ประวัติศาสตร์และพัฒนาการ

บทความ
E-BOOK
อัลบั้มรูป

บทความ

แรกสร้างวัดในสมัยสุพรรณภูมิ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙)

แรกสร้างวัดในสมัยสุพรรณภูมิ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙)

            สุพรรณบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน-เจ้าพระยา มีประวัติความเป็นมายาวนานสืบย้อนกลับไปได้อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ และเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในชื่อเมือง “สุพรรณภูมิ” ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสถาปนากรุงศรีอยุธยาบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ความสำคัญของเมืองสุพรรณภูมิคงมีอยู่อย่างน้อยในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา 
            แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านสมัยสุพรรณภูมิมานาน แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีร่องรอยหลักฐานอารยธรรมสุพรรณภูมิหลงเหลืออยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัดพระรูปที่สถาปนาขึ้นในสมัยสุพรรณภูมิราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ยังคงปรากฏหลักฐานโบราณสถานโบราณวัตถุในสมัยสุพรรณภูมิอยู่เป็นจำนวนมาก จึงนับได้ว่าวัดพระรูปเป็นตัวแทนของวัดสมัยสุพรรณภูมิที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน เป็นประตูย้อนไปสู่อารยธรรมสุพรรณภูมิ

แรกเริ่มประวัติศาสตร์ “สุพรรณภูมิ”
            “สุพรรณภูมิ” เป็นทั้งชื่อแว่นแคว้น/รัฐโบราณ และเป็นชื่อเดิมของเมืองสุพรรณบุรี ในยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ แต่เดิมเคยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเมือง “สุพรรณภูมิ” กับ “อู่ทอง” คือเมืองเดียวกัน ข้อเท็จจริงก็คือสุพรรณภูมิเป็นเมืองที่ขึ้นมามีบทบาทแทนที่อู่ทองนับตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และมีพัฒนาการที่ร่วมสมัยกับละโว้–อโยธยาทางซีกตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่สุพรรณภูมิครองความเป็นใหญ่อยู่ทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) อำนาจสุพรรณภูมิเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขการผสมผสานทางวัฒนธรรม ระหว่างพุทธศาสนาแบบทวาราวดี ทั้งลัทธิมหายานและหินยานแบบเถรวาทและลัทธิฮินดู ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙[1] ที่สำคัญคือการเข้ามาผสมกลมกลืนของกลุ่มคนไทยที่เคลื่อนย้ายเข้ามาจากดินแดนทางตอนบนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เมื่อประกอบกับอิทธิพลขอมที่เรืองอำนาจในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สิ่งนี้ส่งผล ต่อพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมตลอดจนภาษาของรัฐสุพรรณภูมิที่เป็นการผสมผสานระหว่าง อารยธรรมแบบขอม – มอญและไทยและพูดภาษาไทย ต่างกับทางละโว้ – อโยธยา ที่ใกล้ชิดอารยธรรมขอมมากกว่า และพูดภาษาเขมร[2]

รัฐโบราณในดินแดนประเทศไทยและใกล้เคียง ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๑๘๙๓ รัฐสุพรรณภูมิ (หมายเลข ๙) ครองความเป็นใหญ่ในซีกตะวันตกของดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี (ท่าจีน) ในปัจจุบัน
ที่มาภาพ: สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงสุโขทัยมาจากไหน ? (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๘), ๑๕๑

“สุพรรณภูมิ” ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ (พ.ศ. ๑๘๒๖)
            นาม “สุพรรณภูมิ” ปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ. ๑๘๒๖) ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๗-๒๒ ที่กล่าวถึงอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ความว่า “... มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอด สรลวง สองแคว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของเถิงเวียงจันทน์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้(อ)งหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว...”[3] แสดงให้เห็นว่า สุพรรณภูมิเป็นเมืองมาแล้วอย่างน้อยในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ร่วมสมัยกับเมืองสุโขทัยและก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยา   

ภูมิกายภาพของเมืองสุพรรณภูมิ – ความสัมพันธ์ระบบ “เมืองคู่”
            ภูมิกายภาพของผังเมืองสุพรรณภูมิมีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับผังเมืองที่ร่วมสมัย เดียวกัน เช่น แพรกศรีราชา เพชรบุรี ราชบุรี ซึ่งเป็นเมือง/แว่นแคว้นทางซีกตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา สัณฐานเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ยังคล้ายคลึงกับอโยธยาศรีรามเทพนคร เมืองสำคัญของแว่นแคว้นทางซักตะวันออก ตัวเมืองสุพรรณภูมิมีขนาด ๓,๖๐๐ x ๑,๙๐๐ เมตร ด้วยข้อสันนิษฐานถึงการมีคูน้ำกำแพงเมืองล้อมรอบครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี เมืองนี้จึงเป็น “เมืองอกแตก” ที่มีแม่น้ำผ่ากลางไหลผ่านจากเหนือลงใต้[4] ที่ตั้งของพระราชวังและวัดสำคัญต่างๆ เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุรวมถึงวัดพระรูป ล้วนอยู่ทางฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ดอนมากกว่า ทั้งนี้ ร่องรอยของกำแพงเมืองคูน้ำทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ที่หลงเหลืออยู่อย่างชัดเจนมีลักษณะโอบล้อมคล้ายรั้วขนาดใหญ่ เป็นที่มาของคำว่า “รั้วใหญ่” ในคำเรียกของชาวบ้าน และต่อมากลายเป็นชื่อ ตำบลรั้วใหญ่ ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี[5]
            ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙  ระบบการเมืองของสุพรรณภูมิแรกเริ่มคือรูปแบบความสัมพันธ์ระบบ “เมืองคู่” ที่ใกล้ชิดกับ แพรกศรีราชา หรือ เมืองสรรคบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท) ซึ่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคปลายทวารวดีและเติบโตจากการขยายตัวของสุพรรณภูมิมาตามแม่น้ำสุพรรณบุรี และแม่น้ำน้อยขึ้นไปทางเหนือ ทั้งนี้ ระบบ “เมืองคู่” ภายใต้ความสัมพันธ์ของผู้นำกลุ่มเดียวกันเป็นทั้งวิธีขยายเครือข่ายอำนาจและการรวมทรัพยากรของเมืองทั้งสองตลอดจนเมืองบริวาร สิ่งนี้ยังเป็นฐานที่ทำให้สุพรรณภูมิมีพัฒนาการไปสู่ความเป็น “อาณาจักร” ในเวลาต่อมา[6]

ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงที่ตั้งและผังเมืองสุพรรณภูมิ ที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในรูปจะเห็นแนวคูน้ำคันดินชัดเจนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี รวมถึร่องรอยแนวคูน้ำลางๆ ทางฝั่งตะวันออก อันเป็นที่มาของข้อถกเถียงว่า สุพรรณภูมิเป็นเมือง “อกแตก” หรือไม่
ที่มาภาพ: วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-กรกฎาคม ๒๕๒๖), ๕.

เจดีย์วัดพระรูป หลักฐานการสร้างวัดในสมัยเมืองสุพรรณภูมิช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙
            วัดพระรูปมีเจดีย์เก่าแก่ขนาดใหญ่องค์หนึ่ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด จากตำแหน่งที่ตั้งเจดีย์เมื่อเทียบกับแผนผังของวัดแล้ว ยังไม่อาจระบุชัดเจนได้ว่าเป็นเจดีย์ในตำแหน่งใดของเขตพุทธาวาส กล่าวได้ว่าเป็นเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่งที่อยู่ในพื้นที่วัด
            การก่อสร้างฐานรากเจดีย์วัดพระรูปมีวิธีการที่เรียบง่าย ฐานรากเป็นดินเหนียวอัดแน่นซึ่งเป็นชั้นดินธรรมชาติ จากนั้นถมทรายปรับพื้นที่ แล้วจึงสร้างฐานเจดีย์ การสร้างเจดีย์ใช้วิธีการก่ออิฐ ใช้ดินสอและจึงฉาบปูนทับ การเรียงอิฐใช้วิธีวางอิฐแนวยาวสลับแนวขวาง มีโครงสร้างภายในเป็นโพรง ไม่ทึบตัน มีการถากอิฐเป็นแนวเฉียงเพื่อปั้นปูนเป็นบัว และมีการถากอิฐเป็นสันแหลมเพื่อปั้นปูนเป็นลูกแก้วอกไก่

เจดีย์วัดพระรูปในปัจจุบัน หลังได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร ตั้งอยู่ที่วัดพระรูป ภายในตัวเมืองโบราณสุพรรณ นับเป็นหลักฐานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสมัยสุพรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ 

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดพระรูป   
            ส่วนฐาน ประกอบด้วย ฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสทรงสูง ต่อด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสองซ้อนลดหลั่นกัน ๒ ชั้น ต่อด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมยี่สิบ ต่อขึ้นด้วยฐานบัวลูกแก้วในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมสิบสอง ที่ยืดท้องไม้สูงและประดับลูกแก้วอกไก่ ๒ เส้น ด้านทิศตะวันออกก่อเป็นมุขยื่นออกมาจากฐานเขียงและฐานบัวลูกแก้ว มุขนี้มีบันไดขึ้นลงไปสู่ลานด้านหน้า สันนิษฐานว่าในมุขประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า การทำฐานบัวลูกแก้วในผังสี่เหลี่ยมย่อมุม ที่ยืดท้องไม้สูงและประดับลูกแก้วอกไก่ ๒ เส้น พบเป็นที่นิยมอยู่ในศิลปะล้านนา 
            ส่วนกลาง เป็นเรือนธาตุซ้อน ๒ ชั้น ทำให้เจดีย์มีรูปทรงสูงเพรียว และเป็นรูปแบบพิเศษของกลุ่มเจดีย์ทรงปราสาทยอด เรือนธาตุชั้นล่างอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านยกเก็จแล้วทำซุ้มจรนำเพื่อประดับพระพุทธรูปประทับยืน ลักษณะซุ้มพระมีแนวอิฐเป็นวงโค้ง รอบเรือนธาตุประดับลูกแก้วอกไก่ส่วนบน ๒ เส้นและส่วนล่าง ๒ เส้น และมีการประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ส่วนที่ชำรุดสูญหายไปสันนิษฐานว่ามีการประดับเสาติดผนังที่มุม ส่วนบนของเรือนธาตุทำเป็นหลังคาลาด และมีซุ้มเหนือช่องจรนำ   
            เรือนธาตุชั้นบนอยู่ในผังแปดเหลี่ยม แต่ละด้านทำซุ้มจรนำเพื่อประดับพระพุทธรูปประทับยืน รอบเรือนธาตุประดับลูกแก้วอกไก่ส่วนบน ๒ เส้นและส่วนล่าง ๒ เส้น และมีการประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ลักษณะองค์พระเป็นโกลนอิฐพอกปูน ส่วนที่ชำรุดสูญหายไปสันนิษฐานว่าส่วนบนของเรือนธาตุทำเป็นหลังคาลาด มีซุ้มเหนือช่องจรนำ นักวิชาการวิเคราะห์ว่า การทำซุ้มจรนำประดับพระพุทธรูปทั้งแปดด้าน คล้ายกับรัตนเจดีย์ในศิลปะสมัยหริภุญชัยที่วัดจามเทวี จ. ลำพูน[7]
            ส่วนยอด อยู่เหนือเรือนธาตุ ประกอบด้วย ส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดบัวคว่ำ-บัวหงายอยู่ในผังแปดเหลี่ยมจำวน ๒ ชั้นซ้อนลดหลั่นกัน มีลูกแก้วอกไก่ประดับท้องไม้ ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวปากระฆังอยู่ในผังกลม ต่อขึ้นด้วยองค์ระฆังขนาดค่อนข้างเล็กอยู่ในผังกลมทรงยืดสูงเพรียว การก่อองค์ระฆังใช้อิฐรูปสี่เหลี่ยมคางหมู บัลลังก์อยู่ในผังแปดเหลี่ยม ต่อด้วยก้านฉัตร บัวฝาละมี ปล้องไฉน เหนือขึ้นไปจากนี้ชำรุดสูญหาย มีร่องรอยการประดับลวดลายปูนปั้นบนส่วนยอด       

เจดีย์วัดพระรูป: เจดีย์ทรงปราสาทยอด     
            เจดีย์วัดพระรูปมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในกลุ่ม “เจดีย์ทรงปราสาท” อันหมายถึง เจดีย์ที่มีเรือนหลายชั้นซ้อนกัน หรือที่มีหลังคาลาดหลายชั้นซ้อนลดหลั่นกัน ซึ่งมีแบบที่แตกต่างกันออกไปอีกหลายแบบ ส่วนสำคัญของเจดีย์ทรงนี้คือการทำเรือนธาตุเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป โดยจะประดิษฐานไว้ในห้องคูหาที่ลึกเข้าไปในเรือนธาตุหรือจะไว้ในซุ้มจรนำที่ผนังเรือนธาตุก็ได้
            ทั้งนี้ เหนือเรือนธาตุขึ้นไปมักจะเป็นชั้นซ้อนของหลังคา และต่อยอดเป็นกรวยที่มีองค์ระฆังเป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่โดยทั่วไปปราสาทจะหมายถึงเรือนชั้นซ้อนโดยไม่จำเป็นต้องมียอดแหลม ดังนั้นการที่เจดีย์ทรงปราสาทมีการต่อยอดกรวยขึ้นไปอีกส่วนหนึ่ง จึงนิยมเรียกเจดีย์ทรงนี้อีกชื่อด้วยว่า “เจดีย์ทรงปราสาทยอด”

เจดีย์วัดพระรูป: พุทธสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ของเมืองสุพรรณในพุทธศตวรรษที่ ๑๙  
            กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูปใน พ.ศ. ๒๕๓๔ และได้บูรณะเจดีย์วัดพระรูปใน พ.ศ. ๒๕๓๗ พบฐานเจดีย์ครั้งแรกสร้างและหลักฐานต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ สันนิษฐานว่าเจดีย์วัดพระรูปคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยมีรูปแบบคลี่คลายมาจากเจดีย์วัดพระแก้ว อ. สรรคบุรี จ. ชัยนาท ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุที่พบ[8]  
            การศึกษาที่ผ่านมามีนักวิชาการให้ความสนใจเจดีย์วัดพระรูปไม่น้อย ในอดีต น. ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยสุพรรณภูมิเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ ๑๘[9] ต่อมา ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม วิเคราะห์ลวดลายปูนปั้นประดับที่ยังหลงเหลืออยู่ เชื่อว่าเจดีย์วัดพระรูปเป็นงานในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่สืบเนื่องจากเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรคบุรี โดยมีขนาดเล็กกว่าและย่นย่อองค์ประกอบต่าง ๆ ลง[10]
            ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ วิเคราะห์รูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทยอดวัดพระรูปว่า ที่มุมทั้งสี่เหนือเรือนธาตุน่าจะประดับเจดีย์จำลอง (สถูปิกะ) ทำให้เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอด น่าจะมีที่มาจากเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดในศิลปะล้านนา โดยมีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์วัดพระแก้ว อ. สรรคบุรี จ. ชัยนาท เจดีย์ลักษณะนี้นับเป็นรูปแบบใหม่ที่รับรูปแบบมาจากศิลปะล้านนา โดยผสมระหว่างเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดที่มีเรือนธาตุสี่เหลี่ยมและประดับเจดีย์จำลองที่พบในสมัยล้านนาตอนต้น (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙) กับเจดีย์ทรงปราสาทยอดในผังแปดเหลี่ยมที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และปรากฏในศิลปะล้านนาระยะแรก ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐) ทั้งนี้ส่วนยอดที่เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีชุดบัวคว่ำ-บัวหงาย ๓ ชั้นรองรับองค์ระฆัง ยังเป็นรูปแบบที่พบในศิลปะล้านนาเช่นกัน ประกอบกับยังมีอิทธิพลศิลปะสุโขทัยปรากฏร่วมด้วย ได้แก่ กรอบซุ้มหน้านาง และพระพุทธรูปที่เป็นแบบอู่ทองรุ่น ๓ ที่มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัยแล้ว เจดีย์รูปแบบใหม่นี้นิยมในบริเวณเมืองสรรคบุรีลงมาสุพรรณบุรี เจดีย์รูปแบบนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐[11]
            อย่างไรก็ดี จารึก วิไลแก้ว นักโบราณคดีวิเคราะห์ว่า พัฒนาการของกลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมเมืองสุพรรณบุรี มีรากเหง้ามาจากกลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมของเมืองอู่ทอง ที่เป็นเจดีย์สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖) โดยหลังจากเมืองอู่ทองล่มสลาย กลุ่มชนเมืองอู่ทองมิได้สูญหายไปไหน แต่ได้เคลื่อนย้ายไปรวมกลุ่มในลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำสุพรรณบุรี บ้านหนองแจง เนินทางพระ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ วัฒนธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลในบริเวณนี้ จึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมอยู่ช่วงหนึ่ง ได้พบหลักฐานศิลปะลพบุรี (เขมรในประเทศไทย) อย่างกว้างขวางในบริเวณดังกล่าว และเป็นรากเหง้าของอิทธิพลศิลปะลพบุรีที่คงเหลือต่อมาในสมัยหลัง ร่วมสมัยเดียวกับกลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมในเมืองสุพรรณ สำหรับเจดีย์วัดพระรูปจัดอยู่ในกลุ่มเจดีย์ที่มีฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนด้านบนเป็นแปดเหลี่ยม อาทิ เจดีย์วัดแร้ง เจดีย์วัดมรกต คงจะมีพัฒนาการขึ้นจากกลุ่มโบราณสถานแปดเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมในสมัยทวารวดีตอนปลาย องค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างแบบเจดีย์วัดพระรูป มักพบในกลุ่มโบราณสถานเมืองอู่ทอง โดยเกิดการพัฒนาแนวคิดในการสร้างเจดีย์ โดยการผสมผสานโครงสร้างเจดีย์แบบสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมเข้าด้วยกัน และขยายโครงสร้างในส่วนแปดเหลี่ยมสูงขึ้นไป รวมทั้งองค์ระฆังบัลลังก์และปล้องไฉน มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ร่วมสมัยกับกลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมตั้งแต่ชั้นล่างสุด อาทิ เจดีย์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เจดีย์วัดพระอินทร์ เจดีย์วัดไก่เตี้ย กลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมในสุพรรณได้กระจายขึ้นไปทางเขตภาคกลาง เช่น วัดพระแก้ว วัดมหาธาตุ อ. สรรคบุรี จ. ชัยนาท สำหรับเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรคบุรีนั้น มีรูปแบบคล้ายเจดีย์วัดพระรูป โดยมีอายุหลังกว่าวัดพระรูป แต่ยังคงรักษาโครงสร้างทรงสูงของเจดีย์ไว้ได้[12]  

โบราณวัตถุประเภทเศษภาชนะดินเผาที่พบในการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป   
            ในการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูปของกรมศิลปากร[13] ยังได้พบโบราณวัตถุประเภทเศษภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) พบมากที่สุด เนื้อค่อนข้างหยาบมีทรายปน เผาอุณหภูมิค่อนข้างต่ำสุกไม่ตลอด ส่วนใหญ่ผิวสีแดงส้มเนื้อดิน มีทั้งแบบผิวเรียบและผิวมีลวดลายตกแต่ง อาทิ ชิ้นส่วนภาชนะหม้อก้นกลมผิวเรียบ  
            ประเภทเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) พบน้อยกว่าชนิดเนื้อดิน ในชั้นดินตอนล่างที่เป็นชั้นดินร่วมสมัยกับการสร้างเจดีย์ครั้งแรก ส่วนใหญ่เนื้อค่อนข้างหนา เนื้อดินหยาบมีทรายปน ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ตกแต่งผิวด้วยลวดลายกากบาทแล้วเขียนสีแดงทับ ลายรูปกลีบบัว ลายคล้ายเม็ดข้าว ฯลฯ เผาสุกทั่วกัน ผิวมีสีเทา อาทิ เศษภาชนะประเภทไหหรือหม้อปากกว้างก้นกลม โดยพบว่ามีที่มาจากแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน ต. พิหารแดง อ. เมืองสุพรรณ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดพระรูป มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๓
            ประเภทเศษภาชนะดินเผาเคลือบ พบน้อยมากเมื่อเทียบกับประเภทอื่น ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเคลือบจากแหล่งเตาในประเทศ บางชิ้นเป็นเนื้อดินไม่ค่อยละเอียด ด้านในมีรอยของกี๋จานหรือกี๋งบน้ำอ้อย เคลือบทั้งด้านในและด้านนอกด้วยน้ำเคลือบสีเขียวไข่กา (เซลาดอน) บางชิ้นมีเนื้อหยาบ ตกแต่งด้วยการปั้นแปะเป็นรูปดอกไม้ ๖ กลีบ เคลือบสีเขียวขุ่น บางชิ้นเขียนสีด้วยสีดำลายเส้นขูดขีด เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้คล้ายกับภาชนะที่พบในกลุ่มเตาที่ อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๒๒ นอกจากนี้ ยังได้พบกระปุกเคลือบสีเขียวเซลาดอน ในชั้นดินปนทรายอันเป็นชั้นพื้นของเจดีย์ มีผิวแตกราน ด้านในและก้นไม่เคลือบ เนื้อดินสีออกแดง ภายในบรรจุเศษกระดูกเผาไฟ สันนิษฐานว่าผลิตจากแหล่งเตาเผาใน อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑
            หลักฐานภาชนะดินเผาเหล่านี้ สนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าเจดีย์วัดพระรูปสร้างขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และมีการบูรณะหลายครั้งสืบเนื่องเรื่อยมา สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของวัดและการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนในบริเวณวัดแห่งนี้ 

กระปุกเคลือบสีเขียวเซลาดอน พบในชั้นดินปนทรายอันเป็นชั้นพื้นของเจดีย์วัดพระรูป สันนิษฐานว่าผลิตจากแหล่งเตาเผาใน อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑
ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๔).

พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุพรรณภูมิที่พบในบริเวณวัดพระรูป
            พระพุทธรูปองค์นี้ นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง มอบให้วัดพระรูป ตามคำบอกเล่ากล่าวว่า พบบริเวณวิหารมุมของวัดพระรูป พระพุทธรูปองค์นี้สร้างจากวัสดุสำริดกะไหล่ทอง ขนาดสูงรวมฐาน ๙๑.๑ ซม. แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระเกตุมาลาเป็นทรงกรวย ครองจีวรห่มเฉียง ปลายจีวรเป็นลายกระหนกรูปคล้ายเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานรูปทรงบัวคว่ำบัวหงายที่มีลักษณะเว้าโค้งตามการประทับนั่ง ที่ฐานบัวสลักเป็นลายเส้นกระหนกรูปกลีบบัว จัดเป็นศิลปะแบบสุพรรณภูมิ (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐) หรือที่นิยมเรียกกันว่าพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นหนึ่ง

พระพุทธรูปปางมารวิชัย  (พบบริเวณวิหารมุม วัดพระรูป) พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ แบบศิลปะสุพรรณภูมิ วัสดุสำริดกะไหล่ทอง ขนาด สูงรวมฐาน ๙๑.๑ ซ.ม. นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง (มหาทม) มอบให้วัดพระรูป

ฐานเจดีย์หลังอุโบสถ
            ฐานเจดีย์เก่าองค์หนึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถในแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก ในปัจจุบันมีสภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน โดยส่วนยอดและเรือนธาตุหักพังลงมาทับถมส่วนฐานจนไม่สามารถพิจารณารูปแบบได้ อย่างไรก็ดี ในอดีตเจดีย์องค์นี้คงมีความสำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่ในตำแหน่งตรงกับอุโบสถในแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเป็นแนวแกนสำคัญของการสร้างพุทธศาสนสถานตามจารีตโบราณ ประกอบกับลักษณะและขนาดของอิฐที่ใช้สร้างเจดีย์มีหลายขนาด อิฐที่มีขนาดใหญ่มีเนื้อคล้ายกับอิฐสมัยทวารวดี อิฐในส่วนของฐานบัวมีร่องรอยการถากเกลาให้เป็นรูปทรง อิฐในส่วนหน้ากระดานบางแห่งมีการถากเกลาให้เว้าเป็นร่อง รวมถึงยังมีการใช้ศิลาแลงประกอบด้วย

เจดีย์หลังอุโบสถ ก่อสร้างจากอิฐหลายขนาดผสมด้วยศิลาแลง โดยเฉพาะอิฐขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกับอิฐในสมัยทวารวดี

            ร่องรอยการใช้อิฐขนาดเล็กผสมผสานกับอิฐขนาดใหญ่สมัยทวารวดีและศิลาแลง ยังปรากฏอยู่ในการก่อเจดีย์แปดเหลี่ยมในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (ทิศใต้) เป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูน จากหลักฐานการขุดแต่งเจดีย์องค์นี้พบว่า ก่อนการสร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมมีร่องรอยของซากโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยทวารวดีอยู่แล้วในบริเวณนี้ ซึ่งอาจอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘[14]
            นอกจากนี้ ฐานเจดีย์หลังอุโบสถยังสังเกตเห็นร่องรอยของแนวอิฐที่น่าจะยื่นออกมาเป็นมุขทางด้านทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้คงจะมีมุขยื่นเป็นบันไดทางด้านทิศตะวันออก เจดีย์องค์นี้คงจะมีความสัมพันธ์กับอุโบสถไม่มากก็น้อยโดยอาจสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน นับเป็นหลักฐานสำคัญของวัดพระรูปที่ควรได้รับการศึกษาค้นคว้าต่อไป 

สุพรรณภูมิ – เจินหลี่ฟู่ - เสียน และความสัมพันธ์กับจีน 
            นับแต่โบราณที่เอกสารจีนได้ระบุถึงเรื่องราวของแคว้น “เจินหลี่ฟู่” รัฐโบราณในท้องถิ่นคาบสมุทรทะเลใต้ที่นับตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้มีการติดต่อค้าขายกับจีนโดยตรง ข้อสรุปของนักวิชาการลงความเห็นว่า “เจินหลี่ฟู่” น่าจะหมายถึง “สุพรรณภูมิ” เนื่องจากเอกสารจีนระบุว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีแม่น้ำไหลออกสู่ทะเลได้ และอยู่ระหว่างลังกากับกัมพูชาผ่านทางตอนใต้พม่า[15] ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บันทึกสมัยราชวงศ์หยวนระบุถึง “เสียน” ที่ส่งทูตมาเจริญสัมพันธ์กับจีน โดยที่ “เสียน” น่าจะหมายถึง “สุพรรณภูมิ” ด้วยเช่นกัน ในเอกสาร “บันทึกขนบธรรมเนียมประเพณีเจินละ” ของ “โจวต้ากวาน” นักการทูตจีนที่เดินทางเข้าไปยังเมืองพระนครในสมัยพระเจ้าอินทรวรวันที่ ๓ ระบุว่า เสียน (เสียนหลอ) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเจินละ (กัมพูชา) ใช้เวลาเดินทางครึ่งเดือน[16] เป็นไปได้ว่า “เสียน” คือเครือข่ายกลุ่มรัฐของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยในซีกตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและการเมืองอันได้แก่ สุโขทัย สุพรรณภูมิ แพรกศรีราชา ราชบุรี เพชรบุรี ไปจนถึงนครศรีธรรมราช ขณะที่  “สุพรรณภูมิ”  ถือเป็นรัฐใหญ่ของเครือข่ายแว่นแคว้นซีกตะวันตกและมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ควบคุมจุดเชื่อมต่อเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างดินแดนทะเลใต้กับอินเดียและอาหรับ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงให้ความสำคัญกับผู้ปกครองที่สุพรรณภูมิเป็นพิเศษ

ขอบเขตของรัฐสุพรรณภูมิครอบคลุมซีกตะวันตกของคาบสมุทรทำให้ดินแดนนี้เป็นจุดเชื่อมต่อการค้าระหว่างดินแดนทะเลใต้กับอินเดียและอาหรับ
ที่มาภาพ: สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงสุโขทัยมาจากไหน ? (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๘), ๙๓.

เอกสารอ้างอิง
[1] วารุณี โอสถารมย์, “พัฒนาการจากเมืองอู่ทองโบราณถึงรัฐสุพรรณภูมิ พุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๙ กรณีศึกษาประวัติศาสตร์ รัฐอิสระในลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง,” ใน ๓๐ ปี ไทยคดีศึกษา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๑๔๖.
[2] ดูรายละเอียดใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, สุพรรณบุรีมาจากไหน (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗).
[3] กรมศิลปากร, ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๔๗), ๓๔. 
[4] อย่างไรก็ตาม ความเห็นทางวิชาการที่ว่า เมืองสุพรรณภูมิเป็น “เมืองอกแตก” หรือไม่นั้น มีความเห็นไปในทาง ๒ กระแส กระแสหนึ่งเห็นไปในทางว่าเป็น “เมืองอกแตก” ที่สำคัญคือ ทัศนะของ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม (๒๕๒๖) ซึ่งศึกษาจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศพบว่าบริเวณที่เป็นเมืองสุพรรณภูมิซึ่งตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำสุพรรณบุรีนั้น มีเมืองโบราณสร้างทับกันอยู่ บริเวณเมืองเก่าครอบคลุมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำสุพรรณบุรี เพราะมีแนวคูน้ำคันดินทางฝั่งทิศตะวันออกปรากฏอยู่ ทั้งนี้ งานศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณในเวลาต่อมา อาทิ รัตนา หนูน้อย (๒๕๒๙) วารุณี โอสถารมย์ (๒๕๔๖) ล้วนเห็นไปในทางเดียวกันว่าผังเมืองสุพรรณภูมิเป็น “เมืองอกแตก” ในขณะที่อีกกระแส เช่น ประชุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ (๒๕๕๓) เห็นว่าเมืองสุพรรณภูมิไม่ใช่ “เมืองอกแตก” แต่ใช้แม่น้ำสุพรรณบุรีเป็นคูเมืองทางทิศตะวันออก คันคูน้ำเดิมที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศนั้นอยู่ห่างไกลกระจายหัวบานออกไปซึ่งทำให้ผังเมืองดูไม่ได้สัดส่วน แท้จริงแล้วแนวคูน้ำด้านฝั่งตะวันออกถูกขุดขึ้นภายหลังเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรกรรมมากกว่า.      
[5] วิระดา ทองมิตร, “สุพรรณภูมิ ... แว่นแคว้นโบราณแห่งลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี,” ใน เมืองโบราณ ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๔ (ตุลาคม – ธันวาคม, ๒๕๕๙), ๑๙.  
[6] รูปแบบความสัมพันธ์ระบบเมืองคู่ปรากฏบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง เช่น ในซีกตะวันออกทางแคว้นละโว้ - อโยธยา ปรากฏเมืองคู่คือเมืองลพบุรีและอโยธยา ขณะที่บ้านเมืองที่อยู่ถัดขึ้นไปตอนบน เช่น แคว้นสุโขทัยมีเมืองคู่คือเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย เป็นต้น ดูรายละเอียดประเด็นนี้ใน ธิดา สาระยา, “สร้างบ้านแปงเมืองระบบเมืองคู่สถาบันเมืองลูกหลวง,” ใน เมืองโบราณ ฉบับสุพรรณภูมิ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒, (เมษายน – กรกฎาคม, ๒๕๒๖), ๑๓ – ๒๗.
[7] ศักดิ์ชัย สายสิงห์, เจดีย์ในประเทศไทย: รูปแบบ พัฒนาการ และพลังศรัทธา. (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๐), ๔๘๗.
[8] กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๔), ๒๘.
[9] น. ณ ปากน้ำ, “ศิลปะแห่งอาณาจักรสุพรรณภูมิ,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๙, ฉบับที่ ๒ (เมษายน-กรกฎาคม, ๒๕๒๖), ๓๐-๓๑.
[10] สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๐), ๗๘. และดูใน สันติ เล็กสุขุม, “เจดีย์วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี หลักฐานใหม่ที่ค้นพบ,” ใน รวมบทความ มุมมอง ความคิดและความหมาย: งานช่างไทยโบราณ (กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๔๘), ๕๘-๗๐.
[11] ศักดิ์ชัย สายสิงห์, เจดีย์ในประเทศไทย: รูปแบบ พัฒนาการ และพลังศรัทธา (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๐), ๔๘๗-๔๘๙.
[12] จารึก วิไลแก้ว, “กลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยม: เมืองสุพรรณบุรี,” ใน รวมบทความทางวิชาการ ๗๒ พรรษาท่านศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พรินท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, ๒๕๓๘), ๒๒๗-๒๕๘.
[13] กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๔). และ กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗).
[14] จารึก วิไลแก้ว, “กลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยม: เมืองสุพรรณบุรี,” ใน รวมบทความทางวิชาการ ๗๒ พรรษาท่านศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พรินท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, ๒๕๓๘), ๒๒๗-๒๕๘.
[15] วารุณี โอสถารมย์, “พัฒนาการจากเมืองอู่ทองโบราณถึงรัฐสุพรรณภูมิ พุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๙ กรณีศึกษาประวัติศาสตร์ รัฐอิสระในลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง,” ใน ๓๐ ปี ไทยคดีศึกษา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๑๔๘.
[16] เฉลิม ยงบุญเกิด, บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจนละ. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๗, พิมพ์ครั้งที่ ๓, ๘. ทั้งนี้ แต่เดิมยังเชื่อกันว่า “เสียน” คือ สุโขทัย.

ยุครุ่งเรืองในสมัยสุพรรณภูมิ - อยุธยา (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑)

วัดในยุครุ่งเรืองสมัยสุพรรณภูมิ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑)

            ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ นี้ วัดพระรูปยังคงเป็นวัดสำคัญของเมืองสุพรรณภูมิอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏหลักฐานต่าง ๆ ภายในวัดพระรูปที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลานี้ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ สันนิษฐานว่ามีการบูรณะเจดีย์ครั้งใหญ่ โดยทำฐานบัวปิดล้อมรอบฐานเขียงชั้นล่างสุดของเจดีย์ และทำการตกแต่งลวดลายปูนปั้นบนองค์เจดีย์ใหม่ทั้งองค์ ดังปรากฏร่อยรอยเหลืออยู่ที่ช่องจรนำเรือนธาตุ บัวปากระฆัง และบัลลังก์ ลวดลายปูนปั้นที่เกิดจากการบูรณะครั้งนี้ สามารถเทียบได้กับลวดลายปูนปั้นที่ปรางค์วัดมหาธาตุ จ. ลพบุรี พระปรางค์วัดราชบูรณะ จ. พระนครศรีอยุธยา ที่กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
            ในช่วงเวลานี้ ยังมีการสร้างพระพุทธไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐฉาบผิวด้วยปูนโบราณ ประทับไสยาสน์พิงผนังวิหารอยู่บนฐานเขียงเตี้ย ๆ พระเศียรหันไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พุทธศิลป์ของพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ แสดงถึงศิลปะสมัยเมืองสุพรรณภูมิ ที่กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานพระพุทธรูปหินทราย ใบเสมาหินทราย และพระพิมพ์ดินเผากรุวัดพระรูป ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
            การบูรณะซ่อมแซมและก่อสร้างวัดพระรูปเพิ่มเติมครั้งใหญ่ในช่วงเวลานี้ อาจมีความเชื่อมโยงกับข้อความในจารึกลานทองที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลานี้ซึ่งพบภายในวัดพระรูป จารึกกล่าวถึง “พระมหาเถรชัยโมลี” ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระมหาเถรศรีราชโมฬี” การค้นพบหลักฐานงานศิลปกรรมจำนวนมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นยุคที่เจริญสูงสุดของวัดพระรูป และหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดของเมืองสุพรรณภูมิในอดีต

 

สถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๑๘๙๓ ผู้ปกครองจากสุพรรณภูมิ และกองเรือสมุทรยาตรา
            กรุงศรีอยุธยาถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ โดยความร่วมมือระหว่างผู้นำจากสายสุพรรณภูมิ และละโว้ – อโยธยา (บ้างเรียกสายอู่ทอง) อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัชกาลแรกๆ ไม่มีฝ่ายใดที่ยึดกุมอำนาจ กรุงศรีอยุธยาได้อย่างเด็ดขาด ดังจะพบว่าเมื่อ พระเจ้าอู่ทอง หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กษัตริย์ กรุงศรีอยุธยาพระองค์แรกจากสายละโว้ - อโยธยาสวรรคต ขุนหลวงพะงั่ว ผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิ  ก็ขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในชื่อ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พ.ศ.๑๙๑๓ – ๑๙๓๘) ทว่า หลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ อำนาจก็กลับไปที่สายละโว้ – อโยธยาอีกครั้ง จนกระทั่งในสมัย พระรามราชาธิราช กษัตริย์จากสายละโว้ – อโยธยา ก็ถูกเจ้านครอินทร์ หรือ สมเด็จพระนครินทราธิราช จากสายสุพรรณภูมิทำรัฐประหารชิงราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๒ หลังจากนั้นราชวงศ์สุพรรณภูมิได้ปกครอง กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๑๑๒

ภาพวาดแผนที่กรุงศรีอยุธยา “Iudia ou Sian” (Judia or Siam) วาดโดยจิตรกรฝรั่งเศสชื่อ อแล็ง มาเนอส ช็อง – มัลเลยต์ ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๖๘๓ แสดงให้เห็นถึงชื่อที่ชาวตะวันตกใช้เรียกกรุงศรีอยุธยา โดยมีคำว่า “เสียน” (สยาม) ควบคู่กัน ทั้งนี้ คำว่า “เสียน” ยังน่าจะสะท้อนร่องรอยกรุงศรีอยุธยานับแต่ที่ผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิ เข้ามามีอำนาจอย่างมั่นคงแล้วอีกด้วย
ที่มาภาพ: กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองนานานาชาติสู่มรดกโลก (กรุงเทพฯ:  มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๙), ๖๖.

 

            สำหรับเจ้านครอินทร์นั้นไม่ปรากฏประวัติแน่ชัด บ้างว่าเป็นหลานของขุนหลวงพะงั่ว บางกระแสว่าเป็นโอรส พระศรีเทพาหูราช ที่เกิดจากขุนหลวงพะงั่ว กับ เจ้าหญิงสุโขทัย ขณะที่เอกสารจีน “หมิงสือลู่” กล่าวถึง “เจี่ยวหลกควานอิน” (เจ้านครอินทร์) ผู้เป็น “สี่จื๊อของซูมั่นบังอ๋อง” หรือ รัชทายาแห่งสุพรรณภูมิ ที่เคยเสด็จไปเมืองจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๘ และ ๑๙๒๐[1] ข้อน่าสนใจคือ นอกจากขุนหลวงพะงั่วและเจ้านครอินทร์ที่ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว เอกสารจีนไม่เคยระบุถึงกษัตริย์อยุธยาจากสายละโว้ - อโยธยา แต่อย่างใดดูเหมือนว่าในสายตาจีน ผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิมีความโดดเด่นมากกว่า ด้วยเพราะรัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งอยู่ทางซีกตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคุมการค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดียมาแต่ไหนแต่ไร ข้อเสนอบางกระแสกล่าวว่าจีนในสมัยราชวงศ์หมิงมีเป้าประสงค์ ที่จะผลักดันผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิในการยึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาอย่างเบ็ดเสร็จจากสายละโว้ - อโยธยาในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยสิ่งนี้เป็นหนึ่งในภารกิจการเดินทางของ “กองเรือสมุทรยาตรา” โดยแม่ทัพเรือ “เจิ้งหอ” เมื่อ พ.ศ.๑๙๕๑ ด้วย[2]

ขนาดอันมหึมาของเรือมหาสมบัติของแม่ทัพเรือเจิ้งเหอ เปรียบเทียบกับเรือซานตา มารีอา (Santa Maria) ของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา สิ่งนี้คือปัจจัยชี้ขาดชัยชนะที่ผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิ มีต่อสายละโว้ – อโยธยา ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ !!!
ที่มาภาพ: สืบแสง พรหมบุญ, เจิ้งเหอ ซำปอกงและอุษาคเนย์ (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๙).

 

การบูรณะเจดีย์วัดพระรูปในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
            ในการบูรณะเจดีย์วัดพระรูปโดยกรมศิลปากร พบหลักฐานว่าเจดีย์วัดพระรูปได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นับเป็นการบูรณะครั้งแรก โดยพบการเปลี่ยนแปลงรูปทรงบางส่วน และมีการเปลี่ยนแปลงลวดลายปูนปั้นหลายส่วน ได้แก่ ช่องจรนำเรือนธาตุ บัวปากระฆัง บัลลังก์ ลวดลายที่เกิดจากการบูรณะนี้สามารถเทียบได้กับลวดลายปูนปั้นที่ปรางค์วัดมหาธาตุ จ. ลพบุรี พระปรางค์วัดราชบูรณะ จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐[3]
            เหตุแห่งการบูรณะเจดีย์วัดพระรูปในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ พบว่าที่ฐานเขียงชั้นล่างสุดได้พบเศษปูนปั้นและปูนฉาบจำนวนมากทับถมกันจนสูง และมีดินทับถมสูงในฐานบัวล้อมรอบ จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์น่าจะชำรุดทรุดโทรมไม่น้อย เป็นเหตุให้มีการบูรณะเจดีย์องค์นี้ขึ้นใหม่ รูปแบบเจดีย์ในสมัยบูรณะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ฐานบัวล้อมรอบเจดีย์ และปูนปั้นประดับเจดีย์ 

การบูรณะฐานบัวล้อมรอบเจดีย์
            ในการบูรณะได้ก่อแนวฐานบัวอยู่ห่างจากฐานเขียงล่างสุดของเจดีย์สมัยแรกสร้างประมาณ ๒.๒ เมตร สันนิษฐานว่ามีการสร้างฐานบัวล้อมรอบฐานเจดีย์สมัยแรกสร้าง เพื่อปิดฐานเขียงชั้นล่างสุดและมุขของเจดีย์สมัยแรกสร้าง เนื่องจากพบดินทับถมสูงในฐานบัวล้อมรอบแต่ละด้านสร้างไม่พร้อมกัน กล่าวคือ แนวด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกคงสร้างพร้อมกัน อยู่ลึกจากระดับผิวดินประมาณ ๐.๕ เมตร ใช้อิฐที่มีขนาดความหนาประมาณ ๐.๐๔-๐.๐๕ เมตร ได้พบดินทับถมสูงในฐานบัวล้อมรอบ

ฐานบัวทางด้านทิศตะวันออก จากการที่กรมศิลปากรทำการบูรณะได้พบว่า ฐานบัวนี้ก่อปิดมุขด้านตะวันออกขององค์เจดีย์ครั้งแรกสร้างไว้ จึงได้เปิดฐานบัวออกเพื่อให้เห็นมุขดังปรากฏในปัจจุบัน   

 

การบูรณะปูนปั้นประดับเจดีย์
            การบูรณะปูนปั้นประดับเจดีย์ ปูนปั้นประดับเรือนธาตุชั้นล่าง (เรือนธาตุผังสี่เหลี่ยม) มีการเปลี่ยนแปลงปูนปั้นในลักษณะเพิ่มเติมจากของเดิมที่ชำรุด และบางส่วนปั้นปิดทับของเดิม อาทิ ภายในซุ้มด้านทิศใต้ มีการปั้นปูนเป็นลายช่อดอกไม้ช่อใบไม้ปิดทับและต่อเติมปูนปั้นของเดิม และที่ปูนปั้นประดับเรือนธาตุชั้นบน (เรือนธาตุผังแปดเหลี่ยม) มีการเปลี่ยนแปลงลวดลายปูนปั้นที่บัวลูกแก้วอกไก่ทั้ง ๒ เส้น โดยเส้นบนมีการปั้นลวดลายกระหนกเรียงเป็นแถว ส่วนเส้นล่างมีการฉาบปูนเป็นแนวเรียบปิดทับลวดบัวลูกแก้วอกไก่ของเดิม แล้วประดับปั้นปูนลายดอกไม้กลมบานเป็นกลีบ (ลายนี้เป็นที่นิยมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐) ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยบนเสาช่องจรนำด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีการปั้นปูนลายกลีบบัวประดับส่วนต่าง ๆ ลายประดับลูกแก้วอกไก่ส่วนเรือนธาตุ ลายประดับหน้ากระดานส่วนเรือนธาตุ ลายประจำยามประดับชั้นหน้ากระดาน ลายก้อนเมฆประดับซุ้มพระพุทธรูปบนส่วนเรือนธาตุ ลายเฟื่องอุบะประดับเสาเรือนธาตุ ลายช่อดอกไม้ในกรอบสามเหลี่ยมประดับมุมเจดีย์[4]

ร่องรอยการทำประติมากรรมประดับในซุ้มจรนำของเรือนธาตุชั้นบน (เรือนธาตุแปดเหลี่ยม) ด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระพุทธรูปประทับยืน หรือพระพุทธรูปลีลา ที่สอดคล้องตามรูปทรงของซุ้มจรนำ

 

 ปูนปั้นลายกรวยเชิงประดับบริเวณหัวเสาซุ้มจรนำของเรือนธาตุชั้นบน (เรือนธาตุแปดเหลี่ยม) ทางด้านทิศตะวันตก

 

ปูนปั้นลายดอกไม้และกิ่งก้านในกรอบลายจุดไข่ปลา ที่น่าจะมีอยู่เมื่อครั้งแรกสร้างเจดีย์ ถูกปิดทับด้วยลายปูนปั้นรูปใบไม้ ซึ่งน่าจะเป็นงานที่มาปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเมื่อครั้งบูรณะเจดีย์ บริเวณซุ้มจรนำเรือนธาตุด้านทิศใต้

 

            ยังได้พบประติมากรรมปูนปั้นเป็นลวดลายที่ประดับตกแต่งองค์เจดีย์อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ปูนปั้นประดับบัวปากระฆัง มีการปั้นปูนพอกทับแนวอิฐเดิมที่ถากเป็นบัวคว่ำและบัวหงาย โดยพอกทับบัวคว่ำของเดิมแล้วแต่งให้เป็นแนวหน้ากระดานเรียบ และประดับปูนปั้นเป็นลายประจำยามก้ามปูทับหน้ากระดานนั้น ส่วนบัวหงายของเดิมได้มีการประดับปั้นปูนเป็นรูปกลีบบัวหงาย (ลายจำประยามก้ามปู เป็นที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ สอดคล้องกับลายดอกไม้กลมบานเป็นกลีบที่ประดับเรือนธาตุชั้นบน) บัลลังก์มีการพอกปูนปรับแผนผัง จากเดิมที่เป็นโครงสร้างอิฐอยู่ในรูปย่อมุมไม้สิบหกให้เป็นรูปแปดเหลี่ยม และมีการประดับปูนปั้นรูปดอกไม้และใบไม้ในรูปแบบแตกต่างกัน ส่วนปล้องไฉนมีการพอกปูนประดับปูนปั้นทับของเดิม เป็นรูปกลีบบัวซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ในลักษณะบัวกลุ่ม

ส่วนยอดเจดีย์วัดพระรูป ปรากฏร่องรอยการประดับตกแต่งที่เหลืออยู่ บัลลังก์ประดับลายดอกไม้ บัวกลุ่มประดับกลีบบัวซ้อนคั่นด้วยแถบหน้ากระดาน สะท้อนให้เห็นว่าส่วนยอดเจดีย์วัดพระรูปมีการประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นเต็มพื้นที่

 

ร่องรอยการประดับตกแต่งบัวปากระฆังด้วยลวดลายปูนปั้นรูปหน้ากระดานและกลีบบัวหงาย

 

ลวดลายปูนปั้นที่บัลลังก์แปดเหลี่ยม สังเกตเห็นลายดอกไม้ใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมลายจุดไข่ปลา ด้านละหนึ่งดอก เหนือขึ้นไปเป็นลายกลีบบัวหงาย

 

            นอกจากนี้ ยังได้พบประติมากรรมปูนปั้นนูนสูงรูปบุคคล จำนวน ๖ ชิ้น มีลักษณะใบหน้าค่อนข้างงดงาม คล้ายกับพระพักตร์พระพุทธรูปรูปปูนปั้น สวมเครื่องประดับศีรษะทรงสูงยอดแหลมมีปล้องรัดเป็นช่วง ๆ บางชิ้นสวมเครื่องประดับคล้ายเทริด ได้พบส่วนองค์ของรูปบุคคล จำนวน ๒ ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นรูปบุคคลพนมมือ พระศอสวมเครื่องประดับ อีกชิ้นหนึ่งเป็นรูปบั้นพระองค์ สวมผ้านุ่งที่ชักชายผ้าออกมาด้านข้าง ตกแต่งลายดอกไม้ที่ผ้านุ่ง นอกจากนี้ ยังได้พบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของประติมากรรมรูปบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ ชิ้นส่วนพระกร พระหัตถ์ ศิราภรณ์ ผ้านุ่ง เครื่องประดับ สันนิษฐานว่าประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลเหล่านี้คือประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาประดับซุ้มเรือนธาตุองค์เจดีย์ โดยยังปรากฏร่องรอยของส่วนองค์เทวดาปูนปั้นเหลืออยู่ในซุ้มทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์ ประติมากรรมลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์เหล่านี้ มีรูปแบบเป็นที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ดังปรากฏที่เจดีย์รายด้านทิศเหนือของปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี[5] 

ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับองค์เจดีย์ที่พบจากการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป แสดงให้เห็นถึงการปั้นปูนรูปเทวดาและลวดลายต่าง ๆ ตกแต่งเจดีย์ตั้งแต่ครั้งแรกสร้าง รวมถึงการบูรณะในช่วงเวลาต่อมา
ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗).

 

 

พระพุทธไสยาสน์
            พระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป ตามตำนานพื้นเมืองสุพรรณบุรีเล่าว่า เมื่อครั้งที่ขุนแผนยังบวชเป็นเณร (เณรแก้ว) อยู่ที่วัดป่าเลไลยก์ พระอาจารย์วัดป่าฯ ใช้ให้เณรแก้วไปตักน้ำที่แม่น้ำ เณรแก้วได้มาตักน้ำที่ท่าน้ำวัดพระรูป แต่ก็แอบมานอนหลับ ต่อมาจึงได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้น ณ ที่นั้น เป็นตำนานของพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป ซึ่งชาวพื้นเมืองในอดีตนิยมเรียกว่า พระนอนเณรแก้ว
            องค์พระพุทธไสยาสน์ก่อด้วยอิฐฉาบผิวด้วยปูนโบราณ ประทับไสยาสน์พิงผนังวิหารอยู่บนฐานเขียงเตี้ยๆ พระเศียรหันไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระวรกายเอียงหงายเล็กน้อย ครองจีวรบางแนบพระวรกาย พระบาทวางซ้อนเหลื่อมปลายเล็กน้อย ลักษณะพระพักตร์รีคล้ายผลมะตูม เม็ดพระศกขนาดเล็กขมวดเป็นก้นหอย พระเกตุมาลาเป็นเปลวรัศมีมีกลีบบัวรองรับ พระขนงเป็นวงโค้ง พระนาสิกโด่งยาวปลายงุ้ม พระหนุเป็นวง พระโอษฐ์อย่างกระจับ ไรพระศกเป็นเส้นขนาดเล็ก พระเนตรเหลือบต่ำ ผ้าสบงบางแนบพระวรกาย ชายผ้าสบงลักษณะคล้ายหางปลา พระวรกายทุกส่วนสมบูรณ์ ความยาวตั้งแต่พระรัศมีถึงพระบาทประมาณ ๑๓.๖๕ เมตร ความสูงประมาณ ๓.๔๕ เมตร พุทธศิลป์ของพระพุทธไสยาสน์องค์นี้แสดงถึงศิลปะสมัยเมืองสุพรรณภูมิ กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้น นับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดของเมืองสุพรรณภูมิในอดีต


            การที่พระพุทธไสยาสน์วัดพระรูปหันพระเศียรไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีความหมายถึงการประทับสีหไสยาสน์ของพระพุทธเจ้า ตามคติความเชื่อที่เริ่มขึ้นในสมัยสุโขทัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งสืบทอดมาจากลังกาสมัยเมืองโปโลนนารุวะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘) ประกอบกับลักษณะของวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบๆ ด้านหน้าพระพุทธไสยาสน์มีพื้นที่กว้างประมาณ ๒ เมตร มีผนังทึบทั้งสี่ด้านโดยผนังด้านพระเศียรและพระบาทมีช่องประตู จึงมีความหมายถึงพระพุทธเจ้าประทับสีหไสยาสน์ในคันธกุฎี เอกลักษณ์ของพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูปคือ การประทับสีหไสยาสน์สอดคล้องตามเนื้อหาในคัมภีร์ ที่นอกจากการประทับไสยาสน์ตะแคงขวาด้วยอาการสงบมีสติสัมปชัญญะตลอดเวลาตามรูปแบบพระพุทธไสยาสน์ทั่วไปแล้วนั้น ยังแสดงอาการสีหไสยาสน์อย่างเป็นธรรมชาติ โดยวางพระบาทเหลื่อมพระบาท อันเป็นการช่วยพยุงพระวรกายและพระบาทให้ทรงประทับไสยาสน์อยู่ได้นาน


            ในช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พระพุทธไสยาสน์วัดพระรูปและวิหารชำรุดทรุดโทรมอย่างมากองค์พระถูกลักลอบขุดเจาะหาของมีค่าหลายครั้ง พระอุทรถูกเจาะเป็นรูกว้าง พระนลาฏและฐานใต้พระเศียรถูกเจาะ ทางวัดต้องซ่อมแซมอยู่บ่อยครั้งตามกำลังที่มี ส่วนวิหารโครงไม้หลังคาชำรุด พระพุทธไสยาสน์ต้องตากแดดตากฝน ทำให้ไม่ค่อยมีคนเข้าไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ภายในวิหาร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยการนำของพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) เจ้าอาวาสวัดพระรูปในขณะนั้น ได้เริ่มทำการบูรณะพระพุทธไสยาสน์และวิหารครั้งใหญ่ โดยได้รื้อวิหารเก่าออก คงเหลือไว้เพียงผนังด้านหลังพระพุทธไสยาสน์ รวมถึงผนังบริเวณพระเศียรและพระบาทอีกเล็กน้อย แล้วก่อสร้างอาคารวิหารใหม่ มีขนาดใหญ่ครอบคลุมอาคารวิหารเดิมดังปรากฏในปัจจุบัน
            นอกจากพระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระรูปแล้ว ในเมืองสุพรรณยังพบพระพุทธไสยาสน์ที่คล้ายกับวัดพระรูปอีก ๒ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี ด้วยมีขนาดใกล้เคียงกัน ประดิษฐานในทิศทางเดียวกัน และประดิษฐานบนฐานเตี้ยเช่นเดียวกัน หากแต่พระพุทธไสยาสน์ทั้ง ๒ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรีได้รับการซ่อมแซมด้วยฝีมือช่างพื้นบ้านแล้ว   

พระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป

 

วิหารพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป ก่อนการบูรณะในสมัยหลวงพ่อดี เริ่มบูรณะ พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยได้สร้างอาคารหลังใหม่ครอบอาคารหลังเดิมไว้ และรื้อผนังด้านตะวันออกของอาคารเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมออก

 

 

พระพุทธไสยาสน์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
            ในเมืองสุพรรณ นอกจากจะมีพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูปแล้ว ยังมีพระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จำนวน ๒ องค์ ประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธาน พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มีขนาดและลักษณะการประดิษฐานบนฐานเตี้ย ๆ คล้ายที่วัดพระรูป นักวิชาการท้องถิ่นบันทึกไว้ว่า พระพุทธรูปคู่นี้เป็นของเก่า แต่ในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่วัดยังรกร้างไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ได้ถูกรื้อเอาอิฐไปสร้างโบสถ์ที่วัดป่าเลไลยก์ ต่อมาจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่[6] ด้วยฝีมือช่างพื้นบ้าน ทำให้พุทธศิลป์มีความแตกต่างจากวัดพระรูปอย่างมาก

พระพุทธไสยาสน์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี หันพระเศียรไปทางทิศไต้ พระพักตร์หันไปทางด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานจำนวน ๒ องค์ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของปรางค์ประธาน

 

เอกสารอ้างอิง 
[1] ดูรายละเอียดใน ปรามินทร์ เครือทอง, “กรุงศรีปฏิวัติ: เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม ในปฏิวัติ “ตัดหน้า” หรือ “ส้มหล่น”” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑๑ (กันยายน, ๒๕๕๔), ๑๐๑ - ๑๑๓.
[2] ดูรายละเอียดใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, สุพรรณบุรีมาจากไหน (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗).
[3] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๑๐.
[4] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๘-๙.
[5] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๙, ๑๒-๑๔.
[6] วรพร พรหมใจรักษ์, วัด แหล่งศิลปกรรมท้องถิ่นในเมืองสุพรรณบุรี (สุพรรณบุรี: โรงเรียนสงวนหญิงจังหวัดสุพรรณบุรี, ม.ป.ป.), ๓๕.

 

จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี 
            จารึกเป็นเอกสารจดหมายเหตุรูปแบบหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ มีความสำคัญด้านการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีความเที่ยงตรงสูง โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับศักราช ชื่อสถานที่ ชื่อบุคคล และชื่อตำแหน่ง มีความน่าเชื่อถือมากเพราะจารึกเป็นเอกสารร่วมสมัย สามารถนำไปใช้ตรวจสอบกับเอกสารชั้นรองที่ทำขึ้นภายหลังได้เป็นอย่างดี
            สมัยอยุธยานิยมจารึกลงบนแผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นดีบุกและกระดาษ โดยมักพบจารึกปะปนอยู่ในกรุต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากสมัยสุโขทัยที่นิยมจารึกลงในแผ่นศิลาหรือแท่งศิลา เรียกว่า ศิลาจารึก จารึกสมัยอยุธยาที่ค้นพบแล้วมีอยู่หลายกลุ่ม จารึกบางกลุ่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพระราชทานสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ในสมัยอยุธยา ที่จารึกลงบนแผ่นทองเรียกว่า “สุพรรณบัฏ” ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่มีปฏิบัติสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ส่วน “จารึกลานทอง” เป็นจารึกบนแผ่นทองคำ คำว่า ลาน มีความหมายว่า บริเวณที่ว่าง หรือสนาม ลานทอง จึงหมายถึง บริเวณที่ว่างที่เป็นทองคำ โดยหมายถึงแผ่นทองคำ

จารึกลานทองวัดพระรูป ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

            “จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี” เป็นจารึกที่ขุดพบจากวัดพระรูป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ลักษณะเป็นจารึกลานทองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖ ซม. ยาว ๓๐.๗ ซม. วัสดุเป็นทองคำ น้ำหนัก ๒๗.๕ กรัม จารึกด้วยอักษรขอมสมัยอยุธยา ภาษาไทย มีอายุราวพุทธศตวรรษ ๒๐ จารึกจำนวน ๑ ด้าน มี ๒ บรรทัด[1] ความว่า

                              พระมหาเถรชัยโมลี นาม
                              พระมหาเถรศรีราชโมลี อวย

            แปลโดยรวมได้ว่า พระมหาเถรรูปหนึ่งมีนามเดิมว่า “พระมหาเถรชัยโมลี” ได้รับพระราชทาน (อวย) สมณศักดิ์เป็น “พระมหาเถรศรีราชโมลี” จารึกลานทองนี้จึงเป็นจารึกเกี่ยวกับการเลื่อนสมณศักดิ์ของพระมหาเถรชัยโมลี จึงได้ชื่อว่า จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี
            สมณศักดิ์ เป็นยศของพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานและมีราชทินนามประกอบไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระวันรัตน์ พระครูธรรมราชา ส่วนที่เป็นยศ ได้แก่ สมเด็จ พระครู ส่วนที่เป็นราชทินนาม ได้แก่ พระวันรัตน์ ธรรมราชา สมณศักดิ์มีอยู่หลายลำดับชั้น ในชั้นของพระราชาคณะปัจจุบันแบ่งเป็น สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะรอง (ชั้นหิรัณยบัฏ) พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นสามัญ
            สมัยกรุงสุโขทัย ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง มีอยู่ ๔ ตำแหน่งคือ สังฆราช ปู่ครู มหาเถระ และเถระ สังฆราชเป็นตำแหน่งสังฆนายกชั้นสูงสุด ตำแหน่ง ปู่ครู น่าจะตรงกับคำเรียกในปัจจุบันว่า พระครู เป็นตำแหน่งสังฆนายกรองลงมาจากสังฆราช ทั้งตำแหน่งสังฆราชและปู่ครูเป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน ส่วนมหาเถระและเถระ เป็นลำดับชั้นจากการนับพรรษาอายุตามพระวินัยบัญญัติ โดยมิได้เป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน[2] ต่อมาในสมัยอยุธยา มีการแบ่งคณะสงฆ์เป็นฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี ในคณะคามวาสีแบ่งอีก ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ มีการเปลี่ยนราชทินนามของพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้ง ให้ดูแลคณะคามวาสีฝ่ายใต้ หรือเจ้าคณะใหญ่มีราชทินนามว่า พระวันรัตน์ หรือพระพนรัตน์ ปัจจุบันใช้คำว่า สมเด็จพระวันรัต ส่วนพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลคณะคามวาสีฝ่ายเหนือ หรือเจ้าคณะใหญ่ มีราชทินนามว่า พระพุทธโฆษาจารย์ ส่วนคณะอรัญวาสี ให้มีราชทินนามว่า พระพุทธาจารย์ ปัจจุบันใช้คำว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ และทรงสถาปนาพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งเลื่อนจากเจ้าคณะใหญ่รูปใดรูปหนึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช อันเป็นสมณศักดิ์และประมุขสูงสุด ดูแลปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเพียงองค์เดียว[3]
            ในทำเนียบตำแหน่งพระราชาคณะสมัยกรุงเก่า ระบุว่า เมืองสุพรรณเป็นเมืองไม่มีตำแหน่งพระครู สังกัดในคณะหัวเมืองปากใต้ ขึ้นกับคณะคามวาสีฝ่ายขวา ตั้งอยู่ในฐานานุกรมของพระวันรัตน์ วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล)[4] ข้อความในจารึกลานทองวัดพระรูปจึงมีความสอดคล้องกับข้อมูลนี้ เพราะไม่ปรากฏตำแหน่งพระครูในจารึกลานทอง โดยปรากฏคำว่า พระมหาเถร ซึ่งเป็นลำดับชั้นทางพระวินัยบัญญัติ มีจุดน่าสังเกตที่คำว่า “โมลี” ซึ่งเป็นคำในราชทินนามในสมัยกรุงเก่า เช่น พระเทพโมลี (ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายอรัญวาสี) และ พระครูอินทโมลี (ตำแหน่งพระราชาคณะแห่งเมืองประสงค์ คณะหัวเมืองปากใต้ คณะคามวาสี ฝ่ายขวา)[5] มีส่วนคล้ายกับนามของ พระมหาเถรชัยโมลี และสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานคือ พระมหาเถรศรีราชโมลี ในช่วงเวลานั้นน่าจะเทียบได้กับพระราชาคณะชั้นสามัญ อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงทัศนะไว้ว่า “เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองใหญ่และอยู่ใกล้พระนคร จำต้องมีพระครูเจ้าคณะเมือง บางทีเมืองที่ในบัญชีว่าไม่มีพระครูนั้น ที่จริงจะไม่มีแต่ราชทินนาม”[6] หากแต่จารึกลานทองวัดพระรูปแสดงสมณศักดิ์ว่า “พระมหาเถรศรีราชโมลี” นั้นแสดงลำดับชั้นของพรรษาอายุตามพระวินัยบัญญัติ มีราชทินนาม และมีความสอดคล้องกับทำเนียบตำแหน่งพระราชาคณะในสมัยกรุงเก่าที่ระบุว่า เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองที่ไม่มีตำแหน่งพระครู
            ความสำคัญและความน่าสนใจของจารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี ยังคงเป็นประเด็นคำถามต่อการศึกษา อาทิ พระมหาเถรชัยโมลีเป็นใคร มีความเกี่ยวข้องกับวัดพระรูปอย่างไร อาจดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีสงฆ์ของวัดพระรูป หรืออาจเป็นเจ้าคณะเมืองสุพรรณบุรี หรือมีชาติภูมิอยู่ในละแวกวัดพระรูป อนึ่ง จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลีเป็นเอกสารจดหมายเหตุที่แสดงความเชื่อมโยงทางการปกครองและการพระศาสนาของเมืองสุพรรณบุรีกับกรุงศรีอยุธยา เป็นหลักฐานที่ยืนยันความสำคัญและความเจริญของวัดพระรูปในอดีต รวมถึงคณะสงฆ์วัดพระรูปและผู้อุปถัมภ์วัดพระรูปในช่วงเวลานั้น

จารึกลานทอง (จำลอง) วัดพระรูป จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

 

สุพรรณภูมิในจารึกลานทองวัดส่องคบ จ. ชัยนาท (พ.ศ. ๑๙๕๑)    
            นาม “สุพรรณภูมิ” ปรากฏอีกครั้งในจารึกลานทองวัดส่องคบ ใน พ.ศ. ๑๙๕๑ ความว่า “... แต่ปีชวดนักษัตรสัมฤทธิศก ไพสาขวันอาทิตย์ตราเอกาทศเกต จึงพระสงฆ์ทั้งหลาย แต่ ธ เจ้าเมืองประดิษฐาพระศรีรัตนธาตุ แห่งกรุงไชยสถานนาม มาตราหนึ่ง แต่ ธ เจ้าเมืองกระทำกุศลมาแต่กระโน้นในสุพรรณภูมิ ธ ให้ทานเรือนอัน ธ กระทำกุฏีพิหารในศรี อโยธยา ให้ข้าสองคน แม่ลูก พระสงฆ์สี่ตน ตกเสิก...” และยังปรากฏในความว่า “... ผ้าขาวผู้หนึ่งท่านให้บำเรอแด่พระศรีรัตนมหาธาตุแห่งนครพระรามโสด ผ้าขาวครัวหนึ่งชื่อยี่ช้างท่านให้บำเรอแด่พระมหาเถรธรรมบุตรแห่งศรีสุพรรณภูมิมาแล้ว แต่ทำบุญอันเริ่มล้นพ้นไป พระเจ้าหากตรัส ชแล ...”[7]

จารึกลานทองวัดส่องคบ อักษรขอม ภาษาไทย พ.ศ. ๑๙๕๑ พบที่วัดส่องคบ อ. เมือง จ. ชัยนาท

 

สุพรรณภูมิในฐานะเมืองลูกหลวง เจ้าอ้ายพระยา 
            “จารึกวัดส่องคบ” จังหวัดชัยนาท ระบุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจุลศักราช ๗๗๐ (พ.ศ. ๑๙๕๑) กล่าวถึง การทำบุญสร้างวัดของเจ้าเมืองขุนเพชรสารกับครอบครัว ซึ่งมีการอ้างภูมิหลังของครอบครัวที่เคยทำบุญที่เมืองสุพรรณภูมิและเมืองอโยธยา อันเป็นเมืองใหญ่เสมอกันในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ข้อสนเทศนี้ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว “สุพรรณภูมิ” หาใช่ เมือง “อู่ทอง” ตามข้อเสนอ ทางวิชาการสกุลดำรงราชานุภาพ ทว่า เป็นเมืองต้นทางประวัติศาสตร์ของ “สุพรรณบุรี” มาแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แม้หลังสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว สองเมืองนี้ก็นับเป็นนครใหญ่ควบคู่กัน
            เหตุการณ์ในจารึกวัดส่องคบ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ นั่นคือก่อนรัฐประหารของ “เจ้านครอินทร์” กษัตริย์เมืองสุพรรณภูมิที่กำลังจะขึ้นมาเป็นผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาในนาม “สมเด็จพระนครินทราธิราช” เมื่ออำนาจผู้ปกครองสุพรรณภูมิย้ายไปตั้งมั่นอยู่ที่อยุธยา สถานะเมืองสุพรรณภูมิคือหนึ่งใน “เมืองลูกหลวง” ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร “แล้วจึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าอ้ายพระยากินเมืองสุพรรณบุรี (สุพรรณภูมิ) เจ้ายี่กินเมืองแพรกศรีราชาคือเมืองสรรค์ เจ้าสามพระยากินเมืองชัยนาท (พิษณุโลก)”
            สำหรับ “เจ้าอ้ายพระยา” ผู้ครองสุพรรณภูมิ หากพิจารณาจากชื่อ “อ้าย” ย่อมมีความหมายว่าเป็นโอรสองค์โต กระนั้น ไม่มีข้อบ่งชี้ใดที่ระบุว่า เจ้าอ้ายพระยาคือรัชทายาท มีข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วเมืองสุพรรณภูมิถูกลดบทบาทลงนับตั้งแต่ก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เพราะความสนใจของกษัตริย์อยุธยาในเวลานั้นได้ย้ายมาอยู่ที่การควบคุม “เมืองเหนือ” ที่พิษณุโลกมากกว่า เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนครินทราธิราช เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ชิงราชสมบัติรบกันสิ้นพระชนม์บนหลังช้างทั้งสองพระองค์ ราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาตกแก่ “เจ้าสามพระยา”

 

พระพุทธรูปประธานอุโบสถวัดพระรูป
            พระพุทธรูปประธานเป็นองค์ดั้งเดิมตั้งแต่แรกสร้างอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปั้นปูนปิด มีการซ่อมแซมครั้งหลังสุดในคราวสร้างอุโบสถหลังใหม่ พุทธลักษณะในปัจจุบันมีพระเศียรรูปทรงค่อนข้างเหลี่ยม รับกับกรอบพระพักตร์ที่ค่อนข้างเหลี่ยม พระรัศมีเปลวลักษณะเป็นพุ่มสั้นมีวงแหวนยอดแหลมรองรับ เม็ดพระศกค่อนข้างเล็กขมวดเป็นก้นหอย มีไรพระศกเป็นแถบแบนค่อนข้างกว้าง แนวไรพระศกด้านหน้าเป็นเส้นตรง ส่วนที่พาดผ่านมาที่ขมับเป็นมุมแหลม พระนลาฏมีลักษณะแบนเรียบและแคบ พระขนงเป็นเส้นสันนูนต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ เปลือกพระเนตรอูมโปนมาก มีเส้นแบ่งระหว่างเปลือกพระเนตรและพระขนง พระนาสิกยาวโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์หนาเป็นเส้นตรง มุมพระโอษฐ์ตวัดขึ้นเล็กน้อย พระหนุเหลี่ยมรับกับกรอบพระพักตร์ พระกรรณหนาและใหญ่ พระวรกายมีลักษณะสมบูรณ์ค่อนข้างเตี้ยตัน บั้นพระองค์ค่อนข้างใหญ่ พระพาหาตั้งตรง ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาวางตรง พระกรขวาวางบริเวณหน้าแข้ง นิ้วไม่ยาวจรดฐาน พระชงฆ์เป็นสันตรงในลักษณะประดิษฐ์ไม่เป็นธรรมชาติ แม้พระพุทธรูปองค์นี้จะได้รับการซ่อมแซมเมื่อไม่นานมานี้ แต่ยังพอจะเห็นเค้าของพระพุทธรูปศิลปะพื้นเมืองสุพรรณภูมิ ซึ่งน่าจะมีรากฐานมาจากศิลปะทวารวดีและศิลปะเขมรที่แพร่หลายอยู่ในพื้นที่ โดยได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสานแล้ว อาจกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ร่วมสมัยกับศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น นับเป็นตัวอย่างพระพุทธรูปสำคัญของเมืองสุพรรณภูมิ

พระพุทธรูปประธานอุโบสถวัดพระรูป ตามประวัติกล่าวว่าได้รับการบูรณะในสมัยหลวงพ่อดี พร้อมกับการบูรณะอุโบสถ โดยการกะเทาะผิวองค์พระออกและปั้นใหม่ โดยน่าจะเป็นการปั้นไปตามเค้าโครงเดิม


ชิ้นส่วนของดอกพิกุลทอง
            ชิ้นส่วนของดอกพิกุลทองวัดพระรูป มีลักษณะเป็นแผ่นรูปดอกสี่กลีบ ตรงกลางเจาะเป็นรู ตามคำบอกเล่ากล่าวว่าได้พบชิ้นส่วนดอกพิกุลทองหลายชิ้นจากใต้ฐานพระประธานในอุโบสถ นับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัดพระรูปในอดีต

ชิ้นส่วนดอกพิกุลทองพบที่วัดพระรูปบริเวณใต้ฐานพระประธาน จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

ชิ้นส่วนดอกพิกุลทองพบที่วัดพระรูปบริเวณใต้ฐานพระประธาน สมบัติส่วนตัวของชาวบ้านบริเวณวัดพระรูป

 

ใบเสมาหินทรายวัดพระรูป
            ใบเสมาหินทรายวัดพระรูป พบจำนวน ๕ ใบ จากคำบอกเล่ากล่าวกันว่า ใบเสมาชุดนี้เป็นของเก่าแก่ของวัดแต่เดิมปักอยู่โดยรอบโบราณสถานโบสถ์มอญ[8] ใบเสมาชุดนี้เป็นหินทรายสีเทา ขนาดโดยรวมสูงประมาณ ๑๐๐ ซม. กว้างประมาณ ๔๖ ซม. และหนาประมาณ ๑๘ ซม. ลักษณะรูปทรงเป็นแท่งสูง เส้นรอบนอกคล้ายกับทรงเจว็ดสูง เอวเสมาคอดเพียงเล็กน้อยปลายยอดแหลมทำให้ไม่มีกระหนกที่งอนขึ้นมาด้านข้างของใบเสมา มีการสลักลวดลายบนด้านหน้าและรอบข้างของใบเสมา การเลือกใช้วัสดุหินทรายคงมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการสลักลวดลายได้อย่างละเอียด ประกอบกับเป็นวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และในอยุธยาก็ใช้วัสดุหินทรายมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐[9] ซึ่งได้พบแหล่งตัดหินทรายที่ใช้ผลิตประติมากรรมของอยุธยาบริเวณเขาตะเภา อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี[10] ดังเห็นได้จากการนำหินทรายมาใช้สร้างพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากในอยุธยาและปริมณฑล 

ใบเสมาหินทรายวัดพระรูป พบจำนวน ๕ ใบ มีขนาดใกล้เคียงกัน และสลักลวดลายคล้ายคลึงกัน จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

            จุดเด่นของใบเสมาหินทรายวัดพระรูปอยู่ที่ลายประดับซึ่งสลักลงไปบนเนื้อหินทราย ลายที่ปรากฏทั้งด้านหน้าและด้านข้าง เกิดจากการ “ผูกลาย” หรือประดิษฐ์ลาย ด้วยการนำลายมาประกอบกันให้เป็นลายแบบใหม่ซึ่งมี “กระหนก” เป็นองค์ประกอบอันสำคัญ โดยพบว่าใบเสมาหินทรายวัดพระรูปผูกลายด้วยกระหนกที่ประกอบจากวงโค้งตัวล่างมีหัวขมวดขนาดใหญ่ และวงโค้งสลับด้านเป็นตัวบนที่มียอดเป็นลายสามเหลี่ยมปลายแหลม ซึ่งนักวิชาการวิเคราะห์ว่าลายกระหนกแบบนี้เป็นลักษณะสำคัญที่เด่นชัดมากในช่วงแรกของสมัยกรุงศรีอยุธยาราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐[11] และลายกระหนกแบบนี้ยังคงนิยมต่อเนื่องมาอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อาทิ ลายปูนปั้นประดับพระปรางค์วัดจุฬามณี พ.ศ. ๒๐๐๘ หรือลวดลายประดับเครื่องทรงพระอิศวรสำริดที่เมืองกำแพงเพชร พ.ศ. ๒๐๕๓[12] เอกลักษณ์ของลายกระหนกบนใบเสมาหินทรายวัดพระรูป คือ การผูกลายกระหนกที่มีหัวขมวดขนาดใหญ่ ๒ ตัวเชื่อมต่อกัน ซึ่งพบลายนี้ในทุกพื้นที่ของใบเสมาทั้งในกรอบสามเหลี่ยมที่โคนใบเสมา ยอดใบเสมา และในกรอบสามเหลี่ยมด้านข้างใบเสมา

การผูกลายด้วยกระหนกที่ประกอบจากวงโค้งตัวล่างมีหัวขมวดขนาดใหญ่ และวงโค้งสลับด้านเป็นตัวบนที่มียอดเป็นลายสามเหลี่ยมปลายแหลม อันเป็นเอกลักษณ์ลวดลายบนใบเสมาหินทรายวัดพระรูป

            ใบเสมาหินทรายที่มีรูปแบบและลวดลายในกลุ่มนี้ นอกจากจะพบที่วัดพระรูป จ.สุพรรณบุรีแล้ว ยังพบตัวอย่างเป็นจำนวนมากทั้งในอยุธยาและหัวเมืองโดยรอบอยุธยา อาทิ วัดราชประดิษฐาน จ.พระนครศรีอยุธยา วัดค้างคาว วัดลุ่มคงคา จ.นนทบุรี วัดพระบรมธาตุ จ.ชัยนาท วัดหลุมดิน จ.ราชบุรี วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการกำหนดอายุจากรูปแบบและลวดลายบนใบเสมาในกลุ่มนี้ว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ การพบใบเสมาหินทรายที่วัดพระรูปจึงนำมาสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า วัดพระรูปน่าจะมีการสร้างอุโบสถและผูกพัทธสีมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งร่วมสมัยกับวัดในกรุงศรีอยุธยาและวัดในหัวเมือง

 

เอกสารอ้างอิง
[1] ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “จารึกพระมหาเถรชัยโมลี”, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๕: อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔, (กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙), ๑๓๑-๑๓๒., นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. ศมส., ๒๕๔๗.
[2]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๕.
[3]สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๒ / เรื่องที่ ๑ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์ / พัดยศและสมณศักดิ์
[4]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๒๕, ๒๗, ๒๙.
[5]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๒๘, ๓๓.
[6]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๓๕.
[7] กรมศิลปากร, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๕ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, ๒๕๒๙), ๘๒.
[8]  วัดพระรูป, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) (มปท., ๒๕๓๕), ๑๖-๑๗.
[9]  ประภัสสร์ ชูวิเชียร, อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑), ๑๓๖, ๑๔๒.
[10]  ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์, ประทีป เพ็งตะโก และพิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร, “เขาตะเภา ลพบุรี: แหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา,” ศิลปากร ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๒ (พฤษภาคม-มิถุนายน, ๒๕๓๐): ๖๑-๖๒.
[11]  สันติ เล็กสุขุม, พัฒนาการของลายไทย: กระหนกกับเอกลักษณ์ไทย (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๓), ๒๐๖-๒๐๗.
[12]  ประภัสสร์ ชูวิเชียร, อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑), ๑๔๖.

พระพิมพ์กรุวัดพระรูป
            จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่หนึ่งที่พบพระพุทธรูปบูชาและพระพิมพ์มากเป็นพิเศษ โดยพบตั้งแต่สมัยอมราวดี ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อู่ทอง สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ อาทิ บ้านหนองแจงได้พบพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี เมืองอู่ทองได้พบพระพุทธรูปศิลปะอมราวดีและทวารวดี เป็นต้น สำหรับในอำเภอเมืองสุพรรณได้พบพระพิมพ์จำนวนมากที่สุด กรุที่สำคัญได้แก่ พระพิมพ์กรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระพิมพ์กรุวัดชุมนุมสงฆ์[1] พระพิมพ์กรุสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองสุพรรณคือ “พระพิมพ์กรุวัดพระรูป”
            วัดพระรูปตั้งอยู่ในเมืองเก่าสุพรรณ สถาปนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นวัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองสุพรรณภูมิ (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐) ภายในวัดแห่งนี้ได้พบพระพิมพ์แบบต่าง ๆ จำนวนมากและมีความหลากหลายที่สุดในเมืองสุพรรณ พระพิมพ์กรุนี้น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ร่วมสมัยกับพระพิมพ์ศิลปะอยุธยาตอนต้น เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวเมืองสุพรรณภูมิที่นิยมการสร้างพระพิมพ์บรรจุกรุเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา
            พระพิมพ์กรุวัดพระรูปเกือบทั้งหมดเป็นเนื้อดินเผา ประกอบด้วยดินเป็นมวลสารหลัก ผสมกับมวลสารอื่น ๆ หลายชนิด ผ่านการเผาด้วยความร้อนจนเป็นดินเผา ทำให้เนื้อพระมีหลายสีแตกต่างกันไปตามความร้อนที่ได้รับ อาทิ สีแดงอิฐ สีคล้ายมะขามเปียก สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นสีแดงอิฐ ในชุดพระพิมพ์กรุวัดพระรูปมีด้วยกันหลายพิมพ์ ประกอบด้วย พระขุนแผน พระพลายงาม พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ พระนาคปรก พระขุนไกร พระกุมารทอง และพระพันวษา เนื่องจากพระพิมพ์กรุวัดพระรูปมีความงดงามและมีความเก่าแก่ตามอายุของวัดพระรูปที่อยู่ในสมัยสุพรรณภูมิ ประกอบกับมีความเชื่อว่าผู้แขวนพระกรุวัดพระรูปจะแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน มีโชคลาภ และมีเมตตามหาเสน่ห์ จึงทำให้พระพิมพ์กรุนี้มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตและเป็นที่ต้องการของนักสะสมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระขุนแผนและพระชุดกิมตึ๋ง และหากเป็นนักสะสมตัวจริงจะนิยมเก็บรวบรวมจนครบทุกพิมพ์
            ภายในบริเวณวัดพระรูป นอกจากจะพบพระพิมพ์ดินเผาเป็นจำนวนมากแล้ว ยังได้พบพระพิมพ์เนื้อชินและพระพุทธรูปบูชาอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันพบเห็นได้น้อยมาก “พระพิมพ์เนื้อชิน” ตามประวัติกล่าวว่าขุดพบเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๒ - ๒๔๙๓ แบ่งเป็น ๒ พิมพ์คือ พิมพ์แบบอู่ทองรุ่น ๑ กับพิมพ์แบบอู่ทองรุ่น ๓[2] เป็นเนื้อชินเงิน มีสัณฐานแบน ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานเขียงเตี้ยๆ แสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาวางตรงลงด้านหน้าแตะถึงฐาน พระวรกายสูงชะลูด ด้านหลังเรียบพิมพ์เป็นลายผ้าหรือลายตาราง น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และ “พระพุทธรูปปางมารวิชัย” จัดเป็นศิลปะแบบสุพรรณภูมิ (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐) เนื้อสำริดกะไหล่ทอง แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระเกตุมาลาเป็นทรงกรวย ครองจีวรห่มเฉียง ปลายจีวรเป็นลายกระหนกรูปคล้ายเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานรูปทรงบัวคว่ำบัวหงายที่มีลักษณะเว้าโค้งตามการประทับนั่ง ที่ฐานบัวสลักเป็นลายเส้นรูปกลีบบัว

พระพิมพ์เนื้อชิน พบใต้ฐานพระประธาน อุโบสถวัดพระรูป
พุทธศตวรรษที่  ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ชินเงิน, ขนาด ส. ๕.๘ / ก. ๒.๗ / ห. ๐.๗ (ซม.), ผอ.ยรรยง โอภากุล  มอบให้วัดพระรูป

 

พุทธศิลป์ของพระพิมพ์กรุวัดพระรูป
            “พระพิมพ์ขุนแผน” มีรูปทรงรียอดแหลม ด้านหน้าค่อนข้างเรียบสำหรับพิมพ์รูป ด้านหลังขององค์พระนูนสูง บางองค์ปรากฏลายนิ้วมือ อันแสดงให้เห็นถึงวิธีการกดพิมพ์พระด้วยมือทุกองค์ พิมพ์เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเหนือฐานบัว ภายในซุ้มที่ประดับใบระกาทรงยาวรี พุทธลักษณะแสดงปางมารวิชัย เค้าโครงพระพักตร์รียาว พระหนุค่อนข้างสั้น ปรากฏร่องรอยการทรงเครื่อง คือ สวมเครื่องประดับพระเศียรยอดยาว และพาหุรัด การที่กดพิมพ์ด้วยมือจึงทำให้สัณฐานของพระขุนแผนมีความแตกต่างกันออกไป แบ่งเป็น ๒ แบบคือ “พระขุนแผนไข่ผ่าซีก” มีสัณฐานทรงรีป้อมคล้ายไข่ผ่าซีก และ “พระขุนแผนแตงกวาผ่าซีก” มีสัณฐานทรงรียาวชะลูด พระขุนแผนส่วนใหญ่มีสีแดงอิฐคล้ายกับสีดินเผา และเนื่องจากการเผาจึงทำให้สีของเนื้อดินมีความแตกต่างกันออกไป อาทิ สีแดงเข้ม สีหม้อใหม่ และสีพิกุลแห้ง พระขุนแผนมีเนื้อละเอียด มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและแดงดำกระจายอยู่ทั่วองค์ นอกจากนี้ ในกลุ่มพระขุนแผนกรุวัดพระรูปยังมี “พระขุนแผนซุ้มระฆัง” เนื่องจากทำซุ้มพระเป็นรูปทรงซุ้มระฆังแบบศิลปะสุโขทัย และ “พระยอดขุนพล” ซึ่งทั้งสองพิมพ์นี้พบจำนวนน้อยมาก 
            พระขุนแผนนอกจากจะพบที่วัดพระรูปแล้ว ยังพบที่วัดละคร (ร้าง) ซึ่งอยู่ติดกับวัดพระรูป (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี) มักจะเป็นพิมพ์ไข่ผ่าซีก เนื้อค่อนข้างสีแดงจัด และที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในเจดีย์องค์ข้างพระปรางค์ อนึ่ง หากกล่าวถึง “พระขุนแผน” ตามความรู้สึกของชาวสุพรรณจะมุ่งมายังพระขุนแผนวัดพระรูปก่อน ส่วนความรู้สึกของนักนิยมพระต่างจังหวัด มักจะหมายถึงพระขุนแผนวัดบ้านกร่าง อ. ศรีประจันต์ จึงนิยมเรียกกันว่า “พระขุนแผนวัดพระรูป” “พระขุนแผนไข่ผ่า” หรือ “พระขุนแผนแตงกวาผ่า”[3] ทั้งนี้พระขุนแผนวัดพระรูปยังมีอายุเก่าแก่กว่าพระขุนแผนวัดบ้านกร่าง

พระพิมพ์ขุนแผนไข่ผ่าซีก  
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๖.๘ / ก. ๓.๑ / ห. ๒.๐ (ซม.)

 

พระพิมพ์ขุนแผนแตงกวาผ่าซีก  
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๖.๕ / ก. ๒.๕ / ห. ๑.๕ (ซม.)

 

พระพิมพ์ขุนแผนซุ้มระฆัง 
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๕.๑ / ก. ๒.๓ / ห. ๑.๑ (ซม.)

             

            “พระพิมพ์พลายงาม” พระพลายงามมีรูปทรงรียอดแหลม พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานเขียงเตี้ย ๆ แสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เค้าโครงพระพักตร์รียาว ด้านหลังขององค์พระนูนสูง เนื้อพระค่อนข้างหยาบ มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์ โดยรวมแล้วมีพุทธลักษณะคล้ายพระขุนแผน แต่พิมพ์ตื้นกว่าพระขุนแผน รวมถึงมีขนาดเล็กกว่าและมีเนื้อหยาบกว่าพระขุนแผน พระพิมพ์ในกลุ่มพระขุนแผนและพระพลายงามกรุวัดพระรูปนี้ นักวิชาการจัดอยู่ในกลุ่ม “พระยอดขุนพล” ซึ่งเป็นพระพิมพ์ในศิลปะลพบุรี ที่ปรากฏอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายนอยู่มาก โดยสันนิษฐานว่าเป็นการตัดเอาเฉพาะพระพุทธรูปองค์กลางแยกออกมาจากพระตรีกาย กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ อาทิ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของพระยอดขุนพลที่สร้างในเวลาต่อมาที่มีการสร้างล้อพิมพ์กันมาหลายสมัย ทำให้มีรายละเอียดทางประติมานวิทยาแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและรูปแบบศิลปะ[4]

พระพิมพ์พลายงาม 
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๕.๒ / ก. ๒.๘ / ห. ๑.๒ (ซม.)

