ใบเสมาหินทรายวัดพระรูป พบจำนวน ๕ ใบ จากคำบอกเล่ากล่าวกันว่า ใบเสมาชุดนี้เป็นของเก่าแก่ของวัดแต่เดิมปักอยู่โดยรอบโบราณสถานโบสถ์มอญ[1] ใบเสมาชุดนี้เป็นหินทรายสีเทา ขนาดโดยรวมสูงประมาณ ๑๐๐ ซม. กว้างประมาณ ๔๖ ซม. และหนาประมาณ ๑๘ ซม. ลักษณะรูปทรงเป็นแท่งสูง เส้นรอบนอกคล้ายกับทรงเจว็ดสูง เอวเสมาคอดเพียงเล็กน้อยปลายยอดแหลมทำให้ไม่มีกระหนกที่งอนขึ้นมาด้านข้างของใบเสมา มีการสลักลวดลายบนด้านหน้าและรอบข้างของใบเสมา การเลือกใช้วัสดุหินทรายคงมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการสลักลวดลายได้อย่างละเอียด ประกอบกับเป็นวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และในอยุธยาก็ใช้วัสดุหินทรายมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐[2] ซึ่งได้พบแหล่งตัดหินทรายที่ใช้ผลิตประติมากรรมของอยุธยาบริเวณเขาตะเภา อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี[3] ดังเห็นได้จากการนำหินทรายมาใช้สร้างพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากในอยุธยาและปริมณฑล
จุดเด่นของใบเสมาหินทรายวัดพระรูปอยู่ที่ลายประดับซึ่งสลักลงไปบนเนื้อหินทราย ลายที่ปรากฏทั้งด้านหน้าและด้านข้าง เกิดจากการ “ผูกลาย” หรือประดิษฐ์ลาย ด้วยการนำลายมาประกอบกันให้เป็นลายแบบใหม่ซึ่งมี “กระหนก” เป็นองค์ประกอบอันสำคัญ โดยพบว่าใบเสมาหินทรายวัดพระรูปผูกลายด้วยกระหนกที่ประกอบจากวงโค้งตัวล่างมีหัวขมวดขนาดใหญ่ และวงโค้งสลับด้านเป็นตัวบนที่มียอดเป็นลายสามเหลี่ยมปลายแหลม ซึ่งนักวิชาการวิเคราะห์ว่าลายกระหนกแบบนี้เป็นลักษณะสำคัญที่เด่นชัดมากในช่วงแรกของสมัยกรุงศรีอยุธยาราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐[4] และลายกระหนกแบบนี้ยังคงนิยมต่อเนื่องมาอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อาทิ ลายปูนปั้นประดับพระปรางค์วัดจุฬามณี พ.ศ. ๒๐๐๘ หรือลวดลายประดับเครื่องทรงพระอิศวรสำริดที่เมืองกำแพงเพชร พ.ศ. ๒๐๕๓[5] เอกลักษณ์ของลายกระหนกบนใบเสมาหินทรายวัดพระรูป คือ การผูกลายกระหนกที่มีหัวขมวดขนาดใหญ่ ๒ ตัวเชื่อมต่อกัน ซึ่งพบลายนี้ในทุกพื้นที่ของใบเสมาทั้งในกรอบสามเหลี่ยมที่โคนใบเสมา ยอดใบเสมา และในกรอบสามเหลี่ยมด้านข้างใบเสมา
ใบเสมาหินทรายที่มีรูปแบบและลวดลายในกลุ่มนี้ นอกจากจะพบที่วัดพระรูป จ.สุพรรณบุรีแล้ว ยังพบตัวอย่างเป็นจำนวนมากทั้งในอยุธยาและหัวเมืองโดยรอบอยุธยา อาทิ วัดราชประดิษฐาน จ.พระนครศรีอยุธยา วัดค้างคาว วัดลุ่มคงคา จ.นนทบุรี วัดพระบรมธาตุ จ.ชัยนาท วัดหลุมดิน จ.ราชบุรี วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการกำหนดอายุจากรูปแบบและลวดลายบนใบเสมาในกลุ่มนี้ว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ การพบใบเสมาหินทรายที่วัดพระรูปจึงนำมาสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า วัดพระรูปน่าจะมีการสร้างอุโบสถและผูกพัทธสีมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒ ซึ่งร่วมสมัยกับวัดในกรุงศรีอยุธยาและวัดในหัวเมือง
[1] วัดพระรูป, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) (มปท., ๒๕๓๕), ๑๖-๑๗.
[2] ประภัสสร์ ชูวิเชียร, อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑), ๑๓๖, ๑๔๒.
[3] ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์, ประทีป เพ็งตะโก และพิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร, “เขาตะเภา ลพบุรี: แหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา,” ศิลปากร ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๒ (พฤษภาคม-มิถุนายน, ๒๕๓๐): ๖๑-๖๒.
[4] สันติ เล็กสุขุม, พัฒนาการของลายไทย: กระหนกกับเอกลักษณ์ไทย (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๓), ๒๐๖-๒๐๗.
[5] ประภัสสร์ ชูวิเชียร, อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑), ๑๔๖.