคตินิยมชั้นแรกเมื่อครั้งยังไม่มีพระพุทธรูป[1] แต่เดิมพระพุทธบาทไม้แผ่นนี้ไม่ใช่ของเดิมประจำวัด โดยมีความเชื่อถึงความเป็นมาของพระพุทธบาทไม้นี้สองทางด้วยกัน ทางหนึ่งกล่าวว่า พระพุทธบาทไม้นี้ลอยน้ำมาตามจารึกที่ปรากฎอยู่ใต้พระพุทธบาทว่า “ฉันได้รับข่าวเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ฝ่าพระพุทธบาทไม้นี้ลอย แต่เหนือกับพระพุทธรูปองค์หนึ่งนี้ก่อนกรุงเก่า พระแจงวินัยธร ผู้จัดการชักชวนสัปปบุรุษสร้างมณฑปขึ้นที่วัดพระรูป….”

ส่วนอีกทางหนึ่งกล่าวว่าจากคำบอกเล่าของพระเทพวุฒาจารย์ (หลวงพ่อเปลื้อง) ได้เล่าว่าท่านได้รับฟังมาจากปู่ย่า ตาทวด ว่าเมื่อครั้งสงครามไทย – พม่า (ครั้งเสียกรุง) พม่าเที่ยวกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย พระภิกษุรูปหนึ่งที่วัดเขาดิน (อยู่ทางตะวันตกของวัดพระรูป ห่างกันประมาณ 15 กิโลเมตร) เกิดเสียดายพระพุทธบาทนี้จึงเอาไปซ่อนไว้ เมื่อสงครามสงบวัดเขาดินก็ไม่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ภิกษุรูปนั้นจึงต่อแพลำเลียงพระพุทธบาทนี้มาขึ้นไว้ที่วัดพระรูป พระพุทธบาทนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง เนื่องจากพระพักตร์ของท้าวจตุโลกบาลมีความคล้ายกับพระพุทธรูปสมัยอู่ทองตอนต้นหรือตอนกลาง[2]

 

[1] มนัส โอภากุล, ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2547), 181.

[2] ดูรายละเอียดในกิจกรรมที่ 4

เจดีย์วัดพระรูป (เจดีย์แปดเหลี่ยม)

เจดีย์มีลักษณะคล้ายเจดีย์ทางสิงห์บุรี ชัยนาท สุโขทัย เชิงฐานของเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยม มีซุ้มสี่ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นองค์แปดเหลี่ยม องค์พระสถูปเป็นระฆังใบเล็กคว่ำ เหนือขึ้นไปมีบัลลังก์และปล้องไฉนเหลืออยู่ 3 – 4 ปล้อง ปลียอดหักหมด ความสูงประมาณ 15 เมตร สันนิษฐานว่ารูปแบบของเจดีย์องค์นี้มีรูปแบบมาจากเจดีย์วัดพระแก้ว อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกันและมีอายุการสร้างร่วมสมัยกัน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของเมืองสุพรรณภูมิกับเมืองแพรกศรีราชาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ที่เป็นเมืองสำคัญในการควบคุมทรัพยากรบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีนกับลุ่มแม่น้ำน้อย นอกจากนี้ การสร้างเจดีย์ที่มีเรือนธาตุอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ยังนับเป็นเอกลักษณ์ของรูปแบบเจดีย์ในสมัยเมืองสุพรรณภูมิ ดังปรากฏตัวอย่างหลายแห่งในเมืองสุพรรณ อาทิ เจดีย์วัดมรกต เจดีย์วัดพระอินทร์ เจดีย์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นต้น

พระพุทธรูปปางไสยาสน์

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นศิลปะอู่ทองตอนปลาย โครงสร้างเป็นอิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ยาว 13 เมตรโดยประมาณ สูง 3 เมตร พระพักตร์กลมยาวคล้ายผลมะตูม หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก เบื้องหลังติดผนัง พระพักตร์กลมยาวหันไปทางทิศตะวันออก พระเศียรชี้ไปทางทิศใต้ ชาวบ้านมักเรียกว่า เณรแก้ว

เก๋งจีนวัดพระรูป

ตามคำบอกเล่าของลูกหลานผู้สร้างเก๋งจีนเล่าว่า นายซุ่นจุ้ย แซ่เฮง (ต้นตระกูล นิธยายน) เป็นชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองจีน มาสร้างครอบครัวที่เมืองสุพรรณบุรี และได้สร้างเรือนแพอาศัยอยู่เหนือวัดพระรูปขึ้นไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ทำอาชีพค้าขายข้าวโดยส่งข้าวเปลือกเข้ากรุงเทพฯ จนมีฐานะร่ำรวยมั่นคง กระทั่งใน พ.ศ. 2450 จึงได้สร้างเก๋งจีนไว้ที่วัดพระรูป เพื่อเป็นอาคารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนเท่ากับอายุของผู้สร้างตามคติความเชื่อ