 

            “พระพิมพ์สี่กร” พระสี่กรมีรูปทรงกลมรีปลายแหลม พิมพ์นี้จะมีพระกรและพระพาหาซ้อนรางๆ อยู่ด้านหลัง ทำให้ดูเหมือนมีสี่กร จึงนิยมเรียกว่า “พระสี่กร” พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ แสดงปางมารวิชัยเหนือฐานเตี้ยๆ อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เค้าพระพักตร์ทรงรี ใต้ฐานบริเวณตรงกลางมีเส้นแนวตั้ง คล้ายก้านดอกบัวหรือก้านของพระยอดธง ด้านหลังขององค์พระนูนสูง พระพิมพ์นี้มีเนื้อค่อนข้างหยาบ มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์

พระพิมพ์สี่กร  
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๓.๔ / ก. ๒.๑ / ห. ๐.๙ (ซม.)

 

            “พระพิมพ์มอญแปลง” พระมอญแปลงมีรูปทรงกลมรี ปลายค่อนข้างแหลม ลักษณะการพิมพ์ค่อนข้างตื้น พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ แสดงปางมารวิชัย เค้าพระพักตร์ทรงรี ด้านหลังขององค์พระนูนเล็กน้อย พระพิมพ์นี้นิยมเรียกกันว่า “พระมอญแปลง” พระมอญแปลงมีเนื้อพระค่อนข้างละเอียด มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์

พระพิมพ์มอญแปลง
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๔.๒ / ก. ๒.๖ / ห. ๑.๐ (ซม.)

 

            “พระพิมพ์ประคำรอบ” พระประคำรอบมีรูปทรงกลมรี ปลายค่อนข้างแหลม พิมพ์ตื้น พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเหนือฐานบัวที่ประดับด้วยเม็ดกลมหรือเม็ดประคำเป็นกรอบรอบองค์พระ จึงนิยมเรียกว่า “พระประคำรอบ” แสดงปางมารวิชัย ภายในซุ้มเรือนแก้วที่ประดับด้วยเม็ดกลมหรือเม็ดประคำ เค้าพระพักตร์ทรงรี ด้านหลังขององค์พระนูนเล็กน้อย พระพิมพ์นี้มีเนื้อละเอียด มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์

พระพิมพ์ประคำรอบ 
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๓.๙ / ก. ๒.๔ / ห. ๑.๐ (ซม.)

 

            “พระพิมพ์นาคปรก” พระนาคปรกมีรูปทรงกลมรี พิมพ์ตื้น พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปแสดงปางสมาธิเหนือขนดนาค ภายใต้พังพานพญานาคเจ็ดเศียร เค้าพระพักตร์ทรงรี ด้านหลังขององค์พระนูนเล็กน้อย พระพิมพ์นี้มีเนื้อค่อนข้างละเอียด มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์ องค์พระมีขนาดต่างกันไม่ค่อยแน่นอน พระพิมพ์นี้นิยมเรียกกันว่า “พระนาคปรก” หรือ “พระปรกชุมพล” การเรียกชื่อพระปรกชุมพลสันนิษฐานว่าเรียกตามพระพิมพ์เดียวกันซึ่งพบมาก่อนที่วัดพลายชุมพล

พระพิมพ์นาคปรก 
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๓.๘ / ก. ๒.๑ / ห. ๑.๒ (ซม.)

 

            “พระพิมพ์ขุนไกร” พระขุนไกรมีรูปทรงกลมรีมีฐานล่างค่อนข้างตรง พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานเขียงเตี้ยๆ แสดงปางมารวิชัย เค้าพระพักตร์กลมหนา พระกรรณยาว มีเส้นกรอบรอบองค์พระ ด้านหลังขององค์พระนูนสูง พระพิมพ์นี้มีขนาดใหญ่นิยมเรียกกันว่า “พระขุนไกร” พระขุนไกรมีเนื้อแกร่งคล้ายเนื้อกระเบื้อง มีสีแดงแก่ แดงอ่อน และแดงปนน้ำตาล ลักษณะเนื้อค่อนข้างหยาบ มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดง เม็ดกรวด และเม็ดสีดำกระจายอยู่ทั่วองค์ แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์คือ พิมพ์หน้าใหญ่ กับพิมพ์หน้าเล็ก

พระพิมพ์ขุนไกร  
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๕.๗ / ก. ๔.๕ / ห. ๑.๑ (ซม.)

 

            “พระพิมพ์พระพันวษา” พระพันวษามีรูปทรงรี ปลายยาวแหลมและเอียงไปด้านขวา พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว มีชายผ้าตกเป็นวงโค้งด้านหน้า เค้าพระพักตร์รียาว ด้านหลังขององค์พระนูนสูง เหนือพระเศียรมีลักษณะเป็นชั้นจำนวน ๓ - ๖ ชั้น มียอดแหลม พระพิมพ์นี้มีกรอบพิมพ์ไม่เหมือนกัน องค์พระมีขนาดไม่เท่ากัน บางองค์ยอดตรง บางองค์ยอดเอียงซ้ายหรือเอียงขวา พระพิมพ์นี้มีความอ่อนช้อย นิยมเรียกกันว่า “พระพันวษา” พระพันวษามีเนื้อค่อนข้างละเอียด หนึกแกร่ง ละเอียดพอ ๆ กับพระขุนแผน มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงกระจายอยู่ทั่วองค์

พระพิมพ์พระพันวษา  
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๕.๓ / ก. ๒.๕ / ห. ๑.๓ (ซม.)

 

            “พระพิมพ์กุมารทอง” พระกุมารทองมีรูปทรงกลมรีปลายค่อนข้างมน พิมพ์ออกมาเป็นเส้นโครงร่างที่แสดงพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเหนือฐานบัว แสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เค้าพระพักตร์ทรงรี ด้านหลังขององค์พระนูนสูง พระพิมพ์นี้เป็นเส้นโครงร่างที่ดูยุ่งเหยิงจึงนิยมเรียกกันว่า “พระกุมารทอง” หรือ “พระยุ่ง” พระกุมารทองมีเนื้อค่อนข้างหยาบ มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดง เม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์

พระพิมพ์กุมารทอง (พระยุ่ง) 
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๔.๖ / ก. ๒.๔ / ห. ๑.๓ (ซม.)

 

การพบพระพิมพ์กรุวัดพระรูป
            พระพิมพ์กรุวัดพระรูปส่วนใหญ่พบบนผิวดินและใต้ดินลึกลงไปเล็กน้อย ในบริเวณลานวัดใกล้กับอุโบสถ วิหารพระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ โบสถ์มอญ ผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีตหลายคนที่อาศัยอยู่บริเวณวัดพระรูปกล่าวว่า ในอดีตพบพระพิมพ์อยู่ทั่วไปบนผิวดิน บนกุฏิ ศาลา วิหาร มีจำนวนมากเป็นร้อยๆ องค์ การพบพระกรุนี้ยังพบในวาระต่างๆ กัน อาทิ พ.ศ. ๒๕๐๘ มีการบูรณะวิหารพระพุทธไสยาสน์ เมื่อขุดดินบริเวณด้านหน้าพระพุทธไสยาสน์ลงไปเพียงเล็กน้อย ได้พบพระพิมพ์ขุนแผนกระจายอยู่ประมาณ ๑๐๐ องค์ หรือใน พ.ศ. ๒๕๑๐ ครั้งที่มีการปรับพื้นวัดก็ได้พบพระพิมพ์ขุนแผนจำนวนหลายองค์[5]
            พระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำอดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป เล่าให้อาจารย์มนัส โอภากุล ฟังว่า พระพิมพ์วัดพระรูปกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดินในเขตอุปจารของวัด ไม่ว่าจะเดินไปไหนก็พบ ที่จมดินก็มี พอฝนตกจะปรากฏให้เห็นเสมอ ๆ แต่คนสมัยโน้นไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าใดนัก เพราะถือคตินิยมไม่ยอมเอาพระเข้าบ้าน พวกเด็ก ๆ ลูกศิษย์วัดมักจะเอาไปร่อนเล่นในแม่น้ำหน้าวัด[6]  
            ใน พ.ศ. ๒๕๓๔ ครั้งกรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งพระเจดีย์ได้พบพระพิมพ์ขุนแผนจำนวน ๒ องค์ แต่ไม่พบรายงานกล่าวถึงการพบพระพิมพ์บรรจุในกรุของพระเจดีย์[7] และยังมีบันทึกว่าในอดีตพระชุดกิมตึ๋งที่ประกอบด้วย พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ พระนาคปรกนั้น มักพบประจำบริเวณหน้าศาลาฌาปนกิจเมื่อครั้งที่ยังไม่เทพื้นปูนซีเมนต์ โดยมักจะพบบนผิวดินหลังจากที่ฝนตกหนัก ๆ
            พระพิมพ์วัดพระรูปเหล่านี้ คงจะสร้างขึ้นเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในช่วงเวลานั้น สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงจะมีพระเจดีย์ที่บรรจุพระพิมพ์เหล่านี้ ต่อมาเมื่อพระเจดีย์พังลงพระพิมพ์ในกรุจึงกระจายอยู่ทั่วบริเวณ โดยในอดีตน่าจะเคยมีพระเจดีย์ในบริเวณดังกล่าวอยู่หลายองค์ ดังปรากฏพระเจดีย์เก่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถในภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งในปัจจุบันไม่มีหลักฐานเหลือแล้ว
            นอกจากนี้ การพบพระขุนแผนและพระชุดกิมตึ๋ง (พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ พระนาคปรก) ยังได้พบอีกที่วัดพลายชุมพล (ร้าง) ที่ตั้งอยู่ติดกับวัดพระรูปทางทิศใต้ และที่วัดละคร (ร้าง) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี โดยพระพิมพ์แต่ละกรุจะมีขนาดและลักษณะเนื้อหามวลสารแตกต่างกัน ซึ่งใช้เป็นจุดแยกแยะพระพิมพ์แต่ละกรุออกจากกัน สำหรับพระพิมพ์กรุวัดพระรูปนั้นมีขนาดใหญ่และมีเนื้อแน่นละเอียดมากกว่ากรุวัดพลายชุมพลและกรุวัดละครจึงเป็นที่นิยมมากกว่า 

 

พระพิมพ์กรุวัดพลายชุมพล 
            พระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำอดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป ได้เล่าให้อาจารย์มนัส โอภากุล ฟังว่า วัดพลายชุมพลอยู่ด้านหลังวัดพระรูปไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อย องค์พระเจดีย์หักพังมานานแล้ว ในขณะที่ท่านมีอายุได้ ๑๐ ขวบ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๖) เห็นเป็นกองอิฐสุมกันเป็นกองพะเนิน ฐานองค์เจดีย์ใหญ่มาก เกือบจะเท่าพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (สุพรรณบุรี) ไม่ทราบว่ารูปทรงเป็นอย่างไรเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน หากวัดโดยรอบประมาณ ๕๐ เมตรเห็นจะได้ นับเป็นเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง พระชุดพลายชุมพลหรือชุดกิมตึ๋ง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปปะปนอยู่กับกองอิฐและปูนโดยไม่มีใครสนใจที่จะเก็บเอาไปบูชา เพราะคตินิยมในขณะนั้นยังไม่ยอมเอาพระเข้าบ้าน หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ ยังพูดว่าใครต้องการพระสักกี่เล่มเกวียนให้ไปขนเอาที่วัดพลายชุมพล ในสมัยที่สร้างเรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี นักโทษมาขนเอาอิฐดี ๆ ไปก่อกำแพงเสียก็มาก จนอิฐดี ๆ ของวัดพลายชุมพลหมดไปโดยปริยาย
            อาจารย์มนัส โอภากุล ยังบันทึกไว้ว่า ในย่านวัดพลายชุมพลนี้ยังมีวัดร้างจำนวนมากตั้งติดกันเป็นแถว อาทิ วัดละคร วัดมอญ วัดช่องลม วัดตะไกร วัดพระจีน วัดปากคลองแสงจันทร์ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองทั้งสิ้น ทุกวัดมีพระชุดกิมตึ๋งทั้งสิ้น พระชุดกิมตึ๋งนี้ขึ้นชื่อลือลั่นในทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีมานาน เวลาไปเที่ยวต่างบ้านนักเลงนักเที่ยวนิยมหยิบติดตัวไปด้วยเสมอ บางครั้งบางคราวต้องมีเรื่องกัน ปรากฏว่าหนังเหนียว อยู่ยงคงกระพัน เลือดไม่ตกยางไม่ออก อย่างไรก็ดี เมื่อกลับมาจากเที่ยวจะต้องนำเอาพระนั้นกลับมาไว้ที่เดิม ไม่ยอมนำเอาเข้าบ้าน ถือคติว่าพระต้องอยู่ที่วัดไม่ใช่อยู่บ้าน ต่อมาคตินี้ค่อย ๆ เลือนหายไปพร้อมกันนี้พระชุดกิมตึ๋งก็ค่อย ๆ หายไปด้วย[8]    

 

พระพิมพ์ชุดกิมตึ๋งของวัดพระรูป
            พระพิมพ์กรุวัดพระรูปชุด “กิมตึ๋ง” มีจำนวน ๔ องค์ ประกอบด้วย พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระนาคปรก การเรียกชื่อพระพิมพ์กรุวัดพระรูปชุดนี้ว่ากิมตึ๋ง สันนิษฐานว่าเรียกชื่อตามพระพิมพ์ชุดกิมตึ๋งของวัดพลายชุมพล ที่เป็นวัดร้างอยู่ติดกับวัดพระรูปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งนักวิชาการกล่าวว่าแตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๙ เนื่องจากพระเจดีย์เก่าแก่ของวัดหักโค่นลงมา ซึ่งแต่เดิมนั้นจะเรียกพระพิมพ์ชุดนี้ว่า “พระตับวัดพลายชุมพล”[9] หรือ “พระชุดพลายชุมพล” ตามชื่อวัด[10] พระชุดกิมตึ๋งวัดพระรูปประกอบไปด้วยพระพิมพ์ ๔ องค์เช่นเดียวกันคือ พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระนาคปรก โดยเชื่อว่าพระพิมพ์ชุดกิมตึ๋งของวัดพระรูปคงจะแตกกรุออกมาทีหลังกรุวัดพลายชุมพล อย่างไรก็ดี พบว่าเนื้อพระและขนาดพระพิมพ์ของทั้งสองกรุนี้มีความแตกต่างกันคือ พระพิมพ์กรุวัดพระรูปจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีเนื้อละเอียดแน่นกว่าพระพิมพ์กรุวัดพลายชุมพล จึงทำให้พระชุดกิมตึ๋งของวัดพระรูปเป็นที่นิยมมากกว่า   
            สำหรับการตั้งชื่อพระพิมพ์ชุดนี้ว่า “กิมตึ๋ง” นั้น นักวิชาการสันนิษฐานเป็น ๒ แนวทางคือ แนวทางหนึ่งสันนิษฐานว่ามาจากชื่อชุดโต๊ะหมู่บูชาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) ที่มีความสวยงามมากจนชนะการประกวด ซึ่งกรมขุนราชสีหวิกรมประทานชื่อโต๊ะหมู่บูชาชุดนี้ว่า “ชุดกิมตึ๋ง” แปลว่า “พระราชบัลลังก์ทองคำ” ส่วนอีกแนวทางหนึ่งสันนิษฐานว่ามาจาก “กิมตึ๋งฮกกี่” ชื่อยี่ห้อเครื่องถ้วยชาลายคราม ที่พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) สั่งมาจากเมืองจีนในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแปลความหมายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง ตำนานเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้นว่า “ของอันวิเศษอย่างเต็มที่” ชุดเครื่องถ้วยชาลายครามดังกล่าว ๑ ชุดประกอบด้วย ๔ ใบ ซึ่งมีความงดงามมากจึงเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่นักนิยมถ้วยชาจนนิยมเรียกชื่อติดปากว่าถ้วยกิมตึ๋ง ต่อมาเมื่อมีการพบพระกรุชุดวัดพลายชุมพลที่มีความงดงามเข้าชุดกันจำนวน ๔ องค์และเป็นที่นิยมในกลุ่มนักสะสม จึงตั้งชื่อพระชุดนี้ใหม่ว่าพระชุดกิมตึ๋ง[11]

พระพิมพ์ขุนแผนและพระพิมพ์ชุดกิมตึ๋ง กรุวัดพระรูป

 

ชื่อพระพิมพ์กรุวัดพระรูปกับวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน
            การเรียกชื่อพระพิมพ์กรุวัดพระรูป ส่วนใหญ่นิยมเรียกชื่อพระพิมพ์ตามตัวละครในวรรณกรรมพื้นบ้านเมืองสุพรรณบุรีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากกลุ่มนิยมสะสมพระและวัตถุมงคลที่นำลักษณะเด่นของพระพิมพ์แบบต่างๆ ไปเปรียบเทียบเข้ากับตัวละครในวรรณกรรม
            “พระขุนแผน” อาจารย์มนัส โอภากุล บันทึกไว้ว่า แต่เดิมคนสมัยก่อนไม่ได้เรียกว่าพระขุนแผน เขาเรียกกันว่า “พระหลังเบี้ย” เพราะด้านหลังอูมเหมือนหลังเบี้ยจั่น[12] ขุนแผนมาจากชื่อตัวละครเอกของวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน เป็นบุตรของขุนไกรพลพ่ายกับนางทองประศรี ขุนแผนหรือขุนแผนแสนสะท้าน เป็นข้าราชการทหารกรุงศรีอยุธยาที่มีบุคลิกเป็นชายชาตรีผู้มีความรู้มีความเก่งกล้าสามารถมากและเป็นผู้ที่มีเสน่ห์อย่างมาก การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระขุนแผนคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีความงดงามสมบูรณ์ที่สุดในกลุ่มพระพิมพ์กรุวัดพระรูป ประกอบกับอาจจะเนื่องจากฐานบัวคว่ำบัวหงายที่พิมพ์ติดไม่ชัดทำให้มองดูคล้ายรูปเด็กนอนหงายหรือกุมารทอง บุตรของขุนแผนกับนางบัวคลี่ที่ขุนแผนปลุกสร้างขึ้นด้วยวิชาตามเนื้อเรื่องในวรรณกรรม 
            “พระพลายงาม” มีที่มาจากชื่อตัวละครเอกของวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน พลายงามหรือจมื่นไวยวรนาท เป็นบุตรของขุนแผนกับนางวันทอง เป็นข้าราชการทหารกรุงศรีอยุธยาที่มีบุคลิกเก่งกล้าสามารถและมีเสน่ห์เช่นเดียวกับขุนแผน การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระพลายงามคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายพระขุนแผน แต่พิมพ์ตื้นกว่าและมีรายละเอียดน้อยกว่าพระขุนแผน  
            “พระมอญแปลง” มีที่มาจากวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน ในตอนที่พลายชุมพลปลอมตัวเป็นมอญเพื่อไปรบกับจมื่นไวยวรนาทหรือพลายงาม พลายชุมพลนั้นเป็นบุตรของขุนแผนกับนางแก้วกิริยา และนับเป็นน้องคนละแม่ของพลายงาม การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่ามอญแปลงนั้นสันนิษฐานว่าอาจจะเนื่องจากให้ความสำคัญพระพิมพ์นี้ต่อมาจากพระขุนแผนและพระพลายงาม ประกอบกับพระพิมพ์นี้มีลักษณะคล้ายกับพระพิมพ์พุทธคยาซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่นิยมมาก่อนในศิลปะพม่าสมัยพุกาม จึงตั้งชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระมอญแปลงพระกุมารทอง
            “พระกุมารทอง” มีที่มาจากชื่อตัวละครในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน กุมารทองเป็นอมนุษย์ที่ขุนแผนปลุกสร้างขึ้นด้วยวิชาจากบุตรของตนเองกับนางบัวคลี่ การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระกุมารทองคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีเส้นซ้อนกันให้ความรู้สึกยุ่งเหยิงและลึกลับซับซ้อน เปรียบเหมือนกับกุมารทองที่เป็นอมนุษย์และเป็นเด็กตามวรรณกรรม อนึ่ง ด้วยพระพิมพ์นี้มีลักษณะเส้นที่ซับซ้อนดูยุ่งเหยิงจึงมักนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระยุ่ง”  
            “พระขุนไกร” มีที่มาจากชื่อตัวละครในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน ขุนไกรหรือขุนไกรพลพ่ายเป็นบิดาของขุนแผน เป็นข้าราชการทหารกรุงศรีอยุธยามีบุคลิกเป็นชายชาตรีมีความรู้ความสามารถมาก การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระขุนไกรคงเนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าพระพิมพ์ขุนแผนและมีขนาดใหญ่ที่สุดในชุดพระกรุวัดพระรูป จึงตั้งให้เป็นขุนไกรซึ่งเป็นบิดาของขุนแผนตามเนื้อเรื่องในวรรณกรรม
            “พระพันวษา” มีที่มาจากชื่อตัวละครในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน พระพันวษาหรือสมเด็จพระพันวษาเป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาการเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระพันวษาคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีชั้น ๆ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ลักษณะคล้ายฉัตรเหนือซุ้มพระ สอดคล้องกับพระพันวษาที่เป็นพระมหากษัตริย์ตามเนื้อเรื่องในวรรณกรรม

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องขุนช้างขุนแผน บนผนังระเบียงรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์

 

Printed Buddha Images in the Cache at Wat Phra Rup
            Suphan Buri province is an area that especially large numbers of Buddha images and printed Buddha images are found.  The Buddha images found include those in the periods of Amaravadi, Thavaravadi, Srivichai, Lop Buri, Uthong, Sukhothai, Ayutthaya, and Rattanakosin.  For examples, at Ban Nong Chaeng Tai the Buddha images of Lop Buri art style are found, and in Uthong town the Buddha images of Amaravadi and Thavaravadi art styles are found.  The largest numbers of printed Buddha images are found in Mueang district of Suphan Buri.  The important sources are the printed Buddha images in cache at the main stupa of Wat Phra Si Rattana Mahathat, and the printed Buddha images in cache at Wat Chumnum Sangha.  Another important place in Suphan Buri is Wat Phra Rup where we can find “Printed Buddha Images in the Cache at Wat Phra Rup”.  Wat Phra Rup is located in the ancient Suphan Buri town.  It was established in about the 19th Buddhist Century.  It is considered one of the most important monasteries in Suphan Buri.  The cache at Wat Phra Rup was found to contain large numbers of most diversified models of printed Buddha images in Suphan Buri.  The printed Buddha images in this cache were created in Suphanabhumi period (19th - 20th Buddhist Centuries) which was contemporary to printed Buddha images of early Ayutthaya art style.  This is important evidence that reflects the culture of Suphan Buri people who have the preference for creating printed Buddha images and putting them in the cache in order to maintain the existence of Buddhism forever.
            Almost all printed Buddha images in the cache at Wat Phra Rup were created from baked clay.  The materials of the Buddha images are composed mainly of clay mixed with several substances that are burnt to become baked clay with many different colors depending on the levels of heat received from the burning, such as the reddish brick color, the ripe tamarin-liked color, and dry medlar flower-liked color.  However, the majority of them are of reddish brick color.  There are many printed models of the Buddha images including Phra Khun Phaen, Phra Plai Ngarm, Phra Si Korn, Phra Mon Plaeng, Phra Pakhamrop, Phra Prok Chumphon, Phra Khun Krai, Phra Kuman Thong, and Phra Phanwasa.  Due to the fact that the printed Buddha images in the cache at Wat Phra Rup are beautiful and antique based on the age of Wat Phra Rup which was established during the Suphan Buri period, together with the belief that the person wearing a printed Buddha image from the cache at Wat Phra Rup will be safe from accidents or dangers, be invulnerable, have good fortune, and have great charming attraction; the printed Buddha images from cache at Wat Phra Rup have been famous and greatly wanted among Buddha image collectors since the old times, especially Phra Khun Phaen and Buddha images in the Kim Thueng series.  Also, if a person is a real collector of Buddha images, he will try to acquire the complete set of them.
            Within Wat Phra Rup area, in addition to finding a large number of printed Buddha images, we also have found printed Buddha images made from mixed metal material, or “Phra Phim Nuea Chin”.  According to the history, they were found from the digging in B.E. 2492 – 2493.  There were two printed models, i.e. the first batch of Uthong model, and the third batch of Uthong model, both of which were made from silver-based mixed metal material.  They have flat shape.  In the front is the carved picture of the Mara Vijaya (defeating the devil) posture Buddha image seated with the flat cross-legged posture on a low flat altar.  His right hand is placed directly in front touching the altar.  His face is unclear but still shows the almost circular outline, with the nose elevated in a ridge.  His robe is long and his body is tall and slim.  The back side of the Buddha image is flat and printed with the fabric or table decoration.  Not many pieces of Phra Phim Nuea Chin are found.  Most of them are in possession of old people living around the monastery.  So, at present very few of them can be found.  In addition, a small number of seated Buddha images to be worshipped are also found.  The important example is the “Suphannabhumi period Buddha image” which is of Suphannabhumi art style (19th - 20th Buddhist Centuries).  It is made of bronze plated with gold.  It is the Mara Vijaya (defeating the devil) style Buddha image, with the rather square face, and with the funnel-shaped crown.  He wears his robe in diagonal style, with the end of the robe decorated in the Kranok (serrated leaf) Thai decorative pattern similar to the fang of centipede.  He is seated with the flat cross-legged posture on a curved altar the base of which is decorated in the upside down and facing up lotus flowers decoration.  The base of the lotus decoration is carved in the Kranok decorative line showing the lotus petals.

 

เอกสารอ้างอิง
[1] มนัส โอภากุล, “พุทธประติมากรรมและพระเครื่อง,” สุพรรณบุรี ๔๐๐ ปี ยุทธหัตถี (กรุงเทพฯ: ฟิวเจอร์เพรส, ๒๕๓๕), ๓๑-๓๓.
[2]  วัดพระรูป, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) (มปท., ๒๕๓๕), ๓๘.
[3] มนัส โอภากุล, พระฯ เมืองสุพรรณ (สุพรรณ: สุพรรณการพิมพ์, ๒๕๔๓), ๑๙๘-๑๙๙.
[4]  กฤษฎา พิณศรี, “พระยอดขุนพล,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๐ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๗): ๖๘-๗๐.
[5]  วัดพระรูป, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) (มปท, ๒๕๓๕), ๑๖-๑๗.
[6] มนัส โอภากุล, พระฯ เมืองสุพรรณ (สุพรรณ: สุพรรณการพิมพ์, ๒๕๔๓), ๑๙๗.
[7]  กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี, (เอกสารอัดสำเนา) (มปท, ๒๕๓๔).
[8] มนัส โอภากุล, พระฯ เมืองสุพรรณ (สุพรรณ: สุพรรณการพิมพ์, ๒๕๔๓), ๒๐๙-๒๑๐.
[9] กฤษฎา พิณศรี, “พระชุดกิมตึ๋ง,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน, ๒๕๔๙), ๑๒๑.
[10]  วัดพระรูป, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) (มปท., ๒๕๓๕), ๓๙.
[11] กฤษฎา พิณศรี, “พระชุดกิมตึ๋ง,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน, ๒๕๔๙), ๑๒๑.
[12] มนัส โอภากุล, พระฯ เมืองสุพรรณ (สุพรรณ: สุพรรณการพิมพ์, ๒๕๔๓), ๑๙๘.

พระพุทธรูปหินทรายวัดพระรูป
            พระพุทธรูปหินทราย คือโกลนของพระพุทธรูป เป็นการนำหินทรายมาขึ้นเป็นรูปพระพุทธรูปด้วยการสลัก ถากเกลาอย่างคร่าวๆ ก่อนตกแต่งด้วยปูนปั้นหรือลงรักปิดทองจนเสร็จสมบูรณ์ เมื่อกาลเวลาผ่านไปพระพุทธรูปเหล่านี้ชำรุดปูนปั้นกะเทาะออกหมด จึงเหลือเพียงหินทรายที่เป็นโกลนของพระพระพุทธรูป ดังปรากฏเป็นพระพุทธรูปหินทรายตามวัดโบราณต่าง ๆ
            พระพุทธรูปหินทรายที่วัดพระรูป ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อคราวที่สร้างเก๋งจีนใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้มีการนำชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่พบภายในวัดมาบูรณะขึ้นใหม่เป็นองค์พระเพื่อนำไปประดิษฐานไว้ภายในเก๋งจีน ต่อมาเก๋งจีนถูกทิ้งร้าง พระพุทธรูปหินทรายส่วนใหญ่ชำรุดเสียหายเป็นชิ้นส่วนกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณเก๋งจีน ทางวัดได้เก็บรวบรวมไว้และบางส่วนได้นำไปประกอบและบูรณะขึ้นใหม่เป็นองค์พระเก็บรักษาอยู่ในโบสถ์มอญ นอกจากนี้ ยังได้พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายอีกจำนวนหนึ่งจากการบูรณะเจดีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ มีทั้งพระเศียรและส่วนของพระวรกาย ซึ่งเป็นหลักฐานที่สะท้อนประวัติศาสตร์วัดพระรูปในช่วงเวลานั้น   
            ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายทั้งหมดเท่าที่พบซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนพระวรกาย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีมากกว่า ๔๐ องค์ เกือบทั้งหมดเป็นหินทรายสีเทา และพบที่เป็นหินทรายสีแดงหนึ่งองค์ มีหลายขนาดแตกต่างกัน สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนหินทรายประกอบกัน ถ้าองค์พระขนาดไม่ใหญ่มักประกอบจากชิ้นส่วนจำนวน ๓ ชิ้น ได้แก่ ส่วนล่างคือพระวรกายท่อนล่างทั้งหมดรวมถึงพระหัตถ์ทั้งสองข้างที่สลักติดกับพระเพลา ส่วนกลางคือพระอุทรขึ้นไปถึงพระอุระ และส่วนบนคือพระศอขึ้นไปจนถึงพระเศียร แต่ถ้าองค์พระขนาดใหญ่จะประกอบด้วยส่วนชิ้นจำนวนมากขึ้น พระพุทธรูปส่วนใหญ่มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง จีวรบางแนบพระวรกาย สังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ชายสังฆาฏิมีลักษณะคล้ายเขี้ยวตะขาบ
            รูปแบบการสร้างและพุทธลักษณะดังกล่าว มีความสอดคล้องกับพระพุทธรูปหินทรายที่พบในศิลปะอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ที่แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยเป็นอย่างมากแล้ว อาทิ พระพุทธรูปหินทรายที่วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา ในเมืองสุพรรณบุรียังได้พบพระพุทธรูปหินทรายที่มีรูปแบบศิลปะและอายุใกล้เคียงกันกับที่วัดพระรูปอีกหลายแห่ง อาทิ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดสนามชัย วัดโพธิ์คลาน เป็นต้น พระพุทธรูปหินทรายแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างมากมาก่อนแล้วในเมืองอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปหินทรายที่ปรากฏในเมืองสุพรรณบุรีอาจจะเป็นการนำมาจากเมืองอยุธยาก็เป็นได้     

พระพุทธรูปหินทรายสีแดงที่พบเพียงองค์เดียวในวัดพระรูป ได้รับการบูรณะแล้ว จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

 

เศียรพระพุทธรูปหินทราย ในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

 

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายในบริเวณวัดพระรูป

 

พระพุทธรูปหินทรายที่พบจากการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป 
            ในการบูรณะเจดีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้มีการขุดตรวจส่วนฐานของเจดีย์ จากการขุดตรวจฐานทางด้านทิศใต้ขององค์เจดีย์ได้พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวน ๗ ชิ้น โดยพบบริเวณชั้นฐานเขียงชั้นล่างของฐานบัวลูกแก้วมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้และด้านใต้ ประกอบด้วย พระเศียรจำนวน ๒ ชิ้น พระวรกายส่วนบนจำนวน ๔ ชิ้น และพระวรกายส่วนล่างจำนวน ๑ ชิ้น
            เศียรพระพุทธรูปหินทราย ๒ ชิ้น ชิ้นหนึ่งอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์พร้อมพระรัศมีที่แกะสลักแยกชิ้นกัน ขนาดความสูง ๒๕ ซม. กว้าง ๑๕ ซม. ลักษณะพระพักตร์เรียวยาวรูปไข่ มีไรพระศก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์ยิ้มเล็กน้อย มีร่องรอยการทาสีแดงชาด อีกชิ้นหนึ่งตัดขาดแค่พระเกตุมาลา ไม่มีพระรัศมี มีขนาดความสูง ๑๖.๕ ซม. กว้าง ๑๒ ซม. ลักษณะพระพักตร์คล้ายคลึงกัน แต่ชำรุดลบเลือนไปมาก[1]
            สำหรับชิ้นส่วนพระวรกายส่วนบนอยู่ในสภาพค่อนข้างชำรุดพระกรหักหาย ครองจีวรห่มเฉียง จีวรบางแนบพระวรกาย สังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ชายสังฆาฏิมีลักษณะคล้ายเขี้ยวตะขาบ และมีร่องรอยการทาสีแดงชาด ส่วนชิ้นส่วนพระวรกายส่วนล่าง ประทับขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย และมีร่องรอยการทาสีแดงชาด[2] พุทธศิลป์ของพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายที่ขุดพบ แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเป็นอย่างมาก มีรูปแบบร่วมสมัยกันกับพระพุทธรูปหินทรายที่พบในศิลปะอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อาทิ พระพุทธรูปหินทรายที่วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
            การพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายบริเวณชั้นฐานเขียงชั้นล่างของฐานบัวลูกแก้วมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้และด้านใต้ ก่อนการถมปิดฐานในคราวบูรณะเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นั้นแสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปหินทรายชุดนี้น่าจะสร้างขึ้นก่อนการบูรณะเจดีย์ ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปหินทรายชุดนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวช่วงแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ก่อนการบูรณะเจดีย์ครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ 

ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่พบจากการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป
ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗).

 

โบสถ์มอญ
            โบราณสถานแห่งนี้ไม่ปรากฏประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด ตามคำบอกเล่าชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์มอญ และเล่าว่าเคยมีใบเสมาปักอยู่โดยรอบ แต่เดิมโบราณสถานนี้เหลือเพียงผนังอาคารด้านหลังและด้านข้างของพระประธาน ผนังมีความหนาประมาณ ๕๐ เมตร ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปประธานบนฐานชุกชีลักษณะเตี้ย ตั้งหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตก  
            ต่อมาภายหลังในสมัยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) ได้มีการบูรณะเพิ่มเติม ด้วยการก่อผนังขึ้นใหม่ทั้งสี่ด้านในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยปิดล้อมผนังอาคารเดิมไว้ด้านใน ขนาดอาคารกว้างประมาณ ๖.๒ เมตร ผนังใหม่นี้ยังก่อสูงขึ้นไปทำหน้าที่รองรับส่วนของหลังคาที่ทำขึ้นอย่างเรียบง่ายดังปรากฏในปัจจุบัน และได้มีการบูรณะพระพุทธรูปประธานภายในอาคารด้วย ดังในปัจจุบันปรากฏเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย มีพุทธศิลป์แบบพื้นบ้าน พระพักตร์กลม พระวรกายล่ำสัน องค์พระเตี้ย หน้าตักใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๒.๗๕ เมตร สูงประมาณ ๓.๕๐ เมตร 
            ลักษณะสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้คือ การสร้างอาคารที่มีลักษณะเล็กและแคบเพียงเพื่อให้ครอบคลุมพระประธาน ทำให้พระประธานมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดอาคาร และฐานชุกชีที่รองรับพระประธาน มีลักษณะเตี้ยและขนาดค่อนข้างกว้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดอาคาร ลักษณะโดยรวมของโบราณสถานแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงคติการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในอาคารขนาดเล็ก ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐
            เอกลักษณ์เฉพาะของโบราณสถานแห่งนี้ คือการประดิษฐานพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งตรงกันข้ามกับคติโดยทั่วไปที่นิยมตั้งพระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกหรือหันพระพักตร์ลงแม่น้ำ โบราณสถานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเช่นนี้ในบริเวณเมืองสุพรรณยังพบได้อีกสองแห่ง คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และวัดป่าเลไลยก์ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าโบสถ์มอญเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่า คติการประดิษฐานพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตกดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับความนิยมเรียกชื่อโบสถ์มอญ โดยกล่าวกันว่าชาวมอญเป็นผู้สร้างโบสถ์เหล่านี้ และตั้งพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของเมืองมอญ อย่างไรก็ดี ยังคงมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานนี้ที่รอการพิสูจน์ต่อไป

พระพุทธรูปประธานในโบสถ์มอญวัดพระรูป

 

โบสถ์มอญวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรีและวัดป่าเลไลยก์ 
            โบราณสถาน “โบสถ์มอญ” ตามที่ชาวเมืองสุพรรณนิยมเรียกกันนั้น นอกจากจะพบที่วัดพระรูปแล้ว ยังพบอีกที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรีและวัดป่าเลไลยก์ โดยมีความคล้ายกันคือพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก           
            โบสถ์มอญวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระปรางค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ในอดีตตัวอาคารที่ก่ออิฐถือปูนและเครื่องหลังคาคงชำรุดทรุดโทรมลงหมด เมื่อบูรณะจึงทำเสาไม้รองรับหลังคาที่ทำอย่างขึ้นใหม่แทน โดยรอบอาคารมีการปักใบเสมา เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการทำผนังอิฐเบื้องหลังพระประธานซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกับโบสถ์มอญวัดพระรูป 

พระพุทธรูปประธานในโบสถ์มอญวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี

 

            โบสถ์มอญวัดป่าเลไลยก์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารหลวงพ่อโต (พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์) จากภาพถ่ายเก่าพบว่าแต่เดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน มีประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ไม่มีช่องหน้าต่าง (กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะใน พ.ศ. ๒๕๔๐) ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก อย่างไรก็ดี บริเวณรอบโบสถ์หลังนี้ไม่พบร่องรอยการปักใบเสมาซึ่งเป็นเช่นเดียวกับโบสถ์มอญวัดพระรูป

พระพุทธรูปประธานในโบสถ์มอญวัดป่าเลไลยก์ 

 

เอกสารอ้างอิง
[1] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๑๕-๑๖.
[2] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๑๕-๑๖.

บทความวิชาการ
"พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป"

พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป

 

ประวัติความเป็นมาของพระพุทธบาทไม้
            หลักฐานแผ่นไม้จารึกเรื่องสร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทไม้วัดพระรูปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ กล่าวถึงความเป็นมาของพระพุทธบาทไม้ว่า “ได้รับข่าวเล่ากันต่อๆ มาว่า ฝ่าพระพุทธบาทนี้ลอยน้ำมาแต่เหนือกับพระพุทธรูปหนึ่งองค์นี้ก่อนกรุงเก่า” อย่างไรก็ดี มนัส โอภากุล ปราชญ์เมืองสุพรรณได้บันทึกไว้ว่า พระเทพวุฒาจารย์ (หลวงพ่อเปลื้อง) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ ได้เล่าว่า ได้ยินสืบต่อมาว่า เดิมพระพุทธบาทนี้อยู่ที่วัดเขาดิน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระภิกษุรูปหนึ่งได้ขนย้ายพระพุทธบาทไม้ไปซ่อนพวกพม่า จนกระทั่งต่อมาได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระรูปจนถึงปัจจุบัน[1]
            ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระแจงวินัยธรวัดพระรูป จึงได้ชักชวนชาวบ้านและคณะสงฆ์ผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างมณฑปดังปรากฏรายนามบนแผ่นไม้ ทั้งนี้ ยังมีการจัดงานนมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำในช่วงวันที่ ๓-๗ เดือนเมษายน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านและพระสงฆ์ ที่มีต่อพระพุทธบาทไม้วัดพระรูปมาตั้งแต่อดีต 

แผ่นไม้จารึกการสร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ ริมแม่หน้าวัดพระรูป

 

พระพุทธรูปหินทรายคู่พระพุทธบาทไม้
             พุทธพุทธรูปสลักขึ้นจากหินทรายสีเทาชิ้นเดียวทั้งองค์ พุทธศิลป์จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐) หรือที่นิยมเรียกกันว่าศิลปะอู่ทองรุ่นที่ ๓ มีพุทธลักษณะสืบต่อมาจากพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นที่ ๒ โดยได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่อย่างชัดเจน คือเป็นพระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีรูปเปลวไฟมีกลีบบัวประดับ เม็ดพระศกค่อนข้างเล็ก พระพักตร์วงรูปไข่ พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระขนงโก่งโค้ง มีเส้นไรพระศก กึ่งกลางไรพระศกหยักแหลมลงล้อกับพระขนง พระกรรณค่อนข้างสั้นมีเส้นตัดแนวเฉียง องค์พระชะลูด ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภี ปลายสังฆาฏิตัดตรง

พระพุทธรูปหินทรายคู่พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

 

            พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่คู่กับพระพุทธบาทไม้มาช้านาน ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่าของวัดพระรูป เชื่อว่าคือพระพุทธรูปองค์ที่กล่าวถึงในจารึกบนแผ่นไม้คราวสร้างมณฑปริมน้ำใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ความว่า “ได้รับข่าวเล่ากันต่อ ๆ มาว่า ฝ่าพระพุทธบาทนี้ลอยน้ำมาแต่เหนือกับพระพุทธรูปหนึ่งองค์นี้ก่อนกรุงเก่า”

ภาพถ่ายเก่าในสมัยพระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระรูปตั้ง(พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๕๒๔) สังเกตเห็นพระพุทธรูปหินทรายคู่กับพระพุทธบาทไม้

 

โบราณสถานวัดเขาดิน 
             วัดเขาดิน ตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำท่าว้า ใน ต. สระแก้ว อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี ภายในวัดมีโบราณสถานเจดีย์ ฐานทักษิณก่ออิฐบนเนินดินอัดแน่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีลานทักษิณกว้าง พบร่องรอยเสา คาน และรอยกระเบื้องบนผนังเรือนธาตุ เรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่เดิมคงประดับพระพุทธรูปโดยรอบเรือนธาตุ ส่วนยอดเป็นมาลัยลูกแก้ว ๓ ชั้นรองรับองค์ระฆัง องค์ระฆังมีขนาดเล็ก นักวิชาการบางท่านจัดเจดีย์วัดเขาดินอยู่ในกลุ่มเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล เจดีย์วัดอโยธยา (เดิม) พระนครศรีอยุธยา[2] กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเจดีย์วัดเขาดิน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตามรูปแบบศิลปะสุพรรณภูมิ   
            นักวิชาการท้องถิ่นวิเคราะห์ว่า ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่พระองค์ท่านเสด็จไปสักการะสระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๔ ที่ลำน้ำท่าว้า และคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ยืนยันว่ามีคลองจากแม่น้ำท่าว้าไหลมาออกแม่น้ำสุพรรณบุรีได้ แต่ในปัจจุบันอาจมีบางตอนที่ตื้นเขินและมีถนนตัดผ่าน ไม่ได้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำเหมือนแต่ก่อน[3]
            พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กล่าวถึงในสาส์นสมเด็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ว่าเป็นพระบาทตะแคง การทำรูปบัลลังก์ไม่มีรูปพระพุทธเจ้านั้นน่าจะเป็นแบบคติดั้งเดิม และมีการออกแบบจัดมงคล ๑๐๘ ในวงกลม[4] หลังจากนั้นใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมืองสุพรรณ มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรพระพุทธบาทนี้ จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) นำพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมาถวายทอดพระเนตร ณ ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี พร้อมทั้งโปรดให้บันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน[5]
            การศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป นักวิชาการส่วนใหญ่มุ่งเน้นศึกษาทางด้านรูปแบบศิลปะเป็นสำคัญ อาทิ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปทำรูปบัลลังก์ที่ไม่มีพระพุทธรูปประดิษฐานคล้ายกับคติเก่า และลวดลายสลักที่เป็นลายดอกไม้ใบไม้เครือเถาซึ่งบางส่วนเหมือนกับลายสมัยอโยธยา-สุพรรณภูมิ จึงจัดเป็นฝีมือช่างสุพรรณภูมิหรืออู่ทองตอนปลาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นอย่างต่ำ[6] อาจารย์นันทนา ชุติวงศ์ วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีระบบการจัดวางรูปมงคล ๑๐๘ ในวงกลมกลางพระบาท ซึ่งเป็นระบบที่พบครั้งแรกสมัยสุโขทัยในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยมีระเบียบการเรียงรูปมงคล ๑๐๘ เหมือนกับพระพุทธบาทสำริดจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร และได้กำหนดว่าคงจะมีอายุหลังพระพุทธบาทศิลาจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สันนิษฐานว่าอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เล็กน้อย[7] อย่างไรก็ดี Virginia McKeen วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีเนื้อหาที่ผิดยุคสมัยอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม โดยกำหนดอายุจากรูปพระแม่ธรณีว่ามีลักษณะเหมือนกับจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรี จึงมีอายุอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[8]
            จากตัวอย่างการศึกษาที่ผ่านเห็นได้ว่ายังคงมีปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป ทั้งในประเด็นเรื่องแบบศิลปะและการกำหนดอายุ นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสนใจด้วยว่ามงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ และรูปพระพุทธประวัติบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีความหมายทางประติมานวิทยาอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ยังไม่ได้รับศึกษาจากนักวิชาการ

 

พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป: พระพุทธบาทสองด้านที่ประดิษฐานในลักษณะตะแคงแนวนอน
            พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป มีลักษณะเป็นภาพสลักบนแผ่นไม้เนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วิธีการสลักมีทั้งการถากเป็นรูปลายเส้น การสลักแบบนูนต่ำ และการสลักแบบนูนสูงเป็นรูปลอยตัว ขนาดประมาณกว้าง ๗๔ ซม. ยาว ๒๒๒ ซม. และหนา ๑๐ ซม. ด้านหนึ่งเป็นรูปพระพุทธบาทและมีรูปบุคคล ๔ รูปอยู่ด้านข้าง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ-ชนะมาร มีร่องรอยการลงรักปิดทองทั้งสองด้าน พระพุทธบาทนี้เป็นพระบาทเบื้องขวา แกะสลักรูปพระพุทธบาทให้มีลักษณะนูนออกมา พระพุทธบาทมีรูปทรงเป็นเรขาคณิตทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายด้านหนึ่งมน แสดงพระอังคุฐใหญ่กว่านิ้วอื่น มีเส้นรอบรูปและเส้นแบ่งแสดงนิ้วพระบาทเป็นเส้นตรงและวงโค้ง รูปทรงไม่เป็นธรรมชาติ มีการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ประการอยู่ในธรรมจักรที่มีขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาท พื้นพระบาทและนิ้วพระบาทสลักเป็นเส้นลายก้นหอย ด้านข้างของพระพุทธบาททำเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในมีรูปบุคคลสวมเครื่องทรง ถือพระขรรค์นั่งในท่ามหาราชลีลา กล่าวได้ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปสลักรูปบนแผ่นไม้ที่มีเจตนาให้เป็นแนวนอน และให้ตั้งตะแคงขึ้นเพื่อให้มองเห็นรูปได้ทั้งสองด้าน การทำพระพุทธบาทในลักษณะนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมโดยทั่วไปมากนัก พบตัวอย่างให้เห็นในศิลปะอยุธยา คือพระพุทธบาทศิลาพบที่อยุธยา ด้านหน้าเป็นรูปรอยพระพุทธบาท ด้านหลังเป็นรูปธรรมจักร[9] สำหรับการประดิษฐานพระพุทธบาทในลักษณะตะแคงนั้น มีตัวอย่างเหลือปรากฏให้เห็นเป็นรูปพระพุทธบาทอยู่ทั้งสองข้างของทางเข้าพระปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระพุทธบาทไม้วัดพระรูปประดิษฐานในลักษณะตะแคงแนวนอน

 

            รูปแบบของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปสลักให้มีลักษณะนูนเป็น “รูปพระพุทธบาท” อันแสดงถึงฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า เป็นสัญลักษณ์ที่เคยใช้แทนองค์พระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณยุคที่ยังไม่มีการทำพระพุทธรูป เช่นเดียวกับรูปธรรมจักร ต้นโพธิ์ และบัลลังก์ และยังใช้สืบเนื่องกันมาอีกระยะหนึ่งในสมัยที่มีการทำพระพุทธรูปแล้ว โดยนิยมสลักหินให้นูนขึ้นเป็นรูปพระพุทธบาทคู่มีธรรมจักรกลางฝ่าพระบาท รูปพระพุทธบาทนี้จัดเป็นปูชนียวัตถุแบบ “อุเทสิกะเจดีย์” คือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า หรือเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า[10] มีทั้งที่เป็นรูปทรงคล้ายรอยเท้ามนุษย์ตามธรรมชาติซึ่งมักพบในศิลปะแบบคันธาระ และรูปทรงเรขาคณิตทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายด้านหนึ่งมนซึ่งมักพบในศิลปะแบบอมราวดี[11] รูปแบบพระพุทธบาทและคติความเชื่อนี้ได้สืบทอดต่อมาในลังกา มีทั้งในลักษณะรูปพระพุทธบาทคู่และรูปพระพุทธบาทเดี่ยว รูปพระบาทคู่นั้นส่วนใหญ่ทำตามแบบและประเพณีที่รับมาจากศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คือทำเป็นรูปสลักนูนอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม และน่าจะมีเจตนาให้เป็นฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า[12] สำหรับในประเทศไทยมีความนิยมในการทำรูปพระพุทธบาทน้อยมาก โดยส่วนใหญ่นิยมทำในลักษณะเป็นรอยพระพุทธบาทที่แกะสลักเว้าลึกลงไป รูปพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดในไทยน่าจะได้แก่พระพุทธบาทที่วัดเขาดีสลัก จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวได้ว่าการสร้างพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปให้มีลักษณะเป็น “รูปพระพุทธบาท” อันเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่แทนพระพุทธเจ้า และเป็นรูปแบบศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในยุคสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงเจตนาในการสร้างสรรค์รูปแบบศิลปกรรมเพื่อความหมายพิเศษบางประการที่แตกต่างไปจากรอยพระพุทธบาทโดยทั่วไป

 

มงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
            คัมภีร์เกี่ยวกับมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาท ในชั้นพระสูตรพบว่า มหาปทานสูตร ในทีฑนิกาย สุตตันตปิฎก[13] ลักขณสูตร ในทีฑนิกาย สุตตันตปิฎก[14] และพรหมายุสูตร มัชฌิมนิกาย สุตตันตปิฎก[15]  มีการกล่าวถึงมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ ในพุทธลักษณะที่ ๒ ความมีลายกงจักรที่ฝ่าพระบาท คือมีลายกงจักร ๑,๐๐๐ ซี่ มีดุมของกงจักรปรากฏท่ามกลางพื้นพระบาท มีลวดลายวงกลมกำหนดด้วยดุม มีวงกลมล้อมหน้าดุม มีท่อน้ำ มีซี่ มีลวดลายวงกลมในซี่ มีกง และมีกงแก้วมณี โดยทั้ง ๓ พระสูตรนี้ไม่มีการกล่าวถึงมงคลรูปสัญลักษณ์บนฝ่าพระพุทธบาท อย่างไรก็ดี พระสูตรอื่น ๆ รวมถึงในคัมภีร์พุทธวงศ์ มีการกล่าวถึงมงคลรูปสัญลักษณ์ไว้ ๗ ประการ ได้แก่ รูปธงชัย (ธช), รูปธงผืนผ้า (ปตาก), รูปแส้จามร (วาลพีชนี), รูปฉัตร (ฉตฺต), แก้ววิเชียร (วชิร), ถ้วยใส่เครื่องสังเวย (วฑฺฒมาน) และขอช้าง (องฺกุส)[16] ต่อมาในสมัยอรรถกถาพบว่าคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาของมหาปทานสูตรในทีฑนิกาย[17] และคัมภีร์ปปัญจสูทนี อรรถถกถามัชฌิมนิกาย[18] ที่แต่งโดยพระพุทธโฆสาจารย์ กล่าวถึงมงคลรูปสัญลักษณ์บนฝ่าพระพุทธบาท ๓๙ ประการ อย่างไรก็ตามอรรถกถาเหล่านี้กล่าวถึงมงคลไม่ครบ ๑๐๘ ประการ
            คัมภีร์ที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทอย่างสมบูรณ์พบในคัมภีร์สมันตภัททิกะ ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ ที่แต่งโดยพระอุปติสสะ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ กล่าวถึงเครื่องหมายมงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระบาทของพระศรีอริยเมตไตรย์ที่เป็นพระอนาคตพุทธเจ้า สำหรับคัมภีร์ที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระบาทพระพุทธเจ้าพบในคัมภีร์ชินาลังการฎีกา ที่แต่งโดยพระพุทธรักขิตะ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗[19] คัมภีร์ทั้งสองมีลำดับมงคลบางรูปแตกต่างกันซึ่งอาจเกิดจากการจารผิดต่อ ๆ กันมาทำให้ข้อความคลาดเคลื่อนไปจากเดิม[20] นอกจากนี้ ยังได้พบในคัมภีร์ปัชชมธุ ที่แต่งโดยพระพุทธัปปิยะ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖[21] รวมถึงได้พบในคัมภีร์ที่แต่งขึ้นนอกอินเดียและลังกาในคัมภีร์ปาทวันทนา ที่แต่งโดยมหาอำมาตย์ศรีจตุรังคพล ในสมัยพระเจ้าสีหสูร (พ.ศ. ๑๘๙๔ - ๑๙๐๔) แห่งราชวงศ์ปินยะ ประเทศพม่า แต่งโดยอาศัยข้อความจากคัมภีร์อรรถกถาของอนาคตวงศ์และคัมภีร์ชินาลังการฎีกา[22] แต่ก็พบว่ามีลำดับมงคลบางรูปแตกต่างไปจากทั้งสองคัมภีร์ในปัจจุบัน[23] ซึ่งคัมภีร์ปาทวันทนานี้ได้แพร่มาถึงไทยในชื่อคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณ[24]
            สำหรับในลุ่มน้ำภาคกลางประเทศไทย คัมภีร์ที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทคงแพร่หลายมาแล้วอย่างน้อยในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยพบร่องรอยว่าคัมภีร์ชินาลังการฎีกาเป็นที่แพร่หลายอยู่ในสุโขทัยช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เห็นได้จากพญาลิไทใช้เป็นคัมภีร์อ้างอิงในการเรียบเรียงไตรภูมิพระร่วง[25] ที่วัดตระพังช้างเผือกนอกเมืองสุโขทัยได้พบหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ ๑๐๒[26] กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาท[27] จารึกระบุการสร้างตรงกับ พ.ศ. ๑๙๒๒[28] ซึ่งมีเนื้อความของฉันท์บทแรกคล้ายกันกับคัมภีร์พุทธบาทมงคล[29] และยังได้พบในคัมภีร์อรรถกถาพุทธบาทมงคล ที่น่าจะแต่งขึ้นในอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐[30] นอกจากนี้ ยังได้พบในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓[31] กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระบาทโดยเปรียบเทียบกับคุณลักษณะของพระพุทธเจ้า[32] คัมภีร์เกี่ยวกับมงคล ๑๐๘ แต่ละฉบับมีรายละเอียดในเรื่องของรายการมงคลและการจัดเรียงมงคลบางประการแตกต่างกัน คงเนื่องจากเป็นการจารต่อกันมาเป็นเวลาอันยาวนานจึงทำให้เกิดข้อความคลาดเคลื่อนไปจากเดิม คัมภีร์เหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างพระพุทธบาทที่ประกอบด้วยมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการ
            จากการประมวลทั้งในคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา ซึ่งเป็นคัมภีร์ชุดแรกที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ พบว่ามีรูปสัญลักษณ์ ดังนี้ ๑. สตฺติ (รูปหอก) ๒. สิริวจฺโฉ (รูปเรือนยอด) ๓. นนฺทิยาวัฎฺฏํ (รูปดอกพุดซ้อน) ๔. โสวตฺถิกํ (รูปสวัสติกะ) ๕. วฎํสกํ (รูปดอกไม้กรองบนศีรษะ) ๖. วฑฺฒมานํ (รูปถ้วยใส่เครื่องสังเวย) ๗. ภทฺทปีฐํ (รูปตั่งทอง) ๘. องฺกุโส (รูปขอช้าง) ๙. ปาสาโท (รูปปราสาท) ๑๐. โตรณํ (รูปเสาระเนียด) ๑๑. เสตจฺฉตฺตํ (รูปเศวตฉัตร) ๑๒. ขคฺคํ (รูปพระขรรค์) ๑๓. ตาลวณฺฏํ (รูปพัดใบตาล) ๑๔. โมรหตฺถํ (รูปพัดหางนกยูง) ๑๕. อุณฺหีสํ (รูปกรอบหน้า) ๑๖. ปตฺตํ (รูปบาตร) ๑๗. มณิ (รูปแก้วมณี) ๑๘. สุมนทามํ (รูปพวงดอกมะลิ) ๑๙. นีลุปฺปลํ (รูปดอกบัวขาบ) ๒๐. รตฺตุปฺปลํ (รูปดอกบัวแดง) ๒๑. เสตุปฺปลํ (รูปดอกบัวขาว) ๒๒. ปทุมํ (รูปดอกปทุม) ๒๓. ปุณฺฑรีกํ (รูปดอกปุณฑริก หรือดอกบัวเผื่อน, ดอกบัวขาว) ๒๔. ปุณณฆโฏ (รูปหม้อใส่น้ำเต็ม) ๒๕. ปุณฺณปาติ (รูปถ้วยใส่น้ำเต็ม) ๒๖. สมุทฺโท (รูปมหาสมุทร) ๒๗. จกฺกวาฬกํ (รูปภูเขาจักรวาล) ๒๘. หิมวา (ภูเขาหิมพานต์) ๒๙. สิเนรุ (รูปภูเขาพระสุเมรุ) ๓๐. สูริโย (รูปดวงอาทิตย์) ๓๑. จนฺทิมา (รูปดวงจันทร์) ๓๒. นกฺขตฺตํ (รูปดาวนักษัตร) ๓๓. - ๓๖. จตุโร มหาทีปา ปริตฺตทีปา (รูปทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ทวีปน้อย ๒,๐๐๐) ๓๗. สปริโส จกฺกวตฺติ (รูปพระเจ้าจักรพรรดิและบริวาร) ๓๘. ทกฺขิณาวตฺตเสตสงฺโข (รูปสังข์ขาวที่เวียนขวา) ๓๙. สุวณฺณมจฺฉยุคลํ (รูปปลาทองคู่) ๔๐. จกฺกํ (รูปกงจักร) ๔๑. - ๔๗. สตฺต มหาคงฺคา (รูปแม่น้ำใหญ่ ๗ สาย) ๔๘. - ๕๔. สตฺต มหาเสลา (รูปขุนเขา ๗ ลูกหรือเขาสัตตบริภัณฑ์) ๕๕. - ๖๑. สตฺต มหาสรา (รูปสระน้ำใหญ่ ๗ แห่ง) ๖๒. สุปณฺณราชา (รูปพญาครุฑ) ๖๓. สุสุมารโก (รูปจรเข้) ๖๔. ธโช (รูปธงชัย) ๖๕. ปฏากํ (รูปธงผืนผ้า) ๖๖. รตนปาฏงฺกี (รูปวอทอง) ๖๗. สุวณฺณวาลวีชนี (รูปแส้จามรทอง) ๖๘. เกลาสปพฺพโต (รูปภูเขาไกรลาส) ๖๙. สีหราชา (รูปพญาราชสีห์) ๗๐. พฺยคฺฆราชา (รูปพญาเสือโคร่ง) ๗๑. วลาหโก อสฺสราชา (รูปพญาม้าวลาหก) ๗๒. อุโปสถฉทฺทนฺตหตฺถิราชา (รูปพญาช้างอุโบสถและช้างฉัททันต์)[33] ๗๓. วาสุกี อุรคราชา (รูปพญานาควาสุกี) ๗๔. หํสราชา (รูปพญาหงส์) ๗๕. อุสภราชา (รูปพญาวัว) ๗๖. เอราวโณฺ นาคราชา (รูปพญาช้างเอราวัณ) ๗๗. สุวณฺณมกโร (รูปมังกรทอง) ๗๘. จตุมมุขา สุวณฺณนาวา (รูปเรือทองสี่หน้า) ๗๙. สวจฺฉกา คามี (รูปแม่โคนม) ๘๐. กินนโร (รูปกินนร) ๘๑. กินฺนรี (กินนรี) ๘๒. กรวีโก (รูปนกการเวก) ๘๓. มยูรราชา (รูปพญานกยูง) ๘๔. โกญฺจราชา (รูปพญานกกระเรียน) ๘๕. จกฺกวากราชา (รูปพญานกจากพราก) ๘๖. ชีวณฺชีวกราชา (รูปพญานกโพรดก) ๘๗. - ๙๒. ฉ กามาวจรเทวโลกา (รูปเทวโลก) ๙๓ - ๑๐๘. โสฬส พฺรหฺมาโลกาติ (รูปพรหมโลก ๑๖ ชั้น)[34] 

มงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระพุทธบาทไม้

 

            เมื่อวิเคราะห์ตีความมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป โดยอาศัยเนื้อหาที่ประมวลจากคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับข้างต้น พบว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีวิธีการจัดเรียงมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ในลักษณะวงกลม โดยเริ่มต้นที่รูปหอก (สตฺติ) ในวงกลมแถวในสุด[35] เวียนทักษิณาวรรต (เวียนตามเข็มนาฬิกา) จนครบรอบ แล้วจึงต่อด้วยรูปสัญลักษณ์ในวงกลมชั้นถัดออกมา จนกระทั่งถึงรูปพรหมโลก (โสฬสพฺรหฺมาโลกาติ) องค์สุดท้ายในวงกลมชั้นนอกสุด สามารถตีความมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปได้ดังนี้
๑. รูปหอก (สตฺติ)                                     ๓๑. ?                                                          ๖๑. รูปแส้ (สุวณฺณวาลวีชนี)
๒. รูปบุคคล (สิริวจฺโฉ)                              ๓๒. รูปบุคคล (สปริโส จกฺกวตฺติ)              ๖๒. รูปภูเขา (เกลาสปพฺพโต)
๓. รูปดอกไม้ (นนฺทิยาวัฎฺฏํ)                     ๓๓. ?                                                         ๖๓. รูปราชสีห์ (สีหราชา)
๔. รูปดอกไม้ ?                                         ๓๔. ?                                                          ๖๔. รูปพญาเสือโคร่ง (พฺยคฺฆราชา)
๕. รูปดอกไม้ (วฎํสกํ)                              ๓๕. รูปสังข์ (ทกฺขิณาวตฺตเสตสงฺโข)         ๖๕. รูปพญาเสือ
๖. รูปภาชนะมีฝาปิด (วฑฺฒมานํ)            ๓๖. ?                                                           ๖๖. รูปม้าวลาหก (วลาหโก อสฺสราชา)
๗. รูปแท่น (ภทฺทปีฐํ)                              ๓๗. ?                                                          ๖๗. รูปพญาช้างอุโบสถ (อุโปสถ)
๘. ?                                                          ๓๘. ?                                                          ๖๘. รูปพญาช้างฉัททันต์ (ฉทฺทนฺตหตฺถิราชา)
๙. รูปขอช้าง (องฺกุโส)                             ๓๙. ?                                                          ๖๙. รูปพญานาค (วาสุกี อุรคราชา)
๑๐. รูปซุ้มประตู (โตรณํ)                          ๔๐. ?                                                           ๗๐. รูปพญาหงส์ (หํสราชา)
๑๑. รูปเศวตฉัตร (เสตจฺฉตฺตํ)                  ๔๑. ?                                                           ๗๑. รูปพญาวัว (อุสภราชา)
๑๒. รูปพระขรรค์ (ขคฺโค)                        ๔๒. ?                                                           ๗๒. รูปพญาช้างเอราวัณ (เอราวโณฺ นาคราชา)
๑๓. รูปพัดใบตาล (ตาลวณฺฏํ)                 ๔๓. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา)               ๗๓. รูปมังกรทอง (สุวณฺณมกโร)
๑๔. รูปพวงดอกมะลิ ?                             ๔๔. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา)               ๗๔. ดอกไม้ ?
๑๕. รูปแก้วมณี ?                                      ๔๕. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา)              ๗๕. รูปพระพรหม (จตุมมุขา)
๑๖. รูปกำหางนกยูง ?                              ๔๖. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา)               ๗๖. รูปเรือทอง (สุวณฺณนาวา)
๑๗. รูปมงกุฎ (อุณฺหีสํ)                            ๔๗. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา)               ๗๗. รูปพระแท่น
๑๘. รูปดอกบัว (นีลุปฺปลํ)                        ๔๘. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา)               ๗๘. รูปพัดใบตาล
๑๙. รูปดอกบัว (รตฺตุปฺปลํ)                       ๔๙. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา)               ๗๙. รูปเต่า
๒๐. รูปดอกบัว (เสตุปฺปลํ)                       ๕๐. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา)                     ๘๐. รูปโคแม่ลูก (สวจฺฉกา คามี)
๒๑. รูปดอกไม้ (ปทุมํ)                             ๕๑. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา)                     ๘๑. กินนรและกินนรี (กินนโรและกินฺนรี)
๒๒. รูปดอกไม้ (ปุณฺฑรีกํ)                       ๕๒. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา)                     ๘๒. รูปนกการเวก (กรวีโก)
๒๓. รูปหม้อที่มีดอกไม้ (ปุณณฆโฏ)      ๕๓. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา)                     ๘๓. รูปพญานกยูง (มยูรราชา)
๒๔. ภาชนะที่มีดอกไม้ (ปุณฺณปาติ)       ๕๔. รูปภูเขา(สตฺต มหาเสลา)                      ๘๔.รูปพญานกกระเรียน (โกญฺจราชา)
๒๕. รูปดอกไม้ ?                                      ๕๕. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา)                    ๘๕. รูปพญานกจากพราก (จกฺกวากราชา)
๒๖. รูปดอกไม้ ?                                      ๕๖. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา)                     ๘๖. รูปพญานกโพรดก (ชีวณฺชีวกราชา)
๒๗. รูปภูเขา (หิมวา?)                             ๕๗. รูปพญาครุฑ (สุปณฺณราชา)                ๘๗. - ๙๒. รูปเทวดา ๖ (ฉ กามาวจรเทวโลกา)
๒๘. รูปภูเขามีเสาเดียว (สิเนรุ)               ๕๘. รูปจระเข้ (สุสุมารโก)                            ๙๓. - ๑๐๘. รูปพระพรหม ๑๖ (โสฬส พฺรหฺมาโลกาติ)
๒๙. รูปดวงอาทิตย์ (สูริโย)                     ๕๙. รูปธง (ธโช?)
๓๐. รูปดวงจันทร์ (จนฺทิมา)                     ๖๐. รตนปาฏงฺกี (รูปวอทอง)

การจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ของพระพุทธบาทไม้

 

            จากการตีความมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปเท่าที่สามารถศึกษาตีความได้พบว่า แม้มงคลรูปสัญลักษณ์ส่วนใหญ่ตรงกับมงคลที่ประมวลมาจากคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับข้างต้น แต่ก็มีที่แตกต่างกันหลายประการทั้งในเรื่องรายการมงคลและการจัดเรียงลำดับมงคล โดยพบว่ารูปมงคลที่ปรากฏเพิ่มจากคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับคือ รูปพญาเสือ (อยู่ต่อจากรูปพญาเสือโคร่ง) รูปพรหมสี่หน้า (อยู่ก่อนหน้ารูปเรือทอง) รูปพระแท่นบัลลังก์ (อยู่ต่อจากรูปเรือทอง) รูปพัดใบตาล (อยู่ต่อจากรูปพระแท่น) และรูปเต่า (อยู่ต่อจากรูปพัดใบตาล) อนึ่งแม้ไม่สามารถตีความมงคลได้ทั้งหมด แต่สันนิษฐานได้ว่ามีการตัดรูปมงคลบางประการออกไปจากที่มีในคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับด้วย อาจกล่าวได้ว่าการทำมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีความคลาดเคลื่อนไปจากคัมภีร์สำคัญที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ ทั้งคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา
            อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาเปรียบเทียบมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปกับคัมภีร์อื่น พบว่ามีความใกล้เคียงกับคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓[36] อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องรูปมงคลที่เพิ่มเข้ามาคือ รูปพญาเสือ (ต่อจากรูปพญาเสือโคร่ง) รูปพรหมสี่หน้า (อยู่ก่อนหน้ารูปเรือทอง) รวมถึงรูปพระแท่นบัลลังก์ รูปพัดใบตาล และรูปเต่าที่ทำต่อเนื่องกัน ซึ่งรูปมงคลเหล่านี้ไม่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา ดังนั้นจึงตั้งเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณมากกว่าคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าว และสันนิษฐานว่าคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณน่าจะเป็นที่รู้จักมาแล้วอย่างน้อยในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตามข้อสันนิษฐานกำหนดอายุพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป ดังปรากฏร่องรอยคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ที่คงจะเป็นการจารสืบต่อกันมาจากคัมภีร์ในอดีต
            อนึ่ง ในการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาท พบว่ามีทั้งการสร้างเป็นรูปเหมือนจริงและรูปสัญลักษณ์ ตามรายชื่อมงคลที่ภาษาบาลีซึ่งกล่าวอย่างรวม ๆ อยู่ในคัมภีร์โดยไม่ได้แยกกล่าวเป็นรายการ ในการทำรูปมงคลจึงขึ้นอยู่กับการตีความชื่อมงคลของช่างผู้สร้าง รวมถึงยังต้องคำนึงถึงระเบียบจารีตงานศิลปกรรมที่ทำสืบต่อกันมาด้วย ดังนั้นจึงยังไม่อาจกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป จะเกิดจากการรับแรงบันดาลใจมาจากคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณโดยตรง เนื่องจากยังขาดหลักฐานคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ให้ศึกษาเปรียบเทียบ หรือจะเกิดจากการรับแรงบันดาลใจทางอ้อมผ่านระเบียบจารีตของงานศิลปกรรมที่สืบทอดต่อกันมา หรืออาจจะเกิดจากการผสมผสานระหว่างอิทธิพลแรงบันดาลใจจากคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณกับระเบียบจารีตงานของศิลปกรรมที่สืบทอดต่อกันมาก็เป็นได้

 

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
            เป็นที่น่าสังเกตว่ามงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป ปรากฏรูปพรหมสี่หน้า (อยู่ก่อนรูปเรือทอง) ซึ่งไม่ปรากฏในคัมภีร์หลักอย่างคัมภีร์ชินาลังการฎีกาและคัมภีร์ปาทวันทนา สันนิษฐานว่าเกิดจากการตีความมงคล “จตุมุขา สุวณฺณนาวา” (เรือทองสี่หน้า) ที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาหรือคัมภีร์ปาทวันทนา ออกเป็น ๒ มงคลคือ “จตุมฺมขา” ที่แปลว่าพรหมสี่หน้าหรือลูกศรที่มีปลายสี่แฉก และ “สุวณฺณนาวา” ที่แปลว่าเรือทอง การตีความในลักษณะนี้น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฏในจารึกหลักที่ ๑๐๒[37] และอาจจะสืบต่อมาในสมัยอยุธยาดังปรากฏในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการตีความชื่อมงคลที่แตกต่างออกไปจากคัมภีร์ดั้งเดิม อันเนื่องมาจากรายชื่อมงคลเป็นภาษาบาลีและถูกกล่าวถึงอย่างรวม ๆ โดยไม่ได้แยกกล่าวเป็นรายการ ย่อมส่งผลต่อการสร้างสรรค์รูปมงคลที่แตกต่างออกไปตามการตีความนั้นด้วย นอกจากนี้ในการตีความยังได้พบการทำมงคลรูปเต่า ซึ่งไม่ตรงกับเนื้อหาทั้งในคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา รวมถึงไม่พบในจารึกหลักที่ ๑๐๒ แต่ได้พบในคัมภีรพุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ดังได้กล่าวไปแล้ว การทำมงคลรูปเต่ายังปรากฏในพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร พระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยปรากฏคู่กับรูปปลา รวมถึงพระพุทธบาทไม้ประดับมุกจากวัดพระสิงห์[38] จังหวัดเชียงใหม่

มงคล “จตุมฺมขา” (พรหมสี่หน้าหรือลูกศรที่มีปลายสี่แฉก) และมงคล “สุวณฺณนาวา” (เรือทอง) พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

 

            เป็นที่น่าสนใจว่าในมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป พบการทำรูปมงคลรูปช้าง ๒ ตำแหน่งติดกัน (รูปมงคลเลขที่ ๖๗ และ ๖๘) Virginia McKeen[39] วิเคราะห์ว่า แม้คัมภีร์สมันตภัททิกะซึ่งอธิบายมงคลบนพระพุทธบาทพระศรีอริยเมตไตรย์พุทธเจ้า กับคัมภีร์ชินาลังการฎีกาซึ่งอธิบายมงคลบนพระพุทธบาทพระโคตมะพุทธเจ้าจะอธิบายมงคล ๑๐๘ คล้ายกันมาก แต่คัมภีร์ทั้งสองเล่มก็มีความแตกต่างกันในมงคลรูปช้าง โดยคัมภีร์สมันตภัททิกะระบุว่าเป็น “อุโบสถวรรณราชา” คือพญาช้างอุโบสถ แต่ในคัมภีร์ชินาลังการฎีการะบุว่าเป็น “อุโบสถฉันททันตะ - หัตถิราชา” คือพญาช้างอุโบสถและพญาช้างฉัททันต์ และยังได้พบการกล่าวถึงพญาช้างทั้ง ๒ ในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ซึ่งในประเด็นนี้พระคันธสาราภิวงศ์วิเคราะห์ว่าที่ถูกต้องควรจะมีรูปช้างอุโบสถเท่านั้น อันหมายถึงช้างตระกูลอุโบสถที่เป็นช้างคู่บารมีของพระเจ้าจักรพรรดิ[40] สันนิษฐานว่าการเพิ่มรูปพญาช้างฉัททันต์[41]เข้าไปคงจะเพื่อให้มีความหมายถึงนิบาตชาดกเรื่องฉัททันตชาดกด้วย อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มพระพุทธบาทที่มีการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักร ยังได้พบการทำมงคลรูปพญาช้างทั้ง ๒ ในรอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พระพุทธบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร และพระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งควรจะหมายถึงอุโบสถฉันททันตะ - หัตถิราชาตามคัมภีร์ และเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าคือพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตม

มงคล “อุโปสถ” (พญาช้างอุโบสถ) และมงคล “ฉทฺทนฺตหตฺถิราชา” (พญาช้างฉัททันต์) พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

 

            รูปมงคลที่สังเกตเห็นได้ไม่ยากในพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปคือรูปพรหม ๑๖ ชั้น[42] (โสฬส พฺรหฺมาโลกาติ) เป็นรูปบุคคลนั่งในท่ามหาราชลีลาบ้างนั่งขัดสมาธิราบบ้าง มีสองพระหัตถ์ส่วนใหญ่อยู่ในท่าประนมมือและมีเพียงสององค์สุดท้ายที่ทำท่ายกพระหัตถ์ข้างหนึ่งขึ้น จุดสำคัญคือมีการทำพระพักตร์อยู่ข้างเศียรทำให้ทราบได้ว่ามี ๔ พักตร์อันหมายถึงพรหม ซึ่งแตกต่างจากรูปเทวดาที่มีพระพักตร์เดียวอย่างชัดเจน ในกลุ่มพระพุทธบาทที่มีการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักร ยังได้พบการทำรูปพรหมสี่พักตร์ในพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร และพระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทำพระพักตร์ด้านข้างขนาดเล็กจึงไม่เด่นชัด แตกต่างไปจากรูปพรหมในพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปที่ทำพระพักตร์ด้านข้างขนาดใหญ่ซึ่งแสดงถึงพรหม ๔ พักตร์อย่างชัดเจน นับเป็นตัวอย่างการทำรูปพรหม ๔ พักตร์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑[43]

มงคล “โสฬส พฺรหฺมาโลกาติ” (พระพรหม ๑๖ ชั้น) พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

 

            นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตบางประการว่ามีการทำรูปมงคลกินนรกับรูปมงคลกินนรีรวมเป็นรูปสัญลักษณ์เดียวกัน อันเป็นรูปแบบที่ไม่ปรากฏมาก่อน ซึ่งโดยทั่วไปนิยมทำรูปมงคลทั้งสองแยกกันคนละช่อง รูปสัญลักษณ์ลักษณะพิเศษดังกล่าวคงได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นบนเงื่อนไขเพื่อให้เกิดช่องว่างเพิ่มสำหรับใส่รูปมงคลอื่น โดยพยายามรักษาความหมายของกินนรและกินนรีไว้ แสดงให้เห็นว่าการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทย่อมมีการยักย้ายปรับเปลี่ยนได้เสมอบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของช่างผู้สร้าง ทำให้เกิดมงคลรูปสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบ มงคลรูปสัญลักษณ์กินนร - กินนรีนี้นับเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป

มงคล “กินนโรและกินฺนรี” (กินนรและกินนรี) พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

 

การจัดเรียงมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการในวงธรรมจักรของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
            ในลุ่มแม่น้ำภาคกลางของไทยพบความนิยมในการทำมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙[44] พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาท ประกอบด้วยวงกลมจำนวน ๔ ชั้น วงกลมในสุดเป็นรูปดอกบัวบาน วงที่สองจัดเรียงรูปมงคลเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ วงที่สามจัดเรียงรูปมงคลเทือกเขาทั้ง ๗ มหาสมุทรทั้ง ๗ สระน้ำใหญ่ทั้ง ๗ พระอาทิตย์ พระจันทร์ สัตว์หิมพานต์ ป่าหิมพานต์ และวงที่สี่ซึ่งเป็นวงนอกสุดจัดเรียงรูปมงคลสัตว์หิมพานต์ เทวดา ๖ ชั้นที่ส่วนประกอบเทวโลก และพรหม ๑๖ ชั้นซึ่งเป็นส่วนประกอบของพรหมโลก อาจารย์นันทนา ชุติวงศ์ วิเคราะห์ว่าระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘[45] ประการอยู่ในวงธรรมจักรเป็นระเบียบที่ทำในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ โดยปรากฏขึ้นที่สุโขทัยในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ พบครั้งแรกที่รอยพระยุคลบาทศิลา (พระพุทธบาทคู่) ที่วัดบวรนิเวศวิหาร[46] กรุงเทพฯ มีจารึกบอกการสร้างใน พ.ศ. ๑๙๗๐[47] เป็นรูปจำลองรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏในลังกา มีการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ประการโดยมีพรหมโลกและเทวโลกซึ่งเป็นภูมิสูงสุดอยู่รอบจุดศูนย์กลาง มีรูปเครื่องสูงและสมบัติจักรพรรดิ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของมนุษย์โลกอยู่รอบนอก[48] พระพุทธบาทรูปแบบนี้ได้พบตัวอย่างในบริเวณลุ่มแม่น้ำภาคกลางของไทยได้แก่ พระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระพุทธบาทหรือแผ่นครอบพระบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร[49]

รอยพระยุคลบาทศิลา วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

 

            พระพุทธบาทศิลาจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธบาทเบื้องขวา มีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ประการในวงธรรมจักร แบ่งเป็น ๔ ชั้น วงกลมในสุดเป็นรูปธรรมจักร วงที่สองประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลก วงที่สามเป็นรูปป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ ภูเขา แม่น้ำ และวงที่สี่ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดเป็นรูปเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ และเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ พื้นพระบาทและนิ้วพระบาทสลักเป็นเส้นลายก้นหอยทักษิณาวัฏ อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) เนื่องจากเชื่อว่ารอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้นเดิมประดิษฐานอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ประกอบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเจริญพระชันษาที่เมืองพิษณุโลก เมื่อพระองค์ทรงครองราชย์แล้วได้เสด็จออกผนวชที่วัดจุฬามณีเมืองพิษณุโลก และยังเสด็จไปประทับเมืองพิษณุโลกเป็นระยะเวลายาวนาน อนึ่ง วัดพระรามยังเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงบูรณปฏิสังขรณ์อีกด้วย โดยน่าจะมีอายุใกล้กับรอยพระยุคลบาลที่วัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องจากมีรูปแบบการจัดวางรูปมงคล ๑๐๘ คล้ายกัน ในการวางรูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลกไว้ด้านในใกล้กับธรรมจักร และวางรูปมงคลเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ และเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ไว้ด้านนอกสุด กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑[50] นอกจากนี้ ในเมืองอยุธยายังได้พบหลักฐานชิ้นส่วนพระพุทธบาทศิลา เก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม[51] ชิ้นส่วนพระพุทธบาทนี้แสดงให้เห็นถึงระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในธรรมจักรที่มีขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาท แบ่งเป็น ๔ ชั้น วงกลมในสุดเป็นรูปดอกบัว วงที่สองประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์พรหมโลก วงที่สามเป็นรูปป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ ภูเขา แม่น้ำ และวงที่สี่ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดเป็นรูปเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ ชิ้นส่วนพระพุทธบาทนี้มีรูปแบบศิลปะคล้ายกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม จัดอยู่ในศิลปะแบบอยุธยา สันนิษฐานกำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เช่นเดียวกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม

มงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทศิลาจากวัดพระราม จ.พระนครศรีอยุธยา

 

            พระพุทธบาทสำริดจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระพุทธบาทเบื้องขวา ส่วนส้นพระบาทชำรุดสูญหาย มีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักร แบ่งเป็น ๕ ชั้น วงกลมในสุดประกอบด้วยรูปธรรมจักร มีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกลุ่มดาวฤกษ์ ๒๗ กลุ่ม วงที่สองเป็นรูปแนวเทือกเขาสัตตบริภัณฑ์และมหาสมุทร ๗ ชั้น[52] และแนวโคจรของพระอาทิตย์กับพระจันทร์ วงที่สามเป็นรูปป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ วงที่สี่เป็นรูปเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ และวงที่ห้าซึ่งเป็นชั้นนอกสุดประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์ของเทวโลกและพรหมโลก พระพุทธบาทนี้สร้างให้อยู่ในแนวนอน รอบพระพุทธบาทมีรูปแถวพระอดีตพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก เหล่าเทวดา และจารึกอักษรขอมสุโขทัย ภาษาไทย นักวิชาการกำหนดอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ใกล้เคียงกับรอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร[53] อย่างไรก็ดี อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วิเคราะห์ว่า ควรจะมีอายุหลังกว่ารอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร และพระพุทธบาทจากวัดพระราม เนื่องจากมีการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ แตกต่างกัน โดยให้รูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลกไว้ด้านนอกสุดของวงธรรมจักร จึงกำหนดอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑[54] 

มงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทสำริดจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร

 

            กล่าวได้ว่าการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่เต็มฝ่าพระพุทธบาทเป็นการจัดเรียงมงคลในระบบใหม่ ที่น่าจะเกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำภาคกลางของไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ สันนิษฐานว่าอาจเพื่อต้องการจัดวางรูปมงคล ๑๐๘ ที่เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลหรือโลก[55] ให้อยู่ในรูปแบบของชั้นภพภูมิที่มีสัณฐานเป็นแนววงกลมตามคติความเชื่อที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉากทัศน์ของโลกสัณฐานตามคัมภีร์โลกศาสตร์ที่คงแพร่หลายอยู่ในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์ชินาลังการฎีกาที่มีเนื้อหากล่าวถึงทั้งเรื่องโลกสัณฐานที่เป็นแนววงกลมและมงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระพุทธบาท[56]
            เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป กับตัวอย่างพระพุทธบาทในกลุ่มที่มีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในธรรมจักรข้างต้น อาจารย์นันทนา ชุติวงศ์ วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีระเบียบการเรียงรูปมงคล ๑๐๘ เหมือนกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ คือเรียงรูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลกไว้รอบนอกสุดของวงธรรมจักร เป็นรอยพระพุทธบาทในแนวนอนเช่นเดียวกัน และมีรูปท้าวจตุโลกบาลประทับรักษาพระพุทธบาทอยู่ทั้งขวาและซ้าย พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปคงจะมีอายุหลังพระพุทธบาทจากวัดพระรามเล็กน้อย[57] อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าการที่พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป (รวมถึงพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ) วางรูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลกไว้รอบนอกสุดของวงธรรมจักรนั้นนับเป็นพัฒนาการที่ก้าวออกไปอีกขั้นหนึ่ง จึงกำหนดอายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑[58] 
            อย่างไรก็ดี จากการศึกษาได้พบว่าแม้พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปจะมีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ คล้ายกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ แต่จะเห็นได้ว่าพระพุทธบาทจากวัดเสด็จมีการแสดงระบบจักรวาลในเชิงรูปเล่าเรื่อง แสดงวงโคจรของพระอาทิตย์พระจันทร์ แนวเทือกเขาสัตตบริภัณฑ์และมหาสมุทร ติดกันซึ่งคงจะเป็นเชิงเขาเป็นรูปสัญลักษณ์ของป่าหิมพานต์และสัตว์หิมพานต์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นความแตกต่างไปจากระเบียบของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปค่อนข้างชัดเจน และมีความแตกต่างไปจากพระพุทธบาทในกลุ่มนี้ รวมถึงรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทจากวัดเสด็จก็มีรูปแบบแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น รูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลก เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าแม้พระพุทธบาททั้งสององค์นี้อาจจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในบางประการ แต่ก็มีรูปแบบศิลปะแตกต่างกันคนละสกุลช่างกัน อย่างไรก็ดี พบว่าโดยภาพรวมแล้วพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีรูปแบบศิลปะใกล้เคียงกับพระพุทธบาทจากวัดพระรามอยู่หลายประการคือ มีการแบ่งวงธรรมจักรออกเป็น ๔ ชั้นด้วยการทำกรอบวงกลมซ้อนกัน ๒ เส้น การทำรูปมงคลที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันหลายประการ อาทิ รูปพรหมโลก รูปเทวโลก รูปภูเขา รูปพระอาทิตย์ รูปพระจันทร์ เป็นต้น รวมถึงยังมีการทำลายเส้นวงโค้งเต็มพื้นพระบาทและนิ้วพระบาท ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปน่าจะได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบศิลปะมาจากพระพุทธบาทจากวัดพระราม ประกอบกับเนื่องจากมีการจัดเรียงรูปพรหมโลกและเทวโลกไว้ด้านนอกซึ่งแสดงถึงการคลี่คลายไปจากรูปแบบเก่า[59] จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยมีอายุหลังกว่าพระพุทธบาทจากวัดพระรามที่กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เล็กน้อย และน่าจะร่วมสมัยกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ
            นอกจากประเด็นเรื่องรูปพระพุทธบาทแล้ว ด้านข้างของรูปพระพุทธบาทปรากฏรูปบุคคลในกรอบรูปสี่เหลี่ยม แสดงการประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาพระหัตถ์หนึ่งถือพระขรรค์ สันนิษฐานว่าคือจตุโลกบาลหรือจาตุมหาราช[60] คัมภีร์พุทธศาสนาหลายเล่มกล่าวว่าจตุโลกบาลมี ๔ องค์ แต่ละองค์เป็นหัวหน้าหรือผู้ดูแลปกครองเขตสวรรค์ในแต่ละทิศของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาผู้เป็นโลกบาลประจำแต่ละทิศ เนื่องจากพระองค์มีหน้าที่คอยป้องกันอันตรายให้กับมนุษย์โลกจึงมักลงมายังโลกมนุษย์บ่อยครั้ง ได้แก่ ท้าวธตรฐ (ธตรัฏฐะ) ปกครองทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ เป็นใหญ่ในหมู่คนธรรพ์และเทวดาในทิศนี้ ท้าววิรุฬหก ปกครองทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ ผีเสื้อ อสูร และกุมภัณฑ์ทั้งหมดในทิศนี้ ท้าววิรูปักษ์ ปกครองทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ เป็นใหญ่ในหมู่เทวดานาคในทิศนี้ และ ท้าวเวสสุวัณ (ท้าวไพศรพณ์) ปกครองทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์และเทวดาทั้งหมดในทิศนี้ จตุโลกบาลมีบทบาทสำคัญอยู่ในพุทธประวัติ โดยเป็นผู้ใช้หนังเสือรองรับเจ้าชายสิทธัตถะตอนประสูติ เป็นผู้ทำหน้าที่รองรับเท้าม้ากัณฐกะตอนเสด็จออกบวช เป็นผู้ถวายบาตรให้แก่พระพุทธเจ้าภายหลังการตรัสรู้[61] อาจกล่าวได้ว่าการทำรูปจตุโลกบาลกำลังถือพระขรรค์อยู่ข้างพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป น่าจะมีความหมายว่าพระพุทธบาทนี้มีท้าวจตุโลกบาลปกปักรักษาอยู่ตลอดไป รูปจตุโลกบาลถือพระขรรค์ที่พระพุทธบาทไม้วัดพระรูปนี้มีรูปแบบศิลปะที่เทียบเคียงได้กับประติมากรรมทองคำรูปเทวดาที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดอายุอยู่ในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ การทำรูปจตุโลกบาลถือพระขรรค์ประกอบพระพุทธบาทยังได้พบอีกที่พระพุทธบาทจากวัดเสด็จ เป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์ ๒ องค์ในกรอบสี่เหลี่ยม มีจารึกว่า “ธัฏฐรัฏฐราช” และ “วิรุณหกราช”[62] ซึ่งเป็นจตุโลกบาลปกครองประจำทิศตะวันออกและทิศใต้

