พระพิมพ์พลายงาม

Share on facebook
Facebook
Share on email
Email
พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

            “พระพิมพ์พลายงาม” พระพลายงามมีรูปทรงรียอดแหลม พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานเขียงเตี้ยๆ แสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เค้าโครงพระพักตร์รียาว ด้านหลังขององค์พระนูนสูง เนื้อพระค่อนข้างหยาบ มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์ โดยรวมแล้วมีพุทธลักษณะคล้ายพระขุนแผน แต่พิมพ์ตื้นกว่าพระขุนแผน รวมถึงมีขนาดเล็กกว่าและมีเนื้อหยาบกว่าพระขุนแผน
            พระพลายงาม มีที่มาจากชื่อตัวละครเอกของวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน พลายงามหรือจมื่นไวยวรนาท เป็นบุตรของขุนแผนกับนางวันทอง เป็นข้าราชการทหารกรุงศรีอยุธยาที่มีบุคลิกเก่งกล้าสามารถและมีเสน่ห์เช่นเดียวกับขุนแผน การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระพลายงามคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายพระขุนแผน แต่พิมพ์ตื้นกว่าและมีรายละเอียดน้อยกว่าพระขุนแผน
            พระพิมพ์ในกลุ่มพระขุนแผนและพระพลายงามกรุวัดพระรูปนี้ นักวิชาการจัดอยู่ในกลุ่ม “พระยอดขุนพล” ซึ่งเป็นพระพิมพ์ในศิลปะลพบุรี ที่ปรากฏอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายนอยู่มาก โดยสันนิษฐานว่าเป็นการตัดเอาเฉพาะพระพุทธรูปองค์กลางแยกออกมาจากพระตรีกาย กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙ อาทิ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของพระยอดขุนพลที่สร้างในเวลาต่อมาที่มีการสร้างล้อพิมพ์กันมาหลายสมัย ทำให้มีรายละเอียดทางประติมานวิทยาแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและรูปแบบศิลปะ

zh-CNenjaloth