หลักฐานสมุดภาพพระมาลัยมีปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย หากแต่ที่พบมากคือช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ เรื่องพระมาลัยมักถูกบันทึกในสมุดข่อย (สมุดไทยขาว) เขียนด้วยอักษรขอมภาษาบาลี ส่วนใหญ่มักเขียนภาพอยู่ตอนปลายทั้งสองของกระดาษ เว้นพื้นที่ตอนกลางสำหรับบรรจุตัวหนังสือ ในส่วนของภาพจำแนกได้อยู่ในประเภทงานจิตรกรรม สมุดภาพพระมาลัยมีแบบแผนเฉพาะที่สืบต่อกันมา เช่น การเริ่มต้นด้วยภาพเทพพนม ๑ คู่ ถวายอัญชลีแสดงความเคารพต่อพระธรรม ภาพภิกษุ ๔ รูป กำลังสวดอภิธรรมหรือสวดมาลัยตามธรรมเนียมการสวดศพ ภาพพระมาลัยขณะโคจรบิณฑบาตและแสดงเทศนาเพื่อนำข่าวจากสัตว์นรกมาแจ้งแก่บรรดาญาติพี่น้อง ภาพพระมาลัยโปรดสัตว์แสดงธรรมเทศนาเพื่อแจ้งความตามเทวโองการของพระโพธิสัตว์ศรีอาริย์เมตไตรยแก่ฝูงชน ภาพปลงอสุภะชักผ้าบังสุกุลหรือฉากงานศพ ซึ่งนิยมวาดท้ายเล่มสมุดภาพพระมาลัย
ในช่วงราวร้อยปีแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ สมุดภาพพระมาลัยนับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป กล่าวคือมีปรากฏแทบทุกวัดในภาคกลางและภาคใต้ ชาวบ้านมักว่าจ้างจิตรกรและช่างเขียนทำสมุดภาพพระมาลัยเป็นสมุดข่อยถวายวัดแทนสมุดภาพชุดเดิมที่เสื่อมสภาพอันถือเป็นการทำบุญวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยวัสดุที่เป็นกระดาษจึงมักเกิดปัญหาความชื้น ตลอดจนการเสื่อมความนิยมในประเพณีการสวดพระมาลัย ทำให้สมุดภาพพระมาลัยสูญหายไปเกือบหมดสิ้นตามกาลเวลา
สำหรับสมุดภาพพระมาลัยของวัดพระรูป เขียนบนสมุดภาพไทยขาวด้วยอักษรไทยและอักษรขอมภาษาบาลีอายุราวต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นงานเขียนในรูปแบบกลอนสวด เป็นหลักฐานแสดงถึงความนิยมในการสวดพระมาลัยที่วัดพระรูปในอดีต ในส่วนของภาพจิตรกรรมนั้นครบถ้วนเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่กล่าวมา และมีความงามเป็นเอกอุ นับเป็นสมุดภาพที่มีความสมบูรณ์ในเนื้อหาและคุณค่าในด้านงานจิตรกรรมมากชิ้นหนึ่ง
เรื่องพระมาลัยมีปรากฏใน “มาลัยสูตร” อันเป็นสูตรนอกพระไตรปิฎกที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เดิมเชื่อว่าแต่งขึ้นในลังกาเพราะมีเรื่องราวเกี่ยวกับลังกาทวีป ระยะต่อมามีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าคัมภีร์พระมาลัยอาจแต่งขึ้นในอุษาคเนย์ โดยเริ่มต้นในดินแดนมอญก่อนจะแพร่หลายเข้ามายังล้านนาและสุโขทัย สืบเนื่องไปยังเขมรและลาวซึ่งต่างนับถือพระมาลัยด้วยกันทั้งสิ้น กรณีของไทยเค้าเงื่อนเกี่ยวกับพระมาลัยปรากฏอยู่ในรายชื่อคัมภีร์ในบานแพนกของไตรภูมิพระร่วง แต่งโดยพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๘ หรือในช่วงอยุธยาตอนปลาย เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ก็ได้นิพนธ์พระมาลัยคำหลวงขึ้น ความนิยมเรื่องพระมาลัยปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔ เห็นได้จากการสร้างสรรค์วรรณกรรมพระมาลัยขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะรูปแบบ “พระมาลัยกลอนสวด”
พระมาลัยเป็นเรื่องของพระอรหันต์ชาวลังกานามว่า “พระมาลัยเทวเถระ” ผู้มีอิทธิฤทธิ์สามารถลงไปแดนนรกเพื่อโปรดสัตว์นรกหรือขึ้นไปบนแดนสวรรค์ได้ทุกชั้น และนำสิ่งที่พบเห็นมาเทศนาแก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความเลื่อมใสในความเชื่อบาปบุญคุณโทษ ในด้านงานศิลปกรรมเรื่องพระมาลัยได้รับการสร้างสรรค์เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหาร รวมถึงในรูปแบบสมุดภาพโบราณ ที่เห็นบ่อยครั้งคือภาพพระมาลัยเหาะลอยอยู่เหนือสัตว์นรก ภาพสัตว์นรกที่กำลังถูกทรมานต่างแสดงความดีใจที่พระมาลัยมาแสดงธรรม ภาพพระมาลัยรับดอกบัวจากชายยากจนแล้วหอบเอาดอกบัวเหาะขึ้นสวรรค์ไปบูชาเจดีย์จุฬามณี ภาพพระมาลัยสนทนาธรรมกับพระศรีอาริยโพธิสัตว์ ฯลฯ
แม้เรื่องราวพระมาลัยจะถูกเขียนเป็นคำกลอนสวด แต่ในทางปฏิบัติเมื่อโบราณจารย์นำเรื่องพระมาลัยมาเล่าใหม่ในสำนวนร้อยแก้ว ก็มักเพิ่มเติมสำนวนโวหารและเรื่องราวต่าง ๆ ให้สนุกสนานยิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน พระนักเทศน์ในท้องถิ่นมักนิยมแต่งเติมบรรยายผลลัพธ์ของการกระทำที่ชั่วร้ายให้ชาวบ้าน เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ผู้ปกครองที่โกงกินไม่ยุติธรรม เมื่อตายไปจะเกิดเป็นสัตว์นรกที่มีอัณฑะใหญ่ ส่งกลิ่นเน่าเหม็นห้อยลงมาถึงพื้น คนที่ฆ่าสัตว์ โกหกมดเท็จ โกงกินและไม่ซื่อสัตย์สุจริต จะได้รับผลกรรมเกิดเป็นสัตว์นรกแผลพุพอง หนองเน่าเฟะ บางคนถูกต้มในกระทะทองแดง บางคนถูกนกจิกตีตลอดเวลา ฯลฯ
กล่าวได้ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับพระมาลัยคือเครื่องมือน้อมนำใจให้บุคคลกระทำความดีละเว้นจากกรรมชั่ว การบรรยายภาพนรกภูมิมีพลังเพียงพอให้ผู้คนไม่กล้าทำบาป ไม่ใช่เพราะกลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นในชีวิตนี้เท่านั้น แต่ยังวิตกถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับในชาติหน้าด้วย นอกจากนี้ พระมาลัยยังเป็นเครื่องปลอบประโลมให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นและรอคอยที่จะเกิดในศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย อันเป็นสังคมในอุดมคติที่กอปรด้วยความสุขสมบูรณ์นานาประการ