อุโบสถและพระพุทธรูปประธาน

อุโบสถหลังเก่าของวัดพระรูปเป็นอาคารก่ออิฐสอปูนขาวอย่างโบราณ เคยตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกับอุโบสถหลังปัจจุบัน มีซุ้มใบเสมาขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดยรอบ จากบันทึกคนเก่าคนแก่ในพื้นที่เล่าว่าอุโบสถหลังเก่าแต่เดิมเคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับสวยงาม ซึ่งอาจเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าง่อยหรือหลังจากนั้นลงมาเล็กน้อยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏหลักฐานใบเสมารุ่นสองของวัด จนเมื่ออุโบสถหลังนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ในพ.ศ. 2508 หลวงพ่อดี ได้รับมอบหมายภารกิจต่าง ๆ จากเจ้าอาวาสวัดพระรูปในขณะนั้น ให้เริ่มดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าบนตำแหน่งเดิม โดยขยายพื้นที่อุโบสถหลังใหม่ให้กว้างใหญ่ขึ้น แต่ยังคงพระประธานองค์เดิมไว้ ครั้งนั้นยังได้รื้อเอาอิฐจากอุโบสถหลังเก่าและอิฐเก่าในบริเวณวัดมาใช้สร้างอุโบสถด้วย มีเรื่องเล่าว่าในการขุดหลุมเสาอุโบสถนั้นมีชาวบ้านมาช่วยงานจำนวนมาก เนื่องจากหากขุดพบพระพิมพ์กรุวัดพระรูปก็เก็บเป็นของตนเองได้ โดยได้รับการอนุญาตจากหลวงพ่อดี ซึ่งในเวลานั้นพระกรุวัดพระรูปเป็นที่นิยมและมีราคาสูง โดยเฉพาะพระขุนแผน ทำพิธียกช่อฟ้าอุโบสถหลังใหม่เมื่อ พ.ศ. 2512 และทำพิธีฝังลูกนิมิตเมื่อ พ.ศ. 2513

แม้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้จะได้รับการซ่อมแซม แต่ยังพอจะเห็นเค้าของพระพุทธรูปศิลปะพื้นเมืองสุพรรณภูมิ ซึ่งน่าจะมีรากฐานมาจากศิลปะทวารวดีและศิลปะเขมรที่แพร่หลายอยู่ในพื้นที่ โดยได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสานแล้ว อาจกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 ร่วมสมัยกับศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น นับเป็นตัวอย่างพระพุทธรูปสำคัญของเมืองสุพรรณภูมิ

 

ฐานเจดีย์เก่าหลังอุโบสถ

ฐานเจดีย์เก่าองค์หนึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ ในปัจจุบันมีสภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน โดยส่วนยอดและเรือนธาตุหักพังลงมาทับถมส่วนฐานจนไม่สามารถพิจารณารูปแบบได้ อย่างไรก็ตาม ในอดีตเจดีย์องค์นี้น่าจะมีความสำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่ในตำแหน่งตรงกับอุโบสถในแนวแกนตะวันออก – ตะวันตก ซึ่งเป็นแนวแกนสำคัญของการสร้างพุทธศาสนสถานตามจารีตโบราณ ประกอบกับลักษณะและขนาดของอิฐที่ใช้สร้างเจดีย์ ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และเนื้ออิฐคล้ายกับอิฐในสมัยทวารวดี

 

โบสถ์มอญวัดพระรูป

แต่เดิมโบราณสถานนี้เหลือเพียงผนังอาคารด้านหลังและด้านข้างของพระประธาน ผนังมีความหนาประมาณ 50 เมตร ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปประธานบนฐานชุกชีลักษณะเตี้ย ตั้งหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตก ต่อมาภายหลังในสมัยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) ได้มีการบูรณะเพิ่มเติม ด้วยการก่อผนังขึ้นใหม่ทั้งสี่ด้านในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยปิดล้อมผนังอาคารเดิมไว้ด้านใน และได้มีการบูรณะพระพุทธรูปประธานภายในอาคารด้วย ดังในปัจจุบันปรากฏเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย มีพุทธศิลป์แบบพื้นบ้าน พระพักตร์กลม พระวรกายล่ำสัน องค์พระเตี้ย หน้าตักใหญ่

ลักษณะสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้คือ การสร้างอาคารที่มีลักษณะเล็กและแคบเพียงเพื่อให้ครอบคลุมพระประธาน ทำให้พระประธานมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดอาคาร และฐานชุกชีที่รองรับพระประธาน มีลักษณะเตี้ยและขนาดค่อนข้างกว้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดอาคาร ลักษณะโดยรวมของโบราณสถานแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงคติการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในอาคารขนาดเล็ก ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 -20

 