เทวดาจตุโลกบาลกำลังถือพระขรรค์ ข้างพระพุทธบาทไม้ วัดพระรูป

 

รูปพุทธประวัติตอนตรัสรู้บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
            ประเด็นที่น่าสนใจของพระพุทธบาทที่วัดพระรูปยังปรากฏอยู่ที่รูปสลักด้านหลังของพระพุทธบาท เป็นรูปพระพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ - ชนะมาร แนวกลางเป็นรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือพระแท่นวัชรอาสน์ เบื้องล่างเป็นรูปยักษ์ ๕ ตนกำลังแบกพระแท่นที่ประทับอยู่ ข้างพระแท่นที่ประทับมีรูปพระแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม ด้านขวาของพระแท่นที่ประทับเป็นรูปพญามารถืออาวุธขี่ช้างและกองทัพเหล่ามารถืออาวุธกำลังจะเข้าโจมตี ส่วนด้านซ้ายของพระแท่นที่ประทับเป็นรูปพญามารและกองทัพเหล่ามารกำลังประนมมือ รูปแบบศิลปะของรูปพุทธประวัติมีความใกล้เคียงกับรูปพระพุทธบาทที่อยู่อีกด้านหนึ่งของแผ่นไม้ แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการสร้างสรรค์รูปทั้งสองพร้อมกันตั้งแต่แรกสร้าง สันนิษฐานว่าการเลือกทำรูปพุทธประวัติคงเนื่องจากเป็นเรื่องที่นิยมแพร่หลายในช่วงเวลานั้น[63] และการเลือกทำรูปพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ - ชนะมารคงเนื่องจากเห็นว่าเป็นตอนที่สำคัญที่สุดในพุทธประวัติที่แสดงให้เห็นว่าพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแสดงความเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลก “โลกาวิทู” ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับความหมายของพระพุทธบาทที่อยู่อีกด้านหนึ่ง

ภาพสลักพระพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

 

            การใช้สัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า[64]ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนักในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การทำรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือพระแท่นวัชรอาสน์แทนการทำรูปพระพุทธเจ้าที่พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป สันนิษฐานว่าอาจจะเนื่องจากพื้นที่มีน้อยจึงไม่เอื้อต่อการทำรูปพระพุทธเจ้าในรูปมนุษย์ได้[65] และอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ วิเคราะห์ว่าคงเนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะทำรูปพระพุทธรูปไว้ด้านหลังของฝ่าพระบาทซึ่งเป็นส่วนเท้าของเบื้องต่ำ[66] ดังนั้นจึงเลือกใช้ระบบสัญลักษณ์แทนความหมายถึงพระพุทธเจ้า โดยทำเป็นรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือแท่นวัชรอาสน์ ซึ่งทำให้รูปแบบศิลปะของพระพุทธบาทนี้อยู่ในลักษณะระบบสัญลักษณ์ทั้งสองด้าน

ภาพพระแท่นวัชรอาสน์ บนพระพุทธบาทไม้ วัดพระรูป

 

            อาจารย์ J. Boisselier วิเคราะห์ว่าการทำภาพพญาวัสสวดีมารเป็นรูปยักษ์ที่พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป ที่มีอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยอยุธยาตอนต้นปรากฏการทำภาพประติมานวิทยาพญาวัสสวดีมารเป็นรูปยักษ์แล้ว[67] ทั้งที่ในคัมภีร์พุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีเป็นหลักไม่เคยระบุลักษณะหน้าตาของพญาวัสสวดีมาร การทำรูปพญามารเป็นยักษ์จึงน่าจะเกิดจากการตีความของกลุ่มคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อาจจะมีความสัมพันธ์ทางประติมานวิทยากับศิลปะในเขตทะเลสาบเขมรตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เนื่องจากปรากฏหลักฐานภาพสลักพญามารเป็นรูปยักษ์ที่มาผจญพระพุทธเจ้าบนผนังโคปุระชั้นนอกด้านทิศตะวันออกของปราสาทตาพรหม ในเขตเมืองพระนคร[68] 
            เป็นที่น่าสนใจว่าการทำรูปกองทัพมารและพระแม่ธรณีบีบมวยผมประดับฐานพระพุทธรูปในประเทศไทย พบหลักฐานมาอย่างน้อยในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เช่น แท่นสำริดรองรับพระพุทธรูปที่เป็นรูปพระแม่ธรณีกำลังจับปลายผมพบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ศิลปะเขมรอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘[69] และได้พบหลักฐานสืบต่อเนื่องมาในศิลปะสมัยอยุธยา เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัยเหนือกองทัพมารพบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑[70] รูปแบบการประดับรูปกองทัพมารและพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่ฐานของพระพุทธรูปในศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับศิลปะเขมรที่มีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการแต่งกายและท่าทางของรูปพลมาร ศิลปะเขมรซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของศิลปกรรมที่เมืองอยุธยาตั้งแต่แรกสร้างจึงยังเหลือสืบเนื่องมาในลักษณะบางประการที่ผสมผสานอยู่ในศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒[71] ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการทำรูปกองทัพมารและพระแม่ธรณีเล่าเรื่องพระพุทธประวัติตอนมารผจญ - ชนะมารบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปจึงน่าจะเป็นตัวอย่างของศิลปะอยุธยาในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยเช่นกัน
            อนึ่ง การทำรูปยักษ์แบกในท่านั่งชันเข่า ซึ่งมีรูปร่างล่ำสันแต่งกายโดยมีกรองศอเป็นแผงและมีเส้นเชือกคาดไขว้ที่หน้าอกแสดงให้เห็นถึงรูปแบบเครื่องแต่งกายในยุคต้น มีตัวอย่างปรากฏที่ประติมากรรมปูนปั้นแถวพลแบกมีเชือกคาดอกประดับอยู่ที่ผนังกระเปาะของฐานไพทีด้านใต้ของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ส่วนหัวหักหายเข้าใจว่าเป็นยักษ์ เป็นศิลปะสมัยอยุธยายุคต้น กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐[72] การทำประติมากรรมรูปยักษ์แบกฐานเจดีย์นี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อเรื่องการค้ำชูพุทธศาสนา[73] ซึ่งพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือพระแท่นวัชรอาสน์ก็ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายถึงพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับเจดีย์ จึงสร้างสรรค์เป็นรูปยักษ์แบกพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปด้วยรูปแบบและคติความเชื่อเดียวกัน

ภาพยักษ์แบกในท่านั่งชันเข่าแบกพระแท่นวัชรอาสน์ บนพระพุทธบาทไม้ วัดพระรูป

 

            นักวิชาการต่างประเทศ Virginia McKeen วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีเนื้อหาผิดยุคสมัยอย่างชัดเจนคล้ายกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม[74] แม้รูปบุคคลคือท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ แต่งกายด้วยผ้าพันคอและต่างหูคล้ายรูปกษัตริย์ที่นครวัด และรูปพญามารกับเหล่ามารแต่งกายสวมชุดนักรบและมงกุฎแบบนครวัด ซึ่งมีอายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แต่มีรูปพระแม่ธรณีที่มีลักษณะเหมือนกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ดังนั้นพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปจึงมีอายุอยู่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[75] อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่าแม้รูปพระแม่ธรณีทั้งสองแห่งดังกล่าวจะมีลักษณะท่าทางการยืนบีบมวยผมคล้ายคลึงกัน แต่ก็พบว่ารูปแบบเครื่องแต่งกายของรูปพระแม่ธรณีทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกันมากอย่างมีนัยยะสำคัญจึงควรกำหนดอายุอยู่คนละยุคสมัยกัน

 

ความหมายทางประติมานวิทยาของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
            มงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทที่วัดพระรูปนั้นมีความหมายถึงการแสดงออกถึงความมีสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าและพระบารมีอันคุ้มครองและให้สิริมงคลต่อผู้ที่ได้ยึดถือพระองค์เป็นที่พึ่ง[76] โดยการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่กลางฝ่าพระบาทที่สอดคล้องกับฉากทัศน์จักรวาลหรือโลกสัณฐานที่อยู่ในแนววงกลมตามแนวคิดในคัมภีร์โลกศาสตร์ได้ช่วยทำให้ความหมายดังกล่าวมีความเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น โดยวงในสุดที่เป็นรูปดอกบัวบานซึ่งน่าจะเป็นสัญลักษณ์อันหมายถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถัดออกมาในวงที่สองประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์ของโชคลาภ ความเจริญ ความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ รูปดอกพุดซ้อน รูปสวัสติกะ รูปหม้อที่มีดอกไม้ รูปภาชนะที่มีดอกไม้ รูปดอกบัว เป็นรูปสัญลักษณ์ของเครื่องประกอบบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิอันแสดงถึงยศศักดิ์ อำนาจ และความสูงส่ง ได้แก่ รูปดอกไม้ รูปพระแท่น รูปขอช้าง รูปพระขรรค์ รูปเศวตฉัตร และรูปสัญลักษณ์ของความดีความมีสิริมงคล ได้แก่ รูปพัดใบตาล ในวงที่สามและวงที่สี่ประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์ในกลุ่มภพภูมิในจักรวาล ได้แก่ มหาสมุทร เขาจักรวาล เขาหิมพานต์ เขาพระสุเมรุ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ทวีปใหญ่ทวีปน้อย สัตว์หิมพานต์ เทวโลก ๖ ชั้น และพรหมโลก ๑๖ ชั้น[77] กล่าวได้ว่ามงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของสุคติภูมิในจักรวาล ที่เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ดีมีสิริมงคลในแดนมนุษย์ เรื่อยไปจนถึงเทวโลก ๖ ชั้นและพรหมโลก ๑๖ ชั้นอันเป็นที่พำนักของผู้มีบุญญาธิการทั้งหลาย ซึ่งเมื่อนับรวมมงคลทั้ง ๑๐๘ นี้แสดงถึงความมีสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือกว่าโลกทั้งสาม คือ สัตว์โลก (โลกคือเหล่าสัตว์) สังขารโลก (โลกคือสังขาร) และโอกาสโลก (โลกคือที่อยู่ของเหล่าสัตว์) ด้วยบุญบารมีที่ทรงบำเพ็ญไว้นับไม่ถ้วน มงคล ๑๐๘ เหล่านี้ปรากฏเฉพาะบนฝ่าพระบาทเท่านั้นจึงแสดงถึงความเป็นใหญ่ เปรียบดั่งเหยียบโลกทั้งสามไว้ใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์[78] 

 

สรุป 
            พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีเจตนาให้เป็นแนวนอน ประดิษฐานในลักษณะตั้งตะแคงเพื่อให้มองเห็นรูปได้ทั้งสองด้านซึ่งนับเป็นรูปแบบเฉพาะที่พบไม่มากนัก ด้านหนึ่งเป็นรูปพระพุทธบาทมีรูปมงคล ๑๐๘ จัดเรียงอยู่ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่กลางฝ่าพระบาท ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ผลการศึกษาตีความรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปพบว่า แม้ส่วนใหญ่จะตรงกับคัมภีร์สำคัญอย่างอรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา แต่ก็มีที่ต่างกันหลายประการทั้งในเรื่องรายการมงคลและการจัดเรียงลำดับมงคล โดยเฉพาะการเพิ่มรูปมงคลพญาเสือ รูปพระพรหม (อยู่ก่อนหน้ารูปเรือทอง) รูปพระแท่นบัลลังก์ รูปพัดใบตาล (อยู่ต่อจากรูปพระแท่น) และรูปเต่า อย่างไรก็ดี ได้พบรูปมงคลที่เพิ่มมาดังกล่าวในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ จึงสันนิษฐานว่าการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทที่วัดพระรูปน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณมากกว่าคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าว และสันนิษฐานว่าคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณน่าจะเป็นที่รู้จักมาแล้วอย่างน้อยในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตามข้อสันนิษฐานอายุพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป ดังปรากฏร่องรอยคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ที่คงจะจารสืบต่อกันมาจากคัมภีร์ในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป จะเกิดจากการรับแรงบันดาลใจมาจากคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณโดยตรง หรือจะเกิดจากการรับแรงบันดาลใจทางอ้อมผ่านระเบียบจารีตของงานศิลปกรรมที่สืบทอดต่อกันมา หรืออาจจะเกิดจากการผสมผสานระหว่างอิทธิพลแรงบันดาลใจจากคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณกับระเบียบจารีตงานของศิลปกรรมก็เป็นได้
            ในมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป พบว่ามีการทำรูปพรหมสี่หน้า (อยู่ก่อนรูปเรือทอง) สันนิษฐานว่าเกิดจากการตีความมงคล “จตุมุขา สุวณฺณนาวา” (เรือทองสี่หน้า) ที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาหรือคัมภีร์ปาทวันทนา ออกเป็น ๒ มงคลคือ “จตุมฺมขา” ที่แปลว่าพรหมสี่หน้า และ “สุวณฺณนาวา” ที่แปลว่าเรือทอง การตีความในลักษณะนี้น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฏในจารึกหลักที่ ๑๐๒ และอาจจะสืบต่อมาในสมัยอยุธยาดังปรากฏในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการตีความชื่อมงคลที่แตกต่างออกไปจากคัมภีร์ดั้งเดิม เนื่องจากรายชื่อมงคลนั้นเป็นภาษาบาลีและถูกกล่าวถึงอย่างรวม ๆ โดยไม่ได้แยกกล่าวเป็นรายการ ส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์รูปมงคลที่แตกต่างออกไป นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการทำรูปมงคลกินนรกับรูปมงคลกินนรีรวมเป็นรูปสัญลักษณ์เดียวกัน ซึ่งโดยทั่วไปจะทำแยกกัน การรวมรูปมงคลดังกล่าวคงจะเพื่อให้เกิดช่องว่างเพิ่มสำหรับใส่รูปมงคลอื่นโดยพยายามรักษาความหมายของกินนรและกินนรีไว้ แสดงให้เห็นว่าการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทย่อมมีการยักย้ายปรับเปลี่ยนได้เสมอ
            พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่กลางฝ่าพระบาทในลักษณะเวียนทักษิณาวรรตจากด้านในออกสู่ด้านนอก แม้จะมีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ คล้ายกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร แต่ก็พบว่ามีรูปแบบศิลปะแตกต่างกันคนละสกุลช่างกัน และได้พบว่าโดยภาพรวมแล้วพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีรูปแบบศิลปะใกล้เคียงกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลายประการ ทั้งในเรื่องการแบ่งวงธรรมจักรออกเป็น ๔ ชั้นด้วยการทำกรอบวงกลมซ้อนกัน ๒ เส้น การทำรูปมงคลที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันหลายประการ อาทิ รูปพรหมโลก รูปเทวโลก รูปภูเขา รูปพระอาทิตย์ รูปพระจันทร์ เป็นต้น รวมถึงยังมีการทำลายเส้นวงโค้งเต็มพื้นพระบาทและนิ้วพระบาท จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปน่าจะได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบศิลปะมาจากพระพุทธบาทจากวัดพระราม ประกอบกับเนื่องจากมีการจัดเรียงรูปพรหมโลกและเทวโลกไว้ด้านนอกซึ่งแสดงถึงการคลี่คลายไปจากรูปแบบเก่า จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยมีอายุหลังกว่าพระพุทธบาทจากวัดพระรามที่กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เล็กน้อย และน่าจะร่วมสมัยกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ
            ด้านหลังของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปสลักเป็นรูปพระพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ - ชนะมาร แนวกลางเป็นรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เบื้องล่างเป็นรูปยักษ์ ๕ ตนกำลังแบกพระแท่นที่ประทับ ข้างพระแท่นที่ประทับมีรูปพระแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม พบว่าการเลือกทำรูปพุทธประวัติคงเนื่องจากเป็นเรื่องที่นิยมแพร่หลายในช่วงเวลานั้น และการเลือกทำรูปพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ - ชนะมาร คงเนื่องจากเห็นว่าเป็นตอนที่สำคัญที่สุดในพุทธประวัติที่แสดงให้เห็นว่าพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแสดงความเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลก ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับความหมายของพระพุทธบาทที่อยู่อีกด้านหนึ่ง ยังพบว่าการทำรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแทนการทำรูปพระพุทธเจ้า อาจจะเนื่องจากพื้นที่มีน้อยจึงไม่เอื้อต่อการทำรูปพระพุทธเจ้าในรูปมนุษย์ได้ ประกอบกับความไม่เหมาะสมที่จะทำรูปพระพุทธรูปอยู่ด้านหลังของฝ่าพระบาท จึงเลือกใช้ระบบสัญลักษณ์แทนความหมายถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งทำให้รูปแบบศิลปะของพระพุทธบาทนี้อยู่ในลักษณะระบบสัญลักษณ์ทั้งสองด้าน และได้พบว่าการทำรูปกองทัพมารและพระแม่ธรณีเล่าเรื่องพระพุทธประวัติตอนมารผจญ - ชนะมารบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป นับเป็นตัวอย่างของศิลปะอยุธยาในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ สอดคล้องกับการทำรูปยักษ์แบกในท่านั่งชันเข่ามีรูปร่างล่ำสันมีเส้นเชือกคาดไขว้ที่หน้าอกที่แสดงถึงรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยายุคต้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งการทำรูปยักษ์แบกพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าด้วยรูปแบบเดียวกับการทำประติมากรรมรูปยักษ์แบกฐานเจดีย์คงจะเนื่องจากเป็นคติความเชื่อเดียวกันคือการค้ำชูพุทธศาสนา
            พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีลักษณะนูนซึ่งนับเป็นรูปพระพุทธบาท แสดงถึงฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์พระพุทธเจ้าจึงจัดเป็นปูชนียวัตถุแบบอุเทสิกะเจดีย์ มงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทมีความหมายถึงการแสดงออกถึงความมีสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าและพระบารมีอันคุ้มครองและให้สิริมงคลต่อผู้ที่ได้ยึดถือพระองค์เป็นที่พึ่ง โดยการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่กลางฝ่าพระบาทที่สอดคล้องกับฉากทัศน์จักรวาลหรือโลกสัณฐานที่อยู่ในแนววงกลมตามแนวคิดในคัมภีร์โลกศาสตร์ได้ช่วยทำให้ความหมายดังกล่าวมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รูปมงคล ๑๐๘ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของสุคติภูมิในจักรวาลที่เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ดีมีสิริมงคลในแดนมนุษย์ เรื่อยไปจนถึงเทวโลก ๖ ชั้นและพรหมโลก ๑๖ ชั้นอันเป็นที่พำนักของผู้มีบุญญาธิการทั้งหลาย ซึ่งเมื่อนับรวมรูปมงคลทั้ง ๑๐๘ นี้แสดงถึงความมีสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือกว่าโลกทั้งสาม ด้วยบุญบารมีที่ทรงบำเพ็ญไว้นับไม่ถ้วน รูปมงคล ๑๐๘ เหล่านี้ที่ปรากฏเฉพาะบนฝ่าพระบาทเท่านั้น จึงแสดงถึงความเป็นใหญ่เปรียบดั่งเหยียบโลกทั้งสามไว้ใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์

 

เอกสารอ้างอิง
[1] มนัส โอภากุล, ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗), ๑๘๒.
[2] จารึก วิไลแก้ว, “กลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยม: เมืองสุพรรณบุรี,” ใน รวมบทความทางวิชาการ ๗๒ พรรษาท่านศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พรินท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, ๒๕๓๘), ๒๒๗-๒๕๘.
[3] วรพร พรหมใจรักษ์, วัด แหล่งศิลปกรรมท้องถิ่นในเมืองสุพรรณบุรี (สุพรรณบุรี: โรงเรียนสงวนหญิงจังหวัดสุพรรณบุรี, ม.ป.ป.), ๑๔-๑๕.
[4] นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา และ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๔), ๒๓๑ – ๒๓๓.
[5] พระยาอนุศาสตร์จิตรกร, นิราศตามเสด็จ (ช่วยในการกฐินพระราชทาน เจ้าพระยารามราฆพ ณ วัดทรงธรรม) (สมุทรปราการ: วัดทรงธรรมวรวิหาร พระอารามหลวง, ๒๔๖๖), ๕๐ – ๕๒.
[6] น. ณ ปากน้ำ, เที่ยวเมืองศิลปะอู่ทอง (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, ๒๕๔๒), ๙๒
[7] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๕๐ – ๕๑.
[8] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๑๔๘.
[9] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๗๕ – ๗๖.
[10] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๑๐, ๑๒.
[11] วิราภรณ์ สุวดีปฐมพงศ์, “ประเด็นใหม่: ระบบการวางลายมงคลบนรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔,” การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๒.
[12] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๒๒.
[13] พระสูตรและอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย มหาปทาน ภาคที่ ๑ เล่มที่ ๒ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), ๒๓๔.
[14] พระสูตรและอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ภาคที่ ๒ เล่มที่ ๓ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), ๑๘.
[15] พระสูตรและอรรถกถา แปล มัชฌิมนิกาย ปัณณาสก์ ภาคที่ ๒ เล่มที่ ๒ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕),  ๒๓๔.
[16] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๑๐ – ๑๑๒.
[17] พระสูตรและอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย มหาปทาน ภาคที่ ๑ เล่มที่ ๒ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), ๒๖๒.
[18] พระสูตรและอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ภาคที่ ๒ เล่มที่ ๓ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), ๑๑๗.
[19] พระคันธสาราภิวงศ์วิเคราะห์ว่า คัมภีร์ชินาลังการฎีกาหรือชินาลังการวรรณา แต่งขยายอธิบายศัพท์ยากของคัมภีร์ชินาลังการ แสดงรูปแบบวิเคราะห์ของคำศัพท์ไว้อย่างละเอียด และยังอธิบายหลักธรรมที่เกี่ยวข้องโดยนำเนื้อหาจากคัมภีร์อรรถกถาหลายฉบับมาประมวลไว้ สำหรับคัมภีร์ชินาลังการ แต่งโดยพระพุทธรักขิตะเช่นเดียวกัน ในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นวรรณกรรมร้อยกรอง ประพันธ์ขึ้นเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าเริ่มตั้งแต่การสร้างบารมี ๓๐ ทัศหลังจากที่ได้รับพุทธพยากรณ์จนถึงปรินิพพาน ดูใน พระคันธสาราภิวงศ์, ชินาลังการ (พิมพ์ครั้งที่ ๒) (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดประยูรสาส์นไทย การพิมพ์, ๒๕๕๒), [๓] - [๔], [๑๓]. อย่างไรก็ดี ในคัมภีร์ชินาลังการไม่ปรากฏการกล่าวถึงมงคล ๑๐๘ ประการบนฝ่าพระบาท.
[20] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๑๕.
[21] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), [๑๑]. ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ฮินดูเบอร์ ได้เสนอว่าท่านมีชีวิตในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดูใน Hinnüber, A Handbook of Pali Literature (New Dalhi: Mushiram Manoharla, ๑๙๗๗), ๑๘๒. อ้างอิงใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒), ๓๖๑.
[22] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๑๕.
[23] พระคันธสาราภิวงศ์วิเคราะห์เปรียบเทียบมงคล ๑๐๘ ของคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีรชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา พบว่าคัมภีร์ปาทวันทนาน่าจะใกล้เคียงกับความถูกต้องมากที่สุด ดูใน พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๓๑ – ๑๓๔.
[24] นิยมเรียกอีกว่า อรรถกถาพุทธปาทลกฺขณ สันนิษฐานว่าหมายถึงคัมภีร์ที่อรรถกถาจารย์แต่งขึ้นเพื่ออธิบายมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาท.
[25] พญาลิไท, ไตรภูมิพระร่วง (นนทบุรี: เจริญอักษรการพิมพ์, ๒๕๑๓), ๑๒.
[26] เรียกกันว่า “จารึกป้านางคำเยีย” หรือ “จารึกวัดตระพังช้างเผือก” เป็นศิลาจารึกหินชนวนสีเขียวมีคำจารึกสองด้าน จารึกหลักนี้สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ และได้ทรงขอให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อ่านคำจารึกภาษาบาลีถวาย ดูใน วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา, “มหาวงศ์สังเขป” ใน ประมวลพระนิพนธ์ประวัติศาสตร์–โบราณคดี (พระนคร: ศิวพรการพิมพ์, ๒๕๑๔), ๒๒๔ – ๒๔๑. ต่อมา ศ. ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร และ A.B. Griswold ได้อ่านและแปลสอบทานอีกครั้งหนึ่ง ดูใน คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย, ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๔ (ศิลาจารึกหลักที่ ๑๐๒) (กรุงเทพฯ: สำนักนายก, ๒๕๑๓), ๑๐๔. ซึ่งพบว่าโดยรวมแล้วแปลคล้ายคลึงกัน แต่จะจัดลำดับมงคลแตกต่างกันออกไป ดูใน สินชัย กระบวนแสง, “รอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย,” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑, ๒๕๒๒: ๑๔๒ – ๑๔๙. อ้างอิงใน สุธนา เกตุอร่าม, “การสร้างรอยพระพุทธบาทสมัยพญาลิไท,” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๒๓, ๒๓ – ๓๐. ปัจจุบันจารึกหลักนี้อยู่ที่ภูเขาไกรลาส สวนซ้าย ในพระบรมมหาราชวัง.
[27] เมื่อเทียบกับคัมภีร์ชินาลังการฎีกาพบว่ามีความแตกต่างกัน มงคลที่มีในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาแต่ไม่มีในจารึกหลักที่ ๑๐๒ คือ “สตฺต” (หอก), “โตรณํ” (ซุ้มประตู), “สุวณฺณหํสราชา” (พญาครุฑทอง) และ “สุวณฺณมกรํ” (มกรทอง) ในขณะเดียวมงคลที่ไม่มีในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาแต่มีในจารึกหลักที่ ๑๐๒ คือ “ทวิสฺหสฺปริตฺตถา” (ทวีปน้อย ๆ สองพัน), “สุวณฺณภมโร” (แมลงภู่ทอง) และ “จตุมฺมขา” (ลูกศรมีปลายสี่แฉก, พรหมสี่หน้า).
[28] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๓๑.
[29] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๓๖๔.
[30] อาจารย์สุภาพรรณ ณ บางช้าง วิเคราะห์ว่าเนื่องจากในคัมภีร์อรรถกถาพุทธบาทมงคลปรากฏคำศัพท์ภาษาบาลีที่ได้รับอิทธิพลภาษาไทย และปรากฏข้อความที่มาจากคัมภีร์มหาทิพย์มนต์ซึ่งแต่งขึ้นในประเทศไทย ดูใน สุภาพรรณ ณ บางช้าง, วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๓), ๒๘๑, ๒๘๖.
[31] ต้นฉบับคัมภีร์นี้จารด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี มีข้อความระบุถึงการจารตรงกับ พ.ศ. ๒๒๙๒ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยไม่ปรากฏว่าผู้แต่งเป็นใคร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ดูใน รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๔๒.
[32] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๔๒ – ๕๗.
[33] พระคันธสาราภิวงศ์วิเคราะห์ว่า ในคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์และคัมภีร์ชินาลังการฎีกา กล่าวถึงรูปพญาช้างอุโบสถและพญาช้างฉัททันต์ว่าเป็นมงคลข้อเดียวกัน แต่คัมภีร์ปาทวันทานกล่าวถึงรูปพญาช้างอุโบสถเท่านั้น สันนิษฐานว่าในสมัยนั้นผู้แต่งไม่พบข้อมูลรูปพญาช้างฉัททันต์ นอกจากนี้ข้อความในอรรถกถาอนาคตวงศ์ฉบับใบลานของไทยได้กล่าวถึงรูปพญาช้างฉัททันต์อย่างเดียว แม้ในทีฑนิกาย มหาสุทัศนสูตร ระบุถึงช้างอุโบสถว่าเป็นช้างของพระเจ้าจักรพรรดิ จึงควรมีรูปช้างอุโบสถเท่านั้น ดูใน พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๓๓ – ๑๓๔. นอกจากนี้ ในคัมภีร์สมันตภัททิกะก็ยังกล่าวถึงพญาช้างชื่ออุโบสถอย่างเดียวเช่นกัน ดูใน Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๓๓.
[34] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๓๔ – ๑๔๖.
[35] เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า เส้นกรอบของตารางในตำแหน่งเริ่มต้นนี้ เป็นเส้นที่ตรงต่อเนื่องจนถึงวงกลมนอกสุด แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของช่างในการวางแผนออกแบบมงคล ๑๐๘ ในตำแหน่งนี้.
[36] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๔๒.
[37] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๒๖.
[38] อาจารย์ฮันส์ เพนธ์ ศึกษารูปแบบของอักษรที่จารึกอยู่บนพระพุทธบาท และกำหนดอายุพระพุทธบาทไม้ประดับมุกจากวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ว่าน่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ดูใน ฮันส์ เพนธ์, “พระพุทธบาทที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่,” ศิลปากร ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๕, ๒๕๑๘, ๔๙ - ๕๕.
[39] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๕๕.
[40] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๓๓ – ๑๓๔.
[41] ช้างตระกูลฉัททันต์และช้างตระกูลอุโบสถจัดอยู่ในตระกูลพรหมพงศ์ หมายถึงช้างเผือกตระกูลที่พระพรหมเนรมิตขึ้น.
[42] พบว่ามีการทำรูปพระพรหมเกินไปหนึ่งองค์ คือทำรูปเทวดาเป็นพระพรหมไปหนึ่งองค์ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของช่างผู้สร้างก็เป็นได้.
[43] อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วิเคราะห์ว่าคัมภีร์ในพุทธศาสนาที่มีเนื้อหาบรรยายถึงพระพรหมนั้นไม่เคยมีคัมภีร์ที่ระบุว่าพระพรหมมีสี่หน้า การทำรูปพระพรหมที่มีสี่หน้าเป็นแบบแผนพระพรหมอันเป็นที่รับรู้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเป็นการรับลักษณะทางประติมานวิทยาของพระพรหมสี่หน้าของศาสนาพราหมณ์มาใช้ โดยปรากฏหลักฐานตั้งแต่ศิลปะอินเดียสมัยปาละ รวมถึงในศิลปะพม่าสมัยพุกามและศิลปะเขมรสมัยบายน ในดินแดนไทยพบว่าหลักฐานก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นิยมทำพระพรหมหน้าเดียวเสมอทั้งในศิลปะทวารวดีและศิลปะสุโขทัย โดยพบการทำพระพรหมสี่หน้าในบางแห่งเช่นปูนปั้นพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ผนังด้านทิศใต้ของมณฑปวัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย แต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๓ ไม่ปรากฏการทำพระพรหมหน้าเดียว ทั้งนี้เพราะขาดหลักฐานภาพเล่าเรื่อง ดูใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๖๘ – ๑๗๕.
[44] ได้แก่ พระพุทธบาทจากเขาพระบาทใหญ่ (เขาสุมนกูฏ) เมืองสุโขทัย ซึ่งจารึกหลักที่ ๘ (จารึกเขาสุมนกูฏ) กล่าวว่า “เขาอันนี้ชื่อสุมนกูฏบรรพต...เรียกชื่อดังอัน เพื่อไปพิมพ์เอารอยตีน พระพุทธเจ้า เราเอาเหยียบ เหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต...ในลังกาทวีปพู้นมาประดิษฐานไว้เหนือจอมเข้าอันนี้ แล้วให้คนทั้งหลายได้เห็นรอยฝ่าตีนพระพุทธเจ้าเรานี้มีหลายอัน ได้ร้อยแปดสีส่องให้ฝูงเทพยดาและ...ทั้งหลายได้ไหว้นบทำบูชา...” ดูใน กรมศิลปากร, “ศิลาจารึกหลักที่ ๘,” ใน ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๓) (กรุงเทพฯ: พระจันทร์, ๒๕๐๐), ๑๑๕. และรอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ที่มีจารึกกำกับว่า “...รอยพระพุทธบาททั้งคู่อันประดิษฐานไว้ชิดกันของสมเด็จสรรเพชญ์พุทธองค์ อันบริบูรณ์ไปด้วยบรมมงคลร้อยแปดประการ รุ่งเรืองไปด้วยจักรลักษณะอันวิจิตรงดงามมีประการต่าง ๆ ทำความเป็นที่พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง...” ดูใน กรมศิลปากร, “ศิลาจารึกรอยพระพุทธยุคลบาท วัดบวรฯ,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗), ๒๖๗ – ๒๖๘.
[45] การนำรูปมงคล ๑๐๘ ประการมาใส่ไว้ในพระพุทธบาทน่าจะเริ่มขึ้นในศิลปะพุกาม ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เช่น พระพุทธบาทที่เจดีย์โลกะนันทะ พระพุทธบาทที่เจดีย์ชเวซิกอน เมืองพุกาม ตามเนื้อหาลักษณะพระพุทธบาทที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาภาษาบาลีที่รู้จักกันในพม่า พระพุทธบาทตามคติและรูปแบบในศิลปะพุกามนี้ ได้ส่งอิทธิพลให้กับการทำพระพุทธบาทที่สุโขทัยในช่วงแรก ๆ เช่น พระพุทธบาทที่วัดตระพังทอง พระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ดูใน นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๓๑ – ๓๓, ๓๙ – ๔๐.
[46] เชื่อว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ โปรดให้เคลื่อนย้ายมาจากเมืองสุโขทัยหรือพิษณุโลก.
[47] จารึกกล่าวถึงการสร้างพระพุทธบาทนี้ใน พ.ศ. ๑๙๗๐ โดยพระสิริสุเมธังกรสังฆนายก ผู้เป็นศิษย์ของพระสิริสุเมธังกรสังฆราช ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล หรือพระยาบาลเมือง) ครองเมืองพิษณุโลกในช่วง พ.ศ. ๑๙๖๒ – ๑๙๘๑ ช่วงเวลานี้เมืองสุโขทัยเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา.
[48] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๔๗.
[49] การจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในธรรมจักรที่มีขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาท ยังทำสืบมาที่อยุธยาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เป็นอย่างน้อย และยังส่งอิทธิพลให้กับการสร้างพระพุทธบาทในศิลปะพม่าโดยคงจะแพร่หลายเข้าไปในพม่าผ่านทางเมืองมอญ หรือโดยผ่านทางช่างศิลปกรรมและเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนไปจากอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และ ๒๓ เช่น รอยพระพุทธบาทหินอ่อนที่ Calcatta Museum รวมถึงในศิลปะศรีลังกา เช่น พระพุทธบาทที่รุวันเวลิ ศรีลังกา ดูใน นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๓๔ – ๓๕, ๕๒.
[50] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “วิวัฒนาการและประติมานวิทยาของรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๓๙, ๑๐ – ๑๑.
[51] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๗๘.
[52] การจัดวางองค์ประกอบเขาสัตตบริภัณฑ์ในลักษณะนี้เป็นมุมที่มองมาจากเบื้องบน ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในเมืองพุกามและมีความเก่าแก่กว่าในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยเมืองพุกาม ดูใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๒๑๐ – ๒๑๑.
[53] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๔๙ และ รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๖๕ – ๗๐. อนึ่ง รอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร และพระพุทธบาทที่มาจากวัดเสด็จนี้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏจำลอง เนื่องจากปรากฏจารึกที่อาจมีความเกี่ยวข้องกัน จารึกบนรอยพระยุคลบาทคู่ที่วัดบวรนิเวศ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธบาทนี้บริบูรณ์ด้วยมงคล ๑๐๘ สร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรงดงามเปรียบได้กับพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ ดูใน กรมศิลปากร, “ศิลาจารึกรอยพระพุทธยุคลบาท วัดบวรฯ,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗), ๒๖๗ – ๒๖๘. ส่วนจารึกบนพระพุทธบาทที่มาจากวัดเสด็จ ปรากฏเทวดาองค์หนึ่งชื่อ “ขตฺตคาม” ดูใน กรมศิลปากร, “จารึกรอยพระพุทธบาทวัดเสด็จ,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗), ๒๐๙. ซึ่งเป็นเทวดาองค์หนึ่งที่ดูแลรักษาเมืองลังกา มีเทวาลัยอยู่ที่เมืองกตรคาม และภาพเทวดาที่ถือพระขรรค์อาจจะหมายถึงการปกปักรักษาพระพุทธบาท ประกอบกับเชื่อว่าการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในธรรมจักรที่มีขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาทนั้นเป็นรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในศิลปะสุโขทัย ซึ่งแตกต่างไปจากพระพุทธบาท ๔ รอยที่สันนิษฐานกันว่าจำลองมาจากเขาสุมนกูฏตามจารึก แต่กลับมีรูปแบบศิลปะที่สืบเนื่องมาจากศิลปะพม่าสมัยพุกาม ดูใน นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๓๙. และ รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, พุทธศิลป์ไทยสายสัมพันธ์กับศรีลังกา (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ๒๕๖๓), ๑๐๒ – ๑๑๕.
[54] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “วิวัฒนาการและประติมานวิทยาของรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๓๙, ๑๑.
[55] อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วิเคราะห์ว่าความคิดในยุคพระไตรปิฎกโลกกับจักรวาลโลกมีความหมายถึงสถานะคนละสถานะกัน แต่ในสมัยคัมภีร์อรรถกถากลับระบุว่าโลกกับจักรวาลเป็นสิ่งเดียวกัน และจักรวาลต่างก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน ดูใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๔.
[56] วิราภรณ์ สุวดีปฐมพงศ์ วิเคราะห์ว่าการจัดเรียงรูปมงคลในระบบใหม่นี้ ยังอาจจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของระบอบกษัตริย์อาณาจักรสุโขทัยที่เริ่มถดถอยลงจากการขยายอำนาจของอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านนาในช่วงเวลานั้นด้วย ดูในวิราภรณ์ สุวดีปฐมพงศ์, “ประเด็นใหม่: ระบบการวางลายมงคลบนรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔,” การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๖๙ – ๗๐.
[57] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๕๑.
[58] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “วิวัฒนาการและประติมานวิทยาของรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๓๙, ๑๑.
[59] การจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทที่ปรากฏมาก่อนทั้งในรูปแบบตารางและรูปแบบวงกลม นิยมเรียงรูปพรหมโลกไว้ใกล้กับรูปธรรมจักรที่อยู่กึ่งกลางพระพุทธบาท.
[60] ทั้งนี้ยังพบว่ารูปมงคล ๑๐๘ ในตำแหน่งรูปเทวดาสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา (มงคลหมายเลข ๘๗) ทำเป็นรูปบุคคลมี ๔ เศียรด้วยเช่นกัน ซึ่งมีความหมายถึงท้าวจตุโลกบาล ๔ องค์.
[61] อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, ทิพยประติมา (นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐), ๘๖.
[62] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๗๕.
[63] ดังปรากฏหลักฐานการเขียนภาพพุทธประวัติในกรุชั้นที่ ๒ (ชั้นกลาง) ของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ผนังด้านทิศตะวันออกเขียนเรื่องราวก่อนการตรัสรู้ เรื่องราวต่อเนื่องไปยังผนังด้านทิศใต้ ทิศตะวันตก และเรื่องจะมาจบที่ผนังด้านทิศเหนือซึ่งเป็นเรื่องตอนปรินิพพาน ดูใน สันติ เล็กสุขุม, จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเจมส์ ทอมป์สัน, ๒๕๒๔), ๔๕. ซึ่งจัดเป็นงานจิตรกรรมในสมัยอยุธยาตอนต้นสมัยสมเด็จเจ้าสามพระยาราว พ.ศ. ๑๙๖๗.
[64] การใช้รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าปรากฏมาตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณในยุคแรกเริ่มที่ยังไม่มีการทำพระพุทธรูป ซึ่งจะปรากฏอยู่ในภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ อาทิ ก่อนตรัสรู้นิยมทำเป็นรูปพระพุทธบาท เมื่อตรัสรู้นิยมทำเป็นรูปพุทธบัลลังก์และต้นโพธิ์ เมื่อทรงประกาศศาสนานิยมทำเป็นรูปธรรมจักรและกวาง เมื่อเสด็จปรินิพพานนิยมทำเป็นรูปพระสถูป ดูใน ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ, นิทานโบราณคดี (กรุงเทพฯ: เกษมการพิมพ์, ๒๕๓๓), ๖๒ – ๖๓. จนเมื่อมีการทำพระพุทธรูปจึงทำให้การทำรูปสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าเสื่อมความนิยมลงไป อย่างไรก็ดี คติความเชื่อในเรื่องรูปสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าเหล่านี้ยังคงอยู่สืบเนื่องมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปรอยพระพุทธบาทที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากยึดโยงอยู่กับคติความเชื่อเรื่องการเสด็จไปประกาศพุทธศาสนาและประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ดินแดนนั้น.
[65] อนึ่ง การเขียนภาพพระพุทธเจ้าเป็นรูปสัญลักษณ์ประกอบในภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ยังพบตัวอย่างในสมุดไตรภูมิในสมัยหลังลงมา ได้แก่ สมุดไตรภูมิหมายเลขที่ ๑๐ สมุดไตรภูมิหมายเลขที่ ๑๐ / ก และสมุดไตรภูมิฉบับกรุงเบอร์ลิน ดูใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๒๘๒.
[66] น. ณ ปากน้ำ, เที่ยวเมืองศิลปะอู่ทอง (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, ๒๕๔๒) ๙๑ – ๙๒.
[67] Boisselier, J., La Sculpture en Thailande (Paris: Office du Livre, ๑๙๗๔), ๒๓๕. อ้างอิงใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๙๐.
[68] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๘๙.
[69] อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, ทิพยประติมา (นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐), ๒๓๖ – ๒๓๘.
[70] พิริยะ ไกรฤกษ์, ประวัติศาสตร์ศิลปในประเทศไทยฉบับคู่มือนักศึกษา (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), ๒๔๓ – ๒๔๔. นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานเป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์มีเชือกคาดอกแบกฐานพระพุทธรูปภายในซุ้มบรรพแถลงประดับชั้นซ้อนของปรางค์วัดพระปรางค์ จังหวัดสิงห์บุรี กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ดูใน กรมศิลปากร, เตาแม่น้ำน้อย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๑), ๖๕. รวมถึงได้พบพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่มีศิลปะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลางในองค์ปรางค์นั้น ดูใน สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน (พิมพ์ครั้งที่ ๓) (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๐), ๑๖๗. และเชื่อว่าพระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานรูปกองทัพมารในศิลปะอยุธยาน่าจะสร้างขึ้นร่วมสมัยกันในช่วงอยุธยาตอนกลางด้วยเช่นกัน ดูใน สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง, “การประดับภาพกองทัพมารที่ฐานของพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา,” วารสารดำรงวิชาการ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖, ๒๕๔๗, ๑๒ – ๑๓.
[71] สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง, “การประดับภาพกองทัพมารที่ฐานของพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา,” วารสารดำรงวิชาการ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖, ๒๕๔๗, ๑๐ – ๒๗.
[72] สันติ เล็กสุขุม, คุยกับงานช่างไทยโบราณ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๕), ๑๕๕, ๑๖๒. การทำประติมากรรมรูปยักษ์มีเชือกคาดอกมีปรากฏมาก่อนในศิลปะเขมร เช่น ภาพสลักทหารในฉากสงครามที่ระเบียงปราสาทบายนในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือในหน้าบันจากปราสาทพระป่าเลไลย์ กำหนดอายุอยู่ในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ดูใน สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง, “การประดับภาพกองทัพมารที่ฐานของพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา,” วารสารดำรงวิชาการ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖, ๒๕๔๗, ๑๘. และเป็นที่นิยมสืบเนื่องมาในศิลปะสมัยสุโขทัยและศิลปะสมัยอยุธยา.
[73] การทำประติมากรรมรูปยักษ์มีเชือกคาดอกกำลังแบกฐานโบราณสถานพบปรากฏมาก่อนในศิลปะสุโขทัย เช่น ปูนปั้นยักษ์แบกประดับมุขยื่นจากฐานเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์พระมหาธาตุ วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย.
[74] นักวิชาการต่างประเทศ Virginai Mckeen วิเคราะห์ว่า พระพุทธบาทจากวัดพระรามมีรูปสัญลักษณ์บางรูปคือบัลลังก์ (หมายเลข ๗) ฐานของแจกันและบาตร (หมายเลข ๒๓, ๒๔) มีความละเอียดประณีตเช่นเดียวกับแข้งสิงห์ของเจดีย์ในจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี กำหนดอายุอยู่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดูใน Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๑๔๖ – ๑๔๗. ต่อประเด็นนี้มีความเห็นแตกต่างออกไป เนื่องจากรูปแบบศิลปะของบัลลังก์และฐานแจกันกับบาตรของพระพุทธบาทจากวัดพระรามกับฐานสิงห์ในจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธารามนั้นมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดจึงควรจัดเป็นงานคนละยุคสมัย ประกอบกับได้พบร่องรอยการทำฐานของรูปสัญลักษณ์ในลักษณะเดียวกับพระพุทธบาทจากวัดพระรามมาก่อนแล้วในพระพุทธบาทศิลปะสุโขทัย อาทิ ฐานของรูปอาคารบนพระพุทธบาทที่วัดเชิงคีรี อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กำหนดอายุการสร้างอยู่ใน พ.ศ. ๒๐๕๓ ดูใน Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๙๐, ๙๒. หรือฐานของรูปสัญลักษณ์สังข์และฐานของเทวดาถือพระขรรค์ที่พระพุทธบาทสำริดจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ ดูใน นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๔๙. และ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “วิวัฒนาการและประติมานวิทยาของรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๓๙, ๑๑.
[75] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๑๔๘.
[76] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๓๓ – ๓๔.
[77] จัดกลุ่มรูปมงคลตามแนวคิดของพระคันธสาราภิวงศ์ ดูใน พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๔๗.
[78] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๔๘.

 

The Wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup
           The wooden Phra Buddhapada (Buddha’s footprint) is characterized as an engraving on a 74 cm wide, 222 cm long and 10 cm thick rectangular hard wooden board. The engraving methods include the carving into decoration lines, low-relief engraving, high-relief engraving, and floating engraving. On one side of the board it is engraved as Phra Buddhapada (Buddha’s footprint), while on the other side it is engraved into the picture of the Lord Buddha attaining enlightenment. This Phra Buddhapada is the footprint of his right foot, engraved in low-relief pattern. The overall shape is that of a rectangular with one end being curved. This Phra Buddhapada is carved as being horizontal, with the foot tilting up on one side to show both sides of the foot. This carving pattern of Phra Buddhapada has been generally popular. For example, Phra Buddhapada of Ayutthaya art style, i.e. a stone Phra Buddhapada found in Ayutthaya province. Its front side is engraved as the Lord Buddha’s footprint, while its back side is engraved as the picture of Dhammacakka (the Wheel of Truth). As for the established Phra Buddhapada with the foot tilting up, the only examples that are left to be found are those appeared on both sides of the road entering the main stupa of Wat Buddhai Sawan in Phra Nakhon Si Ayutthaya province.
            The engraving to produce relief picture of Phra Buddhapada showing the foot of Lord Buddha had been the symbol used to represent Lord Buddha since the ancient Indian art era before the creation of the Buddha images, as well as the other symbols such as the pictures of Dhammacakka, Bodhi tree, and Pallanka (throne).  All of these symbols were still used continuously for some periods after the creation of the Buddha images. They were considered to be Pujaniyavatthu (object of worship) in the type of Uddesikacetiya (memorial object of worship), i.e. the objects created as the symbols representing the Lord Buddha, or in memory of the Lord Buddha. The model of Phra Buddhapada and this accompanying belief have been passed on further in Sri Lanka in both the form of dual footprints and single footprint. In the case of Thailand, there is very little preference for creating Phra Buddhapada. The majority of Phra Buddhapada created in Thailand was in the form of engraving in a deep down basin. The old Phra Buddhapada in Thailand is probably Phra Buddhapada at Wat Khao Deesalak in Suphan Buri province.  It can be mentioned that the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup has specific art form which is its own identity reflecting the intention to create the work of art for some special purpose that is different from that of Phra Buddhapada in general.

 

The 108 Mangala Decorations on the Wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup
            In the middle of the sole of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup, there are 108 Mangala (blessings) decorations organized in the Daksinavatta (clockwise) winding pattern from the middle to the rim of big Dhammacakka circles.  From the investigation, it is found that art style design of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup as a whole is almost similar in many aspects to that of Phra Buddhapada from Wat Phra Ram in Phra Nakhon Si Ayutthaya province including the matter of dividing the Dhammacakka circle into four layers by making two overlapping circle framework lines, and creating many similar designs of Mangala decorations such as the Brahmaloka (Brahma world) design, the Devaloka (world of gods) design, the mountain design, the sun design, the moon design, etc.  There is also the making of curving decoration lines covering the sole and fingers of the foot.  Therefore, it is hypothesized that the art style design of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup might have been influenced by the art style design of Phra Buddhapada in Wat Phra Ram.  However, since the Brahmaloka design and the Devaloka design are arranged to be out near the rim of the circle which is different from the previous designs, it is hypothesized that the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup probably had been created during the middle period of the 21st Buddhist Century which is later than the creation of Phra Buddhapada in Wat Phra Ram that might have occurred during the final period of the 20th Buddhist Century to the early period of the 21st Buddhist Century.  In addition, the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup also has the arrangement of 108 Mangala decorations similar to that of Phra Buddhapada from Wat Sadet in Kamphaeng Phet province, but with different art style designs.  So, the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup and Phra Buddhapada at Wat Sadet should have been created at about the same period.
            Although the majority of Mangala decorations that appear on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup are relevant to many important scriptures such as Atthakatha Anakhatawong, Jinalankaradhika, and Pathavanthana, there are many differences both in the list of Mangala and Mangala arrangement, especially the addition of Mangala pictures of Phya Suea (big tiger), Brahma (in front of the golden barge picture), Phra Thaen Pallanka (throne altar), palm leaf fan (after the Phra Thaen picture), and turtle.  However, the above-mentioned added pictures have been found in Buddhapada Lakkhana (Lord Buddha’s footprint characteristics) scripture written during the final period of the 23rd Buddhist Century.  So, it is hypothesized that the creation of 108 Mankala decorations on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup should have more relationship with Buddhapada Lakkhana scripture rather than with the above-mentioned three scriptures.  It is also hypothesized that Buddhapada Lakkhana scripture should have been known at least since the middle period of the 21st Buddhist Century in accordance with the hypothesized age of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup, as appeared in the traces of Buddhapada Lakkhana scripture written during the final period of the 23rd Buddhist Century that was handed down from the scriptures in the past.
            Another point, in creating 108 Mankala decorations on Phra Buddhapada it is found that there are both the creation of virtual pictures and the creation of symbolic pictures based on the Mankala list in Pali language that is mentioned as a whole without mentioning of any specific list.  So, the creation of Mankala pictures depended on the interpretation of the Mankala names by the creating artists as well as the consideration of the customary regulations of art works imparted from generation to generation.  Therefore, it cannot be clearly mentioned that the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup was created based directly on the inspiration from Buddhapada Lakkhana scripture.  This is because we still lack the evidence of Buddhapada Lakkhana scripture in the 21st Buddhist Century to study comparatively, or perhaps it was created based on the inspiration indirectly received from the customary regulations of art works imparted from generation to generation, or it might be created as a result of the integration of the inspirational influence from Buddhapada Lakkhana scripture and the inspiration indirectly received from the customary regulations of art works imparted from generation to generation.

 

 The Engraving of Life History of the Lord Buddha Attaining Enlightenment on the Wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup
            On the back side of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup there is an engraving of the picture showing the life history of the Lord Buddha attaining enlightenment.  The engraving comprises the pictures of the confronting devils-defeating of the devils, with the middle line showing the altar on which the Lord Buddha sits.  Under the altar, there are the pictures of five demons bearing the altar.  Beside the altar, there is the picture of the Goddess of the Earth squeezing water from her chignon.  The art style of the pictures is similar to that of Phra Buddhapada on the other side of the wooden board showing the intention of creating the engravings on both sides of the board at the same time from the beginning.
            The selection of creating the picture of life history of the Lord Buddha is probably because it was the popular story in that period, and the choice of creating the picture of the Lord Buddha attaining enlightenment comprising the pictures of the confronting devils-defeating of the devils is probably because it is the most important episode of the Lord Buddha’s life history showing Phra Bodhisatta (a Buddha-to-be) attaining enlightenment, which shows him to be the clear knower of the way of the world.  This meaning is consistent with the meaning of Phra Buddhapada on the other side of the board.  As for the creating the picture of altar to be the seat of the Lord Buddha while attaining enlightenment instead of creating the image of the Lord Buddha himself which is the symbol representing the Lord Buddha, this creation does not appear to be seen much in the Chao Phraya River basin area.  The choice of creating the picture of altar to be the seat of the Lord Buddha while attaining enlightenment, or the Vatchara-assana (diamond seat), instead of creating the picture of the Lord Buddha himself on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup is hypothesized as probably because the available small area for engraving does not facilitate the engraving of the Lord Buddha fully as a human being such as that in the Tri Bhumi (three worlds) Atlas, and probably because it was considered not appropriate to create the picture of the Lord Buddha on the back side of the board containing the footprint that was the lower part of the body.  Therefore, it was decided to create the symbolic system to represent the Lord Buddha, i.e. the picture of altar to be the seat of the Lord Buddha while attaining enlightenment, or the Vatchara-assana (diamond seat), resulting in the art style design of the engravings on both sides of the Phra Buddhapada board being of the symbolic system.
            In Thailand, the evidences of the engraving of the pictures of the group of devils and the Goddess of Earth squeezing water from her chignon were found tracing from at least the 18th Buddhist Century, such as the bronze altar as the seat of the Buddha image engraved as the picture of the Goddess of Earth touching the end of her hairs that is found at Wat Phra Si Rattana Maha That in Suphan Buri province which is of Cambodian art style dated about the 17-18 Buddhist Century.  The model of decorating with the engravings of the devil army and the picture of the Goddess of Earth squeezing water from her chignon at the altar of the Buddha image which is of the middle period Ayutthaya art style dated about the 21st – 22nd Buddhist Century is closely related to the older Cambodian art style, especially the clothing and posture of the devil army troopers.  So, the Cambodian art style that was an important foundation of art style in Ayutthaya since its beginning still remains to be seen in some aspects that are mixed in the middle period Ayutthaya art style created during the period of 21st – 22nd Buddhist Century.  Therefore, it can be said that the engraving of the picture of the devil army and the Goddess of Earth to tell the life history of the Lord Buddha in the episode of encountering and defeating the devils on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup should probably be also an example of Ayutthaya art style in the early period of the 21st Buddhist Century.
            As for the engraving of the picture of demons in the kneeling posture showing the muscular body shapes dressed with decorative collar band and strings strapped at the chest indicating the style of dressing in the early period.  Examples of this dressing style are the lime sculptures of the south Than Phaithi (lotus-flower-shaped pedestal) of the main pagoda of Wat Ratchaburana which is of the early period Ayutthaya art style dated from the final period of the 20th Buddhist Century.  The creation of the sculpture in the form of demons holding up the pedestal of pagoda is probably related to the belief on upholding Buddhism.  The altar that is the seat for the Lord Buddha while attaining enlightenment, or the Vatchara-assana, is considered to be a symbol of the Lord Buddha like the pagoda.  Therefore, the picture of demons holding up the seat of the Lord Buddha while attaining enlightenment on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup was created based on the same belief.

 

The Iconographical Meaning of the Wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup
            The symbol of 108 Mangala (blessings) decorations on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup has the expressed meaning of the dominating over the universe status of the Lord Buddha and his merits that protect and provide blessings for those who worship or adhere to him as their savior.  The 108 Mangala decorations are arranged in a big Dhammacakka circle in the middle of the foot sole that is consistent with the scenery of the universe or the shape of the world that is in the circular line based on the concept in the World Science Scripture that enables the above-mentioned meaning to be more clearly tangible.  In the innermost circle there is the picture of a blossoming lotus which is probably the symbol of the Lord Buddha attaining enlightenment.  In the second circle there are the pictures that are symbols of fortune, progress, and abundance, i.e. the pictures of gardenia, swastika, the pot with flowers, the container with flowers, and lotus flower; the pictures that are symbols of prestige of the king or emperor indicating the honor, power, and nobleness, i.e. the pictures of flowers, altar, elephant scythe, double-edged sword, multiple-tiered umbrella; and the pictures that are symbols of virtues and merits, i.e. the picture of palm leaf fan.  In the third and fourth circles there are symbols in the group of realities in the universe, i.e. the ocean, universal mountain, Himmaphanta mountain, Sumeru mountain, the sun, the moon, big continents, small continents, Himmaphanta animals, six levels of Devaloka (world of gods), and 16 levels of Brahmaloka (world of Brahma).  It can be said that these meritorious symbols of 108 Mankala decorations are the symbols of Sugatibhumi (happy state of existence) in the universe starting from the good and blissful entities in the human world and proceeding toward the ๖ levels of Devaloka and 16 level of Brahmaloka which are the dwelling places of the meritorious beings.  When all of these 108 Mankala are counted and combined, they indicate the condition of universal dominance of the Lord Buddha who is superior over all of the three worlds, i.e. Sattaloka (the world of animals or living things), Sankaraloka (the world of phenomena or all things that have been made up by pre-existing causes), and Okassaloka (the world as dwelling place of all living things).  This is because of the countless merits that he has accumulated.  All of these 108 Mankala appear only on the sole of his feet indicating his superiority as though he steps on all of the three worlds to make them lying under his feet.  In addition, the choice of creating the picture of life history of the Lord Buddha attaining enlightenment on the other side of the wooden board showing Phra Bodhisatta (a Buddha-to-be) attaining enlightenment to become the Lord Buddha who has acquired the knowledge of the universe also has the meaning consistent with the meaning of Phra Buddhapada on the other side of the board.

เมืองสุพรรณภูมินับแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ 
            ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) ภายใต้นโยบายการจัดระบบราชการและระเบียบสังคมแบบศักดินาเพื่อจรรโลงโครงสร้าง “รัฐราชอาณาจักร” สถานะของเมืองสุพรรณภูมิถูกปรับลดความสำคัญลง จาก “เมืองลูกหลวง” กลายเป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลราชธานี มีสถานะเป็น “หัวเมืองจัตวาชั้นใน” เจ้าเมืองสุพรรณภูมิ คือ ขุนนางที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง มีตำแหน่งเพียง “ผู้รั้ง”[1] ปรากฏยศและราชทินนามในทำเนียบศักดินาหัวเมืองที่ “พระสุนทรสงคราม” อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าเจ้าเมืองสุพรรณภูมิในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๑๑๒ (ปีเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ แก่พม่า) น่าจะมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกษัตริย์อยุธยาแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ด้วยเพราะสุพรรณภูมิถือเมืองเก่าของต้นวงศ์ อำนาจเจ้าเมืองในการคุมไพร่พลจึงน่าจะมีอยู่ไม่น้อย[2] และแม้สุพรรณภูมิจะถูกลดอำนาจความสำคัญทางการเมืองลง หากแต่เมืองนี้ยังคงเป็นฐานอำนาจด้านกำลังคนและทรัพยากร ทางเศรษฐกิจทั้งการปลูกข้าวและผลผลิตของป่าที่ป้อนให้กับกรุงศรีอยุธยา

 

รับศึกพม่าครั้งแรก เมืองสุพรรณภูมิถูกเปลี่ยนกายภาพ 
            นับแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เงื่อนไขประวัติศาสตร์สงครามไทย – พม่า มีผลกระทบต่อเมืองสุพรรณภูมิ ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพ สุพรรณภูมิจึงเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกป้องกัน กรุงศรีอยุธยาทางด้านตะวันตก และเนื่องจากเมืองนี้อยู่ในเขตปริมณฑลราชธานี จึงส่งผลต่อประชากรที่หาก ไม่ถูกเกณฑ์ไปเพื่อป้องกันพระนครที่อยุธยา ก็มักถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกพม่า หลังสงครามคราวเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. ๒๐๙๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีดำริให้รื้อถอนกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกของเมืองสุพรรณภูมิ เพื่อไม่ให้พม่าใช้เป็นฐานที่มั่นในการโจมตีอยุธยา กายภาพของเมืองเปลี่ยนจาก “เมืองอกแตก” เหลือเพียงตัวเมืองด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ที่ยังคงมีคูน้ำกำแพงเมือง ขนาดของเมืองเปลี่ยนจาก ๓,๖๐๐ x ๑,๙๐๐ เมตร เป็น ๓,๖๐๐ x ๙๒๐ เมตร[3] นอกจากกายภาพเมืองที่เปลี่ยนไปแล้ว อำนาจเจ้าเมืองยังถูกทำให้ลดลงจากนโยบายโยกย้ายประชากรและตั้งเมืองใหม่ เช่น เมืองนครชัยศรี ที่ตั้งขึ้นใหม่โดยแบ่งไพร่พลจากเมืองสุพรรณเพื่อให้มีหัวเมืองชั้นในเพิ่มขึ้น[4] สภาพการณ์ดังกล่าวทั้งเงื่อนไขสงครามที่ผู้คนต่างต้องแสวงหาทางเอาตัวรอด อำนาจฝ่ายปกครองที่ลดลง ส่งผลให้เมืองสุพรรณจึงมีภาวะ  ของการถูกละทิ้งให้กลายเป็น “เมืองชนบท” ที่มีอำนาจท้องถิ่นคุ้มครองตนเองสูง นัยหนึ่งคือเป็น “อิสระเชิงสัมพัทธ์” (relative autonomy) จากอำนาจส่วนกลางมากขึ้น ภาวการณ์นี้จะเป็นอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณต่อเนื่องมา

พื้นที่แขวงเมืองสุพรรณ ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพพม่ามานับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ แขวงเมืองสุพรรณจึงเป็นพื้นที่สมรภูมิของกองทัพทั้งสองฝ่าย
ที่มาภาพ: วารุณี โอสถารมย์. เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗),  , ๑๗๔.

 

เอกสารอ้างอิง
[1] วารุณี โอสถารมย์. เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗), ๑๕๑.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๕๘.
[3] ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, “สุพรรณภูมิอยู่ที่ไหน,” ใน โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๒๕), ๗๘ – ๘๐.
[4] วารุณี โอสถารมย์, เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗), ๑๗๖.

สมัยเมืองสุพรรณบุรี ถึงปลายราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓)

ยุคเมืองสุพรรณบุรี ถึงปลายราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓)

          ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ชื่อ “สุพรรณบุรี” ปรากฏขึ้นแทนที่ “สุพรรณภูมิ” บ้างเรียกกันอย่างสามัญว่า “เมืองสุพรรณ” สุพรรณบุรีในยุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงในอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกให้ภาพเป็น “ชนบทประเทศ” มากยิ่งขึ้น หากแต่เมืองสุพรรณก็ยังคงความเป็นฐานทรัพยากรสำคัญทั้งด้านกำลังคน พื้นที่ปลูกข้าว และแหล่งของป่าที่ป้อนให้กับกรุงศรีอยุธยา ไม่เพียงเท่านั้น ความในพระราชพงศาวดารหลายฉบับระบุถึง “พระเพทราชา” (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๓๑๐) ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ว่า ...เป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณ์บูรีย... เรื่องราวของเมืองสุพรรณบุรี กับ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง จึงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์ในทางวิชาการต่อเนื่องมา    

          ช่วงเวลานี้ วัดพระรูปยังคงเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี ดังปรากฏหลักฐานระฆังสำริด ที่ขอบล่างของระฆังปรากฏจารึกการสร้างระฆังใบนี้ในปี พ.ศ. ๒๒๔๒ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเพทราชา แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ผู้สร้างคือเจ้านายสตรีพระองค์หนึ่ง แต่เดิมระฆังใบนี้แขวนประจำอยู่ที่หอระฆังของวัด ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นทรงสูงเจาะช่องขนาดใหญ่ ช่องมีลักษณะโค้งปลายแหลม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา สันนิษฐานว่าหอระฆังนี้อาจเป็นฝีมือของช่างในสมัยอยุธยาตอนปลาย กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ โดยอาจสร้างขึ้นพร้อมกับระฆังสำริด ระฆังสำริดและหอระฆังดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ บนข้อสันนิษฐานว่าอาจมีเจ้านายสตรีที่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเพทราชาให้การอุปถัมภ์ทำนุบำรุง อีกทั้งเจ้านายสตรีพระองค์นี้ยังน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อ “วัดพระรูป”        

 

ปรากฏชื่อ “สุพรรณบุรี” ครั้งแรก – ร่องรอยคำว่า “สพันภูมิ” ในสมุดภาพไตรภูมิ 
            ชื่อ “สุพรรณบุรี” ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกใน “จดหมายเหตุวันวลิต” ซึ่งเขียนขึ้นโดยชาวต่างประเทศชื่อ “เยเรเมียส ฟอนฟลีต” เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๒ อยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๑๙๙)[1] ขณะที่ในเอกสารไทย ชื่อ “สุพรรณบุรี” ปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่เรียบเรียงขึ้นโดยพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓[2] ข้อสนเทศนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชื่อ “สุพรรณบุรี” คงเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และเป็นชื่อที่มาแทนที่ “สุพรรณภูมิ” ซึ่งเป็นค้าเรียกเดิม อย่างไรก็ตาม “สุพรรณภูมิ” น่าจะยังเป็นชื่อที่ อยู่ในความทรงจ้าของผู้คนสมัยอยุธยา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ อยู่ไม่เสื่อมคลาย ดังพบหลักฐานคำว่า “สพันพูม” ในแผนที่โบราณสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา (เลขที่ ๖) ที่สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๑๓๑)[3]

 

 

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา - ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๑ (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๒), ๙๓.

 

ระฆังสำริด หลักฐานในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ในวัดพระรูป
            ระฆังสำริดวัดพระรูปหล่อขึ้นในสมัยอยุธยา มีรูปทรงระฆังเป็นแบบที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีความสูงรวม ๘๖ ซม. เฉพาะระฆังสูง ๔๖ ซม. ปากระฆังกว้าง ๓๙.๕ ซม. น้ำหนักประมาณ ๑๐๐ กก. หูระฆังหล่อเป็นรูปหัวนาค ๔ หัว อันเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายถึงการเชื่อมต่อโลกมนุษย์กับสวรรค์ ความสำคัญของระฆังสำริดใบนี้คือ ปรากฏจารึกข้อความระบุ พ.ศ. ๒๒๔๒ ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความสำคัญและพัฒนาการของวัดพระรูปที่สืบย้อนไปในสมัยอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ 
            ในเมืองสุพรรณบุรี นอกเหนือจากระฆังสำริดวัดพระรูปที่ปรากฏจารึกแล้ว ยังพบระฆังที่ปรากฏจารึกปีการสร้างอีก ๒ แห่งคือ วัดป่าพฤกษ์ ปรากฏจารึกว่าสร้างใน พ.ศ. ๒๒๔๐ และวัดโพธิ์คลาน ปรากฏจารึกว่าสร้างใน พ.ศ. ๒๑๘๑ ระฆังทั้ง ๒ ใบนี้มีรูปแบบคล้ายกับระฆังสำริดวัดพระรูปและยังอยู่ร่วมสมัยกันคือในสมัยอยุธยาช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๓  

 

ระฆังสำริดวัดพระรูป ปรากฏจารึกรอบองค์ระฆัง

 

คำจารึกและคำอ่านบนระฆังสำริดวัดพระรูป

            (บรรทัดบน)      (คำจารึก)         พระสางส่มภาร

                                     (คำอ่าน)          พระสางสมภาร

          (บรรทัดล่าง)     (คำจารึก)         สับภ่มัดสะดุ พุทธ่สักราชใด้ ๒๒๔๒ พระว่สา เจา แม่ธ_ท่ง พระราชะสทัธาเปันสาดนูปะถำ ส(างระฆัง) ไวเปนพุทบูชาสำรับพระสาดนัาไหรูงเรองถวนเถิงห้าพนัพระวะษาข่อจ่งเปันปัดจัย โพทิญาณไนอะนาคตกาล

                                     (คำอ่าน)          ศัภมัศดุพุทธศักราชได้ ๒๒๔๒ พระวรรษา เจ้าแม่ธ _ ทงพระราชศรัทธาเป็นศาสนูปถัมภ์ สร้างระฆังไว้เป็นพุทธบูชาสำหรับพระศาสนาให้รุ่งเรืองถ้วนเถิงห้าพันพระวรรษาขอจงเป็นปัจจัยโพธิญาณในอนาคตกาล[4]

 

 

ข้อความจารึกบนระฆังสำริด 
            บรรทัดบน ข้อความจารึกไว้ที่ส่วนกลางขององค์ระฆังว่า “พระสางสมภาร” วิเคราะห์ได้เป็น ๒ แนวทางคือ ทางด้านภาษา คำว่า “พระสางสมภาร” อาจหมายถึง อดีตพระสมภารที่มรณภาพไปแล้ว เพราะคำว่า “สาง” หมายถึง ผี คนสมัยก่อนนิยมเรียกผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วโดยมีคำว่า “สาง” นำหน้าเพื่อบอกสถานะ เช่นคำว่า สางพ่อ สางแม่ ที่หมายถึง ผีพ่อ ผีแม่ ส่วนข้อสันนิษฐานที่ว่า “สาง” อาจเป็นชื่อบุคคล โดยเฉพาะเป็นชื่อของสมภารรูปใดรูปหนึ่งนั้น มีความขัดกันในทางภาษา เพราะคำว่า สมภาร เป็นชื่อตำแหน่ง ในภาษาไทยนิยมวางไว้หน้าชื่อ อาทิคำว่า พระสมภารดี ส่วนทางด้านตำแหน่งที่จารึก คำจารึกนี้ไม่ได้อยู่บรรทัดเดียวกับข้อความอื่นที่จารึกบริเวณขอบปากระฆัง ดังนั้น ทั้งในด้านภาษาและตำแหน่งอาจตีความได้ว่าเป็นจารึกเพื่ออุทิศเป็นกุศลแด่พระอดีตสมภารของวัดก็เป็นได้
            บรรทัดล่าง ข้อความจารึกเรียงกันโดยรอบขอบปากระฆัง แปลเป็นสำนวนภาษาไทยสมัยปัจจุบัน โดยคงตัวสะกดในคำที่ยังไม่แน่ชัดไว้ ได้ว่า “ขอความดีงามจงมี พุทธศักราชได้ ๒๒๔๒ ปี เจาแม่ท่านทรงพระราชศรัทธาเป็นศาสนูปถัมภ์ ส(างระฆังไว้) เป็นพุทธบูชา สำหรับพระศาสนาให้รุ่งเรืองถ้วนถึงห้าพันปี ขอจงเป็นผู้ตรัสรู้โพธิญาณในอนาคตกาล” จากจารึกนี้ทำให้ทราบว่า การสร้างระฆังสำริดใบนี้อยู่ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้สร้างระฆังสำริดใบนี้เป็นหญิงสูงศักดิ์ เพราะมีการใช้คำราชาศัพท์ว่า “ทรงพระราชศรัทธา” ส่วนความมุ่งหมายของการสร้างระฆังสำริดใบนี้มีอยู่ ๔ ประการคือ เพื่ออุปถัมภ์พระศาสนา เป็นพุทธบูชา ให้พระพุทธศาสนาอยู่ครบ ๕,๐๐๐ ปี และขอเป็นผู้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ นับเป็นจารึกที่ได้ความครบถ้วน

 

ระบบการจารึกบนระฆังสำริด         
            ระฆังสำริดวัดพระรูปแสดงให้เห็นถึงระบบการจารึกบนระฆังในสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ประการแรกคือ คติความเชื่อ ที่พบว่าประกอบด้วย เรื่องพระพุทธศาสนามีอายุ ๕,๐๐๐ ปี การตั้งความปรารถนาพุทธภูมิ ซึ่งสัมพันธ์กับอุดมการณ์เรื่องพระโพธิสัตว์และนิพพาน บุญและการสร้างสมบุญบารมี โดยมีความเชื่อว่าการสร้างระฆังเป็นบุญใหญ่และเป็นวาระสำคัญอย่างหนึ่ง ดังเห็นได้จากจารึกคำขึ้นด้วยคำว่า “สับ ภ่ มัด สะ ดุ” ซึ่งเป็นคำขึ้นต้นที่ใช้ในเอกสารสำคัญเท่านั้น โดยตั้งปรารถนาให้บุญกุศลนี้ช่วยอุปถัมภ์พระศาสนา สืบอายุพระศาสนา เป็นพุทธบูชา เป็นการสร้างสมบุญบารมีเพื่อปรารถนาพุทธภูมิของผู้สร้าง และเป็นบุญอุทิศให้กับผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว ประการที่สองคือ องค์ประกอบสำคัญของจารึก ที่พบว่ามีอย่างน้อย ๓ องค์ประกอบได้แก่ ช่วงเวลา เจ้าของศรัทธาหรือผู้สร้าง และการตั้งความปรารถนาหรือความมุ่งหมาย อาทิ เพื่อสืบพระศาสนา ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ ประการที่สามคือ ตำแหน่งของจารึก ที่พบว่ามีการจารึกบนบริเวณขอบปากระฆังโดยรอบ
            ระบบการจารึกบนระฆังสำริดวัดพระรูปมีลักษณะคล้ายคลึงกับการจารึกบนระฆังที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อาทิ จารึกบนระฆังวัดเพชร อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี จารึกคอระฆังวัดเลียบ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจารึกระฆังในแต่ละใบย่อมจะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปบ้าง อาทิ จารึกบนระฆังบางแห่งบอกถึงน้ำหนักของวัตถุในการสร้างระฆัง ระฆังบางแห่งวางตำแหน่งจารึกไว้ที่คอระฆัง เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากการหล่อและการจารึกระฆังแต่ละใบเป็นงานที่ทำขึ้นเฉพาะระฆังใบนั้น ๆ 

 

ระฆังสำริดวัดป่าพฤกษ์
            ระฆังสำริดวัดป่าพฤกษ์ ปรากฏจารึกบนองค์ระฆัง ความว่า “พุทธศักราช ๒๒๔๐ ปี เศษสังขยา ๗ เดือน กัยวัน ๑ มหาศรีวิเชียรได้สร้างระฆังไว้กับในพระศาสนาเป็นทองเจ็ดสิบชั่ง หมื่นพิจิตนิรมนอยู่ตำบลลำนางลับได้หล่อ หล่อวันศุกร์ ได้ถวายแรมค่ำหนึ่ง ปีขาลนพศก ได้ฤกษ์ ๓๒ ชั้น”

ระฆังสำริดวัดป่าพฤกษ์ ปรากฏจารึกรอบองค์ระฆัง

 

ระฆังสำริดวัดโพธิ์คลาน อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี 
            ระฆังสำริดวัดโพธิ์คลาน ปรากฏจารึกบนองค์ระฆัง ความว่า “พระยารามและออกหมื่นเทพผู้ช่างนั้นช่วยหล่อไว้ในพระศาสนา แลทายกทั้งปวง (เพื่อ) จะขอทันพระศรีอารย์แลฯ ... ทั้งปวงคุมได้ ๑๕๐ ชั่ง เสมอ ... (นอดบน?) ศักราชได้แล้ว ๒๑๘๑ ปี กับ ๘ เดือน ๔ วัน ถึงวันเสาร์เดือนยี่แรม ๔ ค่ำ จุลศักราชใส่ ถ้ (วน) ...”[5]

ระฆังสำริดวัดโพธิ์คลาน ปรากฏจารึกรอบองค์ระฆัง

 

ข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” จากจารึกบนระฆังสำริด

          จากจารึกบนระฆังสำริด จารึกศักราชระบุปีที่หล่อระฆังใบนี้คือ พ.ศ. ๒๒๔๒ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง สันนิษฐานว่าผู้สร้างระฆังเป็นเจ้านายสตรีมิใช่สามัญชน เพราะมีปรากฏคำว่า “เจ้าแม่” และ “พระราชศรัทธา” ทั้งนี้ คำว่า “เจ้าแม่” ย่อมหมายถึงเจ้านายสตรีระดับ “ผู้ใหญ่” ซึ่งอาจเป็น พระราชมารดาในสมเด็จพระเพทราชา หรืออาจเป็น  พระมเหสีในสมเด็จพระเพทราชาก็เป็นได้ เรื่องเจ้านายสตรีผู้สร้างระฆังใบนี้ ยังอาจสัมพันธ์กับที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” ซึ่งน่าจะเป็นชื่อวัดมาแต่ครั้งสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย โดยคำว่า “พระรูป” หมายถึงเจ้านายฝ่ายในที่บวชเป็นชี และเมื่อสืบค้นเหตุการณ์ในระยะเวลาใกล้เคียงกับการสร้างระฆัง พบความในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ระบุถึงเหตุการณ์ที่อัครมเหสีหม้ายในพระเพทราชาได้เสด็จออกผนวชเป็น “พระรูป” พร้อมกัน ๓ องค์ หลังการสวรรคตของพระสวามีโดยแยกเสด็จออกไปประทับอยู่ ณ ๒ สำนัก[6]

          พระองค์แรก (พระรูปองค์แรก) คือ “กรมพระเทภามาศ” (พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกพระนามว่า “กรมพระเทพามาตย์) พระอัครมเหสีกลาง ทรงเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของพระเจ้าเสือ พระราชพงศาวดารระบุว่าทูลลาออกไป ณ ตำหนักวัดดุสิต ขณะที่พระรูปอีก ๒ องค์ คือ “กรมหลวงโยธาทิพย์” อัครมเหสีฝ่ายขวา และ “กรมหลวงโยธาเทพ” อัครมเหสีฝ่ายซ้าย เสด็จออกไปประทับที่วัดพุทไธศวรรย์ พร้อมกับพระโอรสพระนามว่า “ตรัษน้อย” (บางฉบับเรียก “ตรัสน้อย”) ที่ตัดสินพระทัยผนวชเป็นภิกษุตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งนี้ พระรูปองค์แรก “กรมพระเทภามาศ” ตามประวัติคือภรรยาเดิมของพระเพทราชาก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ และด้วยพระเพทราชาถูกระบุว่าทรงมีพื้นเพเป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี[7] ด้วยเหตุนี้ “กรมพระเทภามาศ” จึงอาจเป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี ถิ่นฐานเดียวกับ พระเพทราชาก็เป็นได้ พระรูปองค์นี้จึงอาจเกี่ยวข้องกับวัดพระรูป เช่น อาจจะเคยเสด็จมาจำพรรษาหรือเป็นผู้อุปถัมภ์วัดด้วย “พระราชศรัทธา” ทั้งก่อนผนวชซึ่งอาจรวมถึงการสร้างระฆังถวายหรือหลังผนวช จนเป็นที่มาของชื่อ “วัดพระรูป”

          ขณะที่ ๒ พระองค์หลัง (พระรูป ๒ องค์หลัง) “กรมหลวงโยธาทิพย์” และ “กรมหลวงโยธาเทพ” พร้อมด้วยพระโอรส เนื่องด้วยเป็นเชื้อพระวงศ์สายสมเด็จพระนารายณ์ราชวงศ์ปราสาททอง ทำให้น่าจะทรงต้องดำรงพระองค์อย่างระแวดระวังเพื่อหลีกราชภัย กระนั้นก็ตาม พระรูป ๒ องค์หลังนี้ อาจเกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” เมืองสุพรรณบุรีได้ด้วยเช่นกัน รายละเอียดข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อ “วัดพระรูป”  เมืองสุพรรณบุรี ดูในบทความ “จาก การเมืองไทยสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ถึง วัดพระรูป เมืองสุพรรณบุรี” 

 

หอระฆังวัดพระรูป

          แต่เดิมระฆังสำริดวัดพระรูปน่าจะแขวนประจำอยู่ที่หอระฆัง แม้หอระฆังนี้จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ แต่ก็ยังปรากฏเค้าโครงของหอระฆังก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ซ้อนลดหลั่นกัน ตัวอาคารเป็นทรงสูงเจาะช่องขนาดใหญ่ ช่องมีลักษณะโค้งปลายแหลม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา ส่วนยอดแม้มีการซ่อมแซมอย่างมากแต่ก็ปรากฏร่องรอยว่าเป็นหลังคาซ้อนชั้น จึงสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าหอระฆังนี้อาจจะเป็นฝีมือของช่างในสมัยอยุธยา กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ โดยอาจจะสร้างขึ้นพร้อมกับระฆังสำริดที่ปรากฏจารึก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ บนข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีเจ้านายสตรีชั้นสูงให้การอุปถัมภ์ทำนุบำรุงวัด อันเป็นที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” ในปัจจุบันก็เป็นได้

 

ภาพถ่ายเก่าหอระฆังวัดพระรูปก่อนการบูรณะ

 

The Bronze Bell at Wat Phra Rup
            The bronze bell at Wat Phra Rup was molded during Ayutthaya period (๒๓rd Buddhist Century).  It has the shape that has been popular since Ayutthaya period, with the total height of ๘๖ cm; while the bell itself is ๔๖ cm high, with the mouth being ๓๙.๕ cm wide.  The weight of the bell is about ๑๐๐ kg.  The bell’s handle is bolded as ๔-headed Naga which is the symbol indicating the connection between the human world and heaven.  The importance of this bell is that it has the inscription specifying B.E. ๒๒๔๒ which is the evidence indicating the development of the monastery that can be traced back to Ayutthaya period during the ๒๓rd Buddhist Century.

 

The Inscription Passage 
            (The top line)                Phra Sang Somphan
            (The following lines)    In the auspicious occasion of B.E. ๒๒๔๒, Queen Th_ with her intention to be the religious patronage had created this bell to be a worship article for the Lord Buddha in order to foster the religion to be glorious until the ๕,๐๐๐ years of the Buddhist Era in the future.
            In Suphan Buri, aside from the bell at Wat Phra Rup that has the inscription, two other bells have been discovered that have inscription on them showing the year of creation.  One of them is at Wat Pa Phruek (specifying that is was created in B.E. ๒๒๔๐), and the other is at Wat Pho Khlan (specifying that it was created in B.E. ๒๑๘๑).  Both of these bells have similar shapes to that of the bell at Wat Phra Rup and are contemporary, i.e. in Ayutthaya period during the final period of the ๒๒nd Buddhist Century to the ๒๓rd Buddhist Century.
            The first Phra Rup lady, “Krom Phra Thephamat” historically was the wife of Somdej Phra Phetracha before he became the king.  She was probably a native of Suphan Buri, the same residential town as that of Somdej Phra Phetracha.  This Phra Rup lady might have something related to Wat Phra Rup, such as she might have come to stay in it during the rainy season or be also the patronage of the monastery with “Phra Ratcha Saddha” (the royal faith) both before ordination including the creation and donation of the bell to the temple, and after ordination that is the background for the name of Wat Phra Rup.  On the other hand, the latter two Phra Rup ladies and the prince were of the royal lineage of King Narai of Prasat Thong dynasty.  They had to live cautiously in order to avoid the possible “Ratchaphai” (royal execution).  So, these latter two Phra Rup ladies were unlikely to be related to the source of the name “Wat Phra Rup” in Suphan Buri province.  Even so, we should not ignore the contemporary event of the possibility that one of these two ladies might also be “Chao Mae” who created this bell.
            In addition, in the central area of the bell there is the inscription of the word “Phra Sang Somphan” that may means the previous abbots who had passed away, or “Pathom Somphan” (the first abbot) who might be somewhat related to this bell in one way or the other.  As such, the word “Sang” or “Sung” is an ancient Laotian word meaning ghost-ancestor, such as the word “Sang Pho” (ghost of father), “Sang Mae” (ghost of mother), “Pu Sang Ka Sa Ya Sang Kasi” (ghost of grandfather, ghost of grandmother), etc.

 

เอกสารอ้างอิง
[1] รัตนา หนูน้อย, ฐานะของเมืองสุพรรณบุรีในประวัติศาสตร์อยุธยา ระหว่าง พ.ศ.๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๒๓๑,” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๙, ๕.
[2] ดังมีระบุเหตุการณ์ครั้งผลัดเปลี่ยนแผ่นดินจาก สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เป็น พระราเมศวร พระราชโอรส ตามด้วยเหตุการณ์ที่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จจากเมืองสุพรรณภูมิ เข้ามาครองกรุงศรีอยุธยา ความว่า ... ศักราช ๗๓๑ ระกาศก (พ.ศ ๑๙๑๒) แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระ (ราเม) ศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ครั้นเถิงศักราช ๗๓๒ จอศก (พ.ศ ๑๙๑๓) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา และท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้า เสด็จไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบุรี... ดู กรมศิลปากร, คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๕), ๔๔๓ – ๔๔๔.
[3] กรมศิลปากร. สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา - ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๑,๒. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
[4] นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ อ่านและทำคำอธิบาย นายเทิม มีเต็ม ให้คำแนะนำปรึกษา ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
[5] กรมศิลปากร, “คำอ่านจารึกบนขอบระฆัง,” วารสารศิลปากร ปีที่ ๑๑ เล่มที่ ๒ (กรกฎาคม ๒๕๑๐), ๘๔.

[6] ดูรายละเอียดใน กรมศิลปากร กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนภิเษก เล่ม ๒ (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, ๒๕๔๒), ๒๖๙.
[7] เรื่องเดียวกัน, ๒๒๔. 

