จารึกเป็นเอกสารจดหมายเหตุรูปแบบหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ มีความสำคัญด้านการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีความเที่ยงตรงสูง โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับศักราช ชื่อสถานที่ ชื่อบุคคล และชื่อตำแหน่ง มีความน่าเชื่อถือมากเพราะจารึกเป็นเอกสารร่วมสมัย สามารถนำไปใช้ตรวจสอบกับเอกสารชั้นรองที่ทำขึ้นภายหลังได้เป็นอย่างดี
สมัยอยุธยานิยมจารึกลงบนแผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นดีบุกและกระดาษ โดยมักพบจารึกปะปนอยู่ในกรุต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากสมัยสุโขทัยที่นิยมจารึกลงในแผ่นศิลาหรือแท่งศิลา เรียกว่า ศิลาจารึก จารึกสมัยอยุธยาที่ค้นพบแล้วมีอยู่หลายกลุ่ม จารึกบางกลุ่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพระราชทานสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ในสมัยอยุธยา ที่จารึกลงบนแผ่นทองเรียกว่า “สุพรรณบัฏ” ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่มีปฏิบัติสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ส่วน “จารึกลานทอง” เป็นจารึกบนแผ่นทองคำ คำว่า ลาน มีความหมายว่า บริเวณที่ว่าง หรือสนาม ลานทอง จึงหมายถึง บริเวณที่ว่างที่เป็นทองคำ โดยหมายถึงแผ่นทองคำ
“จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี” เป็นจารึกที่ขุดพบจากวัดพระรูป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ลักษณะเป็นจารึกลานทองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖ ซม. ยาว ๓๐.๗ ซม. วัสดุเป็นทองคำ น้ำหนัก ๒๗.๕ กรัม จารึกด้วยอักษรขอมสมัยอยุธยา ภาษาไทย มีอายุราวพุทธศตวรรษ ๒๐ จารึกจำนวน ๑ ด้าน มี ๒ บรรทัด[1] ความว่า
พระมหาเถรชัยโมลี นาม
พระมหาเถรศรีราชโมลี อวย
แปลโดยรวมได้ว่า พระมหาเถรรูปหนึ่งมีนามเดิมว่า “พระมหาเถรชัยโมลี” ได้รับพระราชทาน (อวย) สมณศักดิ์เป็น “พระมหาเถรศรีราชโมลี” จารึกลานทองนี้จึงเป็นจารึกเกี่ยวกับการเลื่อนสมณศักดิ์ของพระมหาเถรชัยโมลี จึงได้ชื่อว่า จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี
สมณศักดิ์ เป็นยศของพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานและมีราชทินนามประกอบไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระวันรัตน์ พระครูธรรมราชา ส่วนที่เป็นยศ ได้แก่ สมเด็จ พระครู ส่วนที่เป็นราชทินนาม ได้แก่ พระวันรัตน์ ธรรมราชา สมณศักดิ์มีอยู่หลายลำดับชั้น ในชั้นของพระราชาคณะปัจจุบันแบ่งเป็น สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะรอง (ชั้นหิรัณยบัฏ) พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นสามัญ
สมัยกรุงสุโขทัย ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง มีอยู่ ๔ ตำแหน่งคือ สังฆราช ปู่ครู มหาเถระ และเถระ สังฆราชเป็นตำแหน่งสังฆนายกชั้นสูงสุด ตำแหน่ง ปู่ครู น่าจะตรงกับคำเรียกในปัจจุบันว่า พระครู เป็นตำแหน่งสังฆนายกรองลงมาจากสังฆราช ทั้งตำแหน่งสังฆราชและปู่ครูเป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน ส่วนมหาเถระและเถระ เป็นลำดับชั้นจากการนับพรรษาอายุตามพระวินัยบัญญัติ โดยมิได้เป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน[2] ต่อมาในสมัยอยุธยา มีการแบ่งคณะสงฆ์เป็นฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี ในคณะคามวาสีแบ่งอีก ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ มีการเปลี่ยนราชทินนามของพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้ง ให้ดูแลคณะคามวาสีฝ่ายใต้ หรือเจ้าคณะใหญ่มีราชทินนามว่า พระวันรัตน์ หรือพระพนรัตน์ ปัจจุบันใช้คำว่า สมเด็จพระวันรัต ส่วนพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลคณะคามวาสีฝ่ายเหนือ หรือเจ้าคณะใหญ่ มีราชทินนามว่า พระพุทธโฆษาจารย์ ส่วนคณะอรัญวาสี ให้มีราชทินนามว่า พระพุทธาจารย์ ปัจจุบันใช้คำว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ และทรงสถาปนาพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งเลื่อนจากเจ้าคณะใหญ่รูปใดรูปหนึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช อันเป็นสมณศักดิ์และประมุขสูงสุด ดูแลปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเพียงองค์เดียว[3]
ในทำเนียบตำแหน่งพระราชาคณะสมัยกรุงเก่า ระบุว่า เมืองสุพรรณเป็นเมืองไม่มีตำแหน่งพระครู สังกัดในคณะหัวเมืองปากใต้ ขึ้นกับคณะคามวาสีฝ่ายขวา ตั้งอยู่ในฐานานุกรมของพระวันรัตน์ วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล)[4] ข้อความในจารึกลานทองวัดพระรูปจึงมีความสอดคล้องกับข้อมูลนี้ เพราะไม่ปรากฏตำแหน่งพระครูในจารึกลานทอง โดยปรากฏคำว่า พระมหาเถร ซึ่งเป็นลำดับชั้นทางพระวินัยบัญญัติ มีจุดน่าสังเกตที่คำว่า “โมลี” ซึ่งเป็นคำในราชทินนามในสมัยกรุงเก่า เช่น พระเทพโมลี (ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายอรัญวาสี) และ พระครูอินทโมลี (ตำแหน่งพระราชาคณะแห่งเมืองประสงค์ คณะหัวเมืองปากใต้ คณะคามวาสี ฝ่ายขวา)[5] มีส่วนคล้ายกับนามของ พระมหาเถรชัยโมลี และสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานคือ พระมหาเถรศรีราชโมลี ในช่วงเวลานั้นน่าจะเทียบได้กับพระราชาคณะชั้นสามัญ อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงทัศนะไว้ว่า “เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองใหญ่และอยู่ใกล้พระนคร จำต้องมีพระครูเจ้าคณะเมือง บางทีเมืองที่ในบัญชีว่าไม่มีพระครูนั้น ที่จริงจะไม่มีแต่ราชทินนาม”[6] หากแต่จารึกลานทองวัดพระรูปแสดงสมณศักดิ์ว่า “พระมหาเถรศรีราชโมลี” นั้นแสดงลำดับชั้นของพรรษาอายุตามพระวินัยบัญญัติ มีราชทินนาม และมีความสอดคล้องกับทำเนียบตำแหน่งพระราชาคณะในสมัยกรุงเก่าที่ระบุว่า เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองที่ไม่มีตำแหน่งพระครู
ความสำคัญและความน่าสนใจของจารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี ยังคงเป็นประเด็นคำถามต่อการศึกษา อาทิ พระมหาเถรชัยโมลีเป็นใคร มีความเกี่ยวข้องกับวัดพระรูปอย่างไร อาจดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีสงฆ์ของวัดพระรูป หรืออาจเป็นเจ้าคณะเมืองสุพรรณบุรี หรือมีชาติภูมิอยู่ในละแวกวัดพระรูป อนึ่ง จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลีเป็นเอกสารจดหมายเหตุที่แสดงความเชื่อมโยงทางการปกครองและการพระศาสนาของเมืองสุพรรณบุรีกับกรุงศรีอยุธยา เป็นหลักฐานที่ยืนยันความสำคัญและความเจริญของวัดพระรูปในอดีต รวมถึงคณะสงฆ์วัดพระรูปและผู้อุปถัมภ์วัดพระรูปในช่วงเวลานั้น
[1] ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “จารึกพระมหาเถรชัยโมลี”, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๕: อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔, (กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙), ๑๓๑-๑๓๒., นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. ศมส., ๒๕๔๗.
[2] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๕.
[3] สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๒ / เรื่องที่ ๑ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์ / พัดยศและสมณศักดิ์
[4] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๒๕, ๒๗, ๒๙.
[5] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๒๘, ๓๓.
[6] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๓๕.