มณฑปหลวงพ่อดี

ในสมัยพระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เป็นเจ้าอาวาส ได้ร่วมกับคณะกรรมการวัดพระรูป ดำเนินการสร้างมณฑปหลวงพ่อดี แทนการบูรณะกุฏิที่ประดิษฐานรูปเคารพหลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดี ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมจนยากต่อการบูรณะ อีกทั้งกุฏิตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สะดวกในการเข้ามานมัสการของชาวบ้าน ท่านพระครูจึงดำริให้สร้างมณฑปหลวงพ่อดีขึ้นใหม่ ณ ตำแหน่งที่มีความโดดเด่น ทำให้ชาวบ้านที่สัญจรไปมามองเห็นได้ชัดเจนและสามารถเข้ามานมัสการได้สะดวกมากขึ้น ภายในมณฑปประดิษฐานรูปเคารพของอดีตเจ้าอาวาสและพระอาจารย์องค์สำคัญของวัดพระรูป ได้แก่ พระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำ, หลวงพ่อเผื่อน (ปุสฺสชิโน), พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือหลวงพ่อดี, และพระครูอนุกูลสุวรรณากร (สมควร อธิปุโ) หรือหลวงพ่อควร

 

มณฑปพระพุทธบาทไม้ และพระพุทธบาทไม้

มณฑปพระพุทธบาทไม้ ตั้งอยู่หน้าวัดทางด้านริมแม่น้ำสุพรรณบุรี มณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม มีส่วนหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่น 4 ชั้น เครื่องยอดเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนกลางอาคารเป็นห้องโถงเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ มีบันไดทางขึ้นลงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ และมีกำแพงแก้วในผังกลมล้อมรอบอาคาร แต่เดิมใช้ประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ ใน พ.ศ. 2510 มณฑปมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่ปลอดภัยที่คนจะขึ้นไปนมัสการพร้อมกันจำนวนมาก จึงเคลื่อนย้ายพระพุทธบาทไม้มาเก็บรักษาไว้เป็นการชั่วคราวที่หอสวดมนต์ โดยได้ทำขาตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้ชมพระพุทธบาทไม้ได้สะดวกขึ้น และทำความสะอาดเอาทองคำเปลวที่ติดอยู่ออกทำให้เห็นลวดลายได้ชัดเจน (ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ปิดทอง) พระพุทธบาทนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง เนื่องจากพระพักตร์ของท้าวจตุโลกบาลมีความคล้ายกับพระพุทธรูปสมัยอู่ทองตอนต้น หรือตอนกลาง

 

ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แต่เดิมตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำสุพรรณบุรีเป็นห้องแถวไม้เก่า ตั้งอยู่ปลายสุดถนนนางพิม เรียกว่าตลาดโรงบ่อนเบี้ย ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี ทรงมีพระราชดำรัสให้ย้ายไปสร้างตลาดใหม่บริเวณใกล้วัดร้าง (วัดจำปา) เนื่องจากที่ที่เดิมเป็นไม้และคับแคบเกรงจะเกิดอัคคีภัย[1] นอกจากชื่อตลาดทรัพย์สินแล้วยังมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ตลาดเรือเมล์ เนื่องจากเป็นท่าเรือสำหรับรับส่งคนที่เดินทางไปมาระหว่างเส้นทางสุพรรณบุรี กับกรุงเทพฯ เรือเมล์เส้นนี้เรียกว่า เรือเมล์สีเลือดหมู

อาคารของตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นี้ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ[2] คือ

– อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น  สร้างใน พ.ศ. 2482

– อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น และ 3 ชั้น  สร้างใน พ.ศ. 2503

– อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น สร้างใน พ.ศ. 2507

ภายในตลาดทรัพย์สินฯ มีร้านอาหาร เครื่องดื่มและขนมหวาน ที่เป็นที่รู้จักกันดีของชาวสุพรรณบุรี คือ “ร้านก๋วยเตี๋ยวหมูเจ้จอย”

[1] สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, โครงการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าเมืองสุพรรณบุรี (สุพรรณบุรี: มปท., 2553),.18 .

[2] สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, โครงการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าเมืองสุพรรณบุรี, 18-19.

เป็นก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำสูตรดั้งเดิมของตาปลิว (ก๋วยเตี๋ยวชื่อดังในจังหวัดสุพรรณบุรี) ร้านเจ้จอยเป็นหนึ่งในร้านที่เป็นลูกหลานของตาปลิว โดยสืบทอดสูตรก๋วยเตี๋ยวของตาปลิวที่ขายมานานกว่า 40 ปี เอกลักษณ์คือก๋วยเตี๋ยวต้มยำที่รสชาติจัดจ้าน และแคปหมูที่โรยหน้ามาบนก๋วยเตี๋ยว

“โกสุมขนมหวานโบราณ” ร้านขนมไทยชื่อดัง ในตลาดทรัพย์สินฯ มีขนมไทยหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวถั่วดำ ข้าวเหนียวสังขยา เปียกลูกเดือย ซาหริ่ม กล้วยบวชชีมะพร้าวอ่อน และขนมชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย

“กาแฟทิพย์” ร้านกาแฟโบราณสูตรดั้งเดิมที่มีการสืบทอดการสูตรการชงเครื่องดื่มจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลามานานกว่า 40 ปี