บทความวิชาการ 

“จาก การเมืองไทยสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ถึง วัดพระรูป เมืองสุพรรณบุรี” 

ดร. อาสา คำภา ผู้เขียน

 

ความนำ

          วัดพระรูป เมืองสุพรรณบุรี นับเป็นตัวอย่างกรณีศึกษา การมีเรื่องเล่าเฉพาะตามขนบประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีแนวโน้มเชื่อมโยงได้กับกรอบโครง “ประวัติศาสตร์มหภาค” กล่าวคือ ในเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์มหภาคสามารถมีเรื่องราวของวัดพระรูปสอดแทรกเข้าไปได้เป็นองค์ประกอบ หรือ การที่กรอบโครงประวัติศาสตร์มหภาค จะเป็นสิ่งห่อหุ้มประเด็นอันเป็นแก่นกลาง คือ เรื่องราวของวัดพระรูป ก็ได้เช่นกันในที่นี้กรอบโครงประวัติศาสตร์มหภาค คือ การเมืองไทยสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง[1] ที่มีจุดตั้งต้นที่“พระเพทราชา” (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาซึ่งความในพระราชพงศาวดารระบุว่า มีพื้นเพเป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี และความสืบเนื่องจาก “พระเพทราชา” ถึง “พระรูป” บุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีข้อสมมุติฐานว่าคือเจ้านายสตรีพระองค์หนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระเพทราชา และอาจเป็นที่มาของชื่อ “วัดพระรูป”

 

พระเพทราชา ถิ่นฐานเดิมราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่สุพรรณบุรี

          ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๓๑๐) เป็นราชวงศ์สุดท้ายในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยามีปฐมกษัตริย์คือ พระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) ซึ่งเรื่องเล่ากระแสหลักระบุว่ามีถิ่นฐานเดิมเป็น  ชาวเมืองสุพรรณบุรี ดังความใน พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ที่ว่า ...ในขณะนั้น พระเพทราชา จางวางกรมช้างเป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณ์บูรีย มีบุญญาธิการมาก แลกระทำการราชการชำนิชำนาญในการศิลปศาสตร์ ขี่ช้างแกล้วกล้ายิ่งนัก...[2] ทั้งนี้ ความในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกัน เน้นย้ำอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า พระเพทราชาเป็นชาวสุพรรณบุรี ในเหตุการณ์เมื่อคราวที่บรรดาญาติวงศ์และข้าหลวงเดิมจากเมืองสุพรรณเดินทางมาแสดงความยินดีกับพระเพทราชา กษัตริย์พระองค์ใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา กระทั่งข้อสนเทศนี้ เสมือนเป็น “ภาพจำ” และ “ภาพลักษณ์” ของพระเพทราชา และจุดเริ่มต้นของราชวงศ์บ้านพลูหลวง

          ...ขณะนั้นส่วนพระญาติวงศ์แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายซึ่งอยู่ ณ บ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรีย์ แจ้งว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ผ่านพิภพแล้ว ต่างคน ต่างชื่นชมยินดียิ่งนักจึงชวนกันหามัจฉามังสาแลผลตาลแก่อ่อน สิ่งของต่างๆ ตามมีประสาชนบทประเทศบ้านนอก นำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เหล่าพระญาติวงศานุวงศ์ แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายเข้ามาในพระราชวัง ... แลพระญาติวงศานุวงศ์แลข้าหลวงเดิมทั้งหลายเป็นชาวชนบทประเทศบ้านนอก มิได้รู้จักเพชรทูลตามธรรมเนียมประการใดไม่ เคยพูดจา แต่ก่อนอย่างไรก็พูดจาเพชรทูลดังนั้น แล้วว่าตูค่าทั้งหลายรู้ว่านายท่านได้เป็นเจ้า ก็ยินลากยินดียิ่งนัก ชวนกันเข้ามาเพื่อจะชมบุญนายท่าน แลซึ่งตายายผู้เฒ่าผู้แก่คนนั้นๆ พ่อแม่ไอ้นั่นอีนั่นป่วยเจ็บอยู่เข้ามาไม่ได้ ได้ฝากแต่สิ่งของอันนั้นเข้ามาให้กำนันนายท่านด้วย...[3]

          ในขณะที่พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ชี้ชวนให้เห็นชาติภูมิของพระเพทราชาที่เป็นชาวชนบท ประเทศจากเมืองสุพรรณ ทว่า มีบางกระแสที่เห็นค้านว่า แท้จริงแล้วพระเพทราชาเป็นเชื้อสายผู้ดีกรุงศรีอยุธยา หลักฐานในพระราชพงศาวดารอีกฉบับ (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)) ระบุไว้ว่า พระเพทราชาทรงสร้างวัดบรมพุทธาราม บนพื้นที่นิวาสสถาน (บ้านเดิม) เมื่อครั้งยังเป็นขุนนางตำแหน่งเจ้ากรมพระคชบาล ณ บ้านป่าตอง (ปัจจุบันคือพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา) โดยหลังปราบดาภิเษก พ.ศ. ๒๒๓๑ พระองค์ยกพื้นที่นี้เป็นพระอารามหลวง รับสั่งให้ หมื่นจันทราชช่างเคลือบ ให้เคลือบกระเบื้องสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ[4] พระอารามแห่งนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ”[5] ขณะที่พระเพทราชาในหลักฐานต่างชาติก็ดูจะมิได้เป็นชาวบ้านชนบทแต่อย่างใด เอกสาร ลาลูแบร์ ระบุว่า ...ตระกูลของเขาได้อยู่ในตำแหน่งอันสูงยิ่งมานาน และมักสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินเสมอ... บันทึกของตูร์แปง ถึงกับกับกล่าวว่า พระเพทราชานั้นเป็นพระญาติกับพระนารายณ์อาจถึงขั้นลูกพี่ลูกน้องด้วยซ้ำ ในเอกสารไทยมารดาของพระเพทราชาถูกระบุว่าเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์ และพระภคินีองค์หนึ่งก็ได้ถวายตัวเป็นพระสนมในสมเด็จพระนารายณ์[6] ข้อสนเทศเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตระกูลของพระเพทราชาหาใช่บุคคลที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า

 

วัดบรมพุทธาราม ตั้งอยู่ใจกลางเกาะเมืองอยุธยา ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ กรมศิลปากรได้บูรณะและขุดแต่งเพื่อตรวจหารากฐานเดิมได้พบกระเบื้องเคลือบรูปครุฑหน้าสิงห์รูปเทพพนมเคลือบสีเหลืองแกมเขียว

เป็นหลักฐานยืนยันว่าวัดนี้เคยมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง (แกมเขียว) ตามที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดาร

ที่มาภาพ: กำพล จำปาพันธ์, อยุธยาจากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก (กรุงเทพมหานคร: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๙), ๒๓๔.

 

          อย่างไรก็ตาม เรื่องพระเพทราชาเป็นเมืองชาวสุพรรณบุรี ยังคงดำรงอยู่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก โดยเฉพาะความเกี่ยวข้องของตำแหน่ง สมุหพระคชบาลจางวางขวา (ราชทินนามที่ “พระเพทราชา”[7])กับ เมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับงานราชการช้างหลวง-ช้างต้น ในประวัติศาสตร์อยุธยา ไม่ว่าจะเป็นการจับช้าง (วังช้าง) ฝึกหัดควบคุมช้าง กระทั่งงานไพร่ส่วยเกี่ยวหญ้าช้างหญ้าม้า ก็มีระบุว่าเกณฑ์ให้ทำที่เมืองสุพรรณบุรี[8] ประเด็นนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยตั้งข้อสังเกตว่า พระเพทราชาอาจมีเครือญาติทางมารดาเป็นตระกูลผู้ดีกรุงศรีอยุธยา ขณะที่เครือญาติทางทางฝั่งบิดาอยู่ที่ “บ้านพลูหลวง” เมืองสุพรรณบุรี[9] มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานของกรมช้าง (ขวา) สืบตระกูลสืบวิชาความรู้เกี่ยวกับการคุมช้างมายาวนาน กระทั่งเป็นขุมกำลังในการทำรัฐประหารเปลี่ยนผ่านราชวงศ์[10] ทั้งนี้ บุคคลหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญให้กับสมเด็จพระเพทราชา คือ นายจบคชประสิทธิ์ศิลป์ นายทรงบาศขวาในกรมช้าง ที่ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ก็นับเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องวิทยาอาคมในการควบคุมช้าง  ทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมช้างต้นทำหน้าที่ควบคุมดูแลช้างถวายแด่พระเพทราชาด้วย[11] จะเห็นได้ว่ากลุ่มอำนาจที่ใกล้ชิดกับพระเพทราชา แต่เดิมล้วนเกี่ยวข้องกับ “กรมช้าง” มาก่อน   

          นอกจากความเกี่ยวข้องกับกรมช้างแล้ว ทุกวันนี้ที่เมืองสุพรรณฯ ได้เกิดเรื่องเล่ามุขปาฐะเกี่ยวกับโบราณวัตถุสิ่งของที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของพระเพทราชาอย่างมีสีสัน เช่น “เสลี่ยงพระเพทราชา” ที่วัดกุฎีทอง กับตำนานชายเลี้ยงช้างคนหนึ่ง (บ้างว่าชื่อ “นายสิงห์”) ที่มานอนหลับอยู่ที่วัดเซิงหวาย (ชื่อเก่าของวัดกุฎีทอง) ชายผู้นี้นอนกรนเป็นเสียงดนตรี เจ้าอาวาสวัดเซิงหวายพิจารณาดูลักษณะแล้วได้ทำนายว่า “ขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ต่อไปวันข้างหน้าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตในแผ่นดิน” ชายผู้นั้นพูดว่า “ถ้าเป็นจริงดั่งคำกล่าวของท่านอาจารย์ จะกลับมาสร้างกุฏิทองถวาย” ต่อมาชายผู้นี้เข้าสมัครเป็นทหารในกองช้างของสมเด็จพระนารายณ์และได้เป็นเจ้ากรมช้าง และท้ายสุดชายผู้นี้ก็ได้ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยานาม “พระเพทราชา” และโปรดให้คนมาสร้างกุฏิเป็นทอง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อวัดเซิงหวายเป็น “วัดกุฎีทอง” ในการนี้พระเพทราชายังได้เสด็จมาสมโภชเฉลิมฉลองวัดกุฎีทอง และพระราชทานพระราชยาน (เสลี่ยง) ที่ประทับไว้เป็นสมบัติของวัดมิได้ทรงนำกลับไป ซึ่งเสลี่ยงนี้ทางวัดยังเก็บรักษาและบูรณะปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน[12]

          เช่นกันที่ทุกวันนี้ยังคงมีประเด็นถกเถียงว่า ถิ่นฐานบ้านเกิดของพระเพทราชาอยู่ที่ใดของเมืองสุพรรณ กันแน่ บ้างเชื่อว่าคือ “บ้านโพหลวง” ชุมชนลาวในอดีตทางทิศเหนือของเมืองสุพรรณ ระหว่างหัวเวียงกับวัดสำปะซิวที่ฝ่ายปกครองส่วนจังหวัดถึงกับพยายามเปลี่ยนชื่อชุมชนเพื่อให้รับสอดกับ “บ้านพลูหลวง” ตามพระราชพงศาวดาร[13] บ้างอ้างอิงวรรณกรรม “ขุนช้างขุนแผน” ที่ระบุว่าบริเวณ “คอกใหญ่” ใกล้วัดประตูสาร และวัดพระรูป ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี คือ “หย่อมย่านบ้านขุนช้าง” (คำว่า “ขุนช้าง” ก็คือชื่อลำลองของเจ้ากรมช้าง หรือ “เพทราชา”) นอกจากนี้ สถานที่ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับถิ่นฐานเดิมของพระเพทราชายังอาจเป็นได้ทั้ง “บ้านรัดช้าง” ชุมชนคนเลี้ยงช้างหลวงที่ผ่านการฝึกฝนใช้งานในราชการและอยู่ไม่ห่างจากบ้านโพหลวง หรืออาจเป็น “ท่าโขลง” ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ด้านทิศใต้ของเมืองสุพรรณ เยื้องกับวัดกุฎีทอง ซึ่งในอดีตสถานที่นี้คือจุดต้อนโขลงช้างป่าจากแถบเมืองอู่ทอง ข้ามแม่น้ำสุพรรณบุรีเพื่อเดินตัดผ่านข้ามทุ่งเขตเมืองอ่างทองไปเข้าเพนียดที่กรุงศรีอยุธยา ข้อมูลเหล่านี้มีปรากฏในโคลงนิราศสุพรรณบุรีของสุนทรภู่[14] จะเห็นได้ว่าข้อสมมุติฐานที่เชื่อมโยงกับพระเพทราชา ล้วนสัมพันธ์กับภูมินามสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับ “ช้าง” และ “กรมคชบาล” นี้เองที่อาจเป็น “จิ๊กซอว์” ประวัติศาสตร์ ที่ทำให้จุดเริ่มต้นของราชวงศ์บ้านพลูหลวงมีความเกี่ยวข้องกับเมืองสุพรรณบุรี

 

 

เสลี่ยงพระเพทราชา ที่วัดกุฎีทอง จ.สุพรรณบุรี กับเรื่องเล่ามุขปาฐะพระเพทราชาเป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะพิจารณาว่า รูปแบบศิลปะของเสลี่ยงน่าจะสืบย้อนไปไม่ไกลถึงอยุธยา โดยอาจกำหนดอายุได้ประมาณรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ที่มาภาพ: เสมียนอัคนี, พระเพทราชา กับตำนาน “ชายนอนหลับ” ชื่อ “สิงห์” และ “เสลี่ยง” วัดกุฎีทอง สุพรรณบุรี https://www.silpamag.com/history/article_๑๖๗๙๗,

เข้าถึงเมื่อ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕.

 

แผนที่เมืองสุพรรณบุรี สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๙ ปรากฏชื่อ “บ้านโพหลวง” ทั้งสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ปัจจุบัน “บ้านพลูหลวง”

ที่เกิดขึ้นจากทางราชการฝ่ายปกครอง อยู่ในตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง แถบวัดสารภี บริเวณด้านทิศเหนือของกำแพงเมืองสุพรรณบุรี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี

ที่มาภาพ: สุจิตต์ วงษ์เทศ, บ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณ “ช้างป่าต้น” ไปอยุธยา, https://www.matichonweekly.com/column/article_๒๘๐๑๖๓, เข้าถึงเมื่อ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕.

 

การเมืองในราชสำนักอยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง

          ประวัติศาสตร์อยุธยาสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง คือภาพความผันผวนและการช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นปกครองภายใต้โครงสร้างทางการเมืองระบบ “เจ้าทรงกรม” หรือ “กรมเจ้า” ซึ่งเป็นเครื่องมือและกลไกทางอำนาจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายราชวงศ์ปราสาททอง ต่อเนื่องราชวงศ์บ้านพลูหลวง เพื่อใช้คานอำนาจกับฝ่ายขุนนางคุมกำลัง[15] เนื่องจากในสมัยอยุธยานับแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถลงมา ขุนนางฝ่ายปกครองที่คุมกำลังมักท้าทายอำนาจกษัตริย์อยู่เสมอ ควรกล่าวด้วยว่า ปฐมกษัตริย์ของสองราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา คือ พระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๒-๒๑๙๙) (ราชวงศ์ปราสาททอง) และ พระเพทราชา (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) ล้วนอยู่ในตำแหน่งขุนนางฝ่ายคุมกำลังทั้งสิ้น โดยก่อนปราบดาภิเษก พระเจ้าปราสาททอง เคยดำรงตำแหน่งที่ สมุหกลาโหม (ออกญากลาโหม) ขณะที่พระเพทราชา ก็เคยเป็น สมุหพระคชบาล หรือ เจ้ากรมช้าง ซึ่งคุมทั้งไพร่พลและช้าง[16] ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พระมหากษัตริย์อยุธยาในสองราชวงศ์สุดท้ายจึงต้องพยายามลิดรอนอำนาจการคุมไพร่พลของขุนนาง

          ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง มีการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้าสู่ระบบราชการเป็นขุนนางชำนัญการแทนที่ขุนนางฝ่ายปกครองที่คุมกำลังไพร่พล ขุนนางต่างชาติเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากกว่า แรกเริ่มชาวต่างชาติอาจอยู่ในกลุ่มกองทหารอาสาและมักถูกใช้เป็นราชองครักษ์ไปในตัว ทว่า ต่อมาพวกเขา ซึ่งน่าไว้วางใจกว่าขุนนางไทย (ในสายตากษัตริย์) เริ่มคืบคลานขึ้นไปกินตำแหน่งในฝ่ายปกครอง ดังจะพบว่าใน พ.ศ. ๒๑๗๙ ขุนนางตำแหน่งออกญาพิชิตซึ่งมีอำนาจสูง (คงจะในกรมพระคลัง) นั้นเป็นแขก เข้าใจว่าเป็นชาติอิหร่าน เช่นกันที่ในรัชกาลต่อมา คือ สมัยพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๓๓๑) เป็นที่รับรู้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับเหล่าขุนนางต่างชาติ ตัวอย่างเช่น อากา มุฮัมมัด หัวหน้าประชาคมอิหร่านที่ได้ดำรงตำแหน่งพระคลัง[17] และที่มีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ก็คือ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ กะลาสีนักแสวงโชคชาวกรีก ผู้มากด้วยเล่ห์เหลี่ยมและความสามารถที่ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งถึงสมุหนายกในช่วงปลายรัชกาลพระนารายณ์ และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับขุนนางท้องถิ่นที่คุมกำลัง ถึงกับฟอลคอนนั้นเคยมีเรื่องวิวาทชกต่อยกับ หลวงสรศักดิ์ บุตรชายพระเพทราชามาแล้ว  

          อย่างไรก็ตาม ในที่สุดราชวงศ์ปราสาททองและฟอลคอนก็ถูกโค่นล้มโดยขุนนางฝ่ายคุมกำลังซึ่งก็คือ พระเพทราชา ผู้ซึ่งเรียนรู้และปฏิเสธกลไกการคานอำนาจกับขุนนางไทยโดยใช้ขุนนางต่างชาติหากแต่เน้นไปที่ระบบ “เจ้าทรงกรม” หรือ “กรมเจ้า” โดยการถ่ายโอนการควบคุมกำลังคนที่เคยอยู่ในมือขุนนางให้มาอยู่ที่เจ้านาย พระบรมวงศานุวงศ์[18] ทั้งนี้ ในระยะแรกของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ระบบ “เจ้าทรงกรม” เป็นไปในลักษณะ “กรมใหญ่แต่น้อยกรม” ที่สำคัญคือ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” (วังหน้า) และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) อย่างไรก็ตาม เมื่ออำนาจมากระจุกที่กรมเจ้าขนาดใหญ่ที่สุดแล้วสถาบันทางการเมืองนี้ก็เป็นภัยคุกคามพระราชอำนาจของกษัตริย์ ดังกรณี หลวงสรศักดิ์ โอรสพระเพทราชา (บุคคลที่ “นิทานการเมือง” ซุบซิบโดยตลอดว่าเป็นโอรสลับพระนารายณ์) ที่ได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์แรก กรมพระราชวังบวรฯ ผู้นี้ไม่รั้งรอในการที่จะกำจัดผู้ร่วมมือในการสนับสนุนพระเพทราชา เมื่อเห็นว่ากลุ่มอำนาจนั้นอาจเป็นเสี้ยนหนามแก่ตน เริ่มต้นจากนายจบคชประสิทธิ์ศิลป์ ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) และเจ้าพระยาสุรสงคราม พระราชพงศาวดารระบุว่า กรมพระราชวังบวรฯ ออกอุบายให้นำ “ถาดทอง” จากพระราชวังหลวงไปซ่อนไว้ในวังหลังแล้วประกาศว่าถาดทองของพระราชวังหลวงหายไป จนกระทั่งไปตรวจพบที่วังหลัง เป็นเหตุให้นายจบคชประสิทธิ์ศิลป์ถูกสำเร็จโทษในที่สุด นอกจากนี้ ยังถือโอกาสประหารชีวิต เจ้าพระยาสุร สงคราม ซึ่งได้ออกมาคัดค้านการประหารนายจบคชประสิทธิ์ศิลป์อีกด้วย กล่าวกันว่าเหตุที่กลุ่ม “วังหลัง” ถูกกำจัด ครั้งนี้ พระเพทราชาทรงเห็นชอบด้วยเนื่องจาก “เกรงจะเป็นศัตรูแก่ราชสมบัติ”[19]

          อีกคราหนึ่งคือเมื่อ เจ้าพระขวัญ โอรสพระเพทราชาที่ประสูติแต่ กรมหลวงโยธาทิพ อัครมเหสีฝ่ายขวา พระภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ เป็นที่นิยมนับถือของขุนนางและประชาชนทั่วไป อีกทั้งพระเพทราชาก็โปรดจะให้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ เจ้าพระขวัญ ก็ถูกกรมพระราชวังบวรฯ และโอรสทั้งสองลวงไปสังหารเสีย[20] ครั้งนั้นพระเพทราชาพิโรธมาก ถึงกับจะยกพระราชสมบัติให้พระราชนัดดา คือ เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์ (บ้างออกชื่อว่า “เจ้าพระพิไชยสุรินทร”) แต่เมื่อพระเพทราชาสวรรคต เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์ก็ไม่กล้ารับราชสมบัติ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าเสือ[21] (พ.ศ. ๒๒๔๖-๒๒๕๑)                                                

          บางครั้งปัญหาเรื่องการสืบราชสมบัติได้นำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง กรมพระราชวังบวร สถานมงคล ที่บ่อยครั้งก็ไม่ได้เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์แต่เป็นพระอนุชา กับ พระราชโอรสของกษัตริย์ ดังช่วงเปลี่ยนผ่านแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. ๒๒๗๕ ที่เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์ โอรสในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กับ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) พระอนุชาในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นสงครามใหญ่ที่อยุธยาสูญเสียไพร่พลมากที่สุด บางส่วนของพระบรมมหาราชวังถูกทำลาย สงครามยุติลงด้วยความปราชัยของฝ่ายพระราชโอรสพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร) เสวยราชสมบัติเป็น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕-๒๓๐๑) ครั้งนั้น เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์ และขุนนางจำนวนมากถูกกวาดล้าง ที่ระบุชื่อได้สำคัญ คือ พระองค์เจ้าแก้ว พระยาพิชัยราชา (เสม) พระยายมราช (พูน) นายสังราชาภิบาล[22] ฯลฯ ใน คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่า ...พวกพ้องของเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ ซึ่งหนีซุกซ่อนไปตามทิศต่างๆ ที่ตามจับได้ก็ให้ประหารชีวิตเสียสิ้น...[23]

          เนื่องจาก พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเคยดำรงตำแหน่งที่ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” มาก่อน พระองค์จึงทรงตระหนักดีว่า อำนาจของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้นมีมากเกินไปจนสามารถเป็น  “หอกข้างแคร่” ของพระมหากษัตริย์ ในรัชกาลนี้ ระบบ “เจ้าทรงกรม” หรือ “กรมเจ้า” จึงปรับเปลี่ยนจาก “กรมใหญ่แต่น้อยกรม” มาเป็น “กรมเล็กแต่มากกรม” เพื่อทอนอำนาจการคุมกำลังคนของเจ้านาย ที่ทรงกรมใหญ่ไปสู่เจ้านายระดับรองลงมา ประเด็นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยมีพระวินิจฉัยเรื่อง “กรมเจ้า” ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่าประกอบด้วย ๔ ชั้น ได้แก่ “กรมพระ” สำหรับพระมหาอุปราช กรมพระราชวังหลัง และสมเด็จพระชนนีพันปีหลวง “กรมหลวง” สำหรับพระมเหสี พระบัณฑูรน้อย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ “กรมขุน” สำหรับพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ และ “กรมหมื่น” สำหรับพระเจ้าลูกเธอ และเจ้าพระญาติ[24] 

          ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏตำแหน่ง “เจ้าทรงกรม” มากมาย พระมหากษัตริย์ทรงแบ่งสันให้พระราชโอรสทุกพระองค์ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมอย่างทั่วถึง ตามพระอิสริยยศสูงต่ำไปตามศักดิ์ของพระราชมารดา นั่นคือ พระราชโอรสที่ประสูติจากพระมเหสี ให้ได้รับอิสริยยศเป็น “กรมขุน” ประกอบด้วย กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กรมขุนอนุรักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าเอกทัศน์) และกรมขุนพรพินิต  (เจ้าฟ้าอุทุมพร) นอกจากนี้ ยังมีเจ้าทรงกรมในระดับพระองค์เจ้า คือเจ้านายที่มิได้ประสูติจากพระอัครมเหสี ได้รับพระอิสริยยศรองลงมาเป็น “กรมหมื่น” ประกอบด้วย กรมหมื่นเทพพิพิธ (พระองค์เจ้าแขก) กรมหมื่นจิตรสุนทร (พระองค์เจ้ามังคุด) กรมหมื่นสุนทรเทพ (พระองค์เจ้ารถ) และ กรมหมื่นเสพภักดี (พระองค์เจ้าปาน)[25] ไม่เพียงเท่านั้นตำแหน่ง “เจ้าทรงกรม” ยังมีการถวายให้กับเจ้านายที่ผนวชเป็น “เจ้าพระ” อีกด้วย ดังกรณี เจ้าฟ้านเรนทร์ พระโอรสในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ผู้เป็นพระอนุชาในเจ้าฟ้าอภัย เจ้านายพระองค์นี้ผนวชแต่เมื่อครั้งพระเจ้าท้ายสระยังทรงครองราชย์ พระราชพงศาวดารระบุว่า เจ้าฟ้านเรนทร์ เป็นพระราชนัดดาที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดปรานมากเป็นพิเศษ อาจด้วยเพราะมิได้ทรงฝักใฝ่ในอำนาจการเมืองเท่ากับที่ทรงเลื่อมใสในรสพระธรรม ถึงกับเมื่อคราวเกิดสงครามกลางเมืองคราวเปลี่ยนผ่านแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หากราชสมบัติจะตกแก่พระนัดดาผู้นี้ (เจ้าฟ้านเรนทร์) พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ เจ้าฟ้าพรในเวลานั้น “จึ่งจะยอมให้”[26] ทั้งนี้ ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าฟ้านเรนทร์ ทรงรับฐานานุศักดิ์ทรงกรมเป็น กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ โดยที่ยังอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์[27]

          กระนั้นก็ตาม แม้สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะมีการตั้ง “เจ้าทรงกรม” ในลักษณะ “กรมเล็ก แต่มากกรม” เพื่อถ่วงดุลอำนาจกัน ทว่า ปัญหาความขัดแย้งและช่วงชิงอำนาจในหมู่ผู้ปกครองก็หาหมดไป ดังจะพบว่าระหว่าง พ.ศ. ๒๒๔๘-๒๒๙๘ การเมืองในราชสำนักเกิดความผันผวนต่างจากช่วงต้นรัชกาลหลายประการ กล่าวคือ กลุ่มเจ้าต่างกรมได้แบ่งแยกออกเป็น ๒ กลุ่มอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือ กรมขุนเสนาพิทักษ์ ที่มี กรมขุนอนุรักษ์มนตรี กรมขุนพรพินิต และกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นผู้สนับสนุน กับอีกฝ่ายที่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ กลุ่มของ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี หรือกลุ่ม “เจ้าสามกรม” อีกทั้งในเวลาต่อมาความขัดแย้งนี้ ยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นเมื่อมีการดึงอำนาจจากขุนนางเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมในความขัดแย้ง การห้ำหั่นในหมู่ “เจ้าทรงกรม” เกิดขึ้นหลังพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต[28] สิ่งนี้ดูจะเป็นภาพจำทางประวัติศาสตร์กับคำอธิบายที่ว่า ความขัดแย้งภายในนี้นับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้กรุงศรีอยุธยามีความอ่อนแอ รอวันล่มสลายเมื่อเผชิญกับปัจจัยภายนอกคือสงครามพม่า อันเป็นเหตุของการเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐

          อาจกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์สามัญทางการเมืองตลอดสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง คือ การคุมเชิงหวาดระแวงแย่งชิงอำนาจในชนชั้นปกครอง อันเป็นเหตุให้โครงสร้างอำนาจและระบบราชการกรุงศรีอยุธยาเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ประเด็นนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยวิเคราะห์ไว้ว่าภาวะไร้เสถียรภาพนี้ ส่งผลให้ระบบป้องกันตนเองของอยุธยาได้พังทลายลงไปก่อนหน้าที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าแล้วด้วยซ้ำ[29] เช่นกันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยทรงมีพระราชวินิจฉัยถึงสถานการณ์เมื่อครั้งต้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดังความในเอกสาร พระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพกับพระราชพงศาวดาร พระราชนิพนธ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ความว่า ...เจ้าแผ่นดินดูกลัวแถบข้างวังหลวงมาก จะเสด็จออกจากวัง เสมอน่าจักรวรรดิก็ต้องรีบกลับ อยู่ได้เพียงชั่วโมงหนึ่งเป็นอย่างช้า แลข้าราชการก็ร่วงโรยเบาบาง เพราะฆ่ากันมาเสียหลายแผ่นดินแล้ว...

          อนึ่ง ในเอกสารเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระราชอรรถาธิบายไว้ถึงการ “ฆ่ากันมาเสียหลายแผ่นดิน” อันเป็นเหตุให้บ้านเมืองร่วงโรย สภาวการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๕๔-๒๑๗๑) และจะเกิดขึ้นอย่างถี่กระชั้นในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง

          ... แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ฆ่าขุนนางเก่าครั้งแผ่นดินเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ฆ่าขุนนางพวกพระเชษฐา แต่เห็นจะน้อย แผ่นดินพระนารายน์ ฆ่าขุนนางที่เปนพวกเจ้าฟ้าไชยและพระศรีสุธรรมราชา เห็นจะเกือบหมด เปลี่ยนใหม่ทั้งสำรับ แผ่นดินพระเพทราชา ฆ่าขุนนางแผ่นดินพระนารายน์หย่อยมาจนถึงไปตีนครราชสีมา เห็นจะเรียกว่า เกือบหมดได้ แผ่นดินขุนหลวงเสือ เห็นจะฆ่ามาก เพราะคนนิยมเจ้าพระขวัญฤๅพวกเจ้าพระพิไชยสุรินทร์จะเปนขุนนางอยู่ไม่ได้ แผ่นดินขุนหลวงท้ายสระ เคราะห์ดี ไม่ต้องฆ่าใคร แต่ขุนนางแผ่นดินขุนหลวงเสือ เห็นจะมีน้อยเพราะอยู่ในราชสมบัติน้อย ตั้งไม่ทันเต็มที่ แผ่นดิน ขุนหลวงบรมโกษฐ ชาววังหลวงเห็นจะตายเกือบหมด แต่สมุหนายกยังถอดเปน พระยาราชนายก ซึ่งนับว่า เปนคนออกหน้าค่าชื่ออยู่คนเดียว เพราะฉนั้น ขุนนางตามในจดหมายตำรานี้จึงได้ร่องแร่ง เพราะแรกเสวยราชย์หาคนตั้งไม่ทัน ฤๅตั้งผู้ใดขึ้นก็ไม่รู้ตำราเก่าเลยทั้งสิ้น คิดดูในระหว่าง ๙๐ ปี ฆ่าเททิ้งกันเสียถึง ๗ ครั้ง เกือบปน ๑๓ ปีฆ่ากันครั้งหนึ่ง ฤๅถ้ารอดตาย ก็กลายเปนไพร่หลวงแลตะพุ่นหญ้าช้าง ถ้าจะนับพวกที่ไม่ตาย ก็ต้องว่า ผู้ดีกลายเปนไพร่ ๆ กลายเปนผู้ดีถึง ๗ ครั้งใน ๙๐ ปีนั้น ฯ...[30]

 

เอกสาร พระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพกับพระราชพงศาวดาร ไม่เพียงชี้ชวนให้เห็นภาพความปั่นป่วนทางการเมืองของราชสำนักอยุธยา

นยุคปลายจากทัศนะของชนชั้นนำไทย สมัยรัชกาลที่ ๕ หากยังบ่งชี้ร่องรอยเกี่ยวกับ “พระรูป” ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาด้วย

 

เมืองสุพรรณ ในฐานะ “แดนเนรเทศ” “ที่หลบราชภัย”

          วารุณี โอสถารมย์ เคยตั้งขอสังเกตไว้ในงานวิจัยเรื่อง ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณฯ ว่า หลายครั้งที่ความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจการเมืองในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา มักมีสุพรรณบุรีเข้าไปอยู่ใน           หน้าประวัติศาสตร์ในฐานะ “พื้นที่ชนบทลี้ภัยทางการเมือง” เนื่องจากเมืองสุพรรณฯ มีอำนาจท้องถิ่นในการปกป้องตัวเองในลักษณะ “บ้านส้อง” “เมืองชุม” มาแต่โบราณ สิ่งนี้น่าจะเป็นผลสืบเนื่องจาก                 ภาวะสงครามไทย-พม่า ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยเมืองสุพรรณบุรีอยู่บนเส้นทางเดินทัพพม่า เมืองนี้จึงเป็นหน้าด่านรับศึกป้องกันอยุธยาทางด้านตะวันตก และเนื่องจากเมืองสุพรรณฯ อยู่ในเขตปริมณฑลราชธานี จึงส่งผลต่อประชากรที่หากไม่ถูกเกณฑ์ไปเพื่อป้องกันพระนครที่อยุธยา ก็มักถูกกวาดต้อนไปเป็น เชลยศึกพม่า เงื่อนไขนี้เองทำให้ผู้คนต่างต้องแสวงหาทางเอาตัวรอดหลบหลีกทั้งจากอำนาจรัฐและข้าศึกไปตั้งเป็นส้องบ้าง ชุมบ้าง ประกอบกับนโยบายของกรุงศรีอยุธยาที่พยายามลดความสำคัญของเมืองสุพรรณฯ นับตั้งแต่สงครามคราวเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. ๒๐๙๑ ทั้งการรื้อกำแพงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรี การตัดทอนไพร่เมืองสุพรรณฯ ไปตั้งเมืองใหม่ ฯลฯ สภาวการณ์เหล่านี้ ทำให้เมืองสุพรรณฯ ถูกละทิ้งให้กลายเป็น “ชนบทประเทศ” ทว่า ด้านหนึ่งเงื่อนไขนี้ก็บ่มเพาะวัฒนธรรมการปกป้องตนเองของผู้คนแถบนี้ให้เป็น “อิสระเชิงสัมพัทธ์” กับ อำนาจส่วนกลางที่อยุธยาอยู่ในที[31] 

            ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เมืองสุพรรณฯ น่าจะมีสถานะเป็นเขตชนบทที่ส่วนกลางใช้เป็นสถานที่เนรเทศนักโทษการเมืองให้มาตั้งชุมชน จากเงื่อนไขความขัดแย้งการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อคราวเกิดกบฏพระศรีศิลป์ พระอนุชาซึ่งถูกสำเร็จโทษโดยท่อนจันทน์ เหล่าขุนนางที่เข้าด้วยกับพระศรีศิลป์ ล้วนถูกต้องโทษประหาร หากแต่พระพรหมซึ่งเป็นพระสงฆ์เถระชั้นผู้ใหญ่ผู้เป็นอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์ได้ขอพระราชทานเว้นโทษคนเหล่านั้น พระองค์จึงโปรดยกให้ ...แต่ให้ส่งไปเป็นพวกเกี่ยวหญ้าช้างหญ้าม้าเมืองสุพรรณบุรี เมืองสุพรรณบุรีจึงเป็นส่วยหญ้าช้างหญ้าม้ามาแต่คราวนั้น...[32] การส่งนักโทษการเมืองพร้อมครัวอดีตขุนนางเก่ามาตั้งถิ่นฐานและรับโทษทัณฑ์ที่เมืองนี้ยังเป็นข้อมูลที่แสดงถึงลักษณะการจัดตั้งกลุ่มกำลังที่ทำการปกครองตัดสินคดีความดูแลกันเอง ทำให้เกิดอำนาจท้องถิ่นในระดับชุมชนย่อยที่เป็นอำนาจแอบแฝง บางครั้งกลุ่มอำนาจเหล่านี้อาจทำการต่อต้านอำนาจของท้องถิ่นที่เป็นทางการอย่างตรงไปตรงมา แต่ราชธานีก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงตราบเท่าที่การแสดงออกซึ่งอำนาจนั้นไม่ได้ท้าทายราชธานี สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดการส้องสุมกำลังคนแบบไม่เป็นทางการ[33]

          สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง หลายครั้งที่เมืองสุพรรณฯ ยังมีฐานะเสมือน “ที่หลบราชภัย” จากความขัดแย้งทางการเมืองในราชสำนัก ดังเหตุการณ์ในช่วงปลายรัชสมัยพระเพทราชา มีเหตุการณ์แย่งราชสมบัติระหว่างพระราชโอรสสององค์ จนความทราบถึง หลวงสรศักดิ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงให้ประหารชีวิต ปรากฏว่าขุนนางที่เข้าด้วยมีนายพูนซึ่งเคยเป็นที่พระยายมราช ได้หนีไปบวชยังแขวงเมืองสุพรรณฯ แต่ท้ายสุดถูกจับกุมตัวได้และให้ประหารชีวิต[34] เช่นกันในคราวสงครามกลางเมืองหลังสิ้นรัชกาล พระเจ้าท้ายสระ พ.ศ. ๒๒๗๕ เจ้าฟ้าพร พระอนุชา ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รบกับเจ้าฟ้าอภัย โอรสในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เจ้าฟ้าอภัยสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไป ขุนนางที่สนับสนุนเจ้าฟ้าอภัยสองคน คือ พระยาพิชัยราชา (เสม) และพระยายมราช (พูน) เมื่อเห็นผู้เป็นเจ้านายหนีทั้งคู่จึงหนีไปบวชเป็นภิกษุที่แขวงเมืองสุพรรณบุรี แต่ถูกจับกุมตัวได้และถูกสังหารที่วัดฝาง[35] ทั้งนี้ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ด้วยเมืองสุพรรณ คือถิ่นฐานเดิมของต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง บรรดาข้าไทเดิมในพระเพทราชาที่รับราชการสืบตระกูลมา จึงอาจมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สุพรรณบุรี การหนีราชภัยกลับไปตั้งหลักที่เมืองสุพรรณ อาจเป็นข้อบ่งชี้ในประเด็นนี้ไม่มากก็น้อย ไม่เพียงเท่านั้น เจ้านายแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงเองก็น่าจะมีความผูกพันกับสุพรรณบุรีในฐานะเมืองต้นราชวงศ์ ซึ่งทำให้น่าจะมีการเสด็จฯ ไปมาหาสู่แต่เมืองสุพรรณต่อเนื่องมา แม้จะไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรชัดเจน ทว่า วัตถุสิ่งของตลอดจนเรื่องเล่าที่เป็น “มุขปาฐะ” อาจเป็นข้อบ่งชี้เรื่องเหล่านี้ได้

 

“สมเด็จพระรูป” แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง: ที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” ?

            ชื่อ “วัดพระรูป” ถูกเรียกกันมาแต่เมื่อใดนั้นไม่เป็นที่ปรากฏ หลักฐานที่เก่าที่สุดในเวลานี้ที่กล่าวถึงชื่อวัดพระรูปปรากฏใน “โคลงนิราศสุพรรณ” ของสุนทรภู่ที่แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ ความว่า

                      ฝั่งซ้ายฝ่ายฟากโพ้น       พิศดาน

                      มีวัดพระรูปบูราณ             ท่านสร้าง

                     ที่ถัดวัดป่ะตูสาร                สงสู่อยูเอย

                     หยอ่มย่านบ้านขุนช้าง      ชิดข้างสวนบันลัง[36]

 

วัดพระรูปตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี หรือ "ฝั่งซ้าย" ของเมืองสุพรรณบุรีในทิศทวนน้ำขึ้นไป ดังคำอธิบายที่ปรากฏในโคลงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่

ในภาพคือช่วงราว พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่มีการสร้างเขื่อนริมน้ำหน้าวัดเพื่อป้องกันตลิ่ง

 

          ประเด็นนี้ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เคยวิเคราะห์ว่า เนื่องจากไม่เคยปรากฏหลักฐานว่าเมืองสุพรรณบุรีปราศจากผู้คนอยู่อาศัย ชื่อวัดพระรูปจึงน่าจะเป็นคำเรียกสืบต่อกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า[37] ทั้งนี้ ในบาทที่สองของโคลง “มีวัดพระรูปบูราณ ท่านสร้าง” ย่อมหมายถึงความเก่าแก่ของวัดที่สร้างมาแต่โบราณ และอยู่ในการรับรู้ของผู้คนในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานวัตถุต่าง ๆ เชื่อได้ว่าวัดพระรูปในเวลานั้นไม่ได้เป็นวัดร้าง แม้จะไม่ได้พระสงฆ์อยู่มากเมื่อเทียบกับวัดประตูสารที่อยู่ถัดไปก็ตาม[38]

          สำหรับความหมายของศัพท์คำว่า “พระรูป” นั้น เป็นคำโบราณคำเดียวกับ “พระรูปชี” หมายถึง “เจ้านายที่เสด็จบวชเป็นชี”[39] ดังปรากฏในหลักฐานช่วงปลายอยุธยาที่กล่าวถึงสรรพนามเจ้านายฝ่ายในว่า “พระรูป” เช่น จดหมายเหตุการณ์พระศพสมเด็จพระรูป พ.ศ. ๒๒๗๘ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ระบุว่า ...สมเดจ์พระรูปเจ้าเสรจ์นิมาฦาณ ณ่ วัดพุไทยสวัรร...[40] โดย “สมเด็จพระรูป” องค์นี้ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาสมเด็จพระนารายณ์ พระมเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งเมื่อครั้งต้นแผ่นดินพระเจ้าเสือ ...เสด็จออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดพุทไธสวรรค์...[41] อนึ่ง คำว่า “พระรูป” ยังคงใช้ตกทอดมาจนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ดังกรณี “ท่านสั้น” พระชนนีในสมเด็จพระอมรินทร์ทรามาตย์ พระอรรคมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (แม่ยายของรัชกาลที่ ๑) ซึ่งตามประวัติระบุว่าได้ผนวชเป็นรูปชี และมีพระชนม์อยู่มาจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา “ท่านสั้น” ขึ้นเป็น “สมเด็จพระรูปสิริโสภาคย์มหานาคนารี”[42] จะเห็นได้ว่าสตรีสามัญชนซึ่งมีช่วงชีวิตอยู่แต่ครั้งกรุงเก่าและมีประวัติว่าบวชเป็นชี เช่น สมเด็จพระรูปสิริโสภาคย์ฯ เมื่อได้รับการสถาปนาเป็น “เจ้า” ก็ใช้คำเรียกว่า “สมเด็จพระรูป”  

          จากข้อสันนิษฐานเรื่องคำว่า “พระรูป” ที่น่าจะมีมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และเป็นคำราชาศัพท์ ด้วยนั้น จึงน่าจะอนุมานได้ว่า ชื่อ “วัดพระรูป” น่าจะปรากฏในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากหลักฐานประเภทโบราณวัตถุสถานสำคัญในวัดไม่ว่าจะเป็น เจดีย์ พระพุทธไสยาสน์ ล้วนบ่งชี้อายุและความสำคัญของวัดพระรูปที่สืบย้อนไปถึงสมัยรัฐสุพรรณภูมิต่อเนื่องยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ประเด็นนี้ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เคยมีข้อสันนิษฐานว่า คำเรียก “วัดพระรูป” อาจมีมาแต่เมื่อครั้งที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิยังตั้งมั่นอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ โดยวัดแห่งนี้คงมีความสัมพันธ์กับเจ้านายฝ่ายในที่ออกผนวชเป็น พระรูปชี เป็นต้นว่าพระรูปชีพระองค์นั้นได้มาประทับที่วัดแห่งนี้ หรือเจ้านายที่เป็นพระญาติวงศ์ได้สร้างวัดแห่งนี้ถวายหรืออุทิศให้พระรูปชีพระองค์นั้น จึงเป็นเหตุให้ผู้คนในเขตเมืองสุพรรณฯ เรียกวัดแห่งนี้ว่าวัดพระรูป[43]

          แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เนื่องจากเอกสารหลักฐานในยุคต้นถึงกลางกรุงศรีอยุธยา ไม่ได้ปรากฏเรื่องราวเจ้านายฝ่ายในที่เสด็จออกบวชเป็นชีไว้อย่างชัดเจน ต่างกับในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่มีหลักฐานกล่าวถึง เจ้านายสตรีอย่างน้อย ๓-๔ พระองค์ ที่ได้ผนวชเป็น “พระรูป” คำเรียก “วัดพระรูป” จึงอาจเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๓๑๐) ก็เป็นได้ และเนื่องจากราชวงศ์บ้านพลูหลวงมีความสัมพันธ์กับเมืองสุพรรณบุรี ดังที่กล่าวมาข้างต้น “สมเด็จพระรูป” องค์ใดองค์หนึ่งดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จึงอาจเกี่ยวข้องกับวัดพระรูป และเป็นที่มาของชื่อ “วัดพระรูป”

          ที่วัดพระรูป เมืองสุพรรณบุรี มีโบราณวัตถุชิ้นเอกชิ้นหนึ่งคือ ระฆังสำริดขนาดความสูงรวมหางนาคหูแขวน ๘๖ ซม. เฉพาะระฆังสูง ๔๖ ซม. ปากระฆังกว้าง ๓๙.๕ ซม. น้ำหนักประมาณ ๑๐๐ กก. กำหนดเวลาที่พุทธศตวรรษที่ ๒๓ เนื่องจากปรากฏจารึกที่ขอบล่างของระฆังความว่า

 

(คำจารึก) สับภ่มัดสะดุ พุทธ่สักราชใด้ ๒๒๔๒ พระว่สา เจา แม่ธ_ท่ง พระราชะสทัธาเปันสาดนูปะถ้า ส(างระฆัง) ไวเปนพุทบูชา 

สำรับพระสาดนัาไหรูงเรองถวนเถิงห้าพนัพระวะษา ข่อจ่ง เปันปัดจัย โพทิญาณไนอะนาคตกาล

(คำอ่าน)  ศัภมัศดุพุทธศักราชได้ ๒๒๔๒ พระวรรษา เจ้าแม่ธ_ทง พระราชศรัทธาเป็นศาสนูปถัมภ์สร้างระฆังไว้เป็นพุทธบูชา       

            สำหรับพระศาสนาให้รุ่งเรือง ถ้วนเถิงห้าพันพระวรรษา ขอจง เป็นปัจจัยโพธิญาณในอนาคตกาล

 

          ข้อสนเทศสำคัญในจารึกดังกล่าวได้แก่ ปีที่สร้างคือ พ.ศ. ๒๒๔๒ ซึ่งอยู่ในรัชสมัยพระเพทราชา คำว่า “เจ้าแม่” และ “พระราชศรัทธา” ทำให้ตีความได้ว่าระฆังใบนี้สร้างโดย “เจ้านายสตรี” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และคำว่า “เจ้าแม่” ซึ่งน่าจะหมายถึงเจ้านายสตรีระดับ “ผู้ใหญ่” ในเวลานั้น ซึ่งอาจเป็นพระราชมารดา หรือ พระมเหสีในพระเพทราชาก็เป็นได้

          สำหรับพระราชมารดาในพระเพทราชา ในบันทึกความทรงจำของบาทหลวงเดอะแบส และลาลูแบร์ ระบุตรงกันว่า พระเพทราชามีมารดาเป็นพระนม (โท) ในสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชาจึงได้รับการเลี้ยงดูร่วมกันกับพระนารายณ์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์[44] และด้วยเหตุนี้เอง จึงมีสมมติฐานที่ว่า แท้จริงแล้วพระเพทราชามีเชื้อสาย “ผู้ดี” กรุงศรีอยุธยาทางสายมารดา (ขณะที่เชื้อสายเครือญาติทางทางฝั่งบิดาของพระเพทราชาอาจเป็นคนบ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณบุรี) อย่างไรก็ตาม เราไม่มีประวัติของ “พระนม” พระมารดาของพระเพทราชาผู้นี้มากนัก เช่น ไม่ทราบถึงปีที่เสียชีวิต ซึ่งอาจอยู่ในช่วงก่อนหรือหลังการขึ้นครองราชสมบัติของพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑) ก็เป็นได้ กระนั้นก็ตาม บนความเป็นไปได้ทางประวัติศาสตร์ พระราชมารดาของพระเพทราชา ก็อาจเป็น “เจ้าแม่”[45] ผู้มี “พระราชศรัทธา”  ในการสร้างระฆังใบนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๒  

          ในกรณีที่หาก “เจ้าแม่” ผู้มี “พระราชศรัทธา” คือ พระมเหสีในพระเพทราชา น่าสนใจว่าพบความ ในพระราชพงศาวดารกล่าวถึง อัครมเหสีของพระเพทราชา ๓ องค์ ที่ผนวชเป็น “พระรูป” หลังการสวรรคตของพระสวามี (พ.ศ. ๒๔๔๖) พระรูปองค์แรกคือ “กรมพระเทภามาศ” พระอัครมเหสีกลาง ผู้เป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าเสือ (หลวงสรศักดิ์) พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับบริติชมิวเซียม ระบุว่าทูลลาออกไปอยู่ตำหนักวัดดุสิต ขณะที่ พระรูปอีก ๒ องค์ คือ “กรมหลวงโยธาทิพย์” อัครมเหสีฝ่ายขวา และ “กรมหลวงโยธาเทพ” อัครมเหสีฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์เดิมในสมเด็จพระนารายณ์ ระบุว่าเสด็จออกไปประทับที่วัดพุทธไธสวรรย์ พร้อมกับโอรสพระนาม “ตรัษน้อย” ที่ผนวชเป็นภิกษุตลอดพระชนม์ชีพ

 

กรมพระเทภามาศ: สมเด็จพระรูปแห่งวัดดุสิต

          สมเด็จพระรูปองค์แรก คือ “กรมพระเทภามาศ” ทั้งนี้ เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ กรมพระเทภามาศ ผู้เขียนขอยึดตามความใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับบริติชมิวเซียม[46] ด้วยเป็นฉบับที่ปรากฏเรื่องราวของเจ้านายสตรีผู้นี้อย่างละเอียดลออกว่าฉบับอื่น ๆ ทั้งขอยึดการออกชื่อ “กรมพระเทภามาศ” ตามวิธีเขียน ในพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าว (ในขณะที่บางฉบับออกชื่อเจ้านายสตรีพระองค์นี้ว่า “กรมพระเทพามาตย์”[47] เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งผู้เขียนจะได้ใช้ประกอบ) ตามประวัติ กรมพระเทภามาศ ถูกระบุว่าเป็นภริยาเดิมของพระเพทราชาก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ดังนั้น จึงอาจเป็นชาวเมืองสุพรรณบุรีถิ่นฐานเดียวกับพระเทพราชา (หลักฐานบางชิ้นระบุชื่อเดิมของท่านว่า “กัน”[48]) เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๓๑ ทรงสถาปนาแต่งตั้งเจ้านายฝ่ายหน้าและฝ่ายในนั้นได้ ...โปรดให้พระอัครมเหสีเดิมนั้นเป็นพระอัครมเหสีกลาง... เสมอด้วย กรมหลวงโยธาทิพ พระบรมราชภคินีสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาพระนารายณ์เป็นพระอัครมเหสี ฝ่ายซ้าย[49] แสดงให้เห็นถึงความโปรดปรานที่ทรงมีต่อภรรยาเดิม มิได้ละเลยแม้เมื่อครองราชย์แล้ว

          กรมพระเทภามาศ นับเป็นสตรีที่มีบทบาทในการพยุงรากฐานความมั่นคงให้กับการสืบสันตติวงศ์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง แม้ว่าพระองค์อาจไม่มีพระประสูติกาลโอรสหรือธิดาในพระเพทราชาเลยก็ตาม พระราชพงศาวดารบันทึกบทบาทการทำหน้าที่ภรรยาขณะพระเพทราชายังเป็นขุนนางเจ้ากรมคชบาลและเป็นมารดาเลี้ยงผู้อภิบาลหลวงสรศักดิ์ตั้งแต่แรกเกิดแม้ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดแท้จริง ทั้งนี้ เกร็ดบันทึกในพระราชพงศาวดารบอกเล่าชาติกำเนิด หลวงสรศักดิ์ ว่าเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ ประสูติแต่พระธิดาเจ้าเชียงใหม่ที่ถูกกวาดต้อนนำตัวลงมาอยุธยาหลังจากสงครามอยุธยา-เชียงใหม่ พระนารายณ์โปรดยกโอรสองค์นี้ให้กับพระเพทราชาระหว่างเดินทัพ หลวงสรศักดิ์จึงถูกเลี้ยงดูเติบโตภายใต้การอภิบาลของพระเพทราชาและกรมพระเทภามาศในฐานะบิดามารดา

          การผนวชเป็น “พระรูป” ของกรมพระเทภามาศเกิดขึ้นหลังจากพระเพทราชาสวรรคต ความในพระราชพงศาวดาร ระบุถึงการที่พระองค์ทูลลาพระเจ้าเสือเพื่อเสด็จออกไปตั้งตำหนักอยู่ในที่ใกล้ พระอารามวัดดุสิต ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีตำหนักของเจ้าแม่วัดดุสิต ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ 

          ... ในขณะนั้นสมเด็จพระอัครมเหสีเดิมแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ (พระเพทราชา - ผู้เขียน) ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ได้อภิบาลบำรุงรักษาพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์นั้น ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จสวรรคตแล้ว จึงทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต แลที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เป็นที่พระตำหนักมาแต่ก่อนครั้งแผ่นดินสมเด็จพระณรายเป็นเจ้าและเป็นมารดาเจ้าพญาโกษาเหล็ก เจ้าพญาโกษาปาน ซึ่งได้ขึ้นไปช่วยกราบทูลขอพระราชทานโทษสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินขณะที่เป็นหลวงสุรศักดิ์ (หลวงสรศักดิ์ - ผู้เขียน) แลชกเอาปากพญาวิไชยเญนครั้งนั้น แลเจ้าแม่ผู้เฒ่านั้น ก็ได้ตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นี้ ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ (พระเจ้าเสือ - ผู้เขียน) แลสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงก็เสด็จไปตั้งตำหนักอยู่ในที่นั้น แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็น กรมพระเทภามาศ...[50]

          อนึ่ง การทูลลาออกไปประทับ ณ ตำหนักที่วัดดุสิตของกรมพระเทภามาศนั้น คือการดำรงสถานะที่ “สมเด็จพระรูป” พระองค์เสมือนเป็นประธานแห่งอารามวัดดุสิตที่มีเหล่า “รูปชี” ตามเสด็จไปอยู่กับพระองค์ด้วย พระราชพงศาวดารระบุถึงเจ้านายสตรีบางพระองค์ เช่น “พระองค์เจ้าแก้ว” พระธิดาอันเกิดจากพระสนมในพระเจ้าเสือ ผู้เป็นบาทบริจาริกาในพระองค์เจ้าดำ โอรสพระเพทราชาที่ตัดสินใจหลบราชภัยมาบวชเป็น “พระรูป” อยู่กับสมเด็จพระอัยกี (ย่า) หลังจากที่สวามีต้องโทษประหารชีวิตในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ความว่า ...แลพระองค์เจ้าแก้วซึ่งเป็นบริจาพระองค์เจ้าดำนั้นเป็นม่ายอยู่จึ่งเสด็จไปทรงผนวชเป็นพระรูปอยู่ ณ ตำหนักวัดดุษิดกับด้วยสมเด็จพระอัยกีกรมพระเทภามาศนั้น...[51] ข้อสนเทศนี้ แสดงให้เห็นว่า “สมเด็จพระอัยกี กรมพระเทภามาศ” ทรงครองพระองค์อยู่ในสถานะ “พระรูป” แล้วอย่างชัดเจน ทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น “ที่พึ่ง” แก่บรรดาเจ้านายสตรีในยามคับขันจากราชภัย

          ย้อนกลับไปที่ประวัติของ กรมพระเทภามาศ ยังพบว่าเจ้านายสตรีผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือพระราชนัดดา ๒ พระองค์ คือ “เจ้าฟ้าเพชร” และ “เจ้าฟ้าพร” โอรสในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (หลวงสรศักดิ์) ผู้ซึ่งจะเป็นรัชทายาทและพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงในเวลาต่อมา (เจ้าฟ้าเพชร ต่อมาคือ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ขณะที่ “เจ้าฟ้าพร” คือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) จากเหตุการณ์ที่กรมพระราชวังบวรฯ และพระราชโอรสทั้งสองลวง “เจ้าพระขวัญ” โอรสพระเพทราชาที่ประสูติแต่ กรมหลวง โยธาทิพ อัครมเหสีฝ่ายขวาไปสังหาร เป็นเหตุให้พระเพทราชาทรงพิโรธมาก[52] (อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าเกิดเมื่อครั้งต้นแผ่นดินพระเจ้าเสือ และผู้ที่ถูกสังหารคือ “ตรัสน้อย” พระโอรสในพระเพทราชาซึ่งประสูติแต่ กรมหลวงโยธาเทพ อัครมเหสีฝ่ายขวา[53] จะเห็นได้ว่า ความในพระราชพงศาวดารระหว่างฉบับนั้นมีความแตกต่างกันอยู่) และเมื่อครั้น เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพรก่อเหตุแล้ว เจ้านายทั้งสองก็รีบ ...เสด็จออกไปเฝ้ากรมพระเทพามาตย์ ณ วัดดุสิต...[54] เพื่อขอพึ่งพระบารมี ซึ่งน่าจะด้วยเหตุนี้ พระราชนัดดาทั้งสองจึงได้รับโทษทัณฑ์พอเป็นพิธีเท่านั้น อีกทั้งในเวลาต่อมาทั้งสองก็ได้รับสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรฯ และ พระบัณฑูรน้อย  

          อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดในรัชกาลพระเจ้าเสือ คราวเสด็จล้อมช้างเถื่อน ณ ตำบลบ้านหูกวาง แขวงเมืองนครสวรรค์ ครั้งนั้นโปรดฯ ให้ พระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรฯ และพระบัณฑูรน้อย ร่วมมือเป็นแม่กองตระเตรียมเส้นทางเสด็จเกณฑ์ไพร่พลไปถมถนนเป็นทางข้ามบึง แต่ด้วยระยะเวลาจำกัด มีผลให้การเสด็จพระราชดำเนินบนหลังช้างข้ามบึงที่ถมประสบปัญหาเท้าหน้าช้างต้นถลำจมลงไปในบึง พระเจ้าเสือพิโรธพระราชโอรสทั้งสองอย่างยิ่ง ทรงมีพระราชดำรัสว่า ...ไอ้สองคนนี้มันเห็นว่ากูแก่ชรา แล้วจึงชวนกันคิดเป็นขบถ แลทำถนนให้เป็นพลุหล่มไว้ หวังจะให้ช้างซึ่งกูขี่นี้เหยียบถลำหล่มล้มลง แล้วมันจะชวนกันฆ่ากูเสียหมายใจจะเอาราชสมบัติ... ความพิโรธนี้ทำให้พระเจ้าเสือถึงกับจะทรงใช้พระแสงของ้าวเงื้อจะฟันพระเศียรกรมพระราชวังบวร โชคดีที่พระบัณฑูรน้อยช่วยปัดป้องได้ แต่เจ้านายทั้งสองพระองค์ก็ถูกจับกุมฐานกบฏถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยน ณ ค่ายหลวง กำหนดให้เฆี่ยนยกหนึ่ง ๓๐ ที เช้าเย็นหนึ่งยกทุกวันจนกว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครอยุธยา[55]

          เพื่อรักษาชีวิตเจ้านายทั้งสองพระองค์ นายพลข้าหลวงเดิมจึงทูลเสนอ ...ขอพระราชทานจงดำรัสสั่ง ให้ตำรวจเอาเรือเร็วรีบลงไปทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระอัยกีกรมพระเทภามาศ ซึ่งเสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมวัดดุสิตนั้น ขึ้นมาช่วยกราบทูลขอโทษ... ครั้นกรมพระเทภามาศทราบข่าวทรงฟังดังนั้นก็ตกพระทัยและรีบเดินทางด้วยเรือพระที่นั่ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางทั้งวันและคืนถึง ๔ วันเต็ม ตามพระราชพงศาวดารระบุว่า กรมพระเทภามาศทรงปลอบประโลมเตือนพระอารมณ์พิโรธให้สงบด้วย ...อันพระราชบุตรทั้งสองนี้เป็นลูกเพื่อนทุกข์เพื่อนยากลูกมาแต่ก่อน แลซึ่งจะคิดการขบถประทุษร้ายต่อพ่อนั้นหามิได้...[56] หลังจากกราบทูลวิงวอนขอพระราชทานโทษหลายครั้ง จึงทรงยกโทษนั้นให้ เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงผ่านพ้นวิกฤติไปได้

          สมเด็จพระรูป กรมพระเทภามาศ ทรงมีพระชนม์ชีพตลอดรัชสมัยพระเจ้าเสือ (พ.ศ. ๒๒๔๖-๒๒๕๒) เมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระครองราชย์ได้ ๓ ปี “พระอัยกีเจ้ากรมเทภามาศ ซึ่งอยู่แล้วัดดุสิตนั้น  สวรรคต สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินให้แต่งการฌาปนต่าง ๆ ตามราชประเพณีแต่ก่อนปีมะโรงนั้น” นับได้ว่าบทบาทของเจ้านายสตรีพระองค์นี้ คือ ผู้จรรโลงการสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ให้เป็นไปโดยลำดับในสายพระเจ้าเสือและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ และโดยสถานะ “สมเด็จพระรูปชี” (พ.ศ. ๒๒๔๖-๒๒๕๕) พระองค์น่าจะเปี่ยมด้วยพระบารมีและพระราชทรัพย์ถึงพร้อมในการประกอบการพระราชกุศลต่าง ๆ รวมถึงทรงสามารถจรรโลงกิจการพุทธศาสนาให้กับวัดดุสิตและวัดทั้งในและนอกเมืองอยุธยา และด้วยชาติกำเนิดเดิมพระองค์บนข้อสันนิษฐานที่ว่าทรงเป็นสตรีสามัญชน ผู้เป็น “บาทบริจาริกาข้าหลวงเดิม” ที่อาจมีนิวาสสถานอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ด้วยนั้น พระองค์จึงอาจเคยเสด็จมาเมืองสุพรรณ เพื่อฉลองพระราชกุศลตามพระอารามสำคัญในเมืองนี้ ต่อประเด็นนี้ สมเด็จพระรูป กรมพระเทภามาศ จึงอาจเกี่ยวข้องกับ “วัดพระรูป” เช่น อาจเคยเสด็จมาประทับจำพรรษาหรือเป็นผู้อุปถัมภ์วัดด้วย “พระราชศรัทธา” ทั้งก่อน (เช่นการสร้างระฆังถวาย พ.ศ. ๒๒๔๒) หรือหลังการผนวชเป็นชี ก็เป็นได้

 

“ถ่ายรูปพงศาวดาร” ณ บ้านหูกวาง แขวงเมืองนครสวรรค์ จำลองเหตุการณ์เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร รับสั่งให้นายผลไปเชิญเสด็จเจ้าแม่ผู้เฒ่า (กรมพระเทภามาศ) มาช่วยกู้สถานการณ์วิกฤติจากความพิโรธ

ของพระเจ้าเสือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม แสดงเป็นเจ้าฟ้าเพชร (กลาง) กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เป็นเจ้าฟ้าพร และและพระยาโบราณนุรักษณ์

(พร เดชะคุปต์) เป็นนายผล เมื่อคราวเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ แม้กิจกรรมนี้จะเป็นเพียงการจัดฉากถ่ายรูปเล่นกันสนุก ๆ ในหมู่เจ้านายในยุคแรกเริ่มของการใช้กล้องถ่ายรูป

หากแต่ก็สะท้อนการรับรู้เหตุการณ์นี้ที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารอยุธยาของชนชั้นนำไทยในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

ที่มาภาพ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เล่ม ๒ (กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๓), ๑๗๙.

 

กรมหลวงโยธาทิพย์ กรมหลวงโยธาเทพ: สมเด็จพระรูปแห่งวัดพุทไธสวรรย์

          กรุงศรีอยุธยาในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ นอกจากจะมีวัดดุสิตดารามซึ่งเป็นที่พำนักปฏิบัติธรรมของ “พระรูป” และบรรดา “รูปชี” โดยมี “กรมพระเทภามาศ” เป็นประธานในสำนักดังที่กล่าวแล้วช่วงเวลาเดียวกันยังมีวัดพุทไธสวรรย์ ที่เป็นอารามแห่ง “พระรูป” อีกสองรูป และ “เจ้าพระ” อีกหนึ่งรูป พระราชพงศาวดารบันทึกว่า กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ และ ตรัษน้อย หรือพระราชสมภารโอรสในพระเพทราชาที่ประสูติแต่กรมหลวงโยธาเทพ ได้ผนวชตลอดพระชนม์ชีพ ณ วัดพุทไธสวรรย์ การที่เจ้านายทั้งสามเสด็จมาประทับอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ ดูจะเกี่ยวข้องกับเหตุผลเรื่อง “เลี่ยงราชภัย” ดังจะกล่าวถึงต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของเอกสารฝ่ายไทย ผู้เขียนขอยึดความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับบริติชมิวเซียม เป็นแกนหลัก เพื่อให้ความสอดรับกับเรื่องเล่า “สมเด็จพระรูป กรมพระเทภามาศ” ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ และใช้พระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ และเอกสารฉบับอื่นประกอบ      

          ภูมิหลังของ กรมหลวงโยธาทิพ และ กรมหลวงโยธาเทพ พระอัครมเหสีฝ่ายขวา และพระอัครมเหสี   ฝ่ายซ้ายในพระเพทราชานั้น คือเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์ปราสาททอง โดยพระองค์แรกเป็นพระราชภคินี (พี่สาว) ของพระนารายณ์ พระนามเดิมคือเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ[57] ขณะที่องค์หลังเป็นพระราชธิดาของพระนารายณ์พระนามเดิมคือเจ้าฟ้าสุดาวดี ผู้ประสูติแต่พระกษัตรี พระอัครมเหสีผู้เป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์เอง[58] เจ้านายสตรีทั้งสองมีความใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจจากพระนารายณ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงกับได้รับสถาปนาเป็น “เจ้าทรงกรม” ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน ทั้งน่าจะนับด้วยว่าเจ้านายสตรีทั้งสองควรได้รับการพิจารณาในฐานะสตรีสองพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้ควบคุม “กรมเจ้า” ที่เป็นหน่วยการปกครอง

          เรื่องราวของ กรมหลวงโยธาทิพ และ กรมหลวงโยธาเทพ มักถูกเล่าขานควบคู่กันในฐานะเจ้านายสตรีผู้มีอิทธิพลสูงในราชสำนักมาแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับ กรมหลวงโยธาเทพที่ปรากฏในบันทึกชาวต่างชาติอยู่บ่อยครั้ง อาทิ บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ (De Choisy) ทูตฝรั่งเศส ที่ระบุว่า ...พระนาง (กรมหลวงโยธาเทพ) มีที่ดิน รายได้ ไพร่ในสังกัด ทหาร และ ข้าราชบริพารของพระนางเอง ทั้งหมดไม่ขึ้นต่อพระเจ้าอยู่หัว...[59] แน่นอนว่าข้อสนเทศนี้ สะท้อนถึงอำนาจบารมีในฐานะ “เจ้าทรงกรรม” ขณะที่ เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ทูตฝรั่งเศสอีกคน ระบุว่า พระนางมีสิทธิ์ขาดสมบูรณ์ในการบริหารจัดการพระราชวังฝ่ายใน โดยทรงรับหน้าที่นี้สืบต่อจากพระราชมารดาที่สิ้นพระชนม์ไป ข้อมูลของ เดอ โชมองต์ อีกเช่นกันที่ระบุว่า กรมหลวงโยธาเทพ เสวยในที่เดียวและเวลาเดียวกับพระราชบิดา แต่บนโต๊ะที่แยกต่างหาก[60] น่าสนใจว่าความเป็นที่ใกล้ชิดกับองค์พระมหากษัตริย์ ตลอดจนการพระราชทานยศทางการปกครองระดับสูงชั้น “กรมหลวง” ดังกล่าว กลับเกิดขึ้นกับเจ้านายสตรี ทว่า ไม่ได้เกิดกับพระอนุชาของพระนารายณ์ที่แม้จะยังดำรงพระชนม์อยู่[61]   

 

รูปหล่อสำริดเจ้านายสตรีสมัยอยุธยา ในบางยุคสมัยเจ้านายสตรี มีบทบาทสูงในประวัติศาสตร์ ดังในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ต่อเนื่องราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทั้งนี้ หากพิจารณาจากเครื่องแต่งกาย

ตามความในกฎมณเฑียรบาล เจ้านายสตรีในรูปหล่อสำริดนี้จัดอยู่ในชั้นพระเจ้าหลานเธอ พระราชนัดดา ในพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ถึงชั้นพระอรรคมเหสี ด้วยไม่ได้สวมมงกฎยอดแหลม หรือฉลองพระบาท

ที่มาภาพ: ปรีดี พิศภูมิวิถี, สยามศึกษาในสายตาฝรั่งเศส (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๖๑), ๔๗.

 

          ประเด็นนี้ ภาวรรณ เรืองศิลป์ ตั้งข้อสังเกตว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีประวัติของการไม่ไว้วางพระทัยพระญาติที่เป็นบุรุษ เพื่อที่จะก้าวสู่บัลลังก์พระองค์ต้องโค่นล้มพระเชษฐาและพระปิตุลา และสังหารพระอนุชาที่เป็นกบฏเพื่อรักษาบัลลังก์ไว้ นี้เองที่อาจพออธิบายได้ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ไว้วางใจพระอนุชาทั้งสอง[62] มิพักที่ควรกล่าวถึงความหวาดระแวงต่อขุนนางฝ่ายคุมกำลัง ที่ทำให้พระองค์ทรงแต่งตั้งขุนนางชาวต่างชาติผู้มีความรู้ความสามารถแต่ไร้ฐานอำนาจไว้ใกล้ตัว ดูเหมือนว่าพระนารายณ์จะสบายพระทัยกว่าเมื่ออยู่ในท่ามกลางเจ้านายสตรีฝ่ายใน ซึ่งหมายถึงพระกนิษฐากับพระราชธิดาและลูกเธอที่ทรงสิทธิธรรม และด้วยเหตุนี้เอง วิธีการดั้งเดิมและมีประสิทธิภาพที่สุดของพระเพทราชาที่จะเชื่อมโยงสิทธิธรรมกับราชวงศ์เดิมเมื่อปราบดาภิเษกแล้วก็คือ การอภิเษกสมรสกับทั้ง “กรมหลวงโยธาทิพ” และ “กรมหลวงโยธาเทพ” 

          กระนั้นก็ตาม ความในพระราชพงศาวดารดูจะชี้ชวนให้เห็นถึงภาวะขมขื่นของ “เจ้าสาวการเมือง” และเล่ห์เหลี่ยมของพระเพทราชากับความพยายามที่จะเสด็จเข้าไปปฏิพัทธ์กับเจ้านายสตรีทั้งสอง ความว่า

          ...อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจะไปเข้าที่ พระบรรทม ณ พระตำหนักตึกกรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งตั้งไว้เป็นพระอัครมเหสี ฝ่ายขวา กรมหลวงโยธาทิพให้ทูลพระอาการว่าประชวรอยู่ จึ่งเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ตำหนักตึกกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งตั้งไว้เป็นอรรคมเหสีฝ่ายซ้าย กรมหลวงโยธาเทพไม่ยอมตรัสตัดพ้อต่างๆ แล้วทรงพระแสงดาบพาดพระเพลาอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับมาพระราชมณเฑียร ทรงพระกรุณาให้หาหมอทำเสน่ห์ แลกรมหลวงโยธาเทพก็ให้คลั่งไคล้ไหลหลง ทรงพระกันแสงถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นกำลัง ครั้นเสด็จพระราชดำเนินไปครั้งหลังจึ่งยอม แลเสด็จไปเข้าที่พระบรรทม ณ ตำหนักตึกกรมหลวงโยธาทิพด้วย...[63]

          อย่างไรก็ตาม ชีวิตในฐานะอัครมเหสีฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายในพระเพทราชาก็ไม่ได้ราบรื่น โดยเฉพาะการเผชิญปัญหาราชภัย พระราชพงศาวดารระบุว่า กรมหลวงโยธาทิพทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติ แต่พระเพทราชานาม “เจ้าพระขวัน” (บางฉบับเรียก “เจ้าพระขวัญ”) ซึ่งน่าจะเป็นพระราชโอรสที่พระเพทราชาโปรดปรานมากองค์หนึ่ง เห็นได้จากเมื่อชันษาครบโสกันต์ ๑๓ พรรษา พระเพทราชาโปรดให้จัดพระราชพิธีโสกันต์เสมอด้วยพระเจ้าลูกหลวง ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ทั้งเสด็จออกรับพระเจ้าลูกเธอนั้นด้วยพระองค์เอง พระราชพิธีใช้เวลาถึง ๖ วัน หลังโสกันต์โปรดให้เจ้าพระขวัญ ฝึกหัดม้า ณ ท้องสนามหลวงหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิทุกวัน

          ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ พระเพทราชาประชวรพระโรคกำเริบหนักใกล้สวรรคต และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (หลวงสรศักดิ์) เริ่มระแวงเจ้าพระขวัญ เหตุผลคือ ...ด้วยเห็นข้าไทมาก คนทั้งปวงยินดีนับถือมาก นานไปภายหน้าจะเป็นศัตรูราชสมบัติ...[64] ดังนั้น เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม กรมพระราชวังบวรสถานมงคล    ทรงสั่งการลับมอบหมายให้พระโอรส ๒ พระองค์คือ เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร ออกอุบายลวงเจ้าพระขวันไปสังหารสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เอาพระศพไปฝังเสีย ณ วัดโคกพญา ครั้นความทราบถึง กรมหลวงโยธาทิพทรงเสียพระทัยยิ่งนัก เสด็จเข้าเฝ้าพระเพทราชาขณะประชวรหนักใกล้สวรรคต เมื่อทรงทราบเหตุ พระเพทราชาพิโรธ กรมพระราชวังบวรฯ ถึงกับถอนพระบรมราชโองการมอบราชสมบัติเปลี่ยนให้ “เจ้าพระพิไชยสุรินทร์” พระราชนัดดาเสวยราชย์แทน แต่หลังจากพระเพทสวรรคต เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ หวาดกลัวต้องถวายคืนพระราชสมบัติ กรมพระราชวังบวรฯ ได้ขึ้นครองราชย์เป็น “พระเจ้าเสือ”[65]

          จะเห็นได้ว่าปีทิวงคตของ “เจ้าพระขวัน” เป็นศักราชสวรรคตของพระเพทราชา กรมหลวงโยธาทิพ ได้สูญเสียทั้งพระราชโอรสและพระราชสวามี ใน พ.ศ. ๒๒๔๖ ในขณะที่ กรมหลวงโยธาเทพ ก็ทรงได้ให้กำเนิดพระราชโอรสในพระเพทราชานามว่า “ตรัษน้อย” (บางฉบับเรียก “ตรัสน้อย”) ซึ่งทรงพระเยาว์กว่า เจ้าพระขวัน เจ้านายทั้ง ๓ พระองค์ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังอยู่อีกถึง ๓ ปีหลังจากพระเจ้าเสือขึ้นครองราชย์ ทั้งน่าจะเป็นการดำรงพระชนม์ชีพท่ามกลางความเสี่ยงของ “ราชภัย” จวบจนกระทั่ง เมื่อสมเด็จพระอัครมเหสีเดิมในพระเพทราชา ได้ทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกไปตั้งพระตำหนักที่เป็นพระตำหนักเจ้าแม่พระนมเอกพระนารายณ์ ใกล้พระอารามวัดดุสิตตามที่กล่าวมาแล้ว ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน   ...สมเด็จพระอัครมเหสีซ้ายพระอัครมเหสีขวาแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ (พระเพทราชา-ผู้เขียน) ... ก็ทูลลาพระเจ้าแผ่นดินแล้วเอาพระราชบุตรซึ่งทรงพระนาม ตรัษน้อย นั้น ออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ใกล้พระอารามวัดพุทไทยสวรรค์...[66]

          สำหรับคำถามที่ว่า กรมหลวงโยธาทิพ และ กรมหลวงโยธาเทพ ทรงผนวชพระรูปชีเมื่อใดนั้น มีความเป็นไปได้ว่า นับแต่เสด็จออกไปพำนัก ณ ตำหนักใกล้วัดพุทไธสวรรย์ การผนวชก็น่าจะเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน คือราว พ.ศ. ๒๒๔๙ ทั้งนี้ มีข้อมูลระบุว่าเมื่อคราวที่ กรมหลวงโยธาทิพ สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๒๕๙ ครั้งนั้น พระองค์ก็ปรากฏฐานานุศักดิ์ ที่ “เจ้าพระอัยกีกรมหลวงโยธาทิพ[67] แล้ว โดยคำว่า “เจ้าพระอัยกี” ชี้ชวนให้เห็นถึงความเป็นนักบวชหญิง หรือ “พระรูป” นั่นเอง นอกจากนี้ อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือเหตุใด กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ จึงทรงเลือกตั้งพระตำหนักใกล้กับวัดพุทไธสวรรย์ ประเด็นนี้อาจสัมพันธ์กับมิติด้านการเมืองของราชสำนักอยุธยา และเครือข่ายชุมชนที่เป็นฐานอำนาจของเจ้านายราชวงศ์บ้านพลูหลวงสายสมเด็จพระนารายณ์

          วัดพุทไธสวรรย์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานอกเกาะเมืองด้านทิศใต้ ซึ่งแต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้ง  พระตำหนักเวียงเหล็ก ที่ประทับชั่วคราวของ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก่อนที่พระราชวังหลวงจะสร้างเสร็จสมบูรณ์[68] อย่างไรก็ตาม ในงานศึกษาของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่วิเคราะห์กำหนดอายุเวลาใหม่ ชี้ให้เห็นว่า วัดพุทไธสวรรย์ น่าจะเพิ่งสถาปนาขึ้นในรัชสมัยพระนารายณ์ ที่โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลและเป็นที่ระลึกแก่พระมเหสีของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ไปเมื่อราว พ.ศ. ๒๒๓๐ หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ต่อมาวัดพุทไธสวรรย์ดูจะมีความสำคัญมากขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดังมีปรากฏในบันทึกคณะทูตชาวสิงหลจากลังกาที่เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา ระบุว่าพวกเขาได้ไปนมัสการและประกอบศาสนพิธีที่วัดแห่งนี้ตามพระราชบัญชาของกษัตริย์[69]

          ต่อประเด็นนี้ หากว่าวัดพุทไธสวรรย์สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมเหสีสมเด็จพระนารายณ์ที่สิ้นพระชนม์ ก็ย่อมหมายถึงเป็นวัดที่พระราชบิดาของกรมหลวงโยธาเทพ สร้างอุทิศแด่พระราชมารดา นี้เองอาจเป็นคำตอบที่ว่าเหตุใดเจ้านายทั้งสามจึงเลือกเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักใกล้วัดพุทไธสวรรย์ สิ่งสำคัญยังน่าจะด้วยเพราะชุมชนละแวกพระอารามยังน่าจะเป็นพระญาติวงศ์และครอบครัวข้าไทในสังกัดที่ยังจงรักภักดีในเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระนาราย์ บรรดาข้าวัด โยมสงฆ์ของชุมชนน่าจะเป็นเกราะคุ้มภัยในการรักษาชีวิตพระราชโอรส “ตรัษน้อย” มิให้ราชภัยมาแผ้วพานดังกรณี “เจ้าพระขวัน” (เจ้าพระขวัญ) ที่เคยเกิดขึ้น อีกทั้งการพำนัก ณ ตำหนักใกล้วัดพุทธไธสวรรย์ ยังทำให้กรมหลวงโยธาเทพทรงจัดการ “มหามงคลพิธีโสกันต์พระราชบุตร” ตามแบบโบราณราชประเพณีให้แก่เจ้าฟ้าตรัษน้อยได้อย่างสมพระเกียรติ[70] โดยมิต้องทรงระแวงราชภัยมากนัก

          นอกจากนี้ วัดพุทไธสวรรย์ ยังเป็นสำนักของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระผู้ใหญ่ที่พระเพทราชาทรงให้ความเคารพนับถือ ทุกวันนี้ที่วัดพุทไธสวรรย์ยังมีปรากฏอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น อยู่หลังหนึ่งเรียกว่า “ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์” สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเพทราชา[71] พระราชโอรส “ตรัษน้อย” ได้ผนวชเป็นสามเณรในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ ทรงเล่าเรียนทั้งพระปริยัติธรรมและไสยศาสตร์ต่าง ๆ จนพระชันษาได้ ๑๘ ปีจึงลาผนวชมาศึกษาวิชาการรบ ได้ศึกษาภาษาต่าง ๆ ทั้งภาษาแขก ฝรั่ง เขมร ยวน พม่า มอญ จีน ตลอดจนการปกครอง โหราศาสตร์ การแพทย์ และเมื่อพระชันษาครบอุปสมบทจึงได้ผนวชเป็นพระภิกษุ[72] มีสถานะเป็น “เจ้าพระ” ในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ต่อมา ทั้งนี้ “เจ้าพระเจ้าฟ้าตรัษน้อย” ดูเหมือนจำต้องระแวดระวังองค์ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในราชสำนักตลอดพระชนม์ชีพ จดหมายเหตุฝรั่งเศสระบุว่า เจ้าพระเจ้าฟ้าตรัษน้อย สิ้นพระชนม์เมื่อราว พ.ศ. ๒๒๘๓ ในช่วงกลางรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[73]

          สำหรับ กรมหลวงโยธาเทพ เช่นกันที่พระองค์น่าจะทรงผนวชเป็นพระรูปชี นับแต่เสด็จออกไปพำนัก ณ ตำหนักใกล้วัดพุทไธสวรรย์ เจ้านายพระองค์นี้มีพระชนม์ยืนยาว ดำรงพระชนชีพต่อมาถึง พ.ศ. ๒๒๗๘ จึงสิ้นพระชนม์ ครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้ตั้งการพระบรมศพจัดพระเมรุมาศใหญ่สมพระเกียรติ ดังปรากฏใน จดหมายการพระบรมศพ สมเด็จพระรูป วัดพุทไธสวรรย์ กรุงเก่า[74] ทั้งนี้ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าบางช่วงเวลาที่การเมืองในราชสำนักมีความสงบนิ่งมากขึ้น ดังในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. ๒๒๕๑-๒๒๗๕) อาจเป็นได้ที่ สมเด็จพระรูปกรมหลวงโยธาเทพ และ เจ้าพระเจ้าฟ้าตรัษน้อย จะทรงมีอิสระมากขึ้นด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่าโอกาสการได้เสด็จไปจาริกแสวงบุญ ณ จาริกสถาน ยังหัวเมืองต่าง ๆ

          ข้อสนเทศหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การพบสมญาพระนาม “สมเด็จพระรูป” ในจารึกวัดพระบรมธาตุเมืองชัยนาท พ.ศ. ๒๒๖๐ จารึกนี้เล่าเหตุการณ์การปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลง “พระบรมธาตุเมืองชัยนาท” และกำแพงแก้วในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ครั้งนั้น พระมหาพุทธสร เจ้าอธิการวัดป่าข้าวเปลือก เมืองชัยนาท เป็นต้นคิดและทำการรวบรวมคณะสงฆ์ในเมือง สัปบุรุษ พ่อค้า และชาวบ้าน โดยได้ “เข้านมัสการพระทิพมนต์” หรือ “สมเด็จเจ้าพระทิพมนต์” แจ้งข่าวเรื่องนี้ พระทิพพมนต์สั่งการให้ช่างดีบุกที่เป็นพระสงฆ์ พร้อมทั้งดีบุกหนัก ๒๐ หาบ เดินทางขึ้นมาหุ้มพระบรมธาตุ ระหว่างการปฏิสังขรณ์พระทิพพมนต์เดินทางจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาปิดทองพระบรมธาตุ เจดีย์ และพระปรางค์เล็กในปี ๒๒๖๐ ด้วย การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ได้เรี่ยไรทุนทรัพย์จากชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ทั้งในเมืองชัยนาทและต่างเมือง พ่อค้าชาวเรือจำนวนมาก[75]            

          หลังจากการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๒๖๑ พระทิพมนต์พร้อมด้วยสมเด็จพระรูปขึ้นมาสมโภชฉลองพระบรมธาตุด้วย[76] ดังข้อความในจารึกว่า ...วัน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีจอสัมฤทธิศก (พ.ศ.๒๒๖๑) พระทิพมนตร์ขึ้นมาสมโภชพระบรมธาตุหัวเมืองชัยนาท แล สมเด็จพระรูปขึ้นมาสมโภชฉลองด้วย...[77] ดังที่กล่าวมา ด้วยห้วงเวลาแห่งพระชนม์ชีพที่สัมพันธ์ได้กับห้วงเวลางานสมโภชพระบรมธาตุ ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ “สมเด็จเจ้าพระทิพมนต์” จะเป็น “เจ้าพระเจ้าฟ้าตรัษน้อย” (“ทิพมนต์” อาจเป็นฉายาทางธรรม) และ “สมเด็จพระรูป” ก็คือ “สมเด็จพระรูป กรมหลวงโยธาเทพ” และบนตรรกะเดียวกันของโอกาสการเดินทางมาจาริกแสวงบุญ “สมเด็จพระรูป กรมหลวงโยธาเทพ” ครั้งหนึ่งก็อาจเคยเสด็จมายังวัดพระรูปเมืองสุพรรณบุรี ในฐานะพระบรมวงศ์อาวุโสของราชวงศ์บ้านพลูหลวง อันเป็นต้นทางที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” ก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

[1] คำว่า “การเมืองไทยในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง” ผู้เขียนตั้งใจหยิบใช้โดยล้อกับ “การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (๒๕๒๓).  

[2] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม), (กรุงเทพมหานคร: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒), ๒๒๔.

[3] เรื่องเดียวกัน, ๒๓๙.

[4] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓ (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)) (กรุงเทพมหานคร: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒), ๔๑๓.

[5] กำพล จำปาพันธ์, อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก (กรุงเทพมหานคร: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๙), ๒๓๔.

[6] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปากไก่และใบเรือ รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ เพิ่มเติมบทความ ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา, ๒๕๕๕), ๓๘๙.

[7] ใน พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ที่เขียนขึ้นสมัย พระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) ระบุราชทินนามและศักดินา ตำแหน่ง สมุหพระคชบาลจางวางขวา ที่ พระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริยวงษองคสมุหะพระคชบาลจางวางขวา นา ๕,๐๐๐ ดู เรื่องกฎหมายตราสามดวง (กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร, ๒๕๒๑), ๑๒๘. ทั้งนี้ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าการแบ่งตำแหน่งใน กรมพระคชบาล (กรมช้าง) ออกเป็นจางวาง “ซ้าย” “ขวา” อาจเกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลช้างในท้องที่หัวเมืองโดยเอาราชธานีเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกรณีเมืองสุพรรณบุรี คือ “ขวา” ของกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นได้ เฉกเช่นเดียวกับการแบ่งกรมท่าซ้าย กรมท่าขวา ในอดีต.  

[8] วารุณี โอสถารมย์, เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘-ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗), ๑๘๒.

[9] ดูรายละเอียดประเด็นนี้ใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, สมเด็จพระเพทราชา เชื้อวงศ์บ้านพลูหลวง, https://www.matichonweekly.com/special-report/article_๑๐๖๖๘๒, เข้าถึงเมื่อ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕

[10] ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องฯ ตอน ชิงอำนาจการเมืองพระเพทราชา “บ้านพลูหลวง”, YouTube, เผยแพร่เมื่อ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓.  

[11] นพดล ปาละประเสริฐ, พระราชวัง ๓ แคว้น (กรุงเทพมหานคร: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๗), ๘๑.

[12] เสมียนอัคนี, พระเพทราชา กับตำนาน “ชายนอนหลับ” ชื่อ “สิงห์” และ “เสลี่ยง” วัดกุฎีทอง สุพรรณบุรี, https://www.silpa-mag.com/history/article_๑๖๗๙๗, เข้าถึงเมื่อ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕.

[13] วารุณี โอสถารมย์, “เรื่องเล่าเมืองสุพรรณกับการสร้างภาพลักษณ์ตัวตนท้องถิ่น,” ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, บรรณาธิการ, สายธารแห่งอดีต (กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๐), ๓๕๐.

[14] ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องฯ ตอน ชิงอำนาจการเมืองพระเพทราชา “บ้านพลูหลวง”, YouTube, เผยแพร่เมื่อ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓. 

[15] นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์, พิมพ์ครั้งที่ ๘ (กรุงเทพมหานคร: มติชน, ๒๕๕๗), ๒๖-๒๗.

[16] มักมีกล่าวในเชิงเปรียบเปรยกับปัจจุบันว่า “กรมช้าง” ก็คือ “กรมรถถัง” ซึ่งเป็นขุมกำลังในการปฏิวัติ.

[17] นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์, (กรุงเทพมหานคร: มติชน, ๒๕๕๗), ๕๑.

[18] อาจกล่าวได้ว่าในช่วงปลายอยุธยา กรมที่ทำหน้าที่ควบคุมกำลังคนแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ “กรมเจ้า” กับ “กรมขุนนาง” ซึ่งมีความแตกต่างกันคืออำนาจการบริหาร เพราะกรมเจ้าจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดดุลอำนาจในการควบคุมกำลังคนเท่านั้น ขณะที่กรมขุนนางมีหน้าที่ทั้งควบคุมกำลังคนและบริหารราชการแผ่นดินด้วย หากพิจารณาโดยง่าย กรมขุนนางก็คือทำเนียบตำแหน่งที่ปรากฏอยู่ใน พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ที่เขียนขึ้นสมัยพระบรมไตรโลกนาถ กรมขุนนางขนาดใหญ่ที่รู้จักกันดี ตัวอย่างเช่น กรมพระกลาโหม กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา กรมพระสุรัสวดี ฯลฯ กรมขนาดย่อยลงมา เช่น กรมพระคชบาลขึ้นกับกรมพระกลาโหม กรมภูษามาลาขึ้นกับกรมวัง กรมฉาง ขึ้นกับกรมนา กรมกองตระเวนขวาซ้ายขึ้นกับกรมเวียง ดู รายละเอียดใน ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล, อยู่อย่างไพร่ ระบบพื้นฐานในสังคมไทยสมัยจารีต (กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊คส์, ๒๕๔๓).

