กลุ่มพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ในวัดพระรูปที่เก็บรักษาสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตมีจำนวนหลายองค์ มีทั้งที่เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งและยืนและมีขนาดแตกต่างกันไป พระพุทธรูปกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ การครองจีวรลายดอก ซึ่งนิยมทำกันมากตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา โดยมักออกแบบลายให้เหมือนกับดอกพิกุล ความนิยมนี้คงเกี่ยวข้องกับประเพณีถวายผ้าเนื้อดีมีลายดอกประดับแด่พระพุทธรูปและพระสงฆ์ ดังปรากฏหลักฐานจารึกวัดโพธิ์ได้แสดงให้เห็นว่ามีธรรมเนียมการถวายผ้าแพรมีลายแด่พระพุทธรูปตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ส่วนการถวายผ้าแด่พระสงฆ์นั้น พบว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีการถวายไตรจีวรที่ทำจากผ้าลายดอกเนื้อดีแด่พระสงฆ์อย่างแพร่หลาย เช่น ผ้าย่ำตะหนี่ (ย่ำตานี, ย่านตานี) ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า ยามดานี (Jamdani) ในภาษาเปอร์เซีย ถือเป็นผ้าราคาแพงเนื้อละเอียด ทอเป็นดอกต่าง ๆ ผลิตที่เมืองดักกะ (Dhaka) ประเทศบังคลาเทศในปัจจุบัน
การห่มจีวรลายดอกในหมู่พระสงฆ์มีความสืบต่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ดังมีหลักฐานภาพถ่ายเก่าอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น ภาพที่ถ่ายโดยจอห์น ทอมสัน (John Thomson) ช่างภาพชาวสกอตแลนด์ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ – ๒๔๐๙ แม้ล่วงเข้าสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระเถระผู้ใหญ่บางรูปในกรุงเทพฯ ก็ยังคงนิยมครองจีวรลายดอกอยู่
เช่นเดียวกัน พระพุทธรูปที่ครองจีวรลายดอกคงเป็นความนิยมแพร่หลายต่อเนื่อง แม้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ จะมีพระราชนิยมในการสร้างพระพุทธรูปของราชสำนักเปลี่ยนเป็นไปในทางเสมือนจริงตามแนวสัจนิยม ตลอดจนลดทอนความหรูหราเอิกเกริก ดังเช่นจีวรลายดอกที่เคยประดับประดาองค์พระพุทธรูปออกไป หากแต่พระราชนิยมนี้คงเห็นได้ชัดเฉพาะงานช่างราชสำนัก และงานพุทธศิลป์ในวัดหลวงที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไม่ได้ขยายวงกว้างไปสู่ประชาชน พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกซึ่งเป็น “ของงาม” จึงยังคงเป็นที่นิยมอยู่อย่างมากในหมู่ประชาชนสืบเนื่องมา
สำหรับวัดพระรูปซึ่งเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองสุพรรณในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พบพระพุทธรูปที่ครองจีวรลายดอกอยู่หลายองค์ อาทิ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ที่อัญเชิญประดิษฐานในบุษบกธรรมมาสน์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ “แม่ผิวสร้าง” ที่ปรากฏจารึกปีสร้างใน พ.ศ. ๒๔๖๔ หลักฐานพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความสืบเนื่องในความนิยมพุทธศิลป์รูปแบบนี้ในหมู่ชาวบ้านอย่างชัดเจน