ตาลปัตรสวดพระมาลัย

            ในอดีต วัดพระรูปเคยมีการสวดพระมาลัย สิ่งนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวัดทางภาคกลาง ที่โดยปรกติมักให้มีเทศนาพระมาลัยก่อนการเทศน์มหาชาติ นี่เองที่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านต่างตั้งตารอเทศกาลเทศมหาชาติ เพื่อจะได้ฟังพระสงฆ์เทศนาพระมาลัยและเวสสันดรชาดกซึ่งนับเป็นบุญกุศลใหญ่ นอกจากนี้ แต่เดิมวัดพระรูปยังมีธรรมเนียมการสวดพระมาลัยในงานศพ โดยการสวดจะใช้พระสงฆ์ ๔ รูป เมื่อสวดอภิธรรมจบจึงสวดพระมาลัยถือเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ตาย  
            การสวดพระมาลัยในงานศพ เข้าใจว่ามีมาแต่กรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และคงมาเสื่อมลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงฟื้นฟูหลักธรรม ตามพุทธศาสนาโดยการก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย เพื่อปรับปรุงให้พระสงฆ์มีความเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยให้เป็นที่เลื่อมใสของประชาชน และเนื่องจากเรื่องราวพระมาลัยเกี่ยวพันกับอิทธิปาฏิหาริย์และความเชื่อพระศรีอาริยเมตไตรย จึงขัดแย้งกับหลักความเป็นเหตุเป็นผล การสวดพระมาลัยจึงเป็นสิ่งที่พ้นสมัย หากแต่ตามหัวเมืองชนบทรอบนอกยังคงสืบศรัทธาประเพณีนี้ต่อเนื่องมา
            แม้ทุกวันนี้วัดพระรูปจะไม่มีการสวดพระมาลัยแล้วก็ตาม ทว่า ประจักษ์หลักฐานถึงการเคยมีอยู่ของประเพณีนี้ก็คือ สมุดภาพพระมาลัย หีบพระมาลัย และตาลปัตรไม้ไผ่สานจำนวน ๔ คัน ที่เคยใช้สวดพระมาลัย