[19] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ (กรุงเทพมหานคร: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๘), ๖๗-๖๘.

[20] บุษกร กาญจนจารี, “ปัญหาการควบคุมกำลังคนและแง่หนึ่งของการเมือง เศรษฐกิจ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย,” เปลวไฟเลื่อมลายนาค: รวมบทอ่านคัดสรรประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๔), ๑๔.

[21] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๓), ๘๐.    

[22] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒, (กรุงเทพมหานคร: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๘), ๑๐๙-๑๑๐.

[23] คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๕), ๑๔๒.

[24] นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา และ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๗ (กรุงเทพมหานคร: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๑๗), ๔๖-๔๗.  

[25] Busakorn Lailart, The Ban Phlu Luang Dynasty 1688-1767: A Study of Thai Monarchy During the Closing Year of the Ayuthaya Period (Ph. D. Thesis, Graduate School, University of London, 1972), pp 189-191.  

[26] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับบริติชมิวเซียม, ๒๕๔๒), ๒๘๘.

[27] เรื่องเดียวกัน, ๒๙๓.

[28] บุษกร กาญจนจารี, “ปัญหาการควบคุมกำลังคนและแง่หนึ่งของการเมือง เศรษฐกิจ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย,” ใน เปลวไฟเลื่อมลายนาค: รวมบทอ่านคัดสรรประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๔), ๑๖-๑๗. ทั้งนี้ จุดพลิกผันในการช่วงชิงอำนาจในหมู่พระราชโอรสทั้ง ๒ ฝ่ายของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยังอยู่ที่เหตุการณ์ที่ กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ต้องพระราชอาญาถูกถอดเป็นไพร่และสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกโบยเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๘ ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากนั้น กรมขุนเทพพิพิธ ได้ร่วมมือกับ พระคลัง สมุหนายก และ สมุหกลาโหมสนับสนุนกรมขุนพรพินิต พระราชโอรสพระองค์เล็กและกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสนอให้ ทรงสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ใน พ.ศ. ๒๓๐๐ พร้อมกับให้กรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเชษฐาทรงผนวชเสีย กรมขุนพรพินิต ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร พร้อมกับสำเร็จโทษ “เจ้าสามกรม” ซึ่งไม่ยอมรับกษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่แล้วพระเจ้าอุทุมพรกลับหลีกทางสละราชสมบัติให้พระเชษฐาได้ขึ้นเป็นพระเจ้าเอกทัศน์ และพระองค์ตัดสินใจออกผนวช (เป็นที่มาของคำเรียก “ขุนหลวงหาวัด”) แม้จะมีความพยายามจากฝ่ายขุนนางทั้งสมุหนายก เจ้าพระยายมราช พระยาเพชรบุรี และกรมหมื่นเทพพิพิธ ที่จะหนุนให้กรมหมื่นพรพินิตลาผนวชมาครองราชย์ดังเดิม แต่กรมขุนพรพินิตกลับระแวงคนเหล่านี้ ทรงกราบบังคมทูลพระเจ้าเอกทัศน์ถึงแผนการทั้งหมด จนในที่สุดกรมหมื่นเทพพิพิธถูกเนรเทศไปลังกา พร้อมกับการกวาดล้างครั้งสุดท้ายในราชสำนักอยุธยา ดูรายละเอียดประเด็นนี้ใน Busakorn Lailart, The Ban Phlu Luang Dynasty 1688-1767: A Study of Thai Monarchy During the Closing Year of the Ayuthaya Period (Ph. D. Thesis, Graduate School, University of London, 1972). 

[29] ดูรายละเอียดประเด็นนี้ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, “กรุงแตก ราชอาณาจักรอยุธยาสลายตัว,” ใน กรุงแตก พระเจ้าตากและประวัติศาสตร์ไทย (กรุงเทพมหานคร: มติชน, ๒๕๔๓), ๕๘-๑๐๙.

[30] ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค ๑ (กรุงเทพมหานคร: คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๐), ๑๗๑-๑๗๒.

[31] วารุณี โอสถารมย์, เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘-ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗), ๑๗๕-๑๘๔.  

[32] คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๕), ๑๐๙.

[33] วารุณี โอสถารมย์, เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘-ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕, ๑๘๑-๑๘๒.

[34] เรื่องเดียวกัน, ๑๘๓.

[35] เรื่องเดียวกัน, ๑๘๓.

[36] สุนทรภู่, นิราศเมืองสุพรรณ ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพมหานคร: สโมสรสุนทรภู่, ๒๕๐๙), ๔๗.

[37] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “ความเป็นมาของวัดพระรูปจากคำว่า “พระรูป”,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓), ๕๐.

[38] แม้สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ สุพรรณบุรีจะอยู่บนเส้นทางทัพพม่าผ่าน หากแต่ก็ไม่ได้ถูกทำลายแต่อย่างใด เมืองสุพรรณอาจไม่บอบซ้ำมากนัก ด้วยเจ้าเมืองยอมเข้ากับฝ่ายพม่า ถึงกับมีบันทึกฝ่ายพม่าว่าเจ้าเมืองสุพรรณบุรีอาสาพม่ารบกับทัพอยุธยาอย่างแข็งขันจนตัวตาย วัดพระรูปซึ่งเป็นวัดสำคัญของเมืองจึงไม่น่าจะถึงขั้นเสื่อมโทรมจนเป็นวัดร้าง.

[39] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๒๖), ๕๗๐.

[40] ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค ๑ (กรุงเทพมหานคร: คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๐), ๑๐๗.

[41] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒, (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ๒๕๔๒), ๒๖๙.

[42] ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ, ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ฉบับแก้ไขใหม่), พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพมหานคร: บรรณกิจ ๑๙๙๑, ๒๕๔๔), ๒๙.

[43] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “ความเป็นมาของวัดพระรูปจากคำว่า “พระรูป”,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓), ๕๑-๕๓.

[44] ลา ลูแบร์, ซีมอง เดอ, จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ฉบับสมบูรณ์ แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร (พระนคร: ก้าวหน้า, ๒๕๑๐).

[45] เรื่องราวสตรีผู้สูงศักดิ์ท่านหนึ่งที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ คือ “เจ้าแม่วัดดุสิต” พระนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์ ผู้เป็นมารดา เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) กับ เจ้าพระยาโกษา (ปาน) บนความเชื่อมโยงนี้ เจ้าแม่วัดดุสิต ย่อมเป็นบุคคลร่วมสมัยและรู้จักคุ้นเคยกับ พระราชมารดาในพระเพทราชา ผู้เป็นพระนมโท ทั้งนี้ เจ้าแม่วัดดุสิตผู้นี้ เป็นที่เคารพรักใคร่ในสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มอำนาจของพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) ในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกับเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ในช่วงปลายรัชกาลพระนารายณ์ กระทั่งกล่าวได้ว่า เจ้าแม่ วัดดุสิตผู้นี้น่าจะอยู่ในกลุ่มอำนาจที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเมื่อสิ้นสุดรัชสมัยพระนารายณ์ให้ผู้นำสายวงศ์บ้านพลูหลวงปฏิบัติการยึดอำนาจสถาปนาราชวงศ์ใหม่ ทั้งนี้ เจ้าแม่วัดดุสิต ยังมีข้อวิเคราะห์ถึงสถานะความเป็น “เจ้า” ของท่านอีกด้วย กล่าวคือ เจ้าแม่วัดดุสิตอาจมีสถานะเป็น “หม่อมเจ้า” โดยเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ บ้างว่าชื่อ หม่อมเจ้าหญิงอำไพ บางกระแสว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงบัว อย่างไรก็ตาม เราอาจตัดความเป็นไปได้ที่เจ้าแม่วัดดุสิตอาจเป็น “เจ้าแม่” ผู้มี “พระราชศรัทธา” ในการสร้างระฆังวัดพระรูป ด้วยมีปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุของ เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ หรือ หมอแกมป์เฟอร์ นายแพทย์ชาวเยอรมนีที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระเพทราชา มีการบันทึกเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๓๓ ไว้ว่า มารดาของโกษาปานนั้นได้ทำศพแล้วเสร็จเมื่อ ๑๕ เดือนก่อน (คือราวเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๒๓๒) (ดู https://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าแม่วัดดุสิต) ข้อสนเทศนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าแม่วัดดุสิตน่าจะสิ้นชีวิตในช่วงต้นรัชกาลแผ่นดินพระเพทราชา ซึ่งห่างจากห้วงเวลาที่ปรากฏในจารึกการสร้างระฆังวัดพระรูปคือ พ.ศ. ๒๒๔๒ มากพอสมควร. 

[46] มีเนื้อความเดียวกับ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน.

[47] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่ อาทิ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ใช้คำว่า “กรมพระเทพามาตย์”           อนึ่ง คำว่า “มาตย์” “มาตุ” ย่อมชี้ชวนถึงความหมายว่า “แม่” “มารดา” ต่อประเด็นนี้ “กรมพระเทพามาตย์” จึงอาจเป็นคำเรียก “พระพันปี” ในสมัยอยุธยา.

[48] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓ (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)), ๔๑๒.

[49] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ๒๕๔๒), ๒๔๐.

[50] เรื่องเดียวกัน, ๒๖๙.

[51] เรื่องเดียวกัน, ๒๘๒.

[52] เรื่องเดียวกัน, ๒๖๔-๒๖๕. 

[53] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓ (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)), ๔๒๗

[54] เรื่องเดียวกัน, ๔๒๘.

[55] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ๒๕๔๒), ๒๗๓-๒๗๔.

[56] เรื่องเดียวกัน, ๒๗๕.

[57] เรื่องเดียวกัน, ๒๔๐.

[58] ภาวรรณ เรืองศิลป์ เขียน, สุรเชษฐ์ สุขลาภกิจ แปล, “กรมหลวงโยธาเทพ: พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์ กับเล่ห์เพทุบายในราชสำนักอยุธยา,” วารสารประวัติศาสตร์, ปีที่ ๔๒ (มกราคม-ธันวาคม ๒๕๖๔) ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ๔๘.

[59] เรื่องเดียวกัน, ๔๙.

[60] เรื่งเดียวกัน, ๕๒.

[61] เรื่องเดียวกัน, ๔๙.

[62] เรื่องเดียวกัน, ๕๔.

[63] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ๒๕๔๒), ๒๔๑.

[64] เรื่องเดียวกัน, ๒๖๕

[65] เรื่องเดียวกัน, ๒๖๖.

[66] เรื่องเดียวกัน, ๒๖๙.

[67] เรื่องเดียวกัน, ๒๘๕.

[68] กำพล จำปาพันธ์, อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก (กรุงเทพมหานคร: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๙), ๒๐๒.

[69] พิริยะ ไกรฤกษ์, ศิลปะสุโขทัยและอยุธยา ภาพลักษณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง (กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๕), ๑๒๑-๑๒๒.

[70] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ๒๕๔๒), ๒๖๙.

[71] กำพล จำปาพันธ์, อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก (กรุงเทพมหานคร: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๙), ๒๐๓.

[72] เรื่องเดียวกัน, ๒๗๐.

[73] วีระ ธีรภัทร, “เรื่องเก่าเอามาเล่าอีก เวย์แบ็กแมชชีน,” กรุงเทพธุรกิจ, วันพุธที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑.

[74] ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค ๑ (กรุงเทพมหานคร: คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๐).

[75] ดู จากรึกพระบรมธาตุวัดมหาธาตุชัยนาท ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย.

[76] เกี่ยวกับ “พระรูป” องค์นี้ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้บันทึกไว้ใน จดหมายเหตุระยะทางเสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ มณฑลกรุงเก่าและมณฑลนครสวรรค์ ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ตอนหนึ่งว่า ...สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) ทรงกล่าวว่า ...มีสมเด็จพระรูปเสด็จขึ้นไปในการฉลองคำนวณดูตกอยู่ในแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมเด็จพระรูปนั้นคงจะเป็นกรมพระเทพามาตย์ พระอัครมเหสีกลางแผ่นดินพระเพทราชาซึ่งทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่วัดดุสิต นี่เห็นจะเป็นตัวอย่างให้เกิด สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีขึ้นที่กรุงเทพฯ ... ทั้งยังทรงกล่าวต่อด้วยว่าพระรูปองค์นั้น (ที่สันนิษฐานว่า คือ กรมพระเทพามาตย์) ได้หล่อระฆังใบหนึ่งไว้ด้วยความว่า ...มีระฆังใบหนึ่งหล่อเมื่อ พ.ศ. 2270 เสียงไม่เพราะ... ทั้งนี้ จะพบว่าข้อสันนิษฐานเรื่อง “สมเด็จพระรูป” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ พระยาโบราณราชธานินทร์บันทึกไว้นั้นมีความคลาดเคลื่อน แท้จริงแล้ว “สมเด็จพระรูป” องค์ดังกล่าวจึงควรเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ ดูรายละเอียดใน พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์). จดหมายเหตุระยะทางเสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ มณฑลกรุงเก่าและมณฑลนครสวรรค์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางพูน อารยะกุล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 18 มีนาคม 2504 (พระนคร: ห้างหุ้นส่วนบุญส่งการพิมพ์, 2504), 33.

[77] ดู จากรึกพระบรมธาตุวัดมหาธาตุชัยนาท ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย.

 

สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ เจ้าเมืองสุพรรณบุรี อาสาพม่ารบจนตัวตาย 
            สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ เมืองสุพรรณบุรียังคงอยู่บนเส้นทางเดินทัพพม่าและเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกทางด้านตะวันตก ทัพพม่ามีแม่ทัพใหญ่คือ “มหานรธา” คุมทัพฝ่ายใต้มี “เนเมียวสีหบดี” คุมทัพฝ่ายเหนือ หลักฐานจาก “พงศาวดารราชวงศ์คองบอง” กล่าวถึงการยอมสวามิภักดิ์ของเจ้าเมืองต่างๆ เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ฯลฯ กรณีเมืองสุพรรณบุรี มีระบุว่าเจ้าเมืองสุพรรณบุรียอมอ่อนน้อมเช่นเดียวกับเจ้าเมืองราชบุรี ทัพพม่าจึงเข้าเมืองสุพรรณบุรีโดยสะดวก ไพร่พลจากเมืองสุพรรณบุรียังเป็น ๑ ใน ๗ เมืองด้านตะวันตกของอยุธยาที่ถูกเกณฑ์เข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา[1] หลักฐานพม่ายังกล่าวถึงเจ้าเมืองสุพรรณบุรีผู้ยอมถือน้ำสาบานรับใช้พม่าและเสียชีวิตจากการรบบนหลังช้างในคราวสู้กับ “พระยาตาน” (Than) แม่ทัพฝ่ายอยุธยาใกล้กับเจดีย์ภูเขาทอง[2] ถึงกับ เนเมียวสีหบดี ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญความกล้าหาญของเจ้าเมืองสุพรรณบุรีแก่บรรดาแม่ทัพนายกองพม่า[3]

 

หลักฐานจากฝ่ายพม่า ในงานศึกษาของอาจารย์สุเนตร ชุตินทรานนท์ กับการเปิดทัศนะมุมมองใหม่ที่ข้ามพ้นกรอบชาตินิยม เช่น เรื่องเจ้าเมืองสุพรรณอาสาพม่ารบกับทัพกรุงศรีอยุธยาจนตัวตาย

 

เอกสารอ้างอิง
[1] ดูรายละเอียดใน สุเนตร ชุตินทรานนท์, สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๙, พิมพ์ครั้งที่ ๙), ๔๑ - ๔๒.
[2] เรื่องเดียวกัน, ๖๐.
[3] Hassi S Thanongsak#HBM, วาระสุดท้ายอาณาจักรอยุธยา โดย อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ & อ.วีระ ธีรภัทร, YouTube, เผยแพร่เมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๑.

 

 

สมัยธนบุรี - ต้นรัตนโกสินทร์ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔)

สมัยธนบุรี - ต้นรัตนโกสินทร์ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔)

          เมืองสุพรรณบุรียุคหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น อยู่ในฐานะ “รกร้างร่วงโรย” เฉกเช่นเดียวกับหัวเมืองท้องถิ่นหลายแห่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กว่าที่บ้านเมืองจะฟื้นคืนกลับมาได้ดังเดิม   ก็ล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตาม นโยบายกวาดต้อนเทครัวลาวที่มีมาแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีและจะชัดเจนที่สุดเมื่อครั้งสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. ๒๓๗๐ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของประชากรบริเวณลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี ทั้งมีส่วนต่อการฟื้นฟูบ้านเมือง ช่วงเวลาเดียวกันนี้ การขยายอิทธิพลของอำนาจกรุงเทพฯ ต่อท้องถิ่นหัวเมืองเกิดขึ้นทีละน้อย ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ผ่านตัวแทนทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มคนจีน ที่เริ่มขยับขยายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหัวเมืองตอนใน ดังกรณีเมืองสุพรรณที่เป็นตัวอย่างชัดเจน       

          ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ตามประวัติความเป็นมาของวัดพระรูป มีมุขปาฐะเล่ากันสืบมาว่า วัดพระรูปมีพระภิกษุสงฆ์ที่สำคัญรูปหนึ่ง ไม่ทราบประวัติที่แน่ชัดของท่าน แต่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “สมเด็จพระเจ้าง่อย” เนื่องจากท่านเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นพระบวชใหม่มาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวเสียกรุงแก่พม่าท่านเป็นง่อย เวลาเดินทางต้องมีคนหาม ท่านช่วยทำให้วัดพระรูปมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา กล่าวกันว่า ในยุคนี้ วัดพระรูปมีกุฏิสงฆ์เป็นอาคารตึกสองชั้น อุโบสถตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังงดงาม และเคยมีเสลี่ยงคานหามของสมเด็จด้วย ในปัจจุบันภายในวัดพระรูปยังคงปรากฏหลักฐานอยู่ อาทิ ธรรมาสน์บุษบก คัมภีร์ใบลานที่มีจารึกระบุปีจุลศักราช ๑๑๓๑ (พ.ศ. ๒๓๑๒) 

เมืองสุพรรณหลังสงครามคราวเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐

          สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ ก่อให้เกิดความสูญเสียยิ่งกว่าครั้งใด ๆ นอกจาก กรุงศรีอยุธยาที่ถูกทำลายแล้ว หัวเมืองต่าง ๆ ที่ทัพพม่าผ่านก็เสียหายอย่างมากซึ่งรวมถึงเมืองสุพรรณบุรี แม้ในสมัยธนบุรีจะเริ่มมีการบูรณะฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ บ้างแล้ว แต่สุพรรณบุรียังคงอยู่ในสภาพรกร้างมีราษฎร เบาบาง ถึงกับในช่วงธนบุรีปรากฏหลักฐานว่า พระยาสุพรรณบุรีไม่อาจกะเกณฑ์ไพร่พลไปทำงานให้หลวงได้ตามกำหนด[1] แม้ล่วงเข้าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองสุพรรณก็ยังไม่สามารถตั้งเป็นบ้านเมือง   เป็นหลักฐานดังแต่ก่อนได้ สภาพการณ์นี้ดำรงอยู่ตลอดช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จนล่วงเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

[1] ดูรายละเอียดใน วารุณี โอสถารมย์. เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘-ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗), ๑๖๑-๑๖๒.

สมเด็จพระเจ้าง่อย: ระหว่างบุคคลในมุขปาฐะและประวัติศาสตร์

          แม้ว่า วัดพระรูป เมืองสุพรรณบุรี จะมีอายุเก่าแก่สืบย้อนไปถึงสมัยรัฐสุพรรณภูมิ แต่การลำดับประวัติเจ้าอาวาสในอดีตนับเป็นเรื่องยาก ด้วยไม่มีบันทึกจดจารใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสมัยอยุธยา หลักฐานเก่าแก่สุดที่ระบุชื่อพระภิกษุที่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัดพระรูป คือ จารึกชื่อ “พระสางสมภาร” ที่ปรากฏอยู่แถวบนของระฆังสำริดชิ้นสำคัญของวัด (ใบเดียวกับที่ปรากฏจารึกคำ “เจ้าแม่” และ “พระราชศรัทธา”) บางทัศนะอนุมานว่า พระสางสมภาร อาจเป็นเจ้าอธิการวัด (เจ้าอาวาส) ในช่วงที่มีการสร้างระฆัง (พ.ศ. ๒๒๔๒) ก็เป็นได้ ไม่เพียง พระสางสมภาร บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดพระรูปและปรากฏเรื่องราวในลักษณะ “มุขปาฐะ” อีกชื่อหนึ่งก็คือ “สมเด็จพระเจ้าง่อย” ที่ได้รับบอกเล่าสืบต่อกันมานับร้อย ๆ ปี ทุกวันนี้ สมเด็จพระเจ้าง่อยถูกจดจำอยู่ในฐานะเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดพระรูป      

          เล่ากันว่าวัดพระรูปมีพระสงฆ์ที่สำคัญรูปหนึ่งไม่ทราบประวัติชัดเจน แต่ถูกเรียกขานว่า “สมเด็จพระเจ้าง่อย” กล่าวกันว่าท่านเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นพระบวชใหม่ที่มาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวเสียกรุงแก่    พม่าและเป็นง่อย ไปไหนมาไหนจึงต้องมีเสลี่ยงแบกหาม สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าง่อยปกครองวัดพระรูปอยู่ในช่วงราวกรุงธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ กล่าวกันว่าวัดพระรูปในยุคของสมเด็จพระเจ้าง่อยมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง มีกุฏิสงฆ์เป็นอาคารตึกสองชั้น อุโบสถตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังงดงาม ในคำบอกเล่า แต่เดิมนั้นวัดพระรูปยังเคยมี “เสลี่ยง” ของสมเด็จพระเจ้าง่อย ด้วย นอกจากนี้ เรื่องเล่าบางกระแสระบุว่าภิกษุผู้นำ “พระพุทธบาทไม้” ลอยล่องน้ำมาจากวัดเขาดินเพื่อหลบภัยจากพม่าก็คือ สมเด็จพระเจ้าง่อย[1]

          อนึ่ง เรื่องราวของ “สมเด็จพระเจ้าง่อย” ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องเล่าตำนาน จะเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ได้มากน้อยเพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่น่าคิดและตั้งคำถาม ตัวอย่างเช่น “สมเด็จพระเจ้าง่อย”  จะเป็นบุคคลเดียวกับ “พระสางสมภาร” ได้หรือไม่ ทั้งนี้ หากพิจารณาจากปีที่ปรากฏบนจารึกระฆัง (พ.ศ. ๒๒๔๒) กับเรื่องเล่าที่สมเด็จพระเจ้าง่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัดพระรูปก็เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ จะพบว่าระยะเวลาห่างกันเกือบ ๗๐ ปี หรือ คำบอกเล่าเรื่องวัดพระรูปมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยสมเด็จพระเจ้าง่อยนั้น มีความเป็นไปได้เพียงใดกับบริบทเมืองสุพรรณบุรีในยุคหลังเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ และสถานการณ์หลังจากนั้นที่เมืองยังคง “รกร้างร่วงโรย” อยู่มาก แม้ในโคลนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ หรือเกือบ ๗๐ ปี หลังเหตุการณ์เสียกรุง ก็ยังบรรยายภาพเมืองสุพรรณบุรีในเวลานั้น ว่า ...สงสารบ้านวัดร้าง แรมโรย เสียงแต่นกหกโหย ค่ำเช้า...[2]

          ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในมิติของมุขปาฐะ เรื่อง “สมเด็จพระเจ้าง่อย” วัดพระรูป นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมีความสอดคล้องกระทั่งคล้ายคลึงกับ “พล็อต” (plot) เรื่องเล่าบุคคลในตำนานที่ มักเป็น “ปฐมบท” ไม่ว่าจะเป็น ปฐมกษัตริย์ ผู้สร้างบ้านแปงเมือง หัวหน้าชุมชน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ เจ้าอาวาสรูปแรกซึ่งเป็น “เชื้อพระวงศ์” ผู้นำพาความเจริญสู่วัดและชุมชน ทั้งนี้ บ่อยครั้งที่ “พล็อต” เรื่องเล่าลักษณะนี้ มักมาพร้อมกับบุคลาธิษฐานที่แสดงความความพิกลพิการเข็ญใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ท้าวแสนปม” “พระยาแกรก” “พระเจ้าขี้เรื้อน”[3] ทว่า ในความง่อยเปลี้ยแสนเข็ญนี้เอง กลับเป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญรุ่งเรืองอย่างน่าอัศจรรย์อันเกิดขึ้นได้จาก บุญญาธิการ อิทธิปาฏิหาริย์ อำนาจเหนือธรรมชาติ ฯลฯ ปกรณัมอันคลุมเครือของ “สมเด็จพระเจ้าง่อย” ด้านหนึ่งจึงอาจเป็นพล็อตเดียวกับตำนานวีรบุรุษท้องถิ่นในภูมิภาคอุษาคเนย์โดยรวม

          นอกจากนี้ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าอาวาสรูปแรกผู้เป็น “เชื้อพระวงศ์” มีบุญญาธิการมาก สามารถสร้างกุฏิตึกได้ใหญ่โต อาจเป็นคำอธิบายถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เป็นการเล่านามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม เรื่องเล่าลักษณะยังมีอยู่ปรากฏหลายที่ในบริเวณนี้อีกด้วย[4] มิพักที่ควรกล่าวด้วยว่า เรื่อง “สมเด็จพระเจ้าง่อย” วัดพระรูป ยังสอดรับกับเรื่องเล่าเชิงตำนานที่สัมพันธ์กับวัตถุสิ่งของบางอย่าง เช่น “เสลี่ยงพระเพทราชา” กับ “กุฏิทอง” ของวัดกุฎีทอง ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันนัก กล่าวคือ สมเด็จเจ้าพระง่อย ก็มีเสลี่ยง และวัดพระรูปก็เคยมีกุฎิใหญ่โตของ “เจ้าพระ” เสมือนว่าสองเรื่องเล่านี้มีความสอดรับหยิบยืมกันอยู่ในที  

ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ พระนครศรีอยุธยา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเพทราชา

ทั้งนี้ หากกุฏิตึกอาคารตึก ๒ ชั้น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าง่อย ตามเรื่องเล่ามีอยู่จริง รูปทรงอาจเป็นลักษณะนี้ ทว่า ยังไม่มีการสำรวจพบฐานรากอาคารในปัจจุบัน  

ที่มาภาพ: เพจ Facebook คิดอย่าง วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕

          อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่บุคคลในประวัติศาสตร์ การสืบสาวเรื่องราวของ “สมเด็จพระเจ้าง่อย” ซึ่งเรื่องเล่าระบุว่าเป็น “เชื้อพระวงศ์” จากกรุงศรีอยุธยา (ที่ถูกต้องควรเรียกว่า “สมเด็จเจ้าพระง่อย” เพราะคำว่า “เจ้าพระ” คือคำเรียกเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงที่ทรงผนวช[5]) อาจพิจารณาได้จากหลักฐานประเภทลายลักษณ์ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก ส่วนมากคือพระราชพงศาวดาร โดยอาจจำกัดกรอบเวลาในช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๓๑๐) ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า มีเจ้านายที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระราชโอรส ที่ทรงผนวช เป็น “เจ้าพระ” และดำรงสมณเพศตลอดพระชนม์ชีพ ๓ พระองค์ ไม่นับเจ้านายที่ทรงผนวชตามราชประเพณีเมื่อพระชนม์ครบ ๒๐ พรรษา หรือ ผนวชด้วยปัญหาทางการเมืองเป็นการชั่วคราวแล้วลาสิกขาออกมา เจ้านายทรงพระผนวชทั้งสาม ได้แก่ พระองค์เจ้าบุญนาค เจ้าฟ้าตรัษน้อยสองพระองค์นี้เป็นพระโอรสพระเพทราชา และองค์ที่สามคือเจ้าฟ้านเรนทร์ หรือ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เป็นพระโอรสพระเจ้าท้ายสระ

          พระองค์เจ้าบุญนาค ปรากฏเรื่องราวเจ้านายพระองค์นี้แต่เพียงสั้น ๆ ในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ช่วงต้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ระบุว่าเป็นพระโอรสพระเพทราชาที่เกิดจากพระสนม เจ้านายพระองค์ถูกเรียกว่า “เจ้าพระองค์เถร” ดังความพระราชพงศาวดาร ว่า

          ...อนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศมีพระราชบุตรเกิดด้วยพระสนม ๔ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าจินองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าดำองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าแก้ว องค์หนึ่ง พระองค์เจ้าบุญนาคองค์หนึ่ง และพระองค์เจ้าบุญนาคองค์นี้ที่เรียกว่า เจ้าพระองค์เถร...[6]

          อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าคำว่า “เจ้าพระ” และ “องค์เถร” น่าจะเป็นข้อบ่งชี้สถานภาพของพระองค์เจ้าบุญนาคได้ว่าพระองค์น่าจะทรงผนวชมายาวนานแล้ว และเป็นไปได้ว่าอาจผนวชตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งนี้ หากพิจารณาช่วงที่ประสูติ คือ รัชสมัยพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) หรืออาจประสูติก่อนพระเพทราชาครองราชย์ พระชนมายุเจ้านายพระองค์นี้ในช่วงปลายราชวงศ์หรือใกล้เสียกรุง ก็น่าจะทรงมีชันษาถึง ๘๐ ปี“เจ้าพระ” องค์นี้ จะเป็น “สมเด็จเจ้าพระง่อย” วัดพระรูป ได้หรือไม่อย่างไร จึงพึงวิพากษ์ถกเถียงกันต่อได้ กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าประวัติ “เจ้าพระเถร” องค์นี้ มีน้อยเกินไปและปรากฏเพียงจุดเดียว

          เจ้าฟ้าตรัษน้อย ดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ หากยึดตามพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม (ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์) ตรัษน้อยทรงเป็นพระราชโอรสพระเพทราชา ประสูติแต่ อัครมเหสีฝ่ายซ้าย กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ และน่าจะมีพระชันษาน้อยกว่า “เจ้าพระขวัน” พระราชโอรส อัครมเหสีฝ่ายขวา กรมหลวงโยธาทิพ ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระราชบิดา จนนำมาซึ่งการลอบปลงพระชนม์จากการวางแผนของกรมพระราชวังบวรฯ (ขุนหลวงสรศักด์) เจ้าฟ้าตรัษน้อยหลีกราชภัยไปประทับ ณ ตำหนักใกล้วัดพุทไธสวรรย์ พร้อมกับพระราชมารดาและพระอัยยิกา หลังโสกันต์จึงทรงผนวชเป็นเณรอยู่ ๕ พรรษา ในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ พระชนม์ได้ ๑๘ ชันษาจึงลาผนวชออกไปร่ำเรียนศิลปวิทยาการต่าง ๆ ...ครั้นพระชนม์คำรบได้อุปสมบทแล้วก็ทรงผนวชเป็นภิกษุภาวะจำเริญสมณธรรมอยู่เป็นอันดี...[7]

ความตอนท้ายพระราชพงศาวดารที่ว่า ...ทรงผนวชเป็นภิกษุภาวะจำเริญสมณธรรมอยู่เป็นอันดี... ชี้ชวนถึงการผนวชเป็นภิกษุตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งนี่น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทรงปลอดจากราชภัยอย่างแท้จริง “เจ้าพระเจ้าฟ้าตรัษน้อย” เจริญในสมณเพศต่อเนื่องมา พระองค์น่าจะได้ปกครองเป็นเจ้าอธิการวัดพุทไธสวรรย์ ดังมีปรากฏคำเรียกสมญานาม “พระราชสมภาร”[8] ผู้เป็นพระโอรสในพระเพทราชา ซึ่งเชื่อได้ว่าคือเจ้าพระเจ้าฟ้าตรัสน้อย อีกทั้งสันนิษฐานได้ว่า พระองค์อาจเป็นบุคคลเดียวกับ “สมเด็จเจ้าพระทิพมนต์” ที่ปรากฏในจารึกบูรณะพระบรมธาตุเมืองชัยนาท ท้ายสุดแห่งพระชนม์ชีพปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุฝรั่งเศสระบุว่า เจ้าพระเจ้าฟ้าตรัษน้อย สิ้นพระชนม์เมื่อราว พ.ศ. ๒๒๘๓ หากยึดตามนี้ “เจ้าพระ” องค์นี้ย่อมไม่อาจเกี่ยวโยงได้กับ สมเด็จเจ้าพระง่อย วัดพระรูป

          เจ้าฟ้านเรนทร์ หรือ กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ พระราชโอรสในพระเจ้าท้ายสระ ประสูติแต่พระอัคร มเหสีใน พ.ศ. ๒๒๔๙ และน่าจะร่วมพระราชมารดาเดียวกันพระเชษฐาพระนามเจ้าฟ้าอไภย (หรืออภัย) พระองค์ทรงเป็น “เจ้านายทรงพระผนวช” ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าท้ายสระยังทรงครองราชย์ซึ่งน่าจะเป็นการผนวชตามราชประเพณี ช่วงเวลานั้นเองพระเจ้าท้ายสระทรงประชวร ก่อนสวรรคตได้พระราชทานราชสมบัติแก่ เจ้าฟ้าอไภยพระเชษฐา แทนที่จะทรงมอบให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ (เจ้าฟ้าพร) ผู้เป็นพระอนุชา มูลเหตุนี้เองที่นำมาสู่สงครามกลางเมือง พ.ศ. ๒๒๗๕ ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเจ้าฟ้าอไภย อย่างไรก็ตาม ด้วยเจ้าฟ้านเรนทร์ยังเป็น ...พระภิกขุภาวะเมื่อมิได้รับราชสมบัติ จึงมิได้ลาผนวชออก... พระปิตุลาเมื่อเสวยราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงโปรดเกล้าสถาปนาเจ้าฟ้านเรนทร์ เป็น “พระเจ้าหลานเธอ” ทรงรับฐานานุศักดิ์ทรงกรมเป็น กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ โดยที่ยังทรงอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์[9]

          เรื่องราวของ เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ มีความโลดโผนและเกี่ยวข้องกับการเมืองในราชสำนักอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง ความในพระราชพงศาวดารชี้ชวนให้เชื่อว่า พระองค์ผนวชเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะและขัดแย้งกับพระราชปิตุลา ทั้งนี้ ในช่วงเวลาปรกติ “เจ้าพระ” องค์นี้ คงจำพรรษาที่วัดนอกกรุงออกไป จนเมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวร จึงทรงเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ดังความในพระราชพงศาวดารว่า ...ครั้น ณ เดือน ๗ ปีเถาะสัปตศก (พ.ศ. ๒๒๗๘) พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร กรมขุนสุเรนทรพิทักเสด็จเข้ามาอยู่วัดโคกแสง แล้วเวียนมาเยี่ยมเยียนพระเจ้าอยู่หัวอยู่เนือง ๆ...[10] อย่างไรก็ตาม การเสด็จเยี่ยมพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศของ เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ครั้งนี้ กลับนำมาซึ่งความหวาดระแวงแก่ กรมขุนสนาพิทักษ์ หรือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) ผู้ทรงคาดหวังการสืบราชสมบัติ จนนำไปสู่เหตุการณ์ “ลอบสังหารเจ้าพระ” ทว่า การนี้ไม่สำเร็จ

          ...วันหนึ่งเพลาค่ำ พระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักให้ พระองค์ชื่น พระองค์เทษโอรสออกไปเชิญเสด็จ กรมขุนสุเรนทรพิทัก ณ วัด ว่ามีพระโองการเชิญเสด็จไป กรมขุนสุเรนทรพิทักสำคัญว่าจริงก็เสด็จมาขึ้นหน้าพระไชย เข้าไปถึงประตูที่กรมขุนเสนาพิทักแอบอยู่ ฟันด้วยพระแสงดาบถูกจีวรสังฆาฎิขาดหาเข้าไม่ กรมขุนเสนาพิทักวิ่งเข้าไปข้างใน...[11]

          การกระทำที่ริษยาและโง่เขลาของ กรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) สร้างความพิโรธอับอายแก่ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นอย่างยิ่ง กรมหลวงอไภยนุชิต ผู้เป็นชนนีของกรมขุนเสนาพิทักษ์ รับรู้ถึงภัยใหญ่หลวงที่จะมาถึงพระโอรสผู้ผิดพลาด ทรงอ้อนวอนต่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เพื่อหาทางแก้และได้รับคำตอบว่า การผนวชดูจะเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยรักษาพระชนม์ชีพพระโอรส อย่างไรก็ตาม เจ้านายที่ร่วมสมคบคิดนั้นไม่รอด

          (เมื่อ) ... กรมขุนสุเรนทรพิทักเสด็จเข้าไปที่พระเจ้าอยู่หัวประชวน ทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามว่าเป็นไรผ้าสังฆาฎิจีวรจึงขาด กรมขุนสุเรนทรพิทักถวายพระพรว่า กรมขุนเสนาพิทักหยอก ครั้นกรมขุนเสนาพิทักถวายพระพรลา กรมหลวงอไภยนุขิต พระชนนีกรมขุนเสนาพิทัก เสด็จตามไปอ้อนวอนว่า ถ้าพ่อมิช่วยก็เห็นน้องจะตาย กรมขุนสุเรนทรพิทักตรัสว่าจะช่วยได้ก็แต่กาสาวพัสตร์อันเปนธงชัยอรหันต์ กรมหลวงอไภยนุชิตได้พระสติจึงเสด็จเจ้าไปทรงพระวอ ซ่อนพา กรมขุนเสนาพิทักออกทางประตูฉนวรไปให้ทรงพระผนวช ณ วัดโคกแสง พระเจ้าอยู่หัวให้ค้นหาตัวไม่พบ ได้แต่พระองค์เทษ พระองค์ชื่น ก็ให้ประหารเสียด้วยท่อนจันทร์...[12]

          แม้ กรมขุนเสนาพิทักษ์ จะรอดพ้นจากโทษตายตามคำแนะนำของ เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ทรงผนวช ณ วัดโคกแสงอยู่ปีเศษ[13] จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระราชบิดา กระทั่งใน พ.ศ. ๒๒๘๔ ก็ได้รับสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทว่า ในที่สุดพระองค์ก็ทรงต้องโทษฉกรรก์ถูกประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ ด้วยเหตุ ...เสด็จเข้ามาทำชู้ด้วยเจ้าฟ้าสังวารถึงในพระราชวังหลวงเป็นหลายครั้ง... [14] ในขณะที่เรื่องราวของ เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ซึ่งคงผนวชตลอดพระชนม์ชีพนั้น พระราชพงศาวดารไม่ได้มีบันทึกถึงอีกเลย ดังนั้นเราจึงไม่ทราบว่า “เจ้าพระ” องค์นี้ เสด็จจำพรรษาอยู่ ณ วัดใดและสิ้นพระชนม์เมื่อใด    

            ต่อประเด็นนี้ การโยงสู่ข้อสมมุติฐานว่า “เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์” อาจเกี่ยวข้องกับ “สมเด็จเจ้าพระง่อย” วัดพระรูป ซึ่งเป็นบุคคลในมุขปาฐะ จึงเป็นเรื่องที่อาจถกเถียงต่อได้หากแต่ก็อยู่บนข้อมูลและการเชื่อมโยงที่ค่อนข้างจำกัด เช่น ข้อวิเคราะห์ที่ว่าเพราะเมืองสุพรรณบุรีคือถิ่นฐานเดิมของพระเพทราชาปฐมกษัตริย์ผู้เป็นพระปัยกา (ทวด) ของพระองค์ ผู้คนโดยเฉพาะขุนนางท้องถิ่นส่วนหนึ่งน่าจะสืบตระกูลขุนนางข้าหลวงเดิม กระทั่งอาจเป็นพระญาติพระวงศ์ ที่ยังอยู่ในเมืองนี้ ทั้งนี้ หากพิจารณาเหตุการณ์เมื่อครั้งที่กลุ่มขุนนางข้าไทในพระเชษฐาของพระองค์คือเจ้าฟ้าอภัย เคยทำสงครามกลางเมืองพ่ายแพ้ต่อ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้าพร-พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในเวลาต่อมา) และหลบหนีมาตั้งหลักที่เมืองสุพรรณบุรี ประเด็นนี้อาจมีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย

          เช่นกันการพิจารณาเรื่องพระชนมายุ หากว่า เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ประสูติ พ.ศ. ๒๒๔๙ เมื่อเปรียบเทียบปีที่ล่วงเข้าเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์จะมีพระชันษาที่ราว ๖๐ ปี ทว่า ความอาพาธที่จะเป็นเหตุให้ทรงเป็น “ง่อย” เพื่อจะเชื่อมโยง “สมเด็จเจ้าพระง่อย” นั้น เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือหลักฐานลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์ “เจ้าพระ” องค์นี้ย่อมไม่ใช่ “พระบวชใหม่” แน่นอน นอกจากนี้ ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งของ “เจ้าพระ” วัดพระรูป ในแง่บุคคลที่มีตัวตนจริง ก็คืออาจเป็นเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงชั้นลดหลั่นลงไป ที่ไม่ปรากฏนามในพระราชพงศาวดารเลยก็เป็นได้  

[1] ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ประวัติวัดพระรูป (มปป. มปพ., ๒๕๖๒), ๔๔.

[2] สุนทรภู่, นิราศเมืองสุพรรณ ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพมหานคร: สโมสรสุนทรภู่, ๒๕๐๙), ๔๙.

[3] กฤช เหลือลมัย, บรรณาธิการ. ปางบรรพ์ ตำนานและนิทานประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศ (กรุงเทพมหานคร: เมืองโบราณ, ๒๕๓๒).

[4] ตัวอย่างเช่น วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่เจ้าอาวาสรูปแรกมีชื่อว่า “เจ้าคุณในตึก” เรื่องราวเจ้าคุณท่านนี้มีเพียงคำบอกเล่าว่า ท่านเป็นเจ้านายในราชวงศ์มาครองวัด ปลูกกุฏิตึกไว้หลังหนึ่ง จึงเรียกว่า “เจ้าคุณในตึก” ดู กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล, บรรณาธิการ. ผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑ์ พุทธวิถีนายก วัดกลางบางแก้ว นครชัยศรี (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๖), ๗.

[5] คำว่า “เจ้าพระ” ปรากฏอยู่ในพระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “อธิบายเรื่องเพลงยาวเจ้าพระ” ที่ทรงสันนิษฐาน บทกลองเพลงยาวชุดหนึ่งซึ่งเป็นบทโต้ตอบกันระหว่างบุคคลสี่คนโดยไม่ปรากฏชื่อผู้นิพนธ์ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นบทนิพนธ์ของ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ โต้ตอบกับพระนัดดาเจ้านายสามพี่น้องที่ผนวชอยู่วัดเดียวกัน คือ วัดพระเชตุพนธ์วิมลมังคลาราม และเจ้าพระทั้งสามทรงเป็นลูกศิษย์ของของ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ดูรายละเอียดใน https://vajirayana.org/ประชุมเพลงยาวภาค-๕-เพลงยาวเจ้าพระ.

[6] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม, ๒๕๔๒), ๒๗๐.

[7] เรื่องเดียวกัน, ๒๗๐.

[8] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓ (พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์เจ้ากรม (จาด), ๒๕๔๒), ๔๖๔.

[9] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม, ๒๕๔๒), ๒๘๘-๒๘๙.

[10] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม, ๒๕๔๒), ๒๙๔.

[11] เรื่องเดียวกัน, ๒๙๔.

[12] เรื่องเดียวกัน, ๒๙๔-๒๙๕.

[13] งานศึกษาของ ธนิต อยู่โพธิ์ เรื่อง เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ พระประวัติและพระนิพนธ์ บทร้อยกรอง (๒๕๑๓) ระบุว่าระหว่างที่เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ ผนวชอยู่ที่วัดโคกแสง พระองค์ได้รัยฉายา “สิริปาโล” ในระยะที่พระองค์ทรงผนวชได้ศึกษาวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง และด้วยความสามารถทางกวี พระองค์ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนา ๒ เรื่องคือ นันโทปนันทสูตรคำหลวง และพระมาลัยคำหลวง การที่ทรงแต่งวรรณกรรมทั้งสองนี้บ้างว่าเป็นการไถ่บาปแด่เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ที่พระองค์เคยรอบทำร้ายจนถึงกับจีวรขาด และเพื่อเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระราชบิดา ดูรายละเอียดเรื่องเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ ใน เทพมนตรี ลิมปพยอม, ย้อนรอยกบฏเจ้าฟ้ากุ้ง การเมือง การมุ้ง เรื่องยุ่ง ๆ ในประวัติศาสตร์กรุงศรี (กรุงเทพฯ: sanamya publishing, ๒๕๕๔).

[14] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๒ (พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม, ๒๕๔๒), ๓๐๑-๓๐๒.

การบูรณะเจดีย์วัดพระรูปในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔

          เจดีย์วัดพระรูปได้รับการบูรณะเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นสมัยที่ ๓ โดยการทำฐานบัวล้อมฐานเจดีย์ทางด้านทิศตะวันตก ก่อยาวไปชนกับฐานอาคารเก่า สันนิษฐานว่าการบูรณะในครั้งนี้น่าจะเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานระฆังสำริดและหอระฆังของวัดพระรูป ที่บนขอบล่างของระฆังปรากฏจารึกการสร้างระฆังใบนี้ใน พ.ศ. ๒๒๔๒ ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ผู้สร้างคือเจ้านายสตรีพระองค์หนึ่ง หลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ บนข้อสันนิษฐานว่า อาจมีเจ้านายสตรีชั้นสูงให้การอุปถัมภ์ทำนุบำรุง ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” ไม่มากก็น้อย     

          ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๔๕๙ มีการสร้างเก๋งจีนข้างเจดีย์ ในครั้งนั้นสันนิษฐานว่ามีการบูรณะพระเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง โดยการทำฐานเขียงทางด้านทิศตะวันออกเพื่อป้องกันดินพังทลาย และปูพื้นอิฐทางด้านทิศใต้เพื่อเชื่อมระหว่างเจดีย์กับเก๋งจีน การบูรณะครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้าดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่ใน พ.ศ. ๒๕๓๗ [1] 

[1] กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๔). และ กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗).

เจดีย์วัดพระรูป ได้รับการบูรณะโดยการทำฐานบัวล้อมฐานเจดีย์ทางด้านทิศตะวันตก ก่อยาวไปชนกับฐานอาคารเก่า สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔

อุโบสถหลังเก่าวัดพระรูป

          อุโบสถหลังเก่าของวัดพระรูปมีขนาดไม่ใหญ่ เป็นอาคารก่ออิฐสอปูนขาวอย่างโบราณ เคยตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกับอุโบสถหลังปัจจุบัน มีซุ้มใบเสมาขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดยรอบ จากบันทึกคนเก่าคนแก่ในพื้นที่เล่าว่าอุโบสถหลังเก่าแต่เดิมเคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับสวยงาม ซึ่งอาจเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าง่อยหรือหลังจากนั้นลงมาเล็กน้อยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏหลักฐานใบเสมารุ่นสองของวัด ต่อมาได้มีการบูรณะอุโบสถหลังเก่าอีกหลายครั้ง จนอุโบสถหลังนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก จึงต้องใช้สังกะสีมุงเป็นหลังคาและปิดเป็นผนัง แต่ก็ยังคงมีการใช้งานอยู่ ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่าเป็นงานกฐินหรืองานบวชมีขบวนแห่ชาวบ้านเวียนรอบอุโบสถหลังนี้

อุโบสถหลังเก่าวัดพระรูป ก่อนที่พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) จะร่วมกับชาวบ้านทำการบูรณะสร้างอุโบสถหลังใหม่บนสถานที่เดิม

คัมภีร์ใบลานจารึกเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๑๒

          คัมภีร์ใบลานจำนวนมากของวัดพระรูปที่เก็บรักษาสืบเนื่องมาแต่โบราณ พบว่ามีความสำคัญอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคัมภีร์ใบลานที่มีจารึกบอกวันที่จารหรือปีที่ถวายวัดพระรูป อาทิ คัมภีร์ใบลานผูกหนึ่งมีจารึกวันที่จารว่า “วัน ๒ ๘ฯ ๘  คำปัดถะมลาศ จุลศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศกเขียนแล้วเพลาบายแล้วโมงเสด ตัวผู้เขียนมิสู้จำนักในลักษอักษรบวรไตรลัก ถ้าผิดพลังในอักขวรช้วยใส่เปนบุนพระคุณเจ้าเอ้ย” กล่าวได้ว่า ผู้เขียนได้จารคัมภีร์ใบลานผูกนี้ขึ้นในวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปี พ.ศ. ๒๓๑๒ ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยสมเด็จ พระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๑-๒๓๒๕) เป็นที่น่าสนใจศึกษาเพิ่มเติมต่อไปว่า คัมภีร์ใบลานผูกนี้จารขึ้นที่วัดพระรูปหรือไม่ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอะไร

ใบลานพบที่วัดพระรูป ปรากฏจารึก "... จุลศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศกเขียนแล้วเพลาบายแล้วโมงเสด ตัวผู้เขียนมิสู้จำนักในลักษอักษรบวรไตรลัก ..."

ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ
            “ตู้พระธรรม” หรือ “ตู้พระไตรปิฎก” คือตู้ไม้สำหรับเก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน ที่จารเรื่องเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎก คติความเชื่อ ภูมิปัญญา ตำรายา ฯลฯ ลักษณะตู้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ด้านบนสอบเข้าเล็กน้อย นิยมทำขาตั้ง ๔ ขา หรือเป็นฐานสิงห์ ด้านหน้ามีบานประตูเปิด-ปิดด้วยเดือยหรือบานพับ ภายในตู้นิยมแบ่งเป็นชั้น ๒ - ๓ ชั้น ด้านล่างมักทำเป็นลิ้นชักสำหรับเก็บของ
            ตู้พระไตรปิฎกเป็นที่นิยมมากในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในแต่ละท้องถิ่นอาจมีรูปทรงและการตกแต่งแตกต่างกันไปบ้าง พื้นผิวภายนอกของตู้มักจะนิยมตกแต่งให้เกิดความงดงามด้วยการเขียนลายรดน้ำ นิยมเรียกกันว่า “ตู้ลายรดน้ำ” หรือ “ตู้ลายทอง” ด้านล่างของตู้นิยมแกะสลักเป็นลวดลายแล้วปิดทอง หรือปิดทองประดับกระจก ตู้พระไตรปิฎกเขียนลายทองอย่างไทยนี้ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากตู้ลายทองของจีน ซึ่งน่าจะเข้ามาในไทยอย่างช้าในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีการดัดแปลงต่อยอดให้เข้ากับรสนิยมของไทย

            ตู้พระไตรปิฎกของวัดพระรูป มีขนาดความสูง ๑๖๐ ซม. กว้าง ๗๙.๓ ซม. ยาว ๙๐.๕ ซม. จัดเป็นตู้แบบที่นิยมเรียกกันว่า “ตู้ขาหมู” ด้วยขาตู้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมสูงตรงจำนวน ๔ ขา ด้านนอกของตู้ทั้งด้านหน้าและด้านข้างเขียนลายรดน้ำ ลักษณะพื้นลายเป็นกระหนกเปลวเครือเถาไขว้นกคาบเคล้ากับภาพนกภาพกระรอก เว้นช่องไฟแคบถี่เป็นระเบียบแต่ดูไม่เป็นอิสระ เขียนภาพจับตามเรื่องรามเกียรติ์ทับลงบนพื้นลาย ซึ่งเป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากการเขียนลายก้านขดที่ออกช่อลายรูปบุคคล พื้นที่ด้านล่างใช้ภาพเขามอแบ่งฉาก เขียนภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ต่อเนื่องกันบนบานประตูทั้งสอง ส่วนด้านข้างทั้งสองเขียนภาพจับตามเรื่องรามเกียรติ์ กึ่งกลางของบานประตูเขียนลายประจำยามรัดอก

ลายรดน้ำภาพจับบนตู้พระไตรปิฎกวัดพระรูป

            เสาขอบตู้ทั้ง ๔ ตกแต่งด้วยลายอย่างเทศ ที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างลายไทย ลายฝรั่ง และลายจีน เป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ลายเทศเหล่านี้ผูกลายอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมและลายกรวยเชิงตกแต่งเสาขอบตู้ ขอบบนและขอบล่างที่เป็นบัวหงายตกแต่งด้วยลายกลีบบัวและลายหน้ากระดาน ด้านล่างของตู้ประดับตกแต่งด้ายลายเทศ เชิงตู้ทำรูปหูช้าง
            ด้วยรูปทรงของตู้พระไตรปิฎกที่ขายืดสูงและด้านกว้างค่อนข้างแคบ ประกอบกับการเขียนภาพจับทับลงบนพื้นลายซึ่งพัฒนามาจากการเขียนลายก้านขดที่ออกช่อลายรูปบุคคล และการเขียนลายอย่างเทศซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ทำให้สันนิษฐานว่าตู้พระไตรปิฎกนี้เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ การพบตู้พระไตรปิฎกใบนี้ตลอดจนคัมภีร์ใบลานเป็นจำนวนมากที่วัดพระรูป สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าววัดพระรูปคงมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาวัดหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี  

ภาพลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎก
            “ลายรดน้ำ” เป็นงานประณีตศิลป์ของไทย จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่แขนงช่างรัก เรียกกันว่า “ช่างลายรดน้ำ” สันนิษฐานว่าอาจจะพัฒนามาจากงานช่างรักที่มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยสุโขทัยซึ่งทำสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ลายรดน้ำยังจัดเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณีประเภทหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มเอกรงค์ คือมีสีทองสีเดียวเขียนทั้งส่วนภาพและส่วนลวดลาย สีทองมาจากทองคำเปลวแท้ปรากฏเด่นชัดบนพื้นดำหรือแดงเข้ม เป็นงานประณีตศิลป์ที่มีระเบียบแบบแผน ใช้เขียนประดับตกแต่งส่วนประกอบอาคารสถาปัตยกรรมไทย อาทิ ประตู หน้าต่าง หรือสิ่งของเครื่องใช้ อาทิ ตู้พระไตรปิฎก หีบพระธรรม ฉากลับแล ประกับคัมภีร์ใบลาน เป็นต้น 

ลายรดน้ำภาพรามเกียรติ์ตอนพระรามแผลงศรพรหมาสตร์ถูกทศกัณฐ์จนสิ้นชีวิต ตู้พระไตรปิฎกวัดพระรูป

            ตู้พระไตรปิฎกของวัดพระรูป ทั้ง ๓ ด้านเขียนภาพลายรดน้ำเรื่อง “รามเกียรติ์” ส่วนล่างของบานประตูทั้งสองข้างเขียนเป็นภาพเล่าเรื่อง โดยด้านซ้ายเขียนภาพพระรามแผลงศร มีหนุมานถือวัตถุชิ้นหนึ่งยืนอยู่ด้านหน้า ส่วนด้านขวาเขียนภาพทศกัณฐ์ถูกศรปักอก มีเสนายักษ์คอยประคองอยู่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตอนพระรามแผลงศรพรหมาสตร์ถูกทศกัณฐ์จนสิ้นชีวิต ดังในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ความว่า 
                        “. . . ตรัสแล้วพระตรีภูนาถ        น้าวศรพรหมาสตร์รังสรรค์
                        อันมีฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์              ทรงธรรม์แผลงไปด้วยศักดา ฯ
                        ๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดังเสียงฟ้าร้อง     กึกก้องทั่วทศทิศา
                        ต้องอกทศกัณฐ์อสุรา                ตกจากรัถาอลงกรณ์
                        อันงาช้างซึ่งปักอยู่นั้น                หักสะบั้นกระเด็นเป็นสองท่อน
                        กลับเป็นทศพักตร์ยี่สิบกร           ล้มนอนอยู่กับสุธาธาร ฯ
                        ๏ เมื่อนั้น                             ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ
                        ต้องศรเจ็บเพียงจะวายปราณ      ขุนมารเหลือบเห็นน้องชาย
                        ความแค้นเป็นแสนสุดนัก           คืนคิดถึงรักก็ใจหาย
                        ค่อยผ่อนจิตระงับลำดับกาย        แล้วบรรยายร่ำว่าพาที ฯ
                        . . .
                        ๏ บัดนั้น                              คำแหงหนุมานทหารใหญ่
                        ครั้นทศกัณฐ์ต้องศรชัย              ล้มในพ่างพื้นพสุธา
                        จึ่งขยี้ดวงจิตขุนมาร                 แหลกลาญละเอียดด้วยหัตถา
                        ดับสูญสุดสิ้นวิญญาณ์               ยักษาก็ม้วยชีวี ฯ”[1]

             นอกจากภาพเล่าเรื่องแล้ว ยังมีการเขียนภาพในลักษณะการต่อสู้กันเป็นคู่ระหว่างลิงหรือตัวพระกับยักษ์ในท่าทางต่าง ๆ ไม่ซ้ำแบบกัน หรือที่นิยมเรียกว่า “ภาพจับ” อันแสดงถึงแบบแผนฝีมือช่างที่ทำสืบทอดต่อกันเรื่อยมา การเขียนลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์นี้พบมาก่อนในราชสำนักสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย ด้วยรามเกียรติ์เป็นเรื่องที่มีนัยยะสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชสำนักโดยตรง ตัวอย่างเช่น ตู้พระไตรปิฎกเลขที่ อย. ๓ ในหอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) และพบสืบต่อมาในสมัยธนบุรี ตัวอย่างเช่น ตู้พระไตรปิฎกเลขที่ ธบ. ๑ ในหอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) ก่อนจะเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในสมัยรัตนโกสินทร์ นับเป็นเรื่องที่นิยมมากที่สุดในการนำมาเขียนลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎก  

[1] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เล่ม ๒ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, ๒๕๕๘), ๔๘๕-๔๘๖.

สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป

          หลักฐานสมุดภาพพระมาลัยมีปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย หากแต่ที่พบมากคือช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ เรื่องพระมาลัยมักถูกบันทึกในสมุดข่อย (สมุดไทยขาว) เขียนด้วยอักษรขอมภาษาบาลี ส่วนใหญ่มักเขียนภาพอยู่ตอนปลายทั้งสองของกระดาษ เว้นพื้นที่ตอนกลางสำหรับบรรจุตัวหนังสือ ในส่วนของภาพจำแนกได้อยู่ในประเภทงานจิตรกรรม สมุดภาพพระมาลัยมีแบบแผนเฉพาะที่สืบต่อกันมา เช่น การเริ่มต้นด้วยภาพเทพพนม ๑ คู่ ถวายอัญชลีแสดงความเคารพต่อพระธรรม ภาพภิกษุ ๔ รูป กำลังสวดอภิธรรมหรือสวดมาลัยตามธรรมเนียมการสวดศพ ภาพพระมาลัยขณะโคจรบิณฑบาตและแสดงเทศนาเพื่อนำข่าวจากสัตว์นรกมาแจ้งแก่บรรดาญาติพี่น้อง ภาพพระมาลัยโปรดสัตว์แสดงธรรมเทศนาเพื่อแจ้งความตามเทวโองการของพระโพธิสัตว์ศรีอาริย์เมตไตรยแก่ฝูงชน ภาพปลงอสุภะชักผ้าบังสุกุลหรือฉากงานศพ ซึ่งนิยมวาดท้ายเล่มสมุดภาพพระมาลัย

สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป

สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป

          ในช่วงราวร้อยปีแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ สมุดภาพพระมาลัยนับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป กล่าวคือมีปรากฏแทบทุกวัดในภาคกลางและภาคใต้ ชาวบ้านมักว่าจ้างจิตรกรและช่างเขียนทำสมุดภาพพระมาลัยเป็นสมุดข่อยถวายวัดแทนสมุดภาพชุดเดิมที่เสื่อมสภาพอันถือเป็นการทำบุญวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยวัสดุที่เป็นกระดาษจึงมักเกิดปัญหาความชื้น ตลอดจนการเสื่อมความนิยมในประเพณีการสวดพระมาลัย ทำให้สมุดภาพพระมาลัยสูญหายไปเกือบหมดสิ้นตามกาลเวลา

สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป

สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป

          สำหรับสมุดภาพพระมาลัยของวัดพระรูป เขียนบนสมุดภาพไทยขาวด้วยอักษรไทยและอักษรขอมภาษาบาลีอายุราวต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นงานเขียนในรูปแบบกลอนสวด เป็นหลักฐานแสดงถึงความนิยมในการสวดพระมาลัยที่วัดพระรูปในอดีต ในส่วนของภาพจิตรกรรมนั้นครบถ้วนเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่กล่าวมา และมีความงามเป็นเอกอุ นับเป็นสมุดภาพที่มีความสมบูรณ์ในเนื้อหาและคุณค่าในด้านงานจิตรกรรมมากชิ้นหนึ่ง

คติความเชื่อพระมาลัย 
            เรื่องพระมาลัยมีปรากฏใน “มาลัยสูตร” อันเป็นสูตรนอกพระไตรปิฎกที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เดิมเชื่อว่าแต่งขึ้นในลังกาเพราะมีเรื่องราวเกี่ยวกับลังกาทวีป ระยะต่อมามีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าคัมภีร์พระมาลัยอาจแต่งขึ้นในอุษาคเนย์ โดยเริ่มต้นในดินแดนมอญก่อนจะแพร่หลายเข้ามายังล้านนาและสุโขทัย สืบเนื่องไปยังเขมรและลาวซึ่งต่างนับถือพระมาลัยด้วยกันทั้งสิ้น กรณีของไทยเค้าเงื่อนเกี่ยวกับพระมาลัยปรากฏอยู่ในรายชื่อคัมภีร์ในบานแพนกของไตรภูมิพระร่วง แต่งโดยพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๘ หรือในช่วงอยุธยาตอนปลาย เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ก็ได้นิพนธ์พระมาลัยคำหลวงขึ้น ความนิยมเรื่องพระมาลัยปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔ เห็นได้จากการสร้างสรรค์วรรณกรรมพระมาลัยขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะรูปแบบ “พระมาลัยกลอนสวด”

สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป

            พระมาลัยเป็นเรื่องของพระอรหันต์ชาวลังกานามว่า “พระมาลัยเทวเถระ” ผู้มีอิทธิฤทธิ์สามารถลงไปแดนนรกเพื่อโปรดสัตว์นรกหรือขึ้นไปบนแดนสวรรค์ได้ทุกชั้น และนำสิ่งที่พบเห็นมาเทศนาแก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความเลื่อมใสในความเชื่อบาปบุญคุณโทษ ในด้านงานศิลปกรรมเรื่องพระมาลัยได้รับการสร้างสรรค์เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหาร รวมถึงในรูปแบบสมุดภาพโบราณ ที่เห็นบ่อยครั้งคือภาพพระมาลัยเหาะลอยอยู่เหนือสัตว์นรก ภาพสัตว์นรกที่กำลังถูกทรมานต่างแสดงความดีใจที่พระมาลัยมาแสดงธรรม ภาพพระมาลัยรับดอกบัวจากชายยากจนแล้วหอบเอาดอกบัวเหาะขึ้นสวรรค์ไปบูชาเจดีย์จุฬามณี ภาพพระมาลัยสนทนาธรรมกับพระศรีอาริยโพธิสัตว์ ฯลฯ 

สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป

            แม้เรื่องราวพระมาลัยจะถูกเขียนเป็นคำกลอนสวด แต่ในทางปฏิบัติเมื่อโบราณจารย์นำเรื่องพระมาลัยมาเล่าใหม่ในสำนวนร้อยแก้ว ก็มักเพิ่มเติมสำนวนโวหารและเรื่องราวต่าง ๆ ให้สนุกสนานยิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน พระนักเทศน์ในท้องถิ่นมักนิยมแต่งเติมบรรยายผลลัพธ์ของการกระทำที่ชั่วร้ายให้ชาวบ้าน เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ผู้ปกครองที่โกงกินไม่ยุติธรรม เมื่อตายไปจะเกิดเป็นสัตว์นรกที่มีอัณฑะใหญ่ ส่งกลิ่นเน่าเหม็นห้อยลงมาถึงพื้น คนที่ฆ่าสัตว์ โกหกมดเท็จ โกงกินและไม่ซื่อสัตย์สุจริต จะได้รับผลกรรมเกิดเป็นสัตว์นรกแผลพุพอง หนองเน่าเฟะ บางคนถูกต้มในกระทะทองแดง บางคนถูกนกจิกตีตลอดเวลา ฯลฯ

สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป

            กล่าวได้ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับพระมาลัยคือเครื่องมือน้อมนำใจให้บุคคลกระทำความดีละเว้นจากกรรมชั่ว การบรรยายภาพนรกภูมิมีพลังเพียงพอให้ผู้คนไม่กล้าทำบาป ไม่ใช่เพราะกลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นในชีวิตนี้เท่านั้น แต่ยังวิตกถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับในชาติหน้าด้วย นอกจากนี้ พระมาลัยยังเป็นเครื่องปลอบประโลมให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นและรอคอยที่จะเกิดในศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย อันเป็นสังคมในอุดมคติที่กอปรด้วยความสุขสมบูรณ์นานาประการ

ตาลปัตรสวดพระมาลัย
            ในอดีต วัดพระรูปเคยมีการสวดพระมาลัย สิ่งนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวัดทางภาคกลาง ที่โดยปรกติมักให้มีเทศนาพระมาลัยก่อนการเทศน์มหาชาติ นี่เองที่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านต่างตั้งตารอเทศกาลเทศมหาชาติ เพื่อจะได้ฟังพระสงฆ์เทศนาพระมาลัยและเวสสันดรชาดกซึ่งนับเป็นบุญกุศลใหญ่ นอกจากนี้ แต่เดิมวัดพระรูปยังมีธรรมเนียมการสวดพระมาลัยในงานศพ โดยการสวดจะใช้พระสงฆ์ ๔ รูป เมื่อสวดอภิธรรมจบจึงสวดพระมาลัยถือเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ตาย  

ตาลปัตรสวดพระมาลัยในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

            การสวดพระมาลัยในงานศพ เข้าใจว่ามีมาแต่กรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และคงมาเสื่อมลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงฟื้นฟูหลักธรรม ตามพุทธศาสนาโดยการก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย เพื่อปรับปรุงให้พระสงฆ์มีความเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยให้เป็นที่เลื่อมใสของประชาชน และเนื่องจากเรื่องราวพระมาลัยเกี่ยวพันกับอิทธิปาฏิหาริย์และความเชื่อพระศรีอาริยเมตไตรย จึงขัดแย้งกับหลักความเป็นเหตุเป็นผล การสวดพระมาลัยจึงเป็นสิ่งที่พ้นสมัย หากแต่ตามหัวเมืองชนบทรอบนอกยังคงสืบศรัทธาประเพณีนี้ต่อเนื่องมา
            แม้ทุกวันนี้วัดพระรูปจะไม่มีการสวดพระมาลัยแล้วก็ตาม ทว่า ประจักษ์หลักฐานถึงการเคยมีอยู่ของประเพณีนี้ก็คือ สมุดภาพพระมาลัย หีบพระมาลัย และตาลปัตรไม้ไผ่สานจำนวน ๔ คัน ที่เคยใช้สวดพระมาลัย

ใบเสมารุ่นที่สองของวัดพระรูป
            ใบเสมาวัดพระรูปรุ่นที่ ๒ พบจำนวน ๗ ใบ ตามประวัติกล่าวว่าเป็นใบเสมาของอุโบสถหลังเก่าก่อนการบูรณะ โดยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) ได้นำมาเก็บรักษาไว้ ใบเสมาชุดนี้เป็นหินสีเทา ขนาดโดยรวมสูงประมาณ ๗๐ ซม. กว้างประมาณ ๓๒ ซม. และหนาประมาณ ๖ ซม. ลักษณะรูปทรงเป็นแท่งสูงแบน เส้นรอบนอกคล้ายกับทรงเจว็ด เอวเสมาคอดมีกระหนกที่งอนขึ้นมาด้านข้าง ยอดใบเสมาผายออกเล็กน้อยปลายยอดแหลม มีการสลักลวดลายที่เหมือนกันทั้งสองด้าน โดยสลักลายด้านหน้าละเอียดประณีตกว่าด้านหลัง ลวดลายบนใบเสมาส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้ใบเทศ สลักประดับในทุกส่วนทั้งยอดเสมา อกเลา ทับทรวง โคนเสมา ส่วนฐานเสมาเป็นลายกลีบบัวหงายซ้อนกัน

ใบเสมาอุโบสถวัดพระรูป

            ลักษณะเด่นบนใบเสมาชุดนี้คือ ลายดอกไม้ ๒ ดอกกลางใบเสมา ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีปรากฏมาก่อนในใบเสมาสมัยอยุธยาตอนปลาย อาทิ ใบเสมาวัดพรหมนิวาส จ.พระนครศรีอยุธยา และนิยมสืบเนื่องมาในสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ ๔ อาทิ ใบเสมาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระแก้ว) ใบเสมาวัดอรุณราชวราราม ใบเสมาวัดสระเกศ กรุงเทพฯ ใบเสมาวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี เป็นต้น นักวิชาการวิเคราะห์ว่าวงกลม ๒ วงบนใบเสมานั้นหมายถึง สุริยมณฑล (พระอาทิตย์) และจันทรมณฑล (พระจันทร์) อันเป็นสัญลักษณ์ของยอดเขาพระสุเมรุ ที่ประทับของพระอินทร์ตามคติการนับถือบูชาพระอินทร์ ใบเสมาในคตินี้ยังนิยมล้อมรอบด้วยรูปนาคตามเรื่องเล่าว่าพระอินทร์มีภาระในการปราบนาควฤตราเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ[1] และโดยทั่วไปยังเชื่อกันด้วยว่านาคนั้นเป็นสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ด้วย อย่างไรก็ดี ด้วยรูปแบบของใบเสมาวัดพระรูปที่ไม่มุ่งเน้นการทำรูปวงกลม ๒ วงและรูปนาคด้านข้างใบเสมา จึงแสดงให้เห็นถึงความคลี่คลายไปจากรูปแบบที่สร้างตามอินทรคติอย่างมากแล้ว

หลวงพ่อดีเก็บรักษาใบเสมาอุโบสถวัดพระรูป

            ใบเสมาของวัดพระรูปชุดนี้อาจกำหนดอายุได้จากรูปแบบและลวดลายบนใบเสมา ที่เป็นลายดอกไม้ใบเทศและมีรูปแบบที่คลี่คลายไปจากอินทรคติแล้ว โดยน่าจะอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรือในช่วงรัชกาลที่ ๓ - ๔ นับเป็นใบเสมารุ่นที่ ๒ ของวัดพระรูป การพบใบเสมาของวัดพระรูปชุดนี้นำมาสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า วัดพระรูปคงจะมีการบูรณะอุโบสถและผูกพัทธสีมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงรัชกาลที่ ๓ - ๔ สอดคล้องกับการพบหลักฐานงานศิลปกรรมที่อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวภายในวัด อาทิ ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ สมุดพระมาลัย ซุ้มเสมาของอุโบสถเก่า ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในช่วงเวลาดังกล่าว

บุษบกธรรมาสน์วัดพระรูป
            ธรรมาสน์ หมายถึงที่สำหรับแสดงธรรม แบ่งออกได้หลายประเภท อาทิ ธรรมาสน์ตั่ง ธรรมาสน์ยอด สำหรับธรรมาสน์ยอดนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บุษบกธรรมาสน์” เป็นธรรมาสน์ที่มีหลังคาซ้อนชั้น แบบเดียวกับหลังคาปราสาท นิยมทำขนาดเล็กสำหรับพระสงฆ์ใช้นั่งเทศนาได้องค์เดียว ส่วนมากมีอยู่ในวัดสำคัญหรือวัดขนาดใหญ่ มักเป็นวัดหลวงหรือวัดที่อยู่ในชุมชนที่มีฐานะดี เป็นวัตถุที่พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างถวายวัดด้วยความศรัทธาหรืออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ ด้วยเหตุนี้บุษบกธรรมาสน์บางหลังจึงถือเป็นเครื่องสังเค็ตด้วย

บุษบกธรรมาสน์วัดพระรูป

องค์ประกอบธรรมาสน์วัดพระรูป

            บุษบกธรรมาสน์ของวัดพระรูป พระเทพวุฒาจารย์ (เปลื้อง) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่านำมาจากวัดหนึ่งทางฝั่งธนบุรี แต่ไม่ทราบว่าวัดใด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าประวัติดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ บุษบกธรรมาสน์หลังนี้สร้างจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความสูง ๖๗๐ ซม. ฐานกว้าง ๑๗๘ ซม. ยาว ๑๗๕ ซม. มีลักษณะส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ชั้นเดียวต่อด้วยชั้นหน้ากระดาน ทั้งหมดมีลักษณะโค้งตกท้องช้างเล็กน้อยและมีกระจังปฏิญาณประดับทุกชั้น ฐานชั้นที่รองรับเรือนธาตุมีลักษณะยืดสูง โดยแต่ละด้านประดับรูปครุฑแบกและแต่ละมุมประดับรูปสิงห์แบก (ครุฑและสิงห์แสดงท่าทางคล้ายยุดนาคแต่ไม่มีนาค) เหนือขึ้นไปประดับกระจังปฏิญาณขนาดใหญ่ การประดับเช่นนี้มีให้เห็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น ธรรมาสน์วัดวรจรรยาวาส กรุงเทพฯ เป็นต้น ด้านหน้าธรรมาสน์มีบันไดนาคและแพะหมอบสำหรับพระสงฆ์เหยียบเพื่อขึ้นลงธรรมาสน์ 

            บุษบกธรรมาสน์หลังนี้คงได้รับการซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อธรรมาสน์ชำรุดทางวัดได้จ้างช่างจีนซ่อมคราวหนึ่งเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ธรรมาสน์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้จึงมีทั้งงานเก่าและงานใหม่ปะปนกันอยู่ บันไดนาคนั้นเป็นของที่ทำขึ้นใหม่เนื่องจากของเดิมสูญหายไปสำหรับงานเก่าดั้งเดิมที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ สิงห์แบก ๒ ชิ้น ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะฝีมืออันละเอียดประณีตของธรรมาสน์หลังนี้เมื่อครั้งอดีต อนึ่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรียังมีธรรมาสน์ของวัดประตูสารอีกแห่งหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับธรรมาสน์ของวัดพระรูป อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบศิลปะของงานช่างประณีตศิลป์ในพื้นที่นี้

แพะรองขึ้นบุษบกธรรมาสน์วัดพระรูป

สิงห์แบกฐานบุษบกธรรมาสน์วัดพระรูป

เอกสารอ้างอิง
[1]  พิทยา บุนนาค, เสมา สีมา เล่ม ๒ ใบสีมาสมัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม แอนด์ เอ็ม เลเซอร์พริ้นต์, ๒๕๖๐), ๔๖-๔๗.

วัดพระรูปในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่
            “โคลงนิราศสุพรรณ” ของสุนทรภู่ ระบุถึงวัดพระรูปว่าตั้งอยู่ฝั่งซ้าย (ฝั่งตะวันตก) ของแม่น้ำสุพรรณบุรีซึ่งเป็นเขตเมืองเก่า “พิสดาร” ความว่า 

                              ฝั่งซ้ายฝ่ายโน้น             พิสดาร
                              มีวัดพระรูปบุราณ         ท่านสร้าง
                              ที่ถัดวัดประตูสาน         สงฆ์สู่ อยู่เอย
                              หย่อมย่ายบ้านขุนช้าง     ชิดข้างบัลลังก์

          อนึ่ง ในบาทที่สอง “มีวัดพระรูปบุราณ ท่านสร้าง” ย่อมหมายถึงความเก่าแก่ของวัดที่สร้างมาแต่โบราณในการรับรู้ของผู้คนขณะนั้น และจากหลักฐานวัตถุต่างๆ เชื่อได้ว่าวัดพระรูปในเวลานั้น ไม่ได้เป็นวัดร้าง แม้จะไม่ได้พระสงฆ์อยู่มากเมื่อเทียบกับวัดประตูสารที่อยู่ถัดไปก็ตาม 

สุพรรณบุรีในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ 
            โครงนิราศสุพรรณ เขียนขึ้นโดยสุนทรภู่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสมณเพศ การเดินทางครั้งนั้น สุนทรภู่มีเป้าหมายเพื่อมาค้นหาเหล็กไหลหรือ “พระปรอท” ในป่าลึกทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุพรรณบุรี นิราศสุพรรณนับเป็นงานเขียนที่ให้ภาพสุพรรณบุรีในฐานะ “เมืองชนบท” ผ่านสายตาชาวกรุง เมืองสุพรรณฯ เวลานั้นมากไปด้วยผู้คนหลากชาติพันธุ์ทั้งคนไทยที่อยู่มาแต่เดิม ชุมชมลาวที่เพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานไม่นานหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ คนจีนที่อยู่แทรกตัวไปกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทุกที่ตลอดลำน้ำสุพรรณบุรี ตลอดจนชาวกะเหรี่ยงและละว้าบนที่สูงและป่าลึก “โคลงนิราศสุพรรณ” ยังให้ภาพเมืองสุพรรณบุรีในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ตัวเมืองตั้งอยู่ฝั่งขวา (ฝั่งตะวันออก) ของแม่น้ำ ศูนย์กลางคือจวนเจ้าเมือง บ้านกรมการเมือง ศาล ตลาด ขณะที่ ฝั่งซ้าย (ฝั่งตะวันตก) คือวัดโบราณสถาน อันได้แก่ วัดพระรูป วัดประตูสาร วัดตะไกร วัดแค วัดผาโถ มีวัดป่าเลไลย์เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชาวเมือง นอกจากนี้ ภาพเมืองสุพรรณบุรีในเวลานั้นยังคง “รกร้างร่วงโรย” ดังคำพรรณณา “สงสารบ้านวัดร้าง แรมโรย เสียงแต่นกโหย ค่ำเช้า” บันทึกการเดินทางที่ให้ภาพเมืองสุพรรณบุรีในยุคที่ใกล้เคียงกัน เช่น นิราศสุพรรณ โดย หมื่นพรหมสมพัตสร (เสมียนมี) พ.ศ.๒๓๘๗ บันทึกของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ พ.ศ. ๒๓๘๖ เป็นต้น

แผนที่เดินทัพแสดงภาพเมืองสุพรรณอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมีลักษณะเป็นป่า
ที่มาภาพ: 

อพยพเทครัวลาวมาตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี 
            กำลังคนนับเป็นทรัพยากรสำคัญในโลกยุคโบราณ แนวทางฟื้นฟูราชอาณาจักรนับแต่สมัยธนบุรีต่อเนื่องถึงต้นรัตโกสินทร์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ การเพิ่มประชากรด้วยวิธีกวาดต้อนเทครัวผู้คนจากดินแดนต่างๆ เข้ามายังเขตที่ราบภาคกลางซึ่งรวมถึงเขตลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี ตัวอย่างสำคัญ คือ การเทครัวลาวที่ปรากฏนับแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังพบว่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๒ มีการกวาดต้อน “ลาวเวียง” และ “ลาวทรงดำ” ให้ลาวทรงดำไปตั้งบ้านเรือนแถบเมืองเพชรบุรี ราชบุรี ส่วนลาวเวียงให้ไปตั้งบ้านเรือนที่เมืองสระบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี การเทครัวลาวครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. ๒๓๗๐ พงศาวดารระบุว่า “ครัวเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้นโปรดให้อยู่ลพบุรีบ้าง สระบุรีบ้าง สุพรรณบุรีบ้าง เมืองนครชัยศรีบ้าง” กรณีชุมชนลาวในเขตสุพรรณบุรี น่าสนใจว่ายังเป็นลักษณะการอพยพมาทั้ง “ระบบสังคม” ที่มีทั้งเจ้านาย ขุนนาง ตลอดจนชาวนาชาวไร่ และพระสงฆ์ ในชุมชนลาวจะมีหัวหน้าที่เป็นคนลาว (นายกองลาว) ที่ได้รับแต่งตั้งจากทางการไทย ทำการปกครองกันเองด้วยขนบจารีตเดิม ด้วยเหตุนี้ ชุมชนลาวจึงมีความเหนียวแน่นในการรักษาสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมของตน ทั้งนี้ คนลาวนับเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประชากรเมืองสุพรรณบุรี นับแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นต้นมา  

จิตรกรรมฝาผนังวัดประตูสาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ภาพกองเกวียนของชาวพื้นบ้าน สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มคนลาวที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมืองสุพรรณบุรีช่วงสมัยรัชกาลที่ 3

อิทธิพลกรุงเทพฯ ระบบเจ้าภาษีนายอากร คนจีนในเมืองสุพรรณบุรี 
            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อำนาจกรุงเทพฯ เริ่มขยายเข้าไปยังหัวเมืองและชนบทอย่างเป็นรูปธรรมผ่านระบบเจ้าภาษีนายอากร มีการดึงเอาผลประโยชน์จากผลิตและการค้าในภูมิภาคต่าง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่กรุงเทพฯ มากขึ้น พร้อม ๆ กับการก่อตัวของระบบทุนนิยมการค้าและพ่อค้า โดยเฉพาะ “คนจีน” ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้พันธนาการของระบบไพร่ คนจีนแทรกตัวเข้าไปในหัวเมืองชนบทต่าง ๆ แรกเริ่มพวกเขาเสมือนเป็นตัวแทนการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของส่วนกลาง ก่อนจะเป็นผู้ประกอบการแรกเริ่มของท้องถิ่น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นนั้นในที่สุด ที่เมืองสุพรรณบุรี กลุ่มคนจีนซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมน้ำตาลแถบเมืองนครชัยศรี เริ่มขยับขยายขึ้นมาตามลำน้ำสุพรรณบุรี ใน “โคลงนิราศสุพรรณ” ของสุนทรภู่ ระบุว่าที่เมืองสุพรรณฯ มีทั้งคนจีนที่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งและจีนจรที่เข้ามาแสวงโชคทางการค้า คนจีนเหล่านี้ล้วนเป็นเจ้าของกิจการ บ้างเป็นเจ้าภาษีนายอากร พวกเขามีฐานะดีกว่าคนไทย

แผนที่เดินทัพแสดงภาพเมืองสุพรรณอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมีลักษณะเป็นป่า
ที่มาภาพ: 

บูรณะหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์
            ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเกณฑ์แรงงานไพร่เมืองสุพรรณฯ เพื่อบูรณะวัดป่าเลไลย์ สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริว่า วัดป่าเลไลย์เป็นวัดเก่าแก่โบราณ พระพุทธปฏิมาพระกรหักชำรุดมานาน จึงโปรดให้ เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต กัลยาณมิตร) สมุหนายก เป็นแม่กองจัดการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยเฉพาะการต่อพระกรตั้งแต่พระอังสา (ไหล่) ถึงพระหัตถ์ งานบูรณะวัดป่าเลไลย์ดำเนินต่อเนื่องมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นอกเหนือจากงานบูรณะองค์พระแล้ว ยังมีการรื้อผนังโบสถ์ทั้ง ๔ ด้านเพื่อทำเป็นพระวิหารแทน คลองวัดป่าเลไลย์ที่ขุดเชื่อมจากวัดประตูสารเพื่อขนส่งลำเลียงไม้สำหรับซ่อมแซมวัดป่าฯ ก็เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ การเกณฑ์ไพร่ทำงานหลวงที่เมืองสุพรรณบุรีเกิดขึ้นในช่วงนี้อย่างสำคัญ นอกจากงานบูรณะวัดป่าฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังทรงดำริให้บูรณะขุดแต่งทำเขื่อนรอบสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่นอกตัวเมืองสุพรรณฯ อีกด้วย สิ่งนี้อาจเป็นภาพสะท้อนสัมพันธภาพระหว่างอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่นที่น่าสนใจ 

หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ ศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองสุพรรณ 

เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ, อำนาจท้องถิ่นก่อนปฏิรูปเทศาภิบาล 
            เคยมีคติโบราณแต่ก่อนที่เชื่อว่า “ห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ” อ้างเหตุเพราะเทพารักษ์หรือหลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้า เกรงจะทำอันตรายหรือมีสิ่งอัปมงคลที่ทำให้เจ้านายเสียพระจริต ทว่า ความจริงปรากฏขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาไทย เสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีเป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๓๕ และพบว่าเจ้าเมืองสุพรรณบุรีหลบหน้าหนีเข้ากรุงเทพฯ ด้วยเพราะมีพฤติกรรมขูดรีดเงินราษฎร คดีความใดหากเงินไม่ถึงจะกลายเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ครั้งนั้นมีราษฎรมาร้องทุกข์เป็นอันมาก ทำให้ต้องทรงปลดเจ้าเมืองออกจากตำแหน่งคติ “ห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ” จึงน่าจะเป็น “ข้ออ้าง” เพื่อปิดบังความทุจริตอันไม่ชอบมาพากล ไม่ให้อำนาจส่วนกลางเข้าไป “ยุ่มย่าม” กรณีเมืองสุพรรณบุรี อำนาจท้องถิ่นค่อนข้างมี “อิสระ” และดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังพบว่านับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ มีการสืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองและกรมการเมืองในกลุ่มพวกพ้องเดียวกันเป็นระยะเวลากว่า ๓ ทศวรรษ เจ้าเมืองและกลุ่มกรมการเมืองได้สั่งสมอำนาจท้องถิ่นมาอย่างยาวนานแบบระบบ “กินเมือง” อีกทั้งอำนาจส่วนกลางมักลงมาไม่ถึงหัวเมือง สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วไปในท้องถิ่นต่างๆ ก่อนการปฏิรูประบบเทศาภิบาลรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง  

สมัยเมืองสุพรรณบุรีในยุคเทศาภิบาล (ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕)

สมัยเมืองสุพรรณบุรี ยุคมณฑลเทศาภิบาล (ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕)

           ในยุคมณฑลเทศาภิบาล (ราว พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๗๖) เมืองสุพรรณบุรีถูกกำหนดให้อยู่ในเขตปกครองของมณฑลนครไชยศรี การกำหนดดังกล่าวสะท้อนการจัดวางพื้นที่ทางการปกครองตามแนวลำน้ำนครไชยศรี หรือแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นสำคัญ เมืองสุพรรณในยุคนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากเศรษฐกิจข้าว มีการเกิดขึ้นของตลาดและชุมชนพร้อมกับกลุ่มคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นมากขึ้น บางส่วนกลายเป็นคหบดีท้องถิ่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการอุปถัมภ์วัดและมีบทบาทในชุมชน ช่วงเวลานี้เองที่เรื่องราวของเมืองสุพรรณได้ถูกจัดวางให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งชาติ สิ่งนี้มีผลต่อการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณในเวลาต่อมา  

          ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ วัดพระรูป นับเป็นหนึ่งในวัดโบราณเก่าแก่ของเมืองสุพรรณที่สามารถดำรงที่ดำรงสถานะความเป็นวัดอยู่ได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจากนโยบายส่วนกลางหลายประการไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูปการศึกษา การเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนของพระสงฆ์ ทั้งนี้ ข้อมูลใน รายงานจัดการศึกษามณฑลนครไชยศรี ของ หลวงอนุกิจวิธูร ปลัดกรมกองตรวจการมณฑลตรวจจัดการศึกษามณฑลนครไชยศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ชี้ให้เห็นว่า ณ เวลานั้นวัดโบราณหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงวัดพระรูป อาทิ วัดตะไกร วัดช่องลม วัดปราสาท ยังคงดำรงสถานะความเป็นวัดอยู่ วัดเหล่านี้รวมถึงวัดพระรูปล้วน...มีการเรียนการสอนอย่างธรรมดาทุกวัด เด็กที่อ่านออกเขียนได้แล้วมักไปเรียนที่วัดประตูสาร และโรงเรียนปรีชาวิทยากรมาก...[1]

          อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานวัดต่าง ๆ ที่ปรากฏชื่อเหล่านี้ได้ปลาสนาการไปหมดสิ้น บ้างกลายเป็นวัดร้าง บ้างถูกควบรวม เหลือเพียงวัดพระรูปที่ยังปรากฏอยู่ แต่กระนั้นเองมีข้อสังเกตว่าวัดพระรูปในช่วงเวลานี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการย้ายหมู่กุฏิสงฆ์วัดมาอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งนับเป็นการปรับกายภาพของวัดให้สอดคล้องกับยุคสมัย ที่ต้องสร้างความสะดวกสบายให้กับญาติโยมที่เข้ามาทำบุญที่วัด การสร้างเก๋งจีนในวัดพระรูป ที่เกิดจากการอุปถัมภ์ของชาวจีนที่เข้ามาค้าขายในเมืองสุพรรณจนร่ำรวยและคงเป็นโยมอุปถัมภ์วัดคนสำคัญ ตลอดไปจนถึงการสร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อวัดพระรูป พลวัตที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ของวัดพระรูป สะท้อนให้เห็นว่าวัดไม่ได้อยู่กับความนิ่งเงียบท่ามกลางซากอิฐโบราณสถาน หากแต่มีการขยับปรับเปลี่ยนอย่างกระตือรือร้น สิ่งเหล่านี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้วัดพระรูปสามารถดำรงสถานะความเป็นวัดต่อมาได้

เศรษฐกิจข้าวเมืองสุพรรณบุรี ทศวรรษ ๒๔๔๐-๒๔๗๐  

          นับแต่หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. ๒๓๙๘ ความต้องการข้าวจากสยามมีมากขึ้น เมืองสุพรรณบุรีซึ่ง เป็นเขตปลูกข้าวเก่า มีการขยายที่นาเพื่อปลูกข้าวอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๕ แม้กระบวนการผลิตจะยังเป็นแบบเก่าที่อาศัยเพียงน้ำฝน น้ำท่า และยังไม่มีการพัฒนาระบบชลประทานก็ตาม ชาวนาเมืองสุพรรณ ขายข้าวให้กับคนจีนที่เป็น “พ่อค้าคนกลาง” ที่เดินทางมารับซื้อข้าวเปลือกนำไปเข้าโรงสีที่กรุงเทพฯ ข้อมูลตรวจราชการของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. ๒๔๔๖ ระบุว่า ...ตามลำแม่น้ำสุพรรณภายหลังฤดูเก็บเกี่ยว มีเรือบรรทุกข้าวรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนากว่า ๒๐๐ ลำ ข้าวที่พ่อค้ารับซื้อจะถูกนำมาขายต่อให้โรงสีในกรุงเทพฯ และทั้งหมดพ่อค้าข้าวจะเป็นผู้กำหนดราคาเองเกือบทั้งหมดเป็นพ่อค้าชาวจีน...[2] ต่อมาในช่วงทศวรรษ ๒๔๕๐ จึงเริ่มมีคนจีนเข้ามาตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็กในหัวเมืองใกล้พื้นที่นาเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง บางส่วนเข้ามาตั้งหลักแหล่งมั่นคงและกลายเป็นกลุ่มคหบบดีท้องถิ่นในที่สุด ที่สุพรรณบุรีมีการจัดตั้งโรงสีขึ้นมากมายในช่วงทศวรรษ ๒๔๕๐-๒๔๗๐ โดยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๔๖๒ มีจำนวน ๑๖ โรง ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๒ มีจำนวน ๑๗ โรง รวมทั้งสิ้น ๓๓ โรงใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ทั้งนี้ เศรษฐกิจข้าว การตั้งโรงสี ตลอดจนการพัฒนาระบบชลประทานที่สำคัญคือ “ประตูน้ำโพธิ์พระยา” พ.ศ. ๒๔๖๘[3] เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนต่าง ๆ  ตามลำน้ำสุพรรณบุรีมากขึ้นเป็นลำดับ

การเกิดขึ้นของชุมชนและตลาด อันเนื่องจากเศรษฐกิจข้าวในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ตลอดแนวแม่น้ำสุพรรณบุรี ในเขต จ.สุพรรณบุรี

ที่มาภาพ: กองบรรณาธิการ, “ตลาดบนคุ้งน้ำสุพรรณบุรี,” ใน เมืองโบราณ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒, (เมษายน-กรกฎาคม, ๒๕๒๖), ๓๓.

