หีบหนังสือเทศน์ เป็นหีบไม้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีฝาด้านบนเปิด-ปิดด้วยบานพับ นิยมตกแต่งด้วยลายรดน้ำ ลงรักประดับกระจก หรือฉลุเป็นลวดลาย รวมทั้งมีที่ทำด้วยกระจกสีต่าง ๆ ใช้ใส่คัมภีร์ใบลานที่ใช้สำหรับเทศนา ขนาดของหีบค่อนข้างเล็กเพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายไปเทศน์ตามสถานที่ต่าง ๆ หีบหนังสือเทศน์นี้เป็นที่นิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๕) หีบหนังสือเทศน์ที่เป็นสมบัติดั้งเดิมของวัดพระรูป มีจำนวนมากกว่า ๗๐ ใบ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในสมัยนั้น ส่วนใหญ่มีลักษณะโดยรวมคล้ายกัน คือเป็นหีบไม้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีฝาด้านบนเปิด-ปิดด้วยบานพับ มีทั้งแบบที่เป็นพื้นเรียบและมีขาตั้ง ขนาดโดยประมาณ กว้าง ๙ – ๑๒ ซม. ยาว ๖๒ – ๖๗ ซม. สูง ๙ – ๑๑ ซม. แบ่งตามรูปแบบได้เป็น ๖ กลุ่มใหญ่
๑) หีบไม้แบบเจาะช่องประดับกระจก มีทั้งสีไม้ธรรมชาติ และสีแดง มีทั้งตกแต่งด้วยลายสลัก และพิมพ์ลายสีทอง พบจำนวน ๒๒ ใบ
๒) หีบไม้แบบเรียบทึบ (ไม่เจาะช่องประดับกระจก) สีไม้ธรรมชาติ ไม่ตกแต่งลวดลาย พบจำนวน ๒๑ ใบ
๓) หีบไม้แบบเรียบทึบ พื้นสีดำ ตกแต่งด้วยลายกำมะลอ ลวดลายธรรมชาติและวิถีชีวิตอย่างชาวจีน พบจำนวน ๑๑ ใบ
๔) หีบกระจก ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีต่าง ๆ เป็นแบบที่พบเห็นได้น้อยในพื้นที่ ๆ พบจำนวน ๙ ใบ
๕) หีบไม้แบบเขียนลายรดน้ำ มีทั้งแบบทึบ และแบบเจาะช่องประดับกระจก พบจำนวน ๒ ใบ
๖) หีบไม้แบบลงรักประดับกระจก พบจำนวน ๑ ใบ