พระพิมพ์ขุนแผนไข่ผ่าซีก

            “พระพิมพ์ขุนแผน” มีรูปทรงรียอดแหลม ด้านหน้าค่อนข้างเรียบสำหรับพิมพ์รูป ด้านหลังขององค์พระนูนสูง บางองค์ปรากฏลายนิ้วมือ อันแสดงให้เห็นถึงวิธีการกดพิมพ์พระด้วยมือทุกองค์ พิมพ์เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเหนือฐานบัว ภายในซุ้มที่ประดับใบระกาทรงยาวรี พุทธลักษณะแสดงปางมารวิชัย เค้าโครงพระพักตร์รียาว พระหนุค่อนข้างสั้น ปรากฏร่องรอยการทรงเครื่อง คือ สวมเครื่องประดับพระเศียรยอดยาว และพาหุรัด การที่กดพิมพ์ด้วยมือจึงทำให้สัณฐานของพระขุนแผนมีความแตกต่างกันออกไป แบ่งเป็น ๒ แบบคือ “พระขุนแผนไข่ผ่าซีก” มีสัณฐานทรงรีป้อมคล้ายไข่ผ่าซีก และ “พระขุนแผนแตงกวาผ่าซีก” มีสัณฐานทรงรียาวชะลูด พระขุนแผนส่วนใหญ่มีสีแดงอิฐคล้ายกับสีดินเผา และเนื่องจากการเผาจึงทำให้สีของเนื้อดินมีความแตกต่างกันออกไป อาทิสีแดงเข้ม สีหม้อใหม่ และสีพิกุลแห้ง พระขุนแผนมีเนื้อละเอียด มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงกระจายอยู่ทั่วองค์ นอกจากนี้ ในกลุ่มพระขุนแผนกรุวัดพระรูปยังมี “พระขุนแผนซุ้มระฆัง” เนื่องจากทำซุ้มพระเป็นรูปทรงซุ้มระฆังแบบศิลปะสุโขทัย และ “พระยอดขุนพล” ซึ่งทั้งสองพิมพ์นี้พบจำนวนน้อยมาก
            พระขุนแผน มีที่มาจากชื่อตัวละครเอกของวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน ขุนแผนเป็นบุตรของขุนไกรพลพ่ายกับนางทองประศรี ขุนแผนหรือขุนแผนแสนสะท้าน เป็นข้าราชการทหารกรุงศรีอยุธยาที่มีบุคลิกเป็นชายชาตรีผู้มีความรู้มีความเก่งกล้าสามารถมากและเป็นผู้ที่มีเสน่ห์อย่างมาก การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระขุนแผนคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีความงดงามสมบูรณ์ที่สุดในกลุ่มพระพิมพ์กรุวัดพระรูป ประกอบกับอาจจะเนื่องจากฐานบัวคว่ำบัวหงายที่พิมพ์ติดไม่ชัดทำให้มองดูคล้ายรูปเด็กนอนหงายหรือกุมารทอง บุตรของขุนแผนกับนางบัวคลี่ที่ขุนแผนปลุกสร้างขึ้นด้วยวิชาตามเนื้อเรื่องในวรรณกรรม
            พระพิมพ์ในกลุ่มพระขุนแผนและพระพลายงามกรุวัดพระรูปนี้ นักวิชาการจัดอยู่ในกลุ่ม “พระยอดขุนพล” ซึ่งเป็นพระพิมพ์ในศิลปะลพบุรี ที่ปรากฏอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายนอยู่มาก โดยสันนิษฐานว่าเป็นการตัดเอาเฉพาะพระพุทธรูปองค์กลางแยกออกมาจากพระตรีกาย กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙ อาทิ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของพระยอดขุนพลที่สร้างในเวลาต่อมาที่มีการสร้างล้อพิมพ์กันมาหลายสมัย ทำให้มีรายละเอียดทางประติมานวิทยาแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและรูปแบบศิลปะ