Home » ประวัติศาสตร์
แรกสร้างวัดในสมัยสุพรรณภูมิ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙)
สุพรรณบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน-เจ้าพระยา มีประวัติความเป็นมายาวนานสืบย้อนกลับไปได้อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ และเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในชื่อเมือง “สุพรรณภูมิ” ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสถาปนากรุงศรีอยุธยาบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ความสำคัญของเมืองสุพรรณภูมิคงมีอยู่อย่างน้อยในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา
แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านสมัยสุพรรณภูมิมานาน แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีร่องรอยหลักฐานอารยธรรมสุพรรณภูมิหลงเหลืออยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัดพระรูปที่สถาปนาขึ้นในสมัยสุพรรณภูมิราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ยังคงปรากฏหลักฐานโบราณสถานโบราณวัตถุในสมัยสุพรรณภูมิอยู่เป็นจำนวนมาก จึงนับได้ว่าวัดพระรูปเป็นตัวแทนของวัดสมัยสุพรรณภูมิที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน เป็นประตูย้อนไปสู่อารยธรรมสุพรรณภูมิ
แรกเริ่มประวัติศาสตร์ “สุพรรณภูมิ”
“สุพรรณภูมิ” เป็นทั้งชื่อแว่นแคว้น/รัฐโบราณ และเป็นชื่อเดิมของเมืองสุพรรณบุรี ในยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ แต่เดิมเคยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเมือง “สุพรรณภูมิ” กับ “อู่ทอง” คือเมืองเดียวกัน ข้อเท็จจริงก็คือสุพรรณภูมิเป็นเมืองที่ขึ้นมามีบทบาทแทนที่อู่ทองนับตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และมีพัฒนาการที่ร่วมสมัยกับละโว้–อโยธยาทางซีกตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่สุพรรณภูมิครองความเป็นใหญ่อยู่ทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) อำนาจสุพรรณภูมิเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขการผสมผสานทางวัฒนธรรม ระหว่างพุทธศาสนาแบบทวาราวดี ทั้งลัทธิมหายานและหินยานแบบเถรวาทและลัทธิฮินดู ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙[1] ที่สำคัญคือการเข้ามาผสมกลมกลืนของกลุ่มคนไทยที่เคลื่อนย้ายเข้ามาจากดินแดนทางตอนบนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เมื่อประกอบกับอิทธิพลขอมที่เรืองอำนาจในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สิ่งนี้ส่งผล ต่อพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมตลอดจนภาษาของรัฐสุพรรณภูมิที่เป็นการผสมผสานระหว่าง อารยธรรมแบบขอม – มอญและไทยและพูดภาษาไทย ต่างกับทางละโว้ – อโยธยา ที่ใกล้ชิดอารยธรรมขอมมากกว่า และพูดภาษาเขมร[2]
รัฐโบราณในดินแดนประเทศไทยและใกล้เคียง ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๑๘๙๓ รัฐสุพรรณภูมิ (หมายเลข ๙) ครองความเป็นใหญ่ในซีกตะวันตกของดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี (ท่าจีน) ในปัจจุบัน
ที่มาภาพ: สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงสุโขทัยมาจากไหน ? (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๘), ๑๕๑
“สุพรรณภูมิ” ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ (พ.ศ. ๑๘๒๖)
นาม “สุพรรณภูมิ” ปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ. ๑๘๒๖) ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๗-๒๒ ที่กล่าวถึงอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ความว่า “... มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอด สรลวง สองแคว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของเถิงเวียงจันทน์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้(อ)งหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว...”[3] แสดงให้เห็นว่า สุพรรณภูมิเป็นเมืองมาแล้วอย่างน้อยในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ร่วมสมัยกับเมืองสุโขทัยและก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยา
ภูมิกายภาพของเมืองสุพรรณภูมิ – ความสัมพันธ์ระบบ “เมืองคู่”
ภูมิกายภาพของผังเมืองสุพรรณภูมิมีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับผังเมืองที่ร่วมสมัย เดียวกัน เช่น แพรกศรีราชา เพชรบุรี ราชบุรี ซึ่งเป็นเมือง/แว่นแคว้นทางซีกตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา สัณฐานเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ยังคล้ายคลึงกับอโยธยาศรีรามเทพนคร เมืองสำคัญของแว่นแคว้นทางซักตะวันออก ตัวเมืองสุพรรณภูมิมีขนาด ๓,๖๐๐ x ๑,๙๐๐ เมตร ด้วยข้อสันนิษฐานถึงการมีคูน้ำกำแพงเมืองล้อมรอบครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี เมืองนี้จึงเป็น “เมืองอกแตก” ที่มีแม่น้ำผ่ากลางไหลผ่านจากเหนือลงใต้[4] ที่ตั้งของพระราชวังและวัดสำคัญต่างๆ เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุรวมถึงวัดพระรูป ล้วนอยู่ทางฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ดอนมากกว่า ทั้งนี้ ร่องรอยของกำแพงเมืองคูน้ำทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ที่หลงเหลืออยู่อย่างชัดเจนมีลักษณะโอบล้อมคล้ายรั้วขนาดใหญ่ เป็นที่มาของคำว่า “รั้วใหญ่” ในคำเรียกของชาวบ้าน และต่อมากลายเป็นชื่อ ตำบลรั้วใหญ่ ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี[5]
ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ระบบการเมืองของสุพรรณภูมิแรกเริ่มคือรูปแบบความสัมพันธ์ระบบ “เมืองคู่” ที่ใกล้ชิดกับ แพรกศรีราชา หรือ เมืองสรรคบุรี (ปัจจุบันคืออำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท) ซึ่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคปลายทวารวดีและเติบโตจากการขยายตัวของสุพรรณภูมิมาตามแม่น้ำสุพรรณบุรี และแม่น้ำน้อยขึ้นไปทางเหนือ ทั้งนี้ ระบบ “เมืองคู่” ภายใต้ความสัมพันธ์ของผู้นำกลุ่มเดียวกันเป็นทั้งวิธีขยายเครือข่ายอำนาจและการรวมทรัพยากรของเมืองทั้งสองตลอดจนเมืองบริวาร สิ่งนี้ยังเป็นฐานที่ทำให้สุพรรณภูมิมีพัฒนาการไปสู่ความเป็น “อาณาจักร” ในเวลาต่อมา[6]
ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงที่ตั้งและผังเมืองสุพรรณภูมิ ที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในรูปจะเห็นแนวคูน้ำคันดินชัดเจนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี รวมถึร่องรอยแนวคูน้ำลางๆ ทางฝั่งตะวันออก อันเป็นที่มาของข้อถกเถียงว่า สุพรรณภูมิเป็นเมือง “อกแตก” หรือไม่
ที่มาภาพ: วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-กรกฎาคม ๒๕๒๖), ๕.
เจดีย์วัดพระรูป หลักฐานการสร้างวัดในสมัยเมืองสุพรรณภูมิช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙
วัดพระรูปมีเจดีย์เก่าแก่ขนาดใหญ่องค์หนึ่ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด จากตำแหน่งที่ตั้งเจดีย์เมื่อเทียบกับแผนผังของวัดแล้ว ยังไม่อาจระบุชัดเจนได้ว่าเป็นเจดีย์ในตำแหน่งใดของเขตพุทธาวาส กล่าวได้ว่าเป็นเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่งที่อยู่ในพื้นที่วัด
การก่อสร้างฐานรากเจดีย์วัดพระรูปมีวิธีการที่เรียบง่าย ฐานรากเป็นดินเหนียวอัดแน่นซึ่งเป็นชั้นดินธรรมชาติ จากนั้นถมทรายปรับพื้นที่ แล้วจึงสร้างฐานเจดีย์ การสร้างเจดีย์ใช้วิธีการก่ออิฐ ใช้ดินสอและจึงฉาบปูนทับ การเรียงอิฐใช้วิธีวางอิฐแนวยาวสลับแนวขวาง มีโครงสร้างภายในเป็นโพรง ไม่ทึบตัน มีการถากอิฐเป็นแนวเฉียงเพื่อปั้นปูนเป็นบัว และมีการถากอิฐเป็นสันแหลมเพื่อปั้นปูนเป็นลูกแก้วอกไก่
เจดีย์วัดพระรูปในปัจจุบัน หลังได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร ตั้งอยู่ที่วัดพระรูป ภายในตัวเมืองโบราณสุพรรณ นับเป็นหลักฐานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสมัยสุพรรณภูมิ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดพระรูป
ส่วนฐาน ประกอบด้วย ฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสทรงสูง ต่อด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสองซ้อนลดหลั่นกัน ๒ ชั้น ต่อด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมยี่สิบ ต่อขึ้นด้วยฐานบัวลูกแก้วในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมสิบสอง ที่ยืดท้องไม้สูงและประดับลูกแก้วอกไก่ ๒ เส้น ด้านทิศตะวันออกก่อเป็นมุขยื่นออกมาจากฐานเขียงและฐานบัวลูกแก้ว มุขนี้มีบันไดขึ้นลงไปสู่ลานด้านหน้า สันนิษฐานว่าในมุขประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า การทำฐานบัวลูกแก้วในผังสี่เหลี่ยมย่อมุม ที่ยืดท้องไม้สูงและประดับลูกแก้วอกไก่ ๒ เส้น พบเป็นที่นิยมอยู่ในศิลปะล้านนา
ส่วนกลาง เป็นเรือนธาตุซ้อน ๒ ชั้น ทำให้เจดีย์มีรูปทรงสูงเพรียว และเป็นรูปแบบพิเศษของกลุ่มเจดีย์ทรงปราสาทยอด เรือนธาตุชั้นล่างอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านยกเก็จแล้วทำซุ้มจรนำเพื่อประดับพระพุทธรูปประทับยืน ลักษณะซุ้มพระมีแนวอิฐเป็นวงโค้ง รอบเรือนธาตุประดับลูกแก้วอกไก่ส่วนบน ๒ เส้นและส่วนล่าง ๒ เส้น และมีการประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ส่วนที่ชำรุดสูญหายไปสันนิษฐานว่ามีการประดับเสาติดผนังที่มุม ส่วนบนของเรือนธาตุทำเป็นหลังคาลาด และมีซุ้มเหนือช่องจรนำ
เรือนธาตุชั้นบนอยู่ในผังแปดเหลี่ยม แต่ละด้านทำซุ้มจรนำเพื่อประดับพระพุทธรูปประทับยืน รอบเรือนธาตุประดับลูกแก้วอกไก่ส่วนบน ๒ เส้นและส่วนล่าง ๒ เส้น และมีการประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ลักษณะองค์พระเป็นโกลนอิฐพอกปูน ส่วนที่ชำรุดสูญหายไปสันนิษฐานว่าส่วนบนของเรือนธาตุทำเป็นหลังคาลาด มีซุ้มเหนือช่องจรนำ นักวิชาการวิเคราะห์ว่า การทำซุ้มจรนำประดับพระพุทธรูปทั้งแปดด้าน คล้ายกับรัตนเจดีย์ในศิลปะสมัยหริภุญชัยที่วัดจามเทวี จ. ลำพูน[7]
ส่วนยอด อยู่เหนือเรือนธาตุ ประกอบด้วย ส่วนรองรับองค์ระฆังที่เป็นชุดบัวคว่ำ-บัวหงายอยู่ในผังแปดเหลี่ยมจำวน ๒ ชั้นซ้อนลดหลั่นกัน มีลูกแก้วอกไก่ประดับท้องไม้ ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวปากระฆังอยู่ในผังกลม ต่อขึ้นด้วยองค์ระฆังขนาดค่อนข้างเล็กอยู่ในผังกลมทรงยืดสูงเพรียว การก่อองค์ระฆังใช้อิฐรูปสี่เหลี่ยมคางหมู บัลลังก์อยู่ในผังแปดเหลี่ยม ต่อด้วยก้านฉัตร บัวฝาละมี ปล้องไฉน เหนือขึ้นไปจากนี้ชำรุดสูญหาย มีร่องรอยการประดับลวดลายปูนปั้นบนส่วนยอด
เจดีย์วัดพระรูป: เจดีย์ทรงปราสาทยอด
เจดีย์วัดพระรูปมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในกลุ่ม “เจดีย์ทรงปราสาท” อันหมายถึง เจดีย์ที่มีเรือนหลายชั้นซ้อนกัน หรือที่มีหลังคาลาดหลายชั้นซ้อนลดหลั่นกัน ซึ่งมีแบบที่แตกต่างกันออกไปอีกหลายแบบ ส่วนสำคัญของเจดีย์ทรงนี้คือการทำเรือนธาตุเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป โดยจะประดิษฐานไว้ในห้องคูหาที่ลึกเข้าไปในเรือนธาตุหรือจะไว้ในซุ้มจรนำที่ผนังเรือนธาตุก็ได้
ทั้งนี้ เหนือเรือนธาตุขึ้นไปมักจะเป็นชั้นซ้อนของหลังคา และต่อยอดเป็นกรวยที่มีองค์ระฆังเป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่โดยทั่วไปปราสาทจะหมายถึงเรือนชั้นซ้อนโดยไม่จำเป็นต้องมียอดแหลม ดังนั้นการที่เจดีย์ทรงปราสาทมีการต่อยอดกรวยขึ้นไปอีกส่วนหนึ่ง จึงนิยมเรียกเจดีย์ทรงนี้อีกชื่อด้วยว่า “เจดีย์ทรงปราสาทยอด”
เจดีย์วัดพระรูป: พุทธสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ของเมืองสุพรรณในพุทธศตวรรษที่ ๑๙
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูปใน พ.ศ. ๒๕๓๔ และได้บูรณะเจดีย์วัดพระรูปใน พ.ศ. ๒๕๓๗ พบฐานเจดีย์ครั้งแรกสร้างและหลักฐานต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ สันนิษฐานว่าเจดีย์วัดพระรูปคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยมีรูปแบบคลี่คลายมาจากเจดีย์วัดพระแก้ว อ. สรรคบุรี จ. ชัยนาท ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุที่พบ[8]
การศึกษาที่ผ่านมามีนักวิชาการให้ความสนใจเจดีย์วัดพระรูปไม่น้อย ในอดีต น. ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยสุพรรณภูมิเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ ๑๘[9] ต่อมา ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม วิเคราะห์ลวดลายปูนปั้นประดับที่ยังหลงเหลืออยู่ เชื่อว่าเจดีย์วัดพระรูปเป็นงานในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่สืบเนื่องจากเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรคบุรี โดยมีขนาดเล็กกว่าและย่นย่อองค์ประกอบต่าง ๆ ลง[10]
ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ วิเคราะห์รูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทยอดวัดพระรูปว่า ที่มุมทั้งสี่เหนือเรือนธาตุน่าจะประดับเจดีย์จำลอง (สถูปิกะ) ทำให้เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอด น่าจะมีที่มาจากเจดีย์ทรงปราสาท ๕ ยอดในศิลปะล้านนา โดยมีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์วัดพระแก้ว อ. สรรคบุรี จ. ชัยนาท เจดีย์ลักษณะนี้นับเป็นรูปแบบใหม่ที่รับรูปแบบมาจากศิลปะล้านนา โดยผสมระหว่างเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดที่มีเรือนธาตุสี่เหลี่ยมและประดับเจดีย์จำลองที่พบในสมัยล้านนาตอนต้น (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙) กับเจดีย์ทรงปราสาทยอดในผังแปดเหลี่ยมที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และปรากฏในศิลปะล้านนาระยะแรก ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐) ทั้งนี้ส่วนยอดที่เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีชุดบัวคว่ำ-บัวหงาย ๓ ชั้นรองรับองค์ระฆัง ยังเป็นรูปแบบที่พบในศิลปะล้านนาเช่นกัน ประกอบกับยังมีอิทธิพลศิลปะสุโขทัยปรากฏร่วมด้วย ได้แก่ กรอบซุ้มหน้านาง และพระพุทธรูปที่เป็นแบบอู่ทองรุ่น ๓ ที่มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัยแล้ว เจดีย์รูปแบบใหม่นี้นิยมในบริเวณเมืองสรรคบุรีลงมาสุพรรณบุรี เจดีย์รูปแบบนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐[11]
อย่างไรก็ดี จารึก วิไลแก้ว นักโบราณคดีวิเคราะห์ว่า พัฒนาการของกลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมเมืองสุพรรณบุรี มีรากเหง้ามาจากกลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมของเมืองอู่ทอง ที่เป็นเจดีย์สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖) โดยหลังจากเมืองอู่ทองล่มสลาย กลุ่มชนเมืองอู่ทองมิได้สูญหายไปไหน แต่ได้เคลื่อนย้ายไปรวมกลุ่มในลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำสุพรรณบุรี บ้านหนองแจง เนินทางพระ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ วัฒนธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลในบริเวณนี้ จึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมอยู่ช่วงหนึ่ง ได้พบหลักฐานศิลปะลพบุรี (เขมรในประเทศไทย) อย่างกว้างขวางในบริเวณดังกล่าว และเป็นรากเหง้าของอิทธิพลศิลปะลพบุรีที่คงเหลือต่อมาในสมัยหลัง ร่วมสมัยเดียวกับกลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมในเมืองสุพรรณ สำหรับเจดีย์วัดพระรูปจัดอยู่ในกลุ่มเจดีย์ที่มีฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนด้านบนเป็นแปดเหลี่ยม อาทิ เจดีย์วัดแร้ง เจดีย์วัดมรกต คงจะมีพัฒนาการขึ้นจากกลุ่มโบราณสถานแปดเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมในสมัยทวารวดีตอนปลาย องค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างแบบเจดีย์วัดพระรูป มักพบในกลุ่มโบราณสถานเมืองอู่ทอง โดยเกิดการพัฒนาแนวคิดในการสร้างเจดีย์ โดยการผสมผสานโครงสร้างเจดีย์แบบสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมเข้าด้วยกัน และขยายโครงสร้างในส่วนแปดเหลี่ยมสูงขึ้นไป รวมทั้งองค์ระฆังบัลลังก์และปล้องไฉน มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ร่วมสมัยกับกลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมตั้งแต่ชั้นล่างสุด อาทิ เจดีย์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เจดีย์วัดพระอินทร์ เจดีย์วัดไก่เตี้ย กลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยมในสุพรรณได้กระจายขึ้นไปทางเขตภาคกลาง เช่น วัดพระแก้ว วัดมหาธาตุ อ. สรรคบุรี จ. ชัยนาท สำหรับเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรคบุรีนั้น มีรูปแบบคล้ายเจดีย์วัดพระรูป โดยมีอายุหลังกว่าวัดพระรูป แต่ยังคงรักษาโครงสร้างทรงสูงของเจดีย์ไว้ได้[12]
โบราณวัตถุประเภทเศษภาชนะดินเผาที่พบในการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป
ในการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูปของกรมศิลปากร[13] ยังได้พบโบราณวัตถุประเภทเศษภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ประเภทเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) พบมากที่สุด เนื้อค่อนข้างหยาบมีทรายปน เผาอุณหภูมิค่อนข้างต่ำสุกไม่ตลอด ส่วนใหญ่ผิวสีแดงส้มเนื้อดิน มีทั้งแบบผิวเรียบและผิวมีลวดลายตกแต่ง อาทิ ชิ้นส่วนภาชนะหม้อก้นกลมผิวเรียบ
ประเภทเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) พบน้อยกว่าชนิดเนื้อดิน ในชั้นดินตอนล่างที่เป็นชั้นดินร่วมสมัยกับการสร้างเจดีย์ครั้งแรก ส่วนใหญ่เนื้อค่อนข้างหนา เนื้อดินหยาบมีทรายปน ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ตกแต่งผิวด้วยลวดลายกากบาทแล้วเขียนสีแดงทับ ลายรูปกลีบบัว ลายคล้ายเม็ดข้าว ฯลฯ เผาสุกทั่วกัน ผิวมีสีเทา อาทิ เศษภาชนะประเภทไหหรือหม้อปากกว้างก้นกลม โดยพบว่ามีที่มาจากแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน ต. พิหารแดง อ. เมืองสุพรรณ ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับวัดพระรูป มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๓
ประเภทเศษภาชนะดินเผาเคลือบ พบน้อยมากเมื่อเทียบกับประเภทอื่น ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเคลือบจากแหล่งเตาในประเทศ บางชิ้นเป็นเนื้อดินไม่ค่อยละเอียด ด้านในมีรอยของกี๋จานหรือกี๋งบน้ำอ้อย เคลือบทั้งด้านในและด้านนอกด้วยน้ำเคลือบสีเขียวไข่กา (เซลาดอน) บางชิ้นมีเนื้อหยาบ ตกแต่งด้วยการปั้นแปะเป็นรูปดอกไม้ ๖ กลีบ เคลือบสีเขียวขุ่น บางชิ้นเขียนสีด้วยสีดำลายเส้นขูดขีด เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้คล้ายกับภาชนะที่พบในกลุ่มเตาที่ อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๒๒ นอกจากนี้ ยังได้พบกระปุกเคลือบสีเขียวเซลาดอน ในชั้นดินปนทรายอันเป็นชั้นพื้นของเจดีย์ มีผิวแตกราน ด้านในและก้นไม่เคลือบ เนื้อดินสีออกแดง ภายในบรรจุเศษกระดูกเผาไฟ สันนิษฐานว่าผลิตจากแหล่งเตาเผาใน อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑
หลักฐานภาชนะดินเผาเหล่านี้ สนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าเจดีย์วัดพระรูปสร้างขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และมีการบูรณะหลายครั้งสืบเนื่องเรื่อยมา สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของวัดและการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนในบริเวณวัดแห่งนี้
กระปุกเคลือบสีเขียวเซลาดอน พบในชั้นดินปนทรายอันเป็นชั้นพื้นของเจดีย์วัดพระรูป สันนิษฐานว่าผลิตจากแหล่งเตาเผาใน อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑
ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๔).
พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยสุพรรณภูมิที่พบในบริเวณวัดพระรูป
พระพุทธรูปองค์นี้ นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง มอบให้วัดพระรูป ตามคำบอกเล่ากล่าวว่า พบบริเวณวิหารมุมของวัดพระรูป พระพุทธรูปองค์นี้สร้างจากวัสดุสำริดกะไหล่ทอง ขนาดสูงรวมฐาน ๙๑.๑ ซม. แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระเกตุมาลาเป็นทรงกรวย ครองจีวรห่มเฉียง ปลายจีวรเป็นลายกระหนกรูปคล้ายเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานรูปทรงบัวคว่ำบัวหงายที่มีลักษณะเว้าโค้งตามการประทับนั่ง ที่ฐานบัวสลักเป็นลายเส้นกระหนกรูปกลีบบัว จัดเป็นศิลปะแบบสุพรรณภูมิ (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐) หรือที่นิยมเรียกกันว่าพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นหนึ่ง
พระพุทธรูปปางมารวิชัย (พบบริเวณวิหารมุม วัดพระรูป) พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ แบบศิลปะสุพรรณภูมิ วัสดุสำริดกะไหล่ทอง ขนาด สูงรวมฐาน ๙๑.๑ ซ.ม. นายวชิรพงศ์ วงษ์เพ็ง (มหาทม) มอบให้วัดพระรูป
ฐานเจดีย์หลังอุโบสถ
ฐานเจดีย์เก่าองค์หนึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถในแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก ในปัจจุบันมีสภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนฐาน โดยส่วนยอดและเรือนธาตุหักพังลงมาทับถมส่วนฐานจนไม่สามารถพิจารณารูปแบบได้ อย่างไรก็ดี ในอดีตเจดีย์องค์นี้คงมีความสำคัญ เนื่องจากตั้งอยู่ในตำแหน่งตรงกับอุโบสถในแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเป็นแนวแกนสำคัญของการสร้างพุทธศาสนสถานตามจารีตโบราณ ประกอบกับลักษณะและขนาดของอิฐที่ใช้สร้างเจดีย์มีหลายขนาด อิฐที่มีขนาดใหญ่มีเนื้อคล้ายกับอิฐสมัยทวารวดี อิฐในส่วนของฐานบัวมีร่องรอยการถากเกลาให้เป็นรูปทรง อิฐในส่วนหน้ากระดานบางแห่งมีการถากเกลาให้เว้าเป็นร่อง รวมถึงยังมีการใช้ศิลาแลงประกอบด้วย
เจดีย์หลังอุโบสถ ก่อสร้างจากอิฐหลายขนาดผสมด้วยศิลาแลง โดยเฉพาะอิฐขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกับอิฐในสมัยทวารวดี
ร่องรอยการใช้อิฐขนาดเล็กผสมผสานกับอิฐขนาดใหญ่สมัยทวารวดีและศิลาแลง ยังปรากฏอยู่ในการก่อเจดีย์แปดเหลี่ยมในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (ทิศใต้) เป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูน จากหลักฐานการขุดแต่งเจดีย์องค์นี้พบว่า ก่อนการสร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมมีร่องรอยของซากโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยทวารวดีอยู่แล้วในบริเวณนี้ ซึ่งอาจอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘[14]
นอกจากนี้ ฐานเจดีย์หลังอุโบสถยังสังเกตเห็นร่องรอยของแนวอิฐที่น่าจะยื่นออกมาเป็นมุขทางด้านทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้คงจะมีมุขยื่นเป็นบันไดทางด้านทิศตะวันออก เจดีย์องค์นี้คงจะมีความสัมพันธ์กับอุโบสถไม่มากก็น้อยโดยอาจสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน นับเป็นหลักฐานสำคัญของวัดพระรูปที่ควรได้รับการศึกษาค้นคว้าต่อไป
สุพรรณภูมิ – เจินหลี่ฟู่ - เสียน และความสัมพันธ์กับจีน
นับแต่โบราณที่เอกสารจีนได้ระบุถึงเรื่องราวของแคว้น “เจินหลี่ฟู่” รัฐโบราณในท้องถิ่นคาบสมุทรทะเลใต้ที่นับตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้มีการติดต่อค้าขายกับจีนโดยตรง ข้อสรุปของนักวิชาการลงความเห็นว่า “เจินหลี่ฟู่” น่าจะหมายถึง “สุพรรณภูมิ” เนื่องจากเอกสารจีนระบุว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีแม่น้ำไหลออกสู่ทะเลได้ และอยู่ระหว่างลังกากับกัมพูชาผ่านทางตอนใต้พม่า[15] ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บันทึกสมัยราชวงศ์หยวนระบุถึง “เสียน” ที่ส่งทูตมาเจริญสัมพันธ์กับจีน โดยที่ “เสียน” น่าจะหมายถึง “สุพรรณภูมิ” ด้วยเช่นกัน ในเอกสาร “บันทึกขนบธรรมเนียมประเพณีเจินละ” ของ “โจวต้ากวาน” นักการทูตจีนที่เดินทางเข้าไปยังเมืองพระนครในสมัยพระเจ้าอินทรวรวันที่ ๓ ระบุว่า เสียน (เสียนหลอ) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเจินละ (กัมพูชา) ใช้เวลาเดินทางครึ่งเดือน[16] เป็นไปได้ว่า “เสียน” คือเครือข่ายกลุ่มรัฐของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยในซีกตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและการเมืองอันได้แก่ สุโขทัย สุพรรณภูมิ แพรกศรีราชา ราชบุรี เพชรบุรี ไปจนถึงนครศรีธรรมราช ขณะที่ “สุพรรณภูมิ” ถือเป็นรัฐใหญ่ของเครือข่ายแว่นแคว้นซีกตะวันตกและมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ควบคุมจุดเชื่อมต่อเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างดินแดนทะเลใต้กับอินเดียและอาหรับ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงให้ความสำคัญกับผู้ปกครองที่สุพรรณภูมิเป็นพิเศษ
ขอบเขตของรัฐสุพรรณภูมิครอบคลุมซีกตะวันตกของคาบสมุทรทำให้ดินแดนนี้เป็นจุดเชื่อมต่อการค้าระหว่างดินแดนทะเลใต้กับอินเดียและอาหรับ
ที่มาภาพ: สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงสุโขทัยมาจากไหน ? (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๘), ๙๓.
เอกสารอ้างอิง
[1] วารุณี โอสถารมย์, “พัฒนาการจากเมืองอู่ทองโบราณถึงรัฐสุพรรณภูมิ พุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๙ กรณีศึกษาประวัติศาสตร์ รัฐอิสระในลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง,” ใน ๓๐ ปี ไทยคดีศึกษา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๑๔๖.
[2] ดูรายละเอียดใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, สุพรรณบุรีมาจากไหน (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗).
[3] กรมศิลปากร, ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๔๗), ๓๔.
[4] อย่างไรก็ตาม ความเห็นทางวิชาการที่ว่า เมืองสุพรรณภูมิเป็น “เมืองอกแตก” หรือไม่นั้น มีความเห็นไปในทาง ๒ กระแส กระแสหนึ่งเห็นไปในทางว่าเป็น “เมืองอกแตก” ที่สำคัญคือ ทัศนะของ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม (๒๕๒๖) ซึ่งศึกษาจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศพบว่าบริเวณที่เป็นเมืองสุพรรณภูมิซึ่งตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำสุพรรณบุรีนั้น มีเมืองโบราณสร้างทับกันอยู่ บริเวณเมืองเก่าครอบคลุมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำสุพรรณบุรี เพราะมีแนวคูน้ำคันดินทางฝั่งทิศตะวันออกปรากฏอยู่ ทั้งนี้ งานศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณในเวลาต่อมา อาทิ รัตนา หนูน้อย (๒๕๒๙) วารุณี โอสถารมย์ (๒๕๔๖) ล้วนเห็นไปในทางเดียวกันว่าผังเมืองสุพรรณภูมิเป็น “เมืองอกแตก” ในขณะที่อีกกระแส เช่น ประชุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ (๒๕๕๓) เห็นว่าเมืองสุพรรณภูมิไม่ใช่ “เมืองอกแตก” แต่ใช้แม่น้ำสุพรรณบุรีเป็นคูเมืองทางทิศตะวันออก คันคูน้ำเดิมที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศนั้นอยู่ห่างไกลกระจายหัวบานออกไปซึ่งทำให้ผังเมืองดูไม่ได้สัดส่วน แท้จริงแล้วแนวคูน้ำด้านฝั่งตะวันออกถูกขุดขึ้นภายหลังเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรกรรมมากกว่า.
[5] วิระดา ทองมิตร, “สุพรรณภูมิ ... แว่นแคว้นโบราณแห่งลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี,” ใน เมืองโบราณ ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๔ (ตุลาคม – ธันวาคม, ๒๕๕๙), ๑๙.
[6] รูปแบบความสัมพันธ์ระบบเมืองคู่ปรากฏบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง เช่น ในซีกตะวันออกทางแคว้นละโว้ - อโยธยา ปรากฏเมืองคู่คือเมืองลพบุรีและอโยธยา ขณะที่บ้านเมืองที่อยู่ถัดขึ้นไปตอนบน เช่น แคว้นสุโขทัยมีเมืองคู่คือเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย เป็นต้น ดูรายละเอียดประเด็นนี้ใน ธิดา สาระยา, “สร้างบ้านแปงเมืองระบบเมืองคู่สถาบันเมืองลูกหลวง,” ใน เมืองโบราณ ฉบับสุพรรณภูมิ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒, (เมษายน – กรกฎาคม, ๒๕๒๖), ๑๓ – ๒๗.
[7] ศักดิ์ชัย สายสิงห์, เจดีย์ในประเทศไทย: รูปแบบ พัฒนาการ และพลังศรัทธา. (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๐), ๔๘๗.
[8] กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๔), ๒๘.
[9] น. ณ ปากน้ำ, “ศิลปะแห่งอาณาจักรสุพรรณภูมิ,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๙, ฉบับที่ ๒ (เมษายน-กรกฎาคม, ๒๕๒๖), ๓๐-๓๑.
[10] สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๐), ๗๘. และดูใน สันติ เล็กสุขุม, “เจดีย์วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี หลักฐานใหม่ที่ค้นพบ,” ใน รวมบทความ มุมมอง ความคิดและความหมาย: งานช่างไทยโบราณ (กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๔๘), ๕๘-๗๐.
[11] ศักดิ์ชัย สายสิงห์, เจดีย์ในประเทศไทย: รูปแบบ พัฒนาการ และพลังศรัทธา (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๖๐), ๔๘๗-๔๘๙.
[12] จารึก วิไลแก้ว, “กลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยม: เมืองสุพรรณบุรี,” ใน รวมบทความทางวิชาการ ๗๒ พรรษาท่านศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พรินท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, ๒๕๓๘), ๒๒๗-๒๕๘.
[13] กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๔). และ กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗).
[14] จารึก วิไลแก้ว, “กลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยม: เมืองสุพรรณบุรี,” ใน รวมบทความทางวิชาการ ๗๒ พรรษาท่านศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พรินท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, ๒๕๓๘), ๒๒๗-๒๕๘.
[15] วารุณี โอสถารมย์, “พัฒนาการจากเมืองอู่ทองโบราณถึงรัฐสุพรรณภูมิ พุทธศตวรรษที่ ๘ – ๑๙ กรณีศึกษาประวัติศาสตร์ รัฐอิสระในลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง,” ใน ๓๐ ปี ไทยคดีศึกษา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๑๔๘.
[16] เฉลิม ยงบุญเกิด, บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจนละ. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๗, พิมพ์ครั้งที่ ๓, ๘. ทั้งนี้ แต่เดิมยังเชื่อกันว่า “เสียน” คือ สุโขทัย.
วัดในยุครุ่งเรืองสมัยสุพรรณภูมิ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑)
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ นี้ วัดพระรูปยังคงเป็นวัดสำคัญของเมืองสุพรรณภูมิอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏหลักฐานต่าง ๆ ภายในวัดพระรูปที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลานี้ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ สันนิษฐานว่ามีการบูรณะเจดีย์ครั้งใหญ่ โดยทำฐานบัวปิดล้อมรอบฐานเขียงชั้นล่างสุดของเจดีย์ และทำการตกแต่งลวดลายปูนปั้นบนองค์เจดีย์ใหม่ทั้งองค์ ดังปรากฏร่อยรอยเหลืออยู่ที่ช่องจรนำเรือนธาตุ บัวปากระฆัง และบัลลังก์ ลวดลายปูนปั้นที่เกิดจากการบูรณะครั้งนี้ สามารถเทียบได้กับลวดลายปูนปั้นที่ปรางค์วัดมหาธาตุ จ. ลพบุรี พระปรางค์วัดราชบูรณะ จ. พระนครศรีอยุธยา ที่กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
ในช่วงเวลานี้ ยังมีการสร้างพระพุทธไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐฉาบผิวด้วยปูนโบราณ ประทับไสยาสน์พิงผนังวิหารอยู่บนฐานเขียงเตี้ย ๆ พระเศียรหันไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พุทธศิลป์ของพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ แสดงถึงศิลปะสมัยเมืองสุพรรณภูมิ ที่กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานพระพุทธรูปหินทราย ใบเสมาหินทราย และพระพิมพ์ดินเผากรุวัดพระรูป ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
การบูรณะซ่อมแซมและก่อสร้างวัดพระรูปเพิ่มเติมครั้งใหญ่ในช่วงเวลานี้ อาจมีความเชื่อมโยงกับข้อความในจารึกลานทองที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลานี้ซึ่งพบภายในวัดพระรูป จารึกกล่าวถึง “พระมหาเถรชัยโมลี” ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระมหาเถรศรีราชโมฬี” การค้นพบหลักฐานงานศิลปกรรมจำนวนมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นยุคที่เจริญสูงสุดของวัดพระรูป และหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดของเมืองสุพรรณภูมิในอดีต
สถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๑๘๙๓ ผู้ปกครองจากสุพรรณภูมิ และกองเรือสมุทรยาตรา
กรุงศรีอยุธยาถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ โดยความร่วมมือระหว่างผู้นำจากสายสุพรรณภูมิ และละโว้ – อโยธยา (บ้างเรียกสายอู่ทอง) อย่างไรก็ตาม ในช่วงรัชกาลแรกๆ ไม่มีฝ่ายใดที่ยึดกุมอำนาจ กรุงศรีอยุธยาได้อย่างเด็ดขาด ดังจะพบว่าเมื่อ พระเจ้าอู่ทอง หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กษัตริย์ กรุงศรีอยุธยาพระองค์แรกจากสายละโว้ - อโยธยาสวรรคต ขุนหลวงพะงั่ว ผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิ ก็ขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในชื่อ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พ.ศ.๑๙๑๓ – ๑๙๓๘) ทว่า หลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ อำนาจก็กลับไปที่สายละโว้ – อโยธยาอีกครั้ง จนกระทั่งในสมัย พระรามราชาธิราช กษัตริย์จากสายละโว้ – อโยธยา ก็ถูกเจ้านครอินทร์ หรือ สมเด็จพระนครินทราธิราช จากสายสุพรรณภูมิทำรัฐประหารชิงราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๒ หลังจากนั้นราชวงศ์สุพรรณภูมิได้ปกครอง กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๑๑๒
ภาพวาดแผนที่กรุงศรีอยุธยา “Iudia ou Sian” (Judia or Siam) วาดโดยจิตรกรฝรั่งเศสชื่อ อแล็ง มาเนอส ช็อง – มัลเลยต์ ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๖๘๓ แสดงให้เห็นถึงชื่อที่ชาวตะวันตกใช้เรียกกรุงศรีอยุธยา โดยมีคำว่า “เสียน” (สยาม) ควบคู่กัน ทั้งนี้ คำว่า “เสียน” ยังน่าจะสะท้อนร่องรอยกรุงศรีอยุธยานับแต่ที่ผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิ เข้ามามีอำนาจอย่างมั่นคงแล้วอีกด้วย
ที่มาภาพ: กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองนานานาชาติสู่มรดกโลก (กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๙), ๖๖.
สำหรับเจ้านครอินทร์นั้นไม่ปรากฏประวัติแน่ชัด บ้างว่าเป็นหลานของขุนหลวงพะงั่ว บางกระแสว่าเป็นโอรส พระศรีเทพาหูราช ที่เกิดจากขุนหลวงพะงั่ว กับ เจ้าหญิงสุโขทัย ขณะที่เอกสารจีน “หมิงสือลู่” กล่าวถึง “เจี่ยวหลกควานอิน” (เจ้านครอินทร์) ผู้เป็น “สี่จื๊อของซูมั่นบังอ๋อง” หรือ รัชทายาแห่งสุพรรณภูมิ ที่เคยเสด็จไปเมืองจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๘ และ ๑๙๒๐[1] ข้อน่าสนใจคือ นอกจากขุนหลวงพะงั่วและเจ้านครอินทร์ที่ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว เอกสารจีนไม่เคยระบุถึงกษัตริย์อยุธยาจากสายละโว้ - อโยธยา แต่อย่างใดดูเหมือนว่าในสายตาจีน ผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิมีความโดดเด่นมากกว่า ด้วยเพราะรัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งอยู่ทางซีกตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ควบคุมการค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดียมาแต่ไหนแต่ไร ข้อเสนอบางกระแสกล่าวว่าจีนในสมัยราชวงศ์หมิงมีเป้าประสงค์ ที่จะผลักดันผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิในการยึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาอย่างเบ็ดเสร็จจากสายละโว้ - อโยธยาในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยสิ่งนี้เป็นหนึ่งในภารกิจการเดินทางของ “กองเรือสมุทรยาตรา” โดยแม่ทัพเรือ “เจิ้งหอ” เมื่อ พ.ศ.๑๙๕๑ ด้วย[2]
ขนาดอันมหึมาของเรือมหาสมบัติของแม่ทัพเรือเจิ้งเหอ เปรียบเทียบกับเรือซานตา มารีอา (Santa Maria) ของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา สิ่งนี้คือปัจจัยชี้ขาดชัยชนะที่ผู้ปกครองจากสายสุพรรณภูมิ มีต่อสายละโว้ – อโยธยา ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ !!!
ที่มาภาพ: สืบแสง พรหมบุญ, เจิ้งเหอ ซำปอกงและอุษาคเนย์ (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๙).
การบูรณะเจดีย์วัดพระรูปในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐
ในการบูรณะเจดีย์วัดพระรูปโดยกรมศิลปากร พบหลักฐานว่าเจดีย์วัดพระรูปได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นับเป็นการบูรณะครั้งแรก โดยพบการเปลี่ยนแปลงรูปทรงบางส่วน และมีการเปลี่ยนแปลงลวดลายปูนปั้นหลายส่วน ได้แก่ ช่องจรนำเรือนธาตุ บัวปากระฆัง บัลลังก์ ลวดลายที่เกิดจากการบูรณะนี้สามารถเทียบได้กับลวดลายปูนปั้นที่ปรางค์วัดมหาธาตุ จ. ลพบุรี พระปรางค์วัดราชบูรณะ จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐[3]
เหตุแห่งการบูรณะเจดีย์วัดพระรูปในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ พบว่าที่ฐานเขียงชั้นล่างสุดได้พบเศษปูนปั้นและปูนฉาบจำนวนมากทับถมกันจนสูง และมีดินทับถมสูงในฐานบัวล้อมรอบ จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์น่าจะชำรุดทรุดโทรมไม่น้อย เป็นเหตุให้มีการบูรณะเจดีย์องค์นี้ขึ้นใหม่ รูปแบบเจดีย์ในสมัยบูรณะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ฐานบัวล้อมรอบเจดีย์ และปูนปั้นประดับเจดีย์
การบูรณะฐานบัวล้อมรอบเจดีย์
ในการบูรณะได้ก่อแนวฐานบัวอยู่ห่างจากฐานเขียงล่างสุดของเจดีย์สมัยแรกสร้างประมาณ ๒.๒ เมตร สันนิษฐานว่ามีการสร้างฐานบัวล้อมรอบฐานเจดีย์สมัยแรกสร้าง เพื่อปิดฐานเขียงชั้นล่างสุดและมุขของเจดีย์สมัยแรกสร้าง เนื่องจากพบดินทับถมสูงในฐานบัวล้อมรอบแต่ละด้านสร้างไม่พร้อมกัน กล่าวคือ แนวด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกคงสร้างพร้อมกัน อยู่ลึกจากระดับผิวดินประมาณ ๐.๕ เมตร ใช้อิฐที่มีขนาดความหนาประมาณ ๐.๐๔-๐.๐๕ เมตร ได้พบดินทับถมสูงในฐานบัวล้อมรอบ
ฐานบัวทางด้านทิศตะวันออก จากการที่กรมศิลปากรทำการบูรณะได้พบว่า ฐานบัวนี้ก่อปิดมุขด้านตะวันออกขององค์เจดีย์ครั้งแรกสร้างไว้ จึงได้เปิดฐานบัวออกเพื่อให้เห็นมุขดังปรากฏในปัจจุบัน
การบูรณะปูนปั้นประดับเจดีย์
การบูรณะปูนปั้นประดับเจดีย์ ปูนปั้นประดับเรือนธาตุชั้นล่าง (เรือนธาตุผังสี่เหลี่ยม) มีการเปลี่ยนแปลงปูนปั้นในลักษณะเพิ่มเติมจากของเดิมที่ชำรุด และบางส่วนปั้นปิดทับของเดิม อาทิ ภายในซุ้มด้านทิศใต้ มีการปั้นปูนเป็นลายช่อดอกไม้ช่อใบไม้ปิดทับและต่อเติมปูนปั้นของเดิม และที่ปูนปั้นประดับเรือนธาตุชั้นบน (เรือนธาตุผังแปดเหลี่ยม) มีการเปลี่ยนแปลงลวดลายปูนปั้นที่บัวลูกแก้วอกไก่ทั้ง ๒ เส้น โดยเส้นบนมีการปั้นลวดลายกระหนกเรียงเป็นแถว ส่วนเส้นล่างมีการฉาบปูนเป็นแนวเรียบปิดทับลวดบัวลูกแก้วอกไก่ของเดิม แล้วประดับปั้นปูนลายดอกไม้กลมบานเป็นกลีบ (ลายนี้เป็นที่นิยมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐) ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยบนเสาช่องจรนำด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีการปั้นปูนลายกลีบบัวประดับส่วนต่าง ๆ ลายประดับลูกแก้วอกไก่ส่วนเรือนธาตุ ลายประดับหน้ากระดานส่วนเรือนธาตุ ลายประจำยามประดับชั้นหน้ากระดาน ลายก้อนเมฆประดับซุ้มพระพุทธรูปบนส่วนเรือนธาตุ ลายเฟื่องอุบะประดับเสาเรือนธาตุ ลายช่อดอกไม้ในกรอบสามเหลี่ยมประดับมุมเจดีย์[4]
ร่องรอยการทำประติมากรรมประดับในซุ้มจรนำของเรือนธาตุชั้นบน (เรือนธาตุแปดเหลี่ยม) ด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระพุทธรูปประทับยืน หรือพระพุทธรูปลีลา ที่สอดคล้องตามรูปทรงของซุ้มจรนำ
ปูนปั้นลายกรวยเชิงประดับบริเวณหัวเสาซุ้มจรนำของเรือนธาตุชั้นบน (เรือนธาตุแปดเหลี่ยม) ทางด้านทิศตะวันตก
ปูนปั้นลายดอกไม้และกิ่งก้านในกรอบลายจุดไข่ปลา ที่น่าจะมีอยู่เมื่อครั้งแรกสร้างเจดีย์ ถูกปิดทับด้วยลายปูนปั้นรูปใบไม้ ซึ่งน่าจะเป็นงานที่มาปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเมื่อครั้งบูรณะเจดีย์ บริเวณซุ้มจรนำเรือนธาตุด้านทิศใต้
ยังได้พบประติมากรรมปูนปั้นเป็นลวดลายที่ประดับตกแต่งองค์เจดีย์อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ปูนปั้นประดับบัวปากระฆัง มีการปั้นปูนพอกทับแนวอิฐเดิมที่ถากเป็นบัวคว่ำและบัวหงาย โดยพอกทับบัวคว่ำของเดิมแล้วแต่งให้เป็นแนวหน้ากระดานเรียบ และประดับปูนปั้นเป็นลายประจำยามก้ามปูทับหน้ากระดานนั้น ส่วนบัวหงายของเดิมได้มีการประดับปั้นปูนเป็นรูปกลีบบัวหงาย (ลายจำประยามก้ามปู เป็นที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ สอดคล้องกับลายดอกไม้กลมบานเป็นกลีบที่ประดับเรือนธาตุชั้นบน) บัลลังก์มีการพอกปูนปรับแผนผัง จากเดิมที่เป็นโครงสร้างอิฐอยู่ในรูปย่อมุมไม้สิบหกให้เป็นรูปแปดเหลี่ยม และมีการประดับปูนปั้นรูปดอกไม้และใบไม้ในรูปแบบแตกต่างกัน ส่วนปล้องไฉนมีการพอกปูนประดับปูนปั้นทับของเดิม เป็นรูปกลีบบัวซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ในลักษณะบัวกลุ่ม
ส่วนยอดเจดีย์วัดพระรูป ปรากฏร่องรอยการประดับตกแต่งที่เหลืออยู่ บัลลังก์ประดับลายดอกไม้ บัวกลุ่มประดับกลีบบัวซ้อนคั่นด้วยแถบหน้ากระดาน สะท้อนให้เห็นว่าส่วนยอดเจดีย์วัดพระรูปมีการประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นเต็มพื้นที่
ร่องรอยการประดับตกแต่งบัวปากระฆังด้วยลวดลายปูนปั้นรูปหน้ากระดานและกลีบบัวหงาย
ลวดลายปูนปั้นที่บัลลังก์แปดเหลี่ยม สังเกตเห็นลายดอกไม้ใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมลายจุดไข่ปลา ด้านละหนึ่งดอก เหนือขึ้นไปเป็นลายกลีบบัวหงาย
นอกจากนี้ ยังได้พบประติมากรรมปูนปั้นนูนสูงรูปบุคคล จำนวน ๖ ชิ้น มีลักษณะใบหน้าค่อนข้างงดงาม คล้ายกับพระพักตร์พระพุทธรูปรูปปูนปั้น สวมเครื่องประดับศีรษะทรงสูงยอดแหลมมีปล้องรัดเป็นช่วง ๆ บางชิ้นสวมเครื่องประดับคล้ายเทริด ได้พบส่วนองค์ของรูปบุคคล จำนวน ๒ ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นรูปบุคคลพนมมือ พระศอสวมเครื่องประดับ อีกชิ้นหนึ่งเป็นรูปบั้นพระองค์ สวมผ้านุ่งที่ชักชายผ้าออกมาด้านข้าง ตกแต่งลายดอกไม้ที่ผ้านุ่ง นอกจากนี้ ยังได้พบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของประติมากรรมรูปบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ ชิ้นส่วนพระกร พระหัตถ์ ศิราภรณ์ ผ้านุ่ง เครื่องประดับ สันนิษฐานว่าประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลเหล่านี้คือประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาประดับซุ้มเรือนธาตุองค์เจดีย์ โดยยังปรากฏร่องรอยของส่วนองค์เทวดาปูนปั้นเหลืออยู่ในซุ้มทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์ ประติมากรรมลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์เหล่านี้ มีรูปแบบเป็นที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ดังปรากฏที่เจดีย์รายด้านทิศเหนือของปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี[5]
ชิ้นส่วนปูนปั้นประดับองค์เจดีย์ที่พบจากการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป แสดงให้เห็นถึงการปั้นปูนรูปเทวดาและลวดลายต่าง ๆ ตกแต่งเจดีย์ตั้งแต่ครั้งแรกสร้าง รวมถึงการบูรณะในช่วงเวลาต่อมา
ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗).
พระพุทธไสยาสน์
พระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป ตามตำนานพื้นเมืองสุพรรณบุรีเล่าว่า เมื่อครั้งที่ขุนแผนยังบวชเป็นเณร (เณรแก้ว) อยู่ที่วัดป่าเลไลยก์ พระอาจารย์วัดป่าฯ ใช้ให้เณรแก้วไปตักน้ำที่แม่น้ำ เณรแก้วได้มาตักน้ำที่ท่าน้ำวัดพระรูป แต่ก็แอบมานอนหลับ ต่อมาจึงได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้น ณ ที่นั้น เป็นตำนานของพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป ซึ่งชาวพื้นเมืองในอดีตนิยมเรียกว่า พระนอนเณรแก้ว
องค์พระพุทธไสยาสน์ก่อด้วยอิฐฉาบผิวด้วยปูนโบราณ ประทับไสยาสน์พิงผนังวิหารอยู่บนฐานเขียงเตี้ยๆ พระเศียรหันไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระวรกายเอียงหงายเล็กน้อย ครองจีวรบางแนบพระวรกาย พระบาทวางซ้อนเหลื่อมปลายเล็กน้อย ลักษณะพระพักตร์รีคล้ายผลมะตูม เม็ดพระศกขนาดเล็กขมวดเป็นก้นหอย พระเกตุมาลาเป็นเปลวรัศมีมีกลีบบัวรองรับ พระขนงเป็นวงโค้ง พระนาสิกโด่งยาวปลายงุ้ม พระหนุเป็นวง พระโอษฐ์อย่างกระจับ ไรพระศกเป็นเส้นขนาดเล็ก พระเนตรเหลือบต่ำ ผ้าสบงบางแนบพระวรกาย ชายผ้าสบงลักษณะคล้ายหางปลา พระวรกายทุกส่วนสมบูรณ์ ความยาวตั้งแต่พระรัศมีถึงพระบาทประมาณ ๑๓.๖๕ เมตร ความสูงประมาณ ๓.๔๕ เมตร พุทธศิลป์ของพระพุทธไสยาสน์องค์นี้แสดงถึงศิลปะสมัยเมืองสุพรรณภูมิ กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้น นับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดของเมืองสุพรรณภูมิในอดีต
การที่พระพุทธไสยาสน์วัดพระรูปหันพระเศียรไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีความหมายถึงการประทับสีหไสยาสน์ของพระพุทธเจ้า ตามคติความเชื่อที่เริ่มขึ้นในสมัยสุโขทัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งสืบทอดมาจากลังกาสมัยเมืองโปโลนนารุวะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘) ประกอบกับลักษณะของวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบๆ ด้านหน้าพระพุทธไสยาสน์มีพื้นที่กว้างประมาณ ๒ เมตร มีผนังทึบทั้งสี่ด้านโดยผนังด้านพระเศียรและพระบาทมีช่องประตู จึงมีความหมายถึงพระพุทธเจ้าประทับสีหไสยาสน์ในคันธกุฎี เอกลักษณ์ของพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูปคือ การประทับสีหไสยาสน์สอดคล้องตามเนื้อหาในคัมภีร์ ที่นอกจากการประทับไสยาสน์ตะแคงขวาด้วยอาการสงบมีสติสัมปชัญญะตลอดเวลาตามรูปแบบพระพุทธไสยาสน์ทั่วไปแล้วนั้น ยังแสดงอาการสีหไสยาสน์อย่างเป็นธรรมชาติ โดยวางพระบาทเหลื่อมพระบาท อันเป็นการช่วยพยุงพระวรกายและพระบาทให้ทรงประทับไสยาสน์อยู่ได้นาน
ในช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พระพุทธไสยาสน์วัดพระรูปและวิหารชำรุดทรุดโทรมอย่างมากองค์พระถูกลักลอบขุดเจาะหาของมีค่าหลายครั้ง พระอุทรถูกเจาะเป็นรูกว้าง พระนลาฏและฐานใต้พระเศียรถูกเจาะ ทางวัดต้องซ่อมแซมอยู่บ่อยครั้งตามกำลังที่มี ส่วนวิหารโครงไม้หลังคาชำรุด พระพุทธไสยาสน์ต้องตากแดดตากฝน ทำให้ไม่ค่อยมีคนเข้าไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ภายในวิหาร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยการนำของพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) เจ้าอาวาสวัดพระรูปในขณะนั้น ได้เริ่มทำการบูรณะพระพุทธไสยาสน์และวิหารครั้งใหญ่ โดยได้รื้อวิหารเก่าออก คงเหลือไว้เพียงผนังด้านหลังพระพุทธไสยาสน์ รวมถึงผนังบริเวณพระเศียรและพระบาทอีกเล็กน้อย แล้วก่อสร้างอาคารวิหารใหม่ มีขนาดใหญ่ครอบคลุมอาคารวิหารเดิมดังปรากฏในปัจจุบัน
นอกจากพระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระรูปแล้ว ในเมืองสุพรรณยังพบพระพุทธไสยาสน์ที่คล้ายกับวัดพระรูปอีก ๒ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี ด้วยมีขนาดใกล้เคียงกัน ประดิษฐานในทิศทางเดียวกัน และประดิษฐานบนฐานเตี้ยเช่นเดียวกัน หากแต่พระพุทธไสยาสน์ทั้ง ๒ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรีได้รับการซ่อมแซมด้วยฝีมือช่างพื้นบ้านแล้ว
พระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป
วิหารพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูป ก่อนการบูรณะในสมัยหลวงพ่อดี เริ่มบูรณะ พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยได้สร้างอาคารหลังใหม่ครอบอาคารหลังเดิมไว้ และรื้อผนังด้านตะวันออกของอาคารเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมออก
พระพุทธไสยาสน์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ในเมืองสุพรรณ นอกจากจะมีพระพุทธไสยาสน์วัดพระรูปแล้ว ยังมีพระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จำนวน ๒ องค์ ประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธาน พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มีขนาดและลักษณะการประดิษฐานบนฐานเตี้ย ๆ คล้ายที่วัดพระรูป นักวิชาการท้องถิ่นบันทึกไว้ว่า พระพุทธรูปคู่นี้เป็นของเก่า แต่ในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่วัดยังรกร้างไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ได้ถูกรื้อเอาอิฐไปสร้างโบสถ์ที่วัดป่าเลไลยก์ ต่อมาจึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่[6] ด้วยฝีมือช่างพื้นบ้าน ทำให้พุทธศิลป์มีความแตกต่างจากวัดพระรูปอย่างมาก
พระพุทธไสยาสน์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี หันพระเศียรไปทางทิศไต้ พระพักตร์หันไปทางด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานจำนวน ๒ องค์ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของปรางค์ประธาน
เอกสารอ้างอิง
[1] ดูรายละเอียดใน ปรามินทร์ เครือทอง, “กรุงศรีปฏิวัติ: เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม ในปฏิวัติ “ตัดหน้า” หรือ “ส้มหล่น”” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑๑ (กันยายน, ๒๕๕๔), ๑๐๑ - ๑๑๓.
[2] ดูรายละเอียดใน สุจิตต์ วงษ์เทศ, สุพรรณบุรีมาจากไหน (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๗).
[3] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๑๐.
[4] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๘-๙.
[5] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๙, ๑๒-๑๔.
[6] วรพร พรหมใจรักษ์, วัด แหล่งศิลปกรรมท้องถิ่นในเมืองสุพรรณบุรี (สุพรรณบุรี: โรงเรียนสงวนหญิงจังหวัดสุพรรณบุรี, ม.ป.ป.), ๓๕.
จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี
จารึกเป็นเอกสารจดหมายเหตุรูปแบบหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ มีความสำคัญด้านการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีความเที่ยงตรงสูง โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับศักราช ชื่อสถานที่ ชื่อบุคคล และชื่อตำแหน่ง มีความน่าเชื่อถือมากเพราะจารึกเป็นเอกสารร่วมสมัย สามารถนำไปใช้ตรวจสอบกับเอกสารชั้นรองที่ทำขึ้นภายหลังได้เป็นอย่างดี
สมัยอยุธยานิยมจารึกลงบนแผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นดีบุกและกระดาษ โดยมักพบจารึกปะปนอยู่ในกรุต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากสมัยสุโขทัยที่นิยมจารึกลงในแผ่นศิลาหรือแท่งศิลา เรียกว่า ศิลาจารึก จารึกสมัยอยุธยาที่ค้นพบแล้วมีอยู่หลายกลุ่ม จารึกบางกลุ่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพระราชทานสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ในสมัยอยุธยา ที่จารึกลงบนแผ่นทองเรียกว่า “สุพรรณบัฏ” ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่มีปฏิบัติสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ส่วน “จารึกลานทอง” เป็นจารึกบนแผ่นทองคำ คำว่า ลาน มีความหมายว่า บริเวณที่ว่าง หรือสนาม ลานทอง จึงหมายถึง บริเวณที่ว่างที่เป็นทองคำ โดยหมายถึงแผ่นทองคำ
จารึกลานทองวัดพระรูป ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
“จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี” เป็นจารึกที่ขุดพบจากวัดพระรูป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ลักษณะเป็นจารึกลานทองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖ ซม. ยาว ๓๐.๗ ซม. วัสดุเป็นทองคำ น้ำหนัก ๒๗.๕ กรัม จารึกด้วยอักษรขอมสมัยอยุธยา ภาษาไทย มีอายุราวพุทธศตวรรษ ๒๐ จารึกจำนวน ๑ ด้าน มี ๒ บรรทัด[1] ความว่า
พระมหาเถรชัยโมลี นาม
พระมหาเถรศรีราชโมลี อวย
แปลโดยรวมได้ว่า พระมหาเถรรูปหนึ่งมีนามเดิมว่า “พระมหาเถรชัยโมลี” ได้รับพระราชทาน (อวย) สมณศักดิ์เป็น “พระมหาเถรศรีราชโมลี” จารึกลานทองนี้จึงเป็นจารึกเกี่ยวกับการเลื่อนสมณศักดิ์ของพระมหาเถรชัยโมลี จึงได้ชื่อว่า จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี
สมณศักดิ์ เป็นยศของพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานและมีราชทินนามประกอบไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระวันรัตน์ พระครูธรรมราชา ส่วนที่เป็นยศ ได้แก่ สมเด็จ พระครู ส่วนที่เป็นราชทินนาม ได้แก่ พระวันรัตน์ ธรรมราชา สมณศักดิ์มีอยู่หลายลำดับชั้น ในชั้นของพระราชาคณะปัจจุบันแบ่งเป็น สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะรอง (ชั้นหิรัณยบัฏ) พระราชาคณะชั้นธรรม พระราชาคณะชั้นเทพ พระราชาคณะชั้นราช และพระราชาคณะชั้นสามัญ
สมัยกรุงสุโขทัย ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง มีอยู่ ๔ ตำแหน่งคือ สังฆราช ปู่ครู มหาเถระ และเถระ สังฆราชเป็นตำแหน่งสังฆนายกชั้นสูงสุด ตำแหน่ง ปู่ครู น่าจะตรงกับคำเรียกในปัจจุบันว่า พระครู เป็นตำแหน่งสังฆนายกรองลงมาจากสังฆราช ทั้งตำแหน่งสังฆราชและปู่ครูเป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน ส่วนมหาเถระและเถระ เป็นลำดับชั้นจากการนับพรรษาอายุตามพระวินัยบัญญัติ โดยมิได้เป็นสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทาน[2] ต่อมาในสมัยอยุธยา มีการแบ่งคณะสงฆ์เป็นฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี ในคณะคามวาสีแบ่งอีก ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ มีการเปลี่ยนราชทินนามของพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้ง ให้ดูแลคณะคามวาสีฝ่ายใต้ หรือเจ้าคณะใหญ่มีราชทินนามว่า พระวันรัตน์ หรือพระพนรัตน์ ปัจจุบันใช้คำว่า สมเด็จพระวันรัต ส่วนพระสงฆ์ที่ทรงแต่งตั้งให้ดูแลคณะคามวาสีฝ่ายเหนือ หรือเจ้าคณะใหญ่ มีราชทินนามว่า พระพุทธโฆษาจารย์ ส่วนคณะอรัญวาสี ให้มีราชทินนามว่า พระพุทธาจารย์ ปัจจุบันใช้คำว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ และทรงสถาปนาพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งเลื่อนจากเจ้าคณะใหญ่รูปใดรูปหนึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช อันเป็นสมณศักดิ์และประมุขสูงสุด ดูแลปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเพียงองค์เดียว[3]
ในทำเนียบตำแหน่งพระราชาคณะสมัยกรุงเก่า ระบุว่า เมืองสุพรรณเป็นเมืองไม่มีตำแหน่งพระครู สังกัดในคณะหัวเมืองปากใต้ ขึ้นกับคณะคามวาสีฝ่ายขวา ตั้งอยู่ในฐานานุกรมของพระวันรัตน์ วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล)[4] ข้อความในจารึกลานทองวัดพระรูปจึงมีความสอดคล้องกับข้อมูลนี้ เพราะไม่ปรากฏตำแหน่งพระครูในจารึกลานทอง โดยปรากฏคำว่า พระมหาเถร ซึ่งเป็นลำดับชั้นทางพระวินัยบัญญัติ มีจุดน่าสังเกตที่คำว่า “โมลี” ซึ่งเป็นคำในราชทินนามในสมัยกรุงเก่า เช่น พระเทพโมลี (ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายอรัญวาสี) และ พระครูอินทโมลี (ตำแหน่งพระราชาคณะแห่งเมืองประสงค์ คณะหัวเมืองปากใต้ คณะคามวาสี ฝ่ายขวา)[5] มีส่วนคล้ายกับนามของ พระมหาเถรชัยโมลี และสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานคือ พระมหาเถรศรีราชโมลี ในช่วงเวลานั้นน่าจะเทียบได้กับพระราชาคณะชั้นสามัญ อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแสดงทัศนะไว้ว่า “เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองใหญ่และอยู่ใกล้พระนคร จำต้องมีพระครูเจ้าคณะเมือง บางทีเมืองที่ในบัญชีว่าไม่มีพระครูนั้น ที่จริงจะไม่มีแต่ราชทินนาม”[6] หากแต่จารึกลานทองวัดพระรูปแสดงสมณศักดิ์ว่า “พระมหาเถรศรีราชโมลี” นั้นแสดงลำดับชั้นของพรรษาอายุตามพระวินัยบัญญัติ มีราชทินนาม และมีความสอดคล้องกับทำเนียบตำแหน่งพระราชาคณะในสมัยกรุงเก่าที่ระบุว่า เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองที่ไม่มีตำแหน่งพระครู
ความสำคัญและความน่าสนใจของจารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลี ยังคงเป็นประเด็นคำถามต่อการศึกษา อาทิ พระมหาเถรชัยโมลีเป็นใคร มีความเกี่ยวข้องกับวัดพระรูปอย่างไร อาจดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีสงฆ์ของวัดพระรูป หรืออาจเป็นเจ้าคณะเมืองสุพรรณบุรี หรือมีชาติภูมิอยู่ในละแวกวัดพระรูป อนึ่ง จารึกลานทองพระมหาเถรชัยโมลีเป็นเอกสารจดหมายเหตุที่แสดงความเชื่อมโยงทางการปกครองและการพระศาสนาของเมืองสุพรรณบุรีกับกรุงศรีอยุธยา เป็นหลักฐานที่ยืนยันความสำคัญและความเจริญของวัดพระรูปในอดีต รวมถึงคณะสงฆ์วัดพระรูปและผู้อุปถัมภ์วัดพระรูปในช่วงเวลานั้น
จารึกลานทอง (จำลอง) วัดพระรูป จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
สุพรรณภูมิในจารึกลานทองวัดส่องคบ จ. ชัยนาท (พ.ศ. ๑๙๕๑)
นาม “สุพรรณภูมิ” ปรากฏอีกครั้งในจารึกลานทองวัดส่องคบ ใน พ.ศ. ๑๙๕๑ ความว่า “... แต่ปีชวดนักษัตรสัมฤทธิศก ไพสาขวันอาทิตย์ตราเอกาทศเกต จึงพระสงฆ์ทั้งหลาย แต่ ธ เจ้าเมืองประดิษฐาพระศรีรัตนธาตุ แห่งกรุงไชยสถานนาม มาตราหนึ่ง แต่ ธ เจ้าเมืองกระทำกุศลมาแต่กระโน้นในสุพรรณภูมิ ธ ให้ทานเรือนอัน ธ กระทำกุฏีพิหารในศรี อโยธยา ให้ข้าสองคน แม่ลูก พระสงฆ์สี่ตน ตกเสิก...” และยังปรากฏในความว่า “... ผ้าขาวผู้หนึ่งท่านให้บำเรอแด่พระศรีรัตนมหาธาตุแห่งนครพระรามโสด ผ้าขาวครัวหนึ่งชื่อยี่ช้างท่านให้บำเรอแด่พระมหาเถรธรรมบุตรแห่งศรีสุพรรณภูมิมาแล้ว แต่ทำบุญอันเริ่มล้นพ้นไป พระเจ้าหากตรัส ชแล ...”[7]
จารึกลานทองวัดส่องคบ อักษรขอม ภาษาไทย พ.ศ. ๑๙๕๑ พบที่วัดส่องคบ อ. เมือง จ. ชัยนาท
สุพรรณภูมิในฐานะเมืองลูกหลวง เจ้าอ้ายพระยา
“จารึกวัดส่องคบ” จังหวัดชัยนาท ระบุเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจุลศักราช ๗๗๐ (พ.ศ. ๑๙๕๑) กล่าวถึง การทำบุญสร้างวัดของเจ้าเมืองขุนเพชรสารกับครอบครัว ซึ่งมีการอ้างภูมิหลังของครอบครัวที่เคยทำบุญที่เมืองสุพรรณภูมิและเมืองอโยธยา อันเป็นเมืองใหญ่เสมอกันในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ข้อสนเทศนี้ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว “สุพรรณภูมิ” หาใช่ เมือง “อู่ทอง” ตามข้อเสนอ ทางวิชาการสกุลดำรงราชานุภาพ ทว่า เป็นเมืองต้นทางประวัติศาสตร์ของ “สุพรรณบุรี” มาแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แม้หลังสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว สองเมืองนี้ก็นับเป็นนครใหญ่ควบคู่กัน
เหตุการณ์ในจารึกวัดส่องคบ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ นั่นคือก่อนรัฐประหารของ “เจ้านครอินทร์” กษัตริย์เมืองสุพรรณภูมิที่กำลังจะขึ้นมาเป็นผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาในนาม “สมเด็จพระนครินทราธิราช” เมื่ออำนาจผู้ปกครองสุพรรณภูมิย้ายไปตั้งมั่นอยู่ที่อยุธยา สถานะเมืองสุพรรณภูมิคือหนึ่งใน “เมืองลูกหลวง” ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร “แล้วจึงให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าอ้ายพระยากินเมืองสุพรรณบุรี (สุพรรณภูมิ) เจ้ายี่กินเมืองแพรกศรีราชาคือเมืองสรรค์ เจ้าสามพระยากินเมืองชัยนาท (พิษณุโลก)”
สำหรับ “เจ้าอ้ายพระยา” ผู้ครองสุพรรณภูมิ หากพิจารณาจากชื่อ “อ้าย” ย่อมมีความหมายว่าเป็นโอรสองค์โต กระนั้น ไม่มีข้อบ่งชี้ใดที่ระบุว่า เจ้าอ้ายพระยาคือรัชทายาท มีข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วเมืองสุพรรณภูมิถูกลดบทบาทลงนับตั้งแต่ก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เพราะความสนใจของกษัตริย์อยุธยาในเวลานั้นได้ย้ายมาอยู่ที่การควบคุม “เมืองเหนือ” ที่พิษณุโลกมากกว่า เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนครินทราธิราช เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ชิงราชสมบัติรบกันสิ้นพระชนม์บนหลังช้างทั้งสองพระองค์ ราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาตกแก่ “เจ้าสามพระยา”
พระพุทธรูปประธานอุโบสถวัดพระรูป
พระพุทธรูปประธานเป็นองค์ดั้งเดิมตั้งแต่แรกสร้างอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปั้นปูนปิด มีการซ่อมแซมครั้งหลังสุดในคราวสร้างอุโบสถหลังใหม่ พุทธลักษณะในปัจจุบันมีพระเศียรรูปทรงค่อนข้างเหลี่ยม รับกับกรอบพระพักตร์ที่ค่อนข้างเหลี่ยม พระรัศมีเปลวลักษณะเป็นพุ่มสั้นมีวงแหวนยอดแหลมรองรับ เม็ดพระศกค่อนข้างเล็กขมวดเป็นก้นหอย มีไรพระศกเป็นแถบแบนค่อนข้างกว้าง แนวไรพระศกด้านหน้าเป็นเส้นตรง ส่วนที่พาดผ่านมาที่ขมับเป็นมุมแหลม พระนลาฏมีลักษณะแบนเรียบและแคบ พระขนงเป็นเส้นสันนูนต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ เปลือกพระเนตรอูมโปนมาก มีเส้นแบ่งระหว่างเปลือกพระเนตรและพระขนง พระนาสิกยาวโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์หนาเป็นเส้นตรง มุมพระโอษฐ์ตวัดขึ้นเล็กน้อย พระหนุเหลี่ยมรับกับกรอบพระพักตร์ พระกรรณหนาและใหญ่ พระวรกายมีลักษณะสมบูรณ์ค่อนข้างเตี้ยตัน บั้นพระองค์ค่อนข้างใหญ่ พระพาหาตั้งตรง ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาวางตรง พระกรขวาวางบริเวณหน้าแข้ง นิ้วไม่ยาวจรดฐาน พระชงฆ์เป็นสันตรงในลักษณะประดิษฐ์ไม่เป็นธรรมชาติ แม้พระพุทธรูปองค์นี้จะได้รับการซ่อมแซมเมื่อไม่นานมานี้ แต่ยังพอจะเห็นเค้าของพระพุทธรูปศิลปะพื้นเมืองสุพรรณภูมิ ซึ่งน่าจะมีรากฐานมาจากศิลปะทวารวดีและศิลปะเขมรที่แพร่หลายอยู่ในพื้นที่ โดยได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสานแล้ว อาจกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ร่วมสมัยกับศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น นับเป็นตัวอย่างพระพุทธรูปสำคัญของเมืองสุพรรณภูมิ
พระพุทธรูปประธานอุโบสถวัดพระรูป ตามประวัติกล่าวว่าได้รับการบูรณะในสมัยหลวงพ่อดี พร้อมกับการบูรณะอุโบสถ โดยการกะเทาะผิวองค์พระออกและปั้นใหม่ โดยน่าจะเป็นการปั้นไปตามเค้าโครงเดิม
ชิ้นส่วนของดอกพิกุลทอง
ชิ้นส่วนของดอกพิกุลทองวัดพระรูป มีลักษณะเป็นแผ่นรูปดอกสี่กลีบ ตรงกลางเจาะเป็นรู ตามคำบอกเล่ากล่าวว่าได้พบชิ้นส่วนดอกพิกุลทองหลายชิ้นจากใต้ฐานพระประธานในอุโบสถ นับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัดพระรูปในอดีต
ชิ้นส่วนดอกพิกุลทองพบที่วัดพระรูปบริเวณใต้ฐานพระประธาน จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
ชิ้นส่วนดอกพิกุลทองพบที่วัดพระรูปบริเวณใต้ฐานพระประธาน สมบัติส่วนตัวของชาวบ้านบริเวณวัดพระรูป
ใบเสมาหินทรายวัดพระรูป
ใบเสมาหินทรายวัดพระรูป พบจำนวน ๕ ใบ จากคำบอกเล่ากล่าวกันว่า ใบเสมาชุดนี้เป็นของเก่าแก่ของวัดแต่เดิมปักอยู่โดยรอบโบราณสถานโบสถ์มอญ[8] ใบเสมาชุดนี้เป็นหินทรายสีเทา ขนาดโดยรวมสูงประมาณ ๑๐๐ ซม. กว้างประมาณ ๔๖ ซม. และหนาประมาณ ๑๘ ซม. ลักษณะรูปทรงเป็นแท่งสูง เส้นรอบนอกคล้ายกับทรงเจว็ดสูง เอวเสมาคอดเพียงเล็กน้อยปลายยอดแหลมทำให้ไม่มีกระหนกที่งอนขึ้นมาด้านข้างของใบเสมา มีการสลักลวดลายบนด้านหน้าและรอบข้างของใบเสมา การเลือกใช้วัสดุหินทรายคงมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการสลักลวดลายได้อย่างละเอียด ประกอบกับเป็นวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และในอยุธยาก็ใช้วัสดุหินทรายมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐[9] ซึ่งได้พบแหล่งตัดหินทรายที่ใช้ผลิตประติมากรรมของอยุธยาบริเวณเขาตะเภา อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี[10] ดังเห็นได้จากการนำหินทรายมาใช้สร้างพระพุทธรูปเป็นจำนวนมากในอยุธยาและปริมณฑล
ใบเสมาหินทรายวัดพระรูป พบจำนวน ๕ ใบ มีขนาดใกล้เคียงกัน และสลักลวดลายคล้ายคลึงกัน จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
จุดเด่นของใบเสมาหินทรายวัดพระรูปอยู่ที่ลายประดับซึ่งสลักลงไปบนเนื้อหินทราย ลายที่ปรากฏทั้งด้านหน้าและด้านข้าง เกิดจากการ “ผูกลาย” หรือประดิษฐ์ลาย ด้วยการนำลายมาประกอบกันให้เป็นลายแบบใหม่ซึ่งมี “กระหนก” เป็นองค์ประกอบอันสำคัญ โดยพบว่าใบเสมาหินทรายวัดพระรูปผูกลายด้วยกระหนกที่ประกอบจากวงโค้งตัวล่างมีหัวขมวดขนาดใหญ่ และวงโค้งสลับด้านเป็นตัวบนที่มียอดเป็นลายสามเหลี่ยมปลายแหลม ซึ่งนักวิชาการวิเคราะห์ว่าลายกระหนกแบบนี้เป็นลักษณะสำคัญที่เด่นชัดมากในช่วงแรกของสมัยกรุงศรีอยุธยาราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐[11] และลายกระหนกแบบนี้ยังคงนิยมต่อเนื่องมาอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อาทิ ลายปูนปั้นประดับพระปรางค์วัดจุฬามณี พ.ศ. ๒๐๐๘ หรือลวดลายประดับเครื่องทรงพระอิศวรสำริดที่เมืองกำแพงเพชร พ.ศ. ๒๐๕๓[12] เอกลักษณ์ของลายกระหนกบนใบเสมาหินทรายวัดพระรูป คือ การผูกลายกระหนกที่มีหัวขมวดขนาดใหญ่ ๒ ตัวเชื่อมต่อกัน ซึ่งพบลายนี้ในทุกพื้นที่ของใบเสมาทั้งในกรอบสามเหลี่ยมที่โคนใบเสมา ยอดใบเสมา และในกรอบสามเหลี่ยมด้านข้างใบเสมา
การผูกลายด้วยกระหนกที่ประกอบจากวงโค้งตัวล่างมีหัวขมวดขนาดใหญ่ และวงโค้งสลับด้านเป็นตัวบนที่มียอดเป็นลายสามเหลี่ยมปลายแหลม อันเป็นเอกลักษณ์ลวดลายบนใบเสมาหินทรายวัดพระรูป
ใบเสมาหินทรายที่มีรูปแบบและลวดลายในกลุ่มนี้ นอกจากจะพบที่วัดพระรูป จ.สุพรรณบุรีแล้ว ยังพบตัวอย่างเป็นจำนวนมากทั้งในอยุธยาและหัวเมืองโดยรอบอยุธยา อาทิ วัดราชประดิษฐาน จ.พระนครศรีอยุธยา วัดค้างคาว วัดลุ่มคงคา จ.นนทบุรี วัดพระบรมธาตุ จ.ชัยนาท วัดหลุมดิน จ.ราชบุรี วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการกำหนดอายุจากรูปแบบและลวดลายบนใบเสมาในกลุ่มนี้ว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ การพบใบเสมาหินทรายที่วัดพระรูปจึงนำมาสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า วัดพระรูปน่าจะมีการสร้างอุโบสถและผูกพัทธสีมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งร่วมสมัยกับวัดในกรุงศรีอยุธยาและวัดในหัวเมือง
เอกสารอ้างอิง
[1] ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “จารึกพระมหาเถรชัยโมลี”, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๕: อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔, (กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙), ๑๓๑-๑๓๒., นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. ศมส., ๒๕๔๗.
[2] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๕.
[3] สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๒ / เรื่องที่ ๑ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์ / พัดยศและสมณศักดิ์
[4] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๒๕, ๒๗, ๒๙.
[5] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๒๘, ๓๓.
[6] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๑๔), ๓๕.
[7] กรมศิลปากร, จารึกในประเทศไทย เล่ม ๕ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, ๒๕๒๙), ๘๒.
[8] วัดพระรูป, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) (มปท., ๒๕๓๕), ๑๖-๑๗.
[9] ประภัสสร์ ชูวิเชียร, อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑), ๑๓๖, ๑๔๒.
[10] ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์, ประทีป เพ็งตะโก และพิรักษ์ ชวนะเกรียงไกร, “เขาตะเภา ลพบุรี: แหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยา,” ศิลปากร ปีที่ ๓๑ ฉบับที่ ๒ (พฤษภาคม-มิถุนายน, ๒๕๓๐): ๖๑-๖๒.
[11] สันติ เล็กสุขุม, พัฒนาการของลายไทย: กระหนกกับเอกลักษณ์ไทย (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๓), ๒๐๖-๒๐๗.
[12] ประภัสสร์ ชูวิเชียร, อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๑), ๑๔๖.
พระพิมพ์กรุวัดพระรูป
จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่หนึ่งที่พบพระพุทธรูปบูชาและพระพิมพ์มากเป็นพิเศษ โดยพบตั้งแต่สมัยอมราวดี ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี อู่ทอง สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ อาทิ บ้านหนองแจงได้พบพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี เมืองอู่ทองได้พบพระพุทธรูปศิลปะอมราวดีและทวารวดี เป็นต้น สำหรับในอำเภอเมืองสุพรรณได้พบพระพิมพ์จำนวนมากที่สุด กรุที่สำคัญได้แก่ พระพิมพ์กรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระพิมพ์กรุวัดชุมนุมสงฆ์[1] พระพิมพ์กรุสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองสุพรรณคือ “พระพิมพ์กรุวัดพระรูป”
วัดพระรูปตั้งอยู่ในเมืองเก่าสุพรรณ สถาปนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นวัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองสุพรรณภูมิ (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐) ภายในวัดแห่งนี้ได้พบพระพิมพ์แบบต่าง ๆ จำนวนมากและมีความหลากหลายที่สุดในเมืองสุพรรณ พระพิมพ์กรุนี้น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ร่วมสมัยกับพระพิมพ์ศิลปะอยุธยาตอนต้น เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวเมืองสุพรรณภูมิที่นิยมการสร้างพระพิมพ์บรรจุกรุเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา
พระพิมพ์กรุวัดพระรูปเกือบทั้งหมดเป็นเนื้อดินเผา ประกอบด้วยดินเป็นมวลสารหลัก ผสมกับมวลสารอื่น ๆ หลายชนิด ผ่านการเผาด้วยความร้อนจนเป็นดินเผา ทำให้เนื้อพระมีหลายสีแตกต่างกันไปตามความร้อนที่ได้รับ อาทิ สีแดงอิฐ สีคล้ายมะขามเปียก สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นสีแดงอิฐ ในชุดพระพิมพ์กรุวัดพระรูปมีด้วยกันหลายพิมพ์ ประกอบด้วย พระขุนแผน พระพลายงาม พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ พระนาคปรก พระขุนไกร พระกุมารทอง และพระพันวษา เนื่องจากพระพิมพ์กรุวัดพระรูปมีความงดงามและมีความเก่าแก่ตามอายุของวัดพระรูปที่อยู่ในสมัยสุพรรณภูมิ ประกอบกับมีความเชื่อว่าผู้แขวนพระกรุวัดพระรูปจะแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน มีโชคลาภ และมีเมตตามหาเสน่ห์ จึงทำให้พระพิมพ์กรุนี้มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตและเป็นที่ต้องการของนักสะสมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระขุนแผนและพระชุดกิมตึ๋ง และหากเป็นนักสะสมตัวจริงจะนิยมเก็บรวบรวมจนครบทุกพิมพ์
ภายในบริเวณวัดพระรูป นอกจากจะพบพระพิมพ์ดินเผาเป็นจำนวนมากแล้ว ยังได้พบพระพิมพ์เนื้อชินและพระพุทธรูปบูชาอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันพบเห็นได้น้อยมาก “พระพิมพ์เนื้อชิน” ตามประวัติกล่าวว่าขุดพบเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๒ - ๒๔๙๓ แบ่งเป็น ๒ พิมพ์คือ พิมพ์แบบอู่ทองรุ่น ๑ กับพิมพ์แบบอู่ทองรุ่น ๓[2] เป็นเนื้อชินเงิน มีสัณฐานแบน ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานเขียงเตี้ยๆ แสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาวางตรงลงด้านหน้าแตะถึงฐาน พระวรกายสูงชะลูด ด้านหลังเรียบพิมพ์เป็นลายผ้าหรือลายตาราง น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และ “พระพุทธรูปปางมารวิชัย” จัดเป็นศิลปะแบบสุพรรณภูมิ (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐) เนื้อสำริดกะไหล่ทอง แสดงปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระเกตุมาลาเป็นทรงกรวย ครองจีวรห่มเฉียง ปลายจีวรเป็นลายกระหนกรูปคล้ายเขี้ยวตะขาบ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานรูปทรงบัวคว่ำบัวหงายที่มีลักษณะเว้าโค้งตามการประทับนั่ง ที่ฐานบัวสลักเป็นลายเส้นรูปกลีบบัว
พระพิมพ์เนื้อชิน พบใต้ฐานพระประธาน อุโบสถวัดพระรูป
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ชินเงิน, ขนาด ส. ๕.๘ / ก. ๒.๗ / ห. ๐.๗ (ซม.), ผอ.ยรรยง โอภากุล มอบให้วัดพระรูป
พุทธศิลป์ของพระพิมพ์กรุวัดพระรูป
“พระพิมพ์ขุนแผน” มีรูปทรงรียอดแหลม ด้านหน้าค่อนข้างเรียบสำหรับพิมพ์รูป ด้านหลังขององค์พระนูนสูง บางองค์ปรากฏลายนิ้วมือ อันแสดงให้เห็นถึงวิธีการกดพิมพ์พระด้วยมือทุกองค์ พิมพ์เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเหนือฐานบัว ภายในซุ้มที่ประดับใบระกาทรงยาวรี พุทธลักษณะแสดงปางมารวิชัย เค้าโครงพระพักตร์รียาว พระหนุค่อนข้างสั้น ปรากฏร่องรอยการทรงเครื่อง คือ สวมเครื่องประดับพระเศียรยอดยาว และพาหุรัด การที่กดพิมพ์ด้วยมือจึงทำให้สัณฐานของพระขุนแผนมีความแตกต่างกันออกไป แบ่งเป็น ๒ แบบคือ “พระขุนแผนไข่ผ่าซีก” มีสัณฐานทรงรีป้อมคล้ายไข่ผ่าซีก และ “พระขุนแผนแตงกวาผ่าซีก” มีสัณฐานทรงรียาวชะลูด พระขุนแผนส่วนใหญ่มีสีแดงอิฐคล้ายกับสีดินเผา และเนื่องจากการเผาจึงทำให้สีของเนื้อดินมีความแตกต่างกันออกไป อาทิ สีแดงเข้ม สีหม้อใหม่ และสีพิกุลแห้ง พระขุนแผนมีเนื้อละเอียด มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและแดงดำกระจายอยู่ทั่วองค์ นอกจากนี้ ในกลุ่มพระขุนแผนกรุวัดพระรูปยังมี “พระขุนแผนซุ้มระฆัง” เนื่องจากทำซุ้มพระเป็นรูปทรงซุ้มระฆังแบบศิลปะสุโขทัย และ “พระยอดขุนพล” ซึ่งทั้งสองพิมพ์นี้พบจำนวนน้อยมาก
พระขุนแผนนอกจากจะพบที่วัดพระรูปแล้ว ยังพบที่วัดละคร (ร้าง) ซึ่งอยู่ติดกับวัดพระรูป (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี) มักจะเป็นพิมพ์ไข่ผ่าซีก เนื้อค่อนข้างสีแดงจัด และที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในเจดีย์องค์ข้างพระปรางค์ อนึ่ง หากกล่าวถึง “พระขุนแผน” ตามความรู้สึกของชาวสุพรรณจะมุ่งมายังพระขุนแผนวัดพระรูปก่อน ส่วนความรู้สึกของนักนิยมพระต่างจังหวัด มักจะหมายถึงพระขุนแผนวัดบ้านกร่าง อ. ศรีประจันต์ จึงนิยมเรียกกันว่า “พระขุนแผนวัดพระรูป” “พระขุนแผนไข่ผ่า” หรือ “พระขุนแผนแตงกวาผ่า”[3] ทั้งนี้พระขุนแผนวัดพระรูปยังมีอายุเก่าแก่กว่าพระขุนแผนวัดบ้านกร่าง
พระพิมพ์ขุนแผนไข่ผ่าซีก
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๖.๘ / ก. ๓.๑ / ห. ๒.๐ (ซม.)
พระพิมพ์ขุนแผนแตงกวาผ่าซีก
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๖.๕ / ก. ๒.๕ / ห. ๑.๕ (ซม.)
พระพิมพ์ขุนแผนซุ้มระฆัง
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๕.๑ / ก. ๒.๓ / ห. ๑.๑ (ซม.)
“พระพิมพ์พลายงาม” พระพลายงามมีรูปทรงรียอดแหลม พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานเขียงเตี้ย ๆ แสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เค้าโครงพระพักตร์รียาว ด้านหลังขององค์พระนูนสูง เนื้อพระค่อนข้างหยาบ มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์ โดยรวมแล้วมีพุทธลักษณะคล้ายพระขุนแผน แต่พิมพ์ตื้นกว่าพระขุนแผน รวมถึงมีขนาดเล็กกว่าและมีเนื้อหยาบกว่าพระขุนแผน พระพิมพ์ในกลุ่มพระขุนแผนและพระพลายงามกรุวัดพระรูปนี้ นักวิชาการจัดอยู่ในกลุ่ม “พระยอดขุนพล” ซึ่งเป็นพระพิมพ์ในศิลปะลพบุรี ที่ปรากฏอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายนอยู่มาก โดยสันนิษฐานว่าเป็นการตัดเอาเฉพาะพระพุทธรูปองค์กลางแยกออกมาจากพระตรีกาย กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ อาทิ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของพระยอดขุนพลที่สร้างในเวลาต่อมาที่มีการสร้างล้อพิมพ์กันมาหลายสมัย ทำให้มีรายละเอียดทางประติมานวิทยาแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและรูปแบบศิลปะ[4]
พระพิมพ์พลายงาม
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๕.๒ / ก. ๒.๘ / ห. ๑.๒ (ซม.)
“พระพิมพ์สี่กร” พระสี่กรมีรูปทรงกลมรีปลายแหลม พิมพ์นี้จะมีพระกรและพระพาหาซ้อนรางๆ อยู่ด้านหลัง ทำให้ดูเหมือนมีสี่กร จึงนิยมเรียกว่า “พระสี่กร” พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ แสดงปางมารวิชัยเหนือฐานเตี้ยๆ อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เค้าพระพักตร์ทรงรี ใต้ฐานบริเวณตรงกลางมีเส้นแนวตั้ง คล้ายก้านดอกบัวหรือก้านของพระยอดธง ด้านหลังขององค์พระนูนสูง พระพิมพ์นี้มีเนื้อค่อนข้างหยาบ มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์
พระพิมพ์สี่กร
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๓.๔ / ก. ๒.๑ / ห. ๐.๙ (ซม.)
“พระพิมพ์มอญแปลง” พระมอญแปลงมีรูปทรงกลมรี ปลายค่อนข้างแหลม ลักษณะการพิมพ์ค่อนข้างตื้น พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ แสดงปางมารวิชัย เค้าพระพักตร์ทรงรี ด้านหลังขององค์พระนูนเล็กน้อย พระพิมพ์นี้นิยมเรียกกันว่า “พระมอญแปลง” พระมอญแปลงมีเนื้อพระค่อนข้างละเอียด มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์
พระพิมพ์มอญแปลง
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๔.๒ / ก. ๒.๖ / ห. ๑.๐ (ซม.)
“พระพิมพ์ประคำรอบ” พระประคำรอบมีรูปทรงกลมรี ปลายค่อนข้างแหลม พิมพ์ตื้น พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเหนือฐานบัวที่ประดับด้วยเม็ดกลมหรือเม็ดประคำเป็นกรอบรอบองค์พระ จึงนิยมเรียกว่า “พระประคำรอบ” แสดงปางมารวิชัย ภายในซุ้มเรือนแก้วที่ประดับด้วยเม็ดกลมหรือเม็ดประคำ เค้าพระพักตร์ทรงรี ด้านหลังขององค์พระนูนเล็กน้อย พระพิมพ์นี้มีเนื้อละเอียด มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์
พระพิมพ์ประคำรอบ
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๓.๙ / ก. ๒.๔ / ห. ๑.๐ (ซม.)
“พระพิมพ์นาคปรก” พระนาคปรกมีรูปทรงกลมรี พิมพ์ตื้น พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปแสดงปางสมาธิเหนือขนดนาค ภายใต้พังพานพญานาคเจ็ดเศียร เค้าพระพักตร์ทรงรี ด้านหลังขององค์พระนูนเล็กน้อย พระพิมพ์นี้มีเนื้อค่อนข้างละเอียด มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงและเม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์ องค์พระมีขนาดต่างกันไม่ค่อยแน่นอน พระพิมพ์นี้นิยมเรียกกันว่า “พระนาคปรก” หรือ “พระปรกชุมพล” การเรียกชื่อพระปรกชุมพลสันนิษฐานว่าเรียกตามพระพิมพ์เดียวกันซึ่งพบมาก่อนที่วัดพลายชุมพล
พระพิมพ์นาคปรก
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๓.๘ / ก. ๒.๑ / ห. ๑.๒ (ซม.)
“พระพิมพ์ขุนไกร” พระขุนไกรมีรูปทรงกลมรีมีฐานล่างค่อนข้างตรง พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานเขียงเตี้ยๆ แสดงปางมารวิชัย เค้าพระพักตร์กลมหนา พระกรรณยาว มีเส้นกรอบรอบองค์พระ ด้านหลังขององค์พระนูนสูง พระพิมพ์นี้มีขนาดใหญ่นิยมเรียกกันว่า “พระขุนไกร” พระขุนไกรมีเนื้อแกร่งคล้ายเนื้อกระเบื้อง มีสีแดงแก่ แดงอ่อน และแดงปนน้ำตาล ลักษณะเนื้อค่อนข้างหยาบ มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดง เม็ดกรวด และเม็ดสีดำกระจายอยู่ทั่วองค์ แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์คือ พิมพ์หน้าใหญ่ กับพิมพ์หน้าเล็ก
พระพิมพ์ขุนไกร
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๕.๗ / ก. ๔.๕ / ห. ๑.๑ (ซม.)
“พระพิมพ์พระพันวษา” พระพันวษามีรูปทรงรี ปลายยาวแหลมและเอียงไปด้านขวา พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว มีชายผ้าตกเป็นวงโค้งด้านหน้า เค้าพระพักตร์รียาว ด้านหลังขององค์พระนูนสูง เหนือพระเศียรมีลักษณะเป็นชั้นจำนวน ๓ - ๖ ชั้น มียอดแหลม พระพิมพ์นี้มีกรอบพิมพ์ไม่เหมือนกัน องค์พระมีขนาดไม่เท่ากัน บางองค์ยอดตรง บางองค์ยอดเอียงซ้ายหรือเอียงขวา พระพิมพ์นี้มีความอ่อนช้อย นิยมเรียกกันว่า “พระพันวษา” พระพันวษามีเนื้อค่อนข้างละเอียด หนึกแกร่ง ละเอียดพอ ๆ กับพระขุนแผน มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดงกระจายอยู่ทั่วองค์
พระพิมพ์พระพันวษา
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๕.๓ / ก. ๒.๕ / ห. ๑.๓ (ซม.)
“พระพิมพ์กุมารทอง” พระกุมารทองมีรูปทรงกลมรีปลายค่อนข้างมน พิมพ์ออกมาเป็นเส้นโครงร่างที่แสดงพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเหนือฐานบัว แสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เค้าพระพักตร์ทรงรี ด้านหลังขององค์พระนูนสูง พระพิมพ์นี้เป็นเส้นโครงร่างที่ดูยุ่งเหยิงจึงนิยมเรียกกันว่า “พระกุมารทอง” หรือ “พระยุ่ง” พระกุมารทองมีเนื้อค่อนข้างหยาบ มีเม็ดแร่สีน้ำตาลอมแดง เม็ดกรวดกระจายอยู่ทั่วองค์
พระพิมพ์กุมารทอง (พระยุ่ง)
พุทธศตวรรษที่ ๒๐, แบบศิลปะ สุพรรณภูมิ, วัสดุ ดินเผา, ขนาด ส. ๔.๖ / ก. ๒.๔ / ห. ๑.๓ (ซม.)
การพบพระพิมพ์กรุวัดพระรูป
พระพิมพ์กรุวัดพระรูปส่วนใหญ่พบบนผิวดินและใต้ดินลึกลงไปเล็กน้อย ในบริเวณลานวัดใกล้กับอุโบสถ วิหารพระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ โบสถ์มอญ ผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีตหลายคนที่อาศัยอยู่บริเวณวัดพระรูปกล่าวว่า ในอดีตพบพระพิมพ์อยู่ทั่วไปบนผิวดิน บนกุฏิ ศาลา วิหาร มีจำนวนมากเป็นร้อยๆ องค์ การพบพระกรุนี้ยังพบในวาระต่างๆ กัน อาทิ พ.ศ. ๒๕๐๘ มีการบูรณะวิหารพระพุทธไสยาสน์ เมื่อขุดดินบริเวณด้านหน้าพระพุทธไสยาสน์ลงไปเพียงเล็กน้อย ได้พบพระพิมพ์ขุนแผนกระจายอยู่ประมาณ ๑๐๐ องค์ หรือใน พ.ศ. ๒๕๑๐ ครั้งที่มีการปรับพื้นวัดก็ได้พบพระพิมพ์ขุนแผนจำนวนหลายองค์[5]
พระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำอดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป เล่าให้อาจารย์มนัส โอภากุล ฟังว่า พระพิมพ์วัดพระรูปกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดินในเขตอุปจารของวัด ไม่ว่าจะเดินไปไหนก็พบ ที่จมดินก็มี พอฝนตกจะปรากฏให้เห็นเสมอ ๆ แต่คนสมัยโน้นไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าใดนัก เพราะถือคตินิยมไม่ยอมเอาพระเข้าบ้าน พวกเด็ก ๆ ลูกศิษย์วัดมักจะเอาไปร่อนเล่นในแม่น้ำหน้าวัด[6]
ใน พ.ศ. ๒๕๓๔ ครั้งกรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งพระเจดีย์ได้พบพระพิมพ์ขุนแผนจำนวน ๒ องค์ แต่ไม่พบรายงานกล่าวถึงการพบพระพิมพ์บรรจุในกรุของพระเจดีย์[7] และยังมีบันทึกว่าในอดีตพระชุดกิมตึ๋งที่ประกอบด้วย พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ พระนาคปรกนั้น มักพบประจำบริเวณหน้าศาลาฌาปนกิจเมื่อครั้งที่ยังไม่เทพื้นปูนซีเมนต์ โดยมักจะพบบนผิวดินหลังจากที่ฝนตกหนัก ๆ
พระพิมพ์วัดพระรูปเหล่านี้ คงจะสร้างขึ้นเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในช่วงเวลานั้น สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงจะมีพระเจดีย์ที่บรรจุพระพิมพ์เหล่านี้ ต่อมาเมื่อพระเจดีย์พังลงพระพิมพ์ในกรุจึงกระจายอยู่ทั่วบริเวณ โดยในอดีตน่าจะเคยมีพระเจดีย์ในบริเวณดังกล่าวอยู่หลายองค์ ดังปรากฏพระเจดีย์เก่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถในภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งในปัจจุบันไม่มีหลักฐานเหลือแล้ว
นอกจากนี้ การพบพระขุนแผนและพระชุดกิมตึ๋ง (พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ พระนาคปรก) ยังได้พบอีกที่วัดพลายชุมพล (ร้าง) ที่ตั้งอยู่ติดกับวัดพระรูปทางทิศใต้ และที่วัดละคร (ร้าง) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี โดยพระพิมพ์แต่ละกรุจะมีขนาดและลักษณะเนื้อหามวลสารแตกต่างกัน ซึ่งใช้เป็นจุดแยกแยะพระพิมพ์แต่ละกรุออกจากกัน สำหรับพระพิมพ์กรุวัดพระรูปนั้นมีขนาดใหญ่และมีเนื้อแน่นละเอียดมากกว่ากรุวัดพลายชุมพลและกรุวัดละครจึงเป็นที่นิยมมากกว่า
พระพิมพ์กรุวัดพลายชุมพล
พระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำอดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูป ได้เล่าให้อาจารย์มนัส โอภากุล ฟังว่า วัดพลายชุมพลอยู่ด้านหลังวัดพระรูปไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อย องค์พระเจดีย์หักพังมานานแล้ว ในขณะที่ท่านมีอายุได้ ๑๐ ขวบ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๖) เห็นเป็นกองอิฐสุมกันเป็นกองพะเนิน ฐานองค์เจดีย์ใหญ่มาก เกือบจะเท่าพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (สุพรรณบุรี) ไม่ทราบว่ารูปทรงเป็นอย่างไรเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน หากวัดโดยรอบประมาณ ๕๐ เมตรเห็นจะได้ นับเป็นเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง พระชุดพลายชุมพลหรือชุดกิมตึ๋ง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปปะปนอยู่กับกองอิฐและปูนโดยไม่มีใครสนใจที่จะเก็บเอาไปบูชา เพราะคตินิยมในขณะนั้นยังไม่ยอมเอาพระเข้าบ้าน หลวงพ่อสอน วัดป่าเลไลยก์ ยังพูดว่าใครต้องการพระสักกี่เล่มเกวียนให้ไปขนเอาที่วัดพลายชุมพล ในสมัยที่สร้างเรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี นักโทษมาขนเอาอิฐดี ๆ ไปก่อกำแพงเสียก็มาก จนอิฐดี ๆ ของวัดพลายชุมพลหมดไปโดยปริยาย
อาจารย์มนัส โอภากุล ยังบันทึกไว้ว่า ในย่านวัดพลายชุมพลนี้ยังมีวัดร้างจำนวนมากตั้งติดกันเป็นแถว อาทิ วัดละคร วัดมอญ วัดช่องลม วัดตะไกร วัดพระจีน วัดปากคลองแสงจันทร์ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองทั้งสิ้น ทุกวัดมีพระชุดกิมตึ๋งทั้งสิ้น พระชุดกิมตึ๋งนี้ขึ้นชื่อลือลั่นในทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีมานาน เวลาไปเที่ยวต่างบ้านนักเลงนักเที่ยวนิยมหยิบติดตัวไปด้วยเสมอ บางครั้งบางคราวต้องมีเรื่องกัน ปรากฏว่าหนังเหนียว อยู่ยงคงกระพัน เลือดไม่ตกยางไม่ออก อย่างไรก็ดี เมื่อกลับมาจากเที่ยวจะต้องนำเอาพระนั้นกลับมาไว้ที่เดิม ไม่ยอมนำเอาเข้าบ้าน ถือคติว่าพระต้องอยู่ที่วัดไม่ใช่อยู่บ้าน ต่อมาคตินี้ค่อย ๆ เลือนหายไปพร้อมกันนี้พระชุดกิมตึ๋งก็ค่อย ๆ หายไปด้วย[8]
พระพิมพ์ชุดกิมตึ๋งของวัดพระรูป
พระพิมพ์กรุวัดพระรูปชุด “กิมตึ๋ง” มีจำนวน ๔ องค์ ประกอบด้วย พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระนาคปรก การเรียกชื่อพระพิมพ์กรุวัดพระรูปชุดนี้ว่ากิมตึ๋ง สันนิษฐานว่าเรียกชื่อตามพระพิมพ์ชุดกิมตึ๋งของวัดพลายชุมพล ที่เป็นวัดร้างอยู่ติดกับวัดพระรูปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งนักวิชาการกล่าวว่าแตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๙ เนื่องจากพระเจดีย์เก่าแก่ของวัดหักโค่นลงมา ซึ่งแต่เดิมนั้นจะเรียกพระพิมพ์ชุดนี้ว่า “พระตับวัดพลายชุมพล”[9] หรือ “พระชุดพลายชุมพล” ตามชื่อวัด[10] พระชุดกิมตึ๋งวัดพระรูปประกอบไปด้วยพระพิมพ์ ๔ องค์เช่นเดียวกันคือ พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระนาคปรก โดยเชื่อว่าพระพิมพ์ชุดกิมตึ๋งของวัดพระรูปคงจะแตกกรุออกมาทีหลังกรุวัดพลายชุมพล อย่างไรก็ดี พบว่าเนื้อพระและขนาดพระพิมพ์ของทั้งสองกรุนี้มีความแตกต่างกันคือ พระพิมพ์กรุวัดพระรูปจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีเนื้อละเอียดแน่นกว่าพระพิมพ์กรุวัดพลายชุมพล จึงทำให้พระชุดกิมตึ๋งของวัดพระรูปเป็นที่นิยมมากกว่า
สำหรับการตั้งชื่อพระพิมพ์ชุดนี้ว่า “กิมตึ๋ง” นั้น นักวิชาการสันนิษฐานเป็น ๒ แนวทางคือ แนวทางหนึ่งสันนิษฐานว่ามาจากชื่อชุดโต๊ะหมู่บูชาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) ที่มีความสวยงามมากจนชนะการประกวด ซึ่งกรมขุนราชสีหวิกรมประทานชื่อโต๊ะหมู่บูชาชุดนี้ว่า “ชุดกิมตึ๋ง” แปลว่า “พระราชบัลลังก์ทองคำ” ส่วนอีกแนวทางหนึ่งสันนิษฐานว่ามาจาก “กิมตึ๋งฮกกี่” ชื่อยี่ห้อเครื่องถ้วยชาลายคราม ที่พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) สั่งมาจากเมืองจีนในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแปลความหมายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง ตำนานเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้นว่า “ของอันวิเศษอย่างเต็มที่” ชุดเครื่องถ้วยชาลายครามดังกล่าว ๑ ชุดประกอบด้วย ๔ ใบ ซึ่งมีความงดงามมากจึงเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่นักนิยมถ้วยชาจนนิยมเรียกชื่อติดปากว่าถ้วยกิมตึ๋ง ต่อมาเมื่อมีการพบพระกรุชุดวัดพลายชุมพลที่มีความงดงามเข้าชุดกันจำนวน ๔ องค์และเป็นที่นิยมในกลุ่มนักสะสม จึงตั้งชื่อพระชุดนี้ใหม่ว่าพระชุดกิมตึ๋ง[11]
พระพิมพ์ขุนแผนและพระพิมพ์ชุดกิมตึ๋ง กรุวัดพระรูป
ชื่อพระพิมพ์กรุวัดพระรูปกับวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน
การเรียกชื่อพระพิมพ์กรุวัดพระรูป ส่วนใหญ่นิยมเรียกชื่อพระพิมพ์ตามตัวละครในวรรณกรรมพื้นบ้านเมืองสุพรรณบุรีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากกลุ่มนิยมสะสมพระและวัตถุมงคลที่นำลักษณะเด่นของพระพิมพ์แบบต่างๆ ไปเปรียบเทียบเข้ากับตัวละครในวรรณกรรม
“พระขุนแผน” อาจารย์มนัส โอภากุล บันทึกไว้ว่า แต่เดิมคนสมัยก่อนไม่ได้เรียกว่าพระขุนแผน เขาเรียกกันว่า “พระหลังเบี้ย” เพราะด้านหลังอูมเหมือนหลังเบี้ยจั่น[12] ขุนแผนมาจากชื่อตัวละครเอกของวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน เป็นบุตรของขุนไกรพลพ่ายกับนางทองประศรี ขุนแผนหรือขุนแผนแสนสะท้าน เป็นข้าราชการทหารกรุงศรีอยุธยาที่มีบุคลิกเป็นชายชาตรีผู้มีความรู้มีความเก่งกล้าสามารถมากและเป็นผู้ที่มีเสน่ห์อย่างมาก การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระขุนแผนคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีความงดงามสมบูรณ์ที่สุดในกลุ่มพระพิมพ์กรุวัดพระรูป ประกอบกับอาจจะเนื่องจากฐานบัวคว่ำบัวหงายที่พิมพ์ติดไม่ชัดทำให้มองดูคล้ายรูปเด็กนอนหงายหรือกุมารทอง บุตรของขุนแผนกับนางบัวคลี่ที่ขุนแผนปลุกสร้างขึ้นด้วยวิชาตามเนื้อเรื่องในวรรณกรรม
“พระพลายงาม” มีที่มาจากชื่อตัวละครเอกของวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน พลายงามหรือจมื่นไวยวรนาท เป็นบุตรของขุนแผนกับนางวันทอง เป็นข้าราชการทหารกรุงศรีอยุธยาที่มีบุคลิกเก่งกล้าสามารถและมีเสน่ห์เช่นเดียวกับขุนแผน การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระพลายงามคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายพระขุนแผน แต่พิมพ์ตื้นกว่าและมีรายละเอียดน้อยกว่าพระขุนแผน
“พระมอญแปลง” มีที่มาจากวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน ในตอนที่พลายชุมพลปลอมตัวเป็นมอญเพื่อไปรบกับจมื่นไวยวรนาทหรือพลายงาม พลายชุมพลนั้นเป็นบุตรของขุนแผนกับนางแก้วกิริยา และนับเป็นน้องคนละแม่ของพลายงาม การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่ามอญแปลงนั้นสันนิษฐานว่าอาจจะเนื่องจากให้ความสำคัญพระพิมพ์นี้ต่อมาจากพระขุนแผนและพระพลายงาม ประกอบกับพระพิมพ์นี้มีลักษณะคล้ายกับพระพิมพ์พุทธคยาซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่นิยมมาก่อนในศิลปะพม่าสมัยพุกาม จึงตั้งชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระมอญแปลงพระกุมารทอง
“พระกุมารทอง” มีที่มาจากชื่อตัวละครในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน กุมารทองเป็นอมนุษย์ที่ขุนแผนปลุกสร้างขึ้นด้วยวิชาจากบุตรของตนเองกับนางบัวคลี่ การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระกุมารทองคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีเส้นซ้อนกันให้ความรู้สึกยุ่งเหยิงและลึกลับซับซ้อน เปรียบเหมือนกับกุมารทองที่เป็นอมนุษย์และเป็นเด็กตามวรรณกรรม อนึ่ง ด้วยพระพิมพ์นี้มีลักษณะเส้นที่ซับซ้อนดูยุ่งเหยิงจึงมักนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระยุ่ง”
“พระขุนไกร” มีที่มาจากชื่อตัวละครในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน ขุนไกรหรือขุนไกรพลพ่ายเป็นบิดาของขุนแผน เป็นข้าราชการทหารกรุงศรีอยุธยามีบุคลิกเป็นชายชาตรีมีความรู้ความสามารถมาก การเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระขุนไกรคงเนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าพระพิมพ์ขุนแผนและมีขนาดใหญ่ที่สุดในชุดพระกรุวัดพระรูป จึงตั้งให้เป็นขุนไกรซึ่งเป็นบิดาของขุนแผนตามเนื้อเรื่องในวรรณกรรม
“พระพันวษา” มีที่มาจากชื่อตัวละครในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน พระพันวษาหรือสมเด็จพระพันวษาเป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาการเรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่าพระพันวษาคงเนื่องจากเป็นพิมพ์ที่มีชั้น ๆ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ลักษณะคล้ายฉัตรเหนือซุ้มพระ สอดคล้องกับพระพันวษาที่เป็นพระมหากษัตริย์ตามเนื้อเรื่องในวรรณกรรม
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องขุนช้างขุนแผน บนผนังระเบียงรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์
Printed Buddha Images in the Cache at Wat Phra Rup
Suphan Buri province is an area that especially large numbers of Buddha images and printed Buddha images are found. The Buddha images found include those in the periods of Amaravadi, Thavaravadi, Srivichai, Lop Buri, Uthong, Sukhothai, Ayutthaya, and Rattanakosin. For examples, at Ban Nong Chaeng Tai the Buddha images of Lop Buri art style are found, and in Uthong town the Buddha images of Amaravadi and Thavaravadi art styles are found. The largest numbers of printed Buddha images are found in Mueang district of Suphan Buri. The important sources are the printed Buddha images in cache at the main stupa of Wat Phra Si Rattana Mahathat, and the printed Buddha images in cache at Wat Chumnum Sangha. Another important place in Suphan Buri is Wat Phra Rup where we can find “Printed Buddha Images in the Cache at Wat Phra Rup”. Wat Phra Rup is located in the ancient Suphan Buri town. It was established in about the 19th Buddhist Century. It is considered one of the most important monasteries in Suphan Buri. The cache at Wat Phra Rup was found to contain large numbers of most diversified models of printed Buddha images in Suphan Buri. The printed Buddha images in this cache were created in Suphanabhumi period (19th - 20th Buddhist Centuries) which was contemporary to printed Buddha images of early Ayutthaya art style. This is important evidence that reflects the culture of Suphan Buri people who have the preference for creating printed Buddha images and putting them in the cache in order to maintain the existence of Buddhism forever.
Almost all printed Buddha images in the cache at Wat Phra Rup were created from baked clay. The materials of the Buddha images are composed mainly of clay mixed with several substances that are burnt to become baked clay with many different colors depending on the levels of heat received from the burning, such as the reddish brick color, the ripe tamarin-liked color, and dry medlar flower-liked color. However, the majority of them are of reddish brick color. There are many printed models of the Buddha images including Phra Khun Phaen, Phra Plai Ngarm, Phra Si Korn, Phra Mon Plaeng, Phra Pakhamrop, Phra Prok Chumphon, Phra Khun Krai, Phra Kuman Thong, and Phra Phanwasa. Due to the fact that the printed Buddha images in the cache at Wat Phra Rup are beautiful and antique based on the age of Wat Phra Rup which was established during the Suphan Buri period, together with the belief that the person wearing a printed Buddha image from the cache at Wat Phra Rup will be safe from accidents or dangers, be invulnerable, have good fortune, and have great charming attraction; the printed Buddha images from cache at Wat Phra Rup have been famous and greatly wanted among Buddha image collectors since the old times, especially Phra Khun Phaen and Buddha images in the Kim Thueng series. Also, if a person is a real collector of Buddha images, he will try to acquire the complete set of them.
Within Wat Phra Rup area, in addition to finding a large number of printed Buddha images, we also have found printed Buddha images made from mixed metal material, or “Phra Phim Nuea Chin”. According to the history, they were found from the digging in B.E. 2492 – 2493. There were two printed models, i.e. the first batch of Uthong model, and the third batch of Uthong model, both of which were made from silver-based mixed metal material. They have flat shape. In the front is the carved picture of the Mara Vijaya (defeating the devil) posture Buddha image seated with the flat cross-legged posture on a low flat altar. His right hand is placed directly in front touching the altar. His face is unclear but still shows the almost circular outline, with the nose elevated in a ridge. His robe is long and his body is tall and slim. The back side of the Buddha image is flat and printed with the fabric or table decoration. Not many pieces of Phra Phim Nuea Chin are found. Most of them are in possession of old people living around the monastery. So, at present very few of them can be found. In addition, a small number of seated Buddha images to be worshipped are also found. The important example is the “Suphannabhumi period Buddha image” which is of Suphannabhumi art style (19th - 20th Buddhist Centuries). It is made of bronze plated with gold. It is the Mara Vijaya (defeating the devil) style Buddha image, with the rather square face, and with the funnel-shaped crown. He wears his robe in diagonal style, with the end of the robe decorated in the Kranok (serrated leaf) Thai decorative pattern similar to the fang of centipede. He is seated with the flat cross-legged posture on a curved altar the base of which is decorated in the upside down and facing up lotus flowers decoration. The base of the lotus decoration is carved in the Kranok decorative line showing the lotus petals.
เอกสารอ้างอิง
[1] มนัส โอภากุล, “พุทธประติมากรรมและพระเครื่อง,” สุพรรณบุรี ๔๐๐ ปี ยุทธหัตถี (กรุงเทพฯ: ฟิวเจอร์เพรส, ๒๕๓๕), ๓๑-๓๓.
[2] วัดพระรูป, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) (มปท., ๒๕๓๕), ๓๘.
[3] มนัส โอภากุล, พระฯ เมืองสุพรรณ (สุพรรณ: สุพรรณการพิมพ์, ๒๕๔๓), ๑๙๘-๑๙๙.
[4] กฤษฎา พิณศรี, “พระยอดขุนพล,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๐ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๗): ๖๘-๗๐.
[5] วัดพระรูป, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) (มปท, ๒๕๓๕), ๑๖-๑๗.
[6] มนัส โอภากุล, พระฯ เมืองสุพรรณ (สุพรรณ: สุพรรณการพิมพ์, ๒๕๔๓), ๑๙๗.
[7] กรมศิลปากร, รายงานการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี, (เอกสารอัดสำเนา) (มปท, ๒๕๓๔).
[8] มนัส โอภากุล, พระฯ เมืองสุพรรณ (สุพรรณ: สุพรรณการพิมพ์, ๒๕๔๓), ๒๐๙-๒๑๐.
[9] กฤษฎา พิณศรี, “พระชุดกิมตึ๋ง,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน, ๒๕๔๙), ๑๒๑.
[10] วัดพระรูป, ๘๐ ปี พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) (มปท., ๒๕๓๕), ๓๙.
[11] กฤษฎา พิณศรี, “พระชุดกิมตึ๋ง,” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน, ๒๕๔๙), ๑๒๑.
[12] มนัส โอภากุล, พระฯ เมืองสุพรรณ (สุพรรณ: สุพรรณการพิมพ์, ๒๕๔๓), ๑๙๘.
พระพุทธรูปหินทรายวัดพระรูป
พระพุทธรูปหินทราย คือโกลนของพระพุทธรูป เป็นการนำหินทรายมาขึ้นเป็นรูปพระพุทธรูปด้วยการสลัก ถากเกลาอย่างคร่าวๆ ก่อนตกแต่งด้วยปูนปั้นหรือลงรักปิดทองจนเสร็จสมบูรณ์ เมื่อกาลเวลาผ่านไปพระพุทธรูปเหล่านี้ชำรุดปูนปั้นกะเทาะออกหมด จึงเหลือเพียงหินทรายที่เป็นโกลนของพระพระพุทธรูป ดังปรากฏเป็นพระพุทธรูปหินทรายตามวัดโบราณต่าง ๆ
พระพุทธรูปหินทรายที่วัดพระรูป ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อคราวที่สร้างเก๋งจีนใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้มีการนำชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่พบภายในวัดมาบูรณะขึ้นใหม่เป็นองค์พระเพื่อนำไปประดิษฐานไว้ภายในเก๋งจีน ต่อมาเก๋งจีนถูกทิ้งร้าง พระพุทธรูปหินทรายส่วนใหญ่ชำรุดเสียหายเป็นชิ้นส่วนกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณเก๋งจีน ทางวัดได้เก็บรวบรวมไว้และบางส่วนได้นำไปประกอบและบูรณะขึ้นใหม่เป็นองค์พระเก็บรักษาอยู่ในโบสถ์มอญ นอกจากนี้ ยังได้พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายอีกจำนวนหนึ่งจากการบูรณะเจดีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ มีทั้งพระเศียรและส่วนของพระวรกาย ซึ่งเป็นหลักฐานที่สะท้อนประวัติศาสตร์วัดพระรูปในช่วงเวลานั้น
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายทั้งหมดเท่าที่พบซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนพระวรกาย ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีมากกว่า ๔๐ องค์ เกือบทั้งหมดเป็นหินทรายสีเทา และพบที่เป็นหินทรายสีแดงหนึ่งองค์ มีหลายขนาดแตกต่างกัน สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนหินทรายประกอบกัน ถ้าองค์พระขนาดไม่ใหญ่มักประกอบจากชิ้นส่วนจำนวน ๓ ชิ้น ได้แก่ ส่วนล่างคือพระวรกายท่อนล่างทั้งหมดรวมถึงพระหัตถ์ทั้งสองข้างที่สลักติดกับพระเพลา ส่วนกลางคือพระอุทรขึ้นไปถึงพระอุระ และส่วนบนคือพระศอขึ้นไปจนถึงพระเศียร แต่ถ้าองค์พระขนาดใหญ่จะประกอบด้วยส่วนชิ้นจำนวนมากขึ้น พระพุทธรูปส่วนใหญ่มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง จีวรบางแนบพระวรกาย สังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ชายสังฆาฏิมีลักษณะคล้ายเขี้ยวตะขาบ
รูปแบบการสร้างและพุทธลักษณะดังกล่าว มีความสอดคล้องกับพระพุทธรูปหินทรายที่พบในศิลปะอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ที่แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยเป็นอย่างมากแล้ว อาทิ พระพุทธรูปหินทรายที่วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา ในเมืองสุพรรณบุรียังได้พบพระพุทธรูปหินทรายที่มีรูปแบบศิลปะและอายุใกล้เคียงกันกับที่วัดพระรูปอีกหลายแห่ง อาทิ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดสนามชัย วัดโพธิ์คลาน เป็นต้น พระพุทธรูปหินทรายแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างมากมาก่อนแล้วในเมืองอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปหินทรายที่ปรากฏในเมืองสุพรรณบุรีอาจจะเป็นการนำมาจากเมืองอยุธยาก็เป็นได้
พระพุทธรูปหินทรายสีแดงที่พบเพียงองค์เดียวในวัดพระรูป ได้รับการบูรณะแล้ว จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
เศียรพระพุทธรูปหินทราย ในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายในบริเวณวัดพระรูป
พระพุทธรูปหินทรายที่พบจากการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป
ในการบูรณะเจดีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้มีการขุดตรวจส่วนฐานของเจดีย์ จากการขุดตรวจฐานทางด้านทิศใต้ขององค์เจดีย์ได้พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวน ๗ ชิ้น โดยพบบริเวณชั้นฐานเขียงชั้นล่างของฐานบัวลูกแก้วมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้และด้านใต้ ประกอบด้วย พระเศียรจำนวน ๒ ชิ้น พระวรกายส่วนบนจำนวน ๔ ชิ้น และพระวรกายส่วนล่างจำนวน ๑ ชิ้น
เศียรพระพุทธรูปหินทราย ๒ ชิ้น ชิ้นหนึ่งอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์พร้อมพระรัศมีที่แกะสลักแยกชิ้นกัน ขนาดความสูง ๒๕ ซม. กว้าง ๑๕ ซม. ลักษณะพระพักตร์เรียวยาวรูปไข่ มีไรพระศก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์ยิ้มเล็กน้อย มีร่องรอยการทาสีแดงชาด อีกชิ้นหนึ่งตัดขาดแค่พระเกตุมาลา ไม่มีพระรัศมี มีขนาดความสูง ๑๖.๕ ซม. กว้าง ๑๒ ซม. ลักษณะพระพักตร์คล้ายคลึงกัน แต่ชำรุดลบเลือนไปมาก[1]
สำหรับชิ้นส่วนพระวรกายส่วนบนอยู่ในสภาพค่อนข้างชำรุดพระกรหักหาย ครองจีวรห่มเฉียง จีวรบางแนบพระวรกาย สังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ชายสังฆาฏิมีลักษณะคล้ายเขี้ยวตะขาบ และมีร่องรอยการทาสีแดงชาด ส่วนชิ้นส่วนพระวรกายส่วนล่าง ประทับขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย และมีร่องรอยการทาสีแดงชาด[2] พุทธศิลป์ของพระพักตร์พระพุทธรูปหินทรายที่ขุดพบ แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเป็นอย่างมาก มีรูปแบบร่วมสมัยกันกับพระพุทธรูปหินทรายที่พบในศิลปะอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อาทิ พระพุทธรูปหินทรายที่วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
การพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายบริเวณชั้นฐานเขียงชั้นล่างของฐานบัวลูกแก้วมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้และด้านใต้ ก่อนการถมปิดฐานในคราวบูรณะเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นั้นแสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปหินทรายชุดนี้น่าจะสร้างขึ้นก่อนการบูรณะเจดีย์ ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปหินทรายชุดนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวช่วงแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ก่อนการบูรณะเจดีย์ครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่พบจากการขุดแต่งเจดีย์วัดพระรูป
ที่มาภาพ: กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗).
โบสถ์มอญ
โบราณสถานแห่งนี้ไม่ปรากฏประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด ตามคำบอกเล่าชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์มอญ และเล่าว่าเคยมีใบเสมาปักอยู่โดยรอบ แต่เดิมโบราณสถานนี้เหลือเพียงผนังอาคารด้านหลังและด้านข้างของพระประธาน ผนังมีความหนาประมาณ ๕๐ เมตร ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปประธานบนฐานชุกชีลักษณะเตี้ย ตั้งหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตก
ต่อมาภายหลังในสมัยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) ได้มีการบูรณะเพิ่มเติม ด้วยการก่อผนังขึ้นใหม่ทั้งสี่ด้านในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยปิดล้อมผนังอาคารเดิมไว้ด้านใน ขนาดอาคารกว้างประมาณ ๖.๒ เมตร ผนังใหม่นี้ยังก่อสูงขึ้นไปทำหน้าที่รองรับส่วนของหลังคาที่ทำขึ้นอย่างเรียบง่ายดังปรากฏในปัจจุบัน และได้มีการบูรณะพระพุทธรูปประธานภายในอาคารด้วย ดังในปัจจุบันปรากฏเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย มีพุทธศิลป์แบบพื้นบ้าน พระพักตร์กลม พระวรกายล่ำสัน องค์พระเตี้ย หน้าตักใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๒.๗๕ เมตร สูงประมาณ ๓.๕๐ เมตร
ลักษณะสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้คือ การสร้างอาคารที่มีลักษณะเล็กและแคบเพียงเพื่อให้ครอบคลุมพระประธาน ทำให้พระประธานมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดอาคาร และฐานชุกชีที่รองรับพระประธาน มีลักษณะเตี้ยและขนาดค่อนข้างกว้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดอาคาร ลักษณะโดยรวมของโบราณสถานแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงคติการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในอาคารขนาดเล็ก ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐
เอกลักษณ์เฉพาะของโบราณสถานแห่งนี้ คือการประดิษฐานพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งตรงกันข้ามกับคติโดยทั่วไปที่นิยมตั้งพระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกหรือหันพระพักตร์ลงแม่น้ำ โบราณสถานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเช่นนี้ในบริเวณเมืองสุพรรณยังพบได้อีกสองแห่ง คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และวัดป่าเลไลยก์ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าโบสถ์มอญเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่า คติการประดิษฐานพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตกดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับความนิยมเรียกชื่อโบสถ์มอญ โดยกล่าวกันว่าชาวมอญเป็นผู้สร้างโบสถ์เหล่านี้ และตั้งพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของเมืองมอญ อย่างไรก็ดี ยังคงมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานนี้ที่รอการพิสูจน์ต่อไป
พระพุทธรูปประธานในโบสถ์มอญวัดพระรูป
โบสถ์มอญวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรีและวัดป่าเลไลยก์
โบราณสถาน “โบสถ์มอญ” ตามที่ชาวเมืองสุพรรณนิยมเรียกกันนั้น นอกจากจะพบที่วัดพระรูปแล้ว ยังพบอีกที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรีและวัดป่าเลไลยก์ โดยมีความคล้ายกันคือพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก
โบสถ์มอญวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระปรางค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ในอดีตตัวอาคารที่ก่ออิฐถือปูนและเครื่องหลังคาคงชำรุดทรุดโทรมลงหมด เมื่อบูรณะจึงทำเสาไม้รองรับหลังคาที่ทำอย่างขึ้นใหม่แทน โดยรอบอาคารมีการปักใบเสมา เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการทำผนังอิฐเบื้องหลังพระประธานซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกับโบสถ์มอญวัดพระรูป
พระพุทธรูปประธานในโบสถ์มอญวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี
โบสถ์มอญวัดป่าเลไลยก์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารหลวงพ่อโต (พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์) จากภาพถ่ายเก่าพบว่าแต่เดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน มีประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ไม่มีช่องหน้าต่าง (กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะใน พ.ศ. ๒๕๔๐) ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก อย่างไรก็ดี บริเวณรอบโบสถ์หลังนี้ไม่พบร่องรอยการปักใบเสมาซึ่งเป็นเช่นเดียวกับโบสถ์มอญวัดพระรูป
พระพุทธรูปประธานในโบสถ์มอญวัดป่าเลไลยก์
เอกสารอ้างอิง
[1] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๑๕-๑๖.
[2] กรมศิลปากร, รายงานการบูรณะเจดีย์วัดพระรูป ต. ท่าพี่เลี้ยง อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี (เอกสารอัดสำเนา) (ม.ป.ท., ๒๕๓๗), ๑๕-๑๖.
บทความวิชาการ
"พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป"
พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
ประวัติความเป็นมาของพระพุทธบาทไม้
หลักฐานแผ่นไม้จารึกเรื่องสร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทไม้วัดพระรูปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ กล่าวถึงความเป็นมาของพระพุทธบาทไม้ว่า “ได้รับข่าวเล่ากันต่อๆ มาว่า ฝ่าพระพุทธบาทนี้ลอยน้ำมาแต่เหนือกับพระพุทธรูปหนึ่งองค์นี้ก่อนกรุงเก่า” อย่างไรก็ดี มนัส โอภากุล ปราชญ์เมืองสุพรรณได้บันทึกไว้ว่า พระเทพวุฒาจารย์ (หลวงพ่อเปลื้อง) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ ได้เล่าว่า ได้ยินสืบต่อมาว่า เดิมพระพุทธบาทนี้อยู่ที่วัดเขาดิน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระภิกษุรูปหนึ่งได้ขนย้ายพระพุทธบาทไม้ไปซ่อนพวกพม่า จนกระทั่งต่อมาได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระรูปจนถึงปัจจุบัน[1]
ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระแจงวินัยธรวัดพระรูป จึงได้ชักชวนชาวบ้านและคณะสงฆ์ผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างมณฑปดังปรากฏรายนามบนแผ่นไม้ ทั้งนี้ ยังมีการจัดงานนมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำในช่วงวันที่ ๓-๗ เดือนเมษายน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านและพระสงฆ์ ที่มีต่อพระพุทธบาทไม้วัดพระรูปมาตั้งแต่อดีต
แผ่นไม้จารึกการสร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ ริมแม่หน้าวัดพระรูป
พระพุทธรูปหินทรายคู่พระพุทธบาทไม้
พุทธพุทธรูปสลักขึ้นจากหินทรายสีเทาชิ้นเดียวทั้งองค์ พุทธศิลป์จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐) หรือที่นิยมเรียกกันว่าศิลปะอู่ทองรุ่นที่ ๓ มีพุทธลักษณะสืบต่อมาจากพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองรุ่นที่ ๒ โดยได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่อย่างชัดเจน คือเป็นพระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีรูปเปลวไฟมีกลีบบัวประดับ เม็ดพระศกค่อนข้างเล็ก พระพักตร์วงรูปไข่ พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระขนงโก่งโค้ง มีเส้นไรพระศก กึ่งกลางไรพระศกหยักแหลมลงล้อกับพระขนง พระกรรณค่อนข้างสั้นมีเส้นตัดแนวเฉียง องค์พระชะลูด ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภี ปลายสังฆาฏิตัดตรง
พระพุทธรูปหินทรายคู่พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป
พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่คู่กับพระพุทธบาทไม้มาช้านาน ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่าของวัดพระรูป เชื่อว่าคือพระพุทธรูปองค์ที่กล่าวถึงในจารึกบนแผ่นไม้คราวสร้างมณฑปริมน้ำใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ความว่า “ได้รับข่าวเล่ากันต่อ ๆ มาว่า ฝ่าพระพุทธบาทนี้ลอยน้ำมาแต่เหนือกับพระพุทธรูปหนึ่งองค์นี้ก่อนกรุงเก่า”
ภาพถ่ายเก่าในสมัยพระครูถาวรสุวรรณคุณ (คำ ถาวโร) หรือหลวงพ่อคำ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระรูปตั้ง(พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๕๒๔) สังเกตเห็นพระพุทธรูปหินทรายคู่กับพระพุทธบาทไม้
โบราณสถานวัดเขาดิน
วัดเขาดิน ตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำท่าว้า ใน ต. สระแก้ว อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี ภายในวัดมีโบราณสถานเจดีย์ ฐานทักษิณก่ออิฐบนเนินดินอัดแน่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีลานทักษิณกว้าง พบร่องรอยเสา คาน และรอยกระเบื้องบนผนังเรือนธาตุ เรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่เดิมคงประดับพระพุทธรูปโดยรอบเรือนธาตุ ส่วนยอดเป็นมาลัยลูกแก้ว ๓ ชั้นรองรับองค์ระฆัง องค์ระฆังมีขนาดเล็ก นักวิชาการบางท่านจัดเจดีย์วัดเขาดินอยู่ในกลุ่มเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล เจดีย์วัดอโยธยา (เดิม) พระนครศรีอยุธยา[2] กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเจดีย์วัดเขาดิน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิ ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตามรูปแบบศิลปะสุพรรณภูมิ
นักวิชาการท้องถิ่นวิเคราะห์ว่า ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่พระองค์ท่านเสด็จไปสักการะสระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๔ ที่ลำน้ำท่าว้า และคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ยืนยันว่ามีคลองจากแม่น้ำท่าว้าไหลมาออกแม่น้ำสุพรรณบุรีได้ แต่ในปัจจุบันอาจมีบางตอนที่ตื้นเขินและมีถนนตัดผ่าน ไม่ได้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำเหมือนแต่ก่อน[3]
พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กล่าวถึงในสาส์นสมเด็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ว่าเป็นพระบาทตะแคง การทำรูปบัลลังก์ไม่มีรูปพระพุทธเจ้านั้นน่าจะเป็นแบบคติดั้งเดิม และมีการออกแบบจัดมงคล ๑๐๘ ในวงกลม[4] หลังจากนั้นใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมืองสุพรรณ มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรพระพุทธบาทนี้ จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) นำพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมาถวายทอดพระเนตร ณ ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี พร้อมทั้งโปรดให้บันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน[5]
การศึกษาที่ผ่านมาเกี่ยวกับพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป นักวิชาการส่วนใหญ่มุ่งเน้นศึกษาทางด้านรูปแบบศิลปะเป็นสำคัญ อาทิ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปทำรูปบัลลังก์ที่ไม่มีพระพุทธรูปประดิษฐานคล้ายกับคติเก่า และลวดลายสลักที่เป็นลายดอกไม้ใบไม้เครือเถาซึ่งบางส่วนเหมือนกับลายสมัยอโยธยา-สุพรรณภูมิ จึงจัดเป็นฝีมือช่างสุพรรณภูมิหรืออู่ทองตอนปลาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นอย่างต่ำ[6] อาจารย์นันทนา ชุติวงศ์ วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีระบบการจัดวางรูปมงคล ๑๐๘ ในวงกลมกลางพระบาท ซึ่งเป็นระบบที่พบครั้งแรกสมัยสุโขทัยในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยมีระเบียบการเรียงรูปมงคล ๑๐๘ เหมือนกับพระพุทธบาทสำริดจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร และได้กำหนดว่าคงจะมีอายุหลังพระพุทธบาทศิลาจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สันนิษฐานว่าอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เล็กน้อย[7] อย่างไรก็ดี Virginia McKeen วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีเนื้อหาที่ผิดยุคสมัยอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม โดยกำหนดอายุจากรูปพระแม่ธรณีว่ามีลักษณะเหมือนกับจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรี จึงมีอายุอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[8]
จากตัวอย่างการศึกษาที่ผ่านเห็นได้ว่ายังคงมีปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป ทั้งในประเด็นเรื่องแบบศิลปะและการกำหนดอายุ นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสนใจด้วยว่ามงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ และรูปพระพุทธประวัติบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีความหมายทางประติมานวิทยาอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ยังไม่ได้รับศึกษาจากนักวิชาการ
พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป: พระพุทธบาทสองด้านที่ประดิษฐานในลักษณะตะแคงแนวนอน
พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป มีลักษณะเป็นภาพสลักบนแผ่นไม้เนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วิธีการสลักมีทั้งการถากเป็นรูปลายเส้น การสลักแบบนูนต่ำ และการสลักแบบนูนสูงเป็นรูปลอยตัว ขนาดประมาณกว้าง ๗๔ ซม. ยาว ๒๒๒ ซม. และหนา ๑๐ ซม. ด้านหนึ่งเป็นรูปพระพุทธบาทและมีรูปบุคคล ๔ รูปอยู่ด้านข้าง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ-ชนะมาร มีร่องรอยการลงรักปิดทองทั้งสองด้าน พระพุทธบาทนี้เป็นพระบาทเบื้องขวา แกะสลักรูปพระพุทธบาทให้มีลักษณะนูนออกมา พระพุทธบาทมีรูปทรงเป็นเรขาคณิตทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายด้านหนึ่งมน แสดงพระอังคุฐใหญ่กว่านิ้วอื่น มีเส้นรอบรูปและเส้นแบ่งแสดงนิ้วพระบาทเป็นเส้นตรงและวงโค้ง รูปทรงไม่เป็นธรรมชาติ มีการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ประการอยู่ในธรรมจักรที่มีขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาท พื้นพระบาทและนิ้วพระบาทสลักเป็นเส้นลายก้นหอย ด้านข้างของพระพุทธบาททำเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในมีรูปบุคคลสวมเครื่องทรง ถือพระขรรค์นั่งในท่ามหาราชลีลา กล่าวได้ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปสลักรูปบนแผ่นไม้ที่มีเจตนาให้เป็นแนวนอน และให้ตั้งตะแคงขึ้นเพื่อให้มองเห็นรูปได้ทั้งสองด้าน การทำพระพุทธบาทในลักษณะนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมโดยทั่วไปมากนัก พบตัวอย่างให้เห็นในศิลปะอยุธยา คือพระพุทธบาทศิลาพบที่อยุธยา ด้านหน้าเป็นรูปรอยพระพุทธบาท ด้านหลังเป็นรูปธรรมจักร[9] สำหรับการประดิษฐานพระพุทธบาทในลักษณะตะแคงนั้น มีตัวอย่างเหลือปรากฏให้เห็นเป็นรูปพระพุทธบาทอยู่ทั้งสองข้างของทางเข้าพระปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระพุทธบาทไม้วัดพระรูปประดิษฐานในลักษณะตะแคงแนวนอน
รูปแบบของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปสลักให้มีลักษณะนูนเป็น “รูปพระพุทธบาท” อันแสดงถึงฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า เป็นสัญลักษณ์ที่เคยใช้แทนองค์พระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณยุคที่ยังไม่มีการทำพระพุทธรูป เช่นเดียวกับรูปธรรมจักร ต้นโพธิ์ และบัลลังก์ และยังใช้สืบเนื่องกันมาอีกระยะหนึ่งในสมัยที่มีการทำพระพุทธรูปแล้ว โดยนิยมสลักหินให้นูนขึ้นเป็นรูปพระพุทธบาทคู่มีธรรมจักรกลางฝ่าพระบาท รูปพระพุทธบาทนี้จัดเป็นปูชนียวัตถุแบบ “อุเทสิกะเจดีย์” คือสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า หรือเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า[10] มีทั้งที่เป็นรูปทรงคล้ายรอยเท้ามนุษย์ตามธรรมชาติซึ่งมักพบในศิลปะแบบคันธาระ และรูปทรงเรขาคณิตทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายด้านหนึ่งมนซึ่งมักพบในศิลปะแบบอมราวดี[11] รูปแบบพระพุทธบาทและคติความเชื่อนี้ได้สืบทอดต่อมาในลังกา มีทั้งในลักษณะรูปพระพุทธบาทคู่และรูปพระพุทธบาทเดี่ยว รูปพระบาทคู่นั้นส่วนใหญ่ทำตามแบบและประเพณีที่รับมาจากศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คือทำเป็นรูปสลักนูนอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม และน่าจะมีเจตนาให้เป็นฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า[12] สำหรับในประเทศไทยมีความนิยมในการทำรูปพระพุทธบาทน้อยมาก โดยส่วนใหญ่นิยมทำในลักษณะเป็นรอยพระพุทธบาทที่แกะสลักเว้าลึกลงไป รูปพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดในไทยน่าจะได้แก่พระพุทธบาทที่วัดเขาดีสลัก จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวได้ว่าการสร้างพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปให้มีลักษณะเป็น “รูปพระพุทธบาท” อันเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่แทนพระพุทธเจ้า และเป็นรูปแบบศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในยุคสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงเจตนาในการสร้างสรรค์รูปแบบศิลปกรรมเพื่อความหมายพิเศษบางประการที่แตกต่างไปจากรอยพระพุทธบาทโดยทั่วไป
มงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
คัมภีร์เกี่ยวกับมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาท ในชั้นพระสูตรพบว่า มหาปทานสูตร ในทีฑนิกาย สุตตันตปิฎก[13] ลักขณสูตร ในทีฑนิกาย สุตตันตปิฎก[14] และพรหมายุสูตร มัชฌิมนิกาย สุตตันตปิฎก[15] มีการกล่าวถึงมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ ในพุทธลักษณะที่ ๒ ความมีลายกงจักรที่ฝ่าพระบาท คือมีลายกงจักร ๑,๐๐๐ ซี่ มีดุมของกงจักรปรากฏท่ามกลางพื้นพระบาท มีลวดลายวงกลมกำหนดด้วยดุม มีวงกลมล้อมหน้าดุม มีท่อน้ำ มีซี่ มีลวดลายวงกลมในซี่ มีกง และมีกงแก้วมณี โดยทั้ง ๓ พระสูตรนี้ไม่มีการกล่าวถึงมงคลรูปสัญลักษณ์บนฝ่าพระพุทธบาท อย่างไรก็ดี พระสูตรอื่น ๆ รวมถึงในคัมภีร์พุทธวงศ์ มีการกล่าวถึงมงคลรูปสัญลักษณ์ไว้ ๗ ประการ ได้แก่ รูปธงชัย (ธช), รูปธงผืนผ้า (ปตาก), รูปแส้จามร (วาลพีชนี), รูปฉัตร (ฉตฺต), แก้ววิเชียร (วชิร), ถ้วยใส่เครื่องสังเวย (วฑฺฒมาน) และขอช้าง (องฺกุส)[16] ต่อมาในสมัยอรรถกถาพบว่าคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาของมหาปทานสูตรในทีฑนิกาย[17] และคัมภีร์ปปัญจสูทนี อรรถถกถามัชฌิมนิกาย[18] ที่แต่งโดยพระพุทธโฆสาจารย์ กล่าวถึงมงคลรูปสัญลักษณ์บนฝ่าพระพุทธบาท ๓๙ ประการ อย่างไรก็ตามอรรถกถาเหล่านี้กล่าวถึงมงคลไม่ครบ ๑๐๘ ประการ
คัมภีร์ที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทอย่างสมบูรณ์พบในคัมภีร์สมันตภัททิกะ ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ ที่แต่งโดยพระอุปติสสะ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ กล่าวถึงเครื่องหมายมงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระบาทของพระศรีอริยเมตไตรย์ที่เป็นพระอนาคตพุทธเจ้า สำหรับคัมภีร์ที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระบาทพระพุทธเจ้าพบในคัมภีร์ชินาลังการฎีกา ที่แต่งโดยพระพุทธรักขิตะ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗[19] คัมภีร์ทั้งสองมีลำดับมงคลบางรูปแตกต่างกันซึ่งอาจเกิดจากการจารผิดต่อ ๆ กันมาทำให้ข้อความคลาดเคลื่อนไปจากเดิม[20] นอกจากนี้ ยังได้พบในคัมภีร์ปัชชมธุ ที่แต่งโดยพระพุทธัปปิยะ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖[21] รวมถึงได้พบในคัมภีร์ที่แต่งขึ้นนอกอินเดียและลังกาในคัมภีร์ปาทวันทนา ที่แต่งโดยมหาอำมาตย์ศรีจตุรังคพล ในสมัยพระเจ้าสีหสูร (พ.ศ. ๑๘๙๔ - ๑๙๐๔) แห่งราชวงศ์ปินยะ ประเทศพม่า แต่งโดยอาศัยข้อความจากคัมภีร์อรรถกถาของอนาคตวงศ์และคัมภีร์ชินาลังการฎีกา[22] แต่ก็พบว่ามีลำดับมงคลบางรูปแตกต่างไปจากทั้งสองคัมภีร์ในปัจจุบัน[23] ซึ่งคัมภีร์ปาทวันทนานี้ได้แพร่มาถึงไทยในชื่อคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณ[24]
สำหรับในลุ่มน้ำภาคกลางประเทศไทย คัมภีร์ที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทคงแพร่หลายมาแล้วอย่างน้อยในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยพบร่องรอยว่าคัมภีร์ชินาลังการฎีกาเป็นที่แพร่หลายอยู่ในสุโขทัยช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เห็นได้จากพญาลิไทใช้เป็นคัมภีร์อ้างอิงในการเรียบเรียงไตรภูมิพระร่วง[25] ที่วัดตระพังช้างเผือกนอกเมืองสุโขทัยได้พบหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ ๑๐๒[26] กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาท[27] จารึกระบุการสร้างตรงกับ พ.ศ. ๑๙๒๒[28] ซึ่งมีเนื้อความของฉันท์บทแรกคล้ายกันกับคัมภีร์พุทธบาทมงคล[29] และยังได้พบในคัมภีร์อรรถกถาพุทธบาทมงคล ที่น่าจะแต่งขึ้นในอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐[30] นอกจากนี้ ยังได้พบในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓[31] กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระบาทโดยเปรียบเทียบกับคุณลักษณะของพระพุทธเจ้า[32] คัมภีร์เกี่ยวกับมงคล ๑๐๘ แต่ละฉบับมีรายละเอียดในเรื่องของรายการมงคลและการจัดเรียงมงคลบางประการแตกต่างกัน คงเนื่องจากเป็นการจารต่อกันมาเป็นเวลาอันยาวนานจึงทำให้เกิดข้อความคลาดเคลื่อนไปจากเดิม คัมภีร์เหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างพระพุทธบาทที่ประกอบด้วยมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการ
จากการประมวลทั้งในคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา ซึ่งเป็นคัมภีร์ชุดแรกที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ พบว่ามีรูปสัญลักษณ์ ดังนี้ ๑. สตฺติ (รูปหอก) ๒. สิริวจฺโฉ (รูปเรือนยอด) ๓. นนฺทิยาวัฎฺฏํ (รูปดอกพุดซ้อน) ๔. โสวตฺถิกํ (รูปสวัสติกะ) ๕. วฎํสกํ (รูปดอกไม้กรองบนศีรษะ) ๖. วฑฺฒมานํ (รูปถ้วยใส่เครื่องสังเวย) ๗. ภทฺทปีฐํ (รูปตั่งทอง) ๘. องฺกุโส (รูปขอช้าง) ๙. ปาสาโท (รูปปราสาท) ๑๐. โตรณํ (รูปเสาระเนียด) ๑๑. เสตจฺฉตฺตํ (รูปเศวตฉัตร) ๑๒. ขคฺคํ (รูปพระขรรค์) ๑๓. ตาลวณฺฏํ (รูปพัดใบตาล) ๑๔. โมรหตฺถํ (รูปพัดหางนกยูง) ๑๕. อุณฺหีสํ (รูปกรอบหน้า) ๑๖. ปตฺตํ (รูปบาตร) ๑๗. มณิ (รูปแก้วมณี) ๑๘. สุมนทามํ (รูปพวงดอกมะลิ) ๑๙. นีลุปฺปลํ (รูปดอกบัวขาบ) ๒๐. รตฺตุปฺปลํ (รูปดอกบัวแดง) ๒๑. เสตุปฺปลํ (รูปดอกบัวขาว) ๒๒. ปทุมํ (รูปดอกปทุม) ๒๓. ปุณฺฑรีกํ (รูปดอกปุณฑริก หรือดอกบัวเผื่อน, ดอกบัวขาว) ๒๔. ปุณณฆโฏ (รูปหม้อใส่น้ำเต็ม) ๒๕. ปุณฺณปาติ (รูปถ้วยใส่น้ำเต็ม) ๒๖. สมุทฺโท (รูปมหาสมุทร) ๒๗. จกฺกวาฬกํ (รูปภูเขาจักรวาล) ๒๘. หิมวา (ภูเขาหิมพานต์) ๒๙. สิเนรุ (รูปภูเขาพระสุเมรุ) ๓๐. สูริโย (รูปดวงอาทิตย์) ๓๑. จนฺทิมา (รูปดวงจันทร์) ๓๒. นกฺขตฺตํ (รูปดาวนักษัตร) ๓๓. - ๓๖. จตุโร มหาทีปา ปริตฺตทีปา (รูปทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ทวีปน้อย ๒,๐๐๐) ๓๗. สปริโส จกฺกวตฺติ (รูปพระเจ้าจักรพรรดิและบริวาร) ๓๘. ทกฺขิณาวตฺตเสตสงฺโข (รูปสังข์ขาวที่เวียนขวา) ๓๙. สุวณฺณมจฺฉยุคลํ (รูปปลาทองคู่) ๔๐. จกฺกํ (รูปกงจักร) ๔๑. - ๔๗. สตฺต มหาคงฺคา (รูปแม่น้ำใหญ่ ๗ สาย) ๔๘. - ๕๔. สตฺต มหาเสลา (รูปขุนเขา ๗ ลูกหรือเขาสัตตบริภัณฑ์) ๕๕. - ๖๑. สตฺต มหาสรา (รูปสระน้ำใหญ่ ๗ แห่ง) ๖๒. สุปณฺณราชา (รูปพญาครุฑ) ๖๓. สุสุมารโก (รูปจรเข้) ๖๔. ธโช (รูปธงชัย) ๖๕. ปฏากํ (รูปธงผืนผ้า) ๖๖. รตนปาฏงฺกี (รูปวอทอง) ๖๗. สุวณฺณวาลวีชนี (รูปแส้จามรทอง) ๖๘. เกลาสปพฺพโต (รูปภูเขาไกรลาส) ๖๙. สีหราชา (รูปพญาราชสีห์) ๗๐. พฺยคฺฆราชา (รูปพญาเสือโคร่ง) ๗๑. วลาหโก อสฺสราชา (รูปพญาม้าวลาหก) ๗๒. อุโปสถฉทฺทนฺตหตฺถิราชา (รูปพญาช้างอุโบสถและช้างฉัททันต์)[33] ๗๓. วาสุกี อุรคราชา (รูปพญานาควาสุกี) ๗๔. หํสราชา (รูปพญาหงส์) ๗๕. อุสภราชา (รูปพญาวัว) ๗๖. เอราวโณฺ นาคราชา (รูปพญาช้างเอราวัณ) ๗๗. สุวณฺณมกโร (รูปมังกรทอง) ๗๘. จตุมมุขา สุวณฺณนาวา (รูปเรือทองสี่หน้า) ๗๙. สวจฺฉกา คามี (รูปแม่โคนม) ๘๐. กินนโร (รูปกินนร) ๘๑. กินฺนรี (กินนรี) ๘๒. กรวีโก (รูปนกการเวก) ๘๓. มยูรราชา (รูปพญานกยูง) ๘๔. โกญฺจราชา (รูปพญานกกระเรียน) ๘๕. จกฺกวากราชา (รูปพญานกจากพราก) ๘๖. ชีวณฺชีวกราชา (รูปพญานกโพรดก) ๘๗. - ๙๒. ฉ กามาวจรเทวโลกา (รูปเทวโลก) ๙๓ - ๑๐๘. โสฬส พฺรหฺมาโลกาติ (รูปพรหมโลก ๑๖ ชั้น)[34]
มงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระพุทธบาทไม้
เมื่อวิเคราะห์ตีความมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป โดยอาศัยเนื้อหาที่ประมวลจากคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับข้างต้น พบว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีวิธีการจัดเรียงมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ในลักษณะวงกลม โดยเริ่มต้นที่รูปหอก (สตฺติ) ในวงกลมแถวในสุด[35] เวียนทักษิณาวรรต (เวียนตามเข็มนาฬิกา) จนครบรอบ แล้วจึงต่อด้วยรูปสัญลักษณ์ในวงกลมชั้นถัดออกมา จนกระทั่งถึงรูปพรหมโลก (โสฬสพฺรหฺมาโลกาติ) องค์สุดท้ายในวงกลมชั้นนอกสุด สามารถตีความมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปได้ดังนี้
๑. รูปหอก (สตฺติ) ๓๑. ? ๖๑. รูปแส้ (สุวณฺณวาลวีชนี)
๒. รูปบุคคล (สิริวจฺโฉ) ๓๒. รูปบุคคล (สปริโส จกฺกวตฺติ) ๖๒. รูปภูเขา (เกลาสปพฺพโต)
๓. รูปดอกไม้ (นนฺทิยาวัฎฺฏํ) ๓๓. ? ๖๓. รูปราชสีห์ (สีหราชา)
๔. รูปดอกไม้ ? ๓๔. ? ๖๔. รูปพญาเสือโคร่ง (พฺยคฺฆราชา)
๕. รูปดอกไม้ (วฎํสกํ) ๓๕. รูปสังข์ (ทกฺขิณาวตฺตเสตสงฺโข) ๖๕. รูปพญาเสือ
๖. รูปภาชนะมีฝาปิด (วฑฺฒมานํ) ๓๖. ? ๖๖. รูปม้าวลาหก (วลาหโก อสฺสราชา)
๗. รูปแท่น (ภทฺทปีฐํ) ๓๗. ? ๖๗. รูปพญาช้างอุโบสถ (อุโปสถ)
๘. ? ๓๘. ? ๖๘. รูปพญาช้างฉัททันต์ (ฉทฺทนฺตหตฺถิราชา)
๙. รูปขอช้าง (องฺกุโส) ๓๙. ? ๖๙. รูปพญานาค (วาสุกี อุรคราชา)
๑๐. รูปซุ้มประตู (โตรณํ) ๔๐. ? ๗๐. รูปพญาหงส์ (หํสราชา)
๑๑. รูปเศวตฉัตร (เสตจฺฉตฺตํ) ๔๑. ? ๗๑. รูปพญาวัว (อุสภราชา)
๑๒. รูปพระขรรค์ (ขคฺโค) ๔๒. ? ๗๒. รูปพญาช้างเอราวัณ (เอราวโณฺ นาคราชา)
๑๓. รูปพัดใบตาล (ตาลวณฺฏํ) ๔๓. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา) ๗๓. รูปมังกรทอง (สุวณฺณมกโร)
๑๔. รูปพวงดอกมะลิ ? ๔๔. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา) ๗๔. ดอกไม้ ?
๑๕. รูปแก้วมณี ? ๔๕. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา) ๗๕. รูปพระพรหม (จตุมมุขา)
๑๖. รูปกำหางนกยูง ? ๔๖. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา) ๗๖. รูปเรือทอง (สุวณฺณนาวา)
๑๗. รูปมงกุฎ (อุณฺหีสํ) ๔๗. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา) ๗๗. รูปพระแท่น
๑๘. รูปดอกบัว (นีลุปฺปลํ) ๔๘. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา) ๗๘. รูปพัดใบตาล
๑๙. รูปดอกบัว (รตฺตุปฺปลํ) ๔๙. รูปดอกบัว (สตฺต มหาคงฺคา) ๗๙. รูปเต่า
๒๐. รูปดอกบัว (เสตุปฺปลํ) ๕๐. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา) ๘๐. รูปโคแม่ลูก (สวจฺฉกา คามี)
๒๑. รูปดอกไม้ (ปทุมํ) ๕๑. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา) ๘๑. กินนรและกินนรี (กินนโรและกินฺนรี)
๒๒. รูปดอกไม้ (ปุณฺฑรีกํ) ๕๒. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา) ๘๒. รูปนกการเวก (กรวีโก)
๒๓. รูปหม้อที่มีดอกไม้ (ปุณณฆโฏ) ๕๓. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา) ๘๓. รูปพญานกยูง (มยูรราชา)
๒๔. ภาชนะที่มีดอกไม้ (ปุณฺณปาติ) ๕๔. รูปภูเขา(สตฺต มหาเสลา) ๘๔.รูปพญานกกระเรียน (โกญฺจราชา)
๒๕. รูปดอกไม้ ? ๕๕. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา) ๘๕. รูปพญานกจากพราก (จกฺกวากราชา)
๒๖. รูปดอกไม้ ? ๕๖. รูปภูเขา (สตฺต มหาเสลา) ๘๖. รูปพญานกโพรดก (ชีวณฺชีวกราชา)
๒๗. รูปภูเขา (หิมวา?) ๕๗. รูปพญาครุฑ (สุปณฺณราชา) ๘๗. - ๙๒. รูปเทวดา ๖ (ฉ กามาวจรเทวโลกา)
๒๘. รูปภูเขามีเสาเดียว (สิเนรุ) ๕๘. รูปจระเข้ (สุสุมารโก) ๙๓. - ๑๐๘. รูปพระพรหม ๑๖ (โสฬส พฺรหฺมาโลกาติ)
๒๙. รูปดวงอาทิตย์ (สูริโย) ๕๙. รูปธง (ธโช?)
๓๐. รูปดวงจันทร์ (จนฺทิมา) ๖๐. รตนปาฏงฺกี (รูปวอทอง)
การจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ของพระพุทธบาทไม้
จากการตีความมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปเท่าที่สามารถศึกษาตีความได้พบว่า แม้มงคลรูปสัญลักษณ์ส่วนใหญ่ตรงกับมงคลที่ประมวลมาจากคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับข้างต้น แต่ก็มีที่แตกต่างกันหลายประการทั้งในเรื่องรายการมงคลและการจัดเรียงลำดับมงคล โดยพบว่ารูปมงคลที่ปรากฏเพิ่มจากคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับคือ รูปพญาเสือ (อยู่ต่อจากรูปพญาเสือโคร่ง) รูปพรหมสี่หน้า (อยู่ก่อนหน้ารูปเรือทอง) รูปพระแท่นบัลลังก์ (อยู่ต่อจากรูปเรือทอง) รูปพัดใบตาล (อยู่ต่อจากรูปพระแท่น) และรูปเต่า (อยู่ต่อจากรูปพัดใบตาล) อนึ่งแม้ไม่สามารถตีความมงคลได้ทั้งหมด แต่สันนิษฐานได้ว่ามีการตัดรูปมงคลบางประการออกไปจากที่มีในคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับด้วย อาจกล่าวได้ว่าการทำมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีความคลาดเคลื่อนไปจากคัมภีร์สำคัญที่กล่าวถึงมงคล ๑๐๘ ทั้งคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา
อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาเปรียบเทียบมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปกับคัมภีร์อื่น พบว่ามีความใกล้เคียงกับคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓[36] อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องรูปมงคลที่เพิ่มเข้ามาคือ รูปพญาเสือ (ต่อจากรูปพญาเสือโคร่ง) รูปพรหมสี่หน้า (อยู่ก่อนหน้ารูปเรือทอง) รวมถึงรูปพระแท่นบัลลังก์ รูปพัดใบตาล และรูปเต่าที่ทำต่อเนื่องกัน ซึ่งรูปมงคลเหล่านี้ไม่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา ดังนั้นจึงตั้งเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณมากกว่าคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าว และสันนิษฐานว่าคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณน่าจะเป็นที่รู้จักมาแล้วอย่างน้อยในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตามข้อสันนิษฐานกำหนดอายุพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป ดังปรากฏร่องรอยคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ที่คงจะเป็นการจารสืบต่อกันมาจากคัมภีร์ในอดีต
อนึ่ง ในการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาท พบว่ามีทั้งการสร้างเป็นรูปเหมือนจริงและรูปสัญลักษณ์ ตามรายชื่อมงคลที่ภาษาบาลีซึ่งกล่าวอย่างรวม ๆ อยู่ในคัมภีร์โดยไม่ได้แยกกล่าวเป็นรายการ ในการทำรูปมงคลจึงขึ้นอยู่กับการตีความชื่อมงคลของช่างผู้สร้าง รวมถึงยังต้องคำนึงถึงระเบียบจารีตงานศิลปกรรมที่ทำสืบต่อกันมาด้วย ดังนั้นจึงยังไม่อาจกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป จะเกิดจากการรับแรงบันดาลใจมาจากคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณโดยตรง เนื่องจากยังขาดหลักฐานคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ให้ศึกษาเปรียบเทียบ หรือจะเกิดจากการรับแรงบันดาลใจทางอ้อมผ่านระเบียบจารีตของงานศิลปกรรมที่สืบทอดต่อกันมา หรืออาจจะเกิดจากการผสมผสานระหว่างอิทธิพลแรงบันดาลใจจากคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณกับระเบียบจารีตงานของศิลปกรรมที่สืบทอดต่อกันมาก็เป็นได้
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
เป็นที่น่าสังเกตว่ามงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป ปรากฏรูปพรหมสี่หน้า (อยู่ก่อนรูปเรือทอง) ซึ่งไม่ปรากฏในคัมภีร์หลักอย่างคัมภีร์ชินาลังการฎีกาและคัมภีร์ปาทวันทนา สันนิษฐานว่าเกิดจากการตีความมงคล “จตุมุขา สุวณฺณนาวา” (เรือทองสี่หน้า) ที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาหรือคัมภีร์ปาทวันทนา ออกเป็น ๒ มงคลคือ “จตุมฺมขา” ที่แปลว่าพรหมสี่หน้าหรือลูกศรที่มีปลายสี่แฉก และ “สุวณฺณนาวา” ที่แปลว่าเรือทอง การตีความในลักษณะนี้น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฏในจารึกหลักที่ ๑๐๒[37] และอาจจะสืบต่อมาในสมัยอยุธยาดังปรากฏในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการตีความชื่อมงคลที่แตกต่างออกไปจากคัมภีร์ดั้งเดิม อันเนื่องมาจากรายชื่อมงคลเป็นภาษาบาลีและถูกกล่าวถึงอย่างรวม ๆ โดยไม่ได้แยกกล่าวเป็นรายการ ย่อมส่งผลต่อการสร้างสรรค์รูปมงคลที่แตกต่างออกไปตามการตีความนั้นด้วย นอกจากนี้ในการตีความยังได้พบการทำมงคลรูปเต่า ซึ่งไม่ตรงกับเนื้อหาทั้งในคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา รวมถึงไม่พบในจารึกหลักที่ ๑๐๒ แต่ได้พบในคัมภีรพุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ดังได้กล่าวไปแล้ว การทำมงคลรูปเต่ายังปรากฏในพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร พระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยปรากฏคู่กับรูปปลา รวมถึงพระพุทธบาทไม้ประดับมุกจากวัดพระสิงห์[38] จังหวัดเชียงใหม่
มงคล “จตุมฺมขา” (พรหมสี่หน้าหรือลูกศรที่มีปลายสี่แฉก) และมงคล “สุวณฺณนาวา” (เรือทอง) พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป
เป็นที่น่าสนใจว่าในมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป พบการทำรูปมงคลรูปช้าง ๒ ตำแหน่งติดกัน (รูปมงคลเลขที่ ๖๗ และ ๖๘) Virginia McKeen[39] วิเคราะห์ว่า แม้คัมภีร์สมันตภัททิกะซึ่งอธิบายมงคลบนพระพุทธบาทพระศรีอริยเมตไตรย์พุทธเจ้า กับคัมภีร์ชินาลังการฎีกาซึ่งอธิบายมงคลบนพระพุทธบาทพระโคตมะพุทธเจ้าจะอธิบายมงคล ๑๐๘ คล้ายกันมาก แต่คัมภีร์ทั้งสองเล่มก็มีความแตกต่างกันในมงคลรูปช้าง โดยคัมภีร์สมันตภัททิกะระบุว่าเป็น “อุโบสถวรรณราชา” คือพญาช้างอุโบสถ แต่ในคัมภีร์ชินาลังการฎีการะบุว่าเป็น “อุโบสถฉันททันตะ - หัตถิราชา” คือพญาช้างอุโบสถและพญาช้างฉัททันต์ และยังได้พบการกล่าวถึงพญาช้างทั้ง ๒ ในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ซึ่งในประเด็นนี้พระคันธสาราภิวงศ์วิเคราะห์ว่าที่ถูกต้องควรจะมีรูปช้างอุโบสถเท่านั้น อันหมายถึงช้างตระกูลอุโบสถที่เป็นช้างคู่บารมีของพระเจ้าจักรพรรดิ[40] สันนิษฐานว่าการเพิ่มรูปพญาช้างฉัททันต์[41]เข้าไปคงจะเพื่อให้มีความหมายถึงนิบาตชาดกเรื่องฉัททันตชาดกด้วย อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มพระพุทธบาทที่มีการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักร ยังได้พบการทำมงคลรูปพญาช้างทั้ง ๒ ในรอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ พระพุทธบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร และพระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งควรจะหมายถึงอุโบสถฉันททันตะ - หัตถิราชาตามคัมภีร์ และเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าคือพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตม
มงคล “อุโปสถ” (พญาช้างอุโบสถ) และมงคล “ฉทฺทนฺตหตฺถิราชา” (พญาช้างฉัททันต์) พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป
รูปมงคลที่สังเกตเห็นได้ไม่ยากในพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปคือรูปพรหม ๑๖ ชั้น[42] (โสฬส พฺรหฺมาโลกาติ) เป็นรูปบุคคลนั่งในท่ามหาราชลีลาบ้างนั่งขัดสมาธิราบบ้าง มีสองพระหัตถ์ส่วนใหญ่อยู่ในท่าประนมมือและมีเพียงสององค์สุดท้ายที่ทำท่ายกพระหัตถ์ข้างหนึ่งขึ้น จุดสำคัญคือมีการทำพระพักตร์อยู่ข้างเศียรทำให้ทราบได้ว่ามี ๔ พักตร์อันหมายถึงพรหม ซึ่งแตกต่างจากรูปเทวดาที่มีพระพักตร์เดียวอย่างชัดเจน ในกลุ่มพระพุทธบาทที่มีการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักร ยังได้พบการทำรูปพรหมสี่พักตร์ในพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร และพระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทำพระพักตร์ด้านข้างขนาดเล็กจึงไม่เด่นชัด แตกต่างไปจากรูปพรหมในพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปที่ทำพระพักตร์ด้านข้างขนาดใหญ่ซึ่งแสดงถึงพรหม ๔ พักตร์อย่างชัดเจน นับเป็นตัวอย่างการทำรูปพรหม ๔ พักตร์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑[43]
มงคล “โสฬส พฺรหฺมาโลกาติ” (พระพรหม ๑๖ ชั้น) พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป
นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตบางประการว่ามีการทำรูปมงคลกินนรกับรูปมงคลกินนรีรวมเป็นรูปสัญลักษณ์เดียวกัน อันเป็นรูปแบบที่ไม่ปรากฏมาก่อน ซึ่งโดยทั่วไปนิยมทำรูปมงคลทั้งสองแยกกันคนละช่อง รูปสัญลักษณ์ลักษณะพิเศษดังกล่าวคงได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นบนเงื่อนไขเพื่อให้เกิดช่องว่างเพิ่มสำหรับใส่รูปมงคลอื่น โดยพยายามรักษาความหมายของกินนรและกินนรีไว้ แสดงให้เห็นว่าการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทย่อมมีการยักย้ายปรับเปลี่ยนได้เสมอบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของช่างผู้สร้าง ทำให้เกิดมงคลรูปสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบ มงคลรูปสัญลักษณ์กินนร - กินนรีนี้นับเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
มงคล “กินนโรและกินฺนรี” (กินนรและกินนรี) พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป
การจัดเรียงมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ ประการในวงธรรมจักรของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
ในลุ่มแม่น้ำภาคกลางของไทยพบความนิยมในการทำมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙[44] พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาท ประกอบด้วยวงกลมจำนวน ๔ ชั้น วงกลมในสุดเป็นรูปดอกบัวบาน วงที่สองจัดเรียงรูปมงคลเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ วงที่สามจัดเรียงรูปมงคลเทือกเขาทั้ง ๗ มหาสมุทรทั้ง ๗ สระน้ำใหญ่ทั้ง ๗ พระอาทิตย์ พระจันทร์ สัตว์หิมพานต์ ป่าหิมพานต์ และวงที่สี่ซึ่งเป็นวงนอกสุดจัดเรียงรูปมงคลสัตว์หิมพานต์ เทวดา ๖ ชั้นที่ส่วนประกอบเทวโลก และพรหม ๑๖ ชั้นซึ่งเป็นส่วนประกอบของพรหมโลก อาจารย์นันทนา ชุติวงศ์ วิเคราะห์ว่าระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘[45] ประการอยู่ในวงธรรมจักรเป็นระเบียบที่ทำในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ โดยปรากฏขึ้นที่สุโขทัยในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ พบครั้งแรกที่รอยพระยุคลบาทศิลา (พระพุทธบาทคู่) ที่วัดบวรนิเวศวิหาร[46] กรุงเทพฯ มีจารึกบอกการสร้างใน พ.ศ. ๑๙๗๐[47] เป็นรูปจำลองรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏในลังกา มีการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ประการโดยมีพรหมโลกและเทวโลกซึ่งเป็นภูมิสูงสุดอยู่รอบจุดศูนย์กลาง มีรูปเครื่องสูงและสมบัติจักรพรรดิ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของมนุษย์โลกอยู่รอบนอก[48] พระพุทธบาทรูปแบบนี้ได้พบตัวอย่างในบริเวณลุ่มแม่น้ำภาคกลางของไทยได้แก่ พระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระพุทธบาทหรือแผ่นครอบพระบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร[49]
รอยพระยุคลบาทศิลา วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
พระพุทธบาทศิลาจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธบาทเบื้องขวา มีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ประการในวงธรรมจักร แบ่งเป็น ๔ ชั้น วงกลมในสุดเป็นรูปธรรมจักร วงที่สองประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลก วงที่สามเป็นรูปป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ ภูเขา แม่น้ำ และวงที่สี่ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดเป็นรูปเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ และเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ พื้นพระบาทและนิ้วพระบาทสลักเป็นเส้นลายก้นหอยทักษิณาวัฏ อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) เนื่องจากเชื่อว่ารอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้นเดิมประดิษฐานอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ประกอบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเจริญพระชันษาที่เมืองพิษณุโลก เมื่อพระองค์ทรงครองราชย์แล้วได้เสด็จออกผนวชที่วัดจุฬามณีเมืองพิษณุโลก และยังเสด็จไปประทับเมืองพิษณุโลกเป็นระยะเวลายาวนาน อนึ่ง วัดพระรามยังเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงบูรณปฏิสังขรณ์อีกด้วย โดยน่าจะมีอายุใกล้กับรอยพระยุคลบาลที่วัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องจากมีรูปแบบการจัดวางรูปมงคล ๑๐๘ คล้ายกัน ในการวางรูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลกไว้ด้านในใกล้กับธรรมจักร และวางรูปมงคลเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ และเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ไว้ด้านนอกสุด กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑[50] นอกจากนี้ ในเมืองอยุธยายังได้พบหลักฐานชิ้นส่วนพระพุทธบาทศิลา เก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม[51] ชิ้นส่วนพระพุทธบาทนี้แสดงให้เห็นถึงระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในธรรมจักรที่มีขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาท แบ่งเป็น ๔ ชั้น วงกลมในสุดเป็นรูปดอกบัว วงที่สองประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์พรหมโลก วงที่สามเป็นรูปป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ ภูเขา แม่น้ำ และวงที่สี่ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดเป็นรูปเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ ชิ้นส่วนพระพุทธบาทนี้มีรูปแบบศิลปะคล้ายกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม จัดอยู่ในศิลปะแบบอยุธยา สันนิษฐานกำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เช่นเดียวกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม
มงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทศิลาจากวัดพระราม จ.พระนครศรีอยุธยา
พระพุทธบาทสำริดจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระพุทธบาทเบื้องขวา ส่วนส้นพระบาทชำรุดสูญหาย มีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักร แบ่งเป็น ๕ ชั้น วงกลมในสุดประกอบด้วยรูปธรรมจักร มีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกลุ่มดาวฤกษ์ ๒๗ กลุ่ม วงที่สองเป็นรูปแนวเทือกเขาสัตตบริภัณฑ์และมหาสมุทร ๗ ชั้น[52] และแนวโคจรของพระอาทิตย์กับพระจันทร์ วงที่สามเป็นรูปป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ วงที่สี่เป็นรูปเครื่องสูงและสมบัติของจักรพรรดิ และวงที่ห้าซึ่งเป็นชั้นนอกสุดประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์ของเทวโลกและพรหมโลก พระพุทธบาทนี้สร้างให้อยู่ในแนวนอน รอบพระพุทธบาทมีรูปแถวพระอดีตพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก เหล่าเทวดา และจารึกอักษรขอมสุโขทัย ภาษาไทย นักวิชาการกำหนดอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ใกล้เคียงกับรอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร[53] อย่างไรก็ดี อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วิเคราะห์ว่า ควรจะมีอายุหลังกว่ารอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร และพระพุทธบาทจากวัดพระราม เนื่องจากมีการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ แตกต่างกัน โดยให้รูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลกไว้ด้านนอกสุดของวงธรรมจักร จึงกำหนดอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑[54]
มงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทสำริดจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร
กล่าวได้ว่าการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่เต็มฝ่าพระพุทธบาทเป็นการจัดเรียงมงคลในระบบใหม่ ที่น่าจะเกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำภาคกลางของไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ สันนิษฐานว่าอาจเพื่อต้องการจัดวางรูปมงคล ๑๐๘ ที่เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลหรือโลก[55] ให้อยู่ในรูปแบบของชั้นภพภูมิที่มีสัณฐานเป็นแนววงกลมตามคติความเชื่อที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉากทัศน์ของโลกสัณฐานตามคัมภีร์โลกศาสตร์ที่คงแพร่หลายอยู่ในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์ชินาลังการฎีกาที่มีเนื้อหากล่าวถึงทั้งเรื่องโลกสัณฐานที่เป็นแนววงกลมและมงคล ๑๐๘ บนฝ่าพระพุทธบาท[56]
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปะของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป กับตัวอย่างพระพุทธบาทในกลุ่มที่มีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในธรรมจักรข้างต้น อาจารย์นันทนา ชุติวงศ์ วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีระเบียบการเรียงรูปมงคล ๑๐๘ เหมือนกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ คือเรียงรูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลกไว้รอบนอกสุดของวงธรรมจักร เป็นรอยพระพุทธบาทในแนวนอนเช่นเดียวกัน และมีรูปท้าวจตุโลกบาลประทับรักษาพระพุทธบาทอยู่ทั้งขวาและซ้าย พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปคงจะมีอายุหลังพระพุทธบาทจากวัดพระรามเล็กน้อย[57] อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าการที่พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป (รวมถึงพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ) วางรูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลกไว้รอบนอกสุดของวงธรรมจักรนั้นนับเป็นพัฒนาการที่ก้าวออกไปอีกขั้นหนึ่ง จึงกำหนดอายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑[58]
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาได้พบว่าแม้พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปจะมีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ คล้ายกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ แต่จะเห็นได้ว่าพระพุทธบาทจากวัดเสด็จมีการแสดงระบบจักรวาลในเชิงรูปเล่าเรื่อง แสดงวงโคจรของพระอาทิตย์พระจันทร์ แนวเทือกเขาสัตตบริภัณฑ์และมหาสมุทร ติดกันซึ่งคงจะเป็นเชิงเขาเป็นรูปสัญลักษณ์ของป่าหิมพานต์และสัตว์หิมพานต์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นความแตกต่างไปจากระเบียบของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปค่อนข้างชัดเจน และมีความแตกต่างไปจากพระพุทธบาทในกลุ่มนี้ รวมถึงรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทจากวัดเสด็จก็มีรูปแบบแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น รูปสัญลักษณ์พรหมโลกและเทวโลก เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าแม้พระพุทธบาททั้งสององค์นี้อาจจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในบางประการ แต่ก็มีรูปแบบศิลปะแตกต่างกันคนละสกุลช่างกัน อย่างไรก็ดี พบว่าโดยภาพรวมแล้วพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีรูปแบบศิลปะใกล้เคียงกับพระพุทธบาทจากวัดพระรามอยู่หลายประการคือ มีการแบ่งวงธรรมจักรออกเป็น ๔ ชั้นด้วยการทำกรอบวงกลมซ้อนกัน ๒ เส้น การทำรูปมงคลที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันหลายประการ อาทิ รูปพรหมโลก รูปเทวโลก รูปภูเขา รูปพระอาทิตย์ รูปพระจันทร์ เป็นต้น รวมถึงยังมีการทำลายเส้นวงโค้งเต็มพื้นพระบาทและนิ้วพระบาท ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปน่าจะได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบศิลปะมาจากพระพุทธบาทจากวัดพระราม ประกอบกับเนื่องจากมีการจัดเรียงรูปพรหมโลกและเทวโลกไว้ด้านนอกซึ่งแสดงถึงการคลี่คลายไปจากรูปแบบเก่า[59] จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยมีอายุหลังกว่าพระพุทธบาทจากวัดพระรามที่กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เล็กน้อย และน่าจะร่วมสมัยกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ
นอกจากประเด็นเรื่องรูปพระพุทธบาทแล้ว ด้านข้างของรูปพระพุทธบาทปรากฏรูปบุคคลในกรอบรูปสี่เหลี่ยม แสดงการประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาพระหัตถ์หนึ่งถือพระขรรค์ สันนิษฐานว่าคือจตุโลกบาลหรือจาตุมหาราช[60] คัมภีร์พุทธศาสนาหลายเล่มกล่าวว่าจตุโลกบาลมี ๔ องค์ แต่ละองค์เป็นหัวหน้าหรือผู้ดูแลปกครองเขตสวรรค์ในแต่ละทิศของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาผู้เป็นโลกบาลประจำแต่ละทิศ เนื่องจากพระองค์มีหน้าที่คอยป้องกันอันตรายให้กับมนุษย์โลกจึงมักลงมายังโลกมนุษย์บ่อยครั้ง ได้แก่ ท้าวธตรฐ (ธตรัฏฐะ) ปกครองทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ เป็นใหญ่ในหมู่คนธรรพ์และเทวดาในทิศนี้ ท้าววิรุฬหก ปกครองทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ ผีเสื้อ อสูร และกุมภัณฑ์ทั้งหมดในทิศนี้ ท้าววิรูปักษ์ ปกครองทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ เป็นใหญ่ในหมู่เทวดานาคในทิศนี้ และ ท้าวเวสสุวัณ (ท้าวไพศรพณ์) ปกครองทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์และเทวดาทั้งหมดในทิศนี้ จตุโลกบาลมีบทบาทสำคัญอยู่ในพุทธประวัติ โดยเป็นผู้ใช้หนังเสือรองรับเจ้าชายสิทธัตถะตอนประสูติ เป็นผู้ทำหน้าที่รองรับเท้าม้ากัณฐกะตอนเสด็จออกบวช เป็นผู้ถวายบาตรให้แก่พระพุทธเจ้าภายหลังการตรัสรู้[61] อาจกล่าวได้ว่าการทำรูปจตุโลกบาลกำลังถือพระขรรค์อยู่ข้างพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป น่าจะมีความหมายว่าพระพุทธบาทนี้มีท้าวจตุโลกบาลปกปักรักษาอยู่ตลอดไป รูปจตุโลกบาลถือพระขรรค์ที่พระพุทธบาทไม้วัดพระรูปนี้มีรูปแบบศิลปะที่เทียบเคียงได้กับประติมากรรมทองคำรูปเทวดาที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดอายุอยู่ในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ การทำรูปจตุโลกบาลถือพระขรรค์ประกอบพระพุทธบาทยังได้พบอีกที่พระพุทธบาทจากวัดเสด็จ เป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์ ๒ องค์ในกรอบสี่เหลี่ยม มีจารึกว่า “ธัฏฐรัฏฐราช” และ “วิรุณหกราช”[62] ซึ่งเป็นจตุโลกบาลปกครองประจำทิศตะวันออกและทิศใต้
เทวดาจตุโลกบาลกำลังถือพระขรรค์ ข้างพระพุทธบาทไม้ วัดพระรูป
รูปพุทธประวัติตอนตรัสรู้บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
ประเด็นที่น่าสนใจของพระพุทธบาทที่วัดพระรูปยังปรากฏอยู่ที่รูปสลักด้านหลังของพระพุทธบาท เป็นรูปพระพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ - ชนะมาร แนวกลางเป็นรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือพระแท่นวัชรอาสน์ เบื้องล่างเป็นรูปยักษ์ ๕ ตนกำลังแบกพระแท่นที่ประทับอยู่ ข้างพระแท่นที่ประทับมีรูปพระแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม ด้านขวาของพระแท่นที่ประทับเป็นรูปพญามารถืออาวุธขี่ช้างและกองทัพเหล่ามารถืออาวุธกำลังจะเข้าโจมตี ส่วนด้านซ้ายของพระแท่นที่ประทับเป็นรูปพญามารและกองทัพเหล่ามารกำลังประนมมือ รูปแบบศิลปะของรูปพุทธประวัติมีความใกล้เคียงกับรูปพระพุทธบาทที่อยู่อีกด้านหนึ่งของแผ่นไม้ แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการสร้างสรรค์รูปทั้งสองพร้อมกันตั้งแต่แรกสร้าง สันนิษฐานว่าการเลือกทำรูปพุทธประวัติคงเนื่องจากเป็นเรื่องที่นิยมแพร่หลายในช่วงเวลานั้น[63] และการเลือกทำรูปพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ - ชนะมารคงเนื่องจากเห็นว่าเป็นตอนที่สำคัญที่สุดในพุทธประวัติที่แสดงให้เห็นว่าพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแสดงความเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลก “โลกาวิทู” ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับความหมายของพระพุทธบาทที่อยู่อีกด้านหนึ่ง
ภาพสลักพระพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป
การใช้สัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า[64]ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนักในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การทำรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือพระแท่นวัชรอาสน์แทนการทำรูปพระพุทธเจ้าที่พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป สันนิษฐานว่าอาจจะเนื่องจากพื้นที่มีน้อยจึงไม่เอื้อต่อการทำรูปพระพุทธเจ้าในรูปมนุษย์ได้[65] และอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ วิเคราะห์ว่าคงเนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะทำรูปพระพุทธรูปไว้ด้านหลังของฝ่าพระบาทซึ่งเป็นส่วนเท้าของเบื้องต่ำ[66] ดังนั้นจึงเลือกใช้ระบบสัญลักษณ์แทนความหมายถึงพระพุทธเจ้า โดยทำเป็นรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือแท่นวัชรอาสน์ ซึ่งทำให้รูปแบบศิลปะของพระพุทธบาทนี้อยู่ในลักษณะระบบสัญลักษณ์ทั้งสองด้าน
ภาพพระแท่นวัชรอาสน์ บนพระพุทธบาทไม้ วัดพระรูป
อาจารย์ J. Boisselier วิเคราะห์ว่าการทำภาพพญาวัสสวดีมารเป็นรูปยักษ์ที่พระพุทธบาทไม้วัดพระรูป ที่มีอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยอยุธยาตอนต้นปรากฏการทำภาพประติมานวิทยาพญาวัสสวดีมารเป็นรูปยักษ์แล้ว[67] ทั้งที่ในคัมภีร์พุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีเป็นหลักไม่เคยระบุลักษณะหน้าตาของพญาวัสสวดีมาร การทำรูปพญามารเป็นยักษ์จึงน่าจะเกิดจากการตีความของกลุ่มคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อาจจะมีความสัมพันธ์ทางประติมานวิทยากับศิลปะในเขตทะเลสาบเขมรตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เนื่องจากปรากฏหลักฐานภาพสลักพญามารเป็นรูปยักษ์ที่มาผจญพระพุทธเจ้าบนผนังโคปุระชั้นนอกด้านทิศตะวันออกของปราสาทตาพรหม ในเขตเมืองพระนคร[68]
เป็นที่น่าสนใจว่าการทำรูปกองทัพมารและพระแม่ธรณีบีบมวยผมประดับฐานพระพุทธรูปในประเทศไทย พบหลักฐานมาอย่างน้อยในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เช่น แท่นสำริดรองรับพระพุทธรูปที่เป็นรูปพระแม่ธรณีกำลังจับปลายผมพบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ศิลปะเขมรอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘[69] และได้พบหลักฐานสืบต่อเนื่องมาในศิลปะสมัยอยุธยา เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัยเหนือกองทัพมารพบที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑[70] รูปแบบการประดับรูปกองทัพมารและพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่ฐานของพระพุทธรูปในศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับศิลปะเขมรที่มีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการแต่งกายและท่าทางของรูปพลมาร ศิลปะเขมรซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของศิลปกรรมที่เมืองอยุธยาตั้งแต่แรกสร้างจึงยังเหลือสืบเนื่องมาในลักษณะบางประการที่ผสมผสานอยู่ในศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒[71] ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการทำรูปกองทัพมารและพระแม่ธรณีเล่าเรื่องพระพุทธประวัติตอนมารผจญ - ชนะมารบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปจึงน่าจะเป็นตัวอย่างของศิลปะอยุธยาในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยเช่นกัน
อนึ่ง การทำรูปยักษ์แบกในท่านั่งชันเข่า ซึ่งมีรูปร่างล่ำสันแต่งกายโดยมีกรองศอเป็นแผงและมีเส้นเชือกคาดไขว้ที่หน้าอกแสดงให้เห็นถึงรูปแบบเครื่องแต่งกายในยุคต้น มีตัวอย่างปรากฏที่ประติมากรรมปูนปั้นแถวพลแบกมีเชือกคาดอกประดับอยู่ที่ผนังกระเปาะของฐานไพทีด้านใต้ของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ส่วนหัวหักหายเข้าใจว่าเป็นยักษ์ เป็นศิลปะสมัยอยุธยายุคต้น กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐[72] การทำประติมากรรมรูปยักษ์แบกฐานเจดีย์นี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อเรื่องการค้ำชูพุทธศาสนา[73] ซึ่งพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือพระแท่นวัชรอาสน์ก็ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายถึงพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับเจดีย์ จึงสร้างสรรค์เป็นรูปยักษ์แบกพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปด้วยรูปแบบและคติความเชื่อเดียวกัน
ภาพยักษ์แบกในท่านั่งชันเข่าแบกพระแท่นวัชรอาสน์ บนพระพุทธบาทไม้ วัดพระรูป
นักวิชาการต่างประเทศ Virginia McKeen วิเคราะห์ว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีเนื้อหาผิดยุคสมัยอย่างชัดเจนคล้ายกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม[74] แม้รูปบุคคลคือท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ แต่งกายด้วยผ้าพันคอและต่างหูคล้ายรูปกษัตริย์ที่นครวัด และรูปพญามารกับเหล่ามารแต่งกายสวมชุดนักรบและมงกุฎแบบนครวัด ซึ่งมีอายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แต่มีรูปพระแม่ธรณีที่มีลักษณะเหมือนกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ดังนั้นพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปจึงมีอายุอยู่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[75] อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่าแม้รูปพระแม่ธรณีทั้งสองแห่งดังกล่าวจะมีลักษณะท่าทางการยืนบีบมวยผมคล้ายคลึงกัน แต่ก็พบว่ารูปแบบเครื่องแต่งกายของรูปพระแม่ธรณีทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกันมากอย่างมีนัยยะสำคัญจึงควรกำหนดอายุอยู่คนละยุคสมัยกัน
ความหมายทางประติมานวิทยาของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป
มงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทที่วัดพระรูปนั้นมีความหมายถึงการแสดงออกถึงความมีสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าและพระบารมีอันคุ้มครองและให้สิริมงคลต่อผู้ที่ได้ยึดถือพระองค์เป็นที่พึ่ง[76] โดยการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่กลางฝ่าพระบาทที่สอดคล้องกับฉากทัศน์จักรวาลหรือโลกสัณฐานที่อยู่ในแนววงกลมตามแนวคิดในคัมภีร์โลกศาสตร์ได้ช่วยทำให้ความหมายดังกล่าวมีความเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น โดยวงในสุดที่เป็นรูปดอกบัวบานซึ่งน่าจะเป็นสัญลักษณ์อันหมายถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถัดออกมาในวงที่สองประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์ของโชคลาภ ความเจริญ ความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ รูปดอกพุดซ้อน รูปสวัสติกะ รูปหม้อที่มีดอกไม้ รูปภาชนะที่มีดอกไม้ รูปดอกบัว เป็นรูปสัญลักษณ์ของเครื่องประกอบบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิอันแสดงถึงยศศักดิ์ อำนาจ และความสูงส่ง ได้แก่ รูปดอกไม้ รูปพระแท่น รูปขอช้าง รูปพระขรรค์ รูปเศวตฉัตร และรูปสัญลักษณ์ของความดีความมีสิริมงคล ได้แก่ รูปพัดใบตาล ในวงที่สามและวงที่สี่ประกอบด้วยรูปสัญลักษณ์ในกลุ่มภพภูมิในจักรวาล ได้แก่ มหาสมุทร เขาจักรวาล เขาหิมพานต์ เขาพระสุเมรุ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ทวีปใหญ่ทวีปน้อย สัตว์หิมพานต์ เทวโลก ๖ ชั้น และพรหมโลก ๑๖ ชั้น[77] กล่าวได้ว่ามงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของสุคติภูมิในจักรวาล ที่เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ดีมีสิริมงคลในแดนมนุษย์ เรื่อยไปจนถึงเทวโลก ๖ ชั้นและพรหมโลก ๑๖ ชั้นอันเป็นที่พำนักของผู้มีบุญญาธิการทั้งหลาย ซึ่งเมื่อนับรวมมงคลทั้ง ๑๐๘ นี้แสดงถึงความมีสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือกว่าโลกทั้งสาม คือ สัตว์โลก (โลกคือเหล่าสัตว์) สังขารโลก (โลกคือสังขาร) และโอกาสโลก (โลกคือที่อยู่ของเหล่าสัตว์) ด้วยบุญบารมีที่ทรงบำเพ็ญไว้นับไม่ถ้วน มงคล ๑๐๘ เหล่านี้ปรากฏเฉพาะบนฝ่าพระบาทเท่านั้นจึงแสดงถึงความเป็นใหญ่ เปรียบดั่งเหยียบโลกทั้งสามไว้ใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์[78]
สรุป
พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีเจตนาให้เป็นแนวนอน ประดิษฐานในลักษณะตั้งตะแคงเพื่อให้มองเห็นรูปได้ทั้งสองด้านซึ่งนับเป็นรูปแบบเฉพาะที่พบไม่มากนัก ด้านหนึ่งเป็นรูปพระพุทธบาทมีรูปมงคล ๑๐๘ จัดเรียงอยู่ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่กลางฝ่าพระบาท ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ผลการศึกษาตีความรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปพบว่า แม้ส่วนใหญ่จะตรงกับคัมภีร์สำคัญอย่างอรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีร์ชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา แต่ก็มีที่ต่างกันหลายประการทั้งในเรื่องรายการมงคลและการจัดเรียงลำดับมงคล โดยเฉพาะการเพิ่มรูปมงคลพญาเสือ รูปพระพรหม (อยู่ก่อนหน้ารูปเรือทอง) รูปพระแท่นบัลลังก์ รูปพัดใบตาล (อยู่ต่อจากรูปพระแท่น) และรูปเต่า อย่างไรก็ดี ได้พบรูปมงคลที่เพิ่มมาดังกล่าวในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ จึงสันนิษฐานว่าการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทที่วัดพระรูปน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณมากกว่าคัมภีร์ทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าว และสันนิษฐานว่าคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณน่าจะเป็นที่รู้จักมาแล้วอย่างน้อยในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตามข้อสันนิษฐานอายุพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป ดังปรากฏร่องรอยคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ที่คงจะจารสืบต่อกันมาจากคัมภีร์ในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป จะเกิดจากการรับแรงบันดาลใจมาจากคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณโดยตรง หรือจะเกิดจากการรับแรงบันดาลใจทางอ้อมผ่านระเบียบจารีตของงานศิลปกรรมที่สืบทอดต่อกันมา หรืออาจจะเกิดจากการผสมผสานระหว่างอิทธิพลแรงบันดาลใจจากคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณกับระเบียบจารีตงานของศิลปกรรมก็เป็นได้
ในมงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป พบว่ามีการทำรูปพรหมสี่หน้า (อยู่ก่อนรูปเรือทอง) สันนิษฐานว่าเกิดจากการตีความมงคล “จตุมุขา สุวณฺณนาวา” (เรือทองสี่หน้า) ที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาหรือคัมภีร์ปาทวันทนา ออกเป็น ๒ มงคลคือ “จตุมฺมขา” ที่แปลว่าพรหมสี่หน้า และ “สุวณฺณนาวา” ที่แปลว่าเรือทอง การตีความในลักษณะนี้น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังปรากฏในจารึกหลักที่ ๑๐๒ และอาจจะสืบต่อมาในสมัยอยุธยาดังปรากฏในคัมภีร์พุทฺธปาทลกฺขณที่จารในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการตีความชื่อมงคลที่แตกต่างออกไปจากคัมภีร์ดั้งเดิม เนื่องจากรายชื่อมงคลนั้นเป็นภาษาบาลีและถูกกล่าวถึงอย่างรวม ๆ โดยไม่ได้แยกกล่าวเป็นรายการ ส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์รูปมงคลที่แตกต่างออกไป นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการทำรูปมงคลกินนรกับรูปมงคลกินนรีรวมเป็นรูปสัญลักษณ์เดียวกัน ซึ่งโดยทั่วไปจะทำแยกกัน การรวมรูปมงคลดังกล่าวคงจะเพื่อให้เกิดช่องว่างเพิ่มสำหรับใส่รูปมงคลอื่นโดยพยายามรักษาความหมายของกินนรและกินนรีไว้ แสดงให้เห็นว่าการทำรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทย่อมมีการยักย้ายปรับเปลี่ยนได้เสมอ
พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่กลางฝ่าพระบาทในลักษณะเวียนทักษิณาวรรตจากด้านในออกสู่ด้านนอก แม้จะมีระเบียบการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ คล้ายกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร แต่ก็พบว่ามีรูปแบบศิลปะแตกต่างกันคนละสกุลช่างกัน และได้พบว่าโดยภาพรวมแล้วพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีรูปแบบศิลปะใกล้เคียงกับพระพุทธบาทจากวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลายประการ ทั้งในเรื่องการแบ่งวงธรรมจักรออกเป็น ๔ ชั้นด้วยการทำกรอบวงกลมซ้อนกัน ๒ เส้น การทำรูปมงคลที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันหลายประการ อาทิ รูปพรหมโลก รูปเทวโลก รูปภูเขา รูปพระอาทิตย์ รูปพระจันทร์ เป็นต้น รวมถึงยังมีการทำลายเส้นวงโค้งเต็มพื้นพระบาทและนิ้วพระบาท จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปน่าจะได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบศิลปะมาจากพระพุทธบาทจากวัดพระราม ประกอบกับเนื่องจากมีการจัดเรียงรูปพรหมโลกและเทวโลกไว้ด้านนอกซึ่งแสดงถึงการคลี่คลายไปจากรูปแบบเก่า จึงน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยมีอายุหลังกว่าพระพุทธบาทจากวัดพระรามที่กำหนดอายุอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เล็กน้อย และน่าจะร่วมสมัยกับพระพุทธบาทจากวัดเสด็จ
ด้านหลังของพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปสลักเป็นรูปพระพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ - ชนะมาร แนวกลางเป็นรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เบื้องล่างเป็นรูปยักษ์ ๕ ตนกำลังแบกพระแท่นที่ประทับ ข้างพระแท่นที่ประทับมีรูปพระแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม พบว่าการเลือกทำรูปพุทธประวัติคงเนื่องจากเป็นเรื่องที่นิยมแพร่หลายในช่วงเวลานั้น และการเลือกทำรูปพุทธประวัติตอนตรัสรู้ที่ประกอบด้วยรูปมารผจญ - ชนะมาร คงเนื่องจากเห็นว่าเป็นตอนที่สำคัญที่สุดในพุทธประวัติที่แสดงให้เห็นว่าพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแสดงความเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลก ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับความหมายของพระพุทธบาทที่อยู่อีกด้านหนึ่ง ยังพบว่าการทำรูปพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแทนการทำรูปพระพุทธเจ้า อาจจะเนื่องจากพื้นที่มีน้อยจึงไม่เอื้อต่อการทำรูปพระพุทธเจ้าในรูปมนุษย์ได้ ประกอบกับความไม่เหมาะสมที่จะทำรูปพระพุทธรูปอยู่ด้านหลังของฝ่าพระบาท จึงเลือกใช้ระบบสัญลักษณ์แทนความหมายถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งทำให้รูปแบบศิลปะของพระพุทธบาทนี้อยู่ในลักษณะระบบสัญลักษณ์ทั้งสองด้าน และได้พบว่าการทำรูปกองทัพมารและพระแม่ธรณีเล่าเรื่องพระพุทธประวัติตอนมารผจญ - ชนะมารบนพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูป นับเป็นตัวอย่างของศิลปะอยุธยาในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ สอดคล้องกับการทำรูปยักษ์แบกในท่านั่งชันเข่ามีรูปร่างล่ำสันมีเส้นเชือกคาดไขว้ที่หน้าอกที่แสดงถึงรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยายุคต้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งการทำรูปยักษ์แบกพระแท่นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าด้วยรูปแบบเดียวกับการทำประติมากรรมรูปยักษ์แบกฐานเจดีย์คงจะเนื่องจากเป็นคติความเชื่อเดียวกันคือการค้ำชูพุทธศาสนา
พระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปมีลักษณะนูนซึ่งนับเป็นรูปพระพุทธบาท แสดงถึงฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์พระพุทธเจ้าจึงจัดเป็นปูชนียวัตถุแบบอุเทสิกะเจดีย์ มงคลรูปสัญลักษณ์ ๑๐๘ บนพระพุทธบาทมีความหมายถึงการแสดงออกถึงความมีสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าและพระบารมีอันคุ้มครองและให้สิริมงคลต่อผู้ที่ได้ยึดถือพระองค์เป็นที่พึ่ง โดยการจัดเรียงมงคล ๑๐๘ ในวงธรรมจักรขนาดใหญ่กลางฝ่าพระบาทที่สอดคล้องกับฉากทัศน์จักรวาลหรือโลกสัณฐานที่อยู่ในแนววงกลมตามแนวคิดในคัมภีร์โลกศาสตร์ได้ช่วยทำให้ความหมายดังกล่าวมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รูปมงคล ๑๐๘ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของสุคติภูมิในจักรวาลที่เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ดีมีสิริมงคลในแดนมนุษย์ เรื่อยไปจนถึงเทวโลก ๖ ชั้นและพรหมโลก ๑๖ ชั้นอันเป็นที่พำนักของผู้มีบุญญาธิการทั้งหลาย ซึ่งเมื่อนับรวมรูปมงคลทั้ง ๑๐๘ นี้แสดงถึงความมีสภาวะครอบจักรวาลของพระพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือกว่าโลกทั้งสาม ด้วยบุญบารมีที่ทรงบำเพ็ญไว้นับไม่ถ้วน รูปมงคล ๑๐๘ เหล่านี้ที่ปรากฏเฉพาะบนฝ่าพระบาทเท่านั้น จึงแสดงถึงความเป็นใหญ่เปรียบดั่งเหยียบโลกทั้งสามไว้ใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์
เอกสารอ้างอิง
[1] มนัส โอภากุล, ประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗), ๑๘๒.
[2] จารึก วิไลแก้ว, “กลุ่มเจดีย์แปดเหลี่ยม: เมืองสุพรรณบุรี,” ใน รวมบทความทางวิชาการ ๗๒ พรรษาท่านศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (กรุงเทพฯ: บริษัท พิฆเณศ พรินท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด, ๒๕๓๘), ๒๒๗-๒๕๘.
[3] วรพร พรหมใจรักษ์, วัด แหล่งศิลปกรรมท้องถิ่นในเมืองสุพรรณบุรี (สุพรรณบุรี: โรงเรียนสงวนหญิงจังหวัดสุพรรณบุรี, ม.ป.ป.), ๑๔-๑๕.
[4] นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา และ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๔), ๒๓๑ – ๒๓๓.
[5] พระยาอนุศาสตร์จิตรกร, นิราศตามเสด็จ (ช่วยในการกฐินพระราชทาน เจ้าพระยารามราฆพ ณ วัดทรงธรรม) (สมุทรปราการ: วัดทรงธรรมวรวิหาร พระอารามหลวง, ๒๔๖๖), ๕๐ – ๕๒.
[6] น. ณ ปากน้ำ, เที่ยวเมืองศิลปะอู่ทอง (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, ๒๕๔๒), ๙๒
[7] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๕๐ – ๕๑.
[8] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๑๔๘.
[9] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๗๕ – ๗๖.
[10] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๑๐, ๑๒.
[11] วิราภรณ์ สุวดีปฐมพงศ์, “ประเด็นใหม่: ระบบการวางลายมงคลบนรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔,” การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๒.
[12] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๒๒.
[13] พระสูตรและอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย มหาปทาน ภาคที่ ๑ เล่มที่ ๒ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), ๒๓๔.
[14] พระสูตรและอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ภาคที่ ๒ เล่มที่ ๓ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), ๑๘.
[15] พระสูตรและอรรถกถา แปล มัชฌิมนิกาย ปัณณาสก์ ภาคที่ ๒ เล่มที่ ๒ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), ๒๓๔.
[16] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๑๐ – ๑๑๒.
[17] พระสูตรและอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย มหาปทาน ภาคที่ ๑ เล่มที่ ๒ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), ๒๖๒.
[18] พระสูตรและอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ภาคที่ ๒ เล่มที่ ๓ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), ๑๑๗.
[19] พระคันธสาราภิวงศ์วิเคราะห์ว่า คัมภีร์ชินาลังการฎีกาหรือชินาลังการวรรณา แต่งขยายอธิบายศัพท์ยากของคัมภีร์ชินาลังการ แสดงรูปแบบวิเคราะห์ของคำศัพท์ไว้อย่างละเอียด และยังอธิบายหลักธรรมที่เกี่ยวข้องโดยนำเนื้อหาจากคัมภีร์อรรถกถาหลายฉบับมาประมวลไว้ สำหรับคัมภีร์ชินาลังการ แต่งโดยพระพุทธรักขิตะเช่นเดียวกัน ในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นวรรณกรรมร้อยกรอง ประพันธ์ขึ้นเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าเริ่มตั้งแต่การสร้างบารมี ๓๐ ทัศหลังจากที่ได้รับพุทธพยากรณ์จนถึงปรินิพพาน ดูใน พระคันธสาราภิวงศ์, ชินาลังการ (พิมพ์ครั้งที่ ๒) (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดประยูรสาส์นไทย การพิมพ์, ๒๕๕๒), [๓] - [๔], [๑๓]. อย่างไรก็ดี ในคัมภีร์ชินาลังการไม่ปรากฏการกล่าวถึงมงคล ๑๐๘ ประการบนฝ่าพระบาท.
[20] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๑๕.
[21] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), [๑๑]. ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ฮินดูเบอร์ ได้เสนอว่าท่านมีชีวิตในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดูใน Hinnüber, A Handbook of Pali Literature (New Dalhi: Mushiram Manoharla, ๑๙๗๗), ๑๘๒. อ้างอิงใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒), ๓๖๑.
[22] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๑๕.
[23] พระคันธสาราภิวงศ์วิเคราะห์เปรียบเทียบมงคล ๑๐๘ ของคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์ คัมภีรชินาลังการฎีกา และคัมภีร์ปาทวันทนา พบว่าคัมภีร์ปาทวันทนาน่าจะใกล้เคียงกับความถูกต้องมากที่สุด ดูใน พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๓๑ – ๑๓๔.
[24] นิยมเรียกอีกว่า อรรถกถาพุทธปาทลกฺขณ สันนิษฐานว่าหมายถึงคัมภีร์ที่อรรถกถาจารย์แต่งขึ้นเพื่ออธิบายมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาท.
[25] พญาลิไท, ไตรภูมิพระร่วง (นนทบุรี: เจริญอักษรการพิมพ์, ๒๕๑๓), ๑๒.
[26] เรียกกันว่า “จารึกป้านางคำเยีย” หรือ “จารึกวัดตระพังช้างเผือก” เป็นศิลาจารึกหินชนวนสีเขียวมีคำจารึกสองด้าน จารึกหลักนี้สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ และได้ทรงขอให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อ่านคำจารึกภาษาบาลีถวาย ดูใน วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา, “มหาวงศ์สังเขป” ใน ประมวลพระนิพนธ์ประวัติศาสตร์–โบราณคดี (พระนคร: ศิวพรการพิมพ์, ๒๕๑๔), ๒๒๔ – ๒๔๑. ต่อมา ศ. ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร และ A.B. Griswold ได้อ่านและแปลสอบทานอีกครั้งหนึ่ง ดูใน คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย, ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๔ (ศิลาจารึกหลักที่ ๑๐๒) (กรุงเทพฯ: สำนักนายก, ๒๕๑๓), ๑๐๔. ซึ่งพบว่าโดยรวมแล้วแปลคล้ายคลึงกัน แต่จะจัดลำดับมงคลแตกต่างกันออกไป ดูใน สินชัย กระบวนแสง, “รอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย,” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร, ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑, ๒๕๒๒: ๑๔๒ – ๑๔๙. อ้างอิงใน สุธนา เกตุอร่าม, “การสร้างรอยพระพุทธบาทสมัยพญาลิไท,” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๒๓, ๒๓ – ๓๐. ปัจจุบันจารึกหลักนี้อยู่ที่ภูเขาไกรลาส สวนซ้าย ในพระบรมมหาราชวัง.
[27] เมื่อเทียบกับคัมภีร์ชินาลังการฎีกาพบว่ามีความแตกต่างกัน มงคลที่มีในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาแต่ไม่มีในจารึกหลักที่ ๑๐๒ คือ “สตฺต” (หอก), “โตรณํ” (ซุ้มประตู), “สุวณฺณหํสราชา” (พญาครุฑทอง) และ “สุวณฺณมกรํ” (มกรทอง) ในขณะเดียวมงคลที่ไม่มีในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาแต่มีในจารึกหลักที่ ๑๐๒ คือ “ทวิสฺหสฺปริตฺตถา” (ทวีปน้อย ๆ สองพัน), “สุวณฺณภมโร” (แมลงภู่ทอง) และ “จตุมฺมขา” (ลูกศรมีปลายสี่แฉก, พรหมสี่หน้า).
[28] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๓๑.
[29] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๓๖๔.
[30] อาจารย์สุภาพรรณ ณ บางช้าง วิเคราะห์ว่าเนื่องจากในคัมภีร์อรรถกถาพุทธบาทมงคลปรากฏคำศัพท์ภาษาบาลีที่ได้รับอิทธิพลภาษาไทย และปรากฏข้อความที่มาจากคัมภีร์มหาทิพย์มนต์ซึ่งแต่งขึ้นในประเทศไทย ดูใน สุภาพรรณ ณ บางช้าง, วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๓), ๒๘๑, ๒๘๖.
[31] ต้นฉบับคัมภีร์นี้จารด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี มีข้อความระบุถึงการจารตรงกับ พ.ศ. ๒๒๙๒ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยไม่ปรากฏว่าผู้แต่งเป็นใคร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ดูใน รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๔๒.
[32] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๔๒ – ๕๗.
[33] พระคันธสาราภิวงศ์วิเคราะห์ว่า ในคัมภีร์อรรถกถาอนาคตวงศ์และคัมภีร์ชินาลังการฎีกา กล่าวถึงรูปพญาช้างอุโบสถและพญาช้างฉัททันต์ว่าเป็นมงคลข้อเดียวกัน แต่คัมภีร์ปาทวันทานกล่าวถึงรูปพญาช้างอุโบสถเท่านั้น สันนิษฐานว่าในสมัยนั้นผู้แต่งไม่พบข้อมูลรูปพญาช้างฉัททันต์ นอกจากนี้ข้อความในอรรถกถาอนาคตวงศ์ฉบับใบลานของไทยได้กล่าวถึงรูปพญาช้างฉัททันต์อย่างเดียว แม้ในทีฑนิกาย มหาสุทัศนสูตร ระบุถึงช้างอุโบสถว่าเป็นช้างของพระเจ้าจักรพรรดิ จึงควรมีรูปช้างอุโบสถเท่านั้น ดูใน พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๓๓ – ๑๓๔. นอกจากนี้ ในคัมภีร์สมันตภัททิกะก็ยังกล่าวถึงพญาช้างชื่ออุโบสถอย่างเดียวเช่นกัน ดูใน Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๓๓.
[34] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๓๔ – ๑๔๖.
[35] เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า เส้นกรอบของตารางในตำแหน่งเริ่มต้นนี้ เป็นเส้นที่ตรงต่อเนื่องจนถึงวงกลมนอกสุด แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของช่างในการวางแผนออกแบบมงคล ๑๐๘ ในตำแหน่งนี้.
[36] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๔๒.
[37] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๒๖.
[38] อาจารย์ฮันส์ เพนธ์ ศึกษารูปแบบของอักษรที่จารึกอยู่บนพระพุทธบาท และกำหนดอายุพระพุทธบาทไม้ประดับมุกจากวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ว่าน่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ดูใน ฮันส์ เพนธ์, “พระพุทธบาทที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่,” ศิลปากร ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๕, ๒๕๑๘, ๔๙ - ๕๕.
[39] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๕๕.
[40] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๓๓ – ๑๓๔.
[41] ช้างตระกูลฉัททันต์และช้างตระกูลอุโบสถจัดอยู่ในตระกูลพรหมพงศ์ หมายถึงช้างเผือกตระกูลที่พระพรหมเนรมิตขึ้น.
[42] พบว่ามีการทำรูปพระพรหมเกินไปหนึ่งองค์ คือทำรูปเทวดาเป็นพระพรหมไปหนึ่งองค์ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของช่างผู้สร้างก็เป็นได้.
[43] อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วิเคราะห์ว่าคัมภีร์ในพุทธศาสนาที่มีเนื้อหาบรรยายถึงพระพรหมนั้นไม่เคยมีคัมภีร์ที่ระบุว่าพระพรหมมีสี่หน้า การทำรูปพระพรหมที่มีสี่หน้าเป็นแบบแผนพระพรหมอันเป็นที่รับรู้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเป็นการรับลักษณะทางประติมานวิทยาของพระพรหมสี่หน้าของศาสนาพราหมณ์มาใช้ โดยปรากฏหลักฐานตั้งแต่ศิลปะอินเดียสมัยปาละ รวมถึงในศิลปะพม่าสมัยพุกามและศิลปะเขมรสมัยบายน ในดินแดนไทยพบว่าหลักฐานก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นิยมทำพระพรหมหน้าเดียวเสมอทั้งในศิลปะทวารวดีและศิลปะสุโขทัย โดยพบการทำพระพรหมสี่หน้าในบางแห่งเช่นปูนปั้นพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ผนังด้านทิศใต้ของมณฑปวัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย แต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๓ ไม่ปรากฏการทำพระพรหมหน้าเดียว ทั้งนี้เพราะขาดหลักฐานภาพเล่าเรื่อง ดูใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๖๘ – ๑๗๕.
[44] ได้แก่ พระพุทธบาทจากเขาพระบาทใหญ่ (เขาสุมนกูฏ) เมืองสุโขทัย ซึ่งจารึกหลักที่ ๘ (จารึกเขาสุมนกูฏ) กล่าวว่า “เขาอันนี้ชื่อสุมนกูฏบรรพต...เรียกชื่อดังอัน เพื่อไปพิมพ์เอารอยตีน พระพุทธเจ้า เราเอาเหยียบ เหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต...ในลังกาทวีปพู้นมาประดิษฐานไว้เหนือจอมเข้าอันนี้ แล้วให้คนทั้งหลายได้เห็นรอยฝ่าตีนพระพุทธเจ้าเรานี้มีหลายอัน ได้ร้อยแปดสีส่องให้ฝูงเทพยดาและ...ทั้งหลายได้ไหว้นบทำบูชา...” ดูใน กรมศิลปากร, “ศิลาจารึกหลักที่ ๘,” ใน ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๓) (กรุงเทพฯ: พระจันทร์, ๒๕๐๐), ๑๑๕. และรอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ที่มีจารึกกำกับว่า “...รอยพระพุทธบาททั้งคู่อันประดิษฐานไว้ชิดกันของสมเด็จสรรเพชญ์พุทธองค์ อันบริบูรณ์ไปด้วยบรมมงคลร้อยแปดประการ รุ่งเรืองไปด้วยจักรลักษณะอันวิจิตรงดงามมีประการต่าง ๆ ทำความเป็นที่พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง...” ดูใน กรมศิลปากร, “ศิลาจารึกรอยพระพุทธยุคลบาท วัดบวรฯ,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗), ๒๖๗ – ๒๖๘.
[45] การนำรูปมงคล ๑๐๘ ประการมาใส่ไว้ในพระพุทธบาทน่าจะเริ่มขึ้นในศิลปะพุกาม ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เช่น พระพุทธบาทที่เจดีย์โลกะนันทะ พระพุทธบาทที่เจดีย์ชเวซิกอน เมืองพุกาม ตามเนื้อหาลักษณะพระพุทธบาทที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาภาษาบาลีที่รู้จักกันในพม่า พระพุทธบาทตามคติและรูปแบบในศิลปะพุกามนี้ ได้ส่งอิทธิพลให้กับการทำพระพุทธบาทที่สุโขทัยในช่วงแรก ๆ เช่น พระพุทธบาทที่วัดตระพังทอง พระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ดูใน นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๓๑ – ๓๓, ๓๙ – ๔๐.
[46] เชื่อว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ โปรดให้เคลื่อนย้ายมาจากเมืองสุโขทัยหรือพิษณุโลก.
[47] จารึกกล่าวถึงการสร้างพระพุทธบาทนี้ใน พ.ศ. ๑๙๗๐ โดยพระสิริสุเมธังกรสังฆนายก ผู้เป็นศิษย์ของพระสิริสุเมธังกรสังฆราช ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล หรือพระยาบาลเมือง) ครองเมืองพิษณุโลกในช่วง พ.ศ. ๑๙๖๒ – ๑๙๘๑ ช่วงเวลานี้เมืองสุโขทัยเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา.
[48] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๔๗.
[49] การจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในธรรมจักรที่มีขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาท ยังทำสืบมาที่อยุธยาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เป็นอย่างน้อย และยังส่งอิทธิพลให้กับการสร้างพระพุทธบาทในศิลปะพม่าโดยคงจะแพร่หลายเข้าไปในพม่าผ่านทางเมืองมอญ หรือโดยผ่านทางช่างศิลปกรรมและเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนไปจากอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และ ๒๓ เช่น รอยพระพุทธบาทหินอ่อนที่ Calcatta Museum รวมถึงในศิลปะศรีลังกา เช่น พระพุทธบาทที่รุวันเวลิ ศรีลังกา ดูใน นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๓๔ – ๓๕, ๕๒.
[50] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “วิวัฒนาการและประติมานวิทยาของรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๓๙, ๑๐ – ๑๑.
[51] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๗๘.
[52] การจัดวางองค์ประกอบเขาสัตตบริภัณฑ์ในลักษณะนี้เป็นมุมที่มองมาจากเบื้องบน ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในเมืองพุกามและมีความเก่าแก่กว่าในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยเมืองพุกาม ดูใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๒๑๐ – ๒๑๑.
[53] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๔๙ และ รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๖๕ – ๗๐. อนึ่ง รอยพระยุคลบาทที่วัดบวรนิเวศวิหาร และพระพุทธบาทที่มาจากวัดเสด็จนี้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏจำลอง เนื่องจากปรากฏจารึกที่อาจมีความเกี่ยวข้องกัน จารึกบนรอยพระยุคลบาทคู่ที่วัดบวรนิเวศ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธบาทนี้บริบูรณ์ด้วยมงคล ๑๐๘ สร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรงดงามเปรียบได้กับพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ ดูใน กรมศิลปากร, “ศิลาจารึกรอยพระพุทธยุคลบาท วัดบวรฯ,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗), ๒๖๗ – ๒๖๘. ส่วนจารึกบนพระพุทธบาทที่มาจากวัดเสด็จ ปรากฏเทวดาองค์หนึ่งชื่อ “ขตฺตคาม” ดูใน กรมศิลปากร, “จารึกรอยพระพุทธบาทวัดเสด็จ,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗), ๒๐๙. ซึ่งเป็นเทวดาองค์หนึ่งที่ดูแลรักษาเมืองลังกา มีเทวาลัยอยู่ที่เมืองกตรคาม และภาพเทวดาที่ถือพระขรรค์อาจจะหมายถึงการปกปักรักษาพระพุทธบาท ประกอบกับเชื่อว่าการจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ อยู่ในธรรมจักรที่มีขนาดใหญ่เต็มส่วนกว้างของฝ่าพระบาทนั้นเป็นรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในศิลปะสุโขทัย ซึ่งแตกต่างไปจากพระพุทธบาท ๔ รอยที่สันนิษฐานกันว่าจำลองมาจากเขาสุมนกูฏตามจารึก แต่กลับมีรูปแบบศิลปะที่สืบเนื่องมาจากศิลปะพม่าสมัยพุกาม ดูใน นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๓๙. และ รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, พุทธศิลป์ไทยสายสัมพันธ์กับศรีลังกา (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ๒๕๖๓), ๑๐๒ – ๑๑๕.
[54] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “วิวัฒนาการและประติมานวิทยาของรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๓๙, ๑๑.
[55] อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วิเคราะห์ว่าความคิดในยุคพระไตรปิฎกโลกกับจักรวาลโลกมีความหมายถึงสถานะคนละสถานะกัน แต่ในสมัยคัมภีร์อรรถกถากลับระบุว่าโลกกับจักรวาลเป็นสิ่งเดียวกัน และจักรวาลต่างก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน ดูใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๔.
[56] วิราภรณ์ สุวดีปฐมพงศ์ วิเคราะห์ว่าการจัดเรียงรูปมงคลในระบบใหม่นี้ ยังอาจจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของระบอบกษัตริย์อาณาจักรสุโขทัยที่เริ่มถดถอยลงจากการขยายอำนาจของอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านนาในช่วงเวลานั้นด้วย ดูในวิราภรณ์ สุวดีปฐมพงศ์, “ประเด็นใหม่: ระบบการวางลายมงคลบนรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔,” การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๖๙ – ๗๐.
[57] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๕๑.
[58] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “วิวัฒนาการและประติมานวิทยาของรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๓๙, ๑๑.
[59] การจัดเรียงรูปมงคล ๑๐๘ บนพระพุทธบาทที่ปรากฏมาก่อนทั้งในรูปแบบตารางและรูปแบบวงกลม นิยมเรียงรูปพรหมโลกไว้ใกล้กับรูปธรรมจักรที่อยู่กึ่งกลางพระพุทธบาท.
[60] ทั้งนี้ยังพบว่ารูปมงคล ๑๐๘ ในตำแหน่งรูปเทวดาสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา (มงคลหมายเลข ๘๗) ทำเป็นรูปบุคคลมี ๔ เศียรด้วยเช่นกัน ซึ่งมีความหมายถึงท้าวจตุโลกบาล ๔ องค์.
[61] อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, ทิพยประติมา (นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐), ๘๖.
[62] รักชนก โคจรานนท์, การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙), ๗๕.
[63] ดังปรากฏหลักฐานการเขียนภาพพุทธประวัติในกรุชั้นที่ ๒ (ชั้นกลาง) ของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ผนังด้านทิศตะวันออกเขียนเรื่องราวก่อนการตรัสรู้ เรื่องราวต่อเนื่องไปยังผนังด้านทิศใต้ ทิศตะวันตก และเรื่องจะมาจบที่ผนังด้านทิศเหนือซึ่งเป็นเรื่องตอนปรินิพพาน ดูใน สันติ เล็กสุขุม, จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเจมส์ ทอมป์สัน, ๒๕๒๔), ๔๕. ซึ่งจัดเป็นงานจิตรกรรมในสมัยอยุธยาตอนต้นสมัยสมเด็จเจ้าสามพระยาราว พ.ศ. ๑๙๖๗.
[64] การใช้รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าปรากฏมาตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณในยุคแรกเริ่มที่ยังไม่มีการทำพระพุทธรูป ซึ่งจะปรากฏอยู่ในภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ อาทิ ก่อนตรัสรู้นิยมทำเป็นรูปพระพุทธบาท เมื่อตรัสรู้นิยมทำเป็นรูปพุทธบัลลังก์และต้นโพธิ์ เมื่อทรงประกาศศาสนานิยมทำเป็นรูปธรรมจักรและกวาง เมื่อเสด็จปรินิพพานนิยมทำเป็นรูปพระสถูป ดูใน ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ, นิทานโบราณคดี (กรุงเทพฯ: เกษมการพิมพ์, ๒๕๓๓), ๖๒ – ๖๓. จนเมื่อมีการทำพระพุทธรูปจึงทำให้การทำรูปสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าเสื่อมความนิยมลงไป อย่างไรก็ดี คติความเชื่อในเรื่องรูปสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าเหล่านี้ยังคงอยู่สืบเนื่องมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปรอยพระพุทธบาทที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากยึดโยงอยู่กับคติความเชื่อเรื่องการเสด็จไปประกาศพุทธศาสนาและประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ดินแดนนั้น.
[65] อนึ่ง การเขียนภาพพระพุทธเจ้าเป็นรูปสัญลักษณ์ประกอบในภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ยังพบตัวอย่างในสมุดไตรภูมิในสมัยหลังลงมา ได้แก่ สมุดไตรภูมิหมายเลขที่ ๑๐ สมุดไตรภูมิหมายเลขที่ ๑๐ / ก และสมุดไตรภูมิฉบับกรุงเบอร์ลิน ดูใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๒๘๒.
[66] น. ณ ปากน้ำ, เที่ยวเมืองศิลปะอู่ทอง (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, ๒๕๔๒) ๙๑ – ๙๒.
[67] Boisselier, J., La Sculpture en Thailande (Paris: Office du Livre, ๑๙๗๔), ๒๓๕. อ้างอิงใน รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๙๐.
[68] รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “การศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่มาของสมุดภาพไตรภูมิ,” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๕๒, ๑๘๙.
[69] อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, ทิพยประติมา (นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐), ๒๓๖ – ๒๓๘.
[70] พิริยะ ไกรฤกษ์, ประวัติศาสตร์ศิลปในประเทศไทยฉบับคู่มือนักศึกษา (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), ๒๔๓ – ๒๔๔. นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานเป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์มีเชือกคาดอกแบกฐานพระพุทธรูปภายในซุ้มบรรพแถลงประดับชั้นซ้อนของปรางค์วัดพระปรางค์ จังหวัดสิงห์บุรี กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ดูใน กรมศิลปากร, เตาแม่น้ำน้อย (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๑), ๖๕. รวมถึงได้พบพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่มีศิลปะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลางในองค์ปรางค์นั้น ดูใน สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน (พิมพ์ครั้งที่ ๓) (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๐), ๑๖๗. และเชื่อว่าพระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานรูปกองทัพมารในศิลปะอยุธยาน่าจะสร้างขึ้นร่วมสมัยกันในช่วงอยุธยาตอนกลางด้วยเช่นกัน ดูใน สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง, “การประดับภาพกองทัพมารที่ฐานของพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา,” วารสารดำรงวิชาการ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖, ๒๕๔๗, ๑๒ – ๑๓.
[71] สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง, “การประดับภาพกองทัพมารที่ฐานของพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา,” วารสารดำรงวิชาการ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖, ๒๕๔๗, ๑๐ – ๒๗.
[72] สันติ เล็กสุขุม, คุยกับงานช่างไทยโบราณ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๕), ๑๕๕, ๑๖๒. การทำประติมากรรมรูปยักษ์มีเชือกคาดอกมีปรากฏมาก่อนในศิลปะเขมร เช่น ภาพสลักทหารในฉากสงครามที่ระเบียงปราสาทบายนในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือในหน้าบันจากปราสาทพระป่าเลไลย์ กำหนดอายุอยู่ในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ดูใน สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง, “การประดับภาพกองทัพมารที่ฐานของพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา,” วารสารดำรงวิชาการ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖, ๒๕๔๗, ๑๘. และเป็นที่นิยมสืบเนื่องมาในศิลปะสมัยสุโขทัยและศิลปะสมัยอยุธยา.
[73] การทำประติมากรรมรูปยักษ์มีเชือกคาดอกกำลังแบกฐานโบราณสถานพบปรากฏมาก่อนในศิลปะสุโขทัย เช่น ปูนปั้นยักษ์แบกประดับมุขยื่นจากฐานเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์พระมหาธาตุ วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย.
[74] นักวิชาการต่างประเทศ Virginai Mckeen วิเคราะห์ว่า พระพุทธบาทจากวัดพระรามมีรูปสัญลักษณ์บางรูปคือบัลลังก์ (หมายเลข ๗) ฐานของแจกันและบาตร (หมายเลข ๒๓, ๒๔) มีความละเอียดประณีตเช่นเดียวกับแข้งสิงห์ของเจดีย์ในจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี กำหนดอายุอยู่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดูใน Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๑๔๖ – ๑๔๗. ต่อประเด็นนี้มีความเห็นแตกต่างออกไป เนื่องจากรูปแบบศิลปะของบัลลังก์และฐานแจกันกับบาตรของพระพุทธบาทจากวัดพระรามกับฐานสิงห์ในจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธารามนั้นมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดจึงควรจัดเป็นงานคนละยุคสมัย ประกอบกับได้พบร่องรอยการทำฐานของรูปสัญลักษณ์ในลักษณะเดียวกับพระพุทธบาทจากวัดพระรามมาก่อนแล้วในพระพุทธบาทศิลปะสุโขทัย อาทิ ฐานของรูปอาคารบนพระพุทธบาทที่วัดเชิงคีรี อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กำหนดอายุการสร้างอยู่ใน พ.ศ. ๒๐๕๓ ดูใน Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๙๐, ๙๒. หรือฐานของรูปสัญลักษณ์สังข์และฐานของเทวดาถือพระขรรค์ที่พระพุทธบาทสำริดจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ ดูใน นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๔๙. และ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “วิวัฒนาการและประติมานวิทยาของรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๕๓๙, ๑๑.
[75] Virginia McKeen, รอยพุทธบาทพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัททกัปป์นี้ ตามกรอบคิดแบบสิงหล-สยาม (สมหวัง แก้วสุฟอง แปล) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์, ๒๕๕๕), ๑๔๘.
[76] นันทนา ชุติวงศ์, รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๓), ๓๓ – ๓๔.
[77] จัดกลุ่มรูปมงคลตามแนวคิดของพระคันธสาราภิวงศ์ ดูใน พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๔๗.
[78] พระคันธสาราภิวงศ์, ปัชชมธุ (พระคันธสาราภิวงศ์ แปล) (กรุงเทพฯ: ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๕๐), ๑๔๘.
The Wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup
The wooden Phra Buddhapada (Buddha’s footprint) is characterized as an engraving on a 74 cm wide, 222 cm long and 10 cm thick rectangular hard wooden board. The engraving methods include the carving into decoration lines, low-relief engraving, high-relief engraving, and floating engraving. On one side of the board it is engraved as Phra Buddhapada (Buddha’s footprint), while on the other side it is engraved into the picture of the Lord Buddha attaining enlightenment. This Phra Buddhapada is the footprint of his right foot, engraved in low-relief pattern. The overall shape is that of a rectangular with one end being curved. This Phra Buddhapada is carved as being horizontal, with the foot tilting up on one side to show both sides of the foot. This carving pattern of Phra Buddhapada has been generally popular. For example, Phra Buddhapada of Ayutthaya art style, i.e. a stone Phra Buddhapada found in Ayutthaya province. Its front side is engraved as the Lord Buddha’s footprint, while its back side is engraved as the picture of Dhammacakka (the Wheel of Truth). As for the established Phra Buddhapada with the foot tilting up, the only examples that are left to be found are those appeared on both sides of the road entering the main stupa of Wat Buddhai Sawan in Phra Nakhon Si Ayutthaya province.
The engraving to produce relief picture of Phra Buddhapada showing the foot of Lord Buddha had been the symbol used to represent Lord Buddha since the ancient Indian art era before the creation of the Buddha images, as well as the other symbols such as the pictures of Dhammacakka, Bodhi tree, and Pallanka (throne). All of these symbols were still used continuously for some periods after the creation of the Buddha images. They were considered to be Pujaniyavatthu (object of worship) in the type of Uddesikacetiya (memorial object of worship), i.e. the objects created as the symbols representing the Lord Buddha, or in memory of the Lord Buddha. The model of Phra Buddhapada and this accompanying belief have been passed on further in Sri Lanka in both the form of dual footprints and single footprint. In the case of Thailand, there is very little preference for creating Phra Buddhapada. The majority of Phra Buddhapada created in Thailand was in the form of engraving in a deep down basin. The old Phra Buddhapada in Thailand is probably Phra Buddhapada at Wat Khao Deesalak in Suphan Buri province. It can be mentioned that the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup has specific art form which is its own identity reflecting the intention to create the work of art for some special purpose that is different from that of Phra Buddhapada in general.
The 108 Mangala Decorations on the Wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup
In the middle of the sole of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup, there are 108 Mangala (blessings) decorations organized in the Daksinavatta (clockwise) winding pattern from the middle to the rim of big Dhammacakka circles. From the investigation, it is found that art style design of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup as a whole is almost similar in many aspects to that of Phra Buddhapada from Wat Phra Ram in Phra Nakhon Si Ayutthaya province including the matter of dividing the Dhammacakka circle into four layers by making two overlapping circle framework lines, and creating many similar designs of Mangala decorations such as the Brahmaloka (Brahma world) design, the Devaloka (world of gods) design, the mountain design, the sun design, the moon design, etc. There is also the making of curving decoration lines covering the sole and fingers of the foot. Therefore, it is hypothesized that the art style design of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup might have been influenced by the art style design of Phra Buddhapada in Wat Phra Ram. However, since the Brahmaloka design and the Devaloka design are arranged to be out near the rim of the circle which is different from the previous designs, it is hypothesized that the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup probably had been created during the middle period of the 21st Buddhist Century which is later than the creation of Phra Buddhapada in Wat Phra Ram that might have occurred during the final period of the 20th Buddhist Century to the early period of the 21st Buddhist Century. In addition, the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup also has the arrangement of 108 Mangala decorations similar to that of Phra Buddhapada from Wat Sadet in Kamphaeng Phet province, but with different art style designs. So, the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup and Phra Buddhapada at Wat Sadet should have been created at about the same period.
Although the majority of Mangala decorations that appear on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup are relevant to many important scriptures such as Atthakatha Anakhatawong, Jinalankaradhika, and Pathavanthana, there are many differences both in the list of Mangala and Mangala arrangement, especially the addition of Mangala pictures of Phya Suea (big tiger), Brahma (in front of the golden barge picture), Phra Thaen Pallanka (throne altar), palm leaf fan (after the Phra Thaen picture), and turtle. However, the above-mentioned added pictures have been found in Buddhapada Lakkhana (Lord Buddha’s footprint characteristics) scripture written during the final period of the 23rd Buddhist Century. So, it is hypothesized that the creation of 108 Mankala decorations on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup should have more relationship with Buddhapada Lakkhana scripture rather than with the above-mentioned three scriptures. It is also hypothesized that Buddhapada Lakkhana scripture should have been known at least since the middle period of the 21st Buddhist Century in accordance with the hypothesized age of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup, as appeared in the traces of Buddhapada Lakkhana scripture written during the final period of the 23rd Buddhist Century that was handed down from the scriptures in the past.
Another point, in creating 108 Mankala decorations on Phra Buddhapada it is found that there are both the creation of virtual pictures and the creation of symbolic pictures based on the Mankala list in Pali language that is mentioned as a whole without mentioning of any specific list. So, the creation of Mankala pictures depended on the interpretation of the Mankala names by the creating artists as well as the consideration of the customary regulations of art works imparted from generation to generation. Therefore, it cannot be clearly mentioned that the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup was created based directly on the inspiration from Buddhapada Lakkhana scripture. This is because we still lack the evidence of Buddhapada Lakkhana scripture in the 21st Buddhist Century to study comparatively, or perhaps it was created based on the inspiration indirectly received from the customary regulations of art works imparted from generation to generation, or it might be created as a result of the integration of the inspirational influence from Buddhapada Lakkhana scripture and the inspiration indirectly received from the customary regulations of art works imparted from generation to generation.
The Engraving of Life History of the Lord Buddha Attaining Enlightenment on the Wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup
On the back side of the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup there is an engraving of the picture showing the life history of the Lord Buddha attaining enlightenment. The engraving comprises the pictures of the confronting devils-defeating of the devils, with the middle line showing the altar on which the Lord Buddha sits. Under the altar, there are the pictures of five demons bearing the altar. Beside the altar, there is the picture of the Goddess of the Earth squeezing water from her chignon. The art style of the pictures is similar to that of Phra Buddhapada on the other side of the wooden board showing the intention of creating the engravings on both sides of the board at the same time from the beginning.
The selection of creating the picture of life history of the Lord Buddha is probably because it was the popular story in that period, and the choice of creating the picture of the Lord Buddha attaining enlightenment comprising the pictures of the confronting devils-defeating of the devils is probably because it is the most important episode of the Lord Buddha’s life history showing Phra Bodhisatta (a Buddha-to-be) attaining enlightenment, which shows him to be the clear knower of the way of the world. This meaning is consistent with the meaning of Phra Buddhapada on the other side of the board. As for the creating the picture of altar to be the seat of the Lord Buddha while attaining enlightenment instead of creating the image of the Lord Buddha himself which is the symbol representing the Lord Buddha, this creation does not appear to be seen much in the Chao Phraya River basin area. The choice of creating the picture of altar to be the seat of the Lord Buddha while attaining enlightenment, or the Vatchara-assana (diamond seat), instead of creating the picture of the Lord Buddha himself on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup is hypothesized as probably because the available small area for engraving does not facilitate the engraving of the Lord Buddha fully as a human being such as that in the Tri Bhumi (three worlds) Atlas, and probably because it was considered not appropriate to create the picture of the Lord Buddha on the back side of the board containing the footprint that was the lower part of the body. Therefore, it was decided to create the symbolic system to represent the Lord Buddha, i.e. the picture of altar to be the seat of the Lord Buddha while attaining enlightenment, or the Vatchara-assana (diamond seat), resulting in the art style design of the engravings on both sides of the Phra Buddhapada board being of the symbolic system.
In Thailand, the evidences of the engraving of the pictures of the group of devils and the Goddess of Earth squeezing water from her chignon were found tracing from at least the 18th Buddhist Century, such as the bronze altar as the seat of the Buddha image engraved as the picture of the Goddess of Earth touching the end of her hairs that is found at Wat Phra Si Rattana Maha That in Suphan Buri province which is of Cambodian art style dated about the 17-18 Buddhist Century. The model of decorating with the engravings of the devil army and the picture of the Goddess of Earth squeezing water from her chignon at the altar of the Buddha image which is of the middle period Ayutthaya art style dated about the 21st – 22nd Buddhist Century is closely related to the older Cambodian art style, especially the clothing and posture of the devil army troopers. So, the Cambodian art style that was an important foundation of art style in Ayutthaya since its beginning still remains to be seen in some aspects that are mixed in the middle period Ayutthaya art style created during the period of 21st – 22nd Buddhist Century. Therefore, it can be said that the engraving of the picture of the devil army and the Goddess of Earth to tell the life history of the Lord Buddha in the episode of encountering and defeating the devils on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup should probably be also an example of Ayutthaya art style in the early period of the 21st Buddhist Century.
As for the engraving of the picture of demons in the kneeling posture showing the muscular body shapes dressed with decorative collar band and strings strapped at the chest indicating the style of dressing in the early period. Examples of this dressing style are the lime sculptures of the south Than Phaithi (lotus-flower-shaped pedestal) of the main pagoda of Wat Ratchaburana which is of the early period Ayutthaya art style dated from the final period of the 20th Buddhist Century. The creation of the sculpture in the form of demons holding up the pedestal of pagoda is probably related to the belief on upholding Buddhism. The altar that is the seat for the Lord Buddha while attaining enlightenment, or the Vatchara-assana, is considered to be a symbol of the Lord Buddha like the pagoda. Therefore, the picture of demons holding up the seat of the Lord Buddha while attaining enlightenment on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup was created based on the same belief.
The Iconographical Meaning of the Wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup
The symbol of 108 Mangala (blessings) decorations on the wooden Phra Buddhapada at Wat Phra Rup has the expressed meaning of the dominating over the universe status of the Lord Buddha and his merits that protect and provide blessings for those who worship or adhere to him as their savior. The 108 Mangala decorations are arranged in a big Dhammacakka circle in the middle of the foot sole that is consistent with the scenery of the universe or the shape of the world that is in the circular line based on the concept in the World Science Scripture that enables the above-mentioned meaning to be more clearly tangible. In the innermost circle there is the picture of a blossoming lotus which is probably the symbol of the Lord Buddha attaining enlightenment. In the second circle there are the pictures that are symbols of fortune, progress, and abundance, i.e. the pictures of gardenia, swastika, the pot with flowers, the container with flowers, and lotus flower; the pictures that are symbols of prestige of the king or emperor indicating the honor, power, and nobleness, i.e. the pictures of flowers, altar, elephant scythe, double-edged sword, multiple-tiered umbrella; and the pictures that are symbols of virtues and merits, i.e. the picture of palm leaf fan. In the third and fourth circles there are symbols in the group of realities in the universe, i.e. the ocean, universal mountain, Himmaphanta mountain, Sumeru mountain, the sun, the moon, big continents, small continents, Himmaphanta animals, six levels of Devaloka (world of gods), and 16 levels of Brahmaloka (world of Brahma). It can be said that these meritorious symbols of 108 Mankala decorations are the symbols of Sugatibhumi (happy state of existence) in the universe starting from the good and blissful entities in the human world and proceeding toward the ๖ levels of Devaloka and 16 level of Brahmaloka which are the dwelling places of the meritorious beings. When all of these 108 Mankala are counted and combined, they indicate the condition of universal dominance of the Lord Buddha who is superior over all of the three worlds, i.e. Sattaloka (the world of animals or living things), Sankaraloka (the world of phenomena or all things that have been made up by pre-existing causes), and Okassaloka (the world as dwelling place of all living things). This is because of the countless merits that he has accumulated. All of these 108 Mankala appear only on the sole of his feet indicating his superiority as though he steps on all of the three worlds to make them lying under his feet. In addition, the choice of creating the picture of life history of the Lord Buddha attaining enlightenment on the other side of the wooden board showing Phra Bodhisatta (a Buddha-to-be) attaining enlightenment to become the Lord Buddha who has acquired the knowledge of the universe also has the meaning consistent with the meaning of Phra Buddhapada on the other side of the board.
เมืองสุพรรณภูมินับแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) ภายใต้นโยบายการจัดระบบราชการและระเบียบสังคมแบบศักดินาเพื่อจรรโลงโครงสร้าง “รัฐราชอาณาจักร” สถานะของเมืองสุพรรณภูมิถูกปรับลดความสำคัญลง จาก “เมืองลูกหลวง” กลายเป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลราชธานี มีสถานะเป็น “หัวเมืองจัตวาชั้นใน” เจ้าเมืองสุพรรณภูมิ คือ ขุนนางที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง มีตำแหน่งเพียง “ผู้รั้ง”[1] ปรากฏยศและราชทินนามในทำเนียบศักดินาหัวเมืองที่ “พระสุนทรสงคราม” อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าเจ้าเมืองสุพรรณภูมิในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๑๑๒ (ปีเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ แก่พม่า) น่าจะมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกษัตริย์อยุธยาแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ด้วยเพราะสุพรรณภูมิถือเมืองเก่าของต้นวงศ์ อำนาจเจ้าเมืองในการคุมไพร่พลจึงน่าจะมีอยู่ไม่น้อย[2] และแม้สุพรรณภูมิจะถูกลดอำนาจความสำคัญทางการเมืองลง หากแต่เมืองนี้ยังคงเป็นฐานอำนาจด้านกำลังคนและทรัพยากร ทางเศรษฐกิจทั้งการปลูกข้าวและผลผลิตของป่าที่ป้อนให้กับกรุงศรีอยุธยา
รับศึกพม่าครั้งแรก เมืองสุพรรณภูมิถูกเปลี่ยนกายภาพ
นับแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เงื่อนไขประวัติศาสตร์สงครามไทย – พม่า มีผลกระทบต่อเมืองสุพรรณภูมิ ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพ สุพรรณภูมิจึงเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกป้องกัน กรุงศรีอยุธยาทางด้านตะวันตก และเนื่องจากเมืองนี้อยู่ในเขตปริมณฑลราชธานี จึงส่งผลต่อประชากรที่หาก ไม่ถูกเกณฑ์ไปเพื่อป้องกันพระนครที่อยุธยา ก็มักถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกพม่า หลังสงครามคราวเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. ๒๐๙๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีดำริให้รื้อถอนกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกของเมืองสุพรรณภูมิ เพื่อไม่ให้พม่าใช้เป็นฐานที่มั่นในการโจมตีอยุธยา กายภาพของเมืองเปลี่ยนจาก “เมืองอกแตก” เหลือเพียงตัวเมืองด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ที่ยังคงมีคูน้ำกำแพงเมือง ขนาดของเมืองเปลี่ยนจาก ๓,๖๐๐ x ๑,๙๐๐ เมตร เป็น ๓,๖๐๐ x ๙๒๐ เมตร[3] นอกจากกายภาพเมืองที่เปลี่ยนไปแล้ว อำนาจเจ้าเมืองยังถูกทำให้ลดลงจากนโยบายโยกย้ายประชากรและตั้งเมืองใหม่ เช่น เมืองนครชัยศรี ที่ตั้งขึ้นใหม่โดยแบ่งไพร่พลจากเมืองสุพรรณเพื่อให้มีหัวเมืองชั้นในเพิ่มขึ้น[4] สภาพการณ์ดังกล่าวทั้งเงื่อนไขสงครามที่ผู้คนต่างต้องแสวงหาทางเอาตัวรอด อำนาจฝ่ายปกครองที่ลดลง ส่งผลให้เมืองสุพรรณจึงมีภาวะ ของการถูกละทิ้งให้กลายเป็น “เมืองชนบท” ที่มีอำนาจท้องถิ่นคุ้มครองตนเองสูง นัยหนึ่งคือเป็น “อิสระเชิงสัมพัทธ์” (relative autonomy) จากอำนาจส่วนกลางมากขึ้น ภาวการณ์นี้จะเป็นอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณต่อเนื่องมา
พื้นที่แขวงเมืองสุพรรณ ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพพม่ามานับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ แขวงเมืองสุพรรณจึงเป็นพื้นที่สมรภูมิของกองทัพทั้งสองฝ่าย
ที่มาภาพ: วารุณี โอสถารมย์. เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗), , ๑๗๔.
เอกสารอ้างอิง
[1] วารุณี โอสถารมย์. เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗), ๑๕๑.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๕๘.
[3] ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, “สุพรรณภูมิอยู่ที่ไหน,” ใน โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๒๕), ๗๘ – ๘๐.
[4] วารุณี โอสถารมย์, เมืองสุพรรณบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ พุทธศตวรรษที่ ๘ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๗), ๑๗๖.
วัดพระรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ วัดพระรูปยังคงเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี ดังปรากฏหลักฐานระฆังสำริด มีขนาดความสูง ๘๖ เซนติเมตร บนขอบล่างของระฆังปรากฏจารึกการสร้างระฆังใบนี้ในปี พ.ศ. ๒๒๔๒ ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ผู้สร้างคือเจ้านายสตรีพระองค์หนึ่ง แต่เดิมระฆังใบนี้แขวนประจำอยู่ที่หอระฆังเก่า ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับระฆังสำริด เป็นหอระฆังก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ซ้อนลดหลั่นกัน ตัวอาคารเป็นทรงสูงเจาะช่องขนาดใหญ่ ช่องมีลักษณะโค้งปลายแหลม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา ส่วนยอดชำรุดเสียหายแต่ปรากฏร่องรอยว่าเป็นหลังคาซ้อนชั้น หอระฆังลักษณะนี้แสดงถึงฝีมือของช่างในสมัยอยุธยาตอนปลาย กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ระฆังสำริดและหอระฆังดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ บนข้อสันนิษฐานว่าอาจมีเจ้านายสตรีชั้นสูงให้การอุปถัมภ์ทำนุบำรุง ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” ไม่มากก็น้อย
ปรากฏชื่อ “สุพรรณบุรี” ครั้งแรก – ร่องรอยคำว่า “สพันภูมิ” ในสมุดภาพไตรภูมิ
ชื่อ “สุพรรณบุรี” ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกใน “จดหมายเหตุวันวลิต” ซึ่งเขียนขึ้นโดยชาวต่างประเทศชื่อ “เยเรเมียส ฟอนฟลีต” เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๒ อยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๑๙๙)[1] ขณะที่ในเอกสารไทย ชื่อ “สุพรรณบุรี” ปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่เรียบเรียงขึ้นโดยพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓[2] ข้อสนเทศนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชื่อ “สุพรรณบุรี” คงเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และเป็นชื่อที่มาแทนที่ “สุพรรณภูมิ” ซึ่งเป็นค้าเรียกเดิม อย่างไรก็ตาม “สุพรรณภูมิ” น่าจะยังเป็นชื่อที่ อยู่ในความทรงจ้าของผู้คนสมัยอยุธยา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ อยู่ไม่เสื่อมคลาย ดังพบหลักฐานคำว่า “สพันพูม” ในแผนที่โบราณสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา (เลขที่ ๖) ที่สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๑๓๑)[3]
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา - ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1 (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2542), 93.
ระฆังสำริด หลักฐานในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ในวัดพระรูป
ระฆังสำริดวัดพระรูปหล่อขึ้นในสมัยอยุธยา มีรูปทรงระฆังเป็นแบบที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีความสูงรวม ๘๖ ซม. เฉพาะระฆังสูง ๔๖ ซม. ปากระฆังกว้าง ๓๙.๕ ซม. น้ำหนักประมาณ ๑๐๐ กก. หูระฆังหล่อเป็นรูปหัวนาค ๔ หัว อันเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายถึงการเชื่อมต่อโลกมนุษย์กับสวรรค์ ความสำคัญของระฆังสำริดใบนี้คือ ปรากฏจารึกข้อความระบุ พ.ศ. ๒๒๔๒ ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความสำคัญและพัฒนาการของวัดพระรูปที่สืบย้อนไปในสมัยอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓
ในเมืองสุพรรณบุรี นอกเหนือจากระฆังสำริดวัดพระรูปที่ปรากฏจารึกแล้ว ยังพบระฆังที่ปรากฏจารึกปีการสร้างอีก ๒ แห่งคือ วัดป่าพฤกษ์ ปรากฏจารึกว่าสร้างใน พ.ศ. ๒๒๔๐ และวัดโพธิ์คลาน ปรากฏจารึกว่าสร้างใน พ.ศ. ๒๑๘๑ ระฆังทั้ง ๒ ใบนี้มีรูปแบบคล้ายกับระฆังสำริดวัดพระรูปและยังอยู่ร่วมสมัยกันคือในสมัยอยุธยาช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๓
ระฆังสำริดวัดพระรูป ปรากฏจารึกรอบองค์ระฆัง
ระฆังสำริดวัดป่าพฤกษ์
ระฆังสำริดวัดป่าพฤกษ์ ปรากฏจารึกบนองค์ระฆัง ความว่า “พุทธศักราช ๒๒๔๐ ปี เศษสังขยา ๗ เดือน กัยวัน ๑ มหาศรีวิเชียรได้สร้างระฆังไว้กับในพระศาสนาเป็นทองเจ็ดสิบชั่ง หมื่นพิจิตนิรมนอยู่ตำบลลำนางลับได้หล่อ หล่อวันศุกร์ ได้ถวายแรมค่ำหนึ่ง ปีขาลนพศก ได้ฤกษ์ ๓๒ ชั้น”
ระฆังสำริดวัดป่าพฤกษ์ ปรากฏจารึกรอบองค์ระฆัง
ระฆังสำริดวัดโพธิ์คลาน อ. เมือง จ. สุพรรณบุรี
ระฆังสำริดวัดโพธิ์คลาน ปรากฏจารึกบนองค์ระฆัง ความว่า “พระยารามและออกหมื่นเทพผู้ช่างนั้นช่วยหล่อไว้ในพระศาสนา แลทายกทั้งปวง (เพื่อ) จะขอทันพระศรีอารย์แลฯ ... ทั้งปวงคุมได้ ๑๕๐ ชั่ง เสมอ ... (นอดบน?) ศักราชได้แล้ว ๒๑๘๑ ปี กับ ๘ เดือน ๔ วัน ถึงวันเสาร์เดือนยี่แรม ๔ ค่ำ จุลศักราชใส่ ถ้ (วน) ...”[4]
ระฆังสำริดวัดโพธิ์คลาน ปรากฏจารึกรอบองค์ระฆัง
คำจารึกและคำอ่าน
(บรรทัดบน) (คำจารึก) พระสางส่มภาร
(คำอ่าน) พระสางสมภาร
(บรรทัดล่าง) (คำจารึก) สับภ่มัดสะดุ พุทธ่สักราชใด้ ๒๒๔๒ พระว่สา เจา แม่ธ_ท่ง พระราชะสทัธาเปันสาดนูปะถำ ส(างระฆัง) ไวเปนพุทบูชาสำรับพระสาดนัาไหรูงเรองถวนเถิงห้าพนัพระวะษาข่อจ่งเปันปัดจัย โพทิญาณไนอะนาคตกาล
(คำอ่าน) ศัภมัศดุพุทธศักราชได้ ๒๒๔๒ พระวรรษา เจ้าแม่ธ _ ทงพระราชศรัทธาเป็นศาสนูปถัมภ์ สร้างระฆังไว้เป็นพุทธบูชาสำหรับพระศาสนาให้รุ่งเรืองถ้วนเถิงห้าพันพระวรรษาขอจงเป็นปัจจัยโพธิญาณในอนาคตกาล[5]
ข้อความจารึกบนระฆังสำริด
บรรทัดบน ข้อความจารึกไว้ที่ส่วนกลางขององค์ระฆังว่า “พระสางสมภาร” วิเคราะห์ได้เป็น ๒ แนวทางคือ ทางด้านภาษา คำว่า “พระสางสมภาร” อาจหมายถึง อดีตพระสมภารที่มรณภาพไปแล้ว เพราะคำว่า “สาง” หมายถึง ผี คนสมัยก่อนนิยมเรียกผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วโดยมีคำว่า “สาง” นำหน้าเพื่อบอกสถานะ เช่นคำว่า สางพ่อ สางแม่ ที่หมายถึง ผีพ่อ ผีแม่ ส่วนข้อสันนิษฐานที่ว่า “สาง” อาจเป็นชื่อบุคคล โดยเฉพาะเป็นชื่อของสมภารรูปใดรูปหนึ่งนั้น มีความขัดกันในทางภาษา เพราะคำว่า สมภาร เป็นชื่อตำแหน่ง ในภาษาไทยนิยมวางไว้หน้าชื่อ อาทิคำว่า พระสมภารดี ส่วนทางด้านตำแหน่งที่จารึก คำจารึกนี้ไม่ได้อยู่บรรทัดเดียวกับข้อความอื่นที่จารึกบริเวณขอบปากระฆัง ดังนั้น ทั้งในด้านภาษาและตำแหน่งอาจตีความได้ว่าเป็นจารึกเพื่ออุทิศเป็นกุศลแด่พระอดีตสมภารของวัดก็เป็นได้
บรรทัดล่าง ข้อความจารึกเรียงกันโดยรอบขอบปากระฆัง แปลเป็นสำนวนภาษาไทยสมัยปัจจุบัน โดยคงตัวสะกดในคำที่ยังไม่แน่ชัดไว้ ได้ว่า “ขอความดีงามจงมี พุทธศักราชได้ ๒๒๔๒ ปี เจาแม่ท่านทรงพระราชศรัทธาเป็นศาสนูปถัมภ์ ส(างระฆังไว้) เป็นพุทธบูชา สำหรับพระศาสนาให้รุ่งเรืองถ้วนถึงห้าพันปี ขอจงเป็นผู้ตรัสรู้โพธิญาณในอนาคตกาล” จากจารึกนี้ทำให้ทราบว่า การสร้างระฆังสำริดใบนี้อยู่ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้สร้างระฆังสำริดใบนี้เป็นหญิงสูงศักดิ์ เพราะมีการใช้คำราชาศัพท์ว่า “ทรงพระราชศรัทธา” ส่วนความมุ่งหมายของการสร้างระฆังสำริดใบนี้มีอยู่ ๔ ประการคือ เพื่ออุปถัมภ์พระศาสนา เป็นพุทธบูชา ให้พระพุทธศาสนาอยู่ครบ ๕,๐๐๐ ปี และขอเป็นผู้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ นับเป็นจารึกที่ได้ความครบถ้วน
ระบบการจารึกบนระฆังสำริด
ระฆังสำริดวัดพระรูปแสดงให้เห็นถึงระบบการจารึกบนระฆังในสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ประการแรกคือ คติความเชื่อ ที่พบว่าประกอบด้วย เรื่องพระพุทธศาสนามีอายุ ๕,๐๐๐ ปี การตั้งความปรารถนาพุทธภูมิ ซึ่งสัมพันธ์กับอุดมการณ์เรื่องพระโพธิสัตว์และนิพพาน บุญและการสร้างสมบุญบารมี โดยมีความเชื่อว่าการสร้างระฆังเป็นบุญใหญ่และเป็นวาระสำคัญอย่างหนึ่ง ดังเห็นได้จากจารึกคำขึ้นด้วยคำว่า “สับ ภ่ มัด สะ ดุ” ซึ่งเป็นคำขึ้นต้นที่ใช้ในเอกสารสำคัญเท่านั้น โดยตั้งปรารถนาให้บุญกุศลนี้ช่วยอุปถัมภ์พระศาสนา สืบอายุพระศาสนา เป็นพุทธบูชา เป็นการสร้างสมบุญบารมีเพื่อปรารถนาพุทธภูมิของผู้สร้าง และเป็นบุญอุทิศให้กับผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว ประการที่สองคือ องค์ประกอบสำคัญของจารึก ที่พบว่ามีอย่างน้อย ๓ องค์ประกอบได้แก่ ช่วงเวลา เจ้าของศรัทธาหรือผู้สร้าง และการตั้งความปรารถนาหรือความมุ่งหมาย อาทิ เพื่อสืบพระศาสนา ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ ประการที่สามคือ ตำแหน่งของจารึก ที่พบว่ามีการจารึกบนบริเวณขอบปากระฆังโดยรอบ
ระบบการจารึกบนระฆังสำริดวัดพระรูปมีลักษณะคล้ายคลึงกับการจารึกบนระฆังที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อาทิ จารึกบนระฆังวัดเพชร อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี จารึกคอระฆังวัดเลียบ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจารึกระฆังในแต่ละใบย่อมจะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปบ้าง อาทิ จารึกบนระฆังบางแห่งบอกถึงน้ำหนักของวัตถุในการสร้างระฆัง ระฆังบางแห่งวางตำแหน่งจารึกไว้ที่คอระฆัง เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากการหล่อและการจารึกระฆังแต่ละใบเป็นงานที่ทำขึ้นเฉพาะระฆังใบนั้น ๆ
ข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” จากจารึกบนระฆังสำริด
จากจารึกบนระฆังสำริด จารึกศักราชระบุปีที่หล่อระฆังใบนี้คือ พ.ศ. ๒๒๔๒ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง สันนิษฐานว่าผู้สร้างระฆังเป็นเจ้านายสตรีมิใช่สามัญชน เพราะมีปรากฏคำว่า “เจ้าแม่” และ “พระราชศรัทธา” ทั้งนี้ คำว่า “เจ้าแม่” ย่อมหมายถึงเจ้านายสตรีระดับ “ผู้ใหญ่” ซึ่งอาจเป็น พระราชมารดาในสมเด็จพระเพทราชา หรืออาจเป็น พระมเหสีในสมเด็จพระเพทราชาก็เป็นได้ เรื่องเจ้านายสตรีผู้สร้างระฆังใบนี้ ยังอาจสัมพันธ์กับที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” ซึ่งน่าจะเป็นชื่อวัดมาแต่ครั้งสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย โดยคำว่า “พระรูป” หมายถึงเจ้านายฝ่ายในที่บวชเป็นชี และเมื่อสืบค้นเหตุการณ์ในระยะเวลาใกล้เคียงกับการสร้างระฆัง พบความในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ระบุถึงเหตุการณ์ที่อัครมเหสีหม้ายในสมเด็จ พระเพทราชาได้เสด็จออกผนวชเป็น “พระรูป” พร้อมกัน ๓ องค์ หลังการสวรรคตของพระสวามี โดยแยกเสด็จออกไปประทับ ณ ๒ สำนัก/วัด[6] (ดูรายละเอียดข้างหน้า)
พระองค์แรก (พระรูปองค์แรก) คือ “กรมพระเทภามาศ” (พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกพระนามว่า “กรมพระเทพามาตย์) พระอัครมเหสีกลาง ทรงเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จ พระเจ้าเสือ พระราชพงศาวดารระบุว่าทูลลาออกไป ณ ตำหนักวัดดุสิต ขณะที่พระรูปอีก ๒ องค์ คือ “กรมหลวงโยธาทิพย์” อัครมเหสีฝ่ายขวา และ “กรมหลวงโยธาเทพ” อัครมเหสีฝ่ายซ้าย เสด็จออกไปประทับที่วัดพุทธไธสวรรย์ พร้อมกับพระโอรสพระนามว่า “ตรัสน้อย” ที่ตัดสินพระทัยผนวชเป็นภิกษุตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งนี้ พระรูปองค์แรก “กรมพระเทภามาศ” ตามประวัติคือภรรยาเดิมของสมเด็จพระเพทราชาก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ และด้วยสมเด็จพระเพทราชาถูกระบุว่าทรงมีพื้นเพ เป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี[7] ด้วยเหตุนี้ “กรมพระเทภามาศ” จึงอาจเป็นชาวเมืองสุพรรณบุรี ถิ่นฐานเดียวกับสมเด็จพระเพทราชาก็เป็นได้ พระรูปองค์นี้จึงอาจเกี่ยวข้องกับวัดพระรูป เช่น อาจจะเคยเสด็จมาจำพรรษาหรือเป็นผู้อุปถัมภ์วัดด้วย “พระราชศรัทธา” ทั้งก่อนผนวชซึ่งอาจรวมถึงการสร้างระฆังถวาย หรือหลังผนวชจนเป็นที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” ในขณะที่ ๒ พระองค์หลัง (พระรูป ๒ องค์หลัง) “กรมหลวงโยธาทิพย์” และ “กรมหลวงโยธาเทพ” พร้อมด้วยพระโอรส เนื่องด้วยเป็นเชื้อพระวงศ์สายสมเด็จพระนารายณ์ราชวงศ์ปราสาททอง ทำให้น่าจะต้องดำรงองค์อย่างระแวดระวังเพื่อหลีกราชภัย (ดูรายละเอียดข้างหน้า) กระนั้นก็ตาม พระรูป ๒ องค์หลังนี้ อาจเกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” เมืองสุพรรณบุรีก็เป็นได้ (แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยกว่าพระรูปองค์แรก) เช่นกันไม่พึงตัดความร่วมสมัย อันเป็นไปได้ที่เจ้านายสตรีพระองค์ใดพระองค์หนึ่งใน ๒ องค์นี้ (พระรูป ๒ องค์หลัง) อาจเป็น “เจ้าแม่” ผู้สร้างระฆังใบนี้ได้ด้วยเช่นกัน
หอระฆัง
แต่เดิมระฆังสำริดวัดพระรูปน่าจะแขวนประจำอยู่ที่หอระฆัง แม้หอระฆังนี้จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ แต่ก็ยังปรากฏเค้าโครงของหอระฆังก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ซ้อนลดหลั่นกัน ตัวอาคารเป็นทรงสูงเจาะช่องขนาดใหญ่ ช่องมีลักษณะโค้งปลายแหลม ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา ส่วนยอดแม้มีการซ่อมแซมอย่างมากแต่ก็ปรากฏร่องรอยว่าเป็นหลังคาซ้อนชั้น จึงสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าหอระฆังนี้อาจจะเป็นฝีมือของช่างในสมัยอยุธยา กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ โดยอาจจะสร้างขึ้นพร้อมกับระฆังสำริดที่ปรากฏจารึก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ บนข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีเจ้านายสตรีชั้นสูงให้การอุปถัมภ์ทำนุบำรุงวัด อันเป็นที่มาของชื่อ “วัดพระรูป” ในปัจจุบันก็เป็นได้
The Bronze Bell at Wat Phra Rup
The bronze bell at Wat Phra Rup was molded during Ayutthaya period (๒๓rd Buddhist Century). It has the shape that has been popular since Ayutthaya period, with the total height of ๘๖ cm; while the bell itself is ๔๖ cm high, with the mouth being ๓๙.๕ cm wide. The weight of the bell is about ๑๐๐ kg. The bell’s handle is bolded as ๔-headed Naga which is the symbol indicating the connection between the human world and heaven. The importance of this bell is that it has the inscription specifying B.E. ๒๒๔๒ which is the evidence indicating the development of the monastery that can be traced back to Ayutthaya period during the ๒๓rd Buddhist Century.
The Inscription Passage
(The top line) Phra Sang Somphan
(The following lines) In the auspicious occasion of B.E. ๒๒๔๒, Queen Th_ with her intention to be the religious patronage had created this bell to be a worship article for the Lord Buddha in order to foster the religion to be glorious until the ๕,๐๐๐ years of the Buddhist Era in the future.
In Suphan Buri, aside from the bell at Wat Phra Rup that has the inscription, two other bells have been discovered that have inscription on them showing the year of creation. One of them is at Wat Pa Phruek (specifying that is was created in B.E. ๒๒๔๐), and the other is at Wat Pho Khlan (specifying that it was created in B.E. ๒๑๘๑). Both of these bells have similar shapes to that of the bell at Wat Phra Rup and are contemporary, i.e. in Ayutthaya period during the final period of the ๒๒nd Buddhist Century to the ๒๓rd Buddhist Century.
The first Phra Rup lady, “Krom Phra Thephamat” historically was the wife of Somdej Phra Phetracha before he became the king. She was probably a native of Suphan Buri, the same residential town as that of Somdej Phra Phetracha. This Phra Rup lady might have something related to Wat Phra Rup, such as she might have come to stay in it during the rainy season or be also the patronage of the monastery with “Phra Ratcha Saddha” (the royal faith) both before ordination including the creation and donation of the bell to the temple, and after ordination that is the background for the name of Wat Phra Rup. On the other hand, the latter two Phra Rup ladies and the prince were of the royal lineage of King Narai of Prasat Thong dynasty. They had to live cautiously in order to avoid the possible “Ratchaphai” (royal execution). So, these latter two Phra Rup ladies were unlikely to be related to the source of the name “Wat Phra Rup” in Suphan Buri province. Even so, we should not ignore the contemporary event of the possibility that one of these two ladies might also be “Chao Mae” who created this bell.
In addition, in the central area of the bell there is the inscription of the word “Phra Sang Somphan” that may means the previous abbots who had passed away, or “Pathom Somphan” (the first abbot) who might be somewhat related to this bell in one way or the other. As such, the word “Sang” or “Sung” is an ancient Laotian word meaning ghost-ancestor, such as the word “Sang Pho” (ghost of father), “Sang Mae” (ghost of mother), “Pu Sang Ka Sa Ya Sang Kasi” (ghost of grandfather, ghost of grandmother), etc.
เอกสารอ้างอิง
[1] รัตนา หนูน้อย, ฐานะของเมืองสุพรรณบุรีในประวัติศาสตร์อยุธยา ระหว่าง พ.ศ.๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๒๓๑,” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๙, ๕.
[2] ดังมีระบุเหตุการณ์ครั้งผลัดเปลี่ยนแผ่นดินจาก สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เป็น พระราเมศวร พระราชโอรส ตามด้วยเหตุการณ์ที่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จจากเมืองสุพรรณภูมิ เข้ามาครองกรุงศรีอยุธยา ความว่า ... ศักราช ๗๓๑ ระกาศก (พ.ศ ๑๙๑๒) แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระ (ราเม) ศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ครั้นเถิงศักราช ๗๓๒ จอศก (พ.ศ ๑๙๑๓) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมาแต่เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา และท่านจึงให้สมเด็จพระราเมศวรเจ้า เสด็จไปเสวยราชสมบัติเมืองลพบุรี... ดู กรมศิลปากร, คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๕), ๔๔๓ – ๔๔๔.
[3] กรมศิลปากร. สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา - ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๑,๒. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
[4] กรมศิลปากร, “คำอ่านจารึกบนขอบระฆัง,” วารสารศิลปากร ปีที่ ๑๑ เล่มที่ ๒ (กรกฎาคม ๒๕๑๐), ๘๔.
[5] นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ อ่านและทำคำอธิบาย นายเทิม มีเต็ม ให้คำแนะนำปรึกษา ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
[6] ดูรายละเอียดใน กรมศิลปากร กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนภิเษก เล่ม ๒ (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, ๒๕๔๒), ๒๖๙.
[7] เรื่องเดียวกัน, ๒๒๔.
อยู่ในช่วงดำเนินการ
สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ เจ้าเมืองสุพรรณบุรี อาสาพม่ารบจนตัวตาย
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ เมืองสุพรรณบุรียังคงอยู่บนเส้นทางเดินทัพพม่าและเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกทางด้านตะวันตก ทัพพม่ามีแม่ทัพใหญ่คือ “มหานรธา” คุมทัพฝ่ายใต้มี “เนเมียวสีหบดี” คุมทัพฝ่ายเหนือ หลักฐานจาก “พงศาวดารราชวงศ์คองบอง” กล่าวถึงการยอมสวามิภักดิ์ของเจ้าเมืองต่างๆ เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ฯลฯ กรณีเมืองสุพรรณบุรี มีระบุว่าเจ้าเมืองสุพรรณบุรียอมอ่อนน้อมเช่นเดียวกับเจ้าเมืองราชบุรี ทัพพม่าจึงเข้าเมืองสุพรรณบุรีโดยสะดวก ไพร่พลจากเมืองสุพรรณบุรียังเป็น ๑ ใน ๗ เมืองด้านตะวันตกของอยุธยาที่ถูกเกณฑ์เข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา[1] หลักฐานพม่ายังกล่าวถึงเจ้าเมืองสุพรรณบุรีผู้ยอมถือน้ำสาบานรับใช้พม่าและเสียชีวิตจากการรบบนหลังช้างในคราวสู้กับ “พระยาตาน” (Than) แม่ทัพฝ่ายอยุธยาใกล้กับเจดีย์ภูเขาทอง[2] ถึงกับ เนเมียวสีหบดี ได้กล่าวยกย่องสรรเสริญความกล้าหาญของเจ้าเมืองสุพรรณบุรีแก่บรรดาแม่ทัพนายกองพม่า[3]
หลักฐานจากฝ่ายพม่า ในงานศึกษาของอาจารย์สุเนตร ชุตินทรานนท์ กับการเปิดทัศนะมุมมองใหม่ที่ข้ามพ้นกรอบชาตินิยม เช่น เรื่องเจ้าเมืองสุพรรณอาสาพม่ารบกับทัพกรุงศรีอยุธยาจนตัวตาย
เอกสารอ้างอิง
[1] ดูรายละเอียดใน สุเนตร ชุตินทรานนท์, สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๙, พิมพ์ครั้งที่ ๙), ๔๑ - ๔๒.
[2] เรื่องเดียวกัน, ๖๐.
[3] Hassi S Thanongsak#HBM, วาระสุดท้ายอาณาจักรอยุธยา โดย อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ & อ.วีระ ธีรภัทร, YouTube, เผยแพร่เมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๑.
วัดพระรูปในธนบุรี-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๑ - ๔) (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔)
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ นั้น ตามประวัติความเป็นมาของวัดพระรูป มีมุขปาฐะเล่ากันสืบมาว่า วัดพระรูปมีพระภิกษุสงฆ์ที่สำคัญรูปหนึ่ง ไม่ทราบประวัติที่แน่ชัดของท่าน แต่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “สมเด็จพระเจ้าง่อย” เนื่องจากท่านเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นพระบวชใหม่มาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวเสียกรุงแก่พม่าท่านเป็นง่อย เวลาเดินทางต้องมีคนหาม ท่านช่วยทำให้วัดพระรูปมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา กล่าวกันว่า ในยุคนี้ วัดพระรูปมีกุฏิสงฆ์เป็นอาคารตึกสองชั้น อุโบสถตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังงดงาม และเคยมีเสลี่ยงคานหามของสมเด็จด้วย ในปัจจุบันภายในวัดพระรูปยังคงปรากฏหลักฐานอยู่ อาทิ ธรรมาสน์บุษบก คัมภีร์ใบลานที่มีจารึกระบุปีจุลศักราช ๑๑๓๑ (พ.ศ. ๒๓๑๒)
“สมเด็จเจ้าพระง่อย” ระหว่าง บุคคลใน “ประวัติศาสตร์” กับ “มุขปาฐะ”
เจ้าอธิการวัดพระรูปที่เก่าที่สุดจากคำบอกเล่าสืบย้อนต่อ ๆ กันมา คือ “สมเด็จเจ้าพระง่อย” ซึ่งนับเป็น “บุคคลในมุขปาฐะ” กล่าวกันว่าเป็นท่าน “เชื้อพระวงศ์” และเป็นง่อยไปไหนมาไหนจึงต้องมีเสลี่ยงแบกหาม เรื่อง “สมเด็จเจ้าพระง่อย” วัดพระรูปคือใครนั้น อาจสอบทานกับ “เจ้าพระ” (คำเรียกเชื้อพระวงศ์ชายที่ผนวช) สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ผนวชตลอดพระชนม์ชีพ และมีระบุในพระราชพงศาวดาร ๓ องค์ สององค์แรกเป็นโอรสของสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) คือ “พระองค์เจ้าบุนนาค” และ “เจ้าฟ้าตรัสน้อย” องค์ที่สามคือ “เจ้าฟ้านเรนทร์” โอรสในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ.๒๒๕๒ - ๒๒๗๕) อย่างไรก็ตาม มีเพียง “เจ้าฟ้าตรัสน้อย” และ “เจ้าฟ้านเรนทร์” ที่พระราชพงศาวดารบันทึกเรื่องราวและปีประสูติ โดยเจ้าฟ้าตรัสน้อย ประสูติ พ.ศ.๒๒๓๗ และ เจ้าฟ้านเรนทร์ ประสูติ พ.ศ. ๒๒๔๙ เมื่อคำนวณกับปีเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐) ที่มุขปาฐะเล่าว่าคาบเกี่ยวอยู่ในช่วงชีวิตของ “สมเด็จเจ้าพระง่อย” เช่นนั้นแล้วหาก “สมเด็จเจ้าพระง่อย” คือ “เจ้าฟ้าตรัสน้อย” ปีเสียกรุงจะมีพระชนม์ที่ ๗๓ พรรษา และหากเป็น “เจ้าฟ้านเรนทร์” จะมีพระชนม์ที่ ๖๑ พรรษา นอกจากนี้ “เจ้าพระ” ของวัดพระรูป ยังอาจเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นลดหลั่นลงไป ที่ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารเลยก็เป็นได้
การบูรณะเจดีย์ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เจดีย์วัดพระรูปได้รับการบูรณะอีกครั้ง นับเป็นสมัยที่ ๓ ของการบูรณะ โดยได้เพิ่มเติมส่วนฐานบัวล้อมรอบเจดีย์ทางด้านทิศตะวันตก รวมถึงการทำทางขึ้นด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ด้วย สันนิษฐานว่าการบูรณะครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการสร้างอาคารทางด้านทิศใต้ (พบเป็นฐานอาคารอยู่ใต้เก๋งจีน แนวฐานอาคารวางตัวในแกนตะวันออก-ตะวันตก) ที่น่าจะมีอายุอยู่ในราวสมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
อุโบสถหลังเก่าวัดพระรูปจากมุขปาถะ
อุโบสถหลังเก่าของวัดพระรูปมีขนาดไม่ใหญ่ เป็นอาคารก่ออิฐสอปูนขาวอย่างโบราณ เคยตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกับอุโบสถหลังปัจจุบัน มีซุ้มใบเสมาขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดยรอบ จากบันทึกคนเก่าคนแก่ในพื้นที่เล่าว่าอุโบสถหลังเก่าแต่เดิมเคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับสวยงาม ซึ่งอาจเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าง่อยหรือหลังจากนั้นลงมาเล็กน้อยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏหลักฐานใบเสมารุ่นสองของวัด ต่อมาได้มีการบูรณะอุโบสถหลังเก่าอีกหลายครั้ง จนอุโบสถหลังนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก จึงต้องใช้สังกะสีมุงเป็นหลังคาและปิดเป็นผนัง แต่ก็ยังคงมีการใช้งานอยู่ ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่าเป็นงานกฐินหรืองานบวชมีขบวนแห่ชาวบ้านเวียนรอบอุโบสถหลังนี้
อุโบสถหลังเก่าวัดพระรูป ก่อนการสร้างใหม่ในสมัยหลวงพ่อดี ช่วง พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓
คัมภีร์ใบลานจารึกเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๑๒
คัมภีร์ใบลานจำนวนมากของวัดพระรูปที่เก็บรักษาสืบเนื่องมาแต่โบราณ พบว่ามีความสำคัญอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคัมภีร์ใบลานที่มีจารึกบอกวันที่จารหรือปีที่ถวายวัดพระรูป อาทิ คัมภีร์ใบลานผูกหนึ่งมีจารึกวันที่จารว่า “วัน ๒ ๘ฯ ๘ คำปัดถะมลาศ จุลศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศกเขียนแล้วเพลาบายแล้วโมงเสด ตัวผู้เขียนมิสู้จำนักในลักษอักษรบวรไตรลัก ถ้าผิดพลังในอักขวรช้วยใส่เปนบุนพระคุณเจ้าเอ้ย” กล่าวได้ว่า ผู้เขียนได้จารคัมภีร์ใบลานผูกนี้ขึ้นในวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปี พ.ศ. ๒๓๑๒ ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. ๒๓๑๑ - ๒๓๒๕) เป็นที่น่าสนใจศึกษาเพิ่มเติมต่อไปว่า คัมภีร์ใบลานผูกนี้จารขึ้นที่วัดพระรูปหรือไม่ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอะไร
คัมภีร์ใบลานจารึกในสมัยกรุงธนบุรีพบที่วัดพระรูป
ใบเสมารุ่นที่สองของวัดพระรูป
ใบเสมาวัดพระรูปรุ่นที่ ๒ พบจำนวน ๗ ใบ ตามประวัติกล่าวว่าเป็นใบเสมาของอุโบสถหลังเก่าก่อนการบูรณะ โดยพระครูสุนทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี) ได้นำมาเก็บรักษาไว้ ใบเสมาชุดนี้เป็นหินสีเทา ขนาดโดยรวมสูงประมาณ ๗๐ ซม. กว้างประมาณ ๓๒ ซม. และหนาประมาณ ๖ ซม. ลักษณะรูปทรงเป็นแท่งสูงแบน เส้นรอบนอกคล้ายกับทรงเจว็ด เอวเสมาคอดมีกระหนกที่งอนขึ้นมาด้านข้าง ยอดใบเสมาผายออกเล็กน้อยปลายยอดแหลม มีการสลักลวดลายที่เหมือนกันทั้งสองด้าน โดยสลักลายด้านหน้าละเอียดประณีตกว่าด้านหลัง ลวดลายบนใบเสมาส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้ใบเทศ สลักประดับในทุกส่วนทั้งยอดเสมา อกเลา ทับทรวง โคนเสมา ส่วนฐานเสมาเป็นลายกลีบบัวหงายซ้อนกัน
ใบเสมาอุโบสถวัดพระรูป
ลักษณะเด่นบนใบเสมาชุดนี้คือ ลายดอกไม้ ๒ ดอกกลางใบเสมา ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีปรากฏมาก่อนในใบเสมาสมัยอยุธยาตอนปลาย อาทิ ใบเสมาวัดพรหมนิวาส จ.พระนครศรีอยุธยา และนิยมสืบเนื่องมาในสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ ๔ อาทิ ใบเสมาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระแก้ว) ใบเสมาวัดอรุณราชวราราม ใบเสมาวัดสระเกศ กรุงเทพฯ ใบเสมาวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี เป็นต้น นักวิชาการวิเคราะห์ว่าวงกลม ๒ วงบนใบเสมานั้นหมายถึง สุริยมณฑล (พระอาทิตย์) และจันทรมณฑล (พระจันทร์) อันเป็นสัญลักษณ์ของยอดเขาพระสุเมรุ ที่ประทับของพระอินทร์ตามคติการนับถือบูชาพระอินทร์ ใบเสมาในคตินี้ยังนิยมล้อมรอบด้วยรูปนาคตามเรื่องเล่าว่าพระอินทร์มีภาระในการปราบนาควฤตราเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ[1] และโดยทั่วไปยังเชื่อกันด้วยว่านาคนั้นเป็นสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ด้วย อย่างไรก็ดี ด้วยรูปแบบของใบเสมาวัดพระรูปที่ไม่มุ่งเน้นการทำรูปวงกลม ๒ วงและรูปนาคด้านข้างใบเสมา จึงแสดงให้เห็นถึงความคลี่คลายไปจากรูปแบบที่สร้างตามอินทรคติอย่างมากแล้ว
หลวงพ่อดีเก็บรักษาใบเสมาอุโบสถวัดพระรูป
ใบเสมาของวัดพระรูปชุดนี้อาจกำหนดอายุได้จากรูปแบบและลวดลายบนใบเสมา ที่เป็นลายดอกไม้ใบเทศและมีรูปแบบที่คลี่คลายไปจากอินทรคติแล้ว โดยน่าจะอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรือในช่วงรัชกาลที่ ๓ - ๔ นับเป็นใบเสมารุ่นที่ ๒ ของวัดพระรูป การพบใบเสมาของวัดพระรูปชุดนี้นำมาสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า วัดพระรูปคงจะมีการบูรณะอุโบสถและผูกพัทธสีมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงรัชกาลที่ ๓ - ๔ สอดคล้องกับการพบหลักฐานงานศิลปกรรมที่อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวภายในวัด อาทิ ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ สมุดพระมาลัย ซุ้มเสมาของอุโบสถเก่า ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในช่วงเวลาดังกล่าว
บุษบกธรรมาสน์วัดพระรูป
ธรรมาสน์ หมายถึงที่สำหรับแสดงธรรม แบ่งออกได้หลายประเภท อาทิ ธรรมาสน์ตั่ง ธรรมาสน์ยอด สำหรับธรรมาสน์ยอดนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บุษบกธรรมาสน์” เป็นธรรมาสน์ที่มีหลังคาซ้อนชั้น แบบเดียวกับหลังคาปราสาท นิยมทำขนาดเล็กสำหรับพระสงฆ์ใช้นั่งเทศนาได้องค์เดียว ส่วนมากมีอยู่ในวัดสำคัญหรือวัดขนาดใหญ่ มักเป็นวัดหลวงหรือวัดที่อยู่ในชุมชนที่มีฐานะดี เป็นวัตถุที่พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างถวายวัดด้วยความศรัทธาหรืออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ ด้วยเหตุนี้บุษบกธรรมาสน์บางหลังจึงถือเป็นเครื่องสังเค็ตด้วย
บุษบกธรรมาสน์วัดพระรูป
องค์ประกอบธรรมาสน์วัดพระรูป
บุษบกธรรมาสน์ของวัดพระรูป พระเทพวุฒาจารย์ (เปลื้อง) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่านำมาจากวัดหนึ่งทางฝั่งธนบุรี แต่ไม่ทราบว่าวัดใด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าประวัติดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ บุษบกธรรมาสน์หลังนี้สร้างจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความสูง ๖๗๐ ซม. ฐานกว้าง ๑๗๘ ซม. ยาว ๑๗๕ ซม. มีลักษณะส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ชั้นเดียวต่อด้วยชั้นหน้ากระดาน ทั้งหมดมีลักษณะโค้งตกท้องช้างเล็กน้อยและมีกระจังปฏิญาณประดับทุกชั้น ฐานชั้นที่รองรับเรือนธาตุมีลักษณะยืดสูง โดยแต่ละด้านประดับรูปครุฑแบกและแต่ละมุมประดับรูปสิงห์แบก (ครุฑและสิงห์แสดงท่าทางคล้ายยุดนาคแต่ไม่มีนาค) เหนือขึ้นไปประดับกระจังปฏิญาณขนาดใหญ่ การประดับเช่นนี้มีให้เห็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น ธรรมาสน์วัดวรจรรยาวาส กรุงเทพฯ เป็นต้น ด้านหน้าธรรมาสน์มีบันไดนาคและแพะหมอบสำหรับพระสงฆ์เหยียบเพื่อขึ้นลงธรรมาสน์
บุษบกธรรมาสน์หลังนี้คงได้รับการซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อธรรมาสน์ชำรุดทางวัดได้จ้างช่างจีนซ่อมคราวหนึ่งเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ธรรมาสน์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้จึงมีทั้งงานเก่าและงานใหม่ปะปนกันอยู่ บันไดนาคนั้นเป็นของที่ทำขึ้นใหม่เนื่องจากของเดิมสูญหายไปสำหรับงานเก่าดั้งเดิมที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ สิงห์แบก ๒ ชิ้น ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะฝีมืออันละเอียดประณีตของธรรมาสน์หลังนี้เมื่อครั้งอดีต อนึ่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรียังมีธรรมาสน์ของวัดประตูสารอีกแห่งหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับธรรมาสน์ของวัดพระรูป อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบศิลปะของงานช่างประณีตศิลป์ในพื้นที่นี้
แพะรองขึ้นบุษบกธรรมาสน์วัดพระรูป
สิงห์แบกฐานบุษบกธรรมาสน์วัดพระรูป
เอกสารอ้างอิง
[1] พิทยา บุนนาค, เสมา สีมา เล่ม ๒ ใบสีมาสมัยกรุงเทพฯ (กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม แอนด์ เอ็ม เลเซอร์พริ้นต์, ๒๕๖๐), ๔๖-๔๗.
วัดพระรูปในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่
“โคลงนิราศสุพรรณ” ของสุนทรภู่ ระบุถึงวัดพระรูปว่าตั้งอยู่ฝั่งซ้าย (ฝั่งตะวันตก) ของแม่น้ำสุพรรณบุรีซึ่งเป็นเขตเมืองเก่า “พิสดาร” ความว่า
ฝั่งซ้ายฝ่ายโน้น พิสดาร
มีวัดพระรูปบุราณ ท่านสร้าง
ที่ถัดวัดประตูสาน สงฆ์สู่ อยู่เอย
หย่อมย่ายบ้านขุนช้าง ชิดข้างบัลลังก์
อนึ่ง ในบาทที่สอง “มีวัดพระรูปบุราณ ท่านสร้าง” ย่อมหมายถึงความเก่าแก่ของวัดที่สร้างมาแต่โบราณในการรับรู้ของผู้คนขณะนั้น และจากหลักฐานวัตถุต่างๆ เชื่อได้ว่าวัดพระรูปในเวลานั้น ไม่ได้เป็นวัดร้าง แม้จะไม่ได้พระสงฆ์อยู่มากเมื่อเทียบกับวัดประตูสารที่อยู่ถัดไปก็ตาม
สุพรรณบุรีในโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่
โครงนิราศสุพรรณ เขียนขึ้นโดยสุนทรภู่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสมณเพศ การเดินทางครั้งนั้น สุนทรภู่มีเป้าหมายเพื่อมาค้นหาเหล็กไหลหรือ “พระปรอท” ในป่าลึกทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุพรรณบุรี นิราศสุพรรณนับเป็นงานเขียนที่ให้ภาพสุพรรณบุรีในฐานะ “เมืองชนบท” ผ่านสายตาชาวกรุง เมืองสุพรรณฯ เวลานั้นมากไปด้วยผู้คนหลากชาติพันธุ์ทั้งคนไทยที่อยู่มาแต่เดิม ชุมชมลาวที่เพิ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานไม่นานหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ คนจีนที่อยู่แทรกตัวไปกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทุกที่ตลอดลำน้ำสุพรรณบุรี ตลอดจนชาวกะเหรี่ยงและละว้าบนที่สูงและป่าลึก “โคลงนิราศสุพรรณ” ยังให้ภาพเมืองสุพรรณบุรีในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ตัวเมืองตั้งอยู่ฝั่งขวา (ฝั่งตะวันออก) ของแม่น้ำ ศูนย์กลางคือจวนเจ้าเมือง บ้านกรมการเมือง ศาล ตลาด ขณะที่ ฝั่งซ้าย (ฝั่งตะวันตก) คือวัดโบราณสถาน อันได้แก่ วัดพระรูป วัดประตูสาร วัดตะไกร วัดแค วัดผาโถ มีวัดป่าเลไลย์เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชาวเมือง นอกจากนี้ ภาพเมืองสุพรรณบุรีในเวลานั้นยังคง “รกร้างร่วงโรย” ดังคำพรรณณา “สงสารบ้านวัดร้าง แรมโรย เสียงแต่นกโหย ค่ำเช้า” บันทึกการเดินทางที่ให้ภาพเมืองสุพรรณบุรีในยุคที่ใกล้เคียงกัน เช่น นิราศสุพรรณ โดย หมื่นพรหมสมพัตสร (เสมียนมี) พ.ศ.๒๓๘๗ บันทึกของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ พ.ศ. ๒๓๘๖ เป็นต้น
แผนที่เดินทัพแสดงภาพเมืองสุพรรณอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมีลักษณะเป็นป่า
ที่มาภาพ:
อพยพเทครัวลาวมาตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี
กำลังคนนับเป็นทรัพยากรสำคัญในโลกยุคโบราณ แนวทางฟื้นฟูราชอาณาจักรนับแต่สมัยธนบุรีต่อเนื่องถึงต้นรัตโกสินทร์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ การเพิ่มประชากรด้วยวิธีกวาดต้อนเทครัวผู้คนจากดินแดนต่างๆ เข้ามายังเขตที่ราบภาคกลางซึ่งรวมถึงเขตลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรี ตัวอย่างสำคัญ คือ การเทครัวลาวที่ปรากฏนับแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังพบว่าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๒ มีการกวาดต้อน “ลาวเวียง” และ “ลาวทรงดำ” ให้ลาวทรงดำไปตั้งบ้านเรือนแถบเมืองเพชรบุรี ราชบุรี ส่วนลาวเวียงให้ไปตั้งบ้านเรือนที่เมืองสระบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี การเทครัวลาวครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. ๒๓๗๐ พงศาวดารระบุว่า “ครัวเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้นโปรดให้อยู่ลพบุรีบ้าง สระบุรีบ้าง สุพรรณบุรีบ้าง เมืองนครชัยศรีบ้าง” กรณีชุมชนลาวในเขตสุพรรณบุรี น่าสนใจว่ายังเป็นลักษณะการอพยพมาทั้ง “ระบบสังคม” ที่มีทั้งเจ้านาย ขุนนาง ตลอดจนชาวนาชาวไร่ และพระสงฆ์ ในชุมชนลาวจะมีหัวหน้าที่เป็นคนลาว (นายกองลาว) ที่ได้รับแต่งตั้งจากทางการไทย ทำการปกครองกันเองด้วยขนบจารีตเดิม ด้วยเหตุนี้ ชุมชนลาวจึงมีความเหนียวแน่นในการรักษาสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมของตน ทั้งนี้ คนลาวนับเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประชากรเมืองสุพรรณบุรี นับแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นต้นมา
จิตรกรรมฝาผนังวัดประตูสาร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ภาพกองเกวียนของชาวพื้นบ้าน สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มคนลาวที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมืองสุพรรณบุรีช่วงสมัยรัชกาลที่ 3
อิทธิพลกรุงเทพฯ ระบบเจ้าภาษีนายอากร คนจีนในเมืองสุพรรณบุรี
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อำนาจกรุงเทพฯ เริ่มขยายเข้าไปยังหัวเมืองและชนบทอย่างเป็นรูปธรรมผ่านระบบเจ้าภาษีนายอากร มีการดึงเอาผลประโยชน์จากผลิตและการค้าในภูมิภาคต่าง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่กรุงเทพฯ มากขึ้น พร้อม ๆ กับการก่อตัวของระบบทุนนิยมการค้าและพ่อค้า โดยเฉพาะ “คนจีน” ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้พันธนาการของระบบไพร่ คนจีนแทรกตัวเข้าไปในหัวเมืองชนบทต่าง ๆ แรกเริ่มพวกเขาเสมือนเป็นตัวแทนการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของส่วนกลาง ก่อนจะเป็นผู้ประกอบการแรกเริ่มของท้องถิ่น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นนั้นในที่สุด ที่เมืองสุพรรณบุรี กลุ่มคนจีนซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมน้ำตาลแถบเมืองนครชัยศรี เริ่มขยับขยายขึ้นมาตามลำน้ำสุพรรณบุรี ใน “โคลงนิราศสุพรรณ” ของสุนทรภู่ ระบุว่าที่เมืองสุพรรณฯ มีทั้งคนจีนที่ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งและจีนจรที่เข้ามาแสวงโชคทางการค้า คนจีนเหล่านี้ล้วนเป็นเจ้าของกิจการ บ้างเป็นเจ้าภาษีนายอากร พวกเขามีฐานะดีกว่าคนไทย
แผนที่เดินทัพแสดงภาพเมืองสุพรรณอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมีลักษณะเป็นป่า
ที่มาภาพ:
บูรณะหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์
ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเกณฑ์แรงงานไพร่เมืองสุพรรณฯ เพื่อบูรณะวัดป่าเลไลย์ สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริว่า วัดป่าเลไลย์เป็นวัดเก่าแก่โบราณ พระพุทธปฏิมาพระกรหักชำรุดมานาน จึงโปรดให้ เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต กัลยาณมิตร) สมุหนายก เป็นแม่กองจัดการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยเฉพาะการต่อพระกรตั้งแต่พระอังสา (ไหล่) ถึงพระหัตถ์ งานบูรณะวัดป่าเลไลย์ดำเนินต่อเนื่องมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นอกเหนือจากงานบูรณะองค์พระแล้ว ยังมีการรื้อผนังโบสถ์ทั้ง ๔ ด้านเพื่อทำเป็นพระวิหารแทน คลองวัดป่าเลไลย์ที่ขุดเชื่อมจากวัดประตูสารเพื่อขนส่งลำเลียงไม้สำหรับซ่อมแซมวัดป่าฯ ก็เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ การเกณฑ์ไพร่ทำงานหลวงที่เมืองสุพรรณบุรีเกิดขึ้นในช่วงนี้อย่างสำคัญ นอกจากงานบูรณะวัดป่าฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังทรงดำริให้บูรณะขุดแต่งทำเขื่อนรอบสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่นอกตัวเมืองสุพรรณฯ อีกด้วย สิ่งนี้อาจเป็นภาพสะท้อนสัมพันธภาพระหว่างอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่นที่น่าสนใจ
หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ ศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองสุพรรณ
เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ, อำนาจท้องถิ่นก่อนปฏิรูปเทศาภิบาล
เคยมีคติโบราณแต่ก่อนที่เชื่อว่า “ห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ” อ้างเหตุเพราะเทพารักษ์หรือหลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้า เกรงจะทำอันตรายหรือมีสิ่งอัปมงคลที่ทำให้เจ้านายเสียพระจริต ทว่า ความจริงปรากฏขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาไทย เสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีเป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๓๕ และพบว่าเจ้าเมืองสุพรรณบุรีหลบหน้าหนีเข้ากรุงเทพฯ ด้วยเพราะมีพฤติกรรมขูดรีดเงินราษฎร คดีความใดหากเงินไม่ถึงจะกลายเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ครั้งนั้นมีราษฎรมาร้องทุกข์เป็นอันมาก ทำให้ต้องทรงปลดเจ้าเมืองออกจากตำแหน่งคติ “ห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ” จึงน่าจะเป็น “ข้ออ้าง” เพื่อปิดบังความทุจริตอันไม่ชอบมาพากล ไม่ให้อำนาจส่วนกลางเข้าไป “ยุ่มย่าม” กรณีเมืองสุพรรณบุรี อำนาจท้องถิ่นค่อนข้างมี “อิสระ” และดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังพบว่านับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ มีการสืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองและกรมการเมืองในกลุ่มพวกพ้องเดียวกันเป็นระยะเวลากว่า ๓ ทศวรรษ เจ้าเมืองและกลุ่มกรมการเมืองได้สั่งสมอำนาจท้องถิ่นมาอย่างยาวนานแบบระบบ “กินเมือง” อีกทั้งอำนาจส่วนกลางมักลงมาไม่ถึงหัวเมือง สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วไปในท้องถิ่นต่างๆ ก่อนการปฏิรูประบบเทศาภิบาลรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง
วัดพระรูปในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงสมัยหลวงพ่อคำเป็นเจ้าอาวาส (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕)
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ วัดพระรูปยังคงเจริญรุ่งเรืองมาอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏหลักฐานต่าง ๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน หลักฐานสำคัญได้แก่ ใบเสมารุ่นสองของวัดพระรูป ตู้พระไตรปิฎกเขียนลายรดน้ำ สมุดภาพพระมาลัย พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรสกุลช่างกรุงเทพฯ หลักฐานเหล่านี้ล้วนเป็นงานศิลปกรรมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ที่แสดงให้เห็นว่าวัดพระรูปกลับมาเจริญเฟื่องฟูอีกครั้งในช่วงเวลานี้
ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ
“ตู้พระธรรม” หรือ “ตู้พระไตรปิฎก” คือตู้ไม้สำหรับเก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน ที่จารเรื่องเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎก คติความเชื่อ ภูมิปัญญา ตำรายา ฯลฯ ลักษณะตู้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ด้านบนสอบเข้าเล็กน้อย นิยมทำขาตั้ง ๔ ขา หรือเป็นฐานสิงห์ ด้านหน้ามีบานประตูเปิด-ปิดด้วยเดือยหรือบานพับ ภายในตู้นิยมแบ่งเป็นชั้น ๒ - ๓ ชั้น ด้านล่างมักทำเป็นลิ้นชักสำหรับเก็บของ
ตู้พระไตรปิฎกเป็นที่นิยมมากในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในแต่ละท้องถิ่นอาจมีรูปทรงและการตกแต่งแตกต่างกันไปบ้าง พื้นผิวภายนอกของตู้มักจะนิยมตกแต่งให้เกิดความงดงามด้วยการเขียนลายรดน้ำ นิยมเรียกกันว่า “ตู้ลายรดน้ำ” หรือ “ตู้ลายทอง” ด้านล่างของตู้นิยมแกะสลักเป็นลวดลายแล้วปิดทอง หรือปิดทองประดับกระจก ตู้พระไตรปิฎกเขียนลายทองอย่างไทยนี้ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากตู้ลายทองของจีน ซึ่งน่าจะเข้ามาในไทยอย่างช้าในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีการดัดแปลงต่อยอดให้เข้ากับรสนิยมของไทย
ตู้พระไตรปิฎกของวัดพระรูป มีขนาดความสูง ๑๖๐ ซม. กว้าง ๗๙.๓ ซม. ยาว ๙๐.๕ ซม. จัดเป็นตู้แบบที่นิยมเรียกกันว่า “ตู้ขาหมู” ด้วยขาตู้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมสูงตรงจำนวน ๔ ขา ด้านนอกของตู้ทั้งด้านหน้าและด้านข้างเขียนลายรดน้ำ ลักษณะพื้นลายเป็นกระหนกเปลวเครือเถาไขว้นกคาบเคล้ากับภาพนกภาพกระรอก เว้นช่องไฟแคบถี่เป็นระเบียบแต่ดูไม่เป็นอิสระ เขียนภาพจับตามเรื่องรามเกียรติ์ทับลงบนพื้นลาย ซึ่งเป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากการเขียนลายก้านขดที่ออกช่อลายรูปบุคคล พื้นที่ด้านล่างใช้ภาพเขามอแบ่งฉาก เขียนภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ต่อเนื่องกันบนบานประตูทั้งสอง ส่วนด้านข้างทั้งสองเขียนภาพจับตามเรื่องรามเกียรติ์ กึ่งกลางของบานประตูเขียนลายประจำยามรัดอก
ลายรดน้ำภาพจับบนตู้พระไตรปิฎกวัดพระรูป
เสาขอบตู้ทั้ง ๔ ตกแต่งด้วยลายอย่างเทศ ที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างลายไทย ลายฝรั่ง และลายจีน เป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ลายเทศเหล่านี้ผูกลายอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมและลายกรวยเชิงตกแต่งเสาขอบตู้ ขอบบนและขอบล่างที่เป็นบัวหงายตกแต่งด้วยลายกลีบบัวและลายหน้ากระดาน ด้านล่างของตู้ประดับตกแต่งด้ายลายเทศ เชิงตู้ทำรูปหูช้าง
ด้วยรูปทรงของตู้พระไตรปิฎกที่ขายืดสูงและด้านกว้างค่อนข้างแคบ ประกอบกับการเขียนภาพจับทับลงบนพื้นลายซึ่งพัฒนามาจากการเขียนลายก้านขดที่ออกช่อลายรูปบุคคล และการเขียนลายอย่างเทศซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ทำให้สันนิษฐานว่าตู้พระไตรปิฎกนี้เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ การพบตู้พระไตรปิฎกใบนี้ตลอดจนคัมภีร์ใบลานเป็นจำนวนมากที่วัดพระรูป สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าววัดพระรูปคงมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาวัดหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี
ภาพลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎก
“ลายรดน้ำ” เป็นงานประณีตศิลป์ของไทย จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่แขนงช่างรัก เรียกกันว่า “ช่างลายรดน้ำ” สันนิษฐานว่าอาจจะพัฒนามาจากงานช่างรักที่มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยสุโขทัยซึ่งทำสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ลายรดน้ำยังจัดเป็นจิตรกรรมไทยแบบประเพณีประเภทหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มเอกรงค์ คือมีสีทองสีเดียวเขียนทั้งส่วนภาพและส่วนลวดลาย สีทองมาจากทองคำเปลวแท้ปรากฏเด่นชัดบนพื้นดำหรือแดงเข้ม เป็นงานประณีตศิลป์ที่มีระเบียบแบบแผน ใช้เขียนประดับตกแต่งส่วนประกอบอาคารสถาปัตยกรรมไทย อาทิ ประตู หน้าต่าง หรือสิ่งของเครื่องใช้ อาทิ ตู้พระไตรปิฎก หีบพระธรรม ฉากลับแล ประกับคัมภีร์ใบลาน เป็นต้น
ลายรดน้ำภาพรามเกียรติ์ตอนพระรามแผลงศรพรหมาสตร์ถูกทศกัณฐ์จนสิ้นชีวิต ตู้พระไตรปิฎกวัดพระรูป
ตู้พระไตรปิฎกของวัดพระรูป ทั้ง ๓ ด้านเขียนภาพลายรดน้ำเรื่อง “รามเกียรติ์” ส่วนล่างของบานประตูทั้งสองข้างเขียนเป็นภาพเล่าเรื่อง โดยด้านซ้ายเขียนภาพพระรามแผลงศร มีหนุมานถือวัตถุชิ้นหนึ่งยืนอยู่ด้านหน้า ส่วนด้านขวาเขียนภาพทศกัณฐ์ถูกศรปักอก มีเสนายักษ์คอยประคองอยู่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตอนพระรามแผลงศรพรหมาสตร์ถูกทศกัณฐ์จนสิ้นชีวิต ดังในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ความว่า
“. . . ตรัสแล้วพระตรีภูนาถ น้าวศรพรหมาสตร์รังสรรค์
อันมีฤทธิไกรดั่งไฟกัลป์ ทรงธรรม์แผลงไปด้วยศักดา ฯ
๏ เปรี้ยงเปรี้ยงดังเสียงฟ้าร้อง กึกก้องทั่วทศทิศา
ต้องอกทศกัณฐ์อสุรา ตกจากรัถาอลงกรณ์
อันงาช้างซึ่งปักอยู่นั้น หักสะบั้นกระเด็นเป็นสองท่อน
กลับเป็นทศพักตร์ยี่สิบกร ล้มนอนอยู่กับสุธาธาร ฯ
๏ เมื่อนั้น ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ
ต้องศรเจ็บเพียงจะวายปราณ ขุนมารเหลือบเห็นน้องชาย
ความแค้นเป็นแสนสุดนัก คืนคิดถึงรักก็ใจหาย
ค่อยผ่อนจิตระงับลำดับกาย แล้วบรรยายร่ำว่าพาที ฯ
. . .
๏ บัดนั้น คำแหงหนุมานทหารใหญ่
ครั้นทศกัณฐ์ต้องศรชัย ล้มในพ่างพื้นพสุธา
จึ่งขยี้ดวงจิตขุนมาร แหลกลาญละเอียดด้วยหัตถา
ดับสูญสุดสิ้นวิญญาณ์ ยักษาก็ม้วยชีวี ฯ”[1]
นอกจากภาพเล่าเรื่องแล้ว ยังมีการเขียนภาพในลักษณะการต่อสู้กันเป็นคู่ระหว่างลิงหรือตัวพระกับยักษ์ในท่าทางต่าง ๆ ไม่ซ้ำแบบกัน หรือที่นิยมเรียกว่า “ภาพจับ” อันแสดงถึงแบบแผนฝีมือช่างที่ทำสืบทอดต่อกันเรื่อยมา การเขียนลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์นี้พบมาก่อนในราชสำนักสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย ด้วยรามเกียรติ์เป็นเรื่องที่มีนัยยะสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชสำนักโดยตรง ตัวอย่างเช่น ตู้พระไตรปิฎกเลขที่ อย. ๓ ในหอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) และพบสืบต่อมาในสมัยธนบุรี ตัวอย่างเช่น ตู้พระไตรปิฎกเลขที่ ธบ. ๑ ในหอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) ก่อนจะเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในสมัยรัตนโกสินทร์ นับเป็นเรื่องที่นิยมมากที่สุดในการนำมาเขียนลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎก
เอกสารอ้างอิง
[1] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เล่ม ๒ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, ๒๕๕๘), ๔๘๕-๔๘๖.
สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป
สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป
หลักฐานสมุดภาพพระมาลัยมีปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย หากแต่ที่พบมากคือช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ เรื่องพระมาลัยมักถูกบันทึกในสมุดข่อย (สมุดไทยขาว) เขียนด้วยอักษรขอมภาษาบาลี ส่วนใหญ่มักเขียนภาพอยู่ตอนปลายทั้งสองของกระดาษ เว้นพื้นที่ตอนกลางสำหรับบรรจุตัวหนังสือ ในส่วนของภาพจำแนกได้อยู่ในประเภทงานจิตรกรรม สมุดภาพพระมาลัยมีแบบแผนเฉพาะที่สืบต่อกันมา เช่น การเริ่มต้นด้วยภาพเทพพนม ๑ คู่ ถวายอัญชลีแสดงความเคารพต่อพระธรรม ภาพภิกษุ ๔ รูป กำลังสวดอภิธรรมหรือสวดมาลัยตามธรรมเนียมการสวดศพ ภาพพระมาลัยขณะโคจรบิณฑบาตและแสดงเทศนาเพื่อนำข่าวจากสัตว์นรกมาแจ้งแก่บรรดาญาติพี่น้อง ภาพพระมาลัยโปรดสัตว์แสดงธรรมเทศนาเพื่อแจ้งความตามเทวโองการของพระโพธิสัตว์ศรีอาริย์เมตไตรยแก่ฝูงชน ภาพปลงอสุภะชักผ้าบังสุกุลหรือฉากงานศพ ซึ่งนิยมวาดท้ายเล่มสมุดภาพพระมาลัย
สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป
ในช่วงราวร้อยปีแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ สมุดภาพพระมาลัยนับเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป กล่าวคือมีปรากฏแทบทุกวัดในภาคกลางและภาคใต้ ชาวบ้านมักว่าจ้างจิตรกรและช่างเขียนทำสมุดภาพพระมาลัยเป็นสมุดข่อยถวายวัดแทนสมุดภาพชุดเดิมที่เสื่อมสภาพอันถือเป็นการทำบุญวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยวัสดุที่เป็นกระดาษจึงมักเกิดปัญหาความชื้น ตลอดจนการเสื่อมความนิยมในประเพณีการสวดพระมาลัย ทำให้สมุดภาพพระมาลัยสูญหายไปเกือบหมดสิ้นตามกาลเวลา
สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป
สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป
สำหรับสมุดภาพพระมาลัยของวัดพระรูป เขียนบนสมุดภาพไทยขาวด้วยอักษรไทยและอักษรขอมภาษาบาลีอายุราวต้น-กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นงานเขียนในรูปแบบกลอนสวด เป็นหลักฐานแสดงถึงความนิยมในการสวดพระมาลัยที่วัดพระรูปในอดีต ในส่วนของภาพจิตรกรรมนั้นครบถ้วนเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่กล่าวมา และมีความงามเป็นเอกอุ นับเป็นสมุดภาพที่มีความสมบูรณ์ในเนื้อหาและคุณค่าในด้านงานจิตรกรรมมากชิ้นหนึ่ง
คติความเชื่อพระมาลัย
เรื่องพระมาลัยมีปรากฏใน “มาลัยสูตร” อันเป็นสูตรนอกพระไตรปิฎกที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เดิมเชื่อว่าแต่งขึ้นในลังกาเพราะมีเรื่องราวเกี่ยวกับลังกาทวีป ระยะต่อมามีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าคัมภีร์พระมาลัยอาจแต่งขึ้นในอุษาคเนย์ โดยเริ่มต้นในดินแดนมอญก่อนจะแพร่หลายเข้ามายังล้านนาและสุโขทัย สืบเนื่องไปยังเขมรและลาวซึ่งต่างนับถือพระมาลัยด้วยกันทั้งสิ้น กรณีของไทยเค้าเงื่อนเกี่ยวกับพระมาลัยปรากฏอยู่ในรายชื่อคัมภีร์ในบานแพนกของไตรภูมิพระร่วง แต่งโดยพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๘ หรือในช่วงอยุธยาตอนปลาย เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ก็ได้นิพนธ์พระมาลัยคำหลวงขึ้น ความนิยมเรื่องพระมาลัยปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔ เห็นได้จากการสร้างสรรค์วรรณกรรมพระมาลัยขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะรูปแบบ “พระมาลัยกลอนสวด”
สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป
พระมาลัยเป็นเรื่องของพระอรหันต์ชาวลังกานามว่า “พระมาลัยเทวเถระ” ผู้มีอิทธิฤทธิ์สามารถลงไปแดนนรกเพื่อโปรดสัตว์นรกหรือขึ้นไปบนแดนสวรรค์ได้ทุกชั้น และนำสิ่งที่พบเห็นมาเทศนาแก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความเลื่อมใสในความเชื่อบาปบุญคุณโทษ ในด้านงานศิลปกรรมเรื่องพระมาลัยได้รับการสร้างสรรค์เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหาร รวมถึงในรูปแบบสมุดภาพโบราณ ที่เห็นบ่อยครั้งคือภาพพระมาลัยเหาะลอยอยู่เหนือสัตว์นรก ภาพสัตว์นรกที่กำลังถูกทรมานต่างแสดงความดีใจที่พระมาลัยมาแสดงธรรม ภาพพระมาลัยรับดอกบัวจากชายยากจนแล้วหอบเอาดอกบัวเหาะขึ้นสวรรค์ไปบูชาเจดีย์จุฬามณี ภาพพระมาลัยสนทนาธรรมกับพระศรีอาริยโพธิสัตว์ ฯลฯ
สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป
แม้เรื่องราวพระมาลัยจะถูกเขียนเป็นคำกลอนสวด แต่ในทางปฏิบัติเมื่อโบราณจารย์นำเรื่องพระมาลัยมาเล่าใหม่ในสำนวนร้อยแก้ว ก็มักเพิ่มเติมสำนวนโวหารและเรื่องราวต่าง ๆ ให้สนุกสนานยิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน พระนักเทศน์ในท้องถิ่นมักนิยมแต่งเติมบรรยายผลลัพธ์ของการกระทำที่ชั่วร้ายให้ชาวบ้าน เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ผู้ปกครองที่โกงกินไม่ยุติธรรม เมื่อตายไปจะเกิดเป็นสัตว์นรกที่มีอัณฑะใหญ่ ส่งกลิ่นเน่าเหม็นห้อยลงมาถึงพื้น คนที่ฆ่าสัตว์ โกหกมดเท็จ โกงกินและไม่ซื่อสัตย์สุจริต จะได้รับผลกรรมเกิดเป็นสัตว์นรกแผลพุพอง หนองเน่าเฟะ บางคนถูกต้มในกระทะทองแดง บางคนถูกนกจิกตีตลอดเวลา ฯลฯ
สมุดภาพพระมาลัยวัดพระรูป
กล่าวได้ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับพระมาลัยคือเครื่องมือน้อมนำใจให้บุคคลกระทำความดีละเว้นจากกรรมชั่ว การบรรยายภาพนรกภูมิมีพลังเพียงพอให้ผู้คนไม่กล้าทำบาป ไม่ใช่เพราะกลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นในชีวิตนี้เท่านั้น แต่ยังวิตกถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับในชาติหน้าด้วย นอกจากนี้ พระมาลัยยังเป็นเครื่องปลอบประโลมให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นและรอคอยที่จะเกิดในศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย อันเป็นสังคมในอุดมคติที่กอปรด้วยความสุขสมบูรณ์นานาประการ
ตาลปัตรสวดพระมาลัย
ในอดีต วัดพระรูปเคยมีการสวดพระมาลัย สิ่งนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวัดทางภาคกลาง ที่โดยปรกติมักให้มีเทศนาพระมาลัยก่อนการเทศน์มหาชาติ นี่เองที่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านต่างตั้งตารอเทศกาลเทศมหาชาติ เพื่อจะได้ฟังพระสงฆ์เทศนาพระมาลัยและเวสสันดรชาดกซึ่งนับเป็นบุญกุศลใหญ่ นอกจากนี้ แต่เดิมวัดพระรูปยังมีธรรมเนียมการสวดพระมาลัยในงานศพ โดยการสวดจะใช้พระสงฆ์ ๔ รูป เมื่อสวดอภิธรรมจบจึงสวดพระมาลัยถือเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ตาย
ตาลปัตรสวดพระมาลัยในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
การสวดพระมาลัยในงานศพ เข้าใจว่ามีมาแต่กรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และคงมาเสื่อมลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงฟื้นฟูหลักธรรม ตามพุทธศาสนาโดยการก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย เพื่อปรับปรุงให้พระสงฆ์มีความเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยให้เป็นที่เลื่อมใสของประชาชน และเนื่องจากเรื่องราวพระมาลัยเกี่ยวพันกับอิทธิปาฏิหาริย์และความเชื่อพระศรีอาริยเมตไตรย จึงขัดแย้งกับหลักความเป็นเหตุเป็นผล การสวดพระมาลัยจึงเป็นสิ่งที่พ้นสมัย หากแต่ตามหัวเมืองชนบทรอบนอกยังคงสืบศรัทธาประเพณีนี้ต่อเนื่องมา
แม้ทุกวันนี้วัดพระรูปจะไม่มีการสวดพระมาลัยแล้วก็ตาม ทว่า ประจักษ์หลักฐานถึงการเคยมีอยู่ของประเพณีนี้ก็คือ สมุดภาพพระมาลัย หีบพระมาลัย และตาลปัตรไม้ไผ่สานจำนวน ๔ คัน ที่เคยใช้สวดพระมาลัย
เศรษฐกิจข้าวเมืองสุพรรณบุรีช่วงทศวรรษ ๒๔๔๐ - ๒๔๗๐
นับแต่หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. ๒๓๙๘ ความต้องการข้าวจากสยามมีมากขึ้น เมืองสุพรรณบุรีซึ่งเป็นเขตปลูกข้าวเก่า มีการขยายที่นาเพื่อปลูกข้าวอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๕ แม้กระบวนการผลิตจะยังเป็นแบบเก่าที่อาศัยเพียงน้ำฝน น้ำท่า และยังไม่มีการพัฒนาระบบชลประทานก็ตาม ชาวนาเมืองสุพรรณฯ ขายข้าวให้กับคนจีนที่เป็น “พ่อค้าคนกลาง” ที่เดินทางมารับซื้อข้าวเปลือกนำไปเข้าโรงสีที่กรุงเทพฯ ข้อมูลตรวจราชการของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. ๒๔๔๖ ระบุว่า ...ตามลำแม่น้ำสุพรรณภายหลังฤดูเก็บเกี่ยว มีเรือบรรทุกข้าวรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนากว่า ๒๐๐ ลำ ข้าวที่พ่อค้ารับซื้อจะถูกนำมาขายต่อให้โรงสีในกรุงเทพฯ และทั้งหมดพ่อค้าข้าวจะเป็นผู้กำหนดราคาเอง เกือบทั้งหมดเป็นพ่อค้าชาวจีน... ต่อมาในช่วงทศวรรษ ๒๔๕๐ จึงเริ่มมีคนจีนเข้ามาตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็กในหัวเมืองใกล้พื้นที่นาเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ที่สุพรรณบุรีมีการจัดตั้งโรงสี ในช่วงระหว่างทศวรรษ ๒๔๕๐ – ๒๔๗๐ รวมทั้งสิ้น ๓๓ โรงใน พ.ศ.๒๔๗๒ ทั้งนี้ เศรษฐกิจข้าว การตั้งโรงสี ตลอดจนการพัฒนาระบบชลประทานที่สำคัญคือ “ประตูน้ำโพธิ์พระยา” พ.ศ. ๒๔๖๘ เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนต่างๆ ตามลำน้ำสุพรรณบุรีมากขึ้นเป็นลำดับ
สร้างเก๋งจีน พ.ศ. ๒๔๕๐
เก๋งจีนวัดพระรูป ตามคำบอกเล่าของลูกหลายผู้สร้างเก๋งจีนเล่าว่า ผู้สร้างเก๋งจีนคือ นายซุ่นจุ้ย แซ่เฮง (ต้นตระกูล นิธยายน) ชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองจีน เข้ามาสร้างครอบครัวที่เมืองสุพรรณบุรี ได้สร้างเรือนแพอาศัยอยู่เหนือวัดพระรูปขึ้นไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) มีอาชีพค้าขายข้าวโดยส่งข้าวเปลือกเข้ากรุงเทพฯ จนมีฐานะร่ำรวยมั่นคง กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ จึงได้สร้างเก๋งจีนไว้ที่วัดพระรูป เพื่อเป็นอาคารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนเท่ากับอายุของผู้สร้างตามคติความเชื่อ
เก๋งจีนวัดพระรูป
อาคารเก๋งจีนตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ บนเนินที่เป็นฐานของอาคารเก่า หันหน้าทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำสุพรรณบุรี ขนาดอาคารกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๗ เมตร ด้านหน้าอาคารเป็นลานโล่งมีพื้นที่ประมาณ ๑๐X๑๐ เมตร โดยมีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ กั้นเป็นขอบเขต มีทางขึ้นลง ๓ ทางคือ ทิศตะวันออกเป็นทางเข้าออกหลัก ทิศใต้ และทิศเหนือซึ่งเชื่อมต่อกับเจดีย์ ภายในอาคารเก๋งจีนถูกออกแบบให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก โดยทำฐานชุกชีขนาดใหญ่ชิดกับผนังอาคารด้านทิศตะวันตก สำหรับประดิษฐานพระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และทำฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปไว้โดยรอบ บนผนังอาคารเก๋งจีนยังมีการตกแต่งด้วยภาพเขียนตามแบบศิลปะจีน โดยปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยภาพลายเส้นบนผนังด้านทิศตะวันออก นอกจากนี้ คงมีการก่อสร้างสิ่งอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่ด้วย ดังปรากฏภาพถ่ายเก่าซุ้มประตูของวัดพระรูปที่อยู่ในตำแหน่งตรงกับเก๋งจีน มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนคล้ายกับเก๋งจีน
เก๋งจีนวัดพระรูป
ในครั้งสร้างเก๋งจีนนั้น สันนิษฐานว่ามีการบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปเก่าภายในวัดพระรูปที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปหินทรายที่มีขนาดต่างๆ กัน ให้ได้พระพุทธรูปจำนวนเท่ากับอายุของผู้สร้าง เพื่อนำไปประดิษฐานในเก๋งจีนตามคติความเชื่อของผู้สร้าง ดังในปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยหลักฐานเหลืออยู่ คือพระพุทธรูปประธานของเก๋งจีนซึ่งเป็นหินทรายหลายชิ้นประกอบกันที่ได้รับการบูรณะตกแต่งผิวใหม่ด้วยปูนปั้น และพระพุทธรูปขนาดเล็กลดหลั่นกันจำนวนหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ด้านข้างพระประธาน รวมถึงชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวนมากที่ชำรุดเสียหายกระจายอยู่ทั่วอาคารเก๋งจีน จนกล่าวได้ว่าเก๋งจีนแห่งนี้คือวิหารพระพุทธรูปของวัดพระรูปในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๕
เก๋งจีนวัดพระรูป ในอดีตเคยเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนที่งดงามและยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาวจีน และสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของพหุสังคมที่มีเอกลักษณ์ของเมืองสุพรรณบุรีในช่วงเวลานั้น
ลวดลายบนเก๋งจีนวัดพระรูป
การบูรณะฐานเจดีย์วัดพระรูป
ในครั้งที่มีการสร้างเก๋งจีนเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๐ สันนิษฐานว่ามีการเพิ่มเติมแนวฐานเขียงทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์เพื่อป้องกันดินพังทลาย และปูพื้นอิฐทางด้านทิศใต้เพื่อเชื่อมระหว่างเจดีย์กับอาคารเก๋งจีน การก่ออิฐเรียงอิฐไม่เป็นระเบียบโดยใช้อิฐเก่าของเจดีย์ ก่อเรียงเป็นแถวทับด้านบนของมุขเจดีย์ที่สร้างยุคแรกยาวไปชนกับแนวกำแพงของเก๋งจีน การก่ออิฐไม่สอดินหรือปูนจึงไม่มั่นคงแข็งแรง การบูรณะคราวนี้นับเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่กรมศิลปากรจะดำเนินการขุดแต่งเจดีย์ใน พ.ศ. ๒๕๓๔ และบูรณะเจดีย์ใน พ.ศ. ๒๕๓๗
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร จากคำบอกเล่ากล่าวว่า แต่เดิมเคยประดิษฐานในเก๋งจีนที่สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๕๐ และเคยมีอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่คู่กัน ตามความนิยมในการประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นคู่ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์เดียว
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร คือพระพุทธรูปที่แสดงปางประทานอภัย ๒ พระหัตถ์ กล่าวคือแสดงปางด้วยการยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออก และปลายนิ้วพระหัตถ์ตั้งขึ้น ซึ่งจะต่างจากปางห้ามญาติที่แสดงปางประทานอภัยด้วยพระหัตถ์ขวา และปางห้ามพระแก่นจันทน์ที่แสดงปางประทานอภัยด้วยพระหัตถ์ซ้าย สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร เป็นพุทธประวัติตอนทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบเหล่าชฎิล โดยทรงห้ามน้ำฝนที่ตกหนักในบริเวณนั้นมิให้ท่วมปริมณฑลที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ทำให้เหล่าชฎิลจำนวนมากในกรุงราชคฤห์หันมาศรัทธานับถือพระพุทธศาสนา
พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสามารถถอดออกได้ พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดและมองตรง เปลือกพระเนตรป้ายเป็นแผ่น พระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็ก เส้นพระโอษฐ์เกือบเป็นเส้นตรงตวัดปลายพระโอษฐ์เล็กน้อยคล้ายเรือประทุน พระวรกายเพรียวบาง จีวรเรียบห่มคลุมถึงพระศอ นิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน ฐานพระพุทธรูปถอดแยกจากองค์พระได้ เป็นทรงแปดเหลี่ยมตกแต่งด้วยลวดลายต่างๆ และประดับด้วยกระจก ด้านหลังฐานมีห่วงสำหรับเสียบก้านฉัตร มีความสูงรวมองค์พระกับฐาน ๒๓๐.๕ ซม. เฉพาะองค์พระสูง ๑๗๙ ซม. เฉพาะฐานสูง ๕๑.๕ ซม.
ฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
พระพุทธรูปองค์นี้มีรูปแบบศิลปะที่พัฒนาสืบต่อมาจากงานรุ่นก่อน โดยช่างชาวบ้านที่มีฝีมือและความชำนาญ จุดสังเกตที่สำคัญคือ ฐานพระพุทธรูปทรงแปดเหลี่ยม ที่มีการประดับลวดลายและตกแต่งด้วยกระจก ลักษณะลวดลายดังกล่าวน่าจะมีที่มาจากแม่พิมพ์ชุดเดียวกับงานของบ้านช่างหล่อ ธนบุรี โดยน่าจะเป็นลวดลายจากชุดแม่พิมพ์หินสบู่ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ (หม่อมเจ้าดิศ ดวงจักร (พ.ศ. ๒๓๖๑ - ๒๔๒๘)) ช่างอย่างวิเศษในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ ที่มีความเชี่ยวชาญในการปั้นหล่อและการออกแบบลวดลาย จึงกำหนดอายุพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรองค์นี้อยู่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรืออยู่ในราวสมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้คง “นำเข้า” มาจากกรุงเทพฯ เพื่อประดิษฐานในเก๋งจีน ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปต่างๆ ของวัดที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
ฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
นอกจากนี้ จุดที่น่าสนใจของพระพุทธรูปองค์นี้ยังได้แก่ ลวดลายภายในช่องสี่เหลี่ยมรอบฐานพระพุทธรูป ที่ตกแต่งเป็นรูปสัตว์และสัญลักษณ์มงคลต่างๆ อยู่บนลายประแจจีน รวมถึงมีรูปเรือกลไฟอเมริกันที่สะท้อนยุคสมัยวัฒนธรรมกระฎุมพี การค้าและการต่างประเทศในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์
กลุ่มพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ในวัดพระรูปที่เก็บรักษาสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตมีจำนวนหลายองค์ มีทั้งที่เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งและยืนและมีขนาดแตกต่างกันไป พระพุทธรูปกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ การครองจีวรลายดอก ซึ่งนิยมทำกันมากตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา โดยมักออกแบบลายให้เหมือนกับดอกพิกุล ความนิยมนี้คงเกี่ยวข้องกับประเพณีถวายผ้าเนื้อดีมีลายดอกประดับแด่พระพุทธรูปและพระสงฆ์ ดังปรากฏหลักฐานจารึกวัดโพธิ์ได้แสดงให้เห็นว่ามีธรรมเนียมการถวายผ้าแพรมีลายแด่พระพุทธรูปตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ส่วนการถวายผ้าแด่พระสงฆ์นั้น พบว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีการถวายไตรจีวรที่ทำจากผ้าลายดอกเนื้อดีแด่พระสงฆ์อย่างแพร่หลาย เช่น ผ้าย่ำตะหนี่ (ย่ำตานี, ย่านตานี) ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า ยามดานี (Jamdani) ในภาษาเปอร์เซีย ถือเป็นผ้าราคาแพงเนื้อละเอียด ทอเป็นดอกต่าง ๆ ผลิตที่เมืองดักกะ (Dhaka) ประเทศบังคลาเทศในปัจจุบัน
พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
การห่มจีวรลายดอกในหมู่พระสงฆ์มีความสืบต่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ดังมีหลักฐานภาพถ่ายเก่าอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น ภาพที่ถ่ายโดยจอห์น ทอมสัน (John Thomson) ช่างภาพชาวสกอตแลนด์ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ - ๒๔๐๙ แม้ล่วงเข้าสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระเถระผู้ใหญ่บางรูปในกรุงเทพฯ ก็ยังคงนิยมครองจีวรลายดอกอยู่
พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์องค์ "แม่ผิวสร้าง" จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
เช่นเดียวกัน พระพุทธรูปที่ครองจีวรลายดอกคงเป็นความนิยมแพร่หลายต่อเนื่อง แม้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ จะมีพระราชนิยมในการสร้างพระพุทธรูปของราชสำนักเปลี่ยนเป็นไปในทางเสมือนจริงตามแนวสัจนิยม ตลอดจนลดทอนความหรูหราเอิกเกริก ดังเช่นจีวรลายดอกที่เคยประดับประดาองค์พระพุทธรูปออกไป หากแต่พระราชนิยมนี้คงเห็นได้ชัดเฉพาะงานช่างราชสำนัก และงานพุทธศิลป์ในวัดหลวงที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไม่ได้ขยายวงกว้างไปสู่ประชาชน พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกซึ่งเป็น “ของงาม” จึงยังคงเป็นที่นิยมอยู่อย่างมากในหมู่ประชาชนสืบเนื่องมา
พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
สำหรับวัดพระรูปซึ่งเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองสุพรรณในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พบพระพุทธรูปที่ครองจีวรลายดอกอยู่หลายองค์ อาทิ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ที่อัญเชิญประดิษฐานในบุษบกธรรมมาสน์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ “แม่ผิวสร้าง” ที่ปรากฏจารึกปีสร้างใน พ.ศ. ๒๔๖๔ หลักฐานพระพุทธรูปครองจีวรลายดอกดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความสืบเนื่องในความนิยมพุทธศิลป์รูปแบบนี้ในหมู่ชาวบ้านอย่างชัดเจน
พระพุทธรูปและพระสาวก
พระพุทธรูปและพระสาวกของวัดพระรูป ในปัจจุบันองค์พระพุทธรูปถูกลักขโมยสูญหายไป เหลือเพียงฐานพระพุทธรูปที่ประดับด้วยแถวพระสาวกเรียงรายจำนวนมาก พระพุทธรูปพร้อมฐานลักษณะดังกล่าวนิยมเรียกกันหลายชื่อ เช่น พระล้อม พระห้าร้อย นิยมสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยอาจจะมีความหมายถึงเหตุการณ์ตามพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดพระภิกษุสงฆ์ การสร้างฐานพระสาวกรูปแบบนี้ อาจพัฒนาแนวคิดสืบมาจากการสร้างพระพุทธรูปประธานที่แวดล้อมด้วยประติมากรรมพระสาวกในวัดหลวงในกรุงเทพฯ เช่น พระพุทธรูปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารทิศใต้วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระอสีติมหาสาวก ๘๐ รูปในพระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น
ฐานพระพุทธรูปทำเป็นรูปพระสาวกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
พระพุทธรูปและพระสาวกนับเป็นพุทธศิลป์ในยุครัตนโกสินทร์ ที่นอกจากจะออกแบบมาให้สอดรับกับเรื่องราวตามพุทธประวัติแล้ว ยังช่วยขับเน้นให้พระพุทธปฏิมาที่มักมีขนาดเล็กให้ดูโดดเด่นสง่างามขึ้นด้วย ที่ยอดฐานนอกจากประดิษฐานพระพุทธรูปประธานบนฐานชุกชี บางองค์ยังมีพระสาวกลอยองค์ขนาดเล็กในอากัปกิริยาถวายอัญชลีจัดวางเป็นองค์ประกอบร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอาจสื่อถึงพระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ขณะที่บางองค์ปรากฏพระสาวกที่สันนิษฐานจากรูปลักษณะได้ถึงพระสังกัจจายน์รวมอยู่ด้วย
สำหรับพระพุทธรูปและพระสาวกของวัดพระรูปองค์นี้ เหลือเพียงฐานพระพุทธรูป เนื่องจากองค์พระพุทธรูปถูกลักขโมยสูญหายไปเมื่อไม่นานมานี้ (จากภาพถ่ายเก่าพบว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ครองจีวรลายดอก) ฐานส่วนบนสุดซ้อนด้วยฐานชุกชีขนาดเล็กรูปทรงบัวคว่ำบัวหงายสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ฐานล่างมีขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งด้วยแถวรูปพระสาวกองค์เล็ก ๆ เรียงรายจำนวนมาก รูปพระสาวกนั่งขัดสมาธิราบจำนวน ๙ ชั้น มีรูปพระสาวกจำนวนนับร้อยองค์ ด้านล่างมีแถวรูปพระสาวกนั่งถวายอัญชลี ส่วนล่างสุดของฐานมีรูปช่องสี่เหลี่ยมประดับรูปสัตว์สลับกันไป อาทิ โคคู่ เสือคู่ กระต่ายคู่ ส่วนด้านหลังของฐานมีห่วงสำหรับปักฉัตร ฐานพระรูปพระสาวกที่มีลักษณะคล้ายกับองค์ที่วัดพระรูปนี้ ยังพบเห็นได้ตามวัดต่าง ๆ เช่น ที่หน้าพระประธานในวิหารวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่ส่วนฐานพระเช่นกัน
พระพุทธรูปและพระสาวกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป
The Ham Samut Posture Buddha Image
The standing Buddha image in Ham Samut (restraining the ocean) posture is of Rattanakosin art style during the second half of the 24th Buddhist Century period, or since about the reign of King Rama the Third (King Phra Nang Klao Chao Yu Hua). The Buddha images in this period have a slim body with the face being rather round in the semi-oval shape, with small knots of hair and with the crown being like curved eyebrow flames. His eyebrow lines and eye periphery lines are shaped as the same plate similar to that in the Buddha images of the final period of Ayutthaya. His eyes are open and looking straight. His nose is rather small and elevated. His mouth is small with the lip line being almost a straight line and the end of the lip being lifted up a little like the tail of a small boat. The feature of the mouth that is small with a little smile is called “the face of a puppet”, i.e. the face being still likes that of a dramatic puppet. This is considered to be a popular art style of the royal artists.
This standing Buddha image in Ham Samut posture at Wat Phra Rup has the above-mentioned Buddhist art style including the puppet-liked face, the lip being like the tail of a small boat, and the small knots of hair. The total height of the body of the Buddha image plus the base is 230.5 cm. The height of the Buddha image only is 179 cm. Its crown of curved eyebrow flames can be removed. Its robe is smooth and covers its body up to the neck. Its fingers are slender and of equal lengths. At the back of the base there is a loop for inserting a tiered umbrella pole. At the octagonal base there is the decoration with color glass pieces. The design of the altar is similar to that of Phra Maha Chakkaphat (emperor) decorated Buddha image at Wat Wiset Kan in Ban Chang Lo village, Thon Buri district of Bangkok Metropolis, which is exhibited in the National Museum in Bangkok. Another place of interest is the rectangular cavities around the octagonal base that are decorated with the pictures of animals and merit symbols placed on Pra Chae Chin (Chinese wrench) decorative design. There is also the picture of American steam launches reflecting the middle class culture, commerce and foreign affair during the early Rattanakosin period. From what is told, this Buddha image used to be in a Vihara (temple) with Chinese-styled roof, which is a Vihara constructed during the latter period, i.e. about B.E. 2450. However, it is possible that this Buddha image had been previously “imported” from Bangkok to Wat Phra Rup since the final period of the 24th Buddhist Century, which was the period that the power from the central government began to spread to Suphan Buri. Also, since this Buddha image has the feature of being a standing Buddha image of the Ham Samut posture, it is assumed that there should have been another Buddha image constructed as its pair. Nevertheless, there is only one image remaining at present.
The Rattanakosin Art Style Buddha Images at Wat Phra Rup
The group of Rattanakosin art style Buddha images found at Wat Phra Rup has one distinguished characteristic, i.e. the wearing of dotted robes that had been popular since the reign of King Rama the Third. The dotted decoration was design to resemble the medlar flower. This popularity was probably related to the custom of presenting the good fabric robes with dotted decoration to the Lord Buddha and other monks, the evidence of which appears in the inscription at Wat Phra Chetuphon Wimon Mankhlaram that there had been the custom of presenting dotted robes to the Buddha images since the reign of King Rama the First. As for the presenting of the robes to the monks, it was found that during the early Rattanakosin period there were the widespread presentations of the triple robes made from good fabric cloth with dotted decoration to the monks, such as Pha Yam Tani (Yam Tani, or Yan Tani) which is the word deviating from the word “jamdani” in Persian language. It is considered a high priced fabric with delicate texture decorated with various flowers produced at Dhaka in Bangladesh at present.
The wearing of dotted robes among the monks still continued to the reign of King Rama the Fourth (King Jom Klao Chao Yu Hua) as shown in a number of photographs, such as those taken by John Thomson, a Scottish photographer who travelled to Thailand during B.E. 2408 – 2409. Even in the reign of King Rama the Fifth (King Jullajom Klao Chao Yu Hua), some senior monks still preferred to wear dotted robes.
Similarly, the Buddha images wearing dotted robes continued to be popular. Even though in the reign of King Rama the Fourth the preference of the royal court for construction of the Buddha images had changed to be the virtual or realistic style leading to the reduction of all luxurious decorations such as the dotted robes that used to cover the Buddha images, this preference still could be clearly seen only in the Buddha images created by artists in the royal court or the Buddha images in royal monasteries under the royal patronage, while not being spread to the general people in wide cycle. Therefore, the Buddhist art works that show the Buddha images wearing dotted robes which are “beautiful art work” from ancient time are still highly popular among the people continuously. At Wat Phra Rup there are many Buddha images wearing dotted robes, such as a small Buddha image in Mara Wijaya posture that has been established in the Dhammasana Throne (a throne containing seat on which a monk sits while preaching), or a Mara Wijaya posture Buddha image called “Mae Phiew Sang” (constructed by a lady named “Mae Phiew”) that has an inscription showing the constructed year as B.E. 2464 is also a Buddha image wearing dotted robes. This is the reflection of the continuity of popularity in this Buddhist art style clearly among the people in the area.
ย้ายสังฆาวาสไปตั้งริมแม่น้ำสุพรรณบุรี
ในสมัยพระแจงวินัยธรเป็นเจ้าอาวาสวัดพระรูป สันนิษฐานว่าก่อน พ.ศ. ๒๔๕๕ ท่านได้ทำการย้ายหมู่กุฏิสงฆ์ จากที่ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างเขตพุทธาวาสไปตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำ คงเพื่อความสะดวกมากขึ้นของชาวบ้านในการเข้ามาประกอบศาสนพิธีและทำบุญ หมู่กุฏิสงฆ์ริมน้ำนี้ประกอบด้วย หอสวดมนต์และหอฉันอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยหมู่กุฏิสงฆ์ นอกจากนั้นยังมีศาลาการเปรียญและศาลาท่าน้ำ
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๕ พระแจงวินัยธรได้นำพระสงฆ์และชาวบ้านร่วมกันสร้างมณฑปที่ริมแม่น้ำเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ ตามคติความเชื่อและความนิยมการนมัสการรอยพระพุทธบาทในช่วงเวลานั้น ดังปรากฏรายชื่อผู้ศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์ในการสร้างมณฑปบนแผ่นไม้ เมื่อสร้างมณฑปแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงริเริ่มจัดงานนมัสการพระพุทธบาทไม้ที่วัดพระรูปขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ หลังจากที่ย้ายหมู่กุฏิสงฆ์ไป บริเวณเขตพุทธาวาสของวัดมีสภาพรกร้าง โบราณสถานต่าง ๆ อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก เนื่องจากถูกลักลอบขุดเจาะเพื่อหาสมบัติและของมีค่าอยู่อย่างต่อเนื่อง
มณฑปพระพุทธบาทไม้
มณฑปพระพุทธบาทไม้ ตั้งอยู่หน้าวัดทางด้านริมแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) เนื่องจากในช่วงเวลานั้นหมู่กุฏิสงฆ์ หอฉัน หอสวดมนต์ ฯลฯ ของวัดพระรูปล้วนตั้งบริเวณริมแม่น้ำ มณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม มีส่วนหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่น ๔ ชั้น เครื่องยอดเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนกลางอาคารเป็นห้องโถงเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ มีบันไดทางขึ้นลงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ และมีกำแพงแก้วในผังกลมล้อมรอบอาคาร
มณฑปพระพุทธบาทไม้ริมน้ำหน้าวัดพระรูปเมื่อครั้งมีน้ำท่วมใหญ่
ฐานมณฑปมีการตกแต่งอย่างสวยงาม นักวิชาการท้องถิ่นบันทึกไว้ว่า ระเบียงลานประทักษิณด้านในตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปสัตว์ ๆ อาทิ สุกร สุนัข ม้า ฯลฯ ส่วนด้านนอกตกแต่งด้วยรูปมังกร เสือ ปลา ช้าง ฯลฯ ฐานรากมณฑปก่อด้วยอิฐและโอ่งไหเพื่อยกพื้นให้สูง[1]
มณฑปพระพุทธบาทไม้ริมน้ำหน้าวัดพระรูป
ตามจารึกบนแผ่นไม้ระบุว่า มณฑปหลังนี้พระแจงวินัยธรได้จัดการชักชวนพระสงฆ์และชาวบ้านช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างขึ้น มีรายชื่อผู้ให้วัตถุและเรี่ยไรโดยมีพระธรรมเทศนา คือ รายชื่อผู้เรี่ยไรเงิน ได้แก่ พระทับสำมะเณรกล่อม ๑๗๖ บาท ๓๗ สตางค์, โยมอ่อ ๕๕๑ บาท, โยมพลอด ๕๐ บาท, ชีใย ๒๕ บาท, ชีพริก ๑๐ บาท, โยมไท ๑๐ บาท, พระจีน ๕ บาท, โยมพรม ๒๐ บาท, แม่ไทชักนำสัปรุษ ทำสลักพัศได้ ๒๖ บาท ส่วนรายชื่อผู้ศรัทธาออกทำเอง ได้แก่ พระรอด ๑๐๐ สตางค์, โยมอ่อนโยมแจ้ง ๒๐ บาท, นายฮงแม่เล็ก ๒ บาท, โยมปาน ๕ บาท, โยมอิน ๖๐ สตางค์, นายชื่น ๑ บาท ๑๐ สตางค์, โยมสด ๑ บาท, นายชุมแม่ทุเรียน ๖ บาท, แม่ไป่ ๔๐ สตางค์, โยมเคลือบ ๒ บาท, แม่เจียม ๒ บาท, แม่เล็ก ๑ บาท, แม่รัน ๒ บาท, แม่ทับ ๒ บาท, นายเสง ๑ บาท, แม่จัน ๑ บาท ๕๐ สตางค์, กำนันจ่าง ๒ บาท ๓๖ สตางค์ รวมรายรับจำนวนเงินทั้งสิ้น ๗๕๕ บาท รายจ่ายจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑,๔๘๑ บาท ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของพระสงฆ์และญาติโยมที่มีต่อพระพุทธบาทไม้และวัดพระรูป
จารึกการสร้างมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป
ในจารึกยังกล่าวว่า สร้างมณฑปขึ้นในวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู พุทธศักราช ๒๔๕๕ เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่ตรงกับวันใดที่แน่ชัด อาจเกิดจากการจารึกคลาดเคลื่อนไป จึงสันนิษฐานเป็น ๒ แนวทางคือ หากยึดตามวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู จะตรงกับวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยไม่ใช่ พ.ศ. ๒๔๕๕ ตามที่จารึก และหากยึด พ.ศ. ๒๔๕๕ ก็จะตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน โดยไม่ใช่ปีฉลูตามที่จารึก การสร้างมณฑปแล้วเสร็จเมื่อวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๕๙ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙
ในราว พ.ศ. ๒๕๑๐ มณฑปมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่ปลอดภัยที่คนจะขึ้นไปนมัสการพร้อมกันจำนวนมาก ๆ ประกอบกับมีข่าวว่าจะมีคนมาโจรกรรมพระพุทธบาทไม้ จึงเคลื่อนย้ายพระพุทธบาทไม้มาเก็บรักษาไว้เป็นการชั่วคราวที่หอสวดมนต์ โดยได้ทำขาตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้ชมพระพุทธบาทไม้ได้สะดวกขึ้น และทำความสะอาดเอาทองคำเปลวที่ติดอยู่ออกทำให้เห็นลวดลายได้ชัดเจนโดยไม่อนุญาตให้ปิดทองอีก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๕๕ มณฑปหลังนี้ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร โดยเป็นการบูรณะเสริมความมั่นคงตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม
เอกสารอ้างอิง
[1] บุญครอง คันธฐากูร และรัตนมณี คันธฐากูร, สุพรรณบุรี: ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมท้องถิ่น (สุพรรณบุรี: หจก. ออฟเซทอาร์ทออโตเมชั่น, ๒๕๔๐), ๖๓.
ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทไม้
ในอดีตวัดพระรูปมีงานประจำปีที่สำคัญคือ งานนมัสการพระพุทธบาทไม้ หลังจากที่สร้างมณฑปริมน้ำแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อประดิษฐานพระพุทธบาทไม้ในมณฑปแล้ว วัดพระรูปมีงานนมัสการพระพุทธบาทไม้เป็นประจำทุกปี ดังหลักฐานใบบอกกำหนดการใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ปรากฏงาน “นมัสการพระพุทธบาทจำลอง ที่วัดพระรูป วันที่ ๓ - ๗ เม.ย.” ซึ่งนับเป็นช่วงงานเทศกาลปีใหม่ของไทยในอดีตและจะต่อเนื่องมาถึงงานสงกรานต์
ภาพใบบอกงานนมัสการพระพุทธบาทจำลองวัดพระรูป
ที่มาภาพ: ชมรมนักโบราณคดีสมัครเล่นสุพรรณบุรี
พระพุทธบาทไม้ในนิราศตามเสด็จ สมัยรัชกาลที่ ๖
ในการเสด็จฯ เมืองสุพรรณบุรีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง ๒๓ – ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ครั้งนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรพระพุทธบาทไม้ของวัดพระรูป สิ่งสักการบูชาสำคัญของชาวเมืองสุพรรณบุรี จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) นำพระพุทธบาทไม้จากมณฑปริมน้ำวัดพระรูป มาถวายให้ทอดพระเนตร ณ ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี เรื่องนี้ปรากฏใน “นิราศตามเสด็จ” ของ “พระยาอนุศาสน์จิตรกร” (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งผู้แต่งยังได้บันทึกภาพพระพุทธบาทไม้ ตามพระราชกระแสรับสั่งไว้ด้วย ความว่า
จึงท่านเจ้าพระยายมราช
ให้นำรูปพุทธบาทจากวัดนั้น
มาถวายทอดพระเนตร์ชิ้นสำคัญ
พระทรงธรรม์โปรดพิศพินิจทรง
โปรดเกล้าข้าเจ้าถ่ายรูปไว้
เผื่อจะใช้ตามที่มีประสงค์
ข้าจัดถ่ายตามกระแสรับสั่งองค์
พระผู้ทรงธรณินทร์ด้วยยินดี
นิราศตามเสด็จ พ.ศ. ๒๔๖๖
การเสด็จประพาสหัวเมืองขององค์พระมหากษัตริย์และเจ้านาย ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ต่อเนื่องมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังการเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาและมณฑลนครชัยศรี พ.ศ. ๒๔๖๖ ที่มีปรากฏอยู่ใน “นิราศตามเสด็จ” แต่งโดย “พระยาอนุศาสน์จิตรกร” (จันทร์ จิตรกร) ครั้งนั้นเป็นการเสด็จทางเส้นทางชลมารคจากกรุงเทพฯ ไปยังบางปะอิน ก่อนจะเสด็จเข้าสู่ มณฑลนครชัยศรีทางอำเภอเสนา คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ประพาสเมืองสุพรรณบุรี จากนั้นเสด็จกลับมาที่เสนา ผักไห่ ไปเมืองอ่างทอง สิงหบุรี เข้าคลองบางพุทราไปเมืองลพบุรี ก่อนที่จะเสด็จฯ กลับทางกรุงเก่า บางปะอิน กลับสู่พระนคร รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๑๙ วัน นับตั้งแต่ ๑๖ กันยายน ถึง ๔ ตุลาคม ๒๔๖๖
ที่มาภาพ: จางวางตรี พระยาอนุศาสตร์จิตรกร, นิราศตามเสด็จ พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ (ช่วยในการกฐินพระราชทาน จางวางเอก เจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก ณ วัดทรงธรรม จังหวัดพระประแดง ๒๔๖๖).
รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ สุพรรณบุรี, เมืองสุพรรณฯ ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ๒ ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเสด็จประพาสต้น พ.ศ. ๒๔๔๘ อธิบายกันว่าเป็นการเดินทางแบบไม่เปิดเผยพระองค์เพื่อสร้างความใกล้ชิดราษฎร ขณะเดียวกัน ก็สำรวจสภาพภูมิประเทศและความเป็นอยู่ราษฎรไปด้วย ครั้งนั้นเป็นการเสด็จขึ้นไปทางแม่น้ำนครชัยศรี ประพาสอำเภอสองพี่น้องแล้วเสด็จขึ้นไปยังเมืองสุพรรณบุรี ทอดพระเนตรสถานที่โบราณต่างๆ เสด็จไปทำพิธีพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ก่อนจะเสด็จกลับทางพระนครศรีอยุธยา มาขึ้นรถไฟที่บางปะอิน ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นการเสด็จขึ้นไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงเมืองชัยนาท แล้วล่องเข้าทางปากคลองมะขามเฒ่า (แม่น้ำสุพรรณบุรี) ประพาสอำเภอเดิมบางนางบวช ลงมาจนถึงเมืองสุพรรณบุรี เสด็จกลับโดยล่องไปทางอำเภอสองพี่น้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีงิ้วรายมากรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่การเสด็จของรัชกาลที่ ๕ พระบรมวงศานุวงศ์สำคัญ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ได้เสด็จตรวจราชการตลอดจนสำรวจแหล่งโบราณคดีในท้องที่สุพรรณบุรีอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงโดยการสำรวจท้องถิ่นของข้าราชการเทศาภิบาลต่าง ๆ เป็นเหตุให้แหล่งโบราณสถานในเมืองสุพรรณบุรีที่ค้นพบในช่วงเวลานั้น คือ “เมืองอู่ทอง” และ “ดอนเจดีย์” ถูกผนวกจัดวางเข้าไว้ในกรอบโครง/เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์แห่งชาติสกุล “ดำรงราชานุภาพ” นับตั้งแต่นั้นมาด้วย
คัมภีร์ใบลาน
คัมภีร์ใบลาน คือบันทึกที่จารตัวอักษรลงบนใบของต้นลาน แล้วเรียงร้อยรวมกันเป็นผูก เนื้อหาที่จารส่วนใหญ่เป็นเรื่องเนื่องในพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎก วรรณกรรม คำสอน ตลอดจนภูมิปัญญาความรู้ต่าง ๆ อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ตำรายา เวทมนตร์คาถา โหราศาสตร์ ฯลฯ การจารใบลานมีมาตั้งแต่โบราณ ด้วยความเชื่อว่าการจารคัดลอกพระธรรมคำสอนถวายวัดเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา ผู้จารหรือผู้ถวายจะได้รับอานิสงส์ผลบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและถึงพระนิพพานในอนาคตกาล นอกจากนี้ สำหรับผู้หญิงยังมีประเพณีการตัดเย็บถักทอผ้าด้วยความประณีตสวยงามสำหรับห่อคัมภีร์ถวายวัดด้วย
ตัวอย่างคัมภีร์ใบลานที่พบในวัดพระรูป
ในอดีตวัดพระรูปคงเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองสุพรรณบุรี ด้วยพบคัมภีร์ใบลานเก็บรักษาอยู่ในวัดจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ผูก คัมภีร์ใบลานที่พบจำนวนมากที่สุดคือกลุ่มพระไตรปิฎกและพระธรรมคำสอน อาทิ มหาสติปัฏฐานสูตร ปาฏิโมกข์ พระปริตร ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน มหาสมัยสูตร ทศชาติชาดก ปทุมชาดก กฐินขันธ์ ปริวาสกรรม พระคาถาพัน พระมาลัย สวดแจง มาติกา อานิสงส์ต่าง ๆ เทศน์เรื่องต่าง ๆ ปริศนาธรรม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้พบคัมภีร์เกี่ยวกับภูมิปัญญาความรู้ต่าง ๆ ทั้งตำรายา เวทมนตร์คาถา โหราศาสตร์ และอื่น ๆ ซึ่งคัมภีร์ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย จารด้วยอักษรขอม
ตัวอย่างคัมภีร์ใบลานกลุ่มตำรายาของวัดพระรูป
คัมภีร์ใบลานจำนวนมากของวัดพระรูปที่เก็บรักษาสืบเนื่องมาแต่โบราณ พบว่ามีความสำคัญอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคัมภีร์ใบลานที่มีจารึกบอกวันที่จารหรือปีที่ถวายวัดพระรูป อาทิ คัมภีร์ใบลานผูกหนึ่งมีจารึกวันที่จารขึ้นในจุลศักราช ๑๑๓๑ หรือใน พ.ศ. ๒๓๑๒ ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. ๒๓๑๑ - ๒๓๒๕) นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับเรื่องตำรายา ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบจำนวนมากในวัดพระรูป อาทิ ยารักษาโรคฝี ยารักษาโรคมะเร็ง ฯลฯ กลุ่มคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับเรื่องเวทมนต์คาถาและการเขียนอักขระเลขยันต์แบบต่าง ๆ อาทิ ยันต์มหาละลวย ฯลฯ และกลุ่มคัมภีร์ใบลานเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์แบบต่าง ๆ อาทิ ตำราการผูกดวงคู่ด้วยรูปพญานาค การทำนายดวงชะตาด้วยรูปเรือ ฯลฯ
ตัวอย่างคัมภีร์ใบลานที่วัดพระรูป
คัมภีร์ใบลานเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาของพระสงฆ์ในอดีต ที่ต้องอาศัยวัดเป็นสถานศึกษาเล่าเรียน พระสงฆ์ที่ร่ำเรียนต้องมีความรู้ความสามารถรอบด้าน ทั้งภาษาวิชาการและการปฏิบัติ เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เผยแพร่พระพุทธศาสนา ตลอดจนเพื่อสงเคราะห์ชาวบ้าน ดังนั้นวัดในอดีตนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจทางศาสนาแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ศิลปะวิชาการต่าง ๆ ของผู้ที่บวชเรียนอีกด้วย
หีบหนังสือเทศน์
“หีบหนังสือเทศน์” เป็นหีบไม้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีฝาด้านบนเปิด-ปิดด้วยบานพับ นิยมตกแต่งด้วยลายรดน้ำ ลงรักประดับกระจก หรือฉลุเป็นลวดลาย รวมทั้งมีที่ทำด้วยกระจกสีต่าง ๆ ใช้ใส่คัมภีร์ใบลานที่ใช้สำหรับเทศนา ขนาดของหีบค่อนข้างเล็กเพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายไปเทศน์ตามสถานที่ต่าง ๆ หีบหนังสือเทศน์นี้เป็นที่นิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๕) หีบหนังสือเทศน์ที่เป็นสมบัติดั้งเดิมของวัดพระรูป มีจำนวนมากกว่า ๗๐ ใบ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัดพระรูปในสมัยนั้น ส่วนใหญ่มีลักษณะโดยรวมคล้ายกัน คือเป็นหีบไม้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว มีฝาด้านบนเปิด-ปิดด้วยบานพับ มีทั้งแบบที่เป็นพื้นเรียบและมีขาตั้ง ขนาดโดยประมาณ กว้าง ๙ - ๑๒ ซม. ยาว ๖๒ - ๖๗ ซม. สูง ๙ - ๑๑ ซม. แบ่งตามรูปแบบได้เป็น ๖ กลุ่มใหญ่
หีบไม้แบบเจาะช่องประดับกระจก มีทั้งสีไม้ธรรมชาติ และสีแดง มีทั้งตกแต่งด้วยลายสลัก และพิมพ์ลายสีทอง (พบจำนวน ๒๒ ใบ)
หีบไม้แบบเรียบทึบ (ไม่เจาะช่องประดับกระจก) สีไม้ธรรมชาติ ไม่ตกแต่งลวดลาย (พบจำนวน ๒๑ ใบ)
หีบไม้แบบเรียบทึบ พื้นสีดำ ตกแต่งด้วยลายกำมะลอ ลวดลายธรรมชาติและวิถีชีวิตอย่างชาวจีน (พบจำนวน ๑๑ ใบ)
หีบกระจก ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีต่าง ๆ เป็นแบบที่พบเห็นได้น้อยในพื้นที่ ๆ (พบจำนวน ๙ ใบ)
หีบไม้แบบเขียนลายรดน้ำ มีทั้งแบบทึบ และแบบเจาะช่องประดับกระจก (พบจำนวน ๒ ใบ)
หีบไม้แบบลงรักประดับกระจก (พบจำนวน ๑ ใบ)
หีบหนังสือสวด
“หีบหนังสือสวด” เป็นหีบไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนมีฝาเปิด-ปิด ฐานล่างนิยมทำในรูปทรงฐานสิงห์ ตัวหีบด้านยาวนิยมแบ่งเป็น ๓ ห้อง ด้านกว้าง ๑ ห้อง นิยมตกแต่งด้วยลายรดน้ำหรือปิดทองประดับกระจก ใช้เก็บหนังสือสมุดไทยที่ใช้สำหรับสวด โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องพระมาลัย จึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หีบพระมาลัย” หีบหนังสือสวดนี้เป็นที่นิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕)
หีบหนังสือสวดหรือหีบพระมาลัยที่เป็นสมบัติของวัดพระรูปมาแต่เดิม มีที่สำคัญจำนวน ๔ ใบ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ มีลักษณะโดยรวมคล้ายกัน คือเป็นหีบไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดโดยประมาณ กว้าง ๒๓ - ๓๐ ซม. ยาว ๖๒ - ๘๒ ซม. สูง ๒๓ - ๓๐ ซม. ด้านบนลักษณะเป็นฝาตัด มีฝาเปิด-ปิดและมีห่วงเหล็กเพื่อดึงฝาเปิดได้ ฐานล่างอยู่ในรูปทรงฐานสิงห์ ตัวหีบด้านยาวแบ่งเป็น ๓ ห้อง ส่วนด้านกว้าง ๑ ห้อง ตกแต่งด้วยลายรดน้ำ แต่จะมีความแตกต่างกันที่ภาพและลวดลายรดน้ำ หีบหนังสือสวดเหล่านี้สันนิษฐานว่าเดิมเคยใช้สำหรับใส่คัมภีร์พระมาลัยที่วัดพระรูปมีอยู่
การพบหีบหนังสือสวดจำนวนไม่น้อยในวัดพระรูป ประกอบกับการคัมภีร์พระมาลัยภายในวัดจำนวนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าในอดีตช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ วัดพระรูปคงจะมีประเพณีการสวดพระมาลัย ซึ่งเป็นที่นิยมมากในงานศพ คัมภีร์พระมาลัยมีเนื้อหาว่าด้วยการท่องนรกและสวรรค์และการพบกับพระศรีอารยเมตไตรย การแจกแจงผลบุญและบาปของสัตว์โลก การเกรงกลัวต่อบาปกรรมความชั่ว และมุ่งมั่นในการทำดี
“หีบหนังสือสวดวัดพระรูป หมายเลข วพร. ๒๓/๒๕๖๑” เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเป็นฝาตัดมีแผ่นไม้สามารถปิดเปิดได้ ภายในบรรจุคัมภีร์ใบลานหลายฉบับ ลักษณะเด่นคือการเขียนเป็นลวดลายกระหนกเรียงเป็นแถว และลายดอกสี่กลีบ แม้จะดูเป็นลวดลายที่เรียบง่ายแต่ก็มีความงดงามและมีคุณค่าเนื่องจากพบได้น้อย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะพบเป็นภาพในเรื่องรามเกียรติ์และภาพวิถีชีวิตเป็นส่วนใหญ่
“หีบหนังสือสวดวัดพระรูป หมายเลข วพร. ๒๔/๒๕๖๑” เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิคการเข้าไม้แบบโบราณ มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง ด้านบนเป็นฝาตัดสามารถเปิดปิดได้ มีลักษณะเด่นคือการเขียนลายรดน้ำเป็นภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่สะท้อนถึงการยังชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ ภาพวิถีชีวิตของสัตว์ป่า และภาพปรัมปราคติเรื่องครุฑกับงู ตกแต่งลายขอบและหน้ากระดานด้วยลายดอกไม้และลายก้านต่อดอก
“หีบหนังสือสวดวัดพระรูป หมายเลข วพร. ๒๕/๒๕๖๑” เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเป็นฝาตัดมีแผ่นไม้ที่สามารถเปิดปิดได้ ลักษณะเด่นของหีบใบนี้คือ การเขียนลายรดน้ำภาพที่สะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างคติความเชื่อไทยกับจีน ด้วยการเขียนภาพเทพนมผินพระพักตร์เวียนประทักษิณพระคัมภีร์ ตรงกลางเป็นภาพเครื่องตั้งของไหว้บูชาอย่างในวัฒนธรรมจีน อันประกอบด้วย โถทรงสูง ดอกไม้ในแจกัน ผลไม้ในชาม และชุดถ้วยชามใส่อาหาร
“หีบหนังสือสวดวัดพระรูป หมายเลข วพร. ๒๖/๒๕๖๑” เป็นหีบไม้ที่ทำโดยเทคนิควิธีการเข้าไม้แบบโบราณ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง มีเชิงด้านบนและด้านล่าง ด้านบนเป็นฝาตัดมีแผ่นไม้ที่สามารถเปิดปิดได้ ลักษณะเด่นของหีบใบนี้คือ การเขียนภาพวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ เป็นภาพจับของหนุมานกับยักษ์ในท่าทางต่าง ๆ แสดงถึงความเคลื่อนไหวตอนกำลังต่อสู้กัน และมีนัยยะสะท้อนถึงการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมที่เกิดขึ้นตลอดในชีวิต ความนิยมตกแต่งด้วยภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์น่าจะเริ่มมีมาก่อนในราชสำนัก ด้วยเป็นเรื่องที่มีนัยยะสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์และราชสำนัก แล้วคงเป็นที่แพร่หลายทั่วไป
บุญประเพณีของชุมชน
พุทธศาสนิกชนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่า การมีชีวิตที่ดี มีความสุขความสบาย ร่ำรวย และมีสุขภาพแข็งแรงเนื่องมาจากผลของบุญที่ได้กระทำไว้ คนไทยจึงนิยมทำบุญทั้งในชีวิตประจำวัน ในงานบุญประเพณีประจำปี และการทำบุญตามวาระและโอกาสสำคัญ
บุญ เป็นคำมาจากภาษาบาลีว่า “ปุญฺญ” มีความหมายจำแนกได้เป็น ๒ ระดับคือ ระดับที่เป็นความหมายทั่วไป ได้แก่ ความสุข ความดี ความประพฤติดี ที่พึ่ง ส่วนที่เป็นความหมายระดับลึกซึ้งนั้นมีความหมายว่า เป็นปัญญาที่ทำให้เห็นความจริงตามหลักของไตรลักษณ์และอริยสัจ ๔ บุญจึงมีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชน ตั้งแต่เป็นเครื่องสร้างความปกติสุขในการดำรงชีวิตประจำวัน จนถึงการได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือการบรรลุพระนิพพาน บุญในพระพุทธศาสนาสร้างขึ้นได้ด้วยการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่ การให้ปันสิ่งของ การรักษาศีล การเจริญภาวนา การประพฤติอ่อนน้อม การขวนขวายรับใช้ การเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้ผู้อื่น การยินดีในบุญความดีของผู้อื่น การฟังธรรม การสั่งสอนธรรม การทำความเห็นให้ตรง
ชาวชุมชนบริเวณรอบวัดพระรูปก็เช่นเดียว นิยมทำบุญทั้งที่เป็นกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ การตักบาตรในตอนเช้า ทำบุญตามประเพณี ได้แก่ การบวชพระ การทำบุญและฟังธรรมในวันพระ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษาและในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา อาสาฬหบูชา ทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานตรุษและสงกรานต์ เป็นต้น การทำบุญตามวาระและโอกาส ได้แก่ การนำข้าวของเครื่องใช้ที่มีค่ามาถวายวัด การสร้างพระพุทธรูป การสร้างระฆัง การสร้างสถูปเจดีย์ การสร้างเสนาสนะถวายพระสงฆ์ และการถวายอาหารเพลในวาระสำคัญของชีวิต เป็นต้น
ศรัทธาชาวบ้านในการนิยมถวายข้าวของเครื่องใช้
วัดประรูปเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองสุพรรณมาตั้งแต่อดีต ภายในวัดเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งเครื่องถ้วย เครื่องลายคราม เครื่องทองลงหิน เครื่องทองเหลือง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มาจากความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้าน ที่นิยมถวายข้าวของเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ ให้กับพระสงฆ์ อนึ่ง สิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ ในอดีตยังนับเป็น “เครื่องบริวาร” ประกอบ “องค์กฐิน คือ ผ้าไตร” ที่พระสงฆ์ได้รับการถวายจากชาวบ้านในช่วงเทศกาลทอดกฐินประจำปี หลายอย่างเป็นสิ่งของเครื่องใช้ประเภทคงทนถาวร เช่น ถ้วยโถโอชาม ถ้ำชา ชุดปั้นชา กระโถน ขันน้ำ พานรอง ตะเกียง ฯลฯ จึงยังคงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน
สิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนศรัทธาและปฏิสัมพันธ์ที่ชาวบ้านมีต่อพระสงฆ์และวัดพระรูปมาช้านาน สิ่งของหลายชิ้นเคยใช้งานจริงและได้รับการเก็บรักษาจากอดีตเจ้าอาวาสและพระสงฆ์ในวัดพระรูปมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ร่วมสมัยระหว่างยุคก่อนกับยุคปัจจุบัน ผ่านการจัดแสดงอย่างถาวรไว้ภายในพิพิธภัณฑ์วัดพระรูป เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและพระสงฆ์ในวัดพระรูปเมื่อครั้งอดีต
เครื่องลายคราม
“เครื่องลายคราม” คือ ภาชนะสิ่งของที่ผลิตจากประเทศจีน ตกแต่งด้วยการเขียนสีครามใต้เคลือบ “สีคราม” นั้นทำมาจากโคบอล์ท (Cobalt) มีหลายโทนสีและมีความโปร่งเบา เมื่อเขียนบนพื้นสีขาวจึงสามารถสร้างสรรค์ภาพเขียนหรือลายมงคลบนภาชนะสิ่งของให้เกิดความงดงาม และยังมีที่เขียนด้วยสีแดงจากออกไซด์ของทองแดง (Copper Oxide) เรียกกันว่า “ครามไฟ” ซึ่งมีความสวยงามและหาได้ยากจึงเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสม ในอดีตเครื่องลายครามส่วนใหญ่คงนำเข้ามาจากเมืองจีนคู่กับเครื่องเบญจรงค์ เป็นการนำเข้ามาใช้ในราชสำนัก และเริ่มกระจายไปยังกลุ่มขุนนางและคหบดีเช่นเดียวกับเครื่องเบญจรงค์ รวมถึงในกลุ่มพระสงฆ์ตามวัดที่มีผู้ศรัทธานิยมนำเครื่องลายครามไปถวายด้วย
วัดพระรูปมีเครื่องลายครามอยู่เป็นจำนวนมาก เครื่องเคลือบบางชิ้นในส่วนการจัดแสดงนี้มีประวัติการใช้งานที่สัมพันธ์กับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญของวัดพระรูป บางชิ้นอดีตเจ้าอาวาสวัดพระรูปเคยใช้งานจริง อาทิ โถเคลือบลายครามลายใบผักชีทรงสูงมีหูจับขนาดเล็ก ๔ หู มีขันลงหินใบเล็กครอบแทนฝาปากโถ โถเคลือบใบนี้เคยเป็นของใช้ประจำห้องของ พระครูสุนทรสุวรรณกิจ (ดี จตฺตมโล) หรือ หลวงพ่อดี อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๕๑) บ้างว่าหลวงพ่อดีใช้โถนี้ใส่ตาลปัตร บ้างว่าใช้ใส่ดอกไม้
โถพลูเคลือบเขียว ใช้ใส่ใบพลูนาบ ของชิ้นนี้เคยอยู่ในกุฏิของหลวงพ่อเผื่อน พระพี่ชายของหลวงพ่อดี เจ้าอาวาสวัดพระรูป ทั้งนี้ ตามประวัติทั้งหลวงพ่อเผื่อนและหลวงพ่อดีต่างเป็นพระที่กินหมากด้วยกันทั้งคู่ อนึ่ง เครื่องโถลายครามที่จัดแสดงเหล่านี้ โดยมากมีผู้นำมาถวายและเป็นของสะสมของ พระครูอนุกูลสุวรรณากร หรือ หลวงพ่อควร อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๖๐)
เครื่องเบญจรงค์
“เครื่องเบญจรงค์” เบญจรงค์หมายถึงเครื่องถ้วยเนื้อกระเบื้องเขียนสีลงยาห้าสี ประกอบด้วยแม่สีสำคัญคือ สีแดง สีเขียว สีขาว สีดำ สีเหลือง หรือมากกว่านั้น เขียนเป็นลวดลายงดงามและมีความหมายในทางมงคล อาทิ ลายเทพนม ลายเทพนมนรสิงห์ ลายมังกร ลายไก่ฟ้า ลายมงคลแปด เบญจรงค์เป็นของที่ทำกันมาตั้งแต่