หีบหนังสือสวด

            หีบหนังสือสวด เป็นหีบไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนมีฝาเปิด-ปิด ฐานล่างนิยมทำในรูปทรงฐานสิงห์ ตัวหีบด้านยาวนิยมแบ่งเป็น ๓ ห้อง ด้านกว้าง ๑ ห้อง นิยมตกแต่งด้วยลายรดน้ำหรือปิดทองประดับกระจก ใช้เก็บหนังสือสมุดไทยที่ใช้สำหรับสวด โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องพระมาลัย จึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หีบพระมาลัย” หีบหนังสือสวดนี้เป็นที่นิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕)
            หีบหนังสือสวดหรือหีบพระมาลัยที่เป็นสมบัติของวัดพระรูปมาแต่เดิม มีที่สำคัญจำนวน ๔ ใบ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ มีลักษณะโดยรวมคล้ายกัน คือเป็นหีบไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดโดยประมาณ กว้าง ๒๓ – ๓๐ ซม. ยาว ๖๒ – ๘๒ ซม. สูง ๒๓ – ๓๐ ซม. ด้านบนลักษณะเป็นฝาตัด มีฝาเปิด-ปิดและมีห่วงเหล็กเพื่อดึงฝาเปิดได้ ฐานล่างอยู่ในรูปทรงฐานสิงห์ ตัวหีบด้านยาวแบ่งเป็น ๓ ห้อง ส่วนด้านกว้าง ๑ ห้อง ตกแต่งด้วยลายรดน้ำ แต่จะมีความแตกต่างกันที่ภาพและลวดลายรดน้ำ หีบหนังสือสวดเหล่านี้สันนิษฐานว่าเดิมเคยใช้สำหรับใส่คัมภีร์พระมาลัยที่วัดพระรูปมีอยู่   
            การพบหีบหนังสือสวดจำนวนไม่น้อยในวัดพระรูป ประกอบกับการคัมภีร์พระมาลัยภายในวัดจำนวนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าในอดีตช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕ วัดพระรูปคงจะมีประเพณีการสวดพระมาลัย ซึ่งเป็นที่นิยมมากในงานศพ คัมภีร์พระมาลัยมีเนื้อหาว่าด้วยการท่องนรกและสวรรค์และการพบกับพระศรีอารยเมตไตรย การแจกแจงผลบุญและบาปของสัตว์โลก การเกรงกลัวต่อบาปกรรมความชั่ว และมุ่งมั่นในการทำดี
            หีบหนังสือสวดลวดลายกระหนก เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเป็นฝาตัดมีแผ่นไม้สามารถปิดเปิดได้ ภายในบรรจุคัมภีร์ใบลานหลายฉบับ ลักษณะเด่นคือการเขียนเป็นลวดลายกระหนกเรียงเป็นแถว และลายดอกสี่กลีบ แม้จะดูเป็นลวดลายที่เรียบง่ายแต่ก็มีความงดงามและมีคุณค่าเนื่องจากพบได้น้อย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะพบเป็นภาพในเรื่องรามเกียรติ์และภาพวิถีชีวิตเป็นส่วนใหญ่ 
            หีบหนังสือสวดลวดลายวิถีชีวิต เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิคการเข้าไม้แบบโบราณ มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง ด้านบนเป็นฝาตัดสามารถเปิดปิดได้ มีลักษณะเด่นคือการเขียนลายรดน้ำเป็นภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่สะท้อนถึงการยังชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ ภาพวิถีชีวิตของสัตว์ป่า และภาพปรัมปราคติเรื่องครุฑกับงู ตกแต่งลายขอบและหน้ากระดานด้วยลายดอกไม้และลายก้านต่อดอก
            หีบหนังสือสวดลายเทพนม เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเป็นฝาตัดมีแผ่นไม้ที่สามารถเปิดปิดได้ ลักษณะเด่นของหีบใบนี้คือ การเขียนลายรดน้ำภาพที่สะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างคติความเชื่อไทยกับจีน ด้วยการเขียนภาพเทพนมผินพระพักตร์เวียนประทักษิณพระคัมภีร์ ตรงกลางเป็นภาพเครื่องตั้งของไหว้บูชาอย่างในวัฒนธรรมจีน อันประกอบด้วย โถทรงสูง ดอกไม้ในแจกัน ผลไม้ในชาม และชุดถ้วยชามใส่อาหาร
            หีบหนังสือสวดลายรามเกียรติ์ เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเป็นฝาตัดมีแผ่นไม้ที่สามารถเปิดปิดได้ ลักษณะเด่นของหีบใบนี้คือ การเขียนภาพวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ เป็นภาพจับของหนุมานกับยักษ์ในท่าทางต่าง ๆ แสดงถึงความเคลื่อนไหวตอนกำลังต่อสู้กัน และมีนัยยะสะท้อนถึงการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมที่เกิดขึ้นตลอดในชีวิต ความนิยมตกแต่งด้วยภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์น่าจะเริ่มมีมาก่อนในราชสำนัก ด้วยเป็นเรื่องที่มีนัยยะสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชสำนัก แล้วคงเป็นที่แพร่หลายทั่วไป