โครงการวิจัย

เรื่อง
“การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี
ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เหมาะสมกับสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑”

หลักการและเหตุผล
        ในศตวรรษที่ ๒๑ พัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศและกระแสโลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงผันผวนในสังคมโดยรวมในระยะเวลาที่รวดเร็วและฉับพลัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแม้จะก่อเกิดผลทางบวกต่อโลกอุตสาหกรรม แต่ก็ได้ส่งผลต่อมนุษย์ในสังคมเช่นเดียวกัน เมื่อมนุษย์รู้สึกไม่มั่นคงในโลกที่ขาดซึ่งเสถียรภาพ เกิดการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติและค่านิยม เปิดโอกาสให้คนได้เปิดกว้างทางความคิดและเห็นถึงความหลากหลายของโลกทัศน์ที่ยากจะตัดสินได้ ดังนั้นเมื่อมนุษย์ประสบกับความผันผวนต่าง ๆ แต่ในเวลาเดียวกัน มนุษย์ก็ถูกคาดหวังในฐานะทุนมนุษย์ที่ต้องขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยสติและวิจารณญาณ การยกระดับคุณภาพและสมรรถภาพของทุนมนุษย์ (Human capital) จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสําคัญในการวิจัยโดยการศึกษาสาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ถือเป็นศาสตร์หลักที่มีศักยภาพสูงที่ใช้พัฒนาทุนมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน และนําเสนอให้เห็นถึงความซับซ้อนของมนุษย์หรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์รังสรรค์ขึ้น สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ มีด้วยกันหลายมิติ มิติที่สําคัญประการหนึ่งคือด้านศิลปะ ที่มีบทบาทสําคัญยิ่งต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในยุคแห่งความผันผวน ศิลปะนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้เพื่อพักผ่อนจิตใจแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสําคัญที่ทําให้มนุษย์ได้คิดใคร่ครวญและไตร่ตรองเกี่ยวกับชีวิตและความหมายของการดํารงชีวิต เป็นเครื่องมือสําคัญที่จะยึดโยงมนุษย์กับรากเหง้าหรือชุมชน ทําให้พัฒนาการของอัตลักษณ์มนุษย์มีเสถียรภาพและส่งผลต่อการสร้างความแข็งแกร่งของชุมชนได้ในทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะมรดกทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในรูปของโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดที่มีอยู่เป็นจํานวนมากในประเทศ ซึ่งพิพิธภัณฑ์และวัตถุในพิพิธภัณฑ์วัดเป็นแหล่งบรรจุประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์อันซับซ้อนในห้วงเวลาของผู้คนที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง พิพิธภัณฑ์วัดจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน สําหรับผู้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชน
        กระนั้นก็ตาม พิพิธภัณฑ์วัดส่วนใหญ่ดูจะยังไม่ได้รับการพัฒนา จึงกลายเป็นเพียงแหล่งเก็บรักษาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ไม่สามารถบอกเล่าองค์ความรู้ใด ๆ ได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าผู้คนในท้องถิ่นจะมีสํานึกในเรื่องการเก็บรักษา โดยเฉพาะพระสงฆ์ ครู หรือผู้นําท้องถิ่น ที่มักจะรวบรวมสิ่งของไว้เพื่อจัดทําพิพิธภัณฑ์ ทว่ายังไม่ทราบถึงวิธีการ กระบวนการคัดสรรเนื้อหา วิธีการจัดแสดง ตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการจัดทําพิพิธภัณฑ์ ทั้งที่มรดกวัฒนธรรมเหล่านั้นมีคุณค่าอย่างมาก และมีความสัมพันธ์กับวัดและท้องถิ่นโดยตรง สิ่งนี้สะท้อนถึงการทำพิพิธภัณฑ์วัดตามกระบวนทัศน์เดิม ที่มุ่งเน้นการเก็บรักษาโบราณวัตถุและจัดแสดงโดยขาดองค์ความรู้ทางวิชาการ ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับพิพิธภัณฑ์วัด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑ จึงเป็นโอกาสและเป็นความท้าทายใหม่ ๆ ในการพัฒนาทุนมนุษย์ ในด้านการสร้างภัณฑารักษศาสตร์ (Curatorial studies) ซึ่งเป็นการจัดการความรู้ทางศิลปะและการเผยแพร่เพื่อสร้างพลวัตทางวัฒนธรรม และทําให้เห็นถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ อันจะยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ ทําให้การพัฒนาทุนมนุษย์เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเท่าทันภาวะความเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนของโลกในปัจจุบัน
        ในปี ๒๕๖๑ คณะนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจและประเมินศักยภาพวัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี ตามที่ได้รับการติดต่อจากเจ้าอาวาสวัดพระรูปและคณะกรรมการชุมชนย่อยวัดพระรูป ที่ขอความอนุเคราะห์ให้สถาบันฯ เข้าไปช่วยจัดทําพิพิธภัณฑ์ของวัด เนื่องจากสถาบันฯ และคณะนักวิจัยมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่เมืองสุพรรณบุรี ประกอบกับมีประสบการณ์การทําพิพิธภัณฑ์วัดแห่งอื่นมาก่อน
ผลการสำรวจและประเมินศักยภาพพบว่า วัดพระรูปเป็นวัดโบราณที่สําคัญตั้งอยู่กลางเมืองสุพรรณบุรี มีหลักฐานโบราณสถานที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรืออาจก่อนหน้านั้น วัดแห่งนี้ได้มีพัฒนาการผ่านกาลเวลาต่อเนื่องสัมพันธ์กับเมืองสุพรรณบุรีมาตลอดสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน นามวัดพระรูปยังเป็นที่รับรู้แก่ผู้คนภายนอกผ่านนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ (พ.ศ. ๒๓๙๗) ความสําคัญของวัดแห่งนี้ในปัจจุบันคือ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี เนื่องจากภายในวัดมีโบราณสถานที่สําคัญ และมีโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่สําคัญเป็นจํานวนมาก จัดแสดงอยู่ในศาลาการเปรียญของวัดซึ่งทําหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว โดยมีเจ้าอาวาสวัดทําหน้าที่ดูแล
        นอกจากความสำคัญของวัดพระรูปดังกล่าว ยังพบอีกว่าวัดพระรูปมีความพร้อมในด้านทรัพยากรสำหรับการจัดทำพิพิธภัณฑ์ อาทิ ด้านอาคารสถานที่ งบประมาณ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเจ้าอาวาสวัดและคณะกรรมการมูลนิธิวัดพระรูป ที่มีความกระตือรือร้นและมีความตั้งใจสูงในการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปขึ้นสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเป็นความคาดหวังของวัดและชุมชนมาตั้งแต่สมัยอดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน ๆ
อย่างไรก็ตาม วัดและชุมชนยังไม่สามารถจัดทําพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปขึ้นได้ เนื่องจากยังขาดบุคลากรและองค์ความรู้ในการจัดทำพิธภัณฑ์ตามหลักวิชาการ ในการนี้คณะผู้วิจัยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะเข้าไปศึกษา วิจัย และช่วยจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป เนื่องจากวัดพระรูปกำลังอยู่ในช่วงที่มีความพร้อมในหลายด้านดังที่กล่าวมา หากไม่รีบดำเนินการอาจจะเสียโอกาสในการอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ โดยคณะนักวิจัยเห็นว่าการจัดทําพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น ต้องอาศัยการศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อเพิ่มศักยภาพคนทำพิพิธภัณฑ์วัด
        การจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปยังเป็นโอกาสที่จะพัฒนาพิพิธภัณฑ์วัดให้เป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑ ตาม “กระบวนทัศน์ใหม่” (New Paradigm) ที่ใช้งานวิจัยเป็นตัวนำ มุ่งเน้นการศึกษาและจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดตามหลักวิชาการ และการแสวงหาประเด็นในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ทำพิพิธภัณฑ์วัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างยั่งยืน ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่าง ๓ ภาคีหลักอันได้แก่ สถาบันการศึกษา วัด และชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างจากการทำพิพิธภัณฑ์วัดตามกระบวนทัศน์เดิมที่ส่วนใหญ่ยังขาดการจัดทำตามหลักวิชาการและขาดการร่วมมือ ทำให้พิพิธภัณฑ์วัดส่วนใหญ่มีสภาพไม่แตกต่างจากสถานที่เก็บของเก่า การทำพิพิธภัณฑ์วัดตามกระบวนทัศน์ใหม่ที่เริ่มตั้งแต่การทําทะเบียนโบราณวัตถุ การออกแบบเนื้อหาและการจัดแสดง การสร้างเนื้อหาในการจัดแสดง ตลอดไปจนถึงการถอดบทเรียนกระบวนการทำต้นแบบพิพิธภัณฑ์วัดนั้น จึงเป็นการพัฒนาให้พิพิธฺภัณฑ์วัดกลายแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นข้อเสนอแนะสำหรับการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดแห่งอื่น ๆ ในประเทศไทยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ให้สามารถประเมินตนเองได้และดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย
๑. สร้างคนและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดตามหลักวิชาการ ผ่านการทำกิจกรรมในโครงการ โดยครอบคลุมตั้งแต่การทําทะเบียนโบราณวัตถุ การออกแบบเนื้อหาและการจัดแสดง การสร้างเนื้อหาในการจัดแสดง ตลอดไปจนถึงการถอดบทเรียนกระบวนการทำต้นแบบพิพิธภัณฑ์วัด เพื่อจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ให้เป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์วัด สําหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑
๒. พัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดทําพิพิธภัณฑ์วัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ใช้งานวิจัยเป็นตัวนำ และใช้ความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษา วัด และชุมชน เพื่อเป็นข้อเสนอแนะทิศทางการพัฒนาและยกระดับคนพิพิธภัณฑ์วัดแห่งอื่น ๆ ในประเทศไทย

กิจกรรมภายใต้โครงการ
๑. การจัดทําทะเบียนโบราณวัตถุศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
๒. การศึกษาประวัติศาสตร์คัดสรรกับงานพิพิธภัณฑ์วัดเพื่อชุมชน
๓. การศึกษาบทบาทพระเกจิอาจารย์กับงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
๔. การประยุกต์ใช้ประวัติศาสตร์ศิลปะในงานพิพิธภัณฑ์วัด
๕. การออกแบบนิทรรศการและการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
๖. การศึกษาห่วงโซ่อุปทานเพื่อจัดทําแผนที่ทางวัฒนธรรม
๗. การศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป สู่การเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์วัด

กรอบการวิจัย
        หลักการดําเนินงานภายใต้โครงการวิจัย “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เหมาะสมกับสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑” ตั้งอยู่บนฐานคิด “๓ สร้าง” อันได้แก่ “สร้างคน” ผ่านการทํางานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “สร้างองค์ความรู้” ผ่านการทำงานวิจัยตามหลักวิชาการ และ “สร้างนวัตกรรม” ผ่านการสังเคราะห์กิจกรรมในโครงการฯ
        “สร้างคน” โดยใช้หลักการทํางานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้มีความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดได้ ระหว่างคณะนักวิจัยกับกลุ่มเป้าหมาย แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น ๔ กลุ่ม ดังนี้
        กลุ่มพระสงฆ์วัดพระรูป มุ่งเน้นที่เจ้าอาวาสวัดให้เป็นผู้มีความรู้ในการจัดทำและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์วัด ผ่านการทำงานร่วมกันตลอดโครงการฯ และมุ่งเน้นที่พระสงฆ์ในวัดที่มีศักยภาพในการทำทะเบียนโบราณวัตถุ รวมถึงให้มีความรู้ทางด้านภัณฑารักษศาสตร์ในเบื้องต้น ผ่านการทำกิจกรรมที่ ๑ “การจัดทําทะเบียนโบราณวัตถุศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป” กิจกรรมที่ ๕ “การออกแบบนิทรรศการและการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป” และ กิจกรรมที่ ๗ “การศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป สู่การเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์วัด” เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถประเมินตนเองได้ และดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง
        กลุ่มเยาวชน มุ่งเน้นที่เยาวชนในชุมชนที่มีศักยภาพและมีความสนใจที่จะเรียนรู้ ผ่านการทำงานวิจัยร่วมกัน ในกิจกรรมที่ ๒, ๓, ๔ และ ๖ เพื่อเพิ่มศักยภาพของเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจการสืบค้นข้อมูลและการสร้างองค์ความรู้ ตลอดจนทักษะในการทำวิจัยเบื้องต้นทางด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และสังคมศาสตร์
        กลุ่มปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชน มุ่งเน้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลและประสบการณ์ ในกิจกรรมที่ ๒, ๓, ๔ และ ๖ เพื่อให้ปราชญ์และผู้นำชุมชนเป็นผู้ที่เชื่อมโยงภูมิปัญญาดั้งเดิมกับองค์ความรู้ใหม่ สำหรับการถ่ายทอดให้กับทั้งคนในชุมชนและคนนอกชุมชนได้
        กลุ่มพระสงฆ์และคนที่ตั้งใจจะทำพิพิธภัณฑ์วัดแห่งอื่น ๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ มุ่งเน้นที่การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ระหว่างคณะผู้วิจัย คณะสงฆ์วัดพระรูป กับกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการทำงานในกิจกรรมที่ ๗ “การศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป สู่การเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์วัด” เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถประเมินตนเองได้ และดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง
        “สร้างองค์ความรู้” เกิดจากการวิจัยอย่างรอบด้านที่ครอบคลุมการทํางานพิพิธภัณฑ์วัดทั้งหมด สำหรับจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป ประกอบไปด้วย ๔ กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ ๒ “การศึกษาประวัติศาสตร์คัดสรรกับงานพิพิธภัณฑ์วัดเพื่อชุมชน” เพื่อสร้างเนื้อหาที่เหมาะสมในการบอกเล่าประวัติศาสตร์วัดพระรูปและชุมชน กิจกรรมที่ ๓ “การศึกษาบทบาทพระเกจิอาจารย์กับงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม” เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บุคคลและคุณูปการของพระเกจิอาจารย์ที่มีต่อการทำพิพิธภัณฑ์วัดและการพัฒนาวัด กิจกรรมที่ ๔ “การประยุกต์ใช้ประวัติศาสตร์ศิลปะในงานพิพิธภัณฑ์วัด” เพื่อสร้างเนื้อหาที่เหมาะสมเกี่ยวกับโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ของโบราณสถานและโบราณวัตถุในวัดพระรูป กิจกรรมที่ ๕ “การออกแบบนิทรรศการและการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป” เพื่อบริหารจัดการองค์ความรู้จากการทำกิจกรรมที่ ๒, ๓ และ ๔ ให้เหมาะสมกับสถานที่และพื้นที่จัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ กิจกรรมที่ ๖ “การศึกษาห่วงโซ่อุปทานเพื่อจัดทําแผนที่ทางวัฒนธรรม” เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ได้แก่ พระสงฆ์ คนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และกิจกรรมที่ ๗ “การศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป สู่การเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์วัด” เพื่อถอดบทเรียนให้แก่ฅนทำพิพิธภัณฑ์วัดแห่งอื่นต่อไป
        ทั้งนี้ องค์ความรู้จากกิจกรรมที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ และ ๗ ดังกล่าว จะเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะนักวิจัยในฐานะ “คนนอก” กับ พระสงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ตลอดจนเยาวชนที่มีศักยภาพและมีความสนใจ ในฐานะ “คนใน” ให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ สู่การยกระดับคุณภาพและสมรรถภาพของคนทำพิพิธภัณฑ์วัดในพื้นที่
        “สร้างนวัตกรรม” คือผลลัพธ์ของโครงการวิจัยฯ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป ทะเบียนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป คู่มือแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป คู่มือแนะนำแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป และคู่มือฅนทำพิพิธภัณฑ์วัด นวัตกรรมเหล่านี้เกิดจากการสังเคราะห์กิจกรรมทั้งหมดในโครงการฯ นำไปสู่ต้นแบบกระบวนการทำพิพิธภัณฑ์วัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑ และยังเป็นแนวทางในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์วัดแห่งอื่น ๆ ในประเทศไทย

 

ประโยชน์ที่จะได้รับจากงานวิจัย
        ประโยชน์ในด้านวิชาการ ผลผลิตทางด้านวิชาการของโครงการวิจัยคือ เกิด “กระบวนทัศน์ใหม่” ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัด ที่ใช้งานวิจัยเป็นตัวนำ มุ่งเน้นการศึกษาและจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดตามหลักวิชาการ และการแสวงหาประเด็นในการจัดแสดง เพื่อสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ผ่านการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญตั้งแต่การจัดทำทะเบียน การสร้างองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคล และประวัติศาสตร์ศิลปะ การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่สามารถสะท้อนถึงประวัติศาสตร์วัดและพื้นที่ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของโบราณวัตถุศิลปวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานภายในวัดได้อย่างแท้จริง ผลการวิจัยจากกระบวนทัศน์ใหม่เหล่านี้ จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ ตามแนวคิดที่ได้ออกแบบให้เรียงร้อยเรื่องราวและประเด็นต่าง ๆ อย่างเหมาะสมลงตัว และสัมพันธ์กับผลผลิตของโครงการที่ผลิตขึ้นเป็นสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือคู่มือแหล่งเรียนรู้ คู่มือแนะนำแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนถึงเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์อย่างเป็นเอกภาพ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับงานพิพิธภัณฑ์วัดที่ผ่านมา จากเดิมที่สร้างเพียงสถานที่และจัดแสดงข้อมูลพื้นฐาน มาสู่การสร้างนวัตกรรมที่เกิดผลกระทบต่อสังคม คือพิพิธภัณฑ์วัดที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมไทยปัจจุบันและอนาคต
        ประโยชน์ในด้านการสร้างกำลังคน การจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดจนแล้วเสร็จ ก่อให้เกิดผู้ที่ความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์การจัดทำพิพิธภัณฑ์วัด ทั้งเจ้าอาวาสวัด คณะสงฆ์ภายในวัด ปราชญ์ชุมชน ผู้นำชุมชน เยาวชนในชุมชน ตลอดจนนักวิจัยในคณะ ผ่านการทำงานร่วมกันและพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันโดยตลอด โดยผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์บางท่าน ยังสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นกับสาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง อนึ่ง ในอนาคตคาดว่าผู้ที่สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ จะเกิดแรงบันดาลใจและแนวทางในการริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน
        ประโยชน์ในด้านสังคมต่อการจัดการคุณภาพชีวิต โครงการวิจัยดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดจากความร่วมมืออย่างแท้จริง ระหว่างพระสงฆ์วัดพระรูป ผู้นำชุมชน คณะกรรมการวัด คณะนักวิจัย ตลอดจนเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาจารย์ผู้เป็นสถาปนิก ชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) สุพรรณบุรี สถาบันศึกษา นักศึกษา ครูอาจารย์ ฯลฯ จึงทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้เกิดสำนึกร่วมในการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ ประการสำคัญคนในพื้นที่เกิดความตระหนักรับรู้และเกิดจิตสำนึกร่วมกันในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตลอดจนแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมในวัดและพื้นที่ของตน ทั้งยังคาดหวังว่าในอนาคตพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปตลอดจนผลผลิตของโครงการทั้งหมด จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืนของเยาวชนตลอดจนผู้สนใจทั่วไปทุกเพศทุกวัย