ใบเสมารุ่นที่สอง

            ใบเสมาวัดพระรูปรุ่นที่ ๒ พบจำนวน ๗ ใบ ตามประวัติกล่าวว่าเป็นใบเสมาของอุโบสถหลังเก่าก่อนการบูรณะ โดยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) ได้นำมาเก็บรักษาไว้ ใบเสมาชุดนี้เป็นหินสีเทา ขนาดโดยรวมสูงประมาณ ๗๐ ซม. กว้างประมาณ ๓๒ ซม. และหนาประมาณ ๖ ซม. ลักษณะรูปทรงเป็นแท่งสูงแบน เส้นรอบนอกคล้ายกับทรงเจว็ด เอวเสมาคอดมีกระหนกที่งอนขึ้นมาด้านข้าง ยอดใบเสมาผายออกเล็กน้อยปลายยอดแหลม มีการสลักลวดลายที่เหมือนกันทั้งสองด้าน โดยสลักลายด้านหน้าละเอียดประณีตกว่าด้านหลัง ลวดลายบนใบเสมาส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้ใบเทศ สลักประดับในทุกส่วนทั้งยอดเสมา อกเลา ทับทรวง โคนเสมา ส่วนฐานเสมาเป็นลายกลีบบัวหงายซ้อนกัน
            ลักษณะเด่นบนใบเสมาชุดนี้คือ ลายดอกไม้ ๒ ดอกกลางใบเสมา ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีปรากฏมาก่อนในใบเสมาสมัยอยุธยาตอนปลาย อาทิ ใบเสมาวัดพรหมนิวาส จ.พระนครศรีอยุธยา และนิยมสืบเนื่องมาในสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ ๔ อาทิ ใบเสมาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระแก้ว) ใบเสมาวัดอรุณราชวราราม ใบเสมาวัดสระเกศ กรุงเทพฯ ใบเสมาวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี เป็นต้น นักวิชาการวิเคราะห์ว่าวงกลม ๒ วงบนใบเสมานั้นหมายถึง สุริยมณฑล (พระอาทิตย์) และจันทรมณฑล (พระจันทร์) อันเป็นสัญลักษณ์ของยอดเขาพระสุเมรุ ที่ประทับของพระอินทร์ตามคติการนับถือบูชาพระอินทร์ ใบเสมาในคตินี้ยังนิยมล้อมรอบด้วยรูปนาคตามเรื่องเล่าว่าพระอินทร์มีภาระในการปราบนาควฤตราเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ[1] และโดยทั่วไปยังเชื่อกันด้วยว่านาคนั้นเป็นสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ด้วย อย่างไรก็ดี ด้วยรูปแบบของใบเสมาวัดพระรูปที่ไม่มุ่งเน้นการทำรูปวงกลม ๒ วงและรูปนาคด้านข้างใบเสมา จึงแสดงให้เห็นถึงความคลี่คลายไปจากรูปแบบที่สร้างตามอินทรคติอย่างมากแล้ว
            ใบเสมาของวัดพระรูปชุดนี้อาจกำหนดอายุได้จากรูปแบบและลวดลายบนใบเสมา ที่เป็นลายดอกไม้ใบเทศและมีรูปแบบที่คลี่คลายไปจากอินทรคติแล้ว โดยน่าจะอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรือในช่วงรัชกาลที่ ๓ – ๔ นับเป็นใบเสมารุ่นที่ ๒ ของวัดพระรูป การพบใบเสมาของวัดพระรูปชุดนี้นำมาสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า วัดพระรูปคงจะมีการบูรณะอุโบสถและผูกพัทธสีมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงรัชกาลที่ ๓ – ๔ สอดคล้องกับการพบหลักฐานงานศิลปกรรมที่อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวภายในวัด อาทิ ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ สมุดพระมาลัย ซุ้มเสมาของอุโบสถเก่า ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในช่วงเวลาดังกล่าว
[1]  พิทยา บุนนาค, เสมา สีมา เล่ม ๒ ใบสีมาสมัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม แอนด์ เอ็ม เลเซอร์พริ้นต์, ๒๕๖๐), ๔๖-๔๗.

 

zh-CNenjaloth