เก๋งจีนวัดพระรูป พ.ศ. ๒๔๕๐           

          เก๋งจีนวัดพระรูป ตามคำบอกเล่าของลูกหลายผู้สร้างเก๋งจีนเล่าว่า ผู้สร้างเก๋งจีนคือ นายซุ่นจุ้ย แซ่เฮง (ต้นตระกูล นิธยายน) ชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองจีน เข้ามาสร้างครอบครัวที่เมืองสุพรรณบุรี ได้สร้างเรือนแพอาศัยอยู่เหนือวัดพระรูปขึ้นไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) มีอาชีพค้าขายข้าวโดยส่งข้าวเปลือกเข้ากรุงเทพฯ จนมีฐานะร่ำรวยมั่นคง กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ จึงได้สร้างเก๋งจีนไว้ที่วัดพระรูป เพื่อเป็นอาคารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนเท่ากับอายุของผู้สร้างตามคติความเชื่อ

เก๋งจีนวัดพระรูป ตั้งอยู่บนเนินดินด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม แต่ยังคงเหลือร่องรอยที่แสดงถึงความสวยงามเมื่อครั้งอดีต

          อาคารเก๋งจีนตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ บนเนินที่เป็นฐานของอาคารเก่า หันหน้าทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำสุพรรณบุรี ขนาดอาคารกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๗ เมตร ด้านหน้าอาคารเป็นลานโล่งมีพื้นที่ประมาณ ๑๐X๑๐ เมตร โดยมีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ กั้นเป็นขอบเขต มีทางขึ้นลง ๓ ทางคือ ทิศตะวันออกเป็นทางเข้าออกหลัก ทิศใต้ และทิศเหนือซึ่งเชื่อมต่อกับเจดีย์ ภายในอาคารเก๋งจีนถูกออกแบบให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก โดยทำฐานชุกชีขนาดใหญ่ชิดกับผนังอาคารด้านทิศตะวันตก สำหรับประดิษฐานพระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และทำฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปไว้โดยรอบ บนผนังอาคารเก๋งจีนยังมีการตกแต่งด้วยภาพเขียนตามแบบศิลปะจีน โดยปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยภาพลายเส้นบนผนังด้านทิศตะวันออก นอกจากนี้ คงมีการก่อสร้างสิ่งอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่ด้วย ดังปรากฏภาพถ่ายเก่าซุ้มประตูของวัดพระรูปที่อยู่ในตำแหน่งตรงกับเก๋งจีน มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนคล้ายกับเก๋งจีน 

ภายอาคารเก๋งจีนวัดพระรูป แต่เดิมประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่าเป็นวิหารพระพุทธรูปของวัดพระรูป ปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยบางส่วนให้เห็น

          ในครั้งสร้างเก๋งจีนนั้น สันนิษฐานว่ามีการบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปเก่าภายในวัดพระรูปที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปหินทรายที่มีขนาดต่างๆ กัน ให้ได้พระพุทธรูปจำนวนเท่ากับอายุของผู้สร้าง เพื่อนำไปประดิษฐานในเก๋งจีนตามคติความเชื่อของผู้สร้าง ดังในปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยหลักฐานเหลืออยู่ คือพระพุทธรูปประธานของเก๋งจีนซึ่งเป็นหินทรายหลายชิ้นประกอบกันที่ได้รับการบูรณะตกแต่งผิวใหม่ด้วยปูนปั้น และพระพุทธรูปขนาดเล็กลดหลั่นกันจำนวนหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ด้านข้างพระประธาน รวมถึงชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวนมากที่ชำรุดเสียหายกระจายอยู่ทั่วอาคารเก๋งจีน จนกล่าวได้ว่าเก๋งจีนแห่งนี้คือวิหารพระพุทธรูปของวัดพระรูปในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๕
            เก๋งจีนวัดพระรูป ในอดีตเคยเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนที่งดงามและยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาวจีน และสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของพหุสังคมที่มีเอกลักษณ์ของเมืองสุพรรณบุรีในช่วงเวลานั้น

การตกแต่งอาคารเก๋งจีนวัดพระรูป ด้วยปูนปั้นและภาพเขียนสี แม้ปัจจุบันจะอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม

แต่ยังคงเหลือร่องรอยที่แสดงถึงความรุ่งเรืองสวยงามเมื่อครั้งอดีตได้เป็นอย่างดี

พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์

          กลุ่มพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ในวัดพระรูปที่เก็บรักษาสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตมีจำนวนหลายองค์ มีทั้งที่เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งและยืนและมีขนาดแตกต่างกันไป พระพุทธรูปกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ การครองจีวรลายดอก ซึ่งนิยมทำกันมากตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา โดยมักออกแบบลายให้เหมือนกับดอกพิกุล ความนิยมนี้คงเกี่ยวข้องกับประเพณีถวายผ้าเนื้อดีมีลายดอกประดับแด่พระพุทธรูปและพระสงฆ์ ดังปรากฏหลักฐานจารึกวัดโพธิ์ได้แสดงให้เห็นว่ามีธรรมเนียมการถวายผ้าแพรมีลายแด่พระพุทธรูปตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ส่วนการถวายผ้าแด่พระสงฆ์นั้น พบว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีการถวายไตรจีวรที่ทำจากผ้าลายดอกเนื้อดีแด่พระสงฆ์อย่างแพร่หลาย เช่น ผ้าย่ำตะหนี่ (ย่ำตานี, ย่านตานี) ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า ยามดานี (Jamdani) ในภาษาเปอร์เซีย ถือเป็นผ้าราคาแพงเนื้อละเอียด ทอเป็นดอกต่าง ๆ ผลิตที่เมืองดักกะ (Dhaka) ประเทศบังคลาเทศในปัจจุบัน  

          การห่มจีวรลายดอกในหมู่พระสงฆ์มีความสืบต่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ดังมีหลักฐานภาพถ่ายเก่าอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น ภาพที่ถ่ายโดยจอห์น ทอมสัน (John Thomson) ช่างภาพชาวสกอตแลนด์ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘-๒๔๐๙ แม้ล่วงเข้าสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระเถระผู้ใหญ่บางรูปในกรุงเทพฯ ก็ยังคงนิยมครองจีวรลายดอกอยู่

          เช่นเดียวกัน พระพุทธรูปที่ครองจีวรลายดอกคงเป็นความนิยมแพร่หลายต่อเนื่อง แม้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ จะมีพระราชนิยมในการสร้างพระพุทธรูปของราชสำนักเปลี่ยนเป็นไปในทางเสมือนจริงตามแนวสัจนิยม ตลอดจนลดทอนความหรูหราเอิกเกริก ดังเช่นจีวรลายดอกที่เคยประดับประดาองค์พระพุทธรูปออกไป หากแต่พระราชนิยมนี้คงเห็นได้ชัดเฉพาะงานช่างราชสำนัก และงานพุทธศิลป์ในวัดหลวงที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไม่ได้ขยายวงกว้างไปสู่ประชาชน พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกซึ่งเป็น “ของงาม” จึงยังคงเป็นที่นิยมอยู่อย่างมากในหมู่ประชาชนสืบเนื่องมา

          สำหรับวัดพระรูปซึ่งเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองสุพรรณในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พบพระพุทธรูปที่ครองจีวรลายดอกอยู่หลายองค์ อาทิ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ที่อัญเชิญประดิษฐานในบุษบกธรรมมาสน์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ “แม่ผิวสร้าง” ที่ปรากฏจารึกปีสร้างใน พ.ศ. ๒๔๖๔ หลักฐานพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความสืบเนื่องในความนิยมพุทธศิลป์รูปแบบนี้ในหมู่ชาวบ้านอย่างชัดเจน 

พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ครองจีวรลายดอก องค์มีจารึกแม่ผิวสร้างใน พ.ศ. ๒๔๖๔ จัดแสดงบนธรรมาสน์ ในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ครองจีวรลายดอก จัดแสดงบนบุษบกธรรมาสน์ ในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร

          พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร จากคำบอกเล่ากล่าวว่า แต่เดิมเคยประดิษฐานในเก๋งจีนที่สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๕๐ และเคยมีอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่คู่กัน ตามความนิยมในการประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นคู่ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์เดียว

          พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร คือพระพุทธรูปที่แสดงปางประทานอภัย ๒ พระหัตถ์ กล่าวคือแสดงปางด้วยการยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออก และปลายนิ้วพระหัตถ์ตั้งขึ้น ซึ่งจะต่างจากปางห้ามญาติที่แสดงปางประทานอภัยด้วยพระหัตถ์ขวา และปางห้ามพระแก่นจันทน์ที่แสดงปางประทานอภัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร เป็นพุทธประวัติตอนทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบเหล่าชฎิล โดยทรงห้ามน้ำฝนที่ตกหนักในบริเวณนั้นมิให้ท่วมปริมณฑลที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ทำให้เหล่าชฎิลจำนวนมากในกรุงราชคฤห์หันมาศรัทธานับถือพระพุทธศาสนา 

          พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสามารถถอดออกได้ พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดและมองตรง เปลือกพระเนตรป้ายเป็นแผ่น พระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็ก เส้นพระโอษฐ์เกือบเป็นเส้นตรงตวัดปลายพระโอษฐ์เล็กน้อยคล้ายเรือประทุน พระวรกายเพรียวบาง จีวรเรียบห่มคลุมถึงพระศอ นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน ฐานพระพุทธรูปถอดแยกจากองค์พระได้ เป็นทรงแปดเหลี่ยมตกแต่งด้วยลวดลายต่าง ๆ และประดับด้วยกระจก ด้านหลังฐานมีห่วงสำหรับเสียบก้านฉัตร มีความสูงรวมองค์พระกับฐาน ๒๓๐.๕ ซม. เฉพาะองค์พระสูง ๑๗๙ ซม. เฉพาะฐานสูง ๕๑.๕ ซม.

          พระพุทธรูปองค์นี้มีรูปแบบศิลปะที่พัฒนาสืบต่อมาจากงานรุ่นก่อน โดยช่างชาวบ้านที่มีฝีมือและความชำนาญ จุดสังเกตที่สำคัญคือ ฐานพระพุทธรูปทรงแปดเหลี่ยม ที่มีการประดับลวดลายและตกแต่งด้วยกระจก ลักษณะลวดลายดังกล่าวน่าจะมีที่มาจากแม่พิมพ์ชุดเดียวกับงานของบ้านช่างหล่อ ธนบุรี โดยน่าจะเป็นลวดลายจากชุดแม่พิมพ์หินสบู่ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ (หม่อมเจ้าดิศ ดวงจักร (พ.ศ. ๒๓๖๑-๒๔๒๘)) ช่างอย่างวิเศษในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ที่มีความเชี่ยวชาญในการปั้นหล่อและการออกแบบลวดลาย จึงกำหนดอายุพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์นี้อยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรืออยู่ในราวสมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้คง “นำเข้า” มาจากกรุงเทพฯ เพื่อประดิษฐานในเก๋งจีน ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ ของวัดที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

          นอกจากนี้ จุดที่น่าสนใจของพระพุทธรูปองค์นี้ยังได้แก่ ลวดลายภายในช่องสี่เหลี่ยมรอบฐานพระพุทธรูป ที่ตกแต่งเป็นรูปสัตว์และสัญลักษณ์มงคลต่าง ๆ อยู่บนลายประแจจีน รวมถึงมีรูปเรือกลไฟอเมริกันที่สะท้อนยุคสมัยวัฒนธรรมกระฎุมพี การค้าและการต่างประเทศในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ศิลปะรัตนโกสินทร์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

ฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร  ศิลปะรัตนโกสินรทร์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

พระพุทธรูปและพระสาวก

          พระพุทธรูปและพระสาวกของวัดพระรูป ในปัจจุบันองค์พระพุทธรูปถูกลักขโมยสูญหายไป เหลือเพียงฐานพระพุทธรูปที่ประดับด้วยแถวพระสาวกเรียงรายจำนวนมาก พระพุทธรูปพร้อมฐานลักษณะดังกล่าวนิยมเรียกกันหลายชื่อ เช่น พระล้อม พระห้าร้อย นิยมสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยอาจจะมีความหมายถึงเหตุการณ์ตามพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดพระภิกษุสงฆ์ การสร้างฐานพระสาวกรูปแบบนี้ อาจพัฒนาแนวคิดสืบมาจากการสร้างพระพุทธรูปประธานที่แวดล้อมด้วยประติมากรรมพระสาวกในวัดหลวงในกรุงเทพฯ เช่น พระพุทธรูปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารทิศใต้วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระอสีติมหาสาวก ๘๐ รูปในพระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น 

          พระพุทธรูปและพระสาวกนับเป็นพุทธศิลป์ในยุครัตนโกสินทร์ ที่นอกจากจะออกแบบมาให้สอดรับกับเรื่องราวตามพุทธประวัติแล้ว ยังช่วยขับเน้นให้พระพุทธปฏิมาที่มักมีขนาดเล็กให้ดูโดดเด่นสง่างามขึ้นด้วย ที่ยอดฐานนอกจากประดิษฐานพระพุทธรูปประธานบนฐานชุกชี บางองค์ยังมีพระสาวกลอยองค์ขนาดเล็กในอากัปกิริยาถวายอัญชลีจัดวางเป็นองค์ประกอบร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอาจสื่อถึงพระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ขณะที่บางองค์ปรากฏพระสาวกที่สันนิษฐานจากรูปลักษณะได้ถึงพระสังกัจจายน์รวมอยู่ด้วย    

          สำหรับพระพุทธรูปและพระสาวกของวัดพระรูปองค์นี้ เหลือเพียงฐานพระพุทธรูป เนื่องจากองค์พระพุทธรูปถูกลักขโมยสูญหายไปเมื่อไม่นานมานี้ (จากภาพถ่ายเก่าพบว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ครองจีวรลายดอก) ฐานส่วนบนสุดซ้อนด้วยฐานชุกชีขนาดเล็กรูปทรงบัวคว่ำบัวหงายสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ฐานล่างมีขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งด้วยแถวรูปพระสาวกองค์เล็ก ๆ เรียงรายจำนวนมาก รูปพระสาวกนั่งขัดสมาธิราบจำนวน ๙ ชั้น มีรูปพระสาวกจำนวนนับร้อยองค์ ด้านล่างมีแถวรูปพระสาวกนั่งถวายอัญชลี ส่วนล่างสุดของฐานมีรูปช่องสี่เหลี่ยมประดับรูปสัตว์สลับกันไป อาทิ โคคู่ เสือคู่ กระต่ายคู่ ส่วนด้านหลังของฐานมีห่วงสำหรับปักฉัตร ฐานพระรูปพระสาวกที่มีลักษณะคล้ายกับองค์ที่วัดพระรูปนี้ ยังพบเห็นได้ตามวัดต่าง ๆ เช่น ที่หน้าพระประธานในวิหารวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่ส่วนฐานพระเช่นกัน  

พระพุทธรูปและพระสาวกของวัดพระรูป จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

เอกสารอ้างอิง

[1] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.ร ๖ ศ ๑/๑๐ รายงานจัดการศึกษามณฑลนครไชยศรี ร.ศ. ๑๓๐.

[2] มณฑล คงแถวทอง. “เศรษฐกิจข้าวและน้ำตาลทรายใสลุ่มแม่น้ำท่าจีน พ.ศ. ๒๓๙๘-๒๔๕๓,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๗, ๑๑๕.

[3] ธีระ แก้วประจันทร์, “สภาพเศรษฐกิจมณฑลนครชัยศรี พ.ศ.๒๔๓๘-๒๔๗๕,” (วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนคิรทรวิโรฒ ประสานมิตร, ๒๕๓๔), ๑๓๔-๑๔๐.

The Ham Samut Posture Buddha Image
            The standing Buddha image in Ham Samut (restraining the ocean) posture is of Rattanakosin art style during the second half of the 24th Buddhist Century period, or since about the reign of King Rama the Third (King Phra Nang Klao Chao Yu Hua).  The Buddha images in this period have a slim body with the face being rather round in the semi-oval shape, with small knots of hair and with the crown being like curved eyebrow flames.  His eyebrow lines and eye periphery lines are shaped as the same plate similar to that in the Buddha images of the final period of Ayutthaya.  His eyes are open and looking straight.  His nose is rather small and elevated.  His mouth is small with the lip line being almost a straight line and the end of the lip being lifted up a little like the tail of a small boat.  The feature of the mouth that is small with a little smile is called “the face of a puppet”, i.e. the face being still likes that of a dramatic puppet.  This is considered to be a popular art style of the royal artists.
            This standing Buddha image in Ham Samut posture at Wat Phra Rup has the above-mentioned Buddhist art style including the puppet-liked face, the lip being like the tail of a small boat, and the small knots of hair. The total height of the body of the Buddha image plus the base is 230.5 cm. The height of the Buddha image only is 179 cm.  Its crown of curved eyebrow flames can be removed. Its robe is smooth and covers its body up to the neck. Its fingers are slender and of equal lengths.  At the back of the base there is a loop for inserting a tiered umbrella pole.  At the octagonal base there is the decoration with color glass pieces. The design of the altar is similar to that of Phra Maha Chakkaphat (emperor) decorated Buddha image at Wat Wiset Kan in Ban Chang Lo village, Thon Buri district of Bangkok Metropolis, which is exhibited in the National Museum in Bangkok.  Another place of interest is the rectangular cavities around the octagonal base that are decorated with the pictures of animals and merit symbols placed on Pra Chae Chin (Chinese wrench) decorative design.  There is also the picture of American steam launches reflecting the middle class culture, commerce and foreign affair during the early Rattanakosin period.  From what is told, this Buddha image used to be in a Vihara (temple) with Chinese-styled roof, which is a Vihara constructed during the latter period, i.e. about B.E. 2450.  However, it is possible that this Buddha image had been previously “imported” from Bangkok to Wat Phra Rup since the final period of the 24th Buddhist Century, which was the period that the power from the central government began to spread to Suphan Buri.  Also, since this Buddha image has the feature of being a standing Buddha image of the Ham Samut posture, it is assumed that there should have been another Buddha image constructed as its pair.  Nevertheless, there is only one image remaining at present.

The Rattanakosin Art Style Buddha Images at Wat Phra Rup 
            The group of Rattanakosin art style Buddha images found at Wat Phra Rup has one distinguished characteristic, i.e. the wearing of dotted robes that had been popular since the reign of King Rama the Third.  The dotted decoration was design to resemble the medlar flower.  This popularity was probably related to the custom of presenting the good fabric robes with dotted decoration to the Lord Buddha and other monks, the evidence of which appears in the inscription at Wat Phra Chetuphon Wimon Mankhlaram that there had been the custom of presenting dotted robes to the Buddha images since the reign of King Rama the First.  As for the presenting of the robes to the monks, it was found that during the early Rattanakosin period there were the widespread presentations of the triple robes made from good fabric cloth with dotted decoration to the monks, such as Pha Yam Tani (Yam Tani, or Yan Tani) which is the word deviating from the word “jamdani” in Persian language. It is considered a high priced fabric with delicate texture decorated with various flowers produced at Dhaka in Bangladesh at present.
            The wearing of dotted robes among the monks still continued to the reign of King Rama the Fourth (King Jom Klao Chao Yu Hua) as shown in a number of photographs, such as those taken by John Thomson, a Scottish photographer who travelled to Thailand during B.E. 2408 – 2409.  Even in the reign of King Rama the Fifth (King Jullajom Klao Chao Yu Hua), some senior monks still preferred to wear dotted robes.
            Similarly, the Buddha images wearing dotted robes continued to be popular.  Even though in the reign of King Rama the Fourth the preference of the royal court for construction of the Buddha images had changed to be the virtual or realistic style leading to the reduction of all luxurious decorations such as the dotted robes that used to cover the Buddha images, this preference still could be clearly seen only in the Buddha images created by artists in the royal court or the Buddha images in royal monasteries under the royal patronage, while not being spread to the general people in wide cycle.  Therefore, the Buddhist art works that show the Buddha images wearing dotted robes which are “beautiful art work” from ancient time are still highly popular among the people continuously.  At Wat Phra Rup there are many Buddha images wearing dotted robes, such as a small Buddha image in Mara Wijaya posture that has been established in the Dhammasana Throne (a throne containing seat on which a monk sits while preaching), or a Mara Wijaya posture Buddha image called “Mae Phiew Sang” (constructed by a lady named “Mae Phiew”) that has an inscription showing the constructed year as B.E. 2464 is also a Buddha image wearing dotted robes.  This is the reflection of the continuity of popularity in this Buddhist art style clearly among the people in the area.

พระแจงวินัยธรย้ายหมู่กุฏิไปตั้งริมแม่น้ำ

          ในสมัยพระแจงวินัยธรเป็นเจ้าอาวาสวัดพระรูป สันนิษฐานว่าก่อน พ.ศ. ๒๔๕๕ ท่านได้ทำการย้ายหมู่กุฏิสงฆ์ จากที่ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างเขตพุทธาวาสไปตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำ คงเพื่อความสะดวกมากขึ้นของชาวบ้านในการเข้ามาประกอบศาสนพิธีและทำบุญ หมู่กุฏิสงฆ์ริมน้ำนี้ประกอบด้วย หอสวดมนต์และหอฉันอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยหมู่กุฏิสงฆ์ นอกจากนั้นยังมีศาลาการเปรียญและศาลาท่าน้ำ

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๕ พระแจงวินัยธรได้นำพระสงฆ์และชาวบ้านร่วมกันสร้างมณฑปที่ริมแม่น้ำเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ ตามคติความเชื่อและความนิยมการนมัสการรอยพระพุทธบาทในช่วงเวลานั้น ดังปรากฏรายชื่อผู้ศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์ในการสร้างมณฑปบนแผ่นไม้ เมื่อสร้างมณฑปแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงริเริ่มจัดงานนมัสการพระพุทธบาทไม้วัดพระรูปขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ หลังจากที่ย้ายหมู่กุฏิสงฆ์ไป บริเวณเขตพุทธาวาสของวัดมีสภาพรกร้าง โบราณสถานต่าง ๆ อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก เนื่องจากถูกลักลอบขุดเจาะเพื่อหาสมบัติและของมีค่าอยู่อย่างต่อเนื่อง

หมู่กุฏิเรือนไทยของวัดพระรูป ที่ตั้งอยู่ริมแมน้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน)   

มณฑปพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

          มณฑปพระพุทธบาทไม้ ตั้งอยู่หน้าวัดทางด้านริมแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) เนื่องจากในช่วงเวลานั้นหมู่กุฏิสงฆ์ หอฉัน หอสวดมนต์ ฯลฯ ของวัดพระรูปล้วนตั้งบริเวณริมแม่น้ำ มณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม มีส่วนหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่น ๔ ชั้น เครื่องยอดเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนกลางอาคารเป็นห้องโถงเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ มีบันไดทางขึ้นลงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ และมีกำแพงแก้วในผังกลมล้อมรอบอาคาร ฐานมณฑปมีการตกแต่งอย่างสวยงาม นักวิชาการท้องถิ่นบันทึกไว้ว่า ระเบียงลานประทักษิณด้านในตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปสัตว์ ๆ อาทิ สุกร สุนัข ม้า ฯลฯ ส่วนด้านนอกตกแต่งด้วยรูปมังกร เสือ ปลา ช้าง ฯลฯ ฐานรากมณฑปก่อด้วยอิฐและโอ่งไหเพื่อยกพื้นให้สูง[1] 

         ตามจารึกบนแผ่นไม้ระบุว่า มณฑปหลังนี้พระแจงวินัยธรได้จัดการชักชวนพระสงฆ์และชาวบ้านช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างขึ้น มีรายชื่อผู้ให้วัตถุและเรี่ยไรโดยมีพระธรรมเทศนา คือ รายชื่อผู้เรี่ยไรเงิน ได้แก่ พระทับสำมะเณรกล่อม ๑๗๖ บาท ๓๗ สตางค์, โยมอ่อ ๕๕๑ บาท, โยมพลอด ๕๐ บาท, ชีใย ๒๕ บาท, ชีพริก ๑๐ บาท, โยมไท ๑๐ บาท, พระจีน ๕ บาท, โยมพรม ๒๐ บาท, แม่ไทชักนำสัปรุษ ทำสลักพัศได้ ๒๖ บาท ส่วนรายชื่อผู้ศรัทธาออกทำเอง ได้แก่ พระรอด ๑๐๐ สตางค์, โยมอ่อนโยมแจ้ง ๒๐ บาท, นายฮงแม่เล็ก ๒ บาท, โยมปาน ๕ บาท, โยมอิน ๖๐ สตางค์, นายชื่น ๑ บาท ๑๐ สตางค์, โยมสด ๑ บาท, นายชุมแม่ทุเรียน ๖ บาท, แม่ไป่ ๔๐ สตางค์, โยมเคลือบ ๒ บาท, แม่เจียม ๒ บาท, แม่เล็ก ๑ บาท, แม่รัน ๒ บาท, แม่ทับ ๒ บาท, นายเสง ๑ บาท, แม่จัน ๑ บาท ๕๐ สตางค์, กำนันจ่าง ๒ บาท ๓๖ สตางค์ รวมรายรับจำนวนเงินทั้งสิ้น ๗๕๕ บาท รายจ่ายจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑,๔๘๑ บาท ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของพระสงฆ์และญาติโยมที่มีต่อพระพุทธบาทไม้และวัดพระรูป   

          ในจารึกยังกล่าวว่า สร้างมณฑปขึ้นในวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู พุทธศักราช ๒๔๕๕ เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ตรงกับวันใดที่แน่ชัด อาจเกิดจากการจารึกคลาดเคลื่อนไป จึงสันนิษฐานเป็น ๒ แนวทางคือ หากยึดตามวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู จะตรงกับวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยไม่ใช่ พ.ศ. ๒๔๕๕ ตามที่จารึก และหากยึด พ.ศ. ๒๔๕๕ ก็จะตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน โดยไม่ใช่ปีฉลูตามที่จารึก การสร้างมณฑปแล้วเสร็จเมื่อวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๕๙ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙

          ในราว พ.ศ. ๒๕๑๐ มณฑปมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่ปลอดภัยที่คนจะขึ้นไปนมัสการพร้อมกันจำนวนมาก ๆ ประกอบกับมีข่าวว่าจะมีคนมาโจรกรรมพระพุทธบาทไม้ จึงเคลื่อนย้ายพระพุทธบาทไม้มาเก็บรักษาไว้เป็นการชั่วคราวที่หอสวดมนต์ โดยได้ทำขาตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้ชมพระพุทธบาทไม้ได้สะดวกขึ้น และทำความสะอาดเอาทองคำเปลวที่ติดอยู่ออกทำให้เห็นลวดลายได้ชัดเจนโดยไม่อนุญาตให้ปิดทองอีก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๕๕ มณฑปหลังนี้ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร โดยเป็นการบูรณะเสริมความมั่นคงตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม

เอกสารอ้างอิง

[1] บุญครอง คันธฐากูร และรัตนมณี คันธฐากูร, สุพรรณบุรี: ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมท้องถิ่น (สุพรรณบุรี: หจก. ออฟเซทอาร์ทออโตเมชั่น, ๒๕๔๐), ๖๓.

มณฑปพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหน้าวัด ในช่วงที่มีเหตุการณ์น้ำท่วม 

ในอดีตพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป ประดิษฐานตั้งตะแคงบนฐานปูนปั้น ในมณฑปวัดพระรูป ยังเห็นร่องรอยการปิดทองบนพระบาททั้งสองด้าน

ที่มาภาพ: คุณสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย และขอขอบคุณชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ

ในอดีตพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป ประดิษฐานตั้งตะแคงบนฐานปูนปั้น ในมณฑปวัดพระรูป ยังเห็นร่องรอยการปิดทองบนพระบาททั้งสองด้าน

ที่มาภาพ: คุณสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย และขอขอบคุณชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ

จารึกบนแผ่นไม้ ระบุเรื่องประวัติความเป็นมาของพระพุทธบาทไม้ และประวัติการสร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ริมแม่น้ำ  

มณฑปพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป ในปัจจุบันไม่มีการใช้งาน ได้รับการบูรณะและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน 

ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

          ในอดีตวัดพระรูปมีงานประจำปีที่สำคัญคือ งานนมัสการพระพุทธบาทไม้ หลังจากที่สร้างมณฑปริมน้ำแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ในมณฑปแล้ว วัดพระรูปมีงานนมัสการพระพุทธบาทไม้เป็นประจำทุกปี ดังหลักฐานใบบอกกำหนดการใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ปรากฏงาน “นมัสการพระพุทธบาทจำลอง ที่วัดพระรูป วันที่ ๓-๗ เม.ย.” ซึ่งนับเป็นช่วงงานเทศกาลปีใหม่ของไทยในอดีตและจะต่อเนื่องมาถึงงานสงกรานต์

งาน “นมัสการพระพุทธบาทจำลอง” ที่วัดพระรูป ในวันที่ ๓-๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ สะท้อนให้เห็นถึงงานใหญ่ประจำปีของวัดพระรูปในช่วงก่อนวันสงกรานต์

ปัจจุบันประเพณีนี้ได้เลือนหายไปเสียแล้ว

ที่มาภาพ: ชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ

พระพุทธบาทไม้ในนิราศตามเสด็จ สมัยรัชกาลที่ ๖

          ในการเสด็จฯ เมืองสุพรรณบุรีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง ๒๓-๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ครั้งนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรพระพุทธบาทไม้ของวัดพระรูป สิ่งสักการบูชาสำคัญของชาวเมืองสุพรรณบุรี จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) นำพระพุทธบาทไม้จากมณฑปริมน้ำวัดพระรูป มาถวายให้ทอดพระเนตร ณ ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี เรื่องนี้ปรากฏใน “นิราศตามเสด็จ” ของ “พระยาอนุศาสน์จิตรกร” (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งผู้แต่งยังได้บันทึกภาพพระพุทธบาทไม้ ตามพระราชกระแสรับสั่งไว้ด้วย

                                     จึงท่านเจ้าพระยายมราช

                                      ให้นำรูปพุทธบาทจากวัดนั้น

                                      มาถวายทอดพระเนตร์ชิ้นสำคัญ

                                      พระทรงธรรม์โปรดพิศพินิจทรง

                                      โปรดเกล้าข้าเจ้าถ่ายรูปไว้

                                      เผื่อจะใช้ตามที่มีประสงค์

                                      ข้าจัดถ่ายตามกระแสรับสั่งองค์

                                      พระผู้ทรงธรณินทร์ด้วยยินดี    

ภาพพระพุทธบาทไม้วัดพระรูปในหนังสือนิราศตามเสด็จ

ที่มาภาพ: จางวางตรี พระยาอนุศาสตร์จิตรกร, นิราศตามเสด็จ พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ (ช่วยในการกฐินพระราชทาน จางวางเอก เจ้าพระยารามราฆพ

ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก ณ วัดทรงธรรม จังหวัดพระประแดง ๒๔๖๖).

นิราศตามเสด็จ พ.ศ. ๒๔๖๖

          ในช่วงสมัยมณฑลเทศาภิบาล การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่สืบเนื่องมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชกรณียกิจนี้เป็น ทั้งการทรงงานตรวจตราหัวเมืองและสำราญพระอิริยาบถ ในการนี้พระราชโอรส คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติสืบมา ดังการเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาและมณฑลนครไชยศรี พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่มีปรากฏใน “นิราศตามเสด็จ” แต่งโดย “พระยาอนุศาสน์จิตรกร”(จันทร์ จิตรกร) โดยครั้งนั้นเป็นการเสด็จทางเส้นทางชลมารคจากกรุงเทพฯ ไปยังบางปะอิน ก่อนจะเสด็จเข้าสู่มณฑลนครไชยศรีทางอำเภอเสนา คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ประพาสเมืองสุพรรณบุรี จากนั้นเสด็จกลับมาที่เสนา ผักไห่ ไปเมืองอ่างทอง สิงหบุรี เข้าคลองบางพุทราไปเมืองลพบุรี ก่อนที่จะเสด็จฯ กลับทางกรุงเก่า บางปะอิน กลับสู่พระนคร รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๙ วัน นับตั้งแต่ ๑๖ กันยายน - ๔ ตุลาคม ๒๔๖๖[1]

อนึ่ง ภูมิสถานต่าง ๆ ในเมืองสุพรรณบุรี ที่ปรากฏใน นิราศตามเสด็จ มีมากมาย อาทิ วัดสุด บ้านไผ่กองดิน วัดองครักษ์ บ้านบางยี่หน วัดลาดหอย วัดสวนหงส์ ศาลอำเภอบางปลาม้า วัดมณีวัน วัดขุนไกร วัดดอนคา วัดน้อย วัดอู่ทอง บ้านสุขุมา (บ้านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)) วัดประตูสาร ศาลหลักเมือง (ทอดพระเนตรพระพุทธบาทไม้ที่นำมาจากวัดพระรูป) วัดพระธาตุ ฯลฯ

เอกสารอ้างอิง

[1] จางวางตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร, นิราศตามเสด็จ, ๒๔๖๖, คำนำ.

พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ระบุไว้ในคำนำ นิราศตามเสด็จว่า ...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าแต่งขึ้น เพื่ออ่านฟังกันเล่นในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิร เพื่อเป็นที่ทรงพระสำราญเท่านั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้วได้ส่งทูลเกล้าฯ ถวายเป็นระยะๆ ตลอดทาง ถ้อยคำมีสัมผัสถูกบ้างผิดบ้างก็ยิ่งเป็นการสนุก... นิราศตามเสด็จถูกพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ เพื่อทูลเกล้าฯ หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ เพียงช่วงเวลาไม่ถึงเดือน   

ภาพเหตุการณ์เสด็จพระราชดำเนินศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี ในหนังสือนิราศตามเสด็จ

ที่มาภาพ: จางวางตรี พระยาอนุศาสตร์จิตรกร, นิราศตามเสด็จ พระพุทธศักราช ๒๔๖๖

(ช่วยในการกฐินพระราชทาน จางวางเอก เจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก ณ วัดทรงธรรม จังหวัดพระประแดง ๒๔๖๖).

จาก เสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณ สู่ เมืองสุพรรณ ในประวัติศาสตร์ชาติ

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ๒ ครั้ง ครั้งแรกเป็น การเสด็จประพาสต้น พ.ศ. ๒๔๔๘ อธิบายกันว่าเป็นการเดินทางแบบไม่เปิดเผยพระองค์เพื่อสร้างความใกล้ชิดราษฎร ขณะเดียวกันก็ทรงสำรวจสภาพภูมิประเทศและความเป็นอยู่ราษฎรไปด้วย ครั้งนั้นเป็นการเสด็จขึ้นไปทางแม่น้ำนครชัยศรี ประพาสอำเภอสองพี่น้อง แล้วเสด็จขึ้นไปยังเมืองสุพรรณบุรี ทอดพระเนตรสถานที่โบราณต่าง ๆ เสด็จไปทำพิธีพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ก่อนจะเสด็จกลับทางพระนครศรีอยุธยามาประทับรถไฟที่บางปะอิน[1] ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นการเสด็จขึ้นไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงเมืองชัยนาท แล้วล่องเข้าทางปากคลองมะขามเฒ่า (แม่น้ำสุพรรณบุรี) ประพาสอำเภอเดิมบางนางบวช ลงมาจนถึงเมืองสุพรรณบุรี เสด็จกลับโดยล่องไปทางอำเภอสองพี่น้อง เพื่อไปประทับรถไฟที่สถานีงิ้วรายมากรุงเทพฯ[2]

          ไม่เพียงแต่การเสด็จของ รัชกาลที่ ๕ พระบรมวงศานุวงศ์สำคัญ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ได้เสด็จตรวจราชการตลอดจนสำรวจแหล่งโบราณคดีในท้องที่เมืองสุพรรณบุรีอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงโดยการสำรวจท้องถิ่นของข้าราชการเทศาภิบาลต่าง ๆ เป็นเหตุให้แหล่งโบราณสถานในเมืองสุพรรณบุรี ที่ค้นพบในช่วงเวลานั้น อันได้แก่ “เมืองอู่ทอง” และ “ดอนเจดีย์” ถูกผนวกจัดวางเข้าไว้ในกรอบโครง/เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์แห่งชาติสกุล “ดำรงราชานุภาพ” นับตั้งแต่นั้นมา[3]

เอกสารอ้างอิง

[1] ดูรายละเอียดประเด็นนี้ใน กรมศิลปากร, เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕ (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, ๒๕๒๕).

[2] เรื่องเดียวกัน.

[3] ดูรายละเอียดประเด็นนี้ใน วารุณี โอสถารมย์, “เรื่องเล่าเมืองสุพรรณกับการสร้างภาพลักษณ์ตัวตนท้องถิ่น,” ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, บรรณาธิการ, สายธารแห่งอดีต (กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๐).

ลักษณะเรือพระที่นั่งในคราวเสด็จประพาสต้นเมืองสุพรรณบุรีของรัชกาลที่ ๕ ในภาพคือเรือยอดไชยา ของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยยศในเวลานั้น) เป็นเรือประทุน ๖ แจว แบบที่เจ้านายและขุนนางนิยมใช้ในการเดินทางระยะไกล

ที่มาภาพ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุหนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เล่ม ๒

(กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ๒๕๖๓), ๑๖๒.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบรมวงศ์องค์สำคัญในช่วงรัชกาลที่ ๕-๘ ผู้มีบทบาทในการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ทั้งนี้ เรื่องราวเมืองสุพรรณบุรีถูกประกอบสร้างเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ จนเป็นภาพจำ เช่น เหตุการณ์ยุทธหัตถี ณ ตำบลหนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี

ภาพชุดจิตรกรรมเรื่องประวัติสมเด็จพระนเรศวร ในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยพระยาอนุศาสตร์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)

เขียนในสมัยรัชกาลที่ ๗ ฉากสำคัญบริเวณผนังหน้ากลอง คือเหตุการณ์ยุทธหัตถี ที่แขวงเมืองสุพรรณบุรี

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

          พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป นับเป็นโบราณวัตถุสำคัญชิ้นเอกที่อยู่ในการรับรู้ของชนชั้นปกครองสยามที่กรุงเทพฯ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่เพียงครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมืองสุพรรณบุรี ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้มีรับสั่งให้นำพระพุทธบาทไม้จากวัดพระรูป มาให้ทอดพระเนตร ณ ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี แต่เพียงคราเดียว ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี และนายกราชบัณฑิตยสภา ก็ทรงเคยมีดำริที่จะให้นำพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครด้วย ความนี้ปรากฏในเอกสารปรึกษาโต้ตอบระหว่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ พระยาพิศาลสุรเกษตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ถึงความเป็นไปได้หากจะนำพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป ลงมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร

          ข้อความในเอกสารสะท้อนให้เห็นว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรง ...นึกเกรงใจชาวสุพรรณอยู่ ด้วยเขาสร้างมณฑปขึ้นไว้กับพระบาทนั้น และดูเหมือนจะมีงานไหว้พระบาทนั้นทุกปี... จึงทรงมีพระกระแสไต่ถามปรึกษามายังผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ขณะที่ข้อสนเทศในเอกสารที่ พระยาพิศาลสุรเกษตร ทูลตอบชี้ชวนใจความสำคัญที่ว่า ชาวเมืองสุพรรณนับแต่ ...พระอธิการวัดพระรูป และทายก ชาวบ้าน ต่างพากันมีความอาลัยอยู่ เพราะเป็นวัตถุโบราณที่มีอยู่มาช้านานแล้ว... อาจด้วยมูลเหตุนี้เอง พระพุทธบาทไม้วัดพระรูปจึงไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายจากเมืองสุพรรณมาที่กรุงเทพฯ 

พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

ที่มาภาพ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ 

ขอขอบคุณ ชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ

พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป

ที่มาภาพ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ 

ขอขอบคุณ ชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ

ที่มาภาพ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และขอขอบคุณ 

ขอขอบคุณ ชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ

คัมภีร์ใบลาน
            คัมภีร์ใบลาน คือบันทึกที่จารตัวอักษรลงบนใบของต้นลาน แล้วเรียงร้อยรวมกันเป็นผูก เนื้อหาที่จารส่วนใหญ่เป็นเรื่องเนื่องในพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎก วรรณกรรม คำสอน ตลอดจนภูมิปัญญาความรู้ต่าง ๆ อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ตำรายา เวทมนตร์คาถา โหราศาสตร์ ฯลฯ การจารใบลานมีมาตั้งแต่โบราณ ด้วยความเชื่อว่าการจารคัดลอกพระธรรมคำสอนถวายวัดเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา ผู้จารหรือผู้ถวายจะได้รับอานิสงส์ผลบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและถึงพระนิพพานในอนาคตกาล นอกจากนี้ สำหรับผู้หญิงยังมีประเพณีการตัดเย็บถักทอผ้าด้วยความประณีตสวยงามสำหรับห่อคัมภีร์ถวายวัดด้วย

ตัวอย่างคัมภีร์ใบลานที่พบในวัดพระรูป

          ในอดีตวัดพระรูปคงเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี ด้วยพบคัมภีร์ใบลานเก็บรักษาอยู่ในวัดจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ผูก คัมภีร์ใบลานที่พบจำนวนมากที่สุดคือกลุ่มพระไตรปิฎกและพระธรรมคำสอน อาทิ มหาสติปัฏฐานสูตร ปาฏิโมกข์ พระปริตร ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน มหาสมัยสูตร ทศชาติชาดก ปทุมชาดก กฐินขันธ์ ปริวาสกรรม พระคาถาพัน พระมาลัย สวดแจง มาติกา อานิสงส์ต่าง ๆ เทศน์เรื่องต่าง ๆ ปริศนาธรรม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้พบคัมภีร์เกี่ยวกับภูมิปัญญาความรู้ต่าง ๆ ทั้งตำรายา เวทมนตร์คาถา โหราศาสตร์ และอื่น ๆ ซึ่งคัมภีร์ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย จารด้วยอักษรขอม

ตัวอย่างคัมภีร์ใบลานกลุ่มตำรายาของวัดพระรูป

            คัมภีร์ใบลานจำนวนมากของวัดพระรูปที่เก็บรักษาสืบเนื่องมาแต่โบราณ พบว่ามีความสำคัญอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคัมภีร์ใบลานที่มีจารึกบอกวันที่จารหรือปีที่ถวายวัดพระรูป อาทิ คัมภีร์ใบลานผูกหนึ่งมีจารึกวันที่จารขึ้นในจุลศักราช ๑๑๓๑ หรือใน พ.ศ. ๒๓๑๒ ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. ๒๓๑๑ - ๒๓๒๕) นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับเรื่องตำรายา ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบจำนวนมากในวัดพระรูป อาทิ ยารักษาโรคฝี ยารักษาโรคมะเร็ง ฯลฯ กลุ่มคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับเรื่องเวทมนต์คาถาและการเขียนอักขระเลขยันต์แบบต่าง ๆ อาทิ ยันต์มหาละลวย ฯลฯ และกลุ่มคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์แบบต่าง ๆ อาทิ ตำราการผูกดวงคู่ด้วยรูปพญานาค การทำนายดวงชะตาด้วยรูปเรือ ฯลฯ

ตัวอย่างคัมภีร์ใบลานที่วัดพระรูป

            คัมภีร์ใบลานเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาของพระสงฆ์ในอดีต ที่ต้องอาศัยวัดเป็นสถานศึกษาเล่าเรียน พระสงฆ์ที่ร่ำเรียนต้องมีความรู้ความสามารถรอบด้าน ทั้งภาษาวิชาการและการปฏิบัติ เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เผยแพร่พระพุทธศาสนา ตลอดจนเพื่อสงเคราะห์ชาวบ้าน ดังนั้นวัดในอดีตนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจทางศาสนาแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ศิลปะวิชาการต่าง ๆ ของผู้ที่บวชเรียนอีกด้วย            

หีบหนังสือเทศน์
            “หีบหนังสือเทศน์” เป็นหีบไม้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีฝาด้านบนเปิด-ปิดด้วยบานพับ นิยมตกแต่งด้วยลายรดน้ำ ลงรักประดับกระจก หรือฉลุเป็นลวดลาย รวมทั้งมีที่ทำด้วยกระจกสีต่าง ๆ ใช้ใส่คัมภีร์ใบลานที่ใช้สำหรับเทศนา ขนาดของหีบค่อนข้างเล็กเพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายไปเทศน์ตามสถานที่ต่าง ๆ หีบหนังสือเทศน์นี้เป็นที่นิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๕) หีบหนังสือเทศน์ที่เป็นสมบัติดั้งเดิมของวัดพระรูป มีจำนวนมากกว่า ๗๐ ใบ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในสมัยนั้น ส่วนใหญ่มีลักษณะโดยรวมคล้ายกัน คือเป็นหีบไม้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีฝาด้านบนเปิด-ปิดด้วยบานพับ มีทั้งแบบที่เป็นพื้นเรียบและมีขาตั้ง ขนาดโดยประมาณ กว้าง ๙ - ๑๒ ซม. ยาว ๖๒ - ๖๗ ซม. สูง ๙ - ๑๑ ซม. แบ่งตามรูปแบบได้เป็น ๖ กลุ่มใหญ่

หีบไม้แบบเจาะช่องประดับกระจก มีทั้งสีไม้ธรรมชาติ และสีแดง มีทั้งตกแต่งด้วยลายสลัก และพิมพ์ลายสีทอง (พบจำนวน ๒๒ ใบ)

หีบไม้แบบเรียบทึบ (ไม่เจาะช่องประดับกระจก) สีไม้ธรรมชาติ ไม่ตกแต่งลวดลาย (พบจำนวน ๒๑ ใบ)

หีบไม้แบบเรียบทึบ พื้นสีดำ ตกแต่งด้วยลายกำมะลอ ลวดลายธรรมชาติและวิถีชีวิตอย่างชาวจีน (พบจำนวน ๑๑ ใบ)

หีบกระจก ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีต่าง ๆ เป็นแบบที่พบเห็นได้น้อยในพื้นที่ ๆ (พบจำนวน ๙ ใบ)

หีบไม้แบบเขียนลายรดน้ำ มีทั้งแบบทึบ และแบบเจาะช่องประดับกระจก (พบจำนวน ๒ ใบ)

หีบไม้แบบลงรักประดับกระจก (พบจำนวน ๑ ใบ)

หีบหนังสือสวด
            “หีบหนังสือสวด” เป็นหีบไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนมีฝาเปิด-ปิด ฐานล่างนิยมทำในรูปทรงฐานสิงห์ ตัวหีบด้านยาวนิยมแบ่งเป็น ๓ ห้อง ด้านกว้าง ๑ ห้อง นิยมตกแต่งด้วยลายรดน้ำหรือปิดทองประดับกระจก ใช้เก็บหนังสือสมุดไทยที่ใช้สำหรับสวด โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องพระมาลัย จึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หีบพระมาลัย” หีบหนังสือสวดนี้เป็นที่นิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕)
            หีบหนังสือสวดหรือหีบพระมาลัยที่เป็นสมบัติของวัดพระรูปมาแต่เดิม มีที่สำคัญจำนวน ๔ ใบ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ มีลักษณะโดยรวมคล้ายกัน คือเป็นหีบไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดโดยประมาณ กว้าง ๒๓ - ๓๐ ซม. ยาว ๖๒ - ๘๒ ซม. สูง ๒๓ - ๓๐ ซม. ด้านบนลักษณะเป็นฝาตัด มีฝาเปิด-ปิดและมีห่วงเหล็กเพื่อดึงฝาเปิดได้ ฐานล่างอยู่ในรูปทรงฐานสิงห์ ตัวหีบด้านยาวแบ่งเป็น ๓ ห้อง ส่วนด้านกว้าง ๑ ห้อง ตกแต่งด้วยลายรดน้ำ แต่จะมีความแตกต่างกันที่ภาพและลวดลายรดน้ำ หีบหนังสือสวดเหล่านี้สันนิษฐานว่าเดิมเคยใช้สำหรับใส่คัมภีร์พระมาลัยที่วัดพระรูปมีอยู่   
            การพบหีบหนังสือสวดจำนวนไม่น้อยในวัดพระรูป ประกอบกับการคัมภีร์พระมาลัยภายในวัดจำนวนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าในอดีตช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ วัดพระรูปคงจะมีประเพณีการสวดพระมาลัย ซึ่งเป็นที่นิยมมากในงานศพ คัมภีร์พระมาลัยมีเนื้อหาว่าด้วยการท่องนรกและสวรรค์และการพบกับพระศรีอารยเมตไตรย การแจกแจงผลบุญและบาปของสัตว์โลก การเกรงกลัวต่อบาปกรรมความชั่ว และมุ่งมั่นในการทำดี

“หีบหนังสือสวดวัดพระรูป หมายเลข วพร. ๒๓/๒๕๖๑” เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเป็นฝาตัดมีแผ่นไม้สามารถปิดเปิดได้ ภายในบรรจุคัมภีร์ใบลานหลายฉบับ ลักษณะเด่นคือการเขียนเป็นลวดลายกระหนกเรียงเป็นแถว และลายดอกสี่กลีบ แม้จะดูเป็นลวดลายที่เรียบง่ายแต่ก็มีความงดงามและมีคุณค่าเนื่องจากพบได้น้อย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะพบเป็นภาพในเรื่องรามเกียรติ์และภาพวิถีชีวิตเป็นส่วนใหญ่

“หีบหนังสือสวดวัดพระรูป หมายเลข วพร. ๒๔/๒๕๖๑” เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิคการเข้าไม้แบบโบราณ มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง ด้านบนเป็นฝาตัดสามารถเปิดปิดได้ มีลักษณะเด่นคือการเขียนลายรดน้ำเป็นภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่สะท้อนถึงการยังชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ ภาพวิถีชีวิตของสัตว์ป่า และภาพปรัมปราคติเรื่องครุฑกับงู ตกแต่งลายขอบและหน้ากระดานด้วยลายดอกไม้และลายก้านต่อดอก

“หีบหนังสือสวดวัดพระรูป หมายเลข วพร. ๒๕/๒๕๖๑” เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเป็นฝาตัดมีแผ่นไม้ที่สามารถเปิดปิดได้ ลักษณะเด่นของหีบใบนี้คือ การเขียนลายรดน้ำภาพที่สะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างคติความเชื่อไทยกับจีน ด้วยการเขียนภาพเทพนมผินพระพักตร์เวียนประทักษิณพระคัมภีร์ ตรงกลางเป็นภาพเครื่องตั้งของไหว้บูชาอย่างในวัฒนธรรมจีน อันประกอบด้วย โถทรงสูง ดอกไม้ในแจกัน ผลไม้ในชาม และชุดถ้วยชามใส่อาหาร

“หีบหนังสือสวดวัดพระรูป หมายเลข วพร. ๒๖/๒๕๖๑” เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเป็นฝาตัดมีแผ่นไม้ที่สามารถเปิดปิดได้ ลักษณะเด่นของหีบใบนี้คือ การเขียนภาพวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ เป็นภาพจับของหนุมานกับยักษ์ในท่าทางต่าง ๆ แสดงถึงความเคลื่อนไหวตอนกำลังต่อสู้กัน และมีนัยยะสะท้อนถึงการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมที่เกิดขึ้นตลอดในชีวิต ความนิยมตกแต่งด้วยภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์น่าจะเริ่มมีมาก่อนในราชสำนัก ด้วยเป็นเรื่องที่มีนัยยะสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชสำนัก แล้วคงเป็นที่แพร่หลายทั่วไป    

บุญประเพณีของชุมชน
            พุทธศาสนิกชนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่า การมีชีวิตที่ดี มีความสุขความสบาย ร่ำรวย และมีสุขภาพแข็งแรงเนื่องมาจากผลของบุญที่ได้กระทำไว้ คนไทยจึงนิยมทำบุญทั้งในชีวิตประจำวัน ในงานบุญประเพณีประจำปี และการทำบุญตามวาระและโอกาสสำคัญ

            บุญ เป็นคำมาจากภาษาบาลีว่า “ปุญฺญ” มีความหมายจำแนกได้เป็น ๒ ระดับคือ ระดับที่เป็นความหมายทั่วไป ได้แก่ ความสุข ความดี ความประพฤติดี ที่พึ่ง ส่วนที่เป็นความหมายระดับลึกซึ้งนั้นมีความหมายว่า เป็นปัญญาที่ทำให้เห็นความจริงตามหลักของไตรลักษณ์และอริยสัจ ๔ บุญจึงมีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชน ตั้งแต่เป็นเครื่องสร้างความปกติสุขในการดำรงชีวิตประจำวัน จนถึงการได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือการบรรลุพระนิพพาน บุญในพระพุทธศาสนาสร้างขึ้นได้ด้วยการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่ การให้ปันสิ่งของ การรักษาศีล การเจริญภาวนา การประพฤติอ่อนน้อม การขวนขวายรับใช้ การเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้ผู้อื่น การยินดีในบุญความดีของผู้อื่น การฟังธรรม การสั่งสอนธรรม การทำความเห็นให้ตรง

            ชาวชุมชนบริเวณรอบวัดพระรูปก็เช่นเดียว นิยมทำบุญทั้งที่เป็นกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ การตักบาตรในตอนเช้า ทำบุญตามประเพณี ได้แก่ การบวชพระ การทำบุญและฟังธรรมในวันพระ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษาและในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา อาสาฬหบูชา ทำบุญทอดกฐิน  ทอดผ้าป่า งานตรุษและสงกรานต์ เป็นต้น การทำบุญตามวาระและโอกาส ได้แก่ การนำข้าวของเครื่องใช้ที่มีค่ามาถวายวัด การสร้างพระพุทธรูป การสร้างระฆัง การสร้างสถูปเจดีย์ การสร้างเสนาสนะถวายพระสงฆ์  และการถวายอาหารเพลในวาระสำคัญของชีวิต เป็นต้น

ศรัทธาชาวบ้านในการนิยมถวายข้าวของเครื่องใช้           
            วัดประรูปเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองสุพรรณมาตั้งแต่อดีต ภายในวัดเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งเครื่องถ้วย เครื่องลายคราม เครื่องทองลงหิน เครื่องทองเหลือง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มาจากความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้าน ที่นิยมถวายข้าวของเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ ให้กับพระสงฆ์ อนึ่ง สิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ ในอดีตยังนับเป็น “เครื่องบริวาร” ประกอบ “องค์กฐิน คือ ผ้าไตร” ที่พระสงฆ์ได้รับการถวายจากชาวบ้านในช่วงเทศกาลทอดกฐินประจำปี หลายอย่างเป็นสิ่งของเครื่องใช้ประเภทคงทนถาวร เช่น ถ้วยโถโอชาม ถ้ำชา ชุดปั้นชา กระโถน ขันน้ำ พานรอง ตะเกียง ฯลฯ จึงยังคงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน

            สิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนศรัทธาและปฏิสัมพันธ์ที่ชาวบ้านมีต่อพระสงฆ์และวัดพระรูปมาช้านาน สิ่งของหลายชิ้นเคยใช้งานจริงและได้รับการเก็บรักษาจากอดีตเจ้าอาวาสและพระสงฆ์ในวัดพระรูปมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ร่วมสมัยระหว่างยุคก่อนกับยุคปัจจุบัน ผ่านการจัดแสดงอย่างถาวรไว้ภายในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและพระสงฆ์ในวัดพระรูปเมื่อครั้งอดีต

เครื่องลายคราม
            “เครื่องลายคราม” คือ ภาชนะสิ่งของที่ผลิตจากประเทศจีน ตกแต่งด้วยการเขียนสีครามใต้เคลือบ “สีคราม” นั้นทำมาจากโคบอล์ท (Cobalt) มีหลายโทนสีและมีความโปร่งเบา เมื่อเขียนบนพื้นสีขาวจึงสามารถสร้างสรรค์ภาพเขียนหรือลายมงคลบนภาชนะสิ่งของให้เกิดความงดงาม และยังมีที่เขียนด้วยสีแดงจากออกไซด์ของทองแดง (Copper Oxide) เรียกกันว่า “ครามไฟ” ซึ่งมีความสวยงามและหาได้ยากจึงเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสม ในอดีตเครื่องลายครามส่วนใหญ่คงนำเข้ามาจากเมืองจีนคู่กับเครื่องเบญจรงค์ เป็นการนำเข้ามาใช้ในราชสำนัก และเริ่มกระจายไปยังกลุ่มขุนนางและคหบดีเช่นเดียวกับเครื่องเบญจรงค์ รวมถึงในกลุ่มพระสงฆ์ตามวัดที่มีผู้ศรัทธานิยมนำเครื่องลายครามไปถวายด้วย

            วัดพระรูปมีเครื่องลายครามอยู่เป็นจำนวนมาก เครื่องเคลือบบางชิ้นในส่วนการจัดแสดงนี้มีประวัติการใช้งานที่สัมพันธ์กับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญของวัดพระรูป บางชิ้นอดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูปเคยใช้งานจริง อาทิ โถเคลือบลายครามลายใบผักชีทรงสูงมีหูจับขนาดเล็ก ๔ หู มีขันลงหินใบเล็กครอบแทนฝาปากโถ โถเคลือบใบนี้เคยเป็นของใช้ประจำห้องของ พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือ หลวงพ่อดี อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๕๑) บ้างว่าหลวงพ่อดีใช้โถนี้ใส่ตาลปัตร บ้างว่าใช้ใส่ดอกไม้ 

   โถพลูเคลือบเขียว ใช้ใส่ใบพลูนาบ ของชิ้นนี้เคยอยู่ในกุฏิของหลวงพ่อเผื่อน พระพี่ชายของหลวงพ่อดี เจ้าอาวาสวัดพระรูป ทั้งนี้ ตามประวัติทั้งหลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีต่างเป็นพระที่กินหมากด้วยกันทั้งคู่ อนึ่ง เครื่องโถลายครามที่จัดแสดงเหล่านี้ โดยมากมีผู้นำมาถวายและเป็นของสะสมของ พระครูอนุกูลสุวรรณากร หรือ หลวงพ่อควร อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๖๐)

เครื่องเบญจรงค์
            “เครื่องเบญจรงค์” เบญจรงค์หมายถึงเครื่องถ้วยเนื้อกระเบื้องเขียนสีลงยาห้าสี ประกอบด้วยแม่สีสำคัญคือ สีแดง สีเขียว สีขาว สีดำ สีเหลือง หรือมากกว่านั้น เขียนเป็นลวดลายงดงามและมีความหมายในทางมงคล อาทิ ลายเทพนม ลายเทพนมนรสิงห์ ลายมังกร ลายไก่ฟ้า ลายมงคลแปด เบญจรงค์เป็นของที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา นิยมนำมาใช้ทั้งในพิธีกรรมทางศาสนาและในชีวิตประจำวันของชนชั้นสูงและพระสงฆ์ มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ ถ้วย ชาม โถ ชุดน้ำชา แจกัน ตลับ เป็นต้น เครื่องเบญจรงค์นับเป็นสิ่งของมีค่าสูงที่ผู้มีศรัทธานิยมนำมาถวายวัด โดยเฉพาะวัดสำคัญที่มีชนชั้นสูงให้การอุปถัมภ์

เชิงเทียนเบญจรงค์จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

            เครื่องเบญจรงค์ที่จัดแสดงบางชิ้นสามารถระบุถึงที่มาและมีอายุเก่าแก่ เช่น เชิงเทียนเบญจรงค์ชิ้นที่ “ตาแล” ลูกศิษย์หลวงพ่อดี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูปองค์ที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๕๑) ซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงพ่อเป็นผู้ถวายไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน กล่าวกันว่า “ตาแล” เคยเป็นศิษย์วัดพระรูปที่ไปประกอบกิจการโรงงานเครื่องปั้นดินเผา อย่างไรก็ตาม เครื่องเบญจรงค์ ที่จัดแสดงนี้ล้วนเป็นของทำใหม่ บ้างมีระบุชื่อผู้ถวายและวาระการถวาย หลายชิ้นยังเป็นของสะสมของหลวงพ่อควร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูปองค์ที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๖๐)   

เครื่องทองลงหิน เครื่องทองเหลือง
            “เครื่องทองลงหิน” หรือ “ขันลงหิน” และ “เครื่องทองเหลือง” ในอดีตนิยมใช้งานในรูปแบบ “ขันน้ำพานรอง” กระบวนการทำขันลงหินนั้นจะใช้โลหะที่มีส่วนผสมของดีบุกและทองแดงตามอัตราส่วนของแต่ละที่ นำไปหลอมรวมกันเทเป็นแผ่นก่อนที่จะนำโลหะผสมนี้ไปเผาไฟจนแดงและใช้วิธีขึ้นรูปเป็นภาชนะด้วยค้อน จากนั้นจึงนำมาทำการขัดด้วยหินเพื่อให้คราบการตีโละผ่านความร้อนหลุดออกจนเห็นเป็นเนื้อโลหะสุกปลั่ง จึงเรียก “ขันลงหิน” บ้างเรียก “ขันสำริด” ในขณะที่ “เครื่องทองเหลือง” เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสีโดยมีทองแดงเป็นส่วนผสมหลัก ทองเหลืองนับเป็นโลหะที่นิยมใช้กันมานานในสังคมไทย เนื่องจากมีสีเหลืองคล้ายกับสีทองและมีความคงทนต่อการใช้งานหลากหลายรูปแบบ อาทิ เครื่องใช้ เครื่องประดับ เครื่องส่งสัญญาณ รวมไปถึงความนิยมนำทองเหลืองไปใช้สำหรับสร้างพระพุทธรูป จึงทำให้ในอดีตมีผู้มีจิตศรัทธานิยมนำเครื่องทองเหลืองต่างๆ มาถวายวัด ดังปรากฏเครื่องทองเหลืองอยู่แทบทุกวัด และในปัจจุบันเครื่องทองเหลืองเหล่านี้ได้กลายเป็นโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่มีคุณค่า

เครื่องทองเหลืองจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

ตะเกียงโบราณ
            วัดพระรูปมีตะเกียงโบราณหลายชิ้นที่เก็บรักษาต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต แต่ก่อนตะเกียงนับเป็นเครื่องใช้สำคัญที่สุดในยามค่ำคืน ปัจจุบันตะเกียงโบราณเหล่านี้เป็นที่นิยมในหมู่นักสะสม ตะเกียงโบราณชิ้นสำคัญของวัดพระรูป ได้แก่ ตะเกียงลานที่มีจารึกด้วยลายมือ ข้อความว่า “พระอธิการทองคำวัดพระรูป” ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระรูป องค์ที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๒๔) ตะเกียงดวงนี้เดิมอยู่ในห้องของหลวงพ่อคำ เป็นตะเกียงลานทรงสูง มีไส้ใช้น้ำมันก๊าด รูปทรงกลมมีฐานทรงกระบอกกลมสูงฐานล่างกลมกว้างมีระบบเฟืองจักรไขลานอยู่ภายในเพื่อทำให้ใบพัดหมุนพัดลมขึ้นด้านบน เพื่อให้เผาไหม้ได้ดีได้เปลวไฟที่คงที่และมีควันดำน้อย โดยจะมีก้านไขลานที่ก้นตะเกียง

ตะเกียงโบราณมีจารึกชื่ออธิการทองคำ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป

ตาลปัตรพัดยศ
            “ตาลปัตร” ธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ตาลปัตร ไทยน่าจะได้รับมาจากพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ เช่นเดียวกับในประเทศเพื่อนบ้าน ในอดีตพระสงฆ์ไทยมีการใช้ตาลปัตรหรือพัดใบตาลในการแสดงธรรม และมีการถวายตาลปัตรแก่พระสงฆ์ ดังพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นประติมากรรมสำริดศิลปะลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ เป็นภาพนูนต่ำรูปพระพุทธเจ้าทรงถือตาลปัตรโปรดพุทธมารดา ลักษณะตาลปัตรมีลักษณะคล้ายพัดใบตาลรูปกลมมนขนาดเล็ก และในศิลาจารึกวัดช้างล้อม พ.ศ. ๑๙๒๗ มีการกล่าวถึงการถวายตาลปัตรแก่พระเถระโดยเรียกว่า “พัดสวดธรรม” ในปัจจุบันพระสงฆ์ยังคงมีธรรมเนียมการใช้ตาลปัตรสืบเนื่องมาจากอดีต โดยจะใช้ตาลปัตรบังหน้าในระหว่างการสวดพระอภิธรรม การให้ศีลและการอนุโมทนางานฌาปนกิจในการชักผ้าบังสุกุล แม้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเหตุใดพระสงฆ์ต้องถือตาลปัตรในเวลาแสดงธรรมหรือสวดและเริ่มมีการใช้ตาลปัตรมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ก็สันนิษฐานกันว่าตาลปัตรอาจเป็นเครื่องบังป้องกันกิริยาอาการอันไม่เหมาะของสมณะในขณะแสดงธรรมหรือสวดก็เป็นได้ นอกจากตาลปัตรแล้วยังมี “พัดยศ” หรือพัดที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้มีสมณศักดิ์ เพื่อเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศร่วมกับเครื่องประกอบอื่นๆ ตามแต่ลำดับชั้นสมณศักดิ์ พัดยศจึงสัมพันธ์กับสมณศักดิ์ และมีรูปแบบที่วิจิตรงดงามใช้วัสดุหายากทรงคุณค่าแตกต่างไปจากตาลปัตรโดยทั่วไป 

            วัดพระรูปมีตาลปัตรอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นตาลปัตรที่ระลึกจากงานพิธีต่างๆ ที่พระครูสุนทรสุวรรณกิจหรือหลวงพ่อดีได้ไปร่วมงาน เนื่องจากหลวงพ่อดีเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก จึงได้รับนิมนต์ไปงานพุทธาภิเษกและงานสำคัญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ตาลปัตรในงานฉลองพระอุโบสถวัดราชบพิตรและฉลองพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษาของสมเด็จพระสังฆราชวาสน์ ตาลปัตรที่ระลึกงานพระราชทานเพลิง พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) วัดพระรูป นอกจากนี้ ยังมีพัดยศสำคัญของอดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป อาทิ พัดยศตำแหน่งพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท (จร.ชท.) ของพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี จตฺตมโล) ในปี ๒๕๓๐ และพัดยศตำแหน่งพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอกของพระครูอนุกูลสุวรรณากร (หลวงพ่อสมควร อธิปุญฺโญ)

สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงปัจจุบัน

สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงปัจจุบัน

          นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘) เป็นต้นมา เมืองสุพรรณบุรีมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น แม้ในยุคนั้นการสัญจรทางเรือจะยังเป็นเส้นทางหลักแต่ก็นับว่ามีความสะดวกกว่าแต่ก่อน ผู้คนยังจดจำได้ว่าในยุคนี้คือ “ยุคเรือเมล์” ช่วงเวลานี้เมืองสุพรรณ ยังเป็นที่รับรู้กันในฐานะเป็นเมืองแห่งเสือ (โจร) ที่เป็นตำนานโด่งดังไปทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ กระแสความนิยม “พระกรุ” ในสังคมไทย ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน สิ่งนี้ส่งผลต่อ “ภาพลักษณ์”  และการเป็นที่รู้จักของวัดพระรูปในฐานะ “แหล่งพระกรุ” ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง วัดพระรูป เมืองสุพรรณบุรี ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างมากอีกครั้ง ภายใต้บทบาทนำของ หลวงพ่อดี จตฺตมโล หรือ พระครูสุนทรสุวรรณกิจ อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๘  

 

          เมืองสุพรรณหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒: ยุคเรือเมล์ เสือสุพรรณ ตื่นพระกรุ-พระเครื่อง

           ในอดีตการใช้บริการเรือโดยสารของชาวสุพรรณฯ มีหลายรูปแบบ ทั้ง “เรือแท็กซี่” “เรือเขียว”   “เรือแดง” ที่สำคัญคือ “เรือบริษัทสุพรรณขนส่ง” ซึ่งเกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรือเมล์บริษัทสุพรรณขนส่ง มีอยู่นับร้อยลำเป็นเรือสองชั้นต่อด้วยไม้ แต่ละลำมีชื่อเรียกตามตัวละครในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน เช่น เรือแก้วกิริยา เรือศรีมาลา เรือขุนช้าง เรือขุนแผน ฯลฯ[1] ท่าเรือเมล์จะอยู่ฝั่งตลาดเยื้องกับวัดพระรูป สำหรับเส้นทางเดินเรือนั้นเที่ยวขึ้นจากต้นสายที่กรุงเทพฯ จะขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าแม่น้ำน้อยผ่านบางไทร - สีกุก - บ้านแพน -  เจ้าเจ็ด - บ้านสุด - บางยี่หน เข้าแม่น้ำสุพรรณบุรีผ่านบางปลาม้า - เมืองสุพรรณ ต่อเนื่องขึ้นไป สามชุก - ท่าช้าง - หันคา ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองมะขามเฒ่า เมืองชัยนาท จากนั้นเปลี่ยนเป็นเที่ยวล่องวิ่งตามลำน้ำเจ้าพระยาผ่าน สิงห์บุรี - อ่างทอง - อยุธยา จนถึงกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางวิ่งขึ้นล่องตามลำน้ำสุพรรณบุรี ระหว่าง เมืองสุพรรรณ - งิ้วราย ผู้โดยสารเที่ยวล่องมักมาต่อรถไฟที่สถานีงิ้วรายเข้ากรุงเทพฯ

          ในช่วงเวลานี้แม้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสุพรรณบุรีกับท้องที่ต่าง ๆ จะเป็นไปโดยสะดวกมากขึ้น หากแต่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างภาวะสงครามที่ชาวบ้านเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพง ประกอบกับ ภาวะหลังสงครามที่มีการแพร่กระจายของอาวุธปืนจนใคร ๆ ก็สามารถแสวงหาอาวุธสงครามมาครอบครองโดยง่าย เวลานี้เองที่เมืองสุพรรณ ได้เกิดชุมโจรขึ้นมากมาย ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือชุมเสือฝ้ายที่มีลูกสมุนนับร้อยกว่าคน เสือสุพรรณที่โด่งดังหลายคนล้วนเคยเป็นลูกน้องเสื้อฝ้าย อาทิ เสือดำ เสือใบ เสือเพียร เสือมเหศวร ฯลฯ ว่ากันว่ายุคนั้นตลอดแนวแม่น้ำสุพรรณบุรี เคยเป็นเขตอิทธิพลของเสือฝ้าย เรือโยงถูกปล้นเป็นว่าเล่น[2]

ท่าเรือเมล์ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับวัดพระรูป ตลาดทรัพย์สิน อำเภอเมือง                                                                                                                                           

ที่มาภาพ: ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง, “จากปากคำของลูกสาวนายท่าเรือเมล์,” ใน เมืองโบราณ ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๔ (ตุลาคม-ธันวาคม, ๒๕๕๙), ๖๗.

          พร้อม ๆ กับความรุนแรงในสังคมที่เพิ่มมากขึ้นช่วงหลังสงครามโลก การแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจก็มีมากขึ้นตาม การขุดหาพระกรุเพื่อนำมาเป็นพระเครื่องและการสร้างพระเครื่องใหม่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นตลอดช่วงของสงครามและหลังจากนั้น กระแสข่าวของอานุภาพความขลังศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องบางกรุบางวัดหรือของพระเกจิบางรูป แพร่สะพัดจากปากต่อปากไปอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ไร้ระเบียบ ไร้สวัสดิภาพ ปราศจากความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน พระเครื่องเริ่มได้รับความนิยมจากสาธารณชนมากขึ้นเหนือเครื่องรางประเภทอื่น ๆ จนกระทั่งก้าวขึ้นสู่สถานะการเป็น “สุดยอด” ของเครื่องรางไทย เบียดขับเครื่องรางประเภทอื่น ๆ ออกไปจาก “วัฒนธรรมเครื่องรางไทย” เกือบโดยสิ้นเชิง[3] ยิ่งพระเครื่องกรุใดระบุประวัติที่มาการสร้างชัดเจนก็ยิ่งเป็นที่ต้องการเท่าทวีคูณ[4] กรณีเมืองสุพรรณบุรี พระเครื่องที่สำคัญคือ “พระผงสุพรรณ” กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรีที่ถูกบรรจุ ไว้ในชุด “เบญจภาคี” ทั้งนี้ เมืองสุพรรณบุรีได้ชื่อว่าเป็น “ตักศิลา” แห่งพระกรุ โดยพระเครื่องกรุวัดพระรูป นับเป็นหนึ่งในกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

หอดูโจร ตลาดเก้าห้อง อำเภอปางปลาม้า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ร่องรอยยุคสมัยที่ “ภัยโจร” และ “เสือสุพรรณ” เฟื่องฟู

ที่มาภาพ: มนัส โอภากุล, “สุพรรณเป็นเมืองโจร เมืองคนดุ จริงหรือ,” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๗ (พฤษภาคม ๒๕๔๐), ๙๖. 

 

         บทบาทพระสงฆ์ในอดีต - วัดในฐานะศูนย์กลางของชุมชน  

         ในอดีตพระสงฆ์มักมีบุคลิกลักษณะเป็นผู้ “รู้รอบด้าน” สืบเนื่องจากแต่เดิมวัดคือศูนย์กลางของสรรพวิชา พระสงฆ์มิได้สอนธรรมะแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีภูมิรู้ในเรื่องวิชาทางโลกที่สืบต่อถ่ายทอดทั้งจากตำรับตำราและการเรียนรู้จากครูอาจารย์ เช่น การเยียวยารักษาโรค งานช่างแขนงต่าง ๆ ฯลฯ ตัวอย่างที่ควรกล่าวถึง เช่น เรื่องราว “ช่างพระ” ผู้ฝากฝีมืองานศิลป์ถวายแด่พระศาสนานั้นมีปรากฏอยู่มากในประวัติศาสตร์ ดังใน “จารึกบูรณะพระบรมธาตุเมืองชัยนาท” พ.ศ. ๒๒๖๐ ก็มีระบุว่าช่างดีบุกที่มาบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุตามบัญชาของ “พระทิพมนต์” หรือ “สมเด็จเจ้าพระทิพมนต์ ล้วนเป็นพระสงฆ์”[5] หากย้อนไปเพียงเมื่อร้อยกว่าปีก่อนหน้านี้ พระสงฆ์ยังมีบทบาทในงานวิจิตรศิลป์เทียบเท่าหรือทำงานร่วมกับช่างสิบหมู่ ตัวอย่างเช่น ในการบูรณะระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ แม่กองที่คุมงานซ่อมพระระเบียงอย่างละครึ่งนั้นปรากฏชื่อ พระอาจารย์ลอย วัดสุวรรณาราม กับ พระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนาราม รวมถึงปรากฏชื่อช่างเขียนจิตรกรรม เช่น ภิกษุสิน  วัดระฆัง เป็นต้น[6] พระสงฆ์ยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญแม้ในเรื่องที่คนสมัยนี้อาจไม่คาดไม่ถึง เช่น ในคราวงานพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้า พ.ศ. ๒๔๕๑ พบว่าช่างที่ทำดอกไม้ไฟทั้งหมดล้วนเป็นพระสงฆ์[7]

          ในท้องถิ่นหัวเมือง บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในฐานะศูนย์กลางของชุมชนและผู้รอบรู้ในสรรพวิชา ยิ่งเด่นชัด ในบันทึกของ วาริงตัน สไมธ์ (Warrington Smyth) เจ้ากรมราชโลหะกิจ สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เดินทางทางจากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำโพ นครสวรรค์ ระบุถึงเรือขุดพื้นบ้านที่ “ไม่มีทางจมหรือคว่ำ” ซึ่งก็คือเรือในอุดมคติที่ช่างต่อเรือชาวยุโรปแสวงหามาตลอด นายสไมธ์ยิ่งประหลาดใจเมื่อพบว่าเรือเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดย “พระบ้าน” ผู้มีฝีมือเป็นเลิศในการขุดเรือ พระสงฆ์ในท้องถิ่นที่นายสไมธ์พบ มีข้อวัตรที่ไม่แปลกแยกจากวัฒนธรรมชาวบ้านและพื้นที่วัดก็ถูกใช้ประกอบกิจกรรมมากมาย ไม่เพียงแต่จะเป็นช่างต่อเรือ พระสงฆ์เหล่านี้ยังเป็นช่างก่อสร้างกุฏิศาลา และซ่อมแซมวัดด้วยตัวเอง[8] เช่นกันที่เมืองสุพรรณบุรี ในบันทึกของ ปีเตอร์ ทอมป์สัน (Peter Thompson) นักสำรวจชาวอังกฤษ ผู้เดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือไปตามลำน้ำจนถึงเมืองสุพรรณ ได้ระบุถึง หลวงพ่อสอนเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ ในขณะนั้นว่า สมภารรูปนี้มีความสามารถหลายอย่างเป็นทั้งพระวิปัสสนาจารย์ นักเทศน์มหาชาติ ช่างก่อสร้าง และแพทย์แผนโบราณ[9] กล่าวกันว่า   หลวงพ่อสอนได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้จากพระอาจารย์กล่ำ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ และจาก พระอาจารย์เนียม เจ้าอาวาสวัดน้อย อ.บางปลาม้า ชาวบ้านยังเชื่อกันว่าหลวงพ่อสอนมีวิชาอยู่ยงคงกระพัน ไม่มีศาสตราวุธหรือของมีคมใด ๆ กล้ำกรายได้ ทั้งมีฤทธิ์ย่นย่อระยะทาง สามารถเยียวยาคนถูกงูกัดและสุนัขบ้ากัด[10]

          ตัวอย่างพระสงฆ์เมืองสุพรรณร่วมยุคสมัยกับหลวงพ่อสอนที่ขึ้นชื่ออีกรูปก็เช่น หลวงพ่อโหน่ง สมภารวัดคลองมะดัน (วัดอัมพวัน) ผู้มีบทบาทในการดูแลความอยู่ดีมีสุขของชาวบ้าน หลวงพ่อโหน่งมีชื่อเสียงในการปราบโจรปล้นควาย ด้วยวัวควายนับเป็นเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญมากของชาวบ้าน เมื่อขาดสัตว์เหล่านี้ก็เท่ากับขาดอุปกรณ์จำเป็นในการทำนา ชาวบ้านเชื่อว่าหลวงพ่อโหน่งมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ สามารถช่วยป้องกันวัวควายในหมู่บ้านคลองมะดันไม่ให้ถูกขโมย กล่าวกันว่าพวกโจรต่างเกรงกลัวอานุภาพบารมีของหลวงพ่อ[11] ทั้งนี้ เรื่องราวของพระสงฆ์ผู้มากด้วยบารมีธรรมกระทั่งโจรผู้ร้ายต่างก็ “เกรงบารมีพระ” มีปรากฏในเรื่องราวของพระสงฆ์ยุคหลังจากนั้นด้วยเช่นกัน เช่นเรื่องราวของ หลวงพ่อดี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป  

          ดังที่กล่าวมา บทบาทของพระสงฆ์ในท้องถิ่นแต่เดิมจึงไม่ได้มีเพียงบทบาททางธรรม หากแต่ยังเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางโลกด้วยสารพันโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ เลือนหายไปนับแต่มีการปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์ตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ ๕ ที่ทำให้วิชาที่เรียนในวัดเหลือเพียงด้านปริยัติธรรม พร้อม ๆ กับการศึกษาภาคบังคับที่เป็นจุดเริ่มต้นของการดึงบทบาททางโลกออกจากพระสงฆ์  อย่างไรก็ตาม  ในท้องถิ่นหัวเมือง เช่น ที่เมืองสุพรรณนั้นยังปรากฏเรื่องราวพระสงฆ์ผู้มีบทบาทในฐานะ “ที่พึ่ง” และเป็นศูนย์กลางของชุมชนตลอดช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรือแม้ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใกล้ก็ตาม

 

เอกสารอ้างอิง

[1] ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ศรีสุพรรณภูมิ เรื่องตำนานจากอดีตกาล จนถึงเรื่องเล่าขานเมื่อวันวาน (กรุงเทพฯ: ดวงกมล, ๒๕๕๓), ๒๒๐-๒๒๑.

[2] ดูประเด็นนี้ใน มนัส โอภากุล, “สุพรรณเป็นเมืองโจร เมืองคนดุ จริงหรือ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๗ (พฤษภาคม ๒๕๔๐), ๙๐-๙๙.

[3] ฉลอง สุนทราวาณิชย์, “เมื่อพระเครื่องก้าวขึ้นเป็น “สุดยอด” เครื่องรางไทย,” ใน นลินี ตันธุวนิตย์ บรรณาธิการ, ศึกษา รู้จัก วิพากษ์ คนชั้นกลาง (กรุงเทพฯ: มิสเตอร์ก๊อปปี้, ๒๕๕๐), ๑๗๔-๑๗๕.

[4] ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์, ประวัติศาสตร์ผ่านพระเครื่อง คติความเชื่อและพุทธพาณิชย์ (นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕), ๖๓.

[5] ดู จากรึกพระบรมธาตุวัดมหาธาตุชัยนาท ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย และดูรายละเอียดเรื่อง  “พระทิพมนต์” ใน บทความ “จาก การเมืองไทยสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ถึง วัดพระรูปเมืองสุพรรณบุรี”

[6] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, รามเกียรติวัดพระแก้ว เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ ๗ (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๐), ๖๐.

[7] Talking Tour Ep. ๗ “รามเกียรติ์” จิตรกรรมชุดสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, YouTube, เผยแพร่เมื่อ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๓. 

[8] กมลา ติยะวนิช, พุทธในไพร (กรุงเทพฯ: โอ. เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์), ๕.

[9] เรื่องเดียวกัน, ๓.

[10] เรื่องเดียวกัน, ๒๒.

[11] เรื่องเดียวกัน, ๔, ๘๓.

