ธรรมาสน์ หมายถึงที่สำหรับแสดงธรรม แบ่งออกได้หลายประเภท อาทิ ธรรมาสน์ตั่ง ธรรมาสน์ยอด สำหรับธรรมาสน์ยอดนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บุษบกธรรมาสน์” เป็นธรรมาสน์ที่มีหลังคาซ้อนชั้น แบบเดียวกับหลังคาปราสาท นิยมทำขนาดเล็กสำหรับพระสงฆ์ใช้นั่งเทศนาได้องค์เดียว ส่วนมากมีอยู่ในวัดสำคัญหรือวัดขนาดใหญ่ มักเป็นวัดหลวงหรือวัดที่อยู่ในชุมชนที่มีฐานะดี เป็นวัตถุที่พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างถวายวัดด้วยความศรัทธาหรืออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ ด้วยเหตุนี้บุษบกธรรมาสน์บางหลังจึงถือเป็นเครื่องสังเค็ตด้วย
บุษบกธรรมาสน์ของวัดพระรูป พระเทพวุฒาจารย์ (เปลื้อง) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่านำมาจากวัดหนึ่งทางฝั่งธนบุรี แต่ไม่ทราบว่าวัดใด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าประวัติดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ บุษบกธรรมาสน์หลังนี้สร้างจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความสูง ๖๗๐ ซม. ฐานกว้าง ๑๗๘ ซม. ยาว ๑๗๕ ซม. มีลักษณะส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ชั้นเดียวต่อด้วยชั้นหน้ากระดาน ทั้งหมดมีลักษณะโค้งตกท้องช้างเล็กน้อยและมีกระจังปฏิญาณประดับทุกชั้น ฐานชั้นที่รองรับเรือนธาตุมีลักษณะยืดสูง โดยแต่ละด้านประดับรูปครุฑแบกและแต่ละมุมประดับรูปสิงห์แบก (ครุฑและสิงห์แสดงท่าทางคล้ายยุดนาคแต่ไม่มีนาค) เหนือขึ้นไปประดับกระจังปฏิญาณขนาดใหญ่ การประดับเช่นนี้มีให้เห็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น ธรรมาสน์วัดวรจรรยาวาส กรุงเทพฯ เป็นต้น ด้านหน้าธรรมาสน์มีบันไดนาคและแพะหมอบสำหรับพระสงฆ์เหยียบเพื่อขึ้นลงธรรมาสน์
บุษบกธรรมาสน์หลังนี้คงได้รับการซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อธรรมาสน์ชำรุดทางวัดได้จ้างช่างจีนซ่อมคราวหนึ่งเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ธรรมาสน์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้จึงมีทั้งงานเก่าและงานใหม่ปะปนกันอยู่ บันไดนาคนั้นเป็นของที่ทำขึ้นใหม่เนื่องจากของเดิมสูญหายไปสำหรับงานเก่าดั้งเดิมที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ สิงห์แบก ๒ ชิ้น ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะฝีมืออันละเอียดประณีตของธรรมาสน์หลังนี้เมื่อครั้งอดีต อนึ่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรียังมีธรรมาสน์ของวัดประตูสารอีกแห่งหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับธรรมาสน์ของวัดพระรูป อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบศิลปะของงานช่างประณีตศิลป์ในพื้นที่นี้