ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ

            “ตู้พระธรรม” หรือ “ตู้พระไตรปิฎก” คือตู้ไม้สำหรับเก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน ที่จารเรื่องเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎก คติความเชื่อ ภูมิปัญญา ตำรายา ฯลฯ ลักษณะตู้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ด้านบนสอบเข้าเล็กน้อย นิยมทำขาตั้ง ๔ ขา หรือเป็นฐานสิงห์ ด้านหน้ามีบานประตูเปิด-ปิดด้วยเดือยหรือบานพับ ภายในตู้นิยมแบ่งเป็นชั้น ๒-๓ ชั้น ด้านล่างมักทำเป็นลิ้นชักสำหรับเก็บของ
            ตู้พระไตรปิฎกเป็นที่นิยมมากในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในแต่ละท้องถิ่นอาจมีรูปทรงและการตกแต่งแตกต่างกันไปบ้าง พื้นผิวภายนอกของตู้มักจะนิยมตกแต่งให้เกิดความงดงามด้วยการเขียนลายรดน้ำ นิยมเรียกกันว่า “ตู้ลายรดน้ำ” หรือ “ตู้ลายทอง” ด้านล่างของตู้นิยมแกะสลักเป็นลวดลายแล้วปิดทอง หรือปิดทองประดับกระจก ตู้พระไตรปิฎกเขียนลายทองอย่างไทยนี้ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากตู้ลายทองของจีน ซึ่งน่าจะเข้ามาในไทยอย่างช้าในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีการดัดแปลงต่อยอดให้เข้ากับรสนิยมของไทย  
            สำหรับตู้พระไตรปิฎกของวัดพระรูป มีขนาดความสูง ๑๖๐ ซม. กว้าง ๗๙.๓ ซม. ยาว ๙๐.๕ ซม. จัดเป็นตู้แบบที่นิยมเรียกกันว่า “ตู้ขาหมู” ด้วยขาตู้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมสูงตรงจำนวน ๔ ขา ด้านนอกของตู้ทั้งด้านหน้าและด้านข้างเขียนลายรดน้ำ ลักษณะพื้นลายเป็นกระหนกเปลวเครือเถาไขว้นกคาบเคล้ากับภาพนกภาพกระรอก เว้นช่องไฟแคบถี่เป็นระเบียบแต่ดูไม่เป็นอิสระ เขียนภาพจับตามเรื่องรามเกียรติ์ทับลงบนพื้นลาย ซึ่งเป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากการเขียนลายก้านขดที่ออกช่อลายรูปบุคคล พื้นที่ด้านล่างใช้ภาพเขามอแบ่งฉาก เขียนภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ต่อเนื่องกันบนบานประตูทั้งสอง ส่วนด้านข้างทั้งสองเขียนภาพจับตามเรื่องรามเกียรติ์ กึ่งกลางของบานประตูเขียนลายประจำยามรัดอก
            เสาขอบตู้ทั้ง ๔ ตกแต่งด้วยลายอย่างเทศ ที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างลายไทย ลายฝรั่ง และลายจีน เป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ลายเทศเหล่านี้ผูกลายอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมและลายกรวยเชิงตกแต่งเสาขอบตู้ ขอบบนและขอบล่างที่เป็นบัวหงายตกแต่งด้วยลายกลีบบัวและลายหน้ากระดาน ด้านล่างของตู้ประดับตกแต่งด้ายลายเทศ เชิงตู้ทำรูปหูช้าง 
            ด้วยรูปทรงของตู้พระไตรปิฎกที่ขายืดสูงและด้านกว้างค่อนข้างแคบ ประกอบกับการเขียนภาพจับทับลงบนพื้นลายซึ่งพัฒนามาจากการเขียนลายก้านขดที่ออกช่อลายรูปบุคคล และการเขียนลายอย่างเทศซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ทำให้สันนิษฐานว่าตู้พระไตรปิฎกนี้เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ การพบตู้พระไตรปิฎกใบนี้ตลอดจนคัมภีร์ใบลานเป็นจำนวนมากที่วัดพระรูป สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าววัดพระรูปคงมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาวัดหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี  


ภาพลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎก
            “ลายรดน้ำ” เป็นงานประณีตศิลป์ของไทย จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่แขนงช่างรัก เรียกกันว่า “ช่างลายรดน้ำ” สันนิษฐานว่าอาจจะพัฒนามาจากงานช่างรักที่มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยสุโขทัยซึ่งทำสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ลายรดน้ำยังจัดเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณีประเภทหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มเอกรงค์ คือมีสีทองสีเดียวเขียนทั้งส่วนภาพและส่วนลวดลาย สีทองมาจากทองคำเปลวแท้ปรากฏเด่นชัดบนพื้นดำหรือแดงเข้ม เป็นงานประณีตศิลป์ที่มีระเบียบแบบแผน ใช้เขียนประดับตกแต่งส่วนประกอบอาคารสถาปัตยกรรมไทย อาทิ ประตู หน้าต่าง หรือสิ่งของเครื่องใช้ อาทิ ตู้พระไตรปิฎก หีบพระธรรม ฉากลับแล ประกับคัมภีร์ใบลาน เป็นต้น 
            ตู้พระไตรปิฎกของวัดพระรูป ทั้ง ๓ ด้านเขียนภาพลายรดน้ำเรื่อง “รามเกียรติ์” ส่วนล่างของบานประตูทั้งสองข้างเขียนเป็นภาพเล่าเรื่อง โดยด้านซ้ายเขียนภาพพระรามแผลงศร มีหนุมานถือวัตถุชิ้นหนึ่งยืนอยู่ด้านหน้า ส่วนด้านขวาเขียนภาพทศกัณฐ์ถูกศรปักอก มีเสนายักษ์คอยประคองอยู่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตอนพระรามแผลงศรพรหมาสตร์ถูกทศกัณฐ์จนสิ้นชีวิต ดังในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ความว่า 
            “. . . ตรัสแล้วพระตรีภูนาถ        น้าวศรพรหมาสตร์รังสรรค์
            อันมีฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์              ทรงธรรม์แผลงไปด้วยศักดา ฯ
            ๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดังเสียงฟ้าร้อง     กึกก้องทั่วทศทิศา
            ต้องอกทศกัณฐ์อสุรา                ตกจากรัถาอลงกรณ์
            อันงาช้างซึ่งปักอยู่นั้น                หักสะบั้นกระเด็นเป็นสองท่อน
            กลับเป็นทศพักตร์ยี่สิบกร           ล้มนอนอยู่กับสุธาธาร ฯ
            ๏ เมื่อนั้น                             ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ
            ต้องศรเจ็บเพียงจะวายปราณ      ขุนมารเหลือบเห็นน้องชาย
            ความแค้นเป็นแสนสุดนัก           คืนคิดถึงรักก็ใจหาย
            ค่อยผ่อนจิตระงับลำดับกาย        แล้วบรรยายร่ำว่าพาที ฯ
            . . .
            ๏ บัดนั้น                              คำแหงหนุมานทหารใหญ่
            ครั้นทศกัณฐ์ต้องศรชัย              ล้มในพ่างพื้นพสุธา
            จึ่งขยี้ดวงจิตขุนมาร                 แหลกลาญละเอียดด้วยหัตถา
            ดับสูญสุดสิ้นวิญญาณ์               ยักษาก็ม้วยชีวี ฯ”[1]
            นอกจากภาพเล่าเรื่องแล้ว ยังมีการเขียนภาพในลักษณะการต่อสู้กันเป็นคู่ระหว่างลิงหรือตัวพระกับยักษ์ในท่าทางต่าง ๆ ไม่ซ้ำแบบกัน หรือที่นิยมเรียกว่า “ภาพจับ” อันแสดงถึงแบบแผนฝีมือช่างที่ทำสืบทอดต่อกันเรื่อยมา การเขียนลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์นี้พบมาก่อนในราชสำนักสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย ด้วยรามเกียรติ์เป็นเรื่องที่มีนัยยะสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชสำนักโดยตรง ตัวอย่างเช่น ตู้พระไตรปิฎกเลขที่ อย. ๓ ในหอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) และพบสืบต่อมาในสมัยธนบุรี ตัวอย่างเช่น ตู้พระไตรปิฎกเลขที่ ธบ. ๑ ในหอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) ก่อนจะเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในสมัยรัตนโกสินทร์ นับเป็นเรื่องที่นิยมมากที่สุดในการนำมาเขียนลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎก  
[1] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เล่ม ๒ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, ๒๕๕๘), ๔๘๕-๔๘๖.