บทความวิชาการ
"หลวงพ่อดีแห่งวัดพระรูป"

เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์ ผู้เขียน

 

พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพอ่ดี) อดีตเจ้าอาวาสองค์สำคัญของวัดพระรูป

            หลวงพ่อดี จตฺตมโล หรือพระครูสุนทรสุวรรณกิจ อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๘ ของวัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของสาธุชนในเมืองไทย ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ของท่านเริ่มต้นจากการเป็นพระภิกษุหนุ่มของวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรีคือ วัดพระรูป ในช่วงเวลาที่วัดพระรูปมีแต่สิ่งปรักหักพัง ขาดการบูรณปฏิสังขรณ์มาเนิ่นนาน ตกอยู่ในสภาพที่ไม่น่าพักอาศัย ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจของภิกษุสงฆ์และการปกป้องรักษาโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีอยู่ภายในวัด ไม่เป็นที่เจริญศรัทธาแก่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงและผู้ที่ผ่านไปมา ท่ามกลางความตกต่ำในวิกฤติศรัทธาของชาวบ้านรอบวัดต่อพระสงฆ์วัดพระรูป ขนาดว่าชาวบ้านร้านตลาดบางแห่งไม่ยอมใส่บาตรพระสงฆ์วัดพระรูป กระแสสังคมภายนอกในด้านความเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป ด้วยมีผู้คนปรารถนาในวัตถุโบราณ พระกรุ พระเก่า ซึ่งมีอยู่มากในวัดพระรูป เพื่อนำไปเป็นสินค้าและของสะสม พระสงฆ์วัดพระรูปที่มีแนวคิดอนุรักษ์ต้องเผชิญกับปัญหาการลักลอบขุดพระและโบราณวัตถุ ต้องระวังภัยที่จะเกิดต่อโบราณสถาน โบราณวัตถุ แม้แต่พระภิกษุในวัดเองที่ย่อหย่อนในพระธรรมวินัยก็ยังลักลอบขุดพระในเวลาค่ำคืน หากแต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป พระดีที่ได้กลายมาเป็นหลวงพ่อดีได้ทำหน้าที่ปลูกศรัทธาของชาวบ้านร้านตลาดที่มีต่อวัดพระรูปขึ้นมาใหม่ ท่านเป็นที่ยอมรับของสาธุชนในฐานะเป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญหลายด้าน เช่น เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี มีผู้เคารพนับถือมุ่งหมายไปกราบไหว้สักการะ ในแต่ละปีมีกิจนิมนต์จำนวนมาก จึงมีประเด็นที่น่าสนใจศึกษาวิเคราะห์ ว่าบทบาทและความหมายของการเป็นเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดีนั้นก่อรูปขึ้นได้อย่างไร การรับรู้บทบาทและการให้ความหมายของการเป็นเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดีระหว่างคนในกับคนนอกชุมชนวัดพระรูปนั้นมีมุมมองเหมือนกันหรือไม่อย่างไร การศึกษาในประเด็นเหล่านี้สามารถศึกษาได้จากประวัติชีวิตและผลงานของหลวงพ่อดี จตตมโล ที่เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งจากเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อดีและวัดพระรูป  เรียบเรียงและสรุปวิเคราะห์ด้วยระเบียบวิธีคติชนวิทยาและสหวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชน ทั้งนี้เพื่อเป็นความรู้และความเข้าใจในบทบาทและความหมายของการเป็นเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดี ซึ่งน่าจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับของบุคคลอื่น ได้ทราบประวัติบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดแก่วัดพระรูปอย่างชนิดที่เรียกว่าพลิกฝ่ามือ และเพื่อความเข้าใจในกระแสความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในชุมชนบริเวณรอบ ๆ วัดพระรูปกับของสังคมในวงกว้างต่อปรากฏการณ์การเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดี และเพื่อเป็นองค์ความด้านประวัติศาสตร์บุคคลและวัฒนธรรมชุมชนแก่ผู้สนใจทั่วไป

ความหมายของคำว่าพระเกจิอาจารย์ 
            คำว่า เกจิ มีความหมายตามรูปศัพท์บาลีว่า บางพวก บางหมู่ เป็นคำพหูพจน์ที่ไม่ระบุตัวบุคคลเป็นการเฉพาะ เมื่อนำมาสมาสกับคำว่า อาจารย์ เป็นคำว่า เกจิอาจารย์ มีความหมายว่า อาจารย์บางพวก อาจารย์บางเหล่า พบคำนี้ได้บ่อยในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา โดยพระอรรถกถาจารย์อ้างมติของท่านผู้อื่นมาแบบไม่ระบุตัวเจ้าของ หรือไม่ออกชื่อบุคคล หากแต่ใช้คำว่า เกจิ แทนผู้เป็นเจ้าของมตินั้น เป็นการอ้างหรือยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างคำอธิบายที่ต่างออกไปบ้าง หรือยกมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธหรือชี้แจ้งความผิดพลาด และมีบ้างที่ยกมาโดยแสดงความเห็นชอบ โดยมักอ้างมาในลักษณะของการอธิบายหลักพระธรรมวินัยที่อาจจะยากสำหรับคนทั่วไป หรือเป็นเรื่องลึกซึ้ง [พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ๒๕๕๘: ๒๘] ส่วนคำที่เป็นรูปเอกพจน์ของเกจิ คือคำว่า โกจิ พบการใช้ทั่วไปในอรรถกถา เช่นในอรรถกถาเมฆิยสูตร ยกตัวอย่างข้อความว่า  “บทว่า ยาว อญฺโป โกจิ ภิกฺขุ อาคจฺฉติ ความว่า เธอจงรอจนกว่าภิกษุไร ๆ จะมายังสำนักเรา บาลีว่า โกจิ ภิกฺขุ ทิสฺสติ ภิกษุไร ๆ จะปรากฏดังนี้ก็มี อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อาคจฺฉตุ บางพวกกล่าว ทิสฺสตุ เหมือนกัน”[1] เป็นต้น ฉะนั้นคำว่า เกจิอาจารย์ จึงมีความหมายว่า อาจารย์บางพวกที่มีความรู้ในพระธรรมคัมภีร์
            หากแต่ปัจจุบัน ความหมายของคำว่า เกจิ หรือเกจิอาจารย์ โดยรวมถึงคำว่า พระเกจิอาจารย์ ที่เพิ่มคำว่า พระ เข้ามาข้างหน้า เพื่อระบุสถานภาพของบุคคลที่เป็นเกจินั้นว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์ อย่างไรก็ตาม ได้เกิดความผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิมไปอย่างมาก ยกตัวอย่าง ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามคำว่า เกจิอาจารย์ หมายถึง อาจารย์บางพวก, อาจารย์ที่เชื่อว่ามีความรู้ความสามารถในด้านคาถา อาคมและการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง[2] ในงานศึกษาของ สายป่าน ปุริวรรณชนะ ระบุความหมายไว้ว่า “พระเกจิอาจารย์ หมายถึง พระภิกษุผู้ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนว่าได้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามในพระธรรมวินัย และบรรลุคุณวิเศษจากสมาธิวิปัสสนา จนกระทั่งมีวิทยาคม หรือคุณวิเศษอื่น ๆ โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณวิเศษของตัวพระภิกษุรูปนั้น ๆ รวมถึงวัตถุมงคลของท่าน ทั้งเมื่อยังมีชีวิตอยู่และเมื่อมรณภาพไปแล้ว”[3] เช่นเดียวกับ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า  ความหมายของคำว่า เกจิอาจารย์ ได้ผิดเพี้ยนไปจากความเดิมอย่างห่างไกลกันอย่างมาก โดยได้กลายมาเป็นความหมายว่าเป็นพระภิกษุผู้มีชื่อเสียงเด่นดังในทางขลัง หรือแม้กระทั่งเชี่ยวชาญในทางไสยศาสตร์ ความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้น มีอยู่ ๓ ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่ (๑) ความหมายในทางปัญญาและความใส่ใจในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัยได้เลือนรางหรือเจือจางลง ถูกกลบบังด้วยลัทธิความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ และไสยศาสตร์ (๒) เกจิ ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงผู้แทรกเสริมหรือเป็นตัวประกอบในการนำมาอรรถาธิบาย ก็ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวหลัก และ (๓) เกจิ ซึ่งแต่เดิมเป็นคำพหูพจน์ที่ไม่ระบุตัว กลายเป็นคำเอกพจน์ที่ใช้เรียกบุคคลผู้มีชื่อเสียงนั้น[4]
            ความหมายของคำว่า พระเกจิอาจารย์ ในปัจจุบันจึงมุ่งหมายถึง พระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถในด้านคาถา อาคม การปลุกเสกพระเครื่อง พระบูชา เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลต่าง ๆ มีคุณวิเศษจากอำนาจจิต อำนาจสมาธิวิปัสสนา การมีวิทยาคมสูงหรือมีคุณวิเศษสูงกว่าบุคคลอื่น ๆ ทั่วไป หรือแม้กระทั่งมีความเชี่ยวชาญในวิชาไสยศาสตร์ ดังนั้น ตามความหมายนี้ จึงทำให้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระเกจิอาจารย์มีความเกี่ยวข้องกับคำอีก ๓ คำ ได้แก่ อิทธิปาฏิหาริย์ ความศักดิ์สิทธิ์ และบุคคลศักดิ์สิทธิ์  
            อิทธิปาฏิหาริย์ มีความหมายตามคำศัพท์ของคำว่า อิทธิ แปลว่า ฤทธิ์ หรือการแสดงฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ แปลว่า สิ่งที่น่าอัศจรรย์ เรื่องที่น่าอัศจรรย์ ซึ่งมีอยู่ ๓ ประการ เรียกว่า ปาฏิหาริย์ ๓ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ และ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ฉะนั้น อิทธิปาฏิหาริย์ จึงหมายถึง ฤทธิ์หรือการแสดงฤทธิ์ได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ ได้แก่ ล่องหน หายตัว ดำดิน เหาะได้ เป็นต้น ส่วนคำว่า ความศักดิ์สิทธิ์ หมายถึง พลังอำนาจที่เหนือวิสัยธรรมชาติ ที่สามารถทำให้เกิดความสำเร็จ ความขลัง กำลังอำนาจที่อาจทำให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ หรือทำให้สำเร็จผลได้จริง เป็นความพิเศษที่เกิดขึ้นในบางเวลา สถานที่ ที่มีลักษณะเหนือความเป็นสามัญโดยแสดงพลังออกมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่การรับรู้ของมนุษย์ สำหรับคำว่า บุคคลศักดิ์สิทธิ์ หมายถึง บุคคลที่มีอำนาจหรือมีความสามารถในการติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติเพื่อให้เกิดความสำเร็จได้ ในงานศึกษาของ สายป่าน ปุริวรรณชนะ ได้จำแนกบุคคลศักดิ์สิทธิ์ออกเป็น ๒ ประเภท คือ ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติอยู่ในตนเอง ซึ่งอาจเกิดจาก การฝึกจิต การฝึกสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน และผู้มีความสามารถในการติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น พ่อหมอแม่หมอ (Medicine man) หมอผี (Shaman) คนทรงเจ้า (Medium)[5] เป็นต้น

ชีวประวัติและบทบาทของหลวงพ่อดี
            จากการศึกษาชีวประวัติของหลวงดีที่ได้จากการศึกษาเอกสาร ข้อมูลดิจิทัล และการสัมภาษณ์ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับหลวงพ่อดี รวมถึงชาวบ้านบางคนที่เคยมีโอกาสมาทำบุญมาปฏิบัติธรรมที่วัดพระรูป และเป็นผู้ช่วยเก็บยามาถวายหลวงพ่อดี พบว่า หลวงพ่อดีมีประวัติชีวิตที่แสดงถึงการมีบทบาทที่หลากหลาย สะท้อนภาพของการเป็นผู้ใฝ่รู้ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถรอบด้าน อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่า บทบาท  (Role) หมายถึง พฤติกรรมหรือการกระทำของบุคคลที่แสดงออกมาตามสถานภาพ ตำแหน่ง สิทธิหน้าที่หรือบรรทัดฐานทางสังคม ที่มีความคาดหวังต่อการกระทำของบุคคลกลุ่มคนและสังคม เพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคมนั้น[6] ดังนั้นในแต่ละช่วงชีวิตของหลวงพ่อดี ท่านได้แสดงบทบาทผ่านการสร้างผลงานและพฤติกรรมของท่านมาอย่างมากมายและหลากหลาย ตามสถานภาพ ตำแหน่งสิทธิหน้าที่ และตามบรรทัดฐานทางสังคม อย่างมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนที่อยู่รอบ ๆ วัด และได้แผ่ออกไปสู่ระดับประเทศด้วย เป็นการแสดงบทบาทที่หลากหลายตามความรู้ความสามารถ ความมุ่งมั่นตั้งใจของท่าน บางบทบาทมีความโดดเด่นมาก บางบทบาทมีความโดดเด่นน้อย ในแต่ละบทบาทล้วนมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมและผลงานที่หลวงพ่อดีได้สร้างไว้อย่างมากมาย
            หลวงพ่อดีเป็นบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีอายุยืน ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับปีชวด กำเนิด ณ บ้านคันลำ ต. ดอนตาล อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ณ กุฏิในวัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี พรรษา ๗๓[7] ท่านจึงเป็นผู้หนึ่งที่มีชีวิตหลายช่วงชีวิต มีผลงานและบทบาทในหลายมิติ การนำเสนอชีวประวัติของท่านได้จำแนกเป็น ๓ ช่วงชีวิต คือ ชีวิตก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ และช่วงสุดท้ายของชีวิตและสมณศักดิ์ที่ได้รับ

ชีวิตก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
            ก่อนเข้าสู่พิธีบรรพชาอุปสมบท หลวงพ่อดีมีนามเดิมว่า นายดี ศรีขำสุข เป็นบุตรของนายปั้น นางหรุ่น ศรีขำสุข มีพี่น้องร่วมสายโลหิตจำนวน ๕ รูป/คน คือ
            (๑) หลวงพ่อเผื่อน ปุสฺสชิโน (ศรีขำสุข) เป็นพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ที่วัดพระรูปโดยไม่เคยลาสิกขาบทเลยจนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐
            (๒) นางผัน ศรีขำสุข
            (๓) นายหยวก ศรีขำสุข
            (๔) นางแวว ศรีขำสุข
            (๕) หลวงพ่อดี จตฺตมโล (ดี ศรีขำสุข) เป็นพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ในวัดพระรูปโดยไม่เคยลาสิกขาบทจนกระทั่งมรณภาพ
            สมัยที่ยังใช้ชีวิตวัยรุ่นขณะอยู่ในเพศคฤหัสถ์ นายดี ศรีขำสุข เป็นผู้มีอุปนิสัยเป็นคนจริง เข้าลักษณะที่เรียกว่ามีน้ำใจเป็นนักเลง มีพรรคพวก ไม่เกรงกลัวใคร เป็นคนไม่ยอมคน มีเรื่องเล่าว่า ในงานประเพณีเฉลิมฉลองประจำปีของวัดป่าเลไลยก์ ในครั้งหนึ่ง มีเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันเป็นเครือญาติกันกับนายดี ไปเดินเที่ยวงานและถูกกระตุกสร้อยคอในงานประจำปีของวัดป่าเลไลยก์ เมื่อผู้ปกครองของเด็กหญิงทราบเรื่องก็มาบอกนายดีว่าหลานถูกกระตุกสร้อย นายดีถามถึงรายละเอียดของสร้อยว่ามีน้ำหนักเท่าไหร่ ลายอะไร จากนั้นบอกให้ผู้ปกครองของเด็กหญิงผู้นั้นยืนรออยู่ที่นั่นก่อน เวลาผ่านไปสักพัก นายดีสามารถนำสร้อยคอทองคำเส้นที่ถูกกระตุกไป มาคืนให้กับผู้ปกครองของเด็กหญิงคนนั้นได้ การได้สร้อยคืนกลับมา นายดีใช้วิธีเดินไปบอกกับพรรคพวกว่าเป็นสร้อยของหลานของตน มีน้ำหนักเท่านี้ลายนี้ จึงมาขอคืน คนกระตุกสร้อยนั้นเป็นพรรคพวกเดียวกันกับนายดี จึงขอกันได้ นายดีได้นำสร้อยมาคืนให้ผู้ปกครองของเด็กหญิงโดยดุษฎี เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงอัธยาศัยของนายดีซึ่งต่อมาก็คือ หลวงพ่อดี จตฺตมโล ที่มีอัธยาศัยเป็นนักเลง เป็นคนไม่กลัวคน มีพรรคพวกและเข้ากลุ่มได้กับนักเลงท้องถิ่น แม้เมื่อเป็นพระแล้วก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่แสดงถึงความไม่กลัวคนของหลวงพ่อดี อนึ่ง บิดาของนายดีก็เป็นนักเลง คบหากับเสือไท เสือชื่อดังของเมืองสุพรรณบุรี เป็นช่วงเดียวกับขุนพันธ์ (พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช) เป็นนายตำรวจ เสือไทเคยไปมาหาสู่ครอบครัวของนายดี ในเวลาค่ำมืดดึกดื่นเมื่อเสียไทแวะมาเยี่ยมเยียน ทางครอบครัวของนายดีต้องตื่นมาหุงข้าวต้มปลาต้อนรับ[8]  ในสมัยที่ยังไม่ได้บวชเป็นพระ ช่วงมีอายุได้ประมาณ ๒๐ ปีกว่าแล้ว นายดีมีอัธยาศัยเป็นที่ถูกใจเสือไทเป็นอย่างมาก ถึงขนาดชักชวนนายดีลงน้ำสาบานด้วยการกรีดเลือด และชวนให้ไปปล้นด้วยกัน แต่นายดีปฏิเสธด้วยความตั้งใจว่าเพียงคบไว้เป็นเพื่อนรู้จักกันก็พอแล้ว ถึงขนาดให้ปล้นนั้นไม่ขอปล้น อย่างไรก็ตาม ความเป็นนักเลงของหลวงพ่อดีนั้นน่าจะเกิดจากการสืบสายเลือดมาจากบิดาและสภาพแวดล้อมทางสังคมของเมืองสุพรรณบุรีในสมัยนั้น ที่มีนักเลงและเสือมีชื่ออยู่เป็นจำนวนมาก
            นายดีมีความรักและความห่วงใยในตัวของพระพี่ชาย คือ หลวงพ่อเผื่อน ปุสฺสชิโน ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุมาก่อนแล้ว หลวงพ่อเผื่อนมีอายุมากกว่านายดี ๑๐ ปี หลวงพ่อเผื่อนมีบุคลิกลักษณะเป็นคนซื่อ ไม่ถือสาอะไรกับใคร เป็นคนยอมคน เป็นพระที่มีเมตตาสูง หลวงพ่อเผื่อนมักถูกเรียกใช้งานจากพระที่มีอาวุโสกว่าอยู่บ่อย ๆ ทำให้นายดีผู้เป็นน้องซึ่งเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องและเป็นคนกล้า ไม่ยอมคน มองพระพี่ชายของตนว่าเป็นคนไม่สู้คนและไม่ทันคน ประกอบกับสังคมเมืองสุพรรณบุรีในเวลานั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศของนักเลงคุมถิ่น แม้แต่ในวัดพระรูปเองก็มีพระนักเลงด้วยเช่นกัน เวลามีงานบุญประจำปีของวัดพระรูป พวกนักเลงในท้องถิ่นนิยมนำมีดดาบขัดหลังเดินเที่ยวงานวัดพระรูป และมักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน ที่ตีกันทุกปีติดต่อกันถึง ๕ ปีก็เคยมี จนทำให้ต้องยกเลิกการจัดงานประจำปีของวัดพระรูป[9] พระสงฆ์ในวัดพระรูปก็มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น แอบดื่มสุรา ลักลอบขุดพระ และชอบทะเลาะวิวาท[10] ด้วยความเกรงกลัวว่าพระพี่ชายจะถูกรังแกและถูกเอาเปรียบ นายดีผู้เป็นน้องชายจึงมาเฝ้าคอยดูแลรับใช้พระพี่ชายที่วัดพระรูปอยู่เป็นประจำ ในขณะเดียวกันหลวงพ่อเผื่อนซึ่งเริ่มการเรียน เขียน อ่านอักษรขอมจากคัมภีร์โบราณไปบ้างแล้ว นายดีจึงได้ติดตามหลวงพ่อเผื่อนไปเรียนวิชาความรู้ เช่น เรียนภาษาขอมกับพระอาจารย์คงที่วัดไชนาวาส เรียนหนังสือไทยกับพระอาจารย์ช้างซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระรูป (อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป ลำดับที่ ๔) แม้ต่อมาหลวงพ่อช้างได้ลาสิกขาไป (โดยมีหลวงพ่อแทน (อดีตเจ้าอาวาส ลำดับที่ ๕) หลวงพ่อแจง (อดีตเจ้าอาวาส ลำดับที่ ๖) และหลวงพ่อคำ (อดีตเจ้าอาวาส ลำดับที่ ๗) เป็นเจ้าอาวาสวัดพระรูปตามลำดับ) แต่หลังจากหลวงพ่อช้างสึกไปได้ระยะหนึ่ง ก็กลับมาบวชใหม่เป็นพระลูกวัดของวัดพระรูป หลวงพ่อดีก็ให้ความเคารพนับถือหลวงพ่อช้างในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ของตน ได้ถวายการปรนนิบัติรับใช้ตามควรแก่อัตภาพ 
            อย่างไรก็ตาม แม้ว่านายดีมีความคิดที่อยากจะบวชเป็นพระภิกษุเพียงเพื่อจะได้อยู่เป็นเพื่อนและช่วยปกป้องพระพี่ชาย ด้วยความรักความห่วงใยในพระพี่ชายที่เป็นสาเหตุทำให้นายดีได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แต่เมื่อได้บวชแล้วก็บวชจนตลอดชีวิต โดยไม่มีการลาสิกขาเลย และได้สร้างคุณูปการต่อวัดพระรูปเป็นอย่างมาก  เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการพัฒนาวัดพระรูปให้เป็นมีความเจริญเหมาะควรแก่การเป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ การปฏิบัติศาสนกิจ และเป็นที่เจริญศรัทธาแก่สาธุชนและการสืบทอดพระพุทธศาสนา

ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์
            ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ของหลวงพ่อดีเริ่มขึ้นหลังจากพ้นการเกณฑ์ทหารแล้ว ขณะมีอายุได้ ๒๓ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ พัทธสีมาวัดไชนาวาส มีพระครูสมณการพิสิฐ (หลวงพ่อท้วม) เจ้าอาวาสวัดไชนาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูถาวรสุวรรณคุณ (หลวงพ่อคำ ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดพระรูปเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์บุญ วัดไชนาวาส เป็นพระอนุสาวนาจารย์  เมื่ออุปสมบทแล้วได้นามและฉายาว่า พระดี จตฺตมโล อยู่จำพรรษา ณ วัดพระรูปมาโดยตลอดจนกระทั่งมรณภาพ มีอายุพรรษา ๗๓ นับเป็นเวลาที่อยู่ในสมณเพศยาวนาน
            ในระยะเวลาที่อยู่ในเพศบรรพชิต หลวงพ่อดีได้สร้างผลงานและมีบทบาทที่มีความสัมพันธ์กับการทำงานของท่านอย่างหลากหลาย ได้แก่ บทบาทของผู้ศึกษาหาความรู้เพื่อสร้างคุณค่าต่อตนเองและคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น บทบาทหมอยาเพื่อช่วยดับทุกข์ทางกายให้ชาวบ้าน บทบาทพระนายช่าง บทบาทพระนักพัฒนาจากการทำงานช่างพัฒนาบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูป บทบาทพระเกจิอาจารย์จากการสร้างพระเครื่อง พระบูชา เพื่อรวบรวมปัจจัยสำหรับการพัฒนาบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูป และบทบาทพระนักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม 

หลวงพ่อดี: การใฝ่รู้เพื่อสร้างคุณค่าต่อตนเองและคุณประโยชน์
            เมื่อแรกบรรพชาอุปสมบท พระดี จตฺตมโล เป็นแต่เพียงพระภิกษุหนุ่มธรรมดาที่ไม่มีบารมีแต่อย่างใด ท่านได้เริ่มสร้างคุณค่าให้แก่ตนเองและเป็นช่องทางสร้างคุณประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วยการแสวงหาความรู้ให้แก่ตนเอง จากเดิมในช่วงที่เป็นฆราวาส ท่านได้ติดตามหลวงพ่อเผื่อน ซึ่งเป็นพระพี่ชายของท่านไปเรียนหนังสือ  เมื่อบวชเป็นพระแล้วท่านก็ยังตามหลวงพ่อเผื่อนไปเรียนหนังสือต่ออีก หลวงพ่อดีเรียนอักษรขอมที่เป็นการเขียนและการอ่านกับพระอาจารย์คงวัดไชนาวาส เรียนหนังสือไทยและการทำน้ำมนต์กับพระอาจารย์ช้าง (เจ้าอาวาสวัดพระรูป ลำดับที่ ๔) การเรียนอักษรขอมทำให้หลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีได้พื้นฐานในการอ่านตำรายาโบราณ เล่ากันว่าท่านทั้งสองมีมานะแบกคัมภีร์ใบลานเดินไปเรียนที่วัดไชนาวาสอยู่เป็นประจำ สมัยนั้นที่วัดพระรูปมีคัมภีร์ใบลานอยู่เป็นจำนวนมาก[11] เรื่องความรู้ในภาษาขอมนี้ น่าจะเป็นวิชาที่พระสงฆ์สมัยนั้นนิยมเรียนกัน หลวงพ่อคำเจ้าอาวาสวัดพระรูปในขณะนั้น ท่านมีความรู้ในการอ่านภาษาขอมได้ เวลาที่ท่านเทศน์ ท่านอ่านผูกใบลานที่เขียนด้วยภาษาขอม แต่ท่านเทศน์โปรดสาธุชนด้วยภาษาไทย ความสามารถในการอ่านเขียนภาษาขอมของครูบาอาจารย์ในยุคสมัยนั้น น่าจะเป็นแบบอย่างให้พระหนุ่มอย่างหลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีเจริญรอยตาม อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาวัดพระรูปมีพระหมอยาที่มีความสามารถช่วยรักษาคนได้เกิดขึ้น ๒ รูป คือหลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดี ที่ช่วยดับทุกข์ให้แก่ชาวบ้านด้วยการจัดยาและปรุงยาให้ชาวบ้านไปต้มกินบ้างทาบ้างให้หายจากโรคภัยได้ในระดับหนึ่ง

เอกสารและสมุุดบันทึกของหลวงพ่อดี

            นอกจากการเรียน เขียน อ่านภาษาขอม เรียนภาษาไทย เรียนทำน้ำมนต์ เรียนตำรายาโบราณ หลวงพ่อดียังมีวิชากรรมฐานโดยไม่มีใครทราบว่าท่านไปเรียนมาจากที่ไหน และเป็นศิษย์ของผู้ใด แต่มีเรื่องเล่าว่า หลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีมักปลีกวิเวกไปนั่งสมาธิกรรมฐานกันที่บริเวณหลังวัดพระรูป มีครั้งหนึ่งที่หลวงพ่อเผื่อนนั่งสมาธิแล้วเกิดนิมิตเห็นเสือเข้ามาทำร้ายท่าน หลวงพ่อเผื่อนได้ปรารภธรรมนี้กับหลวงพ่อดีเป็นการส่วนตัว หลวงพ่อดีได้ฟังเรื่องจากพระพี่ชายแล้วจึงได้ถวายคำแนะนำให้หลวงพ่อเผื่อนยุติการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จะเป็นการเหมาะสมกว่าฝืนปฏิบัติต่อไป หลวงพ่อเผื่อนก็ยอมรับในคำแนะนำนั้น[12] จากเรื่องเล่าดังกล่าว แสดงว่าหลวงพ่อดีและหลวงพ่อเผื่อนมีความรู้ในวิชากรรมฐาน และฝึกวิชากรรมฐาน หลวงพ่อเผื่อนกับหลวงพ่อดีเป็นสหธรรมิกกัน และหลวงพ่อเผื่อนยอมรับในภูมิธรรมของหลวงพ่อดี       
            หลวงพ่อดีเรียนทำน้ำมนต์กับหลวงพ่อช้าง โดยไม่ค่อยมีใครทราบว่าหลวงพ่อดีทำน้ำมนต์เก่ง หมายถึง ทำเป็น ทำได้เป็นผลดี หลวงพ่อช้างนั้นขึ้นชื่อเรื่องการทำน้ำมนต์มาก่อนหน้าแล้ว ในสมัยนั้นมีคนมีวิชาอยู่มาก  ชอบทำของทำยาเบือใส่คนที่ไม่ชอบกันหรือมีเรื่องผูกแค้นกัน คนที่ถูกยาเบือมักเจ็บป่วย อาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา เคยมีผู้ถูกยาเบือมาหาหลวงพ่อช้างให้แก้ไขด้วยการรดน้ำมนต์ เมื่อรดน้ำมนต์แล้ว ผู้นั้นอาเจียนอย่างรุนแรง เป็นการเอาของเสียออกมา พอตกเย็นก็หายสบายดีเหมือนไม่เคยเจ็บป่วยมาก่อน[13] หลวงพ่อดีซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อช้างในเรื่องของการทำน้ำมนต์ และถือว่าเป็นคนทำมนต์เป็น

น้ำมนต์หลวงพ่อดี 
            มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง) ผู้ซึ่งบิดาและมารดาได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของหลวงพ่อดีมาตั้งแต่มหาทมอายุได้ ๑๐ ขวบ ได้เล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านประกอบพิธีทำน้ำมนต์ไว้บนกุฏิ เสร็จแล้วจึงเข้าไปจำวัดในห้องของท่าน คืนนั้นหลวงพ่อดีนอนไม่หลับ มีอาการกระสับกระส่าย จึงลุกออกมาเดินที่ด้านนอก พอรู้สึกง่วงก็เข้าไปนอนใหม่แต่ก็นอนไม่หลับ เป็นเช่นนี้อยู่สองถึงสามเที่ยว จนมีเพื่อนพระทักว่าทำไมหลวงพี่ไม่เข้าไปนอนในห้อง ...มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ลองตรวจดูก่อน เมื่อได้ยินเสียงทักเช่นนั้น หลวงพ่อดีจึงเดินไปดูตรงบริเวณพิธีที่ตั้งขันน้ำมนต์ไว้ ปรากฏว่ามีพระรูปหนึ่งมาขึงราวตากผ้าโดยขึงราวผ้าพาดผ่านขันน้ำมนต์ไป ซึ่งมีทั้งผ้าสบงผ้าจีวรตากอยู่ หลวงพ่อดีจึงเรียกให้พระรูปนั้นมาเก็บราวผ้าออกไป จากนั้นท่านก็เข้าไปจำวัดในห้องได้ตามปกติ และนอนหลับได้จนถึงเช้า มหาทมกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลวงพ่อดีเป็นผู้ที่ทำน้ำมนต์เป็นและทำเก่งด้วย แต่ไม่มีใครรู้ ไม่ค่อยมีใครให้หลวงพ่อดีรดน้ำมนต์ มีแต่ให้พรมน้ำมนต์ หลวงพ่อดีเองก็ไม่รดน้ำมนต์ให้ใคร ยกเว้นพระสึกใหม่เท่านั้นที่ท่านเมตตารดน้ำมนต์ให้

หลวงพ่อดีกำลังนั่งทำน้ำพระพุทธมนต์

            นอกจากนี้ หลวงพ่อดีมีความรู้ในวิชาทำผงอิธะเจ (อิทธิเจ) ไว้สำหรับทำพระผง เช่น พระผงสุพรรณ มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง) เล่าว่า ในสมัยที่มหาทมยังบวชเป็นสามเณร เคยแอบเห็นหลวงพ่อดีทำผงอิธะเจในเวลาค่ำคืนประมาณสัก ๔ ทุ่ม ถึง ๕ ทุ่ม เหตุที่ลุกขึ้นมาแอบดูตรงช่องหน้าต่าง เนื่องจากได้ยินเสียงสวดพึม ๆ อยู่ ได้เห็นแสงเทียน เห็นหลวงพ่อดีใช้ดินสอยาวคล้ายแท่งชอล์กแต่ยาวกว่า เขียนภาษาขอมลงบนกระดานชนวน เขียนด้วยท่องมนต์ด้วย แล้วก็ใช้แปรงลบ และเคาะ ๆ แล้วก็ทำอยู่เช่นนั้น หลวงพ่อดีทำผงอิธะเจโดยที่ท่านบอกว่าไม่มีครูอาจารย์ที่เป็นตัวบุคคล แต่คาดว่าหลวงพ่อดีน่าจะศึกษาหาความรู้จากตำราของครูอาจารย์รุ่นก่อน ซึ่งการทำผงอิธะเจนั้นมีเป็นตำราของครูอาจารย์หลายท่าน ในอดีตปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน และมีวิธีทำอยู่ในหนังสือประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ผงอิธะเจที่หลวงพ่อดีได้พากเพียรทำไว้ก็เพื่อสำหรับเป็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างพระผง เช่น พระผงสุพรรณ ของวัดพระรูปที่นำออกให้เช่าบูชาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้น
            การปลุกเสกพระเครื่องที่หลวงพ่อดีสร้างและปลุกเสก ก็ไม่ปรากฏว่าท่านได้ไปร่ำเรียนมากับผู้ใด เมื่อมีผู้ถามหลวงพ่อดีถึงเรื่องนี้ ว่ามีใครเป็นอาจารย์ของท่านในเรื่องวิชา คาถา อาคม การสร้างพระ และปลุกเสกพระ หลวงพ่อดีบอกว่าไม่มี ท่านทำตามตำราเจ็ดตำนาน ตำราสิบสองตำนาน[14]
            แม้ว่าในระยะหลังต่อมา หลวงพ่อดีได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองสุพรรณบุรี แต่ยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนว่าหลวงพ่อดีเรียนวิทยาคมมาจากผู้ใด ที่มีความชัดเจนคือ ท่านเรียนภาษาขอมจากพระอาจารย์คงวัดไชนาวาส เรียนภาษาไทยและการทำน้ำมนต์จากพระอาจารย์ช้างวัดพระรูป มีพระครูสมณะการพิสิฐ (หลวงพ่อท้วมวัดไชนาวาส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูถาวรสุวรรณคุณ (หลวงพ่อคำ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์บุญวัดไชนาวาส เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สหธรรมิกของหลวงพ่อดีคือ หลวงพ่อเผื่อน ปุสสชิโน (ศรีขำสุข) ซึ่งเป็นพระพี่ชายของท่าน และที่ชัดเจนที่สุดคือหลวงพ่อดีเป็นผู้ใฝ่ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากตำรับตำราที่อยู่รอบตัว ดังเช่น การทำผงอิธะเจ การสร้างพระและปลุกเสก และการเรียนภาษาขอมของท่านเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการปูพื้นฐาน สามารถต่อยอดในวิชาต่าง ๆ ได้  รวมถึงการเรียนรู้ตำรายาโบราณ จนกระทั่งได้ทำหน้าที่เป็นพระหมอยาในเวลาต่อมา

การทำผงอิทธิเจ 
            การทำผงฺอิธะเจเป็นวิชาทางไสยศาสตร์ว่าด้วยการทำผงตามคัมภีร์อิธะเจ ซึ่งเป็นหนึ่งในคัมภีร์หลักของระบบไสยศาสตร์ไทยโบราณ อันประกอบด้วยคัมภีร์ปถมัง อิธะเจ ตรีนิสิงเห และมหาราช นอกจากนั้นชื่อวิชาอิธะเจยังปรากฏอยู่ในเสภาขุนช้างขุนแผนตอนพลายงามเรียนวิชา ดังความตอนหนึ่งว่า         
                        "เรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย         ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี                             ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี                        เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทย์มนต์                             ปถมังตั้งตัวนะปัดตลอด                         แล้วถอดถอนคุณต้องเป็นล่องหน
                         หัวใจกริดอิธะเจเสน่ห์กล                     แล้วเล่ามนต์เสกขมิ้นกินน้ำมันฯ" 

          เนื้อหาของวิชาอิธะเจคือการทำผงด้วยการตั้งตัวตามสูตรบาลีมูลกัจจายน์ ซึ่งเป็นระบบบาลีไวยากรณ์ใหญ่ที่ปัจจุบันได้ล้มเลิกไป อิธะเจมีหลายตำรับด้วยกัน ผงที่ได้จากการเขียนและลบอักขระตามคัมภีร์อิธะเจ เรียกว่าผงอิธะเจ เชื่อว่ามีอานุภาพทางเมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์โดยเฉพาะแก่สตรีเพศ ค้าขาย เข้าพบผู้ใหญ่ และแก้ทางคุณไสย
            การทำผงอิธะเจมีอุปเท่ห์วิธีตามคัมภีร์โบราณ คือ การเอาผงดินสอพองมาทำเป็นแท่งดินสอ เขียนยันต์อิธะเจแล้วปลุเสกด้วยคาถาอิธะเจ จากนั้นก็ลบผงยันต์ออกจากกระดานชนวน ผงอิธะเจจัดเป็นวัตถุมงคลชนิดหนึ่งซึ่งมีอานุภาพมากน้อยประการใด ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย ๓ ประการคือ (๑) กรรมวิธีหรือวิชาที่ใช้ในการทำผงอิธะเจนั้นอย่างหนึ่ง (๒) วัตถุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำผงต้องตามตำรับอาถรรพ์เพียงไหนอย่างหนึ่ง และ (๓) กำลังอำนาจจิตของผู้ทำอย่างหนึ่ง หากทั้ง ๓ ประการนี้ครบถ้วนสมบูรณ์แกร่งกล้าดีแล้ว ผงอิธะเจนั้นก็จะมีอานุภาพเต็มที่ การทำผงอิธะเจหรือทำผงอื่น ๆ ก็ดี จะต้องใช้วัตถุอุปกรณ์ที่สำคัญซึ่งเป็นของอาถรรพ์ คือ ดินสอพิเศษที่ทำจากหินข้าวเม่าชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "ข้าวเม่าดินสอ" บางท่านเรียก แร่ข้าวตอกพระร่วง เป็นหินสีดำออกเทา มีรูปลักษณะและขนาดเหมือนกับข้าวเม่าที่ทำจากข้าว หินข้าวเม่านี้มิได้มีอยู่โดยทั่วไป นับเป็นของหายาก หากคิดอ่านจะทำผงอิธะเจก็ต้องหาแร่ข้าวเม่าดินสอมาปลุกเสก นำไปใส่กระทะคั่วบนไฟ ขณะคั่วก็ภาวนาพระคาถากำกับไปจนกระทั่งข้าวเม่าดินสอกรอบและมีสีเป็นเทาขาวมากขึ้น เมื่อได้ที่แล้วจึงเอาข้าวเม่าดินสอนั้นเทลงในอ่างน้ำมนต์ที่ผ่านการปลุกเสกในพระอุโบสถในเทศกาลเข้าพรรษา พอเทข้าวเม่าดินสอซึ่งคั่วได้ที่แล้วลงไปในขันน้ำมนต์ ข้าวเม่าดินสอก็จะละลายกลายเป็นผง จากนั้นจึงนำไปกรองเอาน้ำทิ้ง เหลือแต่แป้งข้าวเม่าดินสอ แล้วนำมาปั้นเป็นแท่งดินสอ ผึ่งแดดไว้จนแห้ง เมื่อได้ดินสอตามกรรมวิธีดังกล่าวแล้วก็ต้องรอวันฤกษ์ดี แล้วจึงเอาดินสอนั้นเขียนยันต์อิธะเจและอักขระประกอบยันต์ลงบนกระดานชนวน เขียนไปก็ภาวนาบทพระคาถา แล้วลบเอาผงนั้นเก็บไว้และปลุกเสกตามกรรมวิธี เสร็จแล้วจึงนำไปไว้ในพระอุโบสถในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาอีก พอออกพรรษาแล้วก็นำผงนั้นมาปลุกเสกและเสกตรึงอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้แล้วจึงได้ชื่อว่าเป็นผงอิธะเจที่ถูกต้องตามตำราแต่โบราณ[15]

หลวงพ่อดี: พระหมอยาผู้ปลูกศรัทธาของชาวบ้าน
            หลวงพ่อดีเรียนวิชาหมอยาเมื่อตอนบวชเป็นพระแล้ว ในช่วงนั้นมีหลวงพ่อคำเป็นเจ้าอาวาสวัดพระรูป เป็นที่ทราบกันดีว่าหลวงพ่อคำท่านวางเฉยต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ของวัดมานานแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่วัดพระรูปอยู่ในภาวะตกต่ำไม่เป็นที่เจริญศรัทธาของชาวบ้าน หลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีนั้นเป็นพระหนุ่ม มีอุดมการณ์ มีความหวังและมีกำลังกายกำลังใจในการคิดพัฒนาวัดพระรูป สิ่งแรกที่ท่านทำได้ในสถานะของการเป็นพระหนุ่ม น้อยพรรษาและไม่มีบารมี จึงคิดพัฒนาตนเองให้มีวิชาความรู้ เพื่อจะได้นำวิชาความรู้นั้นมาช่วยชาวบ้านให้พ้นทุกข์ทางกายได้บ้างไม่มากก็น้อย เพื่อจะได้เป็นที่ศรัทธาแก่สาธุชน ปลูกศรัทธาให้ชาวบ้านเข้ามาทำบุญสุนทรทานในวัดพระรูป 
            สิ่งแรกที่พอจะทำได้และเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อชีวิตของทุกคนคือ การเป็นหมอยารับรักษาคนป่วยไข้ หลวงพ่อเผื่อนเป็นหมอยามาก่อนหลวงพ่อดี คนในชุมชนสมัยนั้นนิยมมารักษากับหมอพระมากกว่าไปหาหมอที่โรงพยาบาล คุณยายหมูและคุณยายลำไย ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้วัดพระรูป ปัจจุบันอายุมากกว่า ๘๐ ปี ต่างก็เคยเป็นคนไข้ของหลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดี และเคยเป็นผู้ช่วยเก็บยาสมุนไพร เช่น ต้นเปลือกไข่เน่า ผักเป็ดแดง สะแกโทน ก้างปลา คูน ไปถวายหลวงพ่อไว้สำหรับต้มยา เป็นการทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ที่รับปากหลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีให้ช่วยหาสมุนไพรไปถวายท่าน ผู้ใหญ่ก็มาใช้งานคุณยายหมูและคุณยายลำไยซึ่งขณะนั้นยังเป็นเด็กอยู่ ให้ไปเก็บยาสมุนไพรที่มีอยู่ในละแวกบ้าน

หลวงพ่อดี (องค์ซ้าย) หลวงพ่อเผื่อน (องค์ขวา)

            ในระยะเริ่มแรก หลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีช่วยกันออกเยี่ยมไข้และเฝ้าไข้ ถ้ามีเงินก็นำไปซื้อยามารักษาให้ชาวบ้านจนหมดตัว ส่วนสมุนไพรนั้นหาเก็บและขุดจากป่ารอบ ๆ วัด และในบริเวณรอบ ๆ ชุมชน ซึ่งสมัยนั้นมีแต่ป่าทั่วไป เป็นดงยาที่หาได้ไม่ยาก ยาที่หลวงพ่อเผื่อนปรุงรักษาชาวบ้าน เช่น  ยาต้ม ยาบำรุง ยาเหลืองแก้ไข้ ยาแดงแก้ร้อนใน และยารักษาต่อมทอลซินอักเสบ หลวงพ่อดีมีความสามารถในการรักษาอาการเจ็บคออย่างได้ผล รักษาด้วยยาที่มีลักษณะเป็นผงที่ต้องปรุงในหม้อดิน

บันทึกตำรับยาลายมือหลวงพ่อดี

            เวลารักษาคนป่วย หลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีช่วยกันรักษา มีปรึกษาหารือกัน ในช่วงแรกที่หลวงพ่อดียังไม่ได้สร้างโบสถ์ หลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีออกไปเยี่ยมไข้และเฝ้าไข้ด้วยกัน หลวงพ่อเผื่อนทำหน้าที่ปรุงยาและเฝ้าไข้ด้วยความมีมานะอดทนและมีเมตตาสูง หลวงพ่อดีเป็นผู้ถวายความคิดเห็นเรื่องการปรับยา ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เสนอความคิดในการพลิกแพลงการให้ยาในรายที่รักษายาก ผู้ป่วยที่ไม่ยอมหายง่าย ๆ  หลวงพ่อดีจะคิดวิธีปรุงยาที่แตกต่างออกไป หลวงพ่อดีเคยช่วยชีวิตโยมผู้หญิงชื่อ เพียร ไว้ได้จากการถูกน้ำคาวปลาทำพิษหลังจากการคลอดบุตรแต่เลือดน้ำคาวปลาไม่ออกมา มีอาการคล้ายคนวิกลจริต เพียงแค่เห็นพระเดินเข้าบ้านก็วิ่งหนีไปแอบใต้เตียง เป็นต้น ท่านได้จัดยาให้ไปกินแล้วหนึ่งชุดแต่อาการไม่ดีขึ้น หลวงพ่อดีก็กลับมาไตร่ตรองที่วัดว่ายาแบบนี้สมควรต้องเข้าเหล้า ท่านก็ชั่งใจว่าถ้าให้คนป่วยกินเหล้าแล้วจะเป็นบาปหรือไม่ คือจะหายหรืออาจจะไม่หาย สุดท้ายท่านให้คนป่วยกินเหล้าประมาณครึ่งแก้ว แล้วท่านรีบกลับวัดทันที จากนั้นอีกสักพักใหญ่ ๆ ก็มีญาติของผู้ป่วยมากราบเรียนหลวงพ่อดีว่าคนป่วยขอข้าวกินแล้ว มีน้ำคาวปลาถูกขับออกมาจนถึงสะโพก คนป่วยมีอาการดีขึ้นเหมือนคนปกติและหิวข้าว[16]  
            ต่อมาเมื่อหลวงพ่อดีเริ่มสร้างโบสถ์ ท่านต้องทำงานก่อสร้างและควบคุมช่างในการสร้างโบสถ์ ท่านจึงไม่ได้ออกไปเยี่ยมไข้และเฝ้าไข้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหลวงพ่อเผื่อนนั่งรับแขกที่หน้ากุฏิ บางโอกาสก็ออกไปเยี่ยมไข้และเฝ้าไข้ หลวงพ่อดีจะคอยถามและคอยสังเกตสีหน้าของหลวงพ่อเผื่อนเวลากลับมาวัด ถ้าเห็นสีหน้าของพระพี่ชายไม่สู้ดีก็จะนึกรู้ว่าคนไข้ของพระพี่ชายมีอาการไม่ดีขึ้น จะถามถึงอาการของคนไข้และถวายคำแนะนำพระพี่ชายให้เปลี่ยนยาเป็นสูตรนั้นสูตรนี้ ให้ปรับยาโดยเพิ่มสิ่งนั้นสิ่งนี้เข้าไปในตัวยา เมื่อคนไข้มีอาการดีขึ้น หลวงพ่อเผื่อนก็จะกลับมาเล่าด้วยความยินดีว่าคนไข้ฟื้นแล้ว ดีขึ้นแล้ว
            หลวงพ่อดีนั้นแม้มิได้ออกไปเยี่ยมไข้และเฝ้าอาการไข้ตั้งแต่เริ่มทำงานก่อสร้าง แต่ท่านมีความใส่ใจคอยไถ่ถามอาการของคนไข้จากพระพี่ชาย คอยถวายคำแนะนำในการปรับยาแก่พระพี่ชาย การเป็นหมอยาของหลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับวัดพระรูป ช่วยรักษาให้ชาวบ้านหายจากอาการเจ็บป่วย เท่ากับช่วยดับทุกข์ทางกายและทางใจให้แก่ชาวบ้าน ให้ได้อยู่อย่างสุขสบายมากขึ้น ชาวบ้านร้านตลาดจึงเกิดความเลื่อมใสต่อหลวงพ่อดีและหลวงพ่อเผื่อน เกิดศรัทธาต่อวัดพระรูปที่มีพระภิกษุดีมีวิชาความรู้มาช่วยดับทุกข์ร้อน ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้ จึงพากันมาทำบุญทำทานที่วัดพระรูปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อดีนั้นมีความสามารถหลากหลายด้าน โดยท่านมีความชอบ ความสนใจและความสามารถในงานช่างก่อสร้างและเริ่มงานซ่อม สร้าง บูรณะวัดพระรูป ทั้งสร้างโบสถ์ วิหารพระนอน ศาลาการเปรียญ ย้ายหมู่กุฏิสงฆ์ ฯลฯ โดยลงมือทำงานช่างก่อสร้างด้วยตัวของเอง ทั้งการออกหัวคิด ลงมือทำงานก่อสร้างและควบคุมงานจนมีผลงานบูรณะและสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดพระรูปขึ้นมากมาย

หลวงพ่อดี: พระนายช่างกับความถนัดที่สร้างประโยชน์แก่วัดพระรูป
            หลวงพ่อดีสร้างผลงานการก่อสร้างให้แก่วัดพระรูปมากมาย เช่น สร้างศาลาการเปรียญ อุโบสถ วิหารพระนอน หมู่กุฏิพระสงฆ์ หอฉัน หอสวดมนต์ ฯลฯ หลวงพ่อดีเป็นพระนายช่างที่ลงมือทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคณะช่างและคนงาน และท่านมีความเข้าใจมีความสนใจ เรียกได้ว่ามีความถนัดทางงานช่างอย่างมาก ซึ่งไม่มีใครทราบว่าท่านทำงานช่างเป็นมาได้อย่างไร ทั้งที่ไม่ปรากฏการฝึกการเรียนมาก่อน
            หลวงพ่อดีมีความสามารถและรู้เรื่องงานช่างทั้งที่เป็นเครื่องบน (หลังคา) รวมถึงงานโครงสร้างเสาและพื้น เมื่อครั้งสร้างโบสถ์วัดพระรูป การมุงหลังคาโบสถ์ในบางครั้งก็เกิดความไม่ลงตัวขึ้น ช่างมุงหลังคาอย่างไรก็ไม่ลงตัว ใครขึ้นไปดูก็แก้ปัญหาไม่ได้ จนหลวงพ่อดีต้องปีนขึ้นไปชี้บอกและแนะนำวิธีแก้ปัญหาให้จึงสามารถมุงหลังคาต่อกันไปได้ ครั้งหนึ่ง เกิดปัญหาหลังคาของศาลาการเปรียญรั่ว แก้ไขอย่างไรก็แก้ไม่ตก ไม่มีใครแก้ปัญหาหลังคาศาลาการเปรียญให้หายรั่วได้ หลวงพ่อดีต้องปีนขึ้นไปดูเอง และสั่งการซ่อมด้วยตัวของท่านเองจึงแก้ไขปัญหาได้ ทั้งที่ขณะนั้นหลวงพ่อดีมีอายุได้ ๖๗ ปีแล้ว[17] ในคราวถมดินที่หน้าวัดเพื่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำในบริเวณที่ของวัดด้านฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง หลวงพ่อดีคุมงานเองอย่างใกล้ชิด ท่านสามารถสื่อสารและให้คำแนะนำแก่ช่างได้อย่างเข้าอกเข้าใจกัน
            หลวงพ่อดีเป็นผู้มีจินตภาพทางด้านช่างและภูมิทัศน์ สามารถมองเห็นภาพร่างของการวางตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งก่อสร้างได้อย่างเหมาะสม สามารถบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิเก่าให้เป็นกุฏิในรูปแบบใหม่ได้อย่างลงตัว เช่น บูรณะดัดแปลงกุฏิเครื่องไม้เรือนไทยโบราณ ให้เป็นกุฏิแบบอาคารคอนกรีตครึ่งตึกครึ่งไม้ จึงทำให้สามารถเก็บรักษาเครื่องไม้ไว้เป็นกุฏิชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความแข็งแรง ทนทาน มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น อาคารมีความแข็งแรง สวยงาม และดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็เนื่องด้วยไหวพริบทางเชิงช่างของหลวงพ่อดี ในการย้ายหมู่กุฏิและเขตสังฆาวาสทั้งหมดจากฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง  มาไว้รวมกันในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง ทำให้วัดพระรูปมีภูมิทัศน์ที่เป็นเอกภาพ สลายภูมิทัศน์ของการเป็นวัดอกแตกลงได้ ทั้งนี้ก็ด้วยทัศนวิสัยทางช่างที่มองภาพร่างได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ทำให้วัดพระรูปในปัจจุบันมีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความเป็นเอกภาพ เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมดูแลความเรียบร้อย และมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น เป็นแบบอย่างที่วัดอื่น ๆ ต้องมาดูเป็นตัวอย่างเพื่อนำไปพัฒนาวัดของตน

หลวงพ่อดีคุมการก่อสร้างเขื่อนหน้าวัด

            หลวงพ่อดีมีฉันทะและวิริยะในงานช่าง ท่านลงแรงใจแรงกายในงานช่างและการก่อสร้างอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ ท่านทำงานสร้างโบสถ์จนร่างกายซูบผอม ตากแดดจนผิวกายดำเกรียม ขณะทำงานเป็นพระนายช่างสร้างโบสถ์ ท่านนุ่งห่มอย่างทะมัดทะแมง หลวงพ่อดีมีร่างกายที่ผอมดำเพราะกรำงานกลางแจ้ง  มีตำรวจนายหนึ่งเดินผ่านมาเห็นจึงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระติดยาเสพติด หลวงพ่อดีเกือบจะถูกตำรวจนายนั้นคว้าตัวไว้ แต่ดีที่รู้เสียก่อนว่าเป็นหลวงพ่อดี[18] เมื่อดูภาพถ่ายเก่าขณะหลวงพ่อดีลงไปคุมงานในคราวถมดินสร้างเขื่อนที่หน้าวัดบริเวณริมน้ำ พบว่าหลวงพ่อดีมีรูปร่างเล็ก ผอมบาง และตัวดำเนื่องจากทำงานกลางแจ้งที่ต้องกรำแดดกรำฝน หลวงพ่อดีมีความใส่ใจแม้แต่การเลือกซื้อไม้ที่ต้องเดินทางไกลไปถึงจังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์ เมื่อครั้งสร้างศาลาการเปรียญหลังปัจจุบัน ท่านเดินทางไปดูไม้ เลือกไม้และซื้อไม้ด้วยตัวของท่านเอง เดินทางไปกับโยมวัดและขากลับพากันล่องแพไม้ซุงมาจากนครสวรรค์ นำมาแช่น้ำไว้ที่หน้าวัดแล้วเข้าโรงเลื่อยที่สุพรรณบุรี แต่เมื่อครั้งสร้างโบสถ์นั้นใช้วิธีโทรศัพท์สั่งไม้มา ใช้รถบรรทุกซุงไม้ขนาดใหญ่มาลงที่หน้าวัด ศาลาการเปรียญของวัดพระรูปจึงเป็นศาลาไม้สักขนาดใหญ่ทั้งหลัง ทั้งเครื่องบนและเครื่องล่าง มีเสาเพียงไม่กี่ต้นที่เป็นไม้มะค่าแต้ดำ ไม้เต็ง และไม้แดง แต่ก็เป็นไม้เนื้อแข็งทั้งหมด[19]

หลวงพ่อดีกำลังทำงานก่อสร้างร่วมกับคนงาน

            ความรู้ความสามารถและความถนัดทางช่างก่อสร้างของหลวงพ่อดี ได้สร้างคุณประโยชน์มากมายในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูป ตัวของท่านนั้นทำหน้าที่เป็นทั้งช่าง แรงงาน วางแผนงาน จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ปรับภูมิทัศน์ ประยุกต์ใช้ของเก่า และเป็นผู้แก้ไขปัญหาในการก่อสร้าง ประการสำคัญคือหลวงพ่อดีอ่านแบบก่อสร้างได้จึงรู้เท่าทันช่าง และด้วยลักษณะนิสัยที่ไม่ยอมคน ไม่ยอมเสียรู้คน จึงพบว่าสิ่งก่อสร้างในวัดรพระรูปสมัยหลวงพ่อดีสร้างไว้ เช่น กุฏิสงฆ์มีความแข็งแรง ผนังหนา และสร้างด้วยวัสดุอย่างเต็มจำนวน
            การมีบทบาทเป็นพระหมอยาและพระนายช่างของหลวงพ่อดีจึงเป็นที่ปลูกศรัทธาให้กับชาวบ้านร้านตลาดที่อยู่ใกล้วัดพระรูป เพราะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวัดพระรูปไปในแนวทางที่เป็นความเจริญ หลวงพ่อดีจึงได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้านเป็นอย่างดี เริ่มมีคนเข้ามาทำบุญกับวัดพระรูป หลวงพ่อดีและหลวงพ่อเผื่อนมากขึ้น มีทั้งที่การสละแรงกาย แรงใจและกำลังทรัพย์ ช่วยกันพัฒนาวัดพระรูปกันอย่างพร้อมเพรียง

หลวงพ่อดี: พระนักพัฒนาผู้ชุบชีวิตใหม่ให้วัดพระรูป
            ปีที่นายดี ศรีขำสุข ซึ่งต่อมาคือหลวงพ่อดี เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นปีหลังจากประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง ๒ ปี และในอีก ๕ ปีต่อมาก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒ – ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๓๙ - ๑๙๔๕) คาบเกี่ยวเวลานานถึง ๖ ปี ดังนั้นช่วงเวลาที่หลวงพ่อดีอุปสมบทเป็นต้นมาและสืบต่อมาอีกนับปี เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจตกต่ำมาก เกิดความระส่ำระสายในทางการเมืองการปกครอง ผู้คนตกทุกข์ได้ยากกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนมีกำลังทุนทรัพย์น้อยที่จะมาทำบุญเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา วัดพระรูปก็เป็นวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยขาดทุนทรัพย์ในการบูรณปฏิสังขรณ์มาเป็นเวลาช้านาน วัดพระรูปในเวลานั้นตกอยู่ในสภาพเศร้าหมอง ทรุดโทรม รวมทั้งวิกฤตศรัทธาของชาวบ้านร้านตลาดที่มีต่อพระสงฆ์วัดพระรูปก็อยู่ในภาวะย่ำแย่ ในขณะเดียวกันวัดพระรูปเคยมีประวัติ เรื่องราว และหลักฐานที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่แสดงถึงความเป็นวัดสำคัญ และเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่ก่อนเก่า ประกอบกับท่าทีของหลวงพ่อคำที่เป็นเจ้าอาวาส ท่านนิ่งเฉยต่อทุกความเปลี่ยนแปลง ท่านชอบความเงียบและการปลีกวิเวก จึงมิได้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาความชำรุดทรุดโทรมที่วัดพระรูปกำลังเผชิญอยู่
            ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลผลักดันให้หลวงพ่อดีเกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัดพระรูปให้เจริญ ต้องซ่อมและสร้าง ต้องจัดระเบียบวัดทั้งในด้านของกายภาพ วัตถุสิ่งของและการกวดขันให้พระสงฆ์ในวัดพระรูปได้กลับมาอยู่ในพระธรรมวินัย หลวงพ่อดีและหลวงพ่อเผื่อนสร้างบารมีของท่านโดยเริ่มจากการเป็นพระหมอยาที่สามารถช่วยแก้ทุกข์ทางกายและทางใจให้กับชาวบ้านได้ หลวงพ่อดีมีความถนัดทางช่างก่อสร้างอีกด้านหนึ่ง จึงมีความตั้งใจพัฒนาวัดพระรูป ทำงานก่อสร้างเคียงบ่าเคียงไหล่กับช่าง คนงาน และชาวบ้านที่มาช่วยงานวัด จนวัดพระรูปได้รับการบูรณะขึ้นอย่างสวยงาม เป็นที่เจริญศรัทธาแก่ญาติโยม

หลวงพ่อดีและพระสงฆ์วัดพระรูปบิณฑบาตรในตลาด

            อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อคำ เจ้าอาวาสในขณะนั้น มีฉันทานุมัติให้หลวงพ่อดีทำการแทนท่าน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นแรงสนับสนุนอย่างหนึ่งที่มีพลังส่งเสริมพระหนุ่มผู้มีพรรษาน้อย และไม่มีสมณศักดิ์อย่างหลวงพ่อดีให้ได้ทำงานอย่างเต็มความสามารถ ต่อมาเมื่อหลวงพ่อดีมีสมณศักดิ์ มีอายุพรรษา ได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้านร้านตลาด สิ่งเหล่านี้ก็ได้เป็นปัจจัยสนับสนุนอีกแรงหนึ่งให้หลวงพ่อดีทำงานพัฒนาวัดพระรูปได้ง่ายขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย ส่วนตำแหน่งทางการปกครองนั้น หลวงพ่อดีท่านไม่ยินดีรับเป็นเจ้าคณะตำบลรั้วใหญ่ โดยท่านมองว่าเป็นงานยุ่งยาก ต้องอาศัยการไหว้วานจากคนจำนวนมาก และต้องใช้เวลามาก[20] หลวงพ่อดีให้ความสำคัญต่อการพัฒนาวัดพระรูปมากกว่าการเอาดีด้านการปกครอง ท่านให้ความสนใจและทุ่มเททำงานพัฒนาวัดพระรูปให้สำเร็จเรียบร้อย โดยท่านมีผลงานการซ่อมสร้าง ปรับปรุง  และสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่อย่างจริงจังและอย่างมโหฬารทีเดียว
            หลวงพ่อดีได้แสดงบทบาทของพระนักพัฒนาวัดพระรูป โดยเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูปตั้งแต่ในช่วงที่หลวงพ่อคำเป็นเจ้าอาวาส ท่านทำงานพัฒนาวัดพระรูปอย่างเต็มตัวเมื่อท่านรับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ จนกระทั่งได้เป็นรองเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสวัดพระรูป ผลงานพัฒนาวัดพระรูปของท่านมีเป็นจำนวนมาก เช่น บูรณะหมู่กุฏิสงฆ์ สร้างศาลาการเปรียญ สร้างหอสวดมนต์ สร้างอุโบสถ สร้างวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างเขื่อนริมแม่น้ำที่หน้าวัด สร้างฌาปนกิจสถาน และย้ายส่วนที่เป็นสังฆาวาสทั้งหมดจากฟากตะวันออกของถนนขุนช้าง ได้แก่ หมู่กุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญ มารวมอยู่ฝั่งเดียวกับเขตพุทธาวาสในฟากตะวันตกของถนนขุนช้าง สามารถจำแนกผลงานการพัฒนาวัดพระรูปของหลวงพ่อดีออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ ทั้งนี้ยังมีงานเล็กงานน้อยที่เกินกว่าจะเก็บรวบรวมไว้อีกเป็นจำนวนมากซึ่งมิได้นำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้   

งานบูรณะซ่อมและสร้างสิ่งก่อสร้างเดิมให้มีสภาพดีและเหมาะแก่การใช้งาน     
            งานบูรณะซ่อมและสร้างในสิ่งก่อสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีสภาพดีขึ้นและพร้อมใช้งาน เป็นงานลำดับแรก ๆ ที่หลวงพ่อดีลงมือดำเนินการ เนื่องจากวัดพระรูปในขณะนั้นมีสภาพทรุดโทรมมาก การบูรณปฏิสังขรณ์ในสิ่งก่อสร้างใหญ่ ๆ และมีความจำเป็นเนื่องจากเป็นกลุ่มเสนาสนะที่พระสงฆ์ต้องใช้ทำกิจของสงฆ์ได้แก่ การบูรณะหมู่กุฏิพระสงฆ์ และหอระฆัง 
            (๑) หมู่กุฏิพระสงฆ์ของวัดพระรูป ตามบันทึกประวัติวัดพระรูป เมื่อย้อนเวลาไปในสมัยก่อนพระอาจารย์แทน เจ้าอาวาสวัดพระรูปลำดับที่ ๕ และน่าจะอยู่ในช่วงก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ในช่วงเวลานั้น เขตสังฆาวาสของวัดตั้งอยู่ด้านใต้ของเขตพุทธาวาส คล้ายกับสภาพปัจจุบันนี้ ในขณะนั้นวัดมีกุฏิสงฆ์เป็นตึกใหญ่ ๒ หลังแล้ว หลังหนึ่งมี ๕ ห้อง อีกหลังหนึ่งมี ๓ ห้อง ด้านหัวและด้านท้ายมีห้องเล็ก ๆ อีก ๒ ห้องประกบอยู่ เป็นกุฏิไม้ฝากระดานทรงไทย ๒ หลัง ตรงกลางหมู่กุฏิสร้างเป็นหอสวดมนต์ใหญ่ ซึ่งสร้างเป็นแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ ซึ่งนับว่าทันสมัยและแสดงถึงความรุ่งเรืองของวัดพระรูปเป็นอย่างดี หากแต่ในสมัยนั้นการเดินทางต้องไปทางน้ำโดยอาศัยเรือและแพกันเป็นส่วนใหญ่ การอยู่ลึกเข้ามาในพื้นที่ที่ห่างไกลจากฝั่งแม่น้ำสุพรรณซึ่งเป็นทางสัญจร จึงทำให้ลำบากต่อการไปลงเรือ การขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องบรรทุกมาทางเรือแล้วยกขึ้นบก และยังต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำเพื่อการดำรงชีวิตในสมัยพระอาจารย์แทนเป็นเจ้าอาวาส โดยมีพระวินัยธรแจงเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้เริ่มมีการย้ายไปสร้างกุฏิสงฆ์ซึ่งเป็นเขตสังฆาวาสขึ้นใหม่ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ[21] หมู่กุฏิที่อยู่ในแถบเดียวกับเขตพุทธาวาสจึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรมและรกร้างไปตามกาลเวลาโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา
            สภาพกุฏิสงฆ์ทั้งฝั่งด้านตะวันออกของถนนขุนช้าง ซึ่งสร้างขึ้นจากไม้เก่าจากเรือนเก่าที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด และหมู่กุฏิสงฆ์ด้านฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้างที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน กุฏิทั้งสองแห่งมีสภาพทรุดโทรมมาก เช่น หลังคารั่ว พื้นไม่มี ข้างฝาผุพัง เมื่อหลวงพ่อดีรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระรูป และได้รับอนุญาตจากหลวงพ่อคำซึ่งเป็นเจ้าอาวาสให้กระทำการแทนได้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๑๒ ของหลวงพ่อดี ท่านได้เห็นความเสื่อมโทรมของวัดพระรูปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ท่านจึงได้เริ่มงานบูรณปฏิสังขรณ์หมู่กุฏิสงฆ์วัดพระรูปเป็นลำดับแรก ด้วยปัจจัยที่มีอยู่เพียง ๕๐๐ บาท และได้บากบั่นในการหาปัจจัยมาซ่อมแซมหมู่กุฏิทั้งหมดใช้เวลานานถึง ๔ ปี คือในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๔๙๒ สิ้นงบประมาณไปประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
            (๒) หอระฆัง เป็นสิ่งก่อสร้างที่ตั้งอยู่ที่เดิมตั้งแต่สร้างขึ้นครั้งแรก คือตั้งอยู่ในฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ยังมีความแข็งแรง หากแต่ส่วนยอดชำรุด จึงได้รับการบูรณะในสมัยของหลวงพ่อดี ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ถึงปัจจุบัน

งานบูรณะเพื่อปรับภูมิทัศน์จากการเป็นวัดในลักษณะอกแตก 
            พื้นที่ในอาณาบริเวณของวัดพระรูป มีลักษณะเป็นวัดอกแตกเพราะแต่เดิมนั้นมีทางเดินที่สมัยโบราณ เรียกว่า ทางควายทางเกวียน ทอดผ่านกลางวัดพระรูปตลอดในแนวเหนือ - ใต้ ต่อมาเมื่อทางเดินสายนี้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นถนนทางหลวงเรียกว่า ถนนขุนช้าง ความเป็นวัดอกแตกของวัดพระรูปจึงมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อครั้งที่ย้ายเขตสังฆาวาสไปตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) เขตวัดได้ถูกแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้างอย่างชัดเจน ฝั่งด้านตะวันตกของถนนขุนช้าง เป็นเขตพุทธาวาส เป็นที่ตั้งของสถูปเจดีย์เก่าแก่ พระอุโบสถและวิหารพระพุทธไสยาสน์ โบสถ์มอญ ซึ่งล้วนแต่มีความชำรุดเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป ส่วนเขตด้านฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้างซึ่งด้านหน้าวัดพระรูปนั้นติดกับแม่น้ำเป็นเขตสังฆาวาส ตั้งหมู่กุฏิสงฆ์ที่ส่วนใหญ่สร้างจากเรือนไม้เก่าที่เจ้าของสิ้นชีวิตแล้ว บุตรหลานจึงได้รื้อถอนมาถวายวัดพระรูปเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ผู้วายชนม์ หมู่กุฏิสงฆ์จึงมีความเก่าและชำรุดทรุดโทรมเป็นส่วนมาก รวมทั้งศาลาการเปรียญก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย
            จากสภาพของวัดพระรูปที่มีเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ตั้งอยู่กันคนละฝั่งของถนนขุนช้าง ทำให้พระสงฆ์เกิดความลำบากเมื่อเวลาที่ต้องเดินไปทำกิจของสงฆ์ในเขตพุทธาวาส เพราะมีการจราจรที่จอแจ พระสงฆ์ต้องเดินข้ามถนนไปฝั่งโน้นบ้าง ข้ามถนนมาฝั่งนี้บ้างอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่สะดวกในการไปปฏิบัติกิจของพระสงฆ์ในเขตพุทธาวาสและกลับมาพักอาศัยในเขตสังฆาวาส แม้แต่การไปเว็จกุฎีของพระสงฆ์ก็มีความลำบาก พระสงฆ์ต้องเดินข้ามถนนลูกรังมายังเว็จกุฎี เป็นอาคารทรงไทยแถวยาว ปลูกต้นไผ่ล้อมไว้โดยรอบ กุฎีนี้ยกพื้นสูงมีชานบันไดขึ้นไป แบ่งเป็นห้องจำนวน ๕ - ๖ ห้อง มีประตูปิด มีพื้นห้องที่เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมสำหรับนั่งถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง ตรงบริเวณที่ตั้งศาลาการเปรียญในปัจจุบัน การควบคุมดูแลความสะอาดเรียบร้อยและการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่และทรัพย์สินของวัดก็กระทำได้ยากลำบาก เพราะพระสงฆ์มาจำวัดที่กุฏิริมฝั่งแม่น้ำซึ่งอยู่ในฟากฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง  ดังนั้น หลังจากเสร็จงานซ่อมแซมหมู่กุฏิสงฆ์ในฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง หลวงพ่อดีได้ย้ายส่วนที่เป็นเขตสังฆาวาสทั้งหมดในฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง มาตั้งรวมกันในฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง ซึ่งเป็นแถบเดียวกับเขตพุทธาวาส และเป็นที่ตั้งของโบราณสถานต่าง ๆ ประกอบด้วย งานย้ายและซ่อมสร้างหมู่กุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญ จำแนกเป็นรายการย่อย ๆ ดังนี้
            (๑) ย้ายและซ่อมสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นใหม่ แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นการย้ายและซ่อมสร้างหมู่กุฏิสงฆ์ในแถบฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง ซึ่งอยู่ในแถบเดียวกับเขตพุทธาวาส โดยย้ายกุฏิสงฆ์เรือนไทยฝาปะกนลูกฟักจำนวน ๒ หลัง มายังสถานที่ที่หลวงพ่อดีเตรียมการไว้คือด้านทิศใต้ของเขตพุทธาวาส การย้ายนี้หมายรวมถึงการซ่อมแซมบูรณะของเก่าให้มีสภาพที่เหมาะควรแก่การใช้งานได้ดีขึ้นด้วย หลวงพ่อดีได้ดัดแปลงกุฏิเรือนไทยชั้นเดียวให้เป็นอาคารสองชั้น โดยใช้เรือนไทยไม้สักฝาปะกนลูกฟักเป็นเรือนเครื่องชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงนับเป็นการก่อสร้างในลักษณะของการอนุรักษ์นิยมที่ทั้งประหยัด ได้ใช้ประโยชน์จากเรือนเก่าที่มีอยู่แล้วซึ่งเป็นของดีมีค่าที่มีอยู่แล้วแต่เดิม และยังได้พื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและง่ายต่อการรักษาความสะอาด ในส่วนนี้ใช้งบประมาณไปประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาท[22] ส่วนที่สอง เริ่มดำเนินการในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๒๖ เป็นงานย้ายหมู่กฏิสงฆ์เก่าจำนวน ๗ หลังจากในฟากฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้างซึ่งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ มารวมกับหมู่กุฏิในฟากฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง การย้ายและสร้างใหม่นี้กุฏิมีลักษณะเหมือนกับกุฏิที่บูรณะไปแล้ว ๒ หลังแรก ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๕๐,๐๐๐ บาท
            เมื่อย้ายกุฏิสงฆ์เก่าจากฟากตะวันออกของถนนขุนช้าง มาซ่อมสร้างใหม่รวมกับหมู่กุฏิสงฆ์เดิมที่อยู่บนฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว ก็ใช่ว่าจะมีแต่งานย้ายและซ่อมสร้างกุฏิสงฆ์ในฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้างเท่านั้น ยังมีงานกลบพื้นหรือฝังฐานหรือเว็จกุฎี ซึ่งเป็นห้องส้วมแบบเก่าของพระและของเด็กวัดทั้งหมด เพื่อใช้เป็นพื้นที่ตั้งกุฏิ โดยสร้างห้องน้ำขึ้นใหม่ให้อยู่ในตัวอาคาร โดยรวมแล้วในขณะนั้น วัดพระรูปมีกุฏิสำหรับพระสงฆ์จำพรรษาจำนวน ๙ หลัง ในเวลาต่อมาได้ย้ายศาลาการเปรียญมาไว้ที่ฝั่งเดียวกับกุฏิสงฆ์ด้วย ฉะนั้น เมื่อหลวงพ่อดีย้ายหมู่กุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญจากที่เคยมีอยู่ทั้งในฟากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง มารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับเขตพุทธาวาสในเขตฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้างแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงเท่ากับสลายภูมิทัศน์การเป็นวัดอกแตกของวัดพระรูปลงได้ วัดพระรูปจึงมีความเป็นเอกภาพทั้งในทางกายภาพและทางสังคม ทำให้ง่ายต่อการควบคุมดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สิน โบราณสถาน และโบราณวัตถุได้อีกด้วย โดยยังคงเหลือมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไม้ ที่สร้างขึ้นในสมัยของพระวินัยธรแจงเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๕[23] อยู่ริมแม่น้ำทางฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้างตามเดิม
            (๒) ย้ายศาลาการเปรียญในฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง นำไปสร้างขึ้นใหม่ในฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ หลวงพ่อดีได้รื้อถอนและย้ายศาลาการเปรียญหลังเก่าจากฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง ซึ่งเป็นศาลาการเปรียญหลังที่หลวงพ่อดีเป็นผู้ดำเนินการสร้างเอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ แต่มาสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ทำการย้ายมาสร้างขึ้นใหม่บริเวณหน้าวัดในฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางมาทำบุญของชาวบ้าน ศาลาการเปรียญหลังนี้สร้างขึ้นอย่างใหญ่โตมากกว่าของเดิม ตามความตั้งใจของหลวงพ่อดีแล้วหมายมั่นให้เป็นศาลาการเปรียญที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี  หลวงพ่อดีได้เดินทางไปสั่งซื้อและคัดเลือกไม้ซุงด้วยตัวของท่านเองที่จังหวัดนครสวรรค์ ศาลาหลังนี้สร้างจากเสาซุงไม้สัก มีเสาไม้แดงเพียง ๓ ต้น และไม้มะค่าแต้ ๒ ต้นเท่านั้น ทั้งพื้นศาลาและเครื่องบนก็เป็นไม้สัก แต่ด้วยความผิดพลาดของช่างที่ตัดไม้ผิดไปจากที่กำหนดไว้เดิม จึงทำให้ต้องลดขนาดความกว้างของขื่อเป็น ๓ วา ๓ ศอก ๑ คืบ จึงทำให้จังหวัดสุพรรณบุรีมีวัดที่มีศาลาการเปรียญใหญ่ที่สุดและมีขนาดเท่ากัน จำนวน ๔ หลัง คือ ศาลาการเปรียญของวัดใหม่สุพรรณภูมิ วัดประตูสาร วัดมหาธาตุ และวัดพระรูป โดยศาลาการเปรียญทั้ง ๔ หลังนี้มีนายช่างใหญ่ออกแบบเป็นพระภิกษุรูปเดียวกันคือ พระราชสุพรรณาภรณ์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าอาวาสวัดใหม่สุพรรณภูมิ งานรื้อถอน ขนย้าย และสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่นี้ ใช้งบประมาณไปกว่า ๒,๒๐๐,๐๐๐ บาท

งานปรับระดับพื้นที่ภายในวัดพระรูป   
            เมื่อหลวงพ่อดีได้ดำเนินการย้ายหมู่กุฏิในฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง จึงทำให้พื้นที่ของวัดพระรูปในฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้างนี้กลายเป็นพื้นที่ว่างที่มีหลุมมีบ่อเกิดขึ้นจากการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จึงต้องทำงานปรับระดับพื้นที่ให้สม่ำเสมอกัน หลวงพ่อดีได้ปรับระดับพื้นที่และสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณนี้ ได้แก่ อาคารพาณิชย์เพื่อเปิดให้เช่าเป็นรายได้ของวัด ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดในกลุ่มของสิ่งก่อสร้างที่เกิดมีขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่โดยทั่วไปของวัดพระรูปทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของถนนขุนช้าง มีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ มีสระน้ำ มีพื้นที่ลุ่ม พื้นที่เป็นเนินอยู่เป็นอันมาก เพื่อทำให้บริเวณวัดพระรูปราบเรียบดูสวยงามและสามารถใช้สอยประโยชน์ได้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องถมดินและปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน ทางวัดพระรูปได้ซื้อดินมาถมบริเวณริมเขื่อนหน้าวัด ซึ่งอยู่บนฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง และบริเวณฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง ทำให้พื้นที่วัดแลดูกว้างโล่งเตียนผิดหูผิดตา[24] หลวงพ่อดีลงมือลงแรงควบคุมงานนี้อย่างใกล้ชิด งานปรับระดับพื้นที่ภายในวัดพระรูปนอกจากความเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังเพื่อเป็นการรองรับสิ่งปลูกสร้างที่จะสร้างขึ้นใหม่อีกด้วย โดยมีเรื่องเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ มีการปรับหรือปราบพื้นที่วัดให้เรียบมาแล้วครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้มีเรื่องเล่าว่าเพียงหลวงพ่อดีคล้อยหลังเพื่อไปฉันเพลเท่านั้น คนขับรถแทรกเตอร์ก็ขับรถไถโบสถ์มอญจนพังทลายลงมาเกือบหมด ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสค้นหาพระเครื่องและโบราณวัตถุที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ดินและตามโบราณสถานหลายแห่งในวัดพระรูป ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้มีการเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณสนาม หมู่กุฏิสงฆ์ทั้งหมด ถนนและทางเดินตลอดไปจนถึงลานหน้าฌาปนกิจสถาน ใช้งบประมาณไปประมาณ ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท[25]

สิ่งปลูกสร้างใหม่ตามดำริของหลวงพ่อดี
            หลวงพ่อดีเริ่มทำงานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูป โดยเริ่มทำงานพัฒนาวัดอย่างเต็มตัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘  เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของท่าน สิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ท่านได้สร้างไว้มีหลายรายการ ที่เป็นรายการหลัก ๆ มีดังนี้
            (๑) สร้างศาลาการเปรียญที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง ศาลาหลังนี้มีขนาด ๑๖ วา ๒ ศอก  กว้าง ๔ วา เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ใช้งบประมาณจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ  ต่อมาหลวงพ่อดีได้รื้อถอนและย้ายศาลาการเปรียญหลังนี้ไปปลูกใหม่เป็นศาลาการเปรียญขนาดใหญ่กว่าเดิม บนฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘

หลวงพ่อดีดูแลการก่อสร้างศาลาการเปรียญวัดพระรูป

            (๒) หอสวดมนต์ เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีมาพร้อมกับหมู่กุฏิในฝั่งตะวันตกของถนนขุนช้าง เป็นอาคารขนาด ๔ ห้อง ที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ - ๒๕๐๔ หลวงพ่อดีได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ในฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง จึงได้สร้างหอสวดมนต์ขึ้นใหม่ด้วยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยขยายให้ใหญ่ขึ้นเป็นอาคารขนาด ๖ ห้อง มีความยาว ๑๐ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ในครั้งนี้ได้ใช้งบประมาณถึง ๓๐๐,๐๐๐ บาทเศษ[26] ถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ หลวงพ่อดีได้ย้ายหอสวดมนต์และสร้างขึ้นใหม่ในที่ตั้งปัจจุบัน ทำให้หอสวดมนต์เป็นอาคารขนาดใหญ่ มีความยาวถึง ๑๖ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร ลักษณะเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ ชั้น สิ้นงบประมาณไป ๓๐๐,๐๐๐ บาท[27] และใน พ.ศ. ๒๕๒๘ หลังจากหลวงพ่อดีสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่สำเร็จแล้ว จึงนำไม้ที่เหลือจากการสร้างศาลาการเปรียญมาสร้างหอสวดมนต์ขึ้นอีก ๑ หลัง โดยสร้างต่อให้เป็นอาคารเดียวกันในลักษณะอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้เหมือนกัน
            (๓) สร้างอุโบสถแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ อุโบสถหลังใหม่นี้มีความยาว ๒๓.๔๘ เมตร กว้าง ๘.๑๒ เมตร สิ้นงบประมาณในการก่อสร้างไปประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาท[28]

การสร้างอุโบสถวัดพระรูป

            (๔) พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นของเดิมที่มีอยู่แล้วแต่อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมอย่างหนัก จนพระพุทธไสยาสน์เกือบจะต้องตากแดดตากฝน มีบันทึกของอาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ อดีตพระสงฆ์วัดพระรูป ระบุถึงความน่าสังเวชใจในความทรุดโทรมของพระวิหารพระพุทธไสยาสน์หรือที่เรียกว่า วิหารพระนอน ไว้ว่า “ทางวัดทนดูสภาพอันน่าสังเวชของพระพุทธรูปไม่ไหวก็ต้องคอยเอาปูนปะซ่อม (จะสังเกตได้จากรอยปูนซีเมนต์ฉาบเป็นแห่ง ๆ โดยเฉพาะรูใหญ่ใต้เศียรพระ ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ ใช้เศษชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาอุดยัดจนเต็มเพื่อกันไม่ให้พระพุทธรูปทรุดแล้วฉาบปูนปิด) ไม่ให้อุจาดบาดตาแก่ผู้พบเห็น”[29] หลวงพ่อดีได้จัดหาทุนทรัพย์และทำการบูรณะซ่อมใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๘ ในลักษณะที่เรียกได้ว่าเกือบเป็นการสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด มีเพียงผนังด้านหลังพระพุทธไสยาสน์เท่านั้นที่เป็นของเดิม พระวิหารใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูงกว่าของเดิมหลายเมตร เป็นอาคารสามมุข หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ เป็นอาคารสูงใหญ่ที่เป็นหน้าตาของวัดพระรูปด้วยอย่างหนึ่ง

หลวงพ่อดีกับพระสงฆ์และชาวบ้านร่วมกันซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป

พระสงฆ์และชาวบ้านกำลังร่วมกันบูรณะวิหารพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป

พระสงฆ์และชาวบ้านกำลังร่วมกันบูรณะวิหารพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป

            (๕) สร้างกำแพงและรั้ววัดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนโดยรอบวัดในพื้นที่ ๒๐ ไร่เศษ ทั้งนี้เพื่อความเป็นสัดส่วนของวัดพระรูป ป้องกันปัญหาสิ่งรบกวนทางวัดไปได้มากทีเดียว ใช้งบประมาณในส่วนนี้ไปประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาท
            (๖) หอฉัน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ที่สร้างต่อกับหอสวดมนต์ในลักษณะรูปแบบและรูปทรงเดียวกัน อาคารหอฉันมีความยาว ๑๖ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร เป็นส่วนต่อกับหอสวดมนต์จึงเป็นอาคารที่มีความยาวถึง ๓๒ เมตรเศษ โดยวางแผนการใช้พื้นที่ชั้นบนของหอฉันสำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป ส่วนพื้นที่ชั้นล่างสำหรับเป็นหอฉัน งบประมาณที่ใช้นั้นประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท[30]
            ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๖๓ ทางวัดพระรูปโดยพระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ เจ้าอาวาสวัดพระรูปปัจจุบัน มีความประสงค์จะจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปให้สำเร็จลุล่วงตามความมุ่งหวังของหลวงพ่อดี ได้ร่วมกับคณะนักวิจัยของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ดร.สิโรตม์ ภินันท์รัชต์ธร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่อาคารหอฉันทั้งชั้นล่างและชั้นบนให้เป็นพื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
            (๗) ฌาปนกิจสถาน หรือเมรุเผาศพ สร้างไว้ทางทิศตะวันตกของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ แบบทันสมัย หลังคาโครงเหล็กและมุงด้วยสังกะสีสีเขียว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๒๒ ใช้งบประมาณไปประมาณ ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ซึ่งฌาปนกิจสถานนี้นับเป็นประโยชน์กับทุกชีวิตเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตทั้งที่เป็นพระคุณเจ้าและชาวบ้านทั่วไป

งานจัดระเบียบการใช้ที่ดินทางฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้าง 
            เมื่อหลวงพ่อดีย้ายหมู่กุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญ ทำให้พื้นที่ของวัดพระรูปทางฝั่งตะวันออกของถนนขุนช้างนั้นว่างลง คงเหลือเพียงมณฑปริมแม่น้ำอย่างเดียวเท่านั้นที่ยังอยู่ดังเดิม หลวงพ่อดีได้พัฒนาพื้นที่ด้านนี้เพื่อการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า โดยการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันตลิ่งพัง หลวงพ่อดีเริ่มสร้างเขื่อนริมน้ำหน้าวัดพระรูปเพื่อป้องกันตลิ่งพังใน พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านลงมือควบคุมการสร้างเขื่อนด้วยตัวของท่านเอง สิ้นงบประมาณไปประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาทเศษ และเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เต็มศักยภาพ เนื่องจากบริเวณหน้าวัดซึ่งเป็นพื้นที่ของวัดพระรูปมีดินงอกออกไปประมาณ ๑๐ เมตร จึงจัดสร้างอาคารพาณิชย์และลานอเนกประสงค์ เพื่อก่อประโยชน์ให้กับวัดและช่วยเหลือชาวบ้าน

งานวางแผนการจัดการด้านงบประมาณสำหรับการพัฒนาวัดพระรูปในอนาคต 
            การพัฒนาวัดพระรูปล้วนต้องใช้งบประมาณในการบูรณะซ่อมแซมและสร้างขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก  หลวงพ่อดีได้มองการณ์ไกลไปถึงอนาคตว่าวัดพระรูปต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษา การอยู่อาศัยที่ต้องมีค่าน้ำค่าไฟ และการซ่อมสร้างเมื่อถึงเวลาจำเป็นซึ่งต้องใช้งบประมาณ ด้วยทัศนะที่ยาวไกลของหลวงพ่อดีจึงจัดหางบประมาณไว้อย่างเพียงพอต่อการใช้สอยด้วยการสร้างพระเครื่อง พระบูชาและวัตถุมงคลให้สาธุชนได้เช่าบูชา ซึ่งได้ทุนทรัพย์มาพอกับการใช้สอยแล้วยังเหลือไว้สำหรับอนาคตอีกด้วย หลวงพ่อดีได้วางรากฐานสำหรับการหารายได้ให้วัดพระรูป และวางระบบการบริหารจัดการด้านการเงินของวัดให้มีความมั่นคงและโปร่งใส ดังนี้
            (๑) สร้างอาคารพาณิชย์ให้เช่าเพื่อจัดหาผลประโยชน์ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุงวัดพระรูปที่จะเกิดมีขึ้นเป็นธรรมดาของวัตถุสิ่งของที่ต้องเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา เริ่มสร้างเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๒
            (๒) ก่อตั้งมูลนิธิวัดพระรูป ด้วยความรอบคอบและมองการณ์ไกลของหลวงพ่อดี ที่เห็นว่าในอนาคตไม่อยากให้วัดพระรูปเป็นภาระกับพระสงฆ์และชาวบ้าน ประกอบกับเพื่อความโปร่งใสในการนำเงินของวัดออกไปใช้ และแสดงถึงความเที่ยงตรงซื่อสัตย์ในการใช้เงินเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูปของท่าน จึงวางระบบและแบบแผนการใช้เงินด้วยการก่อตั้งมูลนิธิวัดพระรูป โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิทำหน้าที่บริหารจัดการเงิน

งานพัฒนาวัดพระรูปเพื่อประโยชน์ต่อการสืบพระศาสนาและชุมชนรอบวัดพระรูป 
            การพัฒนาปฏิสังขรณ์วัดพระรูปของหลวงพ่อดี นอกจากเป็นประโยชน์ต่อการสืบพระศาสนาให้รุ่งเรือง เป็นที่ปลูกศรัทธาของสาธุชนทั่วไปแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่อยู่รอบพระวัดพระรูปอีกด้วย สิ่งก่อสร้างที่วัดพระรูปสร้างขึ้นเป็นประโยชน์โดยตรงต่อชุมชน เช่น อุโบสถเป็นสถานที่บรรพชาอุปสมบทของบุตรหลาน ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ทำบุญทำทาน ช่วยให้ชาวบ้านได้สร้างกุศลอย่างสะดวกสบาย กล่อมเกลาจิตใจของตนเองให้อ่อนโยนและผูกพันในพระพุทธศาสนา ฌาปนกิจสถานเป็นประโยชน์โดยตรงต่อชุมชนรวมทั้งพระและโยม ประโยชน์ในทางอ้อมได้แก่ วัดพระรูปเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนเพื่อกราบไหว้พระพุทธรูปเก่าแก่ ได้แก่ พระพุทธไสยาสน์ที่มีพุทธศิลป์งดงาม โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นแหล่งเรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป เมื่อมีคนนอกเข้ามาเยี่ยมเยือนย่อมเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนที่จะมีรายได้จากการค้าขาย การเข้าพักในโรงแรม อพาร์ตเม้นท์ หรือสถานที่พักแรมในรูปแบบอื่น ๆ การจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้น และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของคนในและคนนอกชุมชนวัดพระรูป 
            หลวงพ่อดีมีความมุ่งมั่นพัฒนาวัดพระรูปในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นการต่อลมหายใจแล้วยังเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ให้แก่วัดพระรูป ปัจจัยที่ผลักดันให้หลวงพ่อดีเกิดความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาวัดพระรูป และสามารถทำได้สำเร็จ น่าจะมาจากองค์ประกอบดังนี้
            (๑) มีแรงบันดาลใจจากสภาพวัดพระรูปที่ขาดการทำนุบำรุงมาเป็นเวลานาน วัดพระรูปในช่วงแรกเริ่มที่หลวงพ่อดีบรรพชาอุปสมบทใหม่ ๆ นั้นอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ขาดการทำนุบำรุงมาอย่างยาวนาน มีสภาพเป็นป่ารกเรื้อ มีสัตว์นานาชนิดและมีแม้กระทั้งเสือ ดังคำบอกเล่าของหลวงพ่อคำ ถาวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป ที่มีอายุครบ ๘๕ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านเล่าถึงสภาพวัดพระรูปในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กไว้ว่า เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นเด็ก ๆ จำความได้ในราว พ.ศ. ๒๔๔๕ ขณะเป็นลูกศิษย์วัดพระรูป ปรากฏว่าบริเวณเขตวัดพระรูปโดยทั่วไป ภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่าดง มีลิง ค่าง บ่าง ชะนี ตลอดจนสัตว์ร้ายต่าง ๆ เช่น เคยมีเสือเข้ามาตะครุบลากสุนัขที่นอนอยู่บนศาลาวัดเอาไปกินเสียก็มี และมีต้นไม้ไผ่ลำโตเท่าโคนขา ต้นไม้แต่ละต้นล้วนสูงใหญ่ โดยเฉพาะต้นยางสูงลิบลิ่ว เป็นที่เปลี่ยวและเงียบสงัดเดินไปทางไหนน่ากลัวอันตราย[31] สภาพทางกายภาพของวัดพระรูปนั้นทรุดโทรมตั้งแต่นั้นมา เป็นสภาพที่ไม่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น ไม่หนุนนำให้พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธาต่อวัดพระรูปได้เลย มีภยันตรายและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย
            (๒) แรงขับดันจากวิกฤตศรัทธาของชาวบ้านร้านตลาดต่อพระสงฆ์วัดพระรูป เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ที่นอกเหนือไปจากสภาพทรุดโทรมทางด้านกายภาพของวัดพระรูป วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์วัดพระรูปก็ตกต่ำ มีความผิดแผกไปจากพระธรรมวินัยเป็นอันมาก เช่น พระสงฆ์วัดพระรูปฉันข้าวเย็น กินเหล้า ลักลอบขุดพระ ทะเลาะวิวาท ซึ่งล้วนเป็นความประพฤติไปในทางเสื่อมเสียทั้งสิ้น ชาวบ้านและชาวตลาดซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) ตรงข้ามกับวัดพระรูป ต่างเสื่อมศรัทธาจนไม่ทำบุญกับวัดและพระสงฆ์วัดพระรูป ถึงขนาดว่าชาวตลาดบางบ้านเห็นพระสงฆ์วัดพระรูปมาเดินบิณฑบาต ต่างพากันยกขันข้าวที่ตั้งรอใส่บาตรเข้าไปภายในบ้าน จนพระสงฆ์วัดพระรูปเดินผ่านหน้าบ้านหรือร้านของตนไปแล้ว จึงนำขันข้าวออกมารอใส่บาตรพระสงฆ์จากวัดอื่นที่มาบิณฑบาต[32] เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้จึงน่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สร้างแรงผลักดันให้หลวงพ่อดีตั้งใจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ให้ดีขึ้น ให้อยู่ในแนวทางของพระธรรมวินัย จะได้ปลูกศรัทธาต่อชาวบ้านชาวตลาดและชาวชุมชนโดยรอบขึ้นมาใหม่
            (๓) แรงผลักดันจากประวัติวัดพระรูปที่เคยรุ่งเรืองมาแต่เก่าก่อน โดยวัดพระรูปมีประวัติความเป็นมาที่สืบสายได้ถึงสมัยอยุธยา เป็นวัดสำคัญในจำนวน ๓ วัดของเมืองสุพรรณบุรี คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดป่าเลไลยก์ และวัดพระรูป สิ่งที่สะท้อนถึงความสำคัญและความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในอดีตคือ วัดพระรูปมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีอัตลักษณ์พิเศษภายในวัดพระรูปจำนวนมาก ในกลุ่มของโบราณสถาน  ได้แก่ เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมสมัยอยุธยา เก๋งจีน โบสถ์มอญ วิหารทิศ ซากเจดีย์เก่าอีกจำนวนหนึ่ง พระพุทธไสยาสน์ที่นับว่ามีความงามด้วยฝีมือช่างชั้นเอกในสกุลช่างสมัยสุพรรณภูมิ และพระประธานในอุโบสถ เป็นต้น ในกลุ่มของโบราณวัตถุได้แก่ พระพุทธบาทไม้ที่มีความงามอย่างวิจิตพิสดาร นับเป็นของมีค่าของเมืองสุพรรณและของชาติ นอกจากนี้ภายในวัดพระรูปยังมีระฆังสำริดที่มีคำจารึก บุษบกธรรมมาสน์ จารึกลานทอง ฯลฯ ซึ่งโบราณวัตถุนั้นมีเป็นจำนวนมากจนสามารถจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์วัดขนาดใหญ่ได้ หลวงพ่อดีมีความมุ่งมั่นตั้งใจเก็บรักษาโบราณวัตถุโบราณสถานเหล่านี้ หลายครั้งถึงกับต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยง กว่าจะเก็บรักษาวัตถุสิ่งของเก่าแก่ที่เรียกว่ามรดกทางวัฒนธรรมของวัดพระรูปไว้ได้ จึงมีสิ่งของอยู่มากเพียงพอสำหรับการสร้างพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

            จากอดีตที่วัดพระรูปเคยเป็นวัดใหญ่ วัดสำคัญและความรุ่งเรืองมาก่อน เมื่อถึงยุคที่หลวงพ่อดีบวชใหม่ ๆ สิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาคือความรกร้าง โบราณสถาน เช่น อุโบสถ วิหารพระพุทธไสยาสน์ เก๋งจีน โบสถ์มอญ ซากเจดีย์ ล้วนแต่อยู่ในสภาพปรักหักพัง เป็นที่น่าสังเวชใจ แม้แต่กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ เสนาสนะทั้งหลายก็ล้วนแต่อยู่ในสภาพปรักหักพัง สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแรงผลักดันให้หลวงพ่อดีมีความคิดมีความมุ่งมั่นในการทำนุบำรุงวัดพระรูปให้กลับมามีสภาพที่เหมาะควรแก่การอยู่อาศัย และการปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ เป็นที่เจริญตาเจริญใจและเจริญศรัทธาต่อสาธุชนต่อไป
            (๔) การสนับสนุนส่งเสริมของพระครูถาวรสุวรรณคุณ (หลวงพ่อคำ ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดพระรูป ในช่วงที่หลวงพ่อดีบวชเป็นพระใหม่ ๆ เป็นสมัยที่หลวงพ่อคำเป็นเจ้าอาวาสวัดพระรูป ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านหลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า หลวงพ่อคำเป็นพระผู้มีบุคลิกเงียบขรึม ชอบความวิเวก พูดน้อยอย่างมาก ท่ามกลางท่าทีที่นิ่งเงียบและเรียบเฉยของหลวงพ่อคำซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ทำให้หลวงพ่อดีซึ่งเป็นพระหนุ่มไฟแรง เต็มไปได้ด้วยอุดมการณ์ที่พร้อมจะเสียสละแรงกายแรงใจและสติปัญญาเพื่อทำนุบำรุงวัดพระรูปและพระพุทธศาสนา คิดทำงานพัฒนาวัดพระรูปภายใต้การสนับสนุนอย่างเงียบ ๆ ของหลวงพ่อคำ ซึ่งแสดงถึงการยอมรับและการสนับสนุนของหลวงพ่อคำที่มีต่อหลวงพ่อดีในการทำงานบุกเบิกพัฒนาวัดพระรูป จนวัดพระรูปเจริญขึ้นทั้งในด้านกายภาพ งบประมาณ และเป็นที่เจริญศรัทธาของสาธุชน
            (๕) สมณศักดิ์ช่วยให้การปกครองและการทำงานพัฒนาวัดพระรูปนั้นง่ายขึ้น ในระยะเริ่มแรกที่หลวงพ่อดีเริ่มงานพัฒนาวัดพระรูป ท่านเป็นแต่เพียงพระหนุ่มมีพรรษาน้อยและไม่มีสมณศักดิ์ใด ๆ มารองรับความน่าเชื่อถือศรัทธา และไม่มีอำนาจการปกครองในคณะสงฆ์ด้วยกัน ในระยะเริ่มแรกนี้จึงเป็นระยะที่หลวงพ่อดีทำงานด้วยความยากลำบาก เพราะขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง หลวงพ่อดีมีเพียงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะทำนุบำรุงวัดพระรูปและพระพุทธศาสนา ประกอบกับการวางเฉยของหลวงพ่อคำในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา ที่สื่อนัยว่าให้การสนับสนุนหลวงพ่อดี จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๑๓ หลวงพ่อดีได้รับตำแหน่งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดพระรูป ได้เริ่มงานพัฒนาวัดพระรูปอย่างเต็มตัวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
            กล่าวได้ว่า การพัฒนาวัดพระรูปของหลวงพ่อดีนั้นมีคุณูปการต่อการสืบพระศาสนาและต่อวัดพระรูปเป็นอย่างมากโดยมิมีข้อต้องสงสัย ผลงานพัฒนาวัดพระรูปของท่านคู่ควรกับการกล่าวยกย่องให้หลวงพ่อดีเป็นพระนักพัฒนาที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวัดพระรูปให้เจริญก้าวหน้า สวยงาม มีความเหมาะควรแก่การอยู่อาศัยและปฏิบัติสมณกิจ และเป็นที่เจริญศรัทธาแก่ญาติโยม  

หลวงพ่อดีกับการสร้างพระพิมพ์และวัตถุมงคล
            หลวงพ่อดีดำริการสร้างพระพิมพ์และวัตถุมงคลด้วยความตั้งใจเพื่อรวบรวมทุนทรัพย์มาพัฒนาวัดพระรูปที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก ท่านทำพิธีอธิษฐานต่อหน้าพระประธานในอุโบสถวัดพระรูป ด้วยการจุดธูปเทียนบูชาพระ ชุมนุมเทวดา ก่อนปฏิญาณตนต่อหน้าพระประธานในอุโบสถ ตั้งสัจวาจาว่า "ข้าพเจ้าขอสร้างพระชนิดต่าง ๆ เพื่อนำเงินมาบูรณะวัดพระรูป จะไม่นำเงินส่วนนี้มาใช้ส่วนตัวเป็นอันขาด ถ้าข้าพเจ้าเอาไปใช้ส่วนตัว ขอให้ตกนรกอย่าได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกเลย" สัจวาจานี้แสดงถึงมุ่งมั่นตั้งใจและด้วยความบริสุทธิ์ใจที่จะนำเงินทุกบาททุกสตางค์ไปใช้เพื่อการทำนุบำรุงวัดพระรูป

พระประธานในอุโบสถวัดพระรูป

            หลวงพ่อดีเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องและวัตถุมงคลที่หลวงพ่อดีสร้าง ที่มีพุทธคุณทางเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดจากภัยอันตราย สำหรับคนในพื้นที่รอบวัดพระรูปมีความเห็นต่อการเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดีในมิติที่ท่านเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รักษาสัจจะ ทรงคุณด้านเมตตามหานิยม มีความสามารถในการใช้ยาสมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วย เป็นพระนักพัฒนาและปลูกศรัทธา ทำให้มีผู้มาร่วมทำบุญพัฒนาวัดพระรูปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนามของหลวงพ่อดีเป็นมงคลนามในกิจทุกประการ
            แม้ว่าหลวงพ่อดีเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองสุพรรณบุรี แต่ยังไม่พบข้อมูลชัดเจนว่าหลวงพ่อดีเรียนวิทยาคมมาจากท่านใด ที่มีความชัดเจนคือท่านเรียนภาษาขอมจากพระอาจารย์คงวัดไชนาวาส เรียนหนังสือไทยและการทำน้ำมนต์กับพระอาจารย์ช้าง (อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป) มีพระครูสมณะการพิสิฐ (หลวงพ่อท้วมแห่งวัดไชนาวาส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูถาวรสุวรรณคุณ (หลวงพ่อคำ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์บุญ วัดไชนาวาส เป็นพระอนุสาวนาจารย์

            พระพิมพ์และวัตถุมงคลที่หลวงพ่อดีสร้างนั้น ท่านสร้างด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งทั้งในด้านพิธีกรรมและการเสาะแสวงหามวลสารต่าง ๆ พระพิมพ์และวัตถุมงคลที่ท่านสร้างมีด้วยกันหลายรุ่นหลายพิมพ์ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมด้วยกันทั้งนั้น โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือพระที่ท่านสร้างขึ้นในยุคแรก ๆ ได้แก่ “พระผงสุพรรณ” ที่สร้างขึ้นจากผงวิเศษว่านแร่ต่าง ๆ ทำให้พระผงสุพรรณที่ท่านสร้างมีพุทธคุณสูงยิ่ง ดังปรากฏคำกล่าวขานกันว่า หากหาพระผงสุพรรณกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุไม่ได้ ก็หาพระผงสุพรรณของหลวงพ่อดีมาบูชาพอแทนกันได้ จึงนับว่าเป็นที่นิยมมากที่สุดในแวดวงนักสะสมและมีมูลค่าการเช่าบูชาสูงกว่ารุ่นอื่น และยังมี “พระขุนแผนและพระชุดกิมตึ๋ง” ที่สร้างขึ้นเพื่อสืบทอดพระกรุของวัดพระรูป ตลอดจนพระในชุดเนื้อเมฆสิทธิ์และเมฆพัตร อาทิ พระปิดตายันต์ยุ่ง พระปิดตาพุงป่อง ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน         
            หลวงพ่อดีมีความพิถีพิถันในการสร้างพระเครื่อง ท่านเสาะหามวลสารที่มีความพิเศษและเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ พระเครื่องที่หลวงพ่อดีสร้างจึงมีส่วนผสมของแร่ซึ่งเป็นของโบราณและเป็นของหายาก ได้แก่  ดอกไม้ร้อยแปด ว่านร้อยแปด แร่ธาตุต่าง ๆ ผงกรุต่าง ๆ โลหะพิเศษต่าง ๆ อย่างเช่น ลูกตะกั่วที่ขุดได้ในวัดพระรูป พระที่ชำรุด เช่น พระสมเด็จบางขุนพรหมหักกลางที่เจ้าของนำมาถวายให้ใส่ครกตำแล้วนำมาเป็นมวลสาร พระขุนแผนเนื้อผงที่หักชำรุด พระพิมพ์ต่าง ๆ ที่แตกหักที่พบจากเจดีย์ต่าง ๆ ทั่วเมืองสุพรรณ โดยเฉพาะพระชำรุดของวัดบ้านกร่าง วัดพระรูป และวัดมหาธาตุ พระผงสุพรรณ ฯลฯ และมวลสารอื่น ๆ ที่มีคนนำมาถวาย เช่น กระเบื้องหลังคาโบสถ์ของหลวงพ่อโบ้ยวัดมะนาว เป็นต้น ตามคำบอกเล่าของมหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง) ว่าแร่ที่หลวงพ่อดีใช้ผสมเป็นมวลสารได้แก่ แร่หนองไม้เหลือง แร่เกาะล้าน และหลวงพ่อดีมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทางจังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี ได้จัดหานำแร่ข้าวตอกพระร่วงมาถวายหลวงพ่อดีสำหรับทำดินสอเขียนยันต์เพื่อทำผงอิธะเจ ซึ่งท่านได้พากเพียรทำผงอิธะเจในเวลาค่ำคืนอยู่เป็นประจำ เพื่อสะสมไว้เป็นมวลสารในการสร้างพระผงสุพรรณ เป็นต้น

หลวงพ่อดีนั่งกดพิมพ์พระ

            พระเครื่องที่หลวงพ่อดีสร้างมีหลายรุ่น ในรุ่นแรก ๆ นั้น หลวงพ่อดีสร้างกับมือตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกดินเหนียว นวดดินและกดพิมพ์เอง หลวงพ่อดีจะเสาะหาดินเหนียวเนื้อละเอียดมาเก็บไว้ ช่วงที่มีการลอกแม่น้ำท่าจีน เรือขุดได้ขุดดินในท้องแม่น้ำขึ้นมามีลักษณะเป็นดินเหนียวเนื้อแข็งก้อนใหญ่ ๆ เนื้อดินละเอียดและมีสีน้ำตาลอ่อน หลวงพ่อดีเก็บดินนั้นไว้นำผ้าเหลืองมาคลุมดินและแช่น้ำเพื่อเป็นการหมักดิน เมื่อมีเวลาว่างจากงานสร้างโบสถ์ท่านก็นำดินมานวด ผสมด้วยทรายแก้วและมวลสารต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ในขั้นตอนการกดพิมพ์ท่านก็กดพิมพ์เอง และเลือกกดพิมพ์ในวันและเวลาที่เป็นฤกษ์ดี มีพระบางรุ่นที่ให้พระเณรและชาวบ้านมาช่วยกันกดพิมพ์ แต่พระเครื่องรุ่นพระผงสุพรรณ พระซุ้มกอ และดาบฟ้าฟื้นนั้นหลวงพ่อดีกดพิมพ์เองเกือบทั้งหมด ท่านไม่ยอมให้ใครได้ช่วยท่านเลย โดยเฉพาะพระซุ้มกอนั้นต้องปั้นและมีการตัดขอบ หลวงพ่อดีเกรงว่าจะไม่สวยงาม ท่านจึงปั้นและตัดขอบด้วยตัวเอง[33]
            เมื่อปั้นพระหรือกดพิมพ์พระได้จำนวนหนึ่ง จะนำไปผึ่งให้แห้งและเก็บไว้ในหม้อ รอให้มีจำนวนมากพอสมควรที่จะนำไปเผาได้จึงนำไปเผา หลังจากเผาแล้วหลวงพ่อดีจะนำพระไปฝังดินเพื่อให้เนื้อดินคืนสภาพ การทำพิธีพุทธาภิเษกพระที่สร้างไว้มีทั้งที่นำไปเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่วัดอื่นในละแวกเมืองสุพรรณบุรี ที่มีพิธีฝังลูกนิมิต ถึงช่วงเข้าพรรษาหลวงพ่อดีจะทำพิธีปลุกเสกด้วยตัวของท่านเองตลอดทั้งพรรษา และถ้ามีกัลยาณมิตรของท่านมาเยี่ยมเยียนก็จะชวนกันเข้าร่วมบริกรรมและแผ่เมตตาจิต เช่น หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี หลวงพ่อมุ่ยวัดดอนไร่ หลวงพ่อถิรวัดป่าเลไลยก์ เป็นต้น จากนั้นจะจัดพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อดีได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้นมาร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่ทางวัดพระรูปจัดขึ้น ได้แก่ หลวงพ่อมุ่ยวัดดอนไร่ หลวงพ่อถิรวัดป่าเลไลยก์ หลวงพ่อแต้มวัดพระลอย หลวงพ่อขอมวัดไผ่โรงวัว เป็นต้น

พระผงสุพรรณหลวงพ่อดีวัดพระรูป

            มีเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์และความพิเศษของพระเครื่องที่หลวงพ่อดีสร้างขึ้น โดยกล่าวถึงพุทธคุณทางเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดจากภัยอันตราย มีเรื่องเล่าของชาวสุพรรณบุรีเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติของพระเครื่องและวัตถุมงคลที่ท่านสร้าง เช่น ในวันทำพิธีพุทธาภิเษกพระปิดตาพุงป่องแบบลอยองค์ ท้องฟ้าเหนือวัดพระรูปในวันนั้นมืดครึ้มและมีพระอาทิตย์ทรงกลด นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของเจ้าหน้าที่เทศบาลคนหนึ่งที่แขวนเหรียญปลอดภัยวัดพระรูป ในวันทำหน้าที่ไปตัดหญ้าที่ถนนเณรแก้ว บังเอิญเครื่องตัดหญ้าไปกระทบกับลูกระเบิดปิงปองที่ถูกทิ้งไว้ในพงหญ้าบริเวณนั้น ทำให้เกิดระเบิดขึ้นดังสนั่น แต่เจ้าหน้าที่ท่านนั้นมิได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด หรือแม้แต่เรื่องเล่าถึงปรากฏการณ์พิเศษในวันที่หลวงพ่อดีกดพิมพ์พระ ที่มักมีผีเสื้อ ผึ้งและนกหลายชนิดบินมาเกาะที่มือหลวงพ่อดีและอยู่ใกล้ ๆ[34] เป็นต้น

หลวงพ่อดีกำลังทำพิธีเทหล่อพระ

            เรื่องเล่าถึงปรากฏการณ์พิเศษเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ในพระเครื่องที่หลวงพ่อดีสร้างขึ้น ได้สร้างภาพการเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดีขึ้นมา ท่านกลายเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับความเคารพเลื่อมใสจากสาธุชนอย่างกว้างขวาง สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังของท่านคือ ท่านมีกิจนิมนต์ในงานเกี่ยวกับการพุทธาภิเษก เจริญเมตตา อธิษฐานจิตในงานพิธีต่าง ๆ มากมาย มีเอกสารบางส่วนที่ทางวัดพระรูปเก็บรวบรวมไว้เฉพาะช่วงปลาย พ.ศ. ๒๕๓๓ ถึงต้น พ.ศ. ๒๕๓๖ มีใบฎีกาและหนังสือกราบอาราธนานิมนต์หลวงพ่อดีไปนั่งปรกบริกรรมเจริญชัยมงคลคาถา แผ่เมตตาและจารึกบนแผ่นทอง นาก เงิน ในพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปและวัตถุมงคลจำนวนกว่า ๙๐ รายการ จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักพระราชวัง สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ) มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สำนักงานราชเลขาในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กองทัพภาค ๓ กรมการศาสนา วัดและโรงเรียนต่าง ๆ ในหลายจังหวัดโดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง เป็นรายการที่เก็บเฉพาะใบฎีกาที่เป็นเอกสารไว้ได้เท่านั้น โดยไม่รวมงานพิธีที่เป็นการอาราธนาด้วยปากเปล่าโดยไม่มีใบฎีกาหรือเอกสารอีกเป็นจำนวนมากอย่างนับไม่ถ้วน

หลวงพ่อดี: พระเกจิอาจารย์กับความมั่นคงของวัดพระรูป 
            ในระยะเริ่มต้นของการทำงานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูป หลวงพ่อดีประสบปัญหาอย่างใหญ่หลวงอย่างหนึ่ง คือ การขาดทุนทรัพย์ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูป และจากข้อมูลที่ได้เสนอมาพบว่า การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูป ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมสร้างเป็นจำนวนมหาศาล หลวงพ่อดีหาทางออกด้วยการเลือกวิธีจัดหาทุนทรัพย์แบบไม่รบกวนชาวบ้าน และไม่เป็นภาระของชาวบ้าน ท่านเลือกใช้วิธีสร้างพระเครื่องพระบูชาและวัตถุมงคลให้สาธุชนเช่าบูชา พระเครื่องของหลวงพ่อดีมีเรื่องเล่ามากมายในทางอภินิหารจนทำให้หลวงพ่อดีเป็นที่ยอมรับของพุทธศาสนิกชนในวงกว้างว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์ และมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศ 
            พระเครื่องพระบูชาและวัตถุมงคลที่หลวงพ่อดีสร้างเพื่อจัดหางบประมาณมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูปนั้นมีเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ แต่ไม่ได้นำออกให้เช่าบูชา เป็นเพียงการขอไปบูชา เริ่มนำออกให้เช่าบูชาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา ชุดที่มีความโดดเด่นมีทั้งพระพุทธรูปบูชาและพระเครื่อง อาทิ พระแบบเชียงแสน พระแบบสุโขทัย พระแบบอู่ทอง พระกำแพงศอก พระผงสุพรรณ พระสมเด็จพระนางพญา พระรอด พระซุ้มกอ พระขุนแผนไข่ผ่าซีก พระชุดกิมตึ๋ง พระร่วงรางปืน พระปิดตาฐานเขียง พระปิดตาเนื้อผง พระปิดตายันต์ยุ่ง ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

พระกำแพงศอกหลวงพ่อดีวัดพระรูป

แม่พิมพ์พระกำแพงศอกหลวงพ่อดี จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

หลวงพ่อดี: การสร้างพระพิมพ์และวัตถุมงคลที่เป็นจารีตสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
            วัดพระรูปมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงผู้นิยมพระเครื่องและวัตถุมงคล สามารถจำแนกพระเครื่องและวัตถุมงคลของวัดพระรูปได้เป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มพระพิมพ์กรุวัดพระรูป อาทิ พระขุนแผน พระชุดกิมตึ๋ง ฯลฯ มีอายุอยู่ในสมัยสุพรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากมาตั้งแต่อดีต อีกกลุ่มหนึ่งคือพระพิมพ์และวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นในราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยอดีตเจ้าอาวาสปรากฏหลักฐานชัดเจนมาตั้งแต่สมัยพระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำ เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพิมพ์และวัตถุมงคลที่สร้างโดยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือ “หลวงพ่อดี” ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมเลื่อมใสอย่างกว้างขวางมาก
            แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าหลวงพ่อดีเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ท่านใด แต่การสร้างพระของ “หลวงพ่อดี” ท่านสร้างด้วยความตั้งใจสูงยิ่ง ด้วยความพิถีพิถันทั้งในด้านมวลสารและพิธีพุทธาภิเษก ประกอบกับการนำพิมพ์พระที่นิยมมาตั้งแต่อดีตของเมืองสุพรรณมาใช้สร้างพระ ดังปรากฏคำกล่าวขานกันเป็นตำนานการสร้างพระของท่านจนถึงทุกวันนี้ กล่าวได้ว่าการสร้างพระของหลวงพ่อดีประกอบด้วยความดีความพิเศษ ดังนี้
            “ความตั้งใจบริสุทธิ์ดี” การขอพึ่งพุทธานุภาพจากพระประธานในโบสถ์วัดพระรูป ด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐานของหลวงพ่อดีว่า “ข้าพเจ้าขอสร้างพระชนิดต่างๆ เพื่อนำเงินมาบูรณะวัดพระรูป ข้าพเจ้าจะไม่นำเงินส่วนนี้มาใช้ส่วนตัวเป็นอันขาด ถ้าข้าพเจ้าเอาไปใช้ส่วนตัว ขอให้ตกนรกอย่าได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกเลย”
            “มวลสารศักดิ์สิทธิ์ดี” สร้างพระด้วยผงพุทธคุณจากสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ผงพุทธคุณทั้ง ๕ ของหลวงพ่อดี ผงว่าน ๑๐๘ ชนิด ดอกไม้ ๑๐๘ แร่ต่าง ๆ เช่น แร่เกาะล้าน แร่หนองอ้ายเหลือง รวมถึงมวลสารจากพระพิมพ์แตกหักจากเจดีย์และกรุวัดต่าง ๆ เช่น พระพิมพ์กรุวัดพระรูป กรุวัดบ้านกร่าง พระผงสุพรรณจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ผงพระวัดป่าเลไลยก์ ผงพระเครื่องวัดปราสาทบุญญาวาส ผงพระวัดราชนัดดา ฯลฯ
            “ฤกษ์ยามดี” ให้ความสำคัญต่อฤกษ์ยาม โดยหลวงพ่อดีกดพิมพ์ด้วยมือของท่านเองและทำเฉพาะในวันและเวลาที่เป็นฤกษ์ดีเท่านั้น มีเรื่องเล่าว่า มีผีเสื้อ ผึ้ง และนกหลายชนิดบินมาเกาะที่มือและอยู่ใกล้ ๆ ในเวลาที่หลวงพ่อดีกดพิมพ์พระ
            “พิธีพุทธาภิเษกดี” หลวงพ่อดีทำพิธีอธิษฐานจิตเดี่ยวเป็นเวลาหนึ่งพรรษา บางครั้งมีครูบาอาจารย์และสหธรรมิกแวะมาเยี่ยมเยียนและได้ร่วมอธิษฐานจิต อีกทั้งยังมีการจัดพิธีพุทธาภิเษกใหญ่อีกครั้ง โดยนิมนต์พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในและนอกเมืองสุพรรณบุรีมาร่วมพิธีอธิษฐานจิต อาทิ หลวงปู่โต๊ะ (วัดประดู่ฉิมพลี) หลวงพ่อมุ่ย (วัดดอนไร่) หลวงพ่อถิร (วัดป่าเลไลยก์) หลวงพ่อแต้ม (วัดพระลอย) หลวงพ่อขอม (วัดไผ่โรงวัว) หลวงพ่อแพ (วัดพิกุลทอง) เป็นต้น
            การสร้าง “พระผงสุพรรณ” ของหลวงพ่อดีนั้น นับเป็นการสืบสานคติและพิธีกรรมตามแบบแผนดั้งเดิมไว้ ทั้งในด้านมวลสารที่ใช้สร้างพระ ไม่ว่าจะเป็นผงวิเศษ ว่าน เกสรดอกไม้ แร่ ฯลฯ ตลอดจนพระพิมพ์ที่แตกหักชำรุดจากกรุต่าง ๆ ในเมืองสุพรรณบุรี อาทิ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี กรุวัดพระรูป และยังเป็นการสืบสานรูปแบบพระผงสุพรรณของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดองค์หนึ่งในแวดวงนักสะสมพระเครื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากพระผงสุพรรณแล้ว พระที่หลวงพ่อดีสร้างโดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระกำแพงศอกกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และได้รับความนิยมอย่างมากมาตั้งแต่เริ่มสร้างจวบจนกระทั่งปัจจุบันก็คือ “พระกำแพงศอก” เนื่องจากเป็นพระกำแพงศอกที่สร้างได้สวยงดงามกว่าที่อื่น

พระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดพระรูปองค์ปัจจุบัน ผู้จัดสร้างพระพิมพ์ขุนแผนไข่ผ่าซีก

พระพิมพ์ขุนแผนไข่ผ่าซีกที่สร้างขึ้นในปัจจุบันเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

            ในปัจจุบันวัดพระรูปยังคงมีการสร้างพระพิมพ์และพระบูชาอยู่อย่างต่อเนื่อง พระพิมพ์องค์สำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยปัจจุบันคือ “พระขุนแผนไข่ผ่าซีก” ซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยพระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดพระรูปองค์ปัจจุบัน มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป ดังนั้นพระพิมพ์ที่สร้างขึ้นในครั้งนี้ส่วนใหญ่จึงนำไปบรรจุลงในกรุ และนำบางส่วนออกให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาได้บูชา กล่าวได้ว่าการสร้างพระขุนแผนในครั้งนี้เป็นการสืบทอดแนวความคิดและพิธีกรรมต่อมาจากการสร้างพระขุนแผนในสมัยหลวงพ่อดี ซึ่งเป็นการสืบสานภูมิปัญญาการสร้างพระให้คงอยู่กับวัดพระรูปสืบไป

หลวงพ่อดี: พระนักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
            นอกจากบทบาทการเป็นพระผู้ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ พระหมอยา พระนายช่าง พระนักพัฒนา พระเกจิอาจารย์ ในแนวทางการดำเนินงานพัฒนาวัดพระรูป การทำงานก่อสร้าง และความตั้งใจในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปของหลวงพ่อดี ยังได้สะท้อนว่าหลวงพ่อดีเป็นผู้มีบทบาทของการเป็นพระนักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้วยอีกบทบาทหนึ่ง
            ภายในวัดพระรูปนั้นมีกรุพระ โบราณสถาน โบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของวัดพระรูป ที่พระสงฆ์และชาวชุมชนวัดพระรูปควรช่วยกันเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติแก่อนุชนรุ่นหลัง ในการเป็นพระลูกวัดและต่อมาได้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสวัดพระรูป  หลวงพ่อดีได้แสดงบทบาทการเป็นพระนักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของวัดพระรูปมาโดยตลอด ในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีมีเสือและโจรชุกชน การลักลอบขุดพระเป็นมิจฉาอาชีพอย่างหนึ่งที่มีกลุ่มบุคคลจำพวกหนึ่งนิยมทำกัน ด้วยอัธยาศัยอย่างนักเลงและไม่กลัวใครของหลวงพ่อดี ท่านจึงไม่เกรงกลัวอันตรายจากบุคคลเหล่านั้น ในเวลาตีหนึ่ง ตีสอง หลวงพ่อดีจะถือไฟฉายกระบอกหนึ่งเดินออกไปส่อง โบสถ์พระมอญ เจดีย์ โบสถ์ วิหารพระนอน ว่าจะมีคนมาลักลอบขุดพระหรือไม่

อุโบสถหลังเก่าวัดพระรูปในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก

            การเดินตรวจตราโบราณสถานในเวลาค่ำคืนทุกคืนของหลวงพ่อดีย่อมเป็นจุดอ่อนให้ถูกลอบทำร้ายได้ หลวงพ่อดีเคยมีเรื่องกับนักเลงหลังวัด เพราะพวกนักเลงชอบมาลองพระลองของด้วยปืนที่บริเวณหลังวัดพระรูป หลวงพ่อดีไม่ชอบและไม่ยินยอมให้ใครมาลองปืนกับต้นไม้ในวัดพระรูป นักเลงพวกนั้นโกรธเคืองหลวงพ่อดีถึงขนาดจ้างเสือเพียรให้มาลอบยิงหลวงพ่อดีในเวลาที่ออกเดินตรวจวัดในเวลาค่ำคืน เสือเพียรมาเฝ้าหลายคืนแต่ไม่กล้ายิงหลวงพ่อดี จึงไปหาข้อมูลเกี่ยวกับหลวงพ่อดีกับอดีตเสือยอด อดีตเสือที่กลับตัวกลับใจมาทำมาหากินเหมือนคนปกติแล้ว อดีตเสือยอดรับรองกับเสือเพียรว่า “หลวงพ่อดีเป็นพระดี เป็นลูกพี่ของกู เป็นอาจารย์ของกูเอง”[35] หลังจากนั้นอดีตเสือยอดได้พาเสือเพียรเข้ามากราบขอขมาหลวงพ่อดี เสือเพียรได้สารภาพกับหลวงพ่อดีถึงเหตุที่ไม่กล้ายิง ว่าเป็นเพราะหลวงพ่อดีมีนัยน์ตาที่มีอำนาจมาก ข่าวการมาเฝ้าเพื่อลอบยิงหลวงพ่อดีของเสือเพียร ก็มิได้เป็นความลับในหมู่นักเลงด้วยกัน ปรากฏว่ามีพรรคพวกที่เป็นนักเลงของหลวงพ่อดีมาผูกม้าไว้ที่หลังวัดพระรูป เพื่อแสดงสัญลักษณ์และเพื่อการอารักขาหลวงพ่อดี จนหลวงพ่อดีต้องสั่งให้กลับไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องมาเฝ้าท่านให้เสียเวลา ท่านบอกว่าไม่มีอะไรก็แค่ตายเท่านั้น

หลวงพ่อดีผู้เก็บรักษาใบเสมาอุโบสถวัดพระรูป

            การเฝ้ารักษาสมบัติอันมีค่าของวัดพระรูปในบ้างครั้งต้องปกป้องกันไว้ด้วยชีวิต มีครั้งหนึ่งที่มีคนมางัดพระพุทธบาทไม้ ซึ่งนับเป็นโบราณวัตถุชิ้นเอกของวัดพระรูป และน่าจะเป็นของสำคัญระดับประเทศอีกด้วย พระพุทธบาทไม้ถูกแซะออกและถูกนำลงจากจุดที่ประดิษฐานโดยถูกนำลงมานอนกับพื้น พอดีมีเด็กวัดตื่นขึ้นมาปัสสาวะและได้ยินเสียงจึงได้ฉายไฟดู พอเห็นว่าพระพุทธบาทไม้ถูกนำลงมาวางนอนไว้ที่พื้นจึงร้องเรียกหลวงพ่อดีว่า “หลวงพ่อ ๆ ฝ่าพระพุทธบาทล้ม ขโมยจะมาลัก”[36] หลวงพ่อดีรีบเรียกพระสงฆ์อีกสองรูป คือ หลวงพี่กวนและพระมหาทม มีสามเณรใจกล้า และเด็กวัดที่ไม่กลัวใคร เด็กวัดคว้าได้มีดเล่มหนึ่ง พระคว้าก้อนอิฐ หลวงพ่อดีมีความตั้งใจจะออกไปจับตัวขโมยไว้ให้ได้ คาดว่ายังซ่อนตัวอยู่ใกล้ ๆ เพราะยังไม่ได้พระพุทธบาทไม้ หลวงพ่อดีไม่มีความเกรงกลัวต่ออันตรายและความตาย แต่มีคนห้ามไว้ว่า ถ้าขโมยมีปืนแล้วจะทำอย่างไร เพราะถ้าหลวงพ่อดีออกไปจับขโมย ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้นก็ต้องออกไปกันทุกรูปทุกคน สรุปคือคืนนั้นจับตัวขโมยไม่ได้ ไม่มีใครต้องบาดเจ็บ และไม่ได้สูญเสียพระพุทธบาทไม้ไป
            ในการพัฒนาบูรณะวัดพระรูป หลวงพ่อดีต้องคอยควบคุมคนงานอย่างใกล้ชิด เพื่อปกป้องการทำลายโบราณสถานของวัดพระรูป มีเรื่องเล่าว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ มีการปรับหรือปราบพื้นที่วัดให้เรียบ มีวันหนึ่งแค่เพียงหลวงพ่อดีคล้อยหลังเพื่อไปฉันเพลเท่านั้น คนขับรถแทรกเตอร์ก็ขับรถไถโบสถ์พระมอญจนพังทลายลงมาเกือบหมด ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสค้นหาพระเครื่องและโบราณวัตถุที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นดินและตามโบราณสถานหลายแห่งในวัดพระรูป[37] เรียกได้ว่าต้องระวังกันตลอดเวลา โดยเฉพาะหลวงพ่อดีที่ต้องคอยสอดส่อง ทักท้วง ควบคุมและห้ามปรามมิให้มีการกระทำที่เสียหายต่อโบราณสถานได้
            หลวงพ่อดีมีแนวทางการบูรณปฏิสังขรณ์แบบอนุรักษ์ของเก่า เช่น ท่านได้ดัดแปลงกุฏิไม้สักเรือนไทยชั้นเดียว ให้เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ โดยเก็บเรือนไทยไม้สัก ฝาปะกนลูกฟักไว้เป็นเรือนชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงเกิดผลดีทั้งเป็นการอนุรักษ์เรือนไทยไม้สักไว้ ทั้งประหยัด ได้ใช้ประโยชน์จากเรือนเก่าที่มีอยู่แล้ว และได้พื้นที่ใช้สอยประโยชน์เพิ่มมากขึ้นกว่าเรือนไม้ชั้นเดียวแบบเดิม
            ในการสร้างพระเครื่องและพระพุทธรูปบูชา การเลือกใช้มวลสารศักดิ์สิทธิ์ การแสวงหาและเก็บรวบรวมแร่ธาตุศักดิ์สิทธิ์ การปลุกเสก การจัดพิธีพุทธาภิเษก หลวงพ่อดีได้ทำตามที่ได้ศึกษามาจากตำราเก่า เช่น เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน เป็นไปตามรูปแบบแต่โบราณ จึงถือเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดองค์ความรู้การสร้างพระเครื่องพระบูชาในแบบดั้งเดิมไว้ให้แก่คนรุ่นปัจจุบันและอนุชนรุ่นหลังให้ได้รู้ ได้เห็นและได้เป็นตัวอย่าง ในช่วงแรก ๆ เช่น การสร้างพระใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มสร้างอุโบสถ กรุพระที่อยู่ใต้อุโบสถและใต้พระประธานถูกเปิด ทั้งมีการนำพระออกไปอย่างเปิดเผยและการถูกลักลอบขุดพระออกไปอีกเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อดีคิดสร้างพระผงสุพรรณขึ้นมา วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งคือ เพื่อบรรจุคืนเพื่อทดแทนพระเก่าที่ถูกนำออกไปจนหมด[38] ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำหน้าที่ส่งต่อทั้งส่วนที่เป็นองค์ความรู้และวัตถุพยานไว้ให้คนรุ่นต่อไป
            อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อดีพัฒนาวัดพระรูปโดยคำนึงถึงความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี จึงเก็บรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัดพระรูปซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากไว้ด้วยความรอบคอบ รวมถึงแนวคิดและความตั้งใจก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปของหลวงดี ทำให้วันนี้ของวัดพระรูปได้มีพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปสำหรับเป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุอย่างมีระบบและหลักการ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทุกเพศทุกวัย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ โดยเกิดจากทัศนะ การกระทำและบารมีของหลวงพ่อดีโดยแท้

ช่วงสุดท้ายของชีวิต
            หลวงพ่อดีเป็นบุคคลหนึ่งที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อที่อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ มีความเสื่อมไปแห่งสังขารอย่างเป็นธรรมดาของโลก หลวงพ่อดีเคยอาพาธเป็นตับอักเสบ บางคนระบุว่าเป็นมะเร็งตับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๖ ขณะหลวงพ่อดีมีอายุได้ประมาณ ๗๑ ปี ท่านไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ เป็นเวลา ๙ วัน ท่านมีอาการเข้าขั้นโคม่า ลูกศิษย์จึงพาท่านกลับมาวัดพระรูป ท่านมานอนซมอยู่ไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้นานถึง ๔ เดือนกว่า แม้เมื่อหลวงพ่อถิร หลวงพ่อโพ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ มาเยี่ยมหลวงพ่อดีที่วัดพระรูปตอนสี่โมงเย็น ได้เห็นหลวงพ่อดีกระสับกระส่าย เดี๋ยวนั่งเดี๋ยวนอนเพราะมีน้ำท่วมปอด หลวงพ่อถิรยังกล่าวว่าอาจารย์ดีน่าจะไม่พ้นคืนนี้ หากแต่หลวงพ่อดีก็ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ด้วยความอนุเคราะห์ของนายแพทย์ทวี แห่งคลินิกสองแพทย์ และชาวบ้านที่อยู่ข้างวัดพระรูปที่ถวายการอุปัฏฐาก ทำอาหารสำหรับผู้ป่วยมาถวายทุกวัน หลังจากหายอาพาธครั้งใหญ่นั้นแล้ว ท่านได้ทำงานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูปมาอีกนานกว่า ๒๐ ปี หลวงพ่อดีได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๑๘.๔๐ น. ณ กุฏิภายในวัดพระรูป ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี พรรษากาล ๗๓ กล่าวได้ว่าตลอดชีวิตในสมณเพศของหลวงพ่อดี ท่านเป็นผู้ทำหน้าที่ต่อลมหายใจให้แก่วัดพระรูปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของท่าน ท่านเริ่มต้นจากความเป็นผู้ใฝ่รู้แล้วพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในหลายบทบาท จนเป็นผู้มีความสามารถหลากหลายด้าน  บทบาทในแต่ละด้านส่งเสริมสนับสนุนต่อการพัฒนาวัดพระรูป จากสภาพของการเป็นวัดเก่ามีแต่ความชำรุดทรุดโทรม มาสู่การเป็นวัดพระรูปที่มีความเจริญ สวยงามเป็นที่เจริญตาเจริญใจ สำเร็จได้ด้วยความมุ่งมั่นและเสียสละของหลวงพ่อดี ท่านยังได้เป็นผู้ปลูกศรัทธาของชาวบ้านร้านตลาดที่อยู่รอบวัดพระรูปขึ้นมาใหม่ จากที่เสื่อมทรุดไปแล้วให้กลับมาเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นำมาซึ่งความร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงวัดพระรูปและพระศาสนาสืบมา การแสดงบทบาทอันหลากหลายของหลวงพ่อดีนั้น ในแต่ละบทบาทต่างเป็นบาทฐานให้ท่านได้ทำหน้าที่พัฒนาวัดพระรูปได้ประสบผลสำเร็จอย่างสอดคล้องและเอื้อประโยชน์กัน

หลวงพ่อดี: บทบาทและความหมายในการเป็นพระเกจิอาจารย์
            หลวงพ่อดีเป็นพระภิกษุที่มีความสามารถและมีหลายบทบาท ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยแบบนักเลง ความเป็นนักเลง ไม่กลัวคน บุคลิกนี้เหมาะสมกับยุคสมัย ช่วยให้ท่านดำรงตนอยู่ได้และสามารถทำหน้าที่ปกครองและพัฒนาวัดพระรูปมาได้ด้วยดี หลายครั้งท่านรอดพ้นวิกฤติมาได้ด้วยอัธยาศัยของความเป็นนักเลง ท่านเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้และสามารถพัฒนาตนเองให้มีความรู้มากยิ่งขึ้นในหลายด้าน สามารถสร้างบารมีและปลูกศรัทธาแก่ชาวบ้านได้ด้วยการเป็นพระหมอยา สร้างผลงานการพัฒนาวัดพระรูปได้ด้วยความรู้ความสามารถในการเป็นพระนายช่าง พระนักพัฒนา และด้วยความจำเป็นต้องจัดหาทุนทรัพย์มาใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูป ท่านจึงสร้างพระขึ้นด้วยความพิถีพิถันทั้งในการสรรหามวลสารศักดิ์สิทธิ์ การปลุกเสกหลายครั้ง พระเครื่องพระบูชาและวัตถุมงคลที่หลวงพ่อดีสร้างจึงมีพุทธานุภาพ ทำให้ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ หลวงพ่อดีมีผลงานพัฒนาวัดพระรูปที่คำนึงถึงความสำคัญของเก็บโบราณสถาน โบราณวัตถุไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งสิ่งของมีค่าส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านนำมาถวายหลวงพ่อดีด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และท่านยังมีดำริร่วมกับคณะกรรมการวัดพระรูปในการสร้างพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปเพื่อการอนุรักษ์และการเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนรุ่นต่อไป ด้วยแนวคิดแนวทางการพัฒนาวัดพระรูป ได้แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อดีเป็นพระนักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้วยอีกบทบาทหนึ่ง
            กล่าวเฉพาะความเป็นเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดี เกิดขึ้นได้เนื่องจากการสร้างพระเครื่องพระบูชาและวัตถุมงคลของท่าน ที่มีความพิถีพิถันในการรวบรวมมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาสร้างเป็นองค์พระ  ความยิ่งใหญ่และความพิถีพิถันในการจัดพิธีพุทธาภิเษกหลายครั้ง  มีกัลยาณมิตรที่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นจากหลายวัดมาร่วมอธิษฐานจิต  การตั้งจิตอธิษฐานของหลวงพ่อดีต่อพระประธานในโบสถ์ของวัดพระรูป การรักษาความสัตย์ของหลวงพ่อดีที่ปฏิญาณไว้กับพระประธานในโบสถ์  เสียงร่ำลือถึงคุณวิเศษของพระเครื่องรุ่นที่ท่านสร้าง จึงก่อเกิดภาพลักษณ์ของหลวงพ่อดีว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองสุพรรณบุรี และในระดับประเทศขึ้นมา
         บทบาทการเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดี ในลักษณะของบุคคลผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจจิต และสร้างพระเครื่องพระบูชาได้อย่างมีพุทธคุณสูง นั้นเป็นการรับรู้และยอมรับของคนภายนอกชุมชนและผู้ที่อยู่ห่างไกลออกไป หากแต่ในมุมมองชาวบ้านในบริเวณรอบ ๆ วัดพระรูป มีความเห็นต่อความหมายของการเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดี ในมิติที่ท่านเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รักษาสัจจะ มีความสามารถในการใช้ยาสมุนไพรรักษาอาการเจ็บป่วยโดยท่านเชี่ยวชาญในการรักษาอาการเจ็บคอและกวาดยาเด็กทารก  เป็นพระนายช่าง พระนักพัฒนาวัดพระรูปให้กลับมาเป็นวัดที่สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และสามารถปลูกศรัทธาของชาวบ้านร้านตลาดได้เป็นอย่างดี  ทำให้มีผู้มาร่วมทำบุญพัฒนาวัดพระรูปเป็นจำนวนมากอย่างน่าอัศจรรย์ใจ โดยไม่มีการเรี่ยไรให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ชาวบ้าน  รวมทั้งนามของหลวงพ่อดีเป็นมงคลนามในการประกอบกิจทุกประการ  ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาหลวงพ่อดีจากสิ่งที่ได้รู้ ได้เห็นจากความร่วมมือร่วมใจกับหลวงพ่อดีในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำการพัฒนาวัดพระรูป  ชาวบ้านให้ความสำคัญในบทบาทของหลวงพ่อดีในด้านของการเป็นพระหมอยา พระนายช่าง พระนักพัฒนา พระนักอนุรักษ์  ซึ่งล้วนเป็นบทบาทที่สามารถบำบัดทุกข์ บำรุงสุข  สร้างประโยชน์และความเจริญให้กับวัดและชุมชน  มากกว่าการเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์  ส่วนคนที่อยู่ภายนอกชุมชนและในพื้นที่ห่างออกไป มีการรับรู้และยอมรับในบทบาทการเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดีในความหมายของการเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งน่าจะเกิดการได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าที่แสดงถึงความพิเศษ อิทธิปาฏิหาริย์ ทั้งในส่วนตัวของหลวงพ่อดีและพระเครื่องพระบูชาที่หลวงพ่อดีสร้างขึ้นมา ที่แพร่ไปตามสื่อสาธารณะ และการบอกต่อด้วยปากต่อปาก
         อย่างไรก็ตาม  การรับรู้และการยอมรับในบทบาทการเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดี  ในความหมายของการเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ที่เกิดขึ้นจากการเป็นผู้มีอำนาจจิตและอำนาจสมาธิ ที่มีมากกว่าคนทั่วไป ทำให้สาธุชนที่อยู่ใกล้เคียงและในที่ห่างไกลเกิดมีศรัทธาเลื่อมใสในหลวงพ่อดี ได้นำโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ที่มีคุณค่าและความสวยงาม  รวมถึงเครื่องสังเค็ดต่าง ๆ มาถวายไว้ที่วัดพระรูปเป็นจำนวนมาก ประกอบกับวัดพระรูปเองก็มีโบราณวัตถุที่เก็บรวบรวมไว้ก่อนหน้าสมัยของหลวงพ่อดีอยู่ก่อนแล้ว และมีโบราณสถานอีกจำนวนหนึ่ง  สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่าของวัดพระรูป  ที่หลวงพ่อดีมุ่งหวังให้วัดพระรูปมีพิพิธภัณฑ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูได้ชมได้เรียนรู้ต่อไป  โดยวางแผนสร้างอาคารหอฉันไว้สำหรับรองรับการสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ ด้วยบารมีของหลวงพ่อดีดังที่ได้กล่าวมา ทำให้วัดพระรูปมีความพร้อมด้านอาคารสถานที่และทุนทรัพย์สำหรับจัดทำพิพิธภัณฑ์ และสามารถสร้างพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปขึ้นได้สำเร็จ จึงเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของวัดพระรูปได้อย่างยั่งยืน เป็นระบบ และเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งเพื่อคนในและคนนอกชุมชนได้เป็นอย่างดี หลวงพ่อดีจึงเป็นพระนักอนุรักษ์ด้วยอีกบทบาทหนึ่ง และการเป็นพระเกจิอาจารย์ของท่านเอื้อต่อความสำเร็จในงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ทั้งต่อการมีข้าวข้องเครื่องใช้ที่มีค่าและเก่าแก่ มีความพร้อมด้านอาคารสถานที่และทุนทรัพย์ ดังนั้น  หลวงพ่อดีจึงเป็นผู้ความรู้ความสามารถในหลายด้าน กล่าวคือ เป็นพระหมอยา  พระนายช่าง พระนักพัฒนา  พระเกจิอาจารย์  และพระนักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยความเป็นผู้ใฝ่รู้ของท่าน เป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ท่านเป็นผู้มีความสามารถหลากหลายด้าน เป็นผู้สร้างคุณค่ามีคุณค่ายิ่งต่อวัดพระรูป ชุมชนและการสืบพระศาสนา  แม้แต่การมีอัธยาศัยและบุคลิกภาพแบบนักเลงของท่าน ก็มีส่วนสำคัญต่อการช่วยรักษาชีวิตของท่านไว้ ทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพวกนักเลงในท้องถิ่น ได้ช่วยค้ำชูท่านมิให้มีใครมาทำอันตรายได้โดยง่าย  อย่างไรก็ตาม ความหมายของการเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดีมีมิติที่หลากหลายและแตกต่างจากพระเกจิอาจารย์รูปอื่น ๆ ที่มักมีความพิเศษเฉพาะในทางอำนาจจิตและอำนาจสมาธิเท่านั้น

บทสรุปแห่งชีวิตและบทบาทของหลวงพ่อดีแห่งวัดพระรูป  
         หลวงพ่อดีเป็นพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถหลายด้าน ที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคมในยุคนั้น และการทำงานพัฒนาวัดพระรูป  ท่านได้ฉายภาพการแสดงบทบาทของท่านผ่านผลงานของท่านที่มีอยู่มากมาย  เมื่อศึกษาชีวประวัติและผลงานของหลวงพ่อดีอย่างละเอียดแล้ว พบว่า หลวงพ่อดีมีบทบาทสำคัญถึง ๗ บทบาท ได้แก่  นักเลง  ผู้ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ พระหมอยา พระนายช่าง พระนักพัฒนา  พระเกจิอาจารย์  และพระนักอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม การรับรู้และการยอมรับในบทบาทของหลวงพ่อดีของคนในและคนนอกนั้นต่างกัน คนในชุมชนรับรู้และยอมรับในบทบาทการเป็นพระหมอยา พระนายช่าง พระนักพัฒนา พระนักอนุรักษ์ในมรดกทางวัฒนธรรม และการมีอัธยาศัยอย่างนักเลง   ส่วนคนภายนอกชุมชนและผู้อยู่ห่างออกไป มีการรับรู้และยอมรับในบทบาทการเป็นพระเกจิอาจารย์ของท่านในความหมายของการเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์  อย่างไรก็ตาม  บทบาทการเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาตนเองของหลวงพ่อดี  ทำให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถจนสร้างเป็นผลงานขึ้นมามากมาย ประกอบกับบุคลิกนิสัยของหลวงพ่อดีที่เป็นผู้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีความรักในพระพี่ชาย การทำนุบำรุงพระศาสนา และวัดพระรูปอย่างแรงกล้า  จึงทำให้หลวงพ่อดีเป็นพระภิกษุที่มีบทบาทหลายด้าน กล่าวเฉพาะการเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดี ก็มีมิติที่หลากหลายกว่าพระเกจิอาจารย์รูปอื่น ๆ ที่มักมีความพิเศษเฉพาะในทางอำนาจจิตและอำนาจสมาธิเท่านั้น  แต่ความเป็นเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดี มีทั้งบทบาทของการเป็นบุคคลที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และสร้างประโยชน์ให้แก่วัดพระรูปและชาวชุมชน ซึ่งเป็นการรับรู้และยอมรับของคนภายในชุมชน ที่สะท้อนวิธีคิดของชาวบ้านที่ยอมรับในสิ่งที่มองเห็นได้ จับต้องได้และเกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต   หลวงพ่อดีมีบทบาทของการเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ โดยเป็นการรับรู้และยอมรับของคนภายนอกชุมชนที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่าความศักดิ์สิทธิ์ในพระเครื่องพระบูชาที่หลวงพ่อดีสร้างขึ้น  อย่างไรก็ตาม  ความเป็นพระเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดีมีบทบาทสูงมากต่อความสำเร็จในบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระรูปให้มั่นคง สวยงามและเป็นเจริญศรัทธา การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของวัดพระรูป จนประสบความสำเร็จ  ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต  ความเป็นเกจิอาจารย์ของหลวงพ่อดีทำให้วัดพระรูปมีความพร้อมทั้งในด้านงบประมาณ  สถานที่  มรดกทางวัฒนธรรม ความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชน และจากสาธุชนทั่วไปที่เคารพศรัทธา   และเพราะความตั้งใจของหลวงพ่อดีที่ประสงค์ให้วัดพระรูปมีพิพิธภัณฑ์ นั้นเป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้พิพิธภัณฑ์วัดพระรูปเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เอกสารอ้างอิง
[1]   ขุ.อุ.อ. (ไทย) ๔๔/๓๘๓  อนึ่ง การอ้างอิงหลักฐานคัมภีร์พระไตรปิฎกใช้ระบบ เล่ม/ข้อ/ ตัวอย่างเช่น ขุ.อุ.อ. (ไทย) ๔๔/๓๘๓ หมายถึง คัมภีร์อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ปรมัตถโชติกา อุทานอรรถกถา เล่มที่ ๔๔ หน้า ๓๘๓ อ้างจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย.
[2] (ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๖: ๑๓๘)
[3]  สายป่าน ปุริวรรณชนะ, “อิทธิปาฏิหาริย์กับการสร้างเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์: ขนบนิยมและพลวัตในประวัติพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทยภาคกลาง”, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต, (กรุงเทพฯ: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๕), หน้า ๓๑. 
[4] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๒๓. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผลิธัมม์ ในเครือ บริษัท สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด, ๒๕๕๘), หน้า ๒๘ - ๒๙.
[5] สายป่าน ปุริวรรณชนะ, “อิทธิปาฏิหาริย์กับการสร้างเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์: ขนบนิยมและพลวัตในประวัติพระเกจิอาจารย์ในสังคมไทยภาคกลาง”, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต,  (กรุงเทพมหานคร:  คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๕), หน้า  ๔๔-๔๖.
[6] ปรีชา  สุวังบุตร ๒๕๔๗: ๒๒
[7]  พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร  อธิปุญฺโ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี)  วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพมหานคร: นานาสิ่งพิมพ์,  ๒๕๓๕), หน้า  ๔๐; คอลัมน์พระเครื่อง: (๕ สิงหาคม ๒๕๖๒). “หลวงปู่ดี จัตตมโล วัดพระรูป สุพรรณบุรี : อริยะโลกที่ ๖”.  Khaosod Online. แหล่งที่มา: https://www.khaosod. co.th/news paper-column/amulets/news_๒๗๖๘๕๘๕.
[8]   มหาธม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ  ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[9] คุณยายหมูและคุณยายลำไย: สัมภาษณ์เมื่อ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[10] มหาธม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[11] มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ  ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[12] มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ  ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[13] มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ  ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[14] มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ  ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[15] เทพย์ สาริกบุตร ๒๕๒๕: ๑๖๕-๑๖๖; เรืองวิทยาคม: ออนไลน์
[16] มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ  ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[17] พระประทุม ธมฺมทีโป และ พระสมุห์สมควร อธิปุญโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี)  วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์,  ๒๕๓๕),  หน้า  ๔๒. 
[18] มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[19] มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ  ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[20] พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร อธิปุญฺโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี) วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๓๕), หน้า ๔๕.
[21] ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ประวัติวัดพระรูป, (๒๕๖๒), หน้า ๑๔, ๕๑.
[22] พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร อธิปุญฺโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี) วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๓๕), ๔๖ - ๔๗.
[23] ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ประวัติวัดพระรูป, (๒๕๖๒), ๕๑. 
[24] ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ประวัติวัดพระรูป, (๒๕๖๒), ๕๙.
[25] พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร อธิปุญฺโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี) วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๓๕), ๔๙.
[26] พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร อธิปุญฺโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี) วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๓๕), ๔๓.
[27] พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร อธิปุญฺโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี) วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๓๕), ๔๗.
[28] พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร อธิปุญฺโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี) วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๓๕), ๔๒.
[29] ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ประวัติวัดพระรูป, (๒๕๖๒), ๔๐.
[30] พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร อธิปุญฺโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี) วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๓๕), ๔๙. 
[31] ประทุม ชุมเพ็งพันธุ์, ประวัติวัดพระรูป, (๒๕๖๒), หน้า  ๑๒. 
[32] พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร อธิปุญฺโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี) วัดพระรูป  สุพรรณบุรี, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์, ๒๕๓๕), ๔๑. และ มหาธม (วชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.  
[33]  มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ  ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[34] “หลวงพ่อดี วัดพระรูป สุพรรณบุรี”  แหล่งที่มา: http://sitloungpordee.blogspot.com/๒๐๑๐/๐๒/blog-post_ ๘๖๖๙.html.
[35] มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[36] มหาทม (นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง): สัมภาษณ์เมื่อ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.
[37]  พระประทุม ธมฺมทีโป และพระสมุห์สมควร อธิปุญฺโญ, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงปู่ดี)  วัดพระรูปสุพรรณบุรี, (กรุงเทพมหานคร: นานาสิ่งพิมพ์,  ๒๕๓๕), หน้า ๔๙.

[38]  มหาทม: สัมภาษณ์เมื่อ  ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ณ วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี.

หลวงพ่อเผื่อน: พระหมอยาแห่งวัดพระรูป 
         ไม่เพียงแต่พระสงฆ์ผู้เป็นเจ้าอาวาส เรื่องราวของพระลูกวัดบางรูปโดยเฉพาะในมิติความสัมพันธ์กับชุมชน ก็นับว่าอยู่ในความทรงจำของผู้คนในชุมชนอย่างน่าประทับใจ ดังเรื่องราวของ “หลวงพ่อเผื่อน พระหมอยา แห่งวัดพระรูป” ที่คนในชุมชนย่านนี้ทั้งฝั่งวัดและฝั่งตลาดต่างเคยมาขอพึ่งความเมตตากรุณาจากการ “จ่ายยา” ของท่าน 

หลวงพ่อเผื่อนวัดพระรูป

            หลวงพ่อเผื่อนเป็นพระพี่ชายของหลวงพ่อดี เจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ กล่าวกันว่าในขณะที่หลวงพ่อดีมีบุคลิกเด็ดขาด หลักแหลม เป็นนักปกครอง หลวงพ่อเผื่อนจะมีบุคลิกแบบคนซื่อ ใจดี และมีเมตตาสูง เล่ากันว่าในยุคหนึ่งวัดพระรูปเคยมีวิกฤติศรัทธาถึงขั้น “คนไม่ใส่บาตร” พระสองพี่น้องพยายามแก้ปัญหาให้คนเข้าวัดด้วยการเรียนวิชาหมอยาเพื่อรักษาชาวบ้าน ความตั้งใจนี้ประสบผลสำเร็จ ต่อมาเมื่อหลวงพ่อดีมีภารกิจงานปกครองและก่อสร้างวัดมากขึ้น งานด้านการรักษาชาวบ้านจึงเป็นหน้าที่หลักของหลวงพ่อเผื่อนสืบมา

หลวงพ่อเผื่อนทำน้ำมนต์

            ตำรับยาหลวงพ่อเผื่อนนั้นเป็นยาสมุนไพรไทย ว่ากันว่าแก้ไขโรคได้ชะงัด อาทิ ยาเหลืองแก้ไข้ ยาแดง แก้ร้อนใน มีทั้งที่ท่านให้ไปและจดให้ไปซื้อ กล่าวกันว่าหลวงพ่อเผื่อนเป็นพระที่ “คนรักทั้งตลาด” เพราะท่านใจดี “เด็ก ๆ เจ็บคอกินยาสมัยใหม่ไม่หาย ถ้าเด็กๆ ท่านกวาดคอให้ เด็กโตแล้วกวาดคอไม่ได้ ท่านให้ยาเป็นผง ๆ เอาหลอดเป่าลงคอ แค่ ๒ วัน ก็หาย” นอกจากนี้ การรักษายังทำคู่กับทำน้ำมนต์อีกด้วย   

 

เมืองสุพรรณเปลี่ยนโฉมแปลงกาย: จากยุค เรือเมล์ สู่ ถนนหนทาง         

          “ยุคเรือเมล์” ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นับเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนเมืองสุพรรณจำนวนไม่น้อย ดังเช่น วารุณี โอสถารมย์ นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องราวเมืองสุพรรณยังจำได้ว่าเมื่อครั้งเป็นนักเรียนประถมราว พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๖ เธอยังได้นั่งเรือเมล์ล่องจากตัวเมืองสุพรรณลงมาถึงงิ้วราย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อต่อรถไฟจากสถานีงิ้วรายเข้ากรุงเทพฯ มาลงที่สถานีบางกอกน้อย[1] ขณะที่ วรพร พรหมใจรักษ์ อดีตครูกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนสงวนหญิง ย้อนอดีตในวัยเด็กของเธอว่า ยังเคยนั่งเรือเมล์จากเมืองสุพรรณล่องเข้าคลองบางยี่หน บางปลาม้า กว่าจะไปสว่างก็แถว ๆ บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา[2] ความทรงจำในช่วงสมัยดังกล่าว คือ ช่วงราวทศวรรษ ๒๕๐๐-๒๕๑๐ ที่การเดินทางระหว่างเมืองสุพรรณกับกรุงเทพฯ ยังไม่สะดวกนัก แม้ว่าจะมีเส้นทางคมนาคมที่เป็นถนนแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ถนนเริ่มเข้ามาแทนที่การสัญจรทางน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ช่วงหลัง “กึ่งพุทธกาล” พ.ศ. ๒๕๐๐ กระทั่งปลายทศวรรษ ๒๕๑๐ ยุคสมัยเรือเมล์เป็นอันปิดฉากลง          

          ถนนสายสำคัญที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สุพรรณบุรี คือ “ถนนมาลัยแมน” ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ จากนครปฐม นับแต่มีถนนความนิยมเดินทางด้วยรถก็มีมากขึ้นตามลำดับ เพราะใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าเรือเกือบเท่าตัว ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๐ มีการสร้างถนนสายสุพรรณบุรี-วิเศษไชยชาญ ทำให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างสุพรรณบุรี-อยุธยา-วังน้อย เข้ากรุงเทพฯ ได้สะดวกยิ่งขึ้น แนวคิดการสร้างถนนเชื่อมระหว่างสุพรรณบุรีกับกรุงเทพฯ โดยไม่อ้อมผ่านจังหวัดใด ๆ เกิดขึ้นในยุคนายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ถนนเส้นนี้ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๔๐ สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. ๒๕๓๐ สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นับเป็นเงื่อนไขการพัฒนาที่ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองสุพรรณบุรีอย่างมีนัยสำคัญ

[1] วารุณี โอสถารมย์: สัมภาษณ์

[2] วรพร พรหมใจรักษ์: สัมภาษณ์

หมู่เรือนแพบริเวณหน้าวัดพระรูป

 

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมชมวัดพระรูป 
            วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เวลา ๑๒.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมชมวัดพระรูป โดยได้เสด็จทอดพระเนตรและนมัสการพระพุทธไสยาสน์ การเสด็จฯ สุพรรณบุรีครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระราชกรณียกิจสำคัญ คือ การเสด็จไปบวงสรวงสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อนุสรณ์สถานดอนเจดีย์

 

กระแสความสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสุพรรณ นับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๒๐

          เรื่องราวของเมืองสุพรรณบุรียังคงถูกจัดวางอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติ “สกุลดำรงราชานุภาพ” ต่อเนื่องมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของเมืองอู่ทอง หรือ วีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ดอนเจดีย์ สิ่งเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำทั้งโดยนักประวัติศาสตร์ราชการและคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ความพยายามที่จะทำให้เมืองสุพรรณบุรีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณี การเปลี่ยนชื่อชุมชนลาว “บ้านโพหลวง” เป็น “บ้านพลูหลวง” ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ เพื่อให้รับกับความในพระราชพงศาวดาร[1] พร้อมกันนี้ การผลิตองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดี โดย “คนใน” เช่น มนัส โอภากุล สื่อมวลชนและนักธุรกิจท้องถิ่นเมืองสุพรรณ นับเป็นหมุดหมายแรก ๆ ทว่า ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ยังผลให้เรื่องราวเมืองสุพรรณเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง ผ่านข้อเขียนในวารสาร เช่น ศิลปวัฒนธรรม นับตั้งแต่ราวทศวรรษ ๒๕๒๐[2] ในยุคก่อนที่จะมีงานศึกษา วิทยานิพนธ์ ตลอดจนงานวิจัยเกี่ยวกับสุพรรณบุรีโดยตรง 

         ไม่เพียงเท่านั้น กระแสความสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างแนวคิดการศึกษาวิจัยตามหลักเกณฑ์วิชาการสมัยใหม่ เช่น ข้อเสนอเรื่องรัฐสุพรรณภูมิของนักวิชาการ เช่น ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ธิดา สาระยา ฯลฯ กับความชุดเดิมรู้เดิมที่ยังมีพลังอยู่ไม่น้อย พลวัตดังกล่าวยังนับเป็นต้นทางกระแสที่นำมาสู่ความตื่นตัวในการศึกษาอดีต เรียนรู้ตัวตนของผู้คนตลอดจนภาคประชาสังคมเมืองสุพรรณ สิ่งนี้ยังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการปรากฏตัวของของแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์วัดและชุมชนในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐ ภายใต้กระแสสังคมที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่น

[1] วารุณี โอสถารมย์, “เรื่องเล่าเมืองสุพรรณกับการสร้างภาพลักษณ์ตัวตนท้องถิ่น,” ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, บรรณาธิการ, สายธารแห่งอดีต (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๐), ๓๕๐.

[2] มนัส โอภากุล, ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2547), หน้า คำนำ.

ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ โดย มนัส โอภากุล นับเป็นงานเขียนเกี่ยวกับเมืองสุพรรณยุคบุกเบิก โดย “คนใน” นอกแวดวงวิชาการและโดยความสนใจส่วนตัว งานเขียนในลักษณะนี้ยังกลายเป็น  ฐานในการทำงานศึกษาเรื่องเมืองสุพรรณในเวลาต่อมา

ที่มาภาพ: มนัส โอภากุล, ช้างป่าต้น คนสุพรรณ (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, ๒๕๕๒), ๑๔๕.

 

หลวงพ่อสมควร: พระผู้สืบสานงานอนุรักษ์และพัฒนา
            แม้กล่าวได้ว่า วัดพระรูปในปัจจุบันจะได้รับการวางรากฐานในกิจการด้านต่างๆ มาในช่วงยุคสมัยของ พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือหลวงพ่อดี เจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ เป็นสำคัญ หากแต่ในมิติงานด้านการอนุรักษ์ที่เป็นพื้นฐานของการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน ไม่อาจปฏิเสธได้เลยถึงบทบาทของ พระครูอนุกูลสุวรรณากร (สมควร อธิปุโ) ) หรือ “หลวงพ่อควร” เจ้าอาวาสองค์ที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๖๐) ผู้มีใจรักงานด้านการอนุรักษ์และให้ความใส่ใจต่องานด้านนี้เป็นพิเศษ ทั้งนี้ หลวงพ่อควรนับเป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาทในฐานะ “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ในการช่วยงานพัฒนาวัดพระรูปในยุคของหลวงพ่อดีมาโดยตลอด ในขณะเดียวกัน ท่านยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของข้าวของและโบราณวัตถุต่างๆ ในวัดพระรูป ที่พึงมีการดำเนินการให้เป็นระบบโดยความเห็นชอบของหลวงพ่อดี

พระครูอนุกูลสุวรรณากร (สมควร อธิปุญโญ) หรือ “หลวงพ่อควร”

ตัวอย่างผลงานของหลวงพ่อควร ได้ยกศาลาการเปรียญหลังเดิมที่หลวงพ่อดีสร้าง ให้เป็นศาลาการเปรียญสองชั้น โดยชั้นล่างเป็นอาคารคอนกรีตมั่นคงกว้างขวางใช้งานได้สะดวกสบายขึ้น ส่วนชั้นบนยังคงรักษาอาคารไม้เดิมไว้สามารถใช้งานได้เช่นเดิม           

             ต่อประเด็นนี้ ผอ.ยรรยง โอภากุล อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี ประธานกรรมการมูลนิธิวัดพระรูป เคยกล่าวไว้ว่า “...งานด้านการอนุรักษ์ มีหลวงพี่ควรเป็นเรี่ยวแรงสำคัญ ถ้าไม่มีท่านก็ไม่มาถึงจุดนี้...”[1] อนึ่ง ความคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปนั้น ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงที่หลวงพ่อควรดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้รับการพัฒนาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ สิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป บางส่วนก็เป็นของที่หลวงพ่อควรเสาะหามาเก็บรักษาไว้ ตลอดจนภาพถ่ายเก่าของวัดพระรูปในช่วงทศวรรษ ๒๔๙๐ ต่อเนื่องทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมานั้นก็เป็นของหลวงพ่อควร ซึ่งท่านมีกล้องถ่ายรูปและมีใจรักในการเก็บบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้นับเป็นหลักฐานอันทรงคุณค่ายิ่งที่มีประโยชน์ต่อการทำงานพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปและการบอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในเวลาต่อมา 

[1] ยรรยง โอภากุล: สัมภาษณ์

 

กรมศิลปากรบูรณะเจดีย์วัดพระรูป 
            เจดีย์วัดพระรูปนับเป็นเจดีย์เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งในพื้นที่เมืองโบราณเมืองสุพรรณบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดแห่งนี้ และได้รับการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมาหลายครั้ง จนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เจดีย์องค์นี้ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก (รวมถึงโบราณสถานอื่นๆ ในเขตพุทธาสวาสของวัดพระรูป) บริเวณโดยรอบมีสภาพรกร้าง เจดีย์เอียงทรุดมาทางทิศเหนือ องค์เจดีย์ส่วนใหญ่ถูกขุดรื้อเข้าไปในเพื่อหาสมบัติและของมีค่า กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดพระรูปเป็นโบราณของชาติ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๔ หน้า ๓,๗๑๑ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
            ใน พ.ศ. ๒๕๓๔ กรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป โดยบริษัท มรดกโลก จำกัด และใน พ.ศ. ๒๕๓๗ กรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป โดยบริษัท มรดกโลก จำกัด ดังปรากฏเป็นเจดีย์วัดพระรูปในปัจจุบัน ในการขุดแต่งและบูรณะได้ทำให้ทราบถึงอายุการสร้างเจดีย์วัดพระรูป ตลอดจนถึงการบูรณะครั้งสำคัญหลายครั้ง รวมถึงยังได้พบโบราณวัตถุต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก การบูรณะของกรมศิลปากรครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเจดีย์วัดพระรูปนับเป็นหลักฐานสำคัญเป็นเสมือนตัวแทนของเจดีย์สมัยสุพรรณภูมิที่สมบูรณ์มากที่สุดองค์หนึ่ง

ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗).

 

พระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดพระรูปองค์ปัจจุบัน ผู้ขับเคลื่อนการสร้างพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปต่อจากปณิธานของหลวงพ่อดีจนสำเร็จ 
            ใน พ.ศ. ๒๕๖๑ พระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดพระรูปองค์ปัจจุบันและคณะกรรมการมูลนิธิวัดพระรูป ร่วมผลักดันและดำเนินการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ ผ่านการทำงานมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมและหน่วยงานการศึกษา อันเป็นการสืบสานงานพิพิธภัณฑ์ที่เคยริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) ให้สำเร็จลุล่วง   

พระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดพระรูปองค์ปัจจุบัน

 

พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป 
            พิพิธภัณฑ์วัดพระรูปเกิดขึ้นจากดำริของพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือหลวงพ่อดี และชาวบ้านชุมชนย่อยวัดพระรูป ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น ในครั้งนั้นเมื่อสร้างอาคารเสร็จจึงได้ปรับพื้นที่ชั้นบนเป็นที่จัดแสดงพระพุทธบาทไม้และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้เป็นเบื้องต้น ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๖๑ จึงได้เริ่มกระบวนการฟื้นฟูการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปขึ้น จากความประสงค์ของกลุ่มประชาคมวัดพระรูป ภายใต้การนำของพระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดพระรูป คณะกรรมการมูลนิธิวัดพระรูป ตลอดจนเครือข่ายชมรมนักโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ ที่ต้องการจะฟื้นฟูและสืบสานงานพิพิธภัณฑ์ที่เคยริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) โดยได้รับการสนับสนุนงานทางด้านวิชาการจากคณะนักวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้แนวคิดการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในยุคปัจจุบัน
            ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุทั้งชั้นล่างและชั้นบน ชั้นล่างจัดแสดงพระกรุของวัด อาทิ พระขุนแผนไข่ผ่าซีก พระชุดกิมตึ๋ง ฯลฯ เครื่องอัฐบริขารและพระเครื่องวัตถุมงคลของอดีตเจ้าอาวาสวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของเมืองสุพรรณ รูปเคารพหลวงพ่อดี จารึกลานทอง ใบเสมา ฯลฯ พร้อมทั้งจัดแสดงข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์ของวัดพระรูป ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญของวัดพระรูป อาทิ พระพุทธบาทไม้ พระพุทธรูป บุษบกธรรมาสน์ ระฆังสำริด ตู้พระไตรปิฎก หีบพระธรรม หีบหนังสือเทศน์ คัมภีร์ใบลาน สมุดพระมาลัย เครื่องถ้วย เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองเหลือง ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคนในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์วัดพระรูป

 

มณฑปหลวงพ่อดี (มณฑปบูรพาจารย์)
            ในสมัยพระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ สิริธโร (เพ็งสุวรรณ) เป็นเจ้าอาวาส ได้ร่วมกับคณะกรรมการวัดพระรูป ดำเนินการสร้างมณฑปหลวงพ่อดี แทนการบูรณะกุฏิที่ประดิษฐานรูปเคารพหลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดี ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมจนยากต่อการบูรณะ อีกทั้งกุฏิตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สะดวกในการเข้ามานมัสการของชาวบ้าน ท่านพระครูจึงดำริให้สร้างมณฑปหลวงพ่อดีขึ้นใหม่ ณ ตำแหน่งที่มีความโดดเด่น ทำให้ชาวบ้านที่สัญจรไปมามองเห็นได้ชัดเจนและสามารถเข้ามานมัสการได้สะดวกมากขึ้น มณฑปหลวงพ่อดีเริ่มสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ในคราวสร้างมณฑปนี้ได้ทำการหล่อรูปเคารพอดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูปเพิ่มอีก ๒ องค์ คือ รูปเคารพพระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำ และรูปเคารพพระครูอนุกูลสุวรรณากร (สมควร อธิปุโ) หรือหลวงพ่อควร เพื่อนำมาประดิษฐานในมณฑปนี้ด้วย

มณฑปหลวงพ่อดีและอดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป

            มณฑปหลวงพ่อดี เป็นอาคารแบบไทยประเพณีสมัยปัจจุบัน ตัวอาคารอยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม หลังคาเป็นแบบจัตุรมุขซ้อน ๒ ชั้นอันแสดงถึงเรือนฐานันดรชั้นสูง เครื่องยอดทรงเจดีย์สี่เหลี่ยม หน้าบันเป็นแบบไทยประเพณีมีไขราประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ บนหน้าบันทั้ง ๔ ด้านประดับรูปยันต์ประจำองค์ของหลวงพ่อดี มีบันไดทางขึ้นลงอยู่ด้านทิศตะวันออก ราวบันไดทั้งสองประดับด้วยรูปมนุษยนาค ภายในมณฑปประดิษฐานรูปเคารพของอดีตเจ้าอาวาสและพระอาจารย์องค์สำคัญของวัดพระรูป ได้แก่ พระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำ, หลวงพ่อเผื่อน (ปุสฺสชิโน), พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือหลวงพ่อดี, และพระครูอนุกูลสุวรรณากร (สมควร อธิปุโ) หรือหลวงพ่อควร

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดพระรูป
              วัดพระรูปเป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่สืบย้อนไปถึงสมัยรัฐสุพรรณภูมิ แต่การสืบค้นประวัติเจ้าอาวาสในอดีตนับเป็นเรื่องยาก ด้วยไม่มีบันทึกจดจารใดๆ หลักฐานเก่าแก่สุดที่ระบุชื่อพระภิกษุที่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัดพระรูปคือจารึกชื่อ “พระสางสมภาร” บนระฆังสำริดของวัด ที่อาจอนุมานได้ว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดในช่วงที่สร้างระฆังราว พ.ศ. ๒๒๔๒ ในสมัยสมเด็จพระเทพราชา นอกเหนือจากนั้นแล้วลำดับเจ้าอาวาสเท่าที่สืบค้นได้ล้วนมาจากความทรงจำและมุขปาฐะของคนเฒ่าคนแก่และการคาดคะเนระยะเวลา กระทั่งถึงประวัติศาสตร์ยุคใกล้ที่ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระรูปมีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ สามารถไล่เรียงได้ดังนี้

            องค์ที่ ๑ เป็นบุคคลในมุขปาฐะที่ถูกออกนามว่า “สมเด็จพระเจ้าง่อย” กล่าวกันว่าท่านเป็นเชื้อพระวงศ์จากกรุงศรีอยุธยาและเป็นง่อย (ที่ถูกควรเรียกว่า “สมเด็จเจ้าพระง่อย”) เข้าใจว่าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่ในช่วงกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นยุคที่วัดพระรูปมีความเจริญรุ่งเรือง    

            องค์ที่ ๒ นามว่า “วัน” กล่าวกันว่าเป็นเจ้าอาวาสในช่วงราวรัชกาลที่ ๓-๔ ทั้งนี้ “อาจารย์วัน” เป็นเจ้าอธิการวัดเพียงองค์เดียวในความทรงจำชาวบ้าน ที่พอจะสามารถไล่เรียงชื่อเจ้าอาวาสในยุคหลังของสมเด็จพระเจ้าง่อยได้

            องค์ที่ ๓ นามว่า “หรุ่น” หรือ “รุ่น” เป็นเจ้าอาวาสในช่วงรัชกาลที่ ๕ ชื่อนี้มีปรากฏในเอกสารรายงานจัดการศึกษามณฑลนครไชยศรี ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๔๓) ออกชื่อ เจ้าอธิการรุ่น วัดพระรูป อยู่ในคณะแขวงเมืองจำนวน ๕๘ วัด   

            องค์ที่ ๔ นามว่า “ช้าง” ตามประวัติกล่าวว่าท่านมีบิดาเป็นจีน มารดาเป็นไทย สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าอาวาสในช่วงเวลาสั้นๆ ในราวครึ่งหลังทศวรรษ ๒๔๔๐

            องค์ที่ ๕ นามว่า “แทน” สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าอาวาสในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงต้นรัชกาลที่ ๖ กล่าวกันว่าเมื่อชราภาพท่านตามืดมองอะไรไม่เห็น สมัยอาจารย์แทนเริ่มย้ายหมู่กุฏิมาปลูกสร้างในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี โดยมีพระแจงผู้ช่วยเจ้าอาวาสเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

            องค์ที่ ๖ พระแจงวินัยธร เป็นผู้นำในการสร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๕ - ๒๔๕๙ ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ในสมัยนี้ได้ย้ายหมู่กุฏิมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี และด้วยฐานานุกรม “วินัยธร” ทำให้เชื่อได้ว่าท่านย่อมมีส่วนช่วยงานคณะสงฆ์เมืองสุพรรณฯ ในยุค “สงฆ์สร้างชาติ” ซึ่งรวมถึงงานด้านการศึกษาด้วย ดังปรากฏในรายงานจัดการศึกษามณฑลนครไชยศรี ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๕) ระบุว่าวัดพระรูปมีการเรียนการสอนอย่างธรรมดาแล้ว พระแจงวินัยธรดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสถึงราวต้นทศวรรษ ๒๔๖๐ เป็นอย่างน้อย

            องค์ที่ ๗ พระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือ หลวงพ่อคำ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระรูปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๕๒๔ โดยท่านอยู่ในตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระรูปมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ กล่าวกันว่าหลวงพ่อคำมีบุคลิกที่เงียบขรึม พูดน้อย ด้วยเหตุนี้ภารกิจภายในวัดต่าง ๆ จึงมอบหมายให้ พระดี จตฺตมโล ซึ่งต่อมาเป็นรองเจ้าอาวาส เป็นผู้ดำเนินการแทนเป็นส่วนใหญ่

พระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือ หลวงพ่อคำ

            องค์ที่ ๘ พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือ หลวงพ่อดี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๕๑ ทว่า โดยพฤตินัยก่อนหน้านี้ท่านได้ปกครองดูแลวัดมาแต่ครั้งสมัยหลวงพ่อคำแล้ว หลวงพ่อดีเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงของเมืองสุพรรณบุรี ทั้งยังเป็นพระนักพัฒนา กายภาพของวัดพระรูปในปัจจุบันที่เกิดจากการย้ายหมู่กุฏิสงฆ์จากริมแม่น้ำกลับไปตั้งบริเวณเดิมคือด้านใต้ของเขตพุทธาวาส และการบูรณะอาคารสิ่งปลูกสร้าง อาทิ อุโบสถ วิหารพระพุทธไสยาสน์ ศาลาการเปรียญ ฌาปนสถาน ฯลฯ ตลอดจนแนวคิดอนุรักษ์รวบรวมและเก็บรักษาโบราณวัตถุศิลปวัตถุของวัดพระรูปอันเป็นจุดเริ่มต้นของงานพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปในเวลาต่อมา ล้วนเกิดขึ้นจากดำริและการลงมือทำของหลวงพ่อดี 

พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือ หลวงพ่อดี

            องค์ที่ ๙ พระครูอนุกูลสุวรรณากร (สมควร อธิปุโ) หรือ หลวงพ่อควร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๖๐ ท่านมีบทบาทในการช่วยงานด้านพัฒนาปรับปรุงวัดในสมัยหลวงพ่อดีมาอย่างต่อเนื่อง หลวงพ่อควรเป็นผู้ที่มีความใฝ่ใจในด้านงานอนุรักษ์เป็นพื้นฐาน และสืบสานแนวคิดในการจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปต่อมา  

พระครูอนุกูลสุวรรณากร (สมควร อธิปุโ) หรือ หลวงพ่อควร

            องค์ที่ ๑๐ พระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ (วุฒิพันธุ์ สิริธโร) เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๔ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๐ จนถึงปัจจุบัน พระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ ได้สืบต่องานด้านการพัฒนาวัดและงานด้านอนุรักษ์อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ การสร้างมณฑปสี่บูรพาจารย์วัดพระรูป การจัดทำพิพิธภัณฑ์วัดพระรูปให้เป็นแหล่งเรียนรู้ผ่านการทำงานมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมและหน่วยงานการศึกษา

พระครูสังฆรักษ์วุฒิพันธุ์ (วุฒิพันธุ์ สิริธโร)

E-BOOK

หนังสือ E-BOOK (หนังสือวัดพระรูป)

รูปภาพวัดพระรูป

อัลบั้มรูป

ชุดที่ 1

ภาพชุดสร้างอุโบสถ

ชุดที่ 1

ภาพชุดสร้างอุโบสถ
เข้าชม

ชุดที่ 2

ภาพชุดงานตั้งเสาอุโบสถ

ชุดที่ 2

ภาพชุดงานตั้งเสาอุโบสถ
เข้าชม

ชุดที่ 3

ภาพชุดสร้างวิหารพระไสยาสน์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ ฯลฯ

ชุดที่ 3

ภาพชุดสร้างวิหารพระไสยาสน์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ ฯลฯ
เข้าชม

ชุดที่ 4

ภาพชุดสร้างเขื่อนริมน้ำหน้าวัด

ชุดที่ 4

ภาพชุดสร้างเขื่อนริมน้ำหน้าวัด
เข้าชม

ชุดที่ 5

ภาพชุดงานวัด

ชุดที่ 5

ภาพชุดงานวัด
เข้าชม

ชุดที่ 6

ภาพชุดหมู่กุฏิริมน้ำ

ชุดที่ 6

ภาพชุดหมู่กุฏิริมน้ำ
เข้าชม

ชุดที่ 7

ภาพชุดโอสถหลังเก่า

ชุดที่ 7

ภาพชุดโอสถหลังเก่า
เข้าชม

ชุดที่ 8

ภาพชุดเจดีย์เก่า

ชุดที่ 8

ภาพชุดเจดีย์เก่า
เข้าชม

ชุดที่ 9

ภาพชุดวิหารเก่าพระพุทธไสยาสน์

ชุดที่ 9

ภาพชุดวิหารเก่าพระพุทธไสยาสน์
